‘ร้านพริกหยวก (Prik-Yuak)’ น่าจะเป็นหนึ่งในร้านอาหารเก่าแก่ที่ชื่อคุ้นหู รสชาติคุ้นลิ้นของใครหลายคน โดยเฉพาะผู้ที่มีโอกาสผ่านไปมาแถวย่านตลาดนัดจตุจักร ในฐานะร้านข้าวแกงขายดี รสชาติเด็ด ที่เปิดมาตั้งแต่ พ.ศ. 2534

ที่น่าสนใจคือ ร้านนี้ไม่ได้เริ่มต้นกิจการจากการเอากำไรเป็นที่ตั้ง แต่ แอน-ดารารัตน์ วิสัยจร เริ่มทำข้าวแกงเพราะความสนุก! 

สนุกขนาดที่มีโอกาสพารสชาติอาหารไทยไปไกลถึงกรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก ด้วยการร่วมงานกับ Borek Sipek ดีไซเนอร์และนักเป่าแก้วฝีมือดีที่อยู่เบื้องหลังช็อปและเฟอร์นิเจอร์ของ Karl Lagerfeld แห่ง Chanel ในนามร้าน Siam E-sarn ที่เสิร์ฟอาหารไทยแบบมาก่อนกาล จนฝรั่งขนานนามว่า ‘Curry from the Other Planet’ 

ไปไกลจนเราอดสงสัยไม่ได้ว่าอะไรคือเคล็ดลับ

แอนตอบกลับว่า ไม่มีความลับอะไรไปมากกว่ารสมือและการคัดสรรวัตถุดิบ 

รสมือ ไม่ใช่รสดี 

“เราเติบโตมาในครอบครัวที่ทำอาหาร คุณแม่ทำกับข้าวเก่ง คนสมัยก่อนเวลาทำอาหารอร่อยเขาเรียกว่ามีรสมือ ไม่ใช่รสดีนะ ความอร่อยของรสมือคือการกะสัดส่วนในการปรุงอย่างพอเหมาะพอดีจากประสบการณ์ เพราะสมัยก่อนไม่มีการมาชั่งตวงอะไรเป๊ะ ๆ” แอนย้อนเล่ารากฐานที่รับมาจากคุณแม่ แล้วนำมาส่งต่อให้ลูกค้าผ่านร้านพริกหยวกที่ย้ำว่า ไม่ใช่ร้านอาหารฟิวชัน แต่เป็นร้านอาหารไทยสไตล์ครอบครัวที่ลูกหลานกินได้ ผู้ใหญ่กินดี ตั้งใจเสิร์ฟรสมือแบบไทยแท้ ๆ ด้วยวัตถุดิบคุณภาพ 

“ข้าวหอมมะลิออร์แกนิกที่เราใช้มาจากอุบลราชธานี เป็นฟาร์มของพี่ชายที่ปลูกข้าวส่งออกไปสวิตเซอร์แลนด์ ส่วนข้าวไรซ์เบอร์รีก็กะเทาะเปลือกด้วยมือ ไม่ผ่านโรงสี ทำให้ได้ข้าวเต็มเมล็ด เมล็ดโต เมล็ดอวบ เป็นข้าวกล้องไรซ์เบอร์รีที่ทั้งสวยและนุ่ม นี่คือความเหมือนที่แตกต่างที่เราเสิร์ฟให้กับลูกค้า ซึ่งบางครั้งลูกค้าอาจไม่ทันสังเกต แต่เราอยากทำ อย่างเส้นจันท์ในเมนูเส้นจันท์ผัดปูซึ่งเป็นเมนูเด็ดของที่นี่ ก็ใช้เส้นข้าวที่ส่งออกไปฝรั่งเศส ในขณะที่เส้นในตลาดจะเป็นเส้นแป้งมันสำปะหลัง”

ข้าวแกงเป็นความสนุก

ระหว่างสนทนา เราได้ยินคำว่าการทำข้าวแกงเป็นเรื่องสนุกจากแอนหลายครั้ง จนต้องขอให้เธอช่วยขยายความ

“เป็นความสนุกของการกินที่คนได้เลือกเอง ไม่ใช่จากเมนู แต่เป็นของจริงที่เรามองเห็นด้วยตา อยากสัมผัสด้วยลิ้น เราอยากทดลองชิม อยากดมกลิ่น เป็นความหลากหลายของวิถีการกิน มีข้าวแกงกับเครื่องเคียงที่กินแล้วให้รสชาติหลากหลายและอร่อยขึ้น เรียกว่า Matching Dish

“ข้าวแกงต้องสวยด้วยนะ เสน่ห์ของข้าวแกงคือเมื่อเห็นแล้วอยากกิน ทำเมนูชุบไข่ทอดต้องฟู วางอาหารในจานต้องสวย ปลาต้องหั่นเท่ากันทุกชิ้น มองแล้วอยากรับประทาน อยากชิมรส”

ฟังแล้วเราก็อดนึกถึงความเข้ากันของข้าวหอมมะลิร้อน ๆ เนื้อปูก้ามโตเต็มคำ ผัดกับพริกเหลืองตำรับใต้กับปลาทรายทอดน้ำปลา แกล้มไชเท้าดอง มะละกอดองที่เพิ่งทานไปไม่ได้ เป็นการตัดกันของรสเปรี้ยวเค็มเผ็ดหวานได้อย่างพอดิบพอดี จนนึกอีกทีก็ยังน้ำลายสอ

พริกหยวก (Prik-Yuak) ร้านอาหารไทยโกอินเตอร์สาขาใหม่ที่รีโนเวตจากห้องเรียนอนุบาลอายุ 70 ปี ของโรงเรียนเรวดี ย่านประดิพัทธ์

 “เรากำหนดสัดส่วนเฉพาะที่เป็น Matching Dish พวกแกงเขียว แกงแดง แล้วปรับเปลี่ยนวัตถุดิบที่ใส่ลงไป ตัวตนของตัวเองชอบทำอย่างนั้น เพราะมันสนุก ไม่จำเจ”

คำตอบของแอนทำให้เราเห็นแนวคิดบางอย่างที่ปรากฏชัดเจนจากการทำอาหารไปจนถึงการปรุงรสอาคาร ซึ่งกลายมาเป็นบ้านหลังใหม่ในพื้นที่เดิมของโรงเรียนเรวดี บนหัวมุมถนนประดิพัทธ์ ตัดกับคลองประปา

‘ร้านพริกหยวก’ ร้านอาหารไทยที่รีโนเวตจากห้องเรียนอนุบาลของ รร.เรวดี ย่านประดิพัทธ์

วัตถุดิบ

“เราบอก ตั้ม-ชัยวัฒน์ วิสัยจร ผู้ออกแบบว่าอยากได้ที่แปลงนี้ เพราะเราชอบอะไรที่มันเขียว ๆ ตอนมาดูยังไม่เห็นอาคารนะ แต่ที่นี่มีต้นไม้เยอะดี ทำให้นึกถึงบรรยากาศสวนที่ภาคใต้ เป็นสวนในเมืองที่มีคลอง มีต้นมังคุดอายุ 100 ปีที่ออกลูกเท่าถ้วย” เจ้าของร้านพริกหยวกเล่าให้ฟังถึงการเลือกพื้นที่โรงเรียนเรวดีเป็นบ้านใหม่

การปรับปรุงพื้นที่โรงเรียนมาเป็นร้านอาหารยากไหม

“ไม่เคยคิดว่าจะมีอะไรยากสำหรับเรา อาจจะอายุมากขึ้น มีประสบการณ์แล้ว เห็นที่ตรงนี้แล้วชอบก็ติดต่อขอเช่ากับเจ้าของที่เองเลย”

พื้นที่ที่ร้านพริกหยวกเข้ามาปรับปรุงเพื่อทำเป็นร้านอาหารในรั้วโรงเรียนเรวดี คือแผนกอนุบาลที่ประกอบไปด้วยตึก 3 ชั้น เรือนย่อย 3 เรือน ก่อตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ. 2498 โดย คุณเรวดี เทียนประภาส แม้เวลาจะผ่านไปร่วม 70 ปี แต่อาคารที่ส่งต่อมาถึงมือแอนยังแข็งแรงอยู่มาก จากฝีมือช่างที่ดีกับความรักและการใส่ใจดูแลของเจ้าของเดิม 

การปรุงรสอาคารครั้งนี้จึงเน้นไปที่การปรับปรุงภูมิทัศน์ภายนอก เติมรายละเอียดบางส่วนเพิ่มเข้าไปใหม่ในกรอบอาคารเดิม 

(ปรับ) ปรุง

“ทางเจ้าของอยากให้อนุรักษ์พื้นที่ของเขาแบบเดิม ให้ยังคงมีกลิ่นอายโรงเรียน ตรงนี้เป็นเสาธงก็เอาธงออก เครื่องเล่นตรงนี้ก็เป็นของเก่าหมดเลย เอามาทาสีใหม่กับตอกเสาให้แข็งแรงขึ้น รถรางเก่าที่เขาอนุรักษ์ไว้ก็ทาสีใหม่ ลานจอดรถเมื่อก่อนเป็นทุ่งเลย เราก็ถางหญ้าปูบล็อกตัวหนอนใหม่ ส่วนต้นไม้ใหญ่เราเก็บไว้ทั้งหมด เติมแค่ไม้พุ่มเตี้ย ๆ เข้าไป” ออม-กาศิก พัจนโรจน์ ทายาทเจ้าของร้านเล่าให้ฟังถึงการปรับปรุงภูมิทัศน์ภายนอกขณะพาเราเดินสำรวจพื้นที่รอบ ๆ

‘ร้านพริกหยวก’ ร้านอาหารไทยที่รีโนเวตจากห้องเรียนอนุบาลของ รร.เรวดี ย่านประดิพัทธ์
‘ร้านพริกหยวก’ ร้านอาหารไทยที่รีโนเวตจากห้องเรียนอนุบาลของ รร.เรวดี ย่านประดิพัทธ์

นอกจากทีมพริกหยวกจะปรับปรุงพื้นที่ให้ใช้งานได้สะดวกปลอดภัยแล้ว ยังรักษากลิ่นอายความเป็นโรงเรียนไว้เป็นอย่างดี น้ำพุหน้าอาคารเดิมยังคงทำงานทุก 15 นาทีจากมอเตอร์ที่ติดเข้าไปใหม่ เก้าอี้นักเรียนตัวจิ๋วยังคงตั้งอยู่ที่ระเบียงห้องเรียน เป็นมุมที่ศิษย์เก่าโรงเรียนเรวดีชอบมาถ่ายรูปรำลึกความหลัง นับเป็นมุมยอดฮิตไม่แพ้เจ้ารถรางสีน้ำตาลครีมบริเวณลานจอดรถ

‘ร้านพริกหยวก’ ร้านอาหารไทยที่รีโนเวตจากห้องเรียนอนุบาลของ รร.เรวดี ย่านประดิพัทธ์
‘ร้านพริกหยวก’ ร้านอาหารไทยที่รีโนเวตจากห้องเรียนอนุบาลของ รร.เรวดี ย่านประดิพัทธ์
‘ร้านพริกหยวก’ ร้านอาหารไทยที่รีโนเวตจากห้องเรียนอนุบาลของ รร.เรวดี ย่านประดิพัทธ์

Kitchen Bar คือส่วนแรกที่ปรับปรุงใหม่ และเป็นส่วนแรกที่เผยตัวให้เราเห็นเมื่อเดินเข้ามาในอาคาร เป็นการเติมเฟรมไม้กรุกระจกเข้าไปในช่องรูปสี่เหลี่ยมคางหมูด้านหน้าและผนังรอบ ๆ เพื่อกั้นห้อง โดยพยายามแตะต้องผิวอาคารเดิมให้น้อยที่สุด เลยใช้แอร์ตั้งพื้นแล้วต่อเจาะช่องท่อผ่านกระจกใหม่ออกไปข้างนอก ไม่รบกวนโครงสร้างเดิมแม้แต่นิดเดียว

ส่วนนี้ออมตั้งใจให้เป็นพื้นที่สำหรับคนที่อยากมานั่งคุย กินขนม ดื่มกาแฟ เน้นที่กาแฟแบบ Single Origin และทำกิจกรรมอื่น ๆ ขนาดของบาร์เลยกว้างกว่าบาร์กาแฟปกตินิดหนึ่ง แต่วางแผนว่าจะมีเมนูพิเศษประจำสัปดาห์จับคู่เสิร์ฟกับขนมไทยของคุณแม่ เพราะในอนาคตอยากเปิดโซนนี้ขายอาหารเช้าง่าย ๆ แบบดั้งเดิมอย่างไข่กระทะ

‘ร้านพริกหยวก’ ร้านอาหารไทยที่รีโนเวตจากห้องเรียนอนุบาลของ รร.เรวดี ย่านประดิพัทธ์
‘ร้านพริกหยวก’ ร้านอาหารไทยที่รีโนเวตจากห้องเรียนอนุบาลของ รร.เรวดี ย่านประดิพัทธ์

เหล็กดัดรูปโรงเรียนบริเวณช่องบันไดและช่องประตูในเรือนย่อย แสดงฝีมือช่างสมัยก่อนที่ปัจจุบันหาดูยากขึ้นทุกที ทั้งหมดยังเก็บรักษาไว้อย่างดีในสภาพสมบูรณ์ เพราะเฟรมไม้ที่ทำเพิ่มถูกติดเข้าไปอยู่ด้านหลังของเหล็กดัด

‘ร้านพริกหยวก’ ร้านอาหารไทยที่รีโนเวตจากห้องเรียนอนุบาลของ รร.เรวดี ย่านประดิพัทธ์
‘ร้านพริกหยวก’ ร้านอาหารไทยที่รีโนเวตจากห้องเรียนอนุบาลของ รร.เรวดี ย่านประดิพัทธ์

ร้านขายของแฮนด์เมดมีสินค้าให้ลูกค้าเลือกหลากหลาย ตั้งแต่ข้าวของเครื่องใช้ไปจนถึงเครื่องจักสานที่ผสมผสานกันระหว่างของที่แอนเก็บสะสมมาตลอดชีวิต กับของใหม่ที่ส่วนใหญ่เป็นงานฝีมือจากฝั่งเมียนมา เพราะคนไทยไม่ค่อยทำงานหวายแบบนี้กันแล้ว 

‘ร้านพริกหยวก’ ร้านอาหารไทยที่รีโนเวตจากห้องเรียนอนุบาลของ รร.เรวดี ย่านประดิพัทธ์

เรือนอาคารเรียนแรกชื่อ Cuisine Club ตั้งใจทำเป็นพื้นที่นั่งเล่นสำหรับลูกค้าที่มื้ออาหารจบแล้ว แต่บทสนทนายังไม่จบก็มานั่งพูดคุยต่อได้ โดยใช้เฟอร์นิเจอร์ลอยตัวอย่างชั้นไม้ ช่วยแบ่งสรรปันส่วนได้อย่างยืดหยุ่น ไม่ทึบ ไม่อึดอัดเกินไป แต่ยังคงความเป็นส่วนตัว หรือใครมองหาที่นั่งทำงานคนเดียวชิลล์ ๆ สบาย ๆ ออมก็เตรียมพื้นที่บริเวณม้านั่งยาวเอาไว้ให้บริการ พร้อมโต๊ะขนาดพอดีสำหรับวางแล็ปท็อป 

‘ร้านพริกหยวก’ ร้านอาหารไทยที่รีโนเวตจากห้องเรียนอนุบาลของ รร.เรวดี ย่านประดิพัทธ์

ส่วนเรือนกลางเป็นพื้นที่หลักของร้านอาหาร มีทั้งพื้นที่ Outdoor และ Indoor เราขอแนะนำสำหรับวันที่แดดไม่แรงและอากาศไม่ร้อนจนเกินไป การนั่งข้างนอกรับลมเย็น ๆ ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ตรงกับคอนเซปต์ที่แอนคุยไว้กับตั้มว่า อยากให้คนที่มาได้นั่งรับลมเย็น ๆ ในบรรยากาศสงบ เพราะถึงแม้ว่าร้านจะตั้งอยู่บริเวณหัวมุมถนนประดิพัทธ์ ติดกับทางด่วน แต่ตัวอาคารหลักและพุ่มไม้รอบ ๆ ช่วยกรองเสียงภายนอกออกไปได้อย่างดี จนเราได้ยินแต่เสียงบทสนทนากับเสียงนกร้อง 

เจ้าของร้านเสริมอีกว่า คอร์ตจำปีและคอร์ตเด็กเล่นที่คั่นกลางระหว่างทั้ง 3 เรือนนั้น นอกจากตอนกลางวันจะนั่งเล่นเย็นสบายแล้ว กลางคืนยังมีฟังก์ชันพิเศษคือเป็นที่ชมจันทร์ เพราะจากตรงนี้แทบไม่มีตึกอื่นมาบดบังท้องฟ้าเลย

‘ร้านพริกหยวก’ ร้านอาหารไทยที่รีโนเวตจากห้องเรียนอนุบาลของ รร.เรวดี ย่านประดิพัทธ์

ส่วนการออกแบบตกแต่งภายในของเรือนกลาง เผยให้เห็นความชอบของแอนผ่านรายละเอียดภายในได้ชัดเจน 

“เราชอบสีไม้ ชอบสีดำ ชอบสีขาว ไม่ชอบสีแดง ไม่ชอบสีอะไรที่เป็นสีแรง ๆ ชอบอะไรที่เรียบง่ายมากกว่า”

เราจึงได้เห็นการผสมผสานกันระหว่างผนังไม้ โต๊ะไม้ขาเหล็กสีดำ เก้าอี้หวาย งานเครื่องจักสานประดับบนผนัง และดอกไม้สีขาวในตะกร้าหวายซึ่งทำให้พื้นที่มีชีวิตชีวา รวมถึงกรอบรูปที่เก็บหน้านิตยสารต่าง ๆ บอกเล่าเรื่องราวของร้านพริกหยวกตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่พื้นกระเบื้องหินขัดเดิมและฝ้าลายตารางสีขาว ทำหน้าที่เก็บวันเวลาสมัยยังเป็นโรงเรียนเอาไว้

แอนบอกว่าเรื่องเสียงก็มีปัญหาบ้าง แต่โชคดีที่รักษาชุดประตูเก่าเอาไว้อย่างดี เลยถือโอกาสนี้แก้ไขด้วยการแง้มบานกระทุ้งด้านบนออก ช่วยทำให้เสียงสะท้อนลดน้อยลง 

 ไฟใหม่ที่เติมเข้าไปก็เน้นสีอุ่น เพราะอยากสร้างบรรยากาศให้คนมาทานอาหารรู้สึกเหมือนอยู่บ้าน โดยใช้เป็นโคมติดลอยอยู่บนฝ้า

‘ร้านพริกหยวก’ ร้านอาหารไทยโกอินเตอร์สาขาใหม่ที่รีโนเวตจากห้องเรียนอนุบาลอายุ 70 ปี ของโรงเรียนเรวดี ย่านประดิพัทธ์

เรือนที่ 3 ชื่อปิงปองคลับ เพราะตั้งใจจะใช้เป็นห้องตีปิงปอง แต่เมื่อดูจากความเหมาะสมทั้งในแง่ความเป็นส่วนตัวที่ห้องนี้อยู่ด้านในสุดของทางเดิน ผนวกกับการมีกระดานดำเดิมของโรงเรียนที่ยังใช้งานขีดเขียน ระดมความคิดได้ ห้องนี้เลยกลายมาเป็นห้องรับรองสำหรับลูกค้ากลุ่มใหญ่ที่ต้องการความเป็นส่วนตัว

เฟอร์นิเจอร์ในร้านบางตัวก็หอบหิ้วกันมาจากร้านเดิม ส่วนตัวใหม่อาศัยฝีมือจากร้านเก่าแก่ย่านบางโพ เป็นการแชร์ไอเดียร่วมกันระหว่างแอนกับตั้ม ออกแบบมาเป็นโต๊ะไม้จริงขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนขาเหล็กที่ดีไซน์โมเดิร์นสีดำให้ดูร่วมสมัย แต่ยังได้สัมผัสของไม้ที่ให้ความรู้สึกอบอุ่น ส่วนชั้นไม้ที่กั้นเพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวระหว่างโต๊ะอาหาร บางชิ้นก็ใหม่ แต่บางชิ้นเป็นชั้นวางสมุดเดิมของโรงเรียน สังเกตได้จากร่องรอยการใช้งานที่ปรากฏอยู่บนเนื้อไม้

‘ร้านพริกหยวก’ ร้านอาหารไทยโกอินเตอร์สาขาใหม่ที่รีโนเวตจากห้องเรียนอนุบาลอายุ 70 ปี ของโรงเรียนเรวดี ย่านประดิพัทธ์
‘ร้านพริกหยวก’ ร้านอาหารไทยโกอินเตอร์สาขาใหม่ที่รีโนเวตจากห้องเรียนอนุบาลอายุ 70 ปี ของโรงเรียนเรวดี ย่านประดิพัทธ์

จานเครื่องปั้นดินเผาสีส้มที่เป็นเอกลักษณ์ของร้าน ดูเหมือนจะธรรมดาแต่ไม่ธรรมดา เพราะราคาใบละ 300 บาท ออมบอกว่าที่เลือกใช้เจ้านี้เพราะทำผิวได้เรียบเนียนกว่าที่อื่น ร้านพริกหยวกเลยสั่งทำพิเศษจากร้านที่ปากเกร็ดเสมอ และกำลังกลายเป็นจานลิมิเต็ดอิดิชัน เพราะดินที่ใช้ปั้นกำลังจะหมด

‘ร้านพริกหยวก’ ร้านอาหารไทยโกอินเตอร์สาขาใหม่ที่รีโนเวตจากห้องเรียนอนุบาลอายุ 70 ปี ของโรงเรียนเรวดี ย่านประดิพัทธ์

“พอเป็นห้องน้ำอนุบาล ผมเลยทำป้ายใหม่ ติดคำว่า Girl กับ Boy เข้าไป”

ออมพูดถึงกิมมิกที่เปลี่ยนจากป้าย Men and Women เป็น Boy and Girl ให้เหมาะกับห้องน้ำที่ปรับปรุงใหม่จากห้องน้ำอนุบาลเดิม โดยเติมชุดกั้นประตูบานเลื่อนไม้กรุกระจกลอนที่ให้กลิ่นอายความเก่าแก่ แต่ใช้งานสะดวกขึ้น ประตูห้องน้ำใช้ดีเทลเดียวกัน แต่เพิ่มผ้าเข้าไปหลังกระจกเพื่อความเป็นส่วนตัว ผนังกรุไม้กับติดไฟเข้าไปใหม่เพื่อให้รู้สึกอบอุ่นมากขึ้น 

ไฮไลต์ของห้องน้ำที่แขกไปใครมามักจะถ่ายรูปด้วย คืออ่างอาบน้ำของเด็กอนุบาล วางทับด้วยท็อปไม้กลายเป็นที่นั่งรองรับการเมาท์ของสาว ๆ เป็นฟังก์ชันที่เกิดจากการสังเกตผู้ใช้งานของแอน ซึ่งเหมาะกับที่นี่เพราะห้องน้ำมีขนาดกว้างขวาง ระบายอากาศได้ดีด้วยหน้าต่างบานกระทุ้งเดิม 

‘ร้านพริกหยวก’ ร้านอาหารไทยโกอินเตอร์สาขาใหม่ที่รีโนเวตจากห้องเรียนอนุบาลอายุ 70 ปี ของโรงเรียนเรวดี ย่านประดิพัทธ์
‘ร้านพริกหยวก’ ร้านอาหารไทยโกอินเตอร์สาขาใหม่ที่รีโนเวตจากห้องเรียนอนุบาลอายุ 70 ปี ของโรงเรียนเรวดี ย่านประดิพัทธ์

ส่วนครัวเกิดจากการกั้นห้องเรียนเดิมด้วยโครงเหล็กกรุไม้อัดง่าย ๆ ให้เป็นสัดส่วน ในขณะที่ส่วนห้องน้ำและส่วนเซอร์วิสของพนักงานตั้งแยกออกไปบริเวณข้างรั้ว โดยใช้กรอบไม้จากร้านเดิม แล้วเติมผ้าม่านเพื่อความเป็นส่วนตัว 

จานถัดไป

เราอดไม่ได้ที่จะถามถึงแผนในอนาคตของร้านพริกหยวกในบ้านใหม่ใต้รั้วโรงเรียนเรวดี เพราะเห็นทั้งศักยภาพของร้านและสถานที่ เจ้าบ้านบอกว่าอยู่ระหว่างทดลองหาความเป็นไปได้ เพราะที่ผ่านมาในช่วง Soft Opening ทางร้านทดลองไปหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเปิดห้อง Private ให้เช่าเป็นกลุ่ม เป็นพื้นที่จัดเลี้ยง ที่นั่งทำงาน ไปจนถึงการจัดดนตรีในสวน

 ส่วนทางเลือกหนึ่งในอนาคตที่แอนแอบกระซิบให้ฟังแล้วเราหูผึ่ง ท้องร้อง คือการทำข้าวแกงบุฟเฟต์เดือนละครั้ง จะตั้งสำรับตั้งแต่ช่วงเช้ายันสาย เพราะสำหรับแอน ไม่ว่าเวลาจะผ่านมานานเท่าไหร่ข้าวแกงก็ยังเป็นอะไรที่สนุกและอยากทำอยู่เสมอ  ส่วนผู้อ่านท่านไหนทนหิ้วท้องรอไม่ไหว เราขอแนะนำให้ไปลองฝากท้องกับลองลิ้มชิมรสอาหารของ พริกหยวก (Prik-Yuak) ในบรรยากาศสบาย ๆ ใต้ห้องเรียนดูสักมื้อ ข้อพึงระวังเพียงข้อเดียวที่เราอยากมอบให้ คือระวังว่าไปครั้งเดียวจะไม่พอ เพราะเราก็รอที่จะไปทานข้าวรสมือแอนอีกครั้งไม่ไหวเช่นกัน!

พริกหยวก (Prik-Yuak)
  • 108 ถนนประดิพัทธ์ แขวงพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร (แผนที่)
  • 11.00 – 21.00 น. (ปิดวันจันทร์)
  • 08 1648 2282
  • พริกหยวก Prik-Yuak

Writer

Avatar

นิปุณ แสงอุทัยวณิชกุล

สถาปนิกที่สนใจในงานเขียน สถาปัตยกรรม ที่ว่าง เวลา และหมาฟลัฟฟี่

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล