16 กุมภาพันธ์ 2021
5 K

Principal Healthcare คือธุรกิจบริหารสถานพยาบาลโดยมุ่งขยายบริการทางการแพทย์ เข้าสู่จังหวัดที่มักไม่เป็นตัวเลือกแรกๆ ในการเปิดกิจการสาธารณสุขใหม่

อุทัยธานี ลำพูน อุตรดิตถ์ ชุมพร พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ สมุทรปราการ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี นี่คือ 10 จังหวัดแรกที่พวกเขาเลือกเข้าไปสร้างหรือปรับเปลี่ยนโรงพยาบาลเดิมที่มีอยู่ ภายในระยะเวลาเพียง 3 ปี

9 จังหวัดในนี้เป็น ‘เมืองรอง’ หรือเมืองที่นักท่องเที่ยวยังไม่มาก รายได้กระจายสู่ชุมชนไม่เท่า

เมืองใหญ่ การเปิดโรงพยาบาลเอกชนจึงต้องลงทุนสูงตั้งแต่แรกเริ่ม ทั้งค่าสถานที่ เครื่องมือ และบุคลากร เพื่อคุณภาพที่ดี ถือเป็นโจทย์ระดับหืดขึ้นคอ หากต้องดูแลรักษาให้อยู่รอดอย่างยั่งยืน

แต่ Principal Healthcare มีทางออกที่เรียกว่า เทคโนโลยี

เท่านั้นไม่พอ พวกเขามีประสบการณ์ที่ทำให้รู้ว่าจะใช้นวัตกรรมอย่างไร ให้เกิดผลดีมากกว่าแค่ธุรกิจ แต่ส่งเสริมชุมชนรอบข้างให้เข้มแข็ง มีความเป็นอยู่ที่ดี เกิดอาชีพที่มั่นคง จนคนอยากกลับมาทำงานที่บ้านเกิดด้วย

“จุดประสงค์ของเราไม่ใช่การสร้างกำไรสูงสุด แต่เป็นการสร้างคุณค่าร่วม (Creating Shared Value หรือ CSV) สำหรับชุมชนและสังคม” ดร.สาธิต วิทยากร ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) นั่งลงคุยกับเรา เพื่อเล่าเบื้องหลังการพลิกฟื้นโรงพยาบาลขนาดกลางในเมืองรองให้คนเข้าถึงได้ ค่าบริการอยู่ระหว่างโรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่คุณภาพสูง มีความทันสมัย และยึดถือจิตวิญญาณของ ‘ผู้ให้’ เป็นหลักการสำคัญ

ดร.สาธิต วิทยากร ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน)

จากชีวิตการบริหารโรงพยาบาลเอกชนมายาวนานกว่า 25 ปี สาธิตเล็งเห็นความต้องการที่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง และตัดสินใจใช้องค์ความรู้ที่สั่งสมมาทั้งชีวิตเพื่อขับเคลื่อนภารกิจนี้ให้เป็นจริง

เทคโนโลยีกับชุมชนจะเติบโตร่วมกันด้วยวิธีการแบบใด บริหารธุรกิจอย่างไรให้ไม่เป็นเพียงแค่องค์กรแสวงหากำไรอีกหนึ่งองค์กร แต่ทำให้ผู้คนรอบข้างยินดีที่เรามีตัวตนอยู่

ไม่ว่าคุณทำงานวงการใด ขอชวนมาศึกษา Principles ของ Principal ไปด้วยกัน

01

เข้าถึงหัวใจของปัญหา

ความตั้งใจของสาธิตในวันนี้ เกิดขึ้นจากวินาทีสำคัญที่ผ่านมาแล้วเกินครึ่งศตวรรษ ส่งต่อผ่าน นพ.พงษ์ศักดิ์ วิทยากร คุณพ่อผู้เข้าใจความสำคัญของการแพทย์คุณภาพดีที่คนทั่วไปเอื้อมถึงได้ตั้งแต่ยังเล็ก

“พ่อเป็นเด็กต่างจังหวัดที่อยากเรียนวิศวะฯ เมื่อก่อนครอบครัวยากจน ระหว่างเรียน คุณแม่ของพ่อเกิดไม่สบายหนักขึ้นมา ในพื้นที่ไม่ค่อยมีแพทย์เท่าไร ต้องรีบพาไปในเมือง แต่ไปไม่ทัน” 

Principal Healthcare โรงพยาบาลที่ตั้งใจดูแลคน 10 จังหวัดเมืองรองและเริ่มคืนทุนใน 3 ปี

ความสูญเสียครั้งนั้นพลิกชีวิตของพงษ์ศักดิ์ให้มุ่งมั่นทางสายการแพทย์ ตั้งใจไขว่คว้าหาทุนการศึกษา ทำงานเลี้ยงชีพอย่างขยันขันแข็ง

ต่อมา เขาคือผู้ก่อตั้งและอดีตผู้บริหารบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) บริษัทแม่ของเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ

สาธิตเติบโตขึ้นผ่านการเห็นตัวอย่างความทุ่มเทของพ่อ เขาเลือกเรียนและทำงานเป็นวิศวกร ก่อนกลับมาช่วยเครือธุรกิจของที่บ้าน ขยายโรงพยาบาลสู่จังหวัดต่างๆ ตั้งแต่วันเริ่มสร้างตึก

Principal Healthcare โรงพยาบาลที่ตั้งใจดูแลคน 10 จังหวัดเมืองรองและเริ่มคืนทุนใน 3 ปี

จน พ.ศ. 2555 เวลาเปลี่ยน แต่ปัญหายังคงมีอยู่ ลูกชายคิดว่าถึงเวลาสานปณิธานการสร้างโรงพยาบาลแบบที่พ่อเคยวาดฝันเสียที จึงขายหุ้นบริษัททั้งหมด ออกมาลงทุนและพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อยู่ระยะหนึ่งในชื่อ Principal Capital เป็นช่วงเตรียมตัว และพักทำธุรกิจด้านการแพทย์เพื่อไม่ให้ทับซ้อนกิจการเดิม

พ.ศ. 2560 เมื่อทุกอย่างลงตัว บริษัทเข้าลงทุนในโรงพยาบาลเอกชน 3 จังหวัดภาคเหนือ เป็นจุดเริ่มต้นของการหวนกลับคืนสู่วงการ ด้วยตัวตนใหม่ที่ต่างจากเดิม

02

ทำให้คนรอบกายดีใจที่มีเราอยู่

ประเทศไทยมี 77 จังหวัด จะกางแผนที่ เลือกพิกัดการพัฒนาโรงพยาบาลเอกชนอย่างไรดี ให้เหมาะสมทั้งทางธุรกิจและสังคม ไม่ทับซ้อนกับโรงพยาบาลอีกราว 350 แห่งในประเทศ

สำหรับ Principal Healthcare พวกเขาพิจารณาความต้องการทางการแพทย์เป็นหลัก เน้นไปยังจังหวัดเมืองรองที่การแพทย์ยังไม่เพียงพอ และมีจำนวนประชากรระดับหนึ่ง

เช่น เปิดโรงพยาบาลพิษณุเวช อุตรดิตถ์ เป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งเดียวในจังหวัดตอน พ.ศ. 2562 และ รับช่วงบริหารโรงพยาบาลพิษณุเวช จังหวัดพิษณุโลก ที่ก่อตั้งมามากกว่า 35 ปี

Principal Healthcare โรงพยาบาลที่ตั้งใจดูแลคน 10 จังหวัดเมืองรองและเริ่มคืนทุนใน 3 ปี

เมื่อเลือกโรงพยาบาลหรือสถานที่ที่มีศักยภาพแล้ว ทาง Principal Healthcare ดำเนินการปรับเปลี่ยนให้มีบริการทันสมัย มีมาตรฐาน บรรยากาศสถานที่ดูโปร่ง โล่ง สบาย

แต่ไม่ใช่ว่าจะเข้าไปเปลี่ยนทุกอย่างได้ตามใจอยาก ต้องมีกระบวนการทำงานร่วมกับชุมชน เพื่อเข้าใจความต้องการทางการแพทย์ที่แท้จริง

“เราจะรู้ความต้องการของชุมชนต่อเมื่อเดินไปตามบ้าน วัด โรงเรียน คุยไถ่ถามทุกข์สุข เมื่อรู้แล้ว เราจะใช้ความเชี่ยวชาญของเราให้ตอบโจทย์” สาธิตอธิบาย ทีมงานของบริษัทเดินเท้าไปสัมผัสวิถีชีวิตความเป็นอยู่จริงของชุมชนก่อนทำการปรับปรุงหรือสร้างเสมอ 

Principal Healthcare โรงพยาบาลที่ตั้งใจดูแลคน 10 จังหวัดเมืองรองและเริ่มคืนทุนใน 3 ปี

ระหว่างทางการสำรวจ ยังทำให้พวกเขาเข้าไปอุดหนุนแหล่งข้าวของเครื่องใช้ ของฝากที่น่าสนับสนุนของท้องถิ่น เกิดเป็นมิตรภาพ และกลายเป็นอีกหนึ่งกำลังที่ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของชุมชน

“เราอยากให้ไปตั้งโรงพยาบาลที่ไหน คนในชุมชนดีใจที่มีเราเข้ามา ถ้าเขารู้สึกว่าเป็นแค่อีกหนึ่งโรงพยาบาลเอกชนที่เปิดแล้วไม่เห็นมีอะไรดีขึ้น ก็ถือว่าไม่ตรงจุดประสงค์ของเรา” ผู้วางวิสัยทัศน์กล่าว

03

ใช้สมองกล ช่วยสมองคน

เคยไหมที่อ่านลายมือแพทย์บนกระดาษไม่ออก

อาจเป็นเรื่องที่เห็นคนนำมาหยอกกันเล่นอยู่บ่อยครั้ง แต่ในชีวิตจริง เหตุการณ์เช่นนี้ก่อให้เกิดความผิดพลาดที่ผลกระทบปลายทางคือชีวิตของมนุษย์สักคนหนึ่งได้เลย และเราควรป้องกันความเสียหายแต่ต้นทาง 

ตัวช่วยสำคัญของ Principal Healthcare ในการแก้ไขปัญหานี้คือ เทคโนโลยี

Principal Healthcare โรงพยาบาลที่ตั้งใจดูแลคน 10 จังหวัดเมืองรองและเริ่มคืนทุนใน 3 ปี

“ทุกอย่างเราออกแบบให้อยู่บนระบบคลาวด์หมด เมื่อมีโรงพยาบาลใหม่ขึ้นมาในเครือ เขาสามารถใช้ระบบส่วนกลางและนำข้อมูลมาบริหาร เราก็ตรวจดูได้ว่าแผนงานแต่ละที่เป็นอย่างไร และมีระบบ Electronic Medical Record (EMR) เก็บประวัติผู้ป่วย สั่งซื้อยาต่างๆ ทางอิเล็กทรอนิกส์หมด ไม่ต้องใช้กระดาษ ผู้ป่วยดูทางมือถือได้สะดวก” ผู้บริหารที่หลงใหลเทคโนโลยีเสมอมา เล่าระบบภายในให้ฟัง 

ศักยภาพของนวัตกรรมด้าน Hospital Information System (HIS) เป็นหัวใจหลักที่ช่วยแบ่งเบาต้นทุนมหาศาล แบบที่โรงพยาบาลในเครือ Principal Healthcare ล้วนใช้ระบบบัญชี จัดซื้อ และบริหารบุคคลเดียวกัน ทุกอย่างเชื่อมต่อเข้าถึงกันหมดอย่างง่ายดาย ทำให้การขยายตัวเข้าสู่ชุมชนเป็นเรื่องสมเหตุสมผลทางธุรกิจ

Principal Healthcare โรงพยาบาลที่ตั้งใจดูแลคน 10 จังหวัดเมืองรองและเริ่มคืนทุนใน 3 ปี

“ถ้าเราใช้ระบบเหล่านี้แค่หนึ่งโรง ซื้อระบบมาอันหนึ่งต้นทุนจะสูงมาก แต่พอเราทำเป็น Shared Services และสร้างเป็นโรงพยาบาลเครือข่าย เมื่อเกิดการขยายไปเรื่อยๆ ค่าใช้จ่ายต่อโรงจะถูกกว่าซื้อระบบแยกให้แต่ละโรง ตอนนี้ก็เริ่มคืนทุนแล้ว” 

ด้วยแนวคิดและความชำนาญนี้ พ.ศ. 2561 มีการเปิดโรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อเป็นศูนย์กลางระบบการเกื้อหนุนกันทางสาธารณสุขของโรงพยาบาลทั้งเครือข่าย และยินดีจับมือกับธุรกิจต่างๆ ที่มีแนวทางสอดคล้องกันอีกด้วย

04

สร้างภูมิคุ้มกันให้ชีวิตที่บ้านเกิด

บุคลากรทางการแพทย์คือผู้ช่วยรักษาชีวิต เป็นทัพหน้าต่อสู้กับวิกฤตอย่างโรคระบาด COVID-19

ถือเป็นกลุ่มบุคคลสำคัญที่ควรได้รับการดูแลใส่ใจอย่างดี

แต่พวกเขาจำนวนมากต้องแบกรับความรับผิดชอบมหาศาล เหนื่อยทั้งกายใจ บางครั้งเกินกำลังมนุษย์หนึ่งคน ด้วยค่าตอบแทนที่สวนทางกันในหลายพื้นที่ ภายใต้โครงสร้างเช่นนี้ ไม่แปลกที่เกิดการกระจุกตัวในเมืองใหญ่ ส่งผลให้ชุมชนขาดแคลนบุคลากรที่ดีและมีศักยภาพตามมา

Principal Healthcare โรงพยาบาลที่ตั้งใจดูแลคน 10 จังหวัดเมืองรองและเริ่มคืนทุนใน 3 ปี

การปรากฏตัวขึ้นของโรงพยาบาลเอกชนที่ทันสมัย พอมีกำลังจ่ายผลตอบแทนในพื้นที่ท้องถิ่น ถือเป็นอีกหนึ่งความหวังที่หลายคนเฝ้ารอ

“คนจำนวนมากอยากกลับมาทำงานที่บ้านเกิดหรือจังหวัดใกล้เคียงอยู่แล้ว เราอยากชวนพวกเขากลับบ้านมาพัฒนาชุมชนด้วยกัน อาจเป็นตัวเลือกทำพาร์ตไทม์เพื่อสร้างรายได้เสริมก็ได้” สาธิตเล่า ทางโรงพยาบาลยินดีเปิดรับคนในพื้นที่มาร่วมงานอย่างยิ่ง โดยพิจารณาจากความต้องการของชุมชน

และผลตอบรับที่ผ่านมาก็เกินคาดหมาย 

“เมื่อปลายปีที่แล้ว ในเพจและเว็บไซต์มีประกาศรับสมัครบุคลากรของโรงพยาบาลพริ้นซ์ ศรีสะเกษ ที่จะเปิดให้บริการเดือนเมษายนปีนี้ ปรากฏว่าโพสต์ได้วันเดียวต้องปิดเลย เพราะคนสมัครกันเป็นพัน”

ทั้งนี้ บุคคลที่จะร่วมงานกับ Principal Healthcare จำเป็นต้องผ่านการคัดเลือกเข้มข้น เพื่อดูว่ามีจุดมุ่งหมายในการเป็นผู้ให้ร่วมกันหรือไม่ ซึ่งเป็นหลักการสำคัญที่โรงพยาบาลยึดถือและพยายามถ่ายทอดออกมาหลายรูปแบบ เช่น โครงการแพทย์ผู้ให้ บริการโดยไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีความจำเป็นในกรณีต่างๆ ตามบริบทของพื้นที่

Principal Healthcare โรงพยาบาลที่ตั้งใจดูแลคน 10 จังหวัดเมืองรองและเริ่มคืนทุนใน 3 ปี

เมื่อมีแพทย์ที่ศักยภาพเต็มเปี่ยม จรรยาบรรณสอดคล้องกันแล้ว โรงพยาบาลก็กลายเป็นที่พึ่งพิงฝากไข้ได้หายห่วง

“มีเรื่องราวดีๆ เกิดขึ้นเยอะเลย เช่น ในจังหวัดอุทัยธานีและอุตรดิตถ์ เมื่อก่อน ถ้าอยากทำการคลอดลูกในโรงพยาบาลเอกชน เขาอาจต้องข้ามไปจังหวัดอื่น ลำบากกันทั้งครอบครัว แต่ตอนนี้มีโรงพยาบาลใกล้บ้านแล้ว เขาได้คุยกับแพทย์ในจังหวัดตัวเองด้วย ญาติมีความสุข เป็นผลดีต่อตัวจังหวัด”

05

จับชีพจรองค์กร ไขปัญหาและปรับตัว

“ต้องทำให้มันง่าย” 

สาธิตเน้นย้ำ เมื่อพูดถึงการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในชุมชนดั้งเดิมที่มีแรงเสียดทานบ้างเป็นธรรมดา โดยเฉพาะภายในองค์กรที่ต้องพลิกโฉมครั้งใหญ่ เพราะมนุษย์มักไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่คาดเดาไม่ได้ สิ่งที่กระทบกับวิถีชีวิตที่เคยชิน

แต่เราสามารถวางแผนให้เกิดขึ้นอย่างราบรื่นที่สุด

Principal Healthcare โรงพยาบาลที่ตั้งใจดูแลคน 10 จังหวัดเมืองรองและเริ่มคืนทุนใน 3 ปี

“คนต้องรู้สึกว่าการมีเทคโนโลยีทำให้ชีวิตประจำวันสะดวกขึ้น แบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่ไปถึงแล้วตั้งคอมพิวเตอร์ สั่งให้เขาใช้งานทันที แต่ร่วมมือกัน”
อาจเริ่มจากเรื่องเล็กๆ แต่น่าเบื่อหน่ายใจ อย่างการตอกบัตรเข้าออกงาน บริษัทเห็นว่าเป็นหนึ่งในสิ่งที่คนทำงานไม่ชอบที่สุด จึงปรับเปลี่ยนให้เป็นระบบดิจิทัล ทำผ่านโทรศัพท์มือถือได้สบาย เมื่อคนเริ่มเปิดใจ เห็นผลดี เรื่องจริงจังอื่นๆ ก็เปลี่ยนได้ง่ายขึ้น

พอภายในองค์กรยินดีปรับตัว แม้เจอวิกฤตใหญ่ระดับ COVID-19  พวกเขาพร้อมหาทางออกใหม่อย่างรวดเร็วเพื่อตอบโจทย์สังคม

ดร.สาธิต วิทยากร ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน)

ทั้งการให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพเบื้องต้นทางไกล (TeleHealth) การตรวจคัดกรอง COVID-19 แบบ Drive Thru และการบริการดูแลถึงบ้าน (ขึ้นอยู่กับพื้นที่และสถานการณ์)

รวมถึงจับมือร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ลงพื้นที่ตรวจเชื้อ ร่วมมือกับโรงแรมที่เป็น Alternative State Quarantine (ASQ) เพื่ออำนวยความสะดวกด้านสุขภาพให้แก่ลูกเรือที่เดินทางข้ามแดน และรักษาคนต่างชาติที่มาตรวจพบเชื้อภายในไทย เกิดการบอกปากต่อปากและสร้างชื่อเสียงที่ดีให้แก่ประเทศ

06

ร่วมมือกันทั้งองคาพยพ

ทุกธุรกิจมีจุดให้ปรับปรุงเสมอ สำหรับธุรกิจโรงพยาบาลโดยทั่วไป หนึ่งในสิ่งที่ผู้ป่วยแสดงความคิดเห็นมากที่สุดหนีไม่พ้นเรื่องการบริการ ทั้งคุณภาพ ความคุ้มค่า และความเร็ว

แม้มีทีมงานมืออาชีพ แต่ Principal Healthcare ยังถือเป็นธุรกิจน้องใหม่อายุไม่เกิน 4 ปีที่มีพื้นที่ให้พัฒนาอยู่เช่นกัน โดยทางผู้บริหารก็เร่งปรับเปลี่ยน และศึกษาจากธุรกิจในอุตสาหกรรมอื่นด้วย

“ก่อนหน้าทำธุรกิจนี้ บริษัททำธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มาก่อน และมีโรงแรมแมริออทอยู่ในเครือหนึ่งโรง เลยไปดูว่าโมเดลการบริหารจัดการเครือข่ายของเขาเป็นอย่างไร มีคู่มือการบริการแบบไหน อาจมีบริบทไม่เหมือนกัน แต่นำมาประยุกต์ใช้ได้

“เขาเป็นบริษัทบริหารโรงแรม เราจะเป็นบริษัทบริหารโรงพยาบาล”

ส่วนหมุดหมายหลักต่อจากนี้คือ พ.ศ. 2566 Principal Healthcare จะมีสถานพยาบาลที่ครบครัน ประกอบด้วยโรงพยาบาล 20 แห่ง คลินิกที่คนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น 100 แห่ง และศูนย์ดูแลสุขภาพผู้สูงอายุที่ช่วยฟื้นฟูเหล่าวัยเก๋าให้กลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้ในช่วงเวลาสั้นๆ 5 แห่ง ร่วมมือกับพันธมิตรมากประสบการณ์จากประเทศญี่ปุ่น ตอบรับสังคมผู้สูงวัย

และจะยังคงเปิดรับ มองหาพันธมิตรใหม่ๆ อีกด้วย

Principal Healthcare โรงพยาบาลที่ตั้งใจดูแลคน 10 จังหวัดเมืองรองและเริ่มคืนทุนใน 3 ปี

“ถ้าเราร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ที่มีศักยภาพและปณิธานเหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องเป็นด้านสาธารณสุข อาจเป็นพลังงาน การขนส่ง อสังหาริมทรัพย์ แล้วขยายไปเมืองรองต่างๆ ด้วยกัน เชื่อว่าชุมชนบ้านเราจะดีและเข้มแข็งขึ้นมาก” สาธิตเน้นย้ำความสำคัญของการทำงานเป็นหนึ่งเดียวกัน

เพื่อไม่ให้มีใครต้องสูญเสียช่วงขณะสำคัญของชีวิต และไปถึงที่หมายได้ทันเวลา

Lesson Learned

ในยุคสมัยใหม่ ธุรกิจไม่อาจยืดหยัดอยู่ได้ด้วยเพียงคนเดียวต่อไป แต่ต้องมีตัวตนที่ชัดเจน และร่วมมือกับคนอื่นที่ถนัดด้านต่าง ๆ เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายร่วมกัน โรงพยาบาลรัฐและเอกชนอาจต้องจับมือกันมากขึ้นด้วย เพื่อสร้างทางออกใหม่ให้กับสังคม

“ตอนแรกคนมองว่าการลงทุนทำแบบนี้ก่อนก็เสี่ยงเหมือนกัน แต่ถ้าเรายึดจุดมุ่งหมายให้ดี ตั้งใจเดินทางนี้จริงๆ เดี๋ยวจะมีคนเข้ามาเป็นเพื่อนเดินทางรวมกัน”

Writer

Avatar

ปัน หลั่งน้ำสังข์

บัณฑิตวิศวฯ ที่ผันตัวมาทำงานด้านสื่อ เพราะเชื่อว่าเนื้อหาดี ๆ จะช่วยให้คนอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ