สวนเหมือนกัน ร่มรื่นเหมือนกัน ผู้คนเข้ามาพักผ่อนเหมือนกัน แต่จะมาเป็นพื้นที่สาธารณะเหมือนกันไม่ได้

พื้นที่สาธารณะมากมายที่คุณเห็นในต่างประเทศ บางทีพวกเขาก็เรียกว่า ‘POPS’ ซึ่งย่อมาจาก Privately Owned Public Space บ้างก็เรียกว่า ‘POPOS’ ย่อมาจาก Privately Owned Open Public Space ให้คำนิยามโดย Jerold S. Kayden ศาสตราจารย์จาก Harvard University

อธิบายง่าย ๆ ว่า เป็นพื้นที่สาธารณะที่เอกชนเป็นเจ้าของ แต่เปิดให้คนทั่วไปเข้าไปใช้ประโยชน์ได้
POPS ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เริ่มต้นที่นิวยอร์กตั้งแต่ปี 1961 ภาครัฐสร้างแรงจูงใจให้เจ้าของที่ดินหรือผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เปิดพื้นที่ของตัวเองเป็นสาธารณะ โดยแรงจูงใจสำคัญคือ ‘ข้อแลกเปลี่ยน’ อย่างการอนุญาตให้แต่ละโครงการสร้างอาคารที่สูงขึ้นได้ ทำให้มีอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ที่ดิน (Floor Area Ratio หรือ FAR) เพิ่มขึ้น

เมื่อพื้นที่มากขึ้น ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ก็มากขึ้นตามไปด้วย

ข้อแลกเปลี่ยน
New York Plaza สร้างปี 1967 เป็น POPS ในยุคแรกเริ่ม

เป้าหมายในตอนเริ่มต้นของนิวยอร์ก คือรัฐต้องการเพิ่มพื้นที่ว่างพักหายใจหายคอสำหรับกลางเมืองที่หนาแน่น POPS ยุคแรก ๆ จึงมีลักษณะเป็นลานกว้าง แต่หลังจากนั้นก็ได้มีการเพิ่มข้อกำหนดเรื่ององค์ประกอบ ให้พื้นที่เหล่านี้ตอบโจทย์การใช้งานของประชาชนมากขึ้นเรื่อย ๆ ทุกวันนี้ แค่นิวยอร์กเมืองเดียวก็มี POPS ให้ผู้คนเข้าไปพักผ่อนกาย-ใจเกิน 500 แห่งเข้าไปแล้ว

ช่วงหลังประเทศไทยเองเริ่มมีประชาชนใช้ที่ดินของตัวเองเป็นพื้นที่สาธารณะ ‘คล้ายว่า’ จะเป็น POPS มากขึ้นเรื่อย ๆ จนเรื่องนี้กลายเป็นประเด็นที่น่าพูดถึงในยุคสมัยนี้

แต่เหรียญย่อมมี 2 ด้านเสมอ

ในบทความนี้เราจะเล่าถึง POPS ทั้งด้านศักยภาพในการพัฒนาเมือง ทั้งด้านข้อจำกัด-ข้อขัดแย้งในตัวของมันเอง

ซึ่งสุดท้ายแล้ว POPS จะเป็นอนาคตของพื้นที่สาธารณะในประเทศไทยหรือไม่ ก็ต้องคอยดูกันต่อไป

The Elevated Acre นิวยอร์ก

เวิร์กหรือไม่เวิร์ก

หลังจากเริ่มต้นที่นิวยอร์กเป็นที่แรก เมืองใหญ่อื่น ๆ ในโลกก็ค่อย ๆ ตามมา ทั้งซานฟรานซิสโก ซีแอตเทิล โซล และสิงคโปร์ ซึ่งถึงจะเรียกว่า POPS เหมือนกัน แต่แต่ละที่ก็มีข้อกำหนดไม่เหมือนกันตามบริบทของเมืองนั้น ๆ ทำให้เวิร์กบ้าง ไม่เวิร์กบ้าง แตกต่างกันไป

590 Madison Avenue นิวยอร์ก

สำหรับประเทศไทย ตอนนี้เราไม่ได้มีข้อกำหนดหรือแรงจูงใจจากภาครัฐในการให้เอกชนทำ POPS แต่ก็มีเอกชนหลายรายที่เปิดพื้นที่ให้ผู้คนเข้ามาใช้ประโยชน์ ซึ่งก็มีปัญหาที่เห็นโดยทั่วกันหลายข้อ เช่น ด้านการเข้าถึง การจำกัดเวลาใช้ บ้างก็ยังสื่อสารกับผู้คนได้ไม่ดีพอว่าตั้งใจจะให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่สาธารณะ บ้างก็ยังออกแบบพื้นที่สาธารณะโดยไม่ได้คุณภาพ

นอกจากนี้ เจ้าของพื้นที่ยังมีอิสระในการให้เช่าจัดงานหรือยกเลิกการเปิดเป็นสาธารณะเมื่อไหร่ก็ได้ด้วย

เพราะรัฐยังไม่ได้มีนโยบายอย่างชัดเจน เราจึงยังไม่อาจเรียกพื้นที่เหล่านั้นในประเทศไทยว่า POPS ได้ บางคนก็นิยามว่าเป็น PPS ซึ่งย่อมาจาก Pseudo-public Space

The Cube at Asia Square สิงคโปร์

POPS ที่ใช่ หน้าตาประมาณไหน

Jan Gehl ปรมาจารย์ด้านผังเมืองวัย 87 เคยจำแนกประเภทของกิจกรรมกลางแจ้งไว้ 3 ประเภทด้วยกัน

อย่างแรก คือกิจกรรมสำคัญ (Necessary Activities) หมายถึงกิจวัตรประจำวัน เช่น ยืนรอรถริมถนน เดินทางไปเรียน ไปทำงาน ซื้อของเข้าบ้าน

อย่างที่ 2 คือกิจกรรมทางเลือก (Optional Activities) ที่ถ้ามีโอกาส เวลาและสถานที่เอื้อให้ทำก็อยากทำ เช่น การนั่งอ่านหนังสือในสถานที่เปิดโล่ง หรือการสูดอากาศบริสุทธิ์หลังฝนตก

อย่างที่ 3 คือกิจกรรมทางสังคม (Social Activities) อย่างการทักทายหรือการประชุม

หากพื้นที่สาธารณะมีคุณภาพที่ไม่ดีพอ จะมีเพียงกิจกรรมสำคัญเท่านั้นที่เกิดขึ้น แต่หากดีพอ กิจกรรมทางเลือกและกิจกรรมทางสังคมจะเกิดขึ้นได้บ่อย ๆ ด้วย

The Shipyards แวนคูเวอร์

POPS ก็ใช้หลักการเดียวกันได้

POPS ที่ดีจะต้องเป็นที่ที่อยู่สบาย ปลอดภัย สะอาดสะอ้าน นั่งได้ มีร่มไม้ให้พักพิง มีสีเขียวให้พักผ่อนสายตา

เนื่องจากเป็นพื้นที่ของเอกชน บางทีจึงดูคล้ายสถานที่ส่วนตัว ข้อสำคัญของ POPS จึงต้องเข้าไปใช้ได้ง่าย ๆ มีป้ายเชิญชวนชัดเจน และดูเข้ากันได้กับเนื้อเมืองโดยรอบ

จะต้องมีพื้นที่ มีองค์ประกอบชวนให้ผู้คนหลากหลายเพศวัยทำกิจกรรมที่สนใจ ทำให้ทุกคนรู้สึกถึง Sense of Belonging และอยากช่วยกันดูแลพื้นที่โดยสัญชาตญาณ

และสุดท้าย ถ้าทำได้ พื้นที่สาธารณะที่ครอบครองโดยเอกชนก็ควรนำเสนอวัฒนธรรมหรือประวัติศาสตร์ ณ ท้องถิ่นนั้น ๆ ด้วย

ป้ายบอกข้อมูล InterContinental Hotel ซานฟรานซิสโก

แล้วข้อถกเถียงก็เกิดขึ้น

อย่างที่เกริ่นมาข้างต้น แม้ว่าจะเป็น POPS แล้ว ไม่ใช่แค่ PPS ที่ไม่มีนโยบายของทางการกำกับ วันเวลาผ่านไปกว่า 60 ปี ผู้เชี่ยวชาญด้านเมืองในต่างประเทศก็วิพากษ์วิจารณ์ POPS และมองว่าพื้นที่เหล่านี้ไม่ใช่อนาคต (ที่ดี) ของเมือง

นอกจากจะเป็นพื้นที่นอกบ้านที่ผู้คนเข้าไปใช้ได้ พวกเขามองว่า ‘พื้นที่สาธารณะ’ หรือ ‘Public Space’ มีนัยของประชาธิปไตยและเสรีภาพในการแสดงออกอยู่ในนั้นด้วย

เพราะฉะนั้นจึงมีการแซะเล็ก ๆ (รึเปล่า) ว่าเป็น Privately-owned Publicly Accessible Spaces บ้าง Private Ownership, Public (ish) Space บ้าง ประมาณว่าพื้นที่สาธารณะที่ไม่สาธารณะจริงนั่นแหละ

Union Square ซีแอตเทิล

ถามว่าทำไมเป็นอย่างนั้น

ข้อแรก พวกเขามองว่ากฎทั้งหลายของ POPS ส่วนใหญ่ล้วนตรงกันข้ามกับจิตวิญญาณของ Public Space

ไม่ว่าจะเรื่องการนำอาหารข้างนอกเข้ามากินไม่ได้ เรื่องที่คนแต่งตัวไม่ดี คนไร้บ้านห้ามเข้า และอีกหลายเรื่อง แล้วแต่เจ้าของพื้นที่จะบัญญัติ

“แค่คุณยกกล้องขึ้นมาถ่าย คุณก็อาจจะโดนไล่ออกมาแล้ว” Dr.Mike Harris ภูมิสถาปนิกจาก UNSW School of Built Environment วิจารณ์

ผู้เชี่ยวชาญบางคนมองว่าผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์มีจุดประสงค์เชิงพาณิชย์มากกว่าประโยชน์ส่วนรวม บางคนก็มองว่า POPS เป็นเครื่องมือทางการเมืองของรัฐด้วยซ้ำไป

ข้อถัดมา การออกแบบของ POPS อาจไม่ได้มาตรฐานสำหรับการออกแบบพื้นที่สาธารณะที่ควรเป็น ทำให้ผู้คนมีคุณภาพชีวิตในเมืองลดลง

และข้อสุดท้าย พื้นที่สาธารณะควรจะจัดการร่วมกันเป็น ‘เครือข่าย’ เพื่อทำงานเรื่องทางสังคม สาธารณสุข หรือแม้แต่เรื่องทางเทคนิคอย่างการจัดการความร้อน จัดการน้ำฝน และความหลากหลายทางธรรมชาติ หากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นของเอกชนจะจัดการเมืองได้ยากขึ้น

IDX Tower ซีแอตเทิล

นอกจากเรื่องกิจกรรมของผู้คน พื้นที่สาธารณะก็มีหน้าที่ทางระบบนิเวศของเมืองด้วย

ซึ่งทางออกของเรื่องนี้ก็อาจไม่ใช่การขัดขวางไม่ให้เกิดขึ้น แต่รัฐจะต้องกำหนดมาตรฐานของ POPS ให้ชัดเจนและมองให้พื้นที่เหล่านี้เป็น ‘ส่วนเสริม’ ที่จะมาทำให้เมืองสมบูรณ์ ไม่ใช่ส่วนทดแทนของพื้นที่สาธารณะทั่วไปที่ทางการต้องพัฒนาอยู่แล้ว

เช่นเดียวกับกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยที่ดินส่วนตัวของประชาชน และขาดแคลนพื้นที่สาธารณะในเมือง 

เราคิดว่า POPS เป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับเมือง หากมีข้อแลกเปลี่ยนที่เหมาะสม มีการควบคุมให้อยู่ในมาตรฐานที่ควร เพื่อที่จะเป็นทางเลือกให้ผู้คนได้ออกไปใช้ชีวิต พบปะญาติมิตรแถวบ้านได้มากขึ้น

จากนั้นก็เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องพัฒนาพื้นที่สาธารณะแบบปกติ และคงไว้ซึ่งบทบาท หน้าที่ รวมถึงจิตวิญญาณแห่งประชาธิปไตยของ Public Space ให้ครบถ้วน

ข้อมูลอ้างอิงและที่มาภาพประกอบ
  • www.nadigroup.com/insights
  • medium.com/@yunli.carrie
  • legalaidnyc.org/get-help/housing-problems
  • citycracker.co/city-environment/privately-owned-public-space
  • tomorn.co/2019/02/07/pops
  • www.unsw.edu.au/newsroom/news
  • urbanspringtime.blogspot.com
  • novaramedia.com
  • www.indesignlive.com/ideas
  • en.wikipedia.org/wiki/Privately_owned_public_space
  • unusualplaces.org/elevated-acre-new-york-city-park
  • www.nyc.gov/site/planning/plans/pops/pops-history.page
  • dentoncorkermarshall.com/projects/the-cube-asia-square
  • ny.curbed.com
  • www.seattlemet.com/news-and-city-life

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน