กระแสการกินเพื่อสุขภาพมักมาพร้อมกับคำศัพท์ใหม่ ๆ ที่เราไม่คุ้นเคยเท่าไหร่นัก อย่างเมื่อหลายปีที่แล้วมีการกินแบบแมคโครไบโอติกส์ (Macrobiotics) โดยการกินธัญพืชแบบเต็มเมล็ดและเลือกรับประทานปลาเป็นโปรตีน และนิยมใช้เป็นโภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง

สมัยนี้คำที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในวงการอาหารสุขภาพคงนี้ไม่พ้นคำว่า โพรไบโอติกส์ และ พรีไบโอติกส์ ที่ใช้เป็นแท็กไลน์ในผลิตภัณฑ์​ต่าง ๆ มากมายจนงงไปหมด เหมือนสมัยที่เรางงกับคำว่า ไฮโดรโปนิกส์ หรือ ออร์แกนิก 

สรุปว่าอะไร พรีไบโอติกส์ – โพรไบโอติกส์ คืออะไรกันแน่นะ

อ่านบทความนี้ต่อ เพื่อหาคำตอบชัดกันไปเลย

โพรไบโอติกส์ (Probiotics) มาจากรากศัพท์ของกรีก Pro หมายถึงการส่งเสริม การเห็นดีเห็นงาม ส่วน Biotic คือชีวิต คุณหมอ Garry B. Hoffnagle และ Sarah Wernick อธิบายอย่างเข้าใจง่าย ๆ ในหนังสือชื่อ The Probiotics Revolution ว่า โพรไบโอติกส์หมายถึงจุลินทรีย์ทุกชนิดที่เป็นมิตรต่อสุขภาพ พบในร่างกายขณะที่มีชีวิตอยู่ มักจะอยู่ในระบบย่อยและทางเดินอาหาร ทั้งยังพบได้ในอาหารหมักบ่ม อย่างนมเปรี้ยวและผักดองบางชนิด  

แล้วจุลินทรีย์ที่ว่ามันคืออะไรนะ 

รู้จักพรีไบโอติกส์ โพรไบโอติกส์ การทำให้ระบบย่อยอาหารดี ด้วยการกินที่ถูกต้องและสมดุล

จุลินทรีย์คือสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ๆ บางชนิดที่มองด้วยตาเปล่าแทบจะไม่เห็น แต่ก็มีบางชนิดที่ใหญ่พอให้เราได้เห็นพวกมัน ทั้งแบคทีเรีย ยีสต์ พยาธิ รวมถึงไวรัสด้วย เรียกรวมกันว่าจุลินทรีย์ และเมื่อมันอยู่ในร่างกายของเรา นักวิทยาศาสตร์สมองเปรื่องก็ตั้งชื่อให้ว่า ‘ไมโครไบโอต้า’ โดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ที่ลำไส้ และมีบางส่วนอาศัยอยู่ที่ระบบทางเดินอาหาร บนผิวหนัง และในปอด 

คำว่าโพรไบโอติกส์อยู่ในกระแสโดยเฉพาะในวงการสุขภาพ งานวิจัยใหม่ ๆ ทำให้เราได้เรียนรู้ว่ามนุษย์พึ่งพาจุลินทรีย์ดีที่อาศัยอยู่ในร่างกายมากกว่าแค่ช่วยย่อยอาหารเท่านั้น แต่จุลินทรีย์เหล่านี้ยังช่วยเรื่องภูมิคุ้มกัน ป้องกันภาวะติดเชื้อในหลายระบบของร่างกาย ลดการกระตุ้นอาการจากโรคภูมิแพ้ รักษาอารมณ์แปรปรวนสุดโต่ง และทำให้ท้องไส้ปั่นป่วนน้อยลง จนไปถึงการช่วยให้เราหลับสบายขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจุลินทรีย์พวกนี้เป็นแบคทีเรีย แบ่งหมวดใหญ่ ๆ ได้ 2 ชนิด คือ แลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus) และบิฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium) และสายพันธ์ุย่อยของพวกมัน 

นั่นหมายความว่า เจ้าจุลินทรีย์ตัวจิ๋วทำให้เราสุขภาพดีขึ้นได้ และไม่ต้องทนทุกข์อยู่กับโรคเรื้อรัง 

หน้าที่เราก็ง่ายมาก ๆ แค่ต้องดูแลเจ้าจุลินทรีย์เหล่านี้ที่อยู่ในตัวของเราให้แข็งแรง มีปริมาณที่เหมาะสมกับเรา โดยสร้างบ้านที่พวกมันชอบอยู่ และให้อาหารที่พวกมันชอบกินผ่านการกินของเรา 

ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องทำความรู้จักกับคำว่า ‘พรีไบโอติกส์’ เพราะนอกจากจะเป็นอาหารสำคัญของพวกจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในตัวเราแล้ว มันยังสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับจุลินทรีย์ตัวดี เพื่อเพิ่มปริมาณได้อย่างเหมาะสมอีกด้วย 

รู้จักพรีไบโอติกส์ โพรไบโอติกส์ การทำให้ระบบย่อยอาหารดี ด้วยการกินที่ถูกต้องและสมดุล

แหล่งอาหารที่เป็นพรีไบโอติกส์ ส่วนมากแล้วอยู่ในกลุ่มคาร์โบไฮเดรตในรูปแบบกากใยและไฟเบอร์ เมื่อกินเข้าไปแล้วไม่ได้ย่อยที่กระเพาะอาหารหรือดูดซึมที่ลำไส้เล็ก แต่จะถูกหมักให้ย่อยสลายโดยแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ และก่อให้เกิดสารต่าง ๆ ที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกาย จึงไม่น่าแปลกใจที่แหล่งอาหารซึ่งอุดมไปด้วยพรีไบโอติกส์จะเป็นผักผลไม้ทั้งเปลือก (แบบที่กินเปลือกได้) ธัญพืชไม่ขัดขาว ไม่ว่าจะเป็นข้าว ลูกเดือย งา ถั่วเต็มเมล็ดอย่างเลนทิล ถั่วเขียว แดง ดำ สำหรับดาร์กชอกโกแลต เครื่องเทศสมุนไพร ชา น้ำองุ่นหมักแดง หัวหอม และกระเทียม อาจจะไม่มีกากใยมาก แต่เป็นอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระมาก ซึ่งทำงานรวมกันกับกากใย

อ่านแล้วดูเหมือนอาหารเพื่อสุขภาพทั่วไป ๆ ที่รู้ ๆ กันอยู่แล้ว เพียงแค่เมื่อถึงมื้ออาหาร เรากินสิ่งเหล่านี้อยู่หรือเปล่า เราอาจเลือกข้าวขาวแทนข้าวกล้องเพราะความนุ่มละมุนลิ้น กินผลไม้ปอกเปลือกเพราะมันหวานฉ่ำและไม่ติดฝาด หรือกินช็อกโกแลตรสนม หวานเข้มมันอร่อยกว่าช็อกโกแลตที่ไม่ผสมนมหรือน้ำตาลเลย 

แล้วแน่ใจมั้ยว่าอาหารเหล่านี้ผลิตในระบบอินทรีย์ ไม่ถูกแปรรูปทางอุตสาหกรรมอย่างสุดโต่ง ไม่เช่นนั้น แทนที่จะได้พรีไบโอติกส์ที่ป็นประโยชน์ต่อโพรไบโอติกส์ในร่างกาย เราอาจจะได้อย่างอื่นมาแทน  

รู้จักพรีไบโอติกส์ โพรไบโอติกส์ การทำให้ระบบย่อยอาหารดี ด้วยการกินที่ถูกต้องและสมดุล

นอกจากต้องเลี้ยงจุลินทรีย์ในลำไส้ของเราด้วยอาหารที่พวกมันชื่นชอบแล้ว เราอาจเติมปริมาณ​จุลินทรีย์ให้กับร่างกาย โดยกินอาหารที่จุลินทรีย์อาศัยอยู่ พวกอาหารที่ผ่านการหมักดอง ตั้งแต่นมเปรี้ยว ชีส กิมจิ ส้มผัก แหนม จนไปถึง ซาวโดวจ์ หรือขนมปังรสเปรี้ยวที่ใช้ยีสต์ธรรมชาติ แม้ว่าจุลินทรีย์จะตายระหว่างการอบ แต่มันก็ทิ้งสารเมตาไบโอติกที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพไว้ 

ถ้าเราอยากจะเพิ่มจุลินทรีย์ดี ๆ เข้าร่างกาย จุลินทรีย์เหล่านี้ต้องอยู่รอดจนไปถึงลำไส้ของเราได้ ถ้ามันตายหมดระหว่างทาง การกินของเหล่านี้ก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรมากนัก รวมไปถึงดูปริมาณน้ำตาลในของหมักดองเหล่านี้ด้วย โดยเฉพาะนมเปรี้ยวและโยเกิร์ต เพราะความหวานที่มากไปจากน้ำตาล อาจเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ตัวร้ายได้

อีกหนึ่งอย่างที่เราต้องทำเพื่อรักษาสมดุลของไมโครไบโอต้า คือลดการใช้ยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์ในวงกว้าง เพราะยาปฏิชีวนะไม่เลือกปฏิบัติ มันจึงฆ่าจุลินทรีย์ทั้งที่ดีและก่อให้เกิดโรคจนเสียสมดุลได้ และอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นตามมาคือท้องร่วง ติดเชื้อด้วยยีสต์ทั้งทางช่องปากหรือและทางช่องคลอดจากเชื้อแคดิด้าที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น เพราะแลคโตบาซิลัสที่ปกติคุมจำนวนของยีสต์ถูกทำลายจากยาปฏิชีวนะ 

และถ้าหากหลีกเลี่ยงการใช้ยาไม่ได้จริง ๆ ให้ช่วยด้วยโภชนาการที่เต็มไปด้วยโพรไอติกส์และพรีไบโอติกส์ ระหว่างที่เราต้องใช้ยา เพราะหากร่างกายมีไมโครไบโอต้าที่ไม่สมดุลนาน ๆ จะส่งผลถึงระบบภูมิคุ้มกันโดยรวมได้ และทำเราเจ็บป่วยง่ายขึ้น หายจากโรคช้าลง และต้องทนทุกข์กับโรคเรื้อรังไปเรื่อย ๆ

เริ่มใส่ใจดูแลจุลินทรีย์ในลำไส้เราผ่านการกินอย่างมีความรู้ ความเข้าใจแบบมนุษย์ผู้มีโภชนปัญญากันตั้งแต่วันนี้ เพื่อสุขภาพที่สมดุลและแข็งแรง พึ่งพาตัวเองได้ไปอีกนาน ๆ

รู้จักพรีไบโอติกส์ โพรไบโอติกส์ การทำให้ระบบย่อยอาหารดี ด้วยการกินที่ถูกต้องและสมดุล

Writer

Avatar

ดวงพร ทรงวิศวะ

ดวงพร ทรงวิศวะ เกิดและโตที่กรุงเทพฯ จบการศึกษาทางด้านโภชนศาสตร์จากประเทศออสเตรเลีย อาหาร ประวัติศาสตร์ นโยบายการเมือง วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น การทำเกษตร และเรื่องราวของสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องที่เชฟโบสนใจและนำมาประยุกต์ใช้กับการปรุงอาหารที่โบ.ลาน เชฟโบได้รับเกียรติเป็นเชฟหญิงที่ดีที่สุดของเอเชีย เมื่อปีพุทธศักราช 2556 หลังจากเปิดโบ.ลานได้ 4 ปี ทุกวันนี้เชฟยังมีความสุขกับการค้นหาสูตรอาหารที่คนหลงลืม ชิมรสชาติของพืชผักพื้นบ้าน และตีความอาหารไทยไปในทิศทางต่างกันตามแต่ละกรณี

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์