คำนำ

สมัยเด็ก กิจกรรมแสนสนุกที่ผู้เขียนรอคอยไม่ใช่การเดินเล่นงานวัดหรือสอยดาวงานกาชาด แต่คือการไปเดินงานสัปดาห์หนังสือกับครอบครัวและเพื่อน ในมือจะมีกระดาษแผ่นน้อยที่เขียนชื่อสำนักพิมพ์เอาไว้พร้อมเลขบูท เพื่อนำทางให้เราไปถึงเป้าหมายหลักเป็นอันดับแรก จากนั้นหากมีเวลาเหลือจึงจับมือคุณพ่อเดินเตร่ดูบูทใหม่ ๆ แม้จะเพิ่งเดินงานเมื่อต้นปีไป แต่ใจก็จดจ่อรอคอยงานเดือนตุลาคมเสมอ 

ผ่านไป 20 ปี ทุกวันนี้ก็ยังเป็นเช่นเดิม

หากพูดถึงงานหนังสือระดับประเทศคงหนีไม่พ้น 2 งานสำคัญอย่าง ‘สัปดาห์หนังสือ’ ที่จัดขึ้นระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน และ ‘มหกรรมหนังสือระดับชาติ’ ที่จัดขึ้นช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี ซึ่งแต่เดิมทั้ง 2 งานมีผู้จัดคนละรายและจัดกันคนละที่ แต่ปัจจุบันทั้ง 2 งานปักหลักในสถานที่เดียวกันและมีผู้จัดรายเดียวกัน (มานาน) แล้ว นั่นคือ ‘สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย’ หรือ PUBAT

ทุกวันนี้หลายคนยังเข้าใจผิดว่าผู้จัดงานคือศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ แต่เราเข้าใจได้ เพราะไม่ว่างานจะย้ายไปจัดที่ไหนก็ไม่ถูกใจเท่าศูนย์ประชุมฯ แต่หากคุณตอบถูก คุณคือนักอ่านผู้รอบรู้ตัวจริงเสียงจริงที่กำลังทำให้ทายาทร้านหนังสือเก่าแก่กว่า 40 ปี และนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ คนใหม่ในวาระ พ.ศ. 2566 – 2568 อย่าง ต้น-สุวิช รุ่งวัฒนไพบูลย์ ยิ้มแก้มปริอยู่ เพราะพวกเขาก็เป็นผู้จัดเสียด้วย แต่พอคนไม่รู้ว่าจัด ทีนี้ก็ว้าวุ่นเลย 

ดังนั้น เนื่องในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 28 ที่จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 12 – 23 ตุลาคม พ.ศ. 2566 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ The Cloud จึงชวนทั้งนายกสมาคมฯ และ ทอม-จักรกฤต โยมพยอม จากสำนักพิมพ์ Avocado Books ผู้ควบคำแหน่งคณะกรรมการสมาคมฯ มาเล่าเรื่องเบื้องหลังอันน่าสนใจ และอนาคตของวงการที่คนเดินงานทั่วไปอย่างพวกเราคงไม่รู้ แต่ก็อยากฟัง

เทรนด์การอ่านและเบื้องหลังขาขึ้นของวงการหนังสือ โดยสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ในงานหนังสือ 2566

สารบัญ

  • บทที่ 1 สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ และเบื้องหลังงานหนังสือ
  • บทที่ 2 รีวิววงการในมุม ‘คนหนังสือ’
  • บทที่ 3 แสงสว่างแห่งวงการนักอ่าน
  • บทที่ 4 กิจกรรมใหม่ในงานมหกรรมหนังสือ

บทที่ 1
สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ และเบื้องหลังงานหนังสือ

“เถียงไปเลยครับ คนไทยไม่ได้อ่านแค่ 8 บรรทัดนานแล้ว” เสียงหนึ่งดังขึ้นตรงหน้า

“ผลสำรวจการอ่าน พ.ศ. 2561 บอกว่าคนไทยใช้เวลาอ่านเฉลี่ย 80 นาทีต่อวัน สถิตินี้ก็เก่าแล้ว แต่ใช้เถียงได้” อีกเสียงดังมาจากด้านหลังห้อง ต้นและทอมนั่งอยู่คนละมุมของห้องแต่เล่าเรื่องเดียวกัน

นี่คือห้องที่นายกสมาคมฯ คนใหม่เพิ่งเข้ามาใช้เป็นครั้งแรก ต้นบอกว่าเดิมทีเขาดูแลงานระดับภูมิภาคของสมาคมทั้งหมด ก่อนจะขยับขึ้นเป็นกรรมการ ผู้ช่วยเลขาธิการ อุปนายก และนายกสมาคมฯ โดยรวมแล้วทำงานเบื้องหลังมานานกว่า 14 ปี แต่ที่นานกว่านั้นคือทั้งชีวิตที่อยู่ในวงการ

เทรนด์การอ่านและเบื้องหลังขาขึ้นของวงการหนังสือ โดยสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ในงานหนังสือ 2566

“ผมยังจำได้เลยว่าสมัยก่อนยังไม่มีตึกสมาคมฯ เวลาประชุมต้องไปคุยกันตามร้านอาหาร ผมทันจัดงานหนังสือที่สวนลุมพินี สมัยนั้นมีทะเลสาบ ตรงกลางเป็นหอประชุม เราก็ไปจัดกันรอบ ๆ เพราะยุคก่อนเราตระเวนจัดงานไปหลายที่ทั้งที่จุฬาฯ คุรุสภา ท้องสนามหลวง จนมาเป็นหลักแห่งที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ พอศูนย์ประชุมฯ ปิดก็เร่ร่อนอยู่นะ” เขาหัวเราะ 

เราบอกเขาว่า ไม่ว่าจะจัดที่ไหนก็ไม่สะดวกและคุ้นเคยเท่าศูนย์ประชุมฯ เขาพยักหน้าเห็นด้วยก่อนจะเล่าเรื่องตลกร้ายให้ฟังว่าบางสื่อยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยเป็นผู้จัดงาน เพราะทั้งสื่อทั้งประชาชนต่างคิดว่าเป็นทางศูนย์ประชุมฯ จัดเอง

“ตอนนี้เลยพยายามหาทางชูโลโก้ PUBAT ให้คนเห็นหน่อย” เขาว่า

เทรนด์การอ่านและเบื้องหลังขาขึ้นของวงการหนังสือ โดยสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ในงานหนังสือ 2566

ต้นคลุกคลีกับการอ่านมาตั้งแต่เด็ก เพราะเป็นทายาทร้าน ‘รุ่งวัฒนา ส่งเสริมรักการอ่าน’ ที่เปิดมานานกว่า 40 ปี สมัยคุณพ่อเริ่มทำธุรกิจโดยถือหนังสือเร่ขายตามอู่รถตู้ซึ่งขายดีมาก เพราะระหว่างการเดินทาง หนังสือคือเพื่อนที่ดีที่สุด จนถึงปัจจุบันร้านรุ่งวัฒนาก็ยังเป็นเพื่อนคู่ใจให้กับนักอ่านทุนน้อยอยู่เช่นเดิม เพิ่มเติมคือคุณพ่อมีลูก 5 คนมาร่วมกันสานต่อกิจการที่บ้าน 

ไม่น่าแปลกใจ หากต้นจะเป็นหนึ่งคนที่อธิบายความเปลี่ยนแปลงในวงการได้ดี

“สถิติคนที่เดินงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่แล้ว เราตั้งเป้าไว้ว่าคนเดินงาน 1.3 ล้านคน ครั้งนี้ไม่ตั้งเยอะ หวังแค่ 1.6 ล้านคน แต่สื่อต่าง ๆ บอกว่ากิจกรรมปีนี้น่าสนใจ คิดว่าน่าจะทะลุ 2 ล้าน ยอดขายครั้งก่อน 340 ล้านบาท ครั้งนี้ขอสัก 400 ล้านบาท” แน่นอนว่าความหวังไม่ได้ตั้งเพิ่มโดยไร้เหตุผล เพราะพวกเขาอิงตามยอดจองบูทที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

“ตอนที่เรากลับไปศูนย์ประชุมฯ ครั้งแรกหลังหมดโควิดและศูนย์ประชุมฯ เปิดหลังปิดปรับปรุงมาสักพัก ยอดจองอยู่ที่ 700 กว่าบูท ทั้งที่เรารองรับได้ 890 บูท ทุกคนยังไม่แน่ใจว่าจะขายได้ พอมางานเมื่อต้นปี ยอดจองเพิ่มแต่ยังไม่ถึงเป้า ส่วนงานครั้งนี้ คนจองมาล้นจนเราต้องขอตัดบูทสำนักพิมพ์ใหญ่บางแห่ง เพื่อกระจายให้เจ้าอื่น คือเขาจองมาเยอะกว่าปีที่แล้ว เพราะเห็นแนวโน้มว่าขายได้ ถือเป็นการเดิมพันของเขาด้วย”

ต้นบอกว่าจำนวนยอดจองเป็นนิมิตหมายที่ดีแล้ว แต่ที่ดียิ่งกว่าคือแต่ละสำนักพิมพ์ออกหนังสือใหม่เยอะมาก ถึงขั้นรายใหญ่เจ้าเดียวออกหนังสือใหม่กว่า 50 ปก รวมทั้งงานกว่า 3,000 ปกให้นักอ่านไปช้อปกัน!

“สำนักพิมพ์เกิดใหม่ทุกเดือน เดือนละ 7 – 8 ราย น่ายินดีมากที่เรามีทั้งผู้ขายรายใหม่ นักเขียนใหม่ และหนังสือใหม่ไปพร้อมกัน” นายกสมาคมฯ คนใหม่เล่าอย่างยินดี

“เห็นไหม เอาอะไรมาพูดว่าคนไทยอ่านแค่ 8 บรรทัด” เขาเสริม

สรุปสั้น ๆ ว่า ไม่มีทางที่คนไทยจะอ่านน้อยลง โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุ 15 – 24 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีค่าเฉลี่ยการอ่านยาวนานที่สุด และถึงแม้จะไม่ได้นับการอ่านแบบรูปเล่มอย่างเดียว การอ่านบนโลกออนไลน์ก็ยังถือว่าใช้เวลา ‘อ่าน’ อยู่ดี

เทรนด์การอ่านและเบื้องหลังขาขึ้นของวงการหนังสือ โดยสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ในงานหนังสือ 2566

บทที่ 2
รีวิววงการในมุม ‘คนหนังสือ’

ทอมเล่าว่าในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา หนังสือประเภทการเดินทางหายไปอย่างเห็นได้ชัด ต้นฉบับขาดมือ ถึงขั้นที่บางสำนักพิมพ์ยุติการพิจารณาเนื้อหาประเภทนี้ด้วยเหตุผลว่า ผู้อ่านไม่อิน เพราะเดินทางจริงไม่ได้ แม้โรคร้ายจะซา สำนักพิมพ์เริ่มกลับมารับต้นฉบับอีกครั้ง แต่เรื่องราวการเดินทางก็ยังไม่กลับมาบูมเท่าเดิม 

“และอีกอย่างที่หายไปอย่างเห็นได้ชัดคือวารสารและนิตยสาร เนื่องจากโฆษณาในเล่มลดน้อยลง และเหล่าสปอนเซอร์ก็หันไปพึ่งพาโลกออนไลน์ในการโปรโมตตัวเองมากกว่า” ต้นเสริม

เรานั่งฟังพลางคิดว่าโซเชียลมีเดียคือดาบสองคม แต่หากสำนักพิมพ์ปรับตัวและรู้จักใช้สื่อในการประชาสัมพันธ์ตัวเองก็ย่อมเกิดประโยชน์ อีกฝ่ายบอกเราว่า ตอนนี้สำนักพิมพ์หลายแห่งหันมาให้ความสำคัญกับการออกแบบรูปเล่มมากขึ้น ทำเป็นคอลเลกชันสวยงาม เปลี่ยนหนังสืออ่านให้เป็นของสะสมในคราวเดียว เมื่อคนเห็นจึงอยากซื้อเก็บด้วย

เทรนด์การอ่านและเบื้องหลังขาขึ้นของวงการหนังสือ โดยสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ในงานหนังสือ 2566

ในฐานะเจ้าของสำนักพิมพ์ Avocado Books ที่เพิ่งก่อตั้งได้เพียง 2 ปีกว่า ทอมเห็นว่านอกจากคนอ่านหนังสือมากขึ้นแล้ว วงการยังมีความหลากหลายมากขึ้น หนังสือเฉพาะกลุ่มแพร่หลายกว่าเก่า โดยเฉพาะหมวดประวัติศาสตร์ สังคม และการเมือง ซึ่งเป็นไปตามความสนใจของสังคมไทย

“ผมเองก็ต้องทำการบ้านมากขึ้น สมัยก่อนเป็นนักเขียน สร้างผลงาน สร้างต้นฉบับ แต่พอทำสำนักพิมพ์ต้องมองภาพกว้างให้สินค้าขายได้ แต่ข้อดีคือผมได้คุยกับคนมากขึ้น”

คำถามแรกที่ทอมมักถามคนที่เจอกัน คืออ่านหนังสือไหม หากอ่าน อ่านอะไร คำตอบของคำถามง่าย ๆ เพียง 2 ข้อนำมาซึ่งข้อมูลหลากหลาย มีทั้งคนที่ไม่อ่านหนังสือ แต่อ่านโพสต์ในโซเชียลมีเดียหรืออ่านข่าวออนไลน์ ขณะที่บางคนชอบการอ่าน E-book มากกว่าหนังสือเล่ม แต่ถึงอย่างนั้น คนที่อ่านแบบเล่มก็ยังมีมากกว่า

“ประเภทที่ผมเจอคนอ่านเยอะตอนนี้คือ How to” เขาเปรยขึ้นมา ต้นจึงเปิดผลสำรวจ 5 อันดับหนังสือที่คนอ่านเยอะที่สุดให้เราฟัง

อันดับ 1 หนีไม่พ้น นิยาย ทั้งนิยายฝีมือคนไทยและนิยายแปล โดยเฉพาะหมวดกำลังภายในและนิยายวาย

อันดับ 2 คือ How to ซึ่งเป็นผลพวงมาจากโควิด-19 ที่หลายคนมองหาคู่มือตั้งแต่การใช้ชีวิตจนถึงทำธุรกิจ และที่มาแรงแซงทุกโค้งคือ How to ใช้ TikTok สร้างรายได้

อันดับ 3 คือหมวดทั่วไปที่รวมถึง ‘สายมู’ ทั้งหนังสือทำนายดวง ดูลายมือ วิธีการอ่านดวงชะตา ไพ่ทาโรต์ บ่งบอกถึงความต้องการสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจ สวนทางกับหนังสือธรรมะ

อันดับ 4 คือหนังสือเด็กที่หมายรวมถึงแม่และเด็ก นิทาน การ์ตูน จนถึงคู่มือสอบที่ยังขายดีมากที่สุด

อันดับ 5 คือแนวเกษตรกรรม สร้างรายได้จากการปลูกผัก

บทที่ 3
แสงสว่างแห่งวงการนักอ่าน

ต้นบอกว่าภาพกว้างของวงการหนังสือไทยตอนนี้เหมือนเด็กกำลังตั้งไข่ ปัจจัยภายในสมาคมคือการที่นายกสมาคมฯ แต่ละคนดำรงตำแหน่งเพียง 2 ปี ทำให้นโยบายไม่ต่อเนื่อง บางครั้งยังไม่ทันทำอะไรก็หมดเวลาเสียแล้ว ตั้งแต่สมัยหน้าจึงเพิ่มเป็นสมัยละ 3 ปี โดยต้นหวังว่าเขาและทีมจะได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงหรือสร้างแรงกระเพื่อมบางอย่างให้วงการ แม้ทุกวันนี้จะมีปัญหาทับถมหลายอย่าง

“หนังสือราคาแพงขึ้นด้วยต้นทุนกระดาษที่สูง แม้จะซื้อกระดาษได้ 0 เปอร์เซ็นต์ แต่สุดท้ายก็เสียภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถ้ารัฐบาลมองเห็นความสำคัญก็จะดี เพราะนี่คือแหล่งความรู้ ถือเป็นอาหารสมอง คนพัฒนาจากการอ่าน เรียกว่าเราติดอาวุธทางปัญหาให้” แต่ถึงอย่างนั้น เขาบอกว่าเรายังพอมองเห็น ‘แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์’

แสงที่ทำให้คนในวงการมีความหวังคือการที่รัฐบาลใหม่มีนโยบายผลักดันให้หนังสือกลายเป็น 1 ใน 8 ซอฟต์พาวเวอร์ นอกเหนือจากภาพยนตร์ ศิลปะ อาหาร เทศกาลดนตรี การท่องเที่ยว กีฬา และการออกแบบ แฟชั่น

เทรนด์การอ่านและเบื้องหลังขาขึ้นของวงการหนังสือ โดยสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ในงานหนังสือ 2566

“และอีกสิ่งที่เราทำอยู่คือการแปลผลงานภาษาไทยไปสู่สากล” 

ต้นเล่าว่าสมาคมฯ ไม่ได้ผลักดันเพียงอุตสาหกรรมนักอ่านในประเทศ แต่พวกเขายังอยากขยายตลาดโดยการขายลิขสิทธิ์ผลงานนักเขียนไทยให้ต่างประเทศด้วย

ถึงอย่างนั้น ผลตอบรับจากการสำรวจตลาดทางยุโรปที่ผ่านมากลับไม่ดีนัก พวกเขาจึงหันมาบุกตลาดเอเชียแทน ทั้งไต้หวัน เวียดนาม อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และเกาหลี

“จากที่เคยไปไต้หวัน เราเห็นชัดว่าสาเหตุที่หนังสือประเทศอื่น ๆ ขายลิขสิทธิ์ดี เป็นเพราะภาครัฐสนับสนุน อย่างไต้หวัน ภาครัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการออกงาน ทั้งยังมีหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นเพื่อแปลงานไต้หวันเป็นภาษาอังกฤษให้กระจายไปต่างประเทศโดยเฉพาะ แต่ในไทย สำนักพิมพ์ยังต้องดิ้นรนเอง ที่สำคัญเรายังไม่มี Know-how จากผู้รู้ที่ขายลิขสิทธิ์ได้ด้วย” ทอมเสริม

ส่วนหนังสือไทยที่มีที่ทางอยู่ในตลาดโลกก็ยังคงเป็นประเภทที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม อาหาร และความเป็นไทยในแง่มุมอื่น ๆ ซึ่งโดดเด่นและเป็นเสน่ห์ตรึงใจคนทั่วโลก หากจิตนาการไม่ออก ลองนึกถึงเรื่อง บุพเพสันนิวาส

จากสิ่งที่สมาคมฯ ทำเพื่อส่งผลงานคนไทยไปสู่สากล ต้นกลับมาเล่าเรื่องการขับเคลื่อนดินแดนแห่งการอ่านตามหมู่บ้านและตำบลต่าง ๆ

ใครยังจำโครงการ ‘๑ อ่าน ล้านตื่น’ ได้บ้าง วิธีการในยุคก่อนคือรับบริจาคหนังสือเพื่อนำไปมอบให้พื้นที่ด้อยโอกาส แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือหนังสือที่รับมาใช้ได้จริงมีเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ ทางสมาคมฯ จึงเปลี่ยนเป็นการรับบริจาคเงินเพื่อทำโครงการ ‘หนังสือตรงใจ’ แทน โดย 1 ปี จะคัดเลือกโรงเรียนจำนวนหนึ่งเพื่อให้ส่งตัวแทนมาซื้อหนังสือภายในงานให้ตรงความต้องการที่สุด

อย่างที่บอกว่าต้นมาเพราะอยากเห็นความเปลี่ยนแปลง แต่สมาคมฯ สำนักพิมพ์ และคนตัวเล็กตัวน้อยขยับตัวอย่างไรก็คงไม่ได้ผลไปกว่าการที่ภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วมไปพร้อมกับสมาคมฯ 

“นายกสมาคมฯ ที่ผ่านมาทุกคนผลักดันเรื่องนี้มาตลอด แม้รัฐจะยังไม่ได้สนับสนุนอย่างเต็มที่ แต่เราก็ไม่เคยท้อ หากได้ร่วมมือกัน เชื่อว่าคนไทยจะได้อ่านงานดี ๆ เยอะกว่านี้อีก ไม่ใช่แค่คนไทยด้วย แต่รวมถึงชาวต่างชาติ เพราะเราเองก็จะมีรัฐคอยช่วยสนับสนุนการขายลิขสิทธิ์ ขายซอฟต์พาวเวอร์ไปสู่สากล” นั่นคืออนาคตที่นายกสมาคมฯ คนปัจจุบันอยากเห็น 

“ส่วนผมอยากเห็นผู้ผลิตหน้าใหม่เพิ่มขึ้นทั้งนักเขียนและสำนักพิมพ์ เพราะความหลากหลายจะช่วยกระตุ้นให้แวดวงโตขึ้น อย่าง Avocado Books ไม่เคยมองว่าใครเป็นคู่แข่ง เพราะในความเป็นจริง ทุกเจ้าขายหนังสือกันคนละเล่ม การได้ต้อนรับคนเข้าวงการจึงถือเป็นการเพิ่มการรับรู้ด้วย” ทอมที่นั่งอยู่หลังห้องบอก

“ใช่ เราอยากเห็นนักอ่านหน้าใหม่เพิ่มขึ้น เพราะต้องยอมรับว่านักอ่านหน้าเก่าหายหน้าหายตาไปเยอะ ด้วยอายุที่เพิ่ม หลายคนอ่านไม่สะดวกเลยเปลี่ยนไปฟังหนังสือเสียงแทน” ต้นเล่าพร้อมเปิดหนังสือเสียงกำลังภายในประกอบให้ฟัง

บทที่ 4
กิจกรรมใหม่ในงานมหกรรมหนังสือ

รับรองว่างานปีนี้จะสนุกกว่าปีไหน ๆ เพราะสมาคมฯ จัดกิจกรรมใหม่น่าสนใจเพียบ

ทอมเล่าว่าสมัยเข้ามากรุงเทพฯ แรก ๆ งานหนังสือมีกิจกรรมแข่งขันอยู่บ้าง เช่น การตอบปัญหาวิชาการหรือตอบปัญหาวรรณคดี แต่ปีนี้กิจกรรมใหม่ที่จัดขึ้นคือการแข่ง Talk Show ‘The Bookteller’ เล่าเรื่องหนังสือที่ชอบ โดยตอนนี้ออดิชันใน TikTok ได้ผู้เข้ารอบ 10 คนสุดท้ายแล้ว พวกเขาจะมาขึ้นเวทีเพื่อแข่งรอบชิงชนะเลิศในงานวันที่ 23 ตุลาคม

“เราคิดว่าจะเป็นวิธีที่ทำให้การอ่านแมสขึ้น ได้เจอนักอ่านหน้าใหม่ และดึงดูดคนเข้ามาในงาน จะคล้าย TED Talks แต่พูดถึงหนังสือโดยเฉพาะ”

ส่วนอีกกิจกรรมคือ ‘Book Blind Date’ ที่สมาคมฯ ร่วมมือกับ ‘สมาคมป้ายยาหนังสือ’ ผู้ชื่นชอบการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน

“Book Blind Date เป็นการแลกหนังสือแบบมีขั้นตอน ทุกเล่มจะถูกห่อเอาไว้ไม่ให้เห็นด้านใน ให้เขียนเพียงคำโปรยสั้น ๆ บนกระดาษห่อ ทุกคนจะทำอย่างนี้แล้วนำไปวางบนชั้น รับรองละลานตา แล้วแต่ละคนก็จะเดินเลือกว่าเอาเล่มไหน เอ้า! เปิดมา อาจมีเซอร์ไพรส์!” ทุกคนในห้องหัวเราะ

เทรนด์การอ่านและเบื้องหลังขาขึ้นของวงการหนังสือ โดยสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ในงานหนังสือ 2566
เทรนด์การอ่านและเบื้องหลังขาขึ้นของวงการหนังสือ โดยสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ในงานหนังสือ 2566

ไม่ว่าคุณจะเดินงานหนังสือด้วยเหตุผลใด นั่นคือกำลังใจและการสนับสนุนวงการทั้งทางตรงและทางอ้อม เหล่าผู้อยู่เบื้องหลังของสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยแสดงให้เห็นถึงแพสชันของพวกเขาแล้วว่าไม่อยากหยุดแค่การพัฒนางานใหญ่เพียง 2 ครั้งต่อปี เพราะซอฟต์พาวเวอร์และฝีมือคนไทยมีคุณค่าและมีเส้นทางไปไกลได้มากกว่านั้น

ลองพลิกหนังสือที่ท่านทั้งหลายอุดหนุนด้วยความรักความชอบ แล้วจินตนาการว่าไม่ใช่เพียงตัวท่านที่ได้อ่าน แต่เรื่องราวในนั้นยังได้รับการแบ่งปันถึงมือใครต่อใครในสากล ฟังแล้ววิเศษน่าดู

หวังว่าจะได้พบนักอ่านทุกท่านในงาน

เทรนด์การอ่านและเบื้องหลังขาขึ้นของวงการหนังสือ โดยสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ในงานหนังสือ 2566

มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 28 (Book Expo Thailand 2023) จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 12 – 23 ตุลาคม พ.ศ. 2566 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ชั้น LG ฮอลล์ 5 – 7 เวลาเปิด-ปิด วันจันทร์-พฤหัสบดี เวลา 11.00 – 22.00 น. และวันศุกร์-อาทิตย์ เวลา 10.00 – 23.00 น. ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.thailandbookfair.com

Writer

วโรดม เตชศรีสุธี

วโรดม เตชศรีสุธี

นักจิบชามะนาวจากเมืองสรอง งานประจำเป็นนักฟัง งานพาร์ทไทม์เป็นนักเขียน งานอดิเรกเป็นนักเล่า

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์