คณบดีของโรงเรียนธุรกิจที่เก่าแก่ที่สุดในโลก เป็นคนไทย

นี่คือประวัติที่ทำให้เราต้องขอคุยกับ ศ.ดร.ประมวล บุญกาญจน์วนิชา คณบดีฝ่ายอาจารย์ของ ESCP Business School หนึ่งในโรงเรียนธุรกิจที่สำคัญที่สุดของโลก มีสาขาอยู่ 5 ประเทศทั่วยุโรป 

ประมวลใช้ชีวิตอยู่ในประเทศฝรั่งเศสเป็นหลัก เราได้คุยกับเขาช่วงที่แวะกลับมาพักในเมืองไทยเดือนกันยายนที่ผ่านมา เขาได้รับเลือกจากอาจารย์กว่า 180 คนทั่วยุโรปให้เป็นคณบดีฝ่ายคณาจารย์ หน้าที่หลักคือทำให้อาจารย์มีความเป็นอยู่ที่ดี สอนอย่างมีความสุข ออกนโยบายที่จะทำให้คนสอนและคนเรียนได้ประโยชน์คู่กันมากที่สุด 

เขารักการสอนหนังสือพอ ๆ กับรักการทำวิจัย 2 สิ่งนี้วนเวียนอยู่ในชีวิตเขาทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

ศ.ดร.ประมวล บุญกาญจน์วนิชา

ประมวลเรียนจบในสาขาวิศวกรรมเครื่องกล ปี 3 เคยฝึกงานในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทำงานในสายอุตสาหกรรมมาตลอด

จุดเปลี่ยนคือช่วงที่เริ่มทำงาน มีโอกาสได้อยู่ในแวดวงยานยนต์ญี่ปุ่นที่กำลังพัฒนาธุรกิจในเมืองไทย งานนี้ทำให้ประมวลได้รู้ว่าธุรกิจต่างประเทศเป็นอย่างไร เขาหลงใหลในศาสตร์การเงิน เป็นเบื้องหลังในการขับเคลื่อนธุรกิจและโลกไปข้างหน้า เขาเปลี่ยนสายมาเรียนต่อและทำงานด้านการเงินจริงจัง จนกระทั่งมีโอกาสมาเรียนและทำวิจัยใน ESCP สุดท้ายก็ได้มาเป็นหนึ่งในคณะผู้บริหารในที่สุด 

ชีวิตที่เปลี่ยนสายงาน ทำให้เขาเข้าใจเด็กสมัยนี้และโลกของการเรียนรู้มากขึ้น

ในฝรั่งเศส มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่เป็นแบบเปิด ทุกคนเข้าไปเรียนได้ เมื่อใดที่เริ่มรู้ตัวว่าต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ก็จะเข้าไปเรียนในโรงเรียนที่สอนการประกอบอาชีพนั้นโดยเฉพาะ 

ESCP ทำหน้าที่นี้ในเชิงธุรกิจ โรงเรียนมีลูกศิษย์เป็นทั้งนักธุรกิจ นักการเมือง และคนมีชื่อเสียงหลายคน โมเดลการศึกษาของยุโรปจะต่างจากประเทศอื่นตรงที่มีรูปแบบคล้ายการเรียนแพทย์ โรงเรียนจะเน้นสร้างคนเพื่อไปประกอบอาชีพ 

สำหรับที่นี่ ประมวลเล่าว่านักเรียนจะต้องเรียนกับผู้ประกอบการ สมมติว่าเราเข้าเรียนปี 1 ช่วงรอยต่อระหว่างปี 2 ทุกคนต้องมี Gap Year ไปฝึกงานในบริษัทธุรกิจต่าง ๆ บางคนหายไป 6 เดือนหรือเป็นปีก็มี 

ข้อดีของการฝึกงานยาวนาน ได้ทำงานและมีรายได้ประหนึ่งพนักงานประจำ คือการได้รู้ตัวเองว่าชอบทำอะไร ยังขาดทักษะแบบไหน ปีต่อมานักเรียนจะมาเติมความรู้ในโรงเรียนต่อ หาหมวดความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน หรือ Specialized เติมความรู้ให้ถูกจุด

ด้วยลักษณะนี้ อาจารย์ของ ESCP และผู้บริหารทุกคนต้องเชื่อมต่อกับองค์กรธุรกิจอยู่เสมอ เพื่อให้รู้ว่าผู้ประกอบการต้องการอะไร อุตสาหกรรมขาดคนแบบไหน แล้วเอามาใช้ในการสอนเด็ก 

ในโลกที่การเรียนรู้ไม่ได้จำกัดอยู่ในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ESCP มีกลยุทธ์ปรับตัวเข้าหาโลกเช่นกัน

“ผมคิดว่าประเด็นที่เราทำงานอย่างหนัก คือพยายามหาว่าเราจะเพิ่มมูลค่าให้เด็กที่จะเข้ามาเรียนได้อย่างไร จะให้อะไรเขาบ้าง สิ่งที่เราเน้นคือเด็กที่จบมาจะต้องมีงานทำ เพราะฉะนั้น กระบวนการที่เราเปิดสายความเชี่ยวชาญ Specialized สำคัญ 

“เราปรับหลักสูตรเร็วมาก ในปริญญาโทมีเรื่องความยั่งยืน ใส่เรื่อง AI เข้าไป เพื่อให้พร้อมกับตลาดแรงงาน ผมว่าเป็นกลยุทธ์สำคัญในการผลิตบัณฑิตที่ตลาดต้องการ ผู้เรียนก็สนใจที่จะเรียน ไม่ได้สนใจที่จะได้ใบประกาศหรือปริญญาบัตร แต่เขาได้ทำงานในสิ่งที่เขารัก”

อีกข้อที่ ESCP เน้นคือเรื่องการสร้างประสบการณ์ในการเรียนหรือ Student Experience 

เด็กทุกคนตั้งคำถามว่า จะเข้าไปเรียนมหาวิทยาลัยเพื่ออะไร ทุกคนเรียนกับอาจารย์ดัง ๆ ในโลกออนไลน์ไม่ยากเลย 

ประมวลเชื่อว่าประสบการณ์ชีวิตสำคัญกับการทำธุรกิจ ที่นี่มีนโยบายอย่างหนึ่งว่าเด็กที่มาเรียนจะถูกบังคับให้ย้ายประเทศไปเรียนต่างแคมปัสอย่างน้อย 1 ประเทศ 

การมีประสบการณ์หาที่พัก ที่เที่ยว ที่กินกับเพื่อน เป็นสิ่งล้ำค่า โรงเรียนธุรกิจอื่นอาจจบการสอนแค่ในคณะ แต่ที่นี่เน้นให้คนผจญภัย ไปเจอโลก 

ประมวลรักการทำวิจัย เขาเชื่อว่างานวิจัยเป็นเหมือนขั้นตอน R&D ของทุกสิ่งบนโลก 

ถ้าค้นข้อมูลเขา จะพบว่าประมวลเป็นเจ้าของงานวิจัยเกี่ยวกับธุรกิจ ครอบครัว และการเมือง 

ส่วนตัวเขาเชื่อว่าทั้ง 3 องค์ประกอบนี้เชื่อมโยงกันโดยธรรมชาติ ครอบครัวมีสมาชิกเป็นคนทำธุรกิจ เวลาทำงาน รัฐบาลในประเทศนั้นก็จะตั้งกฎเกณฑ์ในการทำธุรกิจ ธุรกิจกับการเมืองจึงเป็นเรื่องต่อกันอยู่แล้ว

ในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา จะมีการประกาศชัดเจนว่านักธุรกิจบริจาคเงินให้กับพรรคการเมืองได้ใช้ทำงาน หาเสียง ทำงานด้านนโยบาย มีข้อมูลชัดเจน โปร่งใส 

ในบางประเทศ ธุรกิจครอบครัวบางเจ้าจะมีความมั่งคั่งจนครอบคลุมเศรษฐกิจของทั้งประเทศ บางครั้งก็เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า ‘Tycoon Turn Leader’ คือนักธุรกิจหันมาเป็นนักการเมืองเต็มตัว มีเคสตัวอย่างในหลายแห่ง เช่นเดียวกับประเทศไทย

งานวิจัยในยุคหนึ่งของประมวล คือการพิสูจน์ว่าสิ่งนี้มีความเชื่อมโยงกันจริง ไม่ใช่การอนุมานจากใครคนหนึ่ง หนึ่งในงานวิจัยที่เด่น ๆ ของเขาคือการศึกษาการสร้างเครือข่ายครอบครัวผ่านการแต่งงาน

คนโบราณมองทุกศาสตร์เชื่อมโยงเกี่ยวกันหมด ประมวลก็เชื่อเช่นนั้น

“ผมดูเรื่องการสร้างเครือข่ายผ่านการแต่งงานในครอบครัว ดูว่าตระกูลที่ทำธุรกิจที่มีหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ เขามีการแต่งงานของลูกชายหรือลูกสาวฝั่งไหนบ้าง พิสูจน์ว่าการแต่งงานมีประโยชน์ทางธุรกิจจริงเปล่า”

เมื่อศึกษามูลค่าหุ้นที่เพิ่มขึ้นหลังการแต่งงาน เราจะเห็นเส้นการเชื่อมโยง เมื่อมองภาพใหญ่ ประมวลมองว่าเราจะเห็นว่าในประเทศหนึ่งมีเครือข่ายกี่ครอบครัวที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ เรื่องแบบนี้มีทุกประเทศ ทุกสมัย จักรพรรดิ Francis ราชวงศ์ฮัปส์บูร์ ออสเตรีย เคยส่ง Marie Antoinette ไปแต่งงานกับ พระเจ้า Louis XVI ของฝรั่งเศส สร้างเครือข่ายป้องกันการรุกราน ปัจจุบันฝรั่งเศสก็ยังมีธุรกิจครอบครัวใหญ่ ๆ เป็นเครือข่ายที่สำคัญกับประเทศ เช่น ธุรกิจครอบครัวของ Louis Vuitton ยังมีอิทธิพลกับประเทศและในเวทีโลก

“เวลาทำธุรกิจ เราต้องมี Trust หรือความไว้เนื้อเชื่อใจ ในประเทศที่เจริญแล้ว การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจคือการเซ็นสัญญา แต่ในบางประเทศที่การบังคับใช้กฎหมายไม่ค่อยดี เขาไม่ค่อยทำสัญญา ใช้วิธีไว้ใจกัน การสร้างความเชื่อใจผ่านการสร้างเครือข่ายครอบครัวเป็นสิ่งที่ทำได้ เกิดขึ้นเป็นปกติ

“ในงานวิจัย เราไม่ได้บอกว่าไม่มีความรักเกิดขึ้นนะ แล้วการแต่งงานก็ไม่ได้คลุมถุงชนด้วย มันก็วิวัฒนาการ มีลักษณะเหมือน Speed Dating สองครอบครัวมีการนัดไปเจอผ่านตัวแทน ถ้าในครอบครัวใหญ่ก็จะมีเครือข่ายให้ไปพบเจอตามสถานที่ต่าง ๆ ให้เขาเจอกัน” 

ประมวลมองภาพในอนาคตว่าเครือข่ายครอบครัวเริ่มมีคุณค่าน้อยลง ถ้าประเทศไหนมีความชัดเจนและโปร่งใสมากขึ้น ความจำเป็นในการขยายเครือข่ายครอบครัวก็น้อยลง แต่ในประเทศที่กฎเกณฑ์บิดเบือนได้มาก สิ่งนี้ยังมีบทบาทสำคัญในสังคม

งานวิจัยของประมวลมีประโยชน์ต่อให้สังคม ทำให้เราต่อจิ๊กซอว์ได้ชัด เห็นภาพใหญ่มากขึ้น

ประมวลบอกว่าหัวใจของงานวิจัยคือการศึกษา ไม่ใช่การวิจารณ์ เขาทำเพื่อทำให้คนได้เรียนรู้มากขึ้น

“เราต้องการเล่าให้ฟังว่าปัจจัยสำคัญในเศรษฐกิจของประเทศเกิดใหม่คืออะไร” อดีตวิศวกรที่ผันตัวมาเป็นอาจารย์สายการเงินเล่า

ในฐานะคนที่รักงานวิจัย เขารู้สึกแย่ทุกครั้งที่คนมองว่างานวิจัยต้องทำเงินได้ในวันพรุ่งนี้ หากมองมันเป็นงาน R&D นี่คือขั้นตอนหนึ่งในการพัฒนาธุรกิจและสังคมที่ต้องใช้เวลา

“เราเห็นสตาร์ทอัพที่ล้มเหลวเยอะมาก ถ้าวันนี้เราจะเข้าใจว่าทำยังไงถึงจะเป็นสตาร์ทอัพที่สำเร็จ งานวิจัยจะช่วยส่งเสริมหาข้อมูลเพื่อทำให้เราเข้าใจแล้วเอาไปประกอบกับการทำงานในอนาคตได้ดีมากขึ้น ผมค่อนข้างแอนตี้ด้วยซ้ำเวลาคนพูดว่าทำงานวิจัยแล้วไปขึ้นหิ้ง ไม่มีประโยชน์ เราต้องเปิดโอกาส ทุกวันนี้กว่าเราจะมี AI ใช้งานได้ ต้องมีคนทำงานวิจัยที่ได้ผลทีละนิดมาหลายสิบปีแล้ว กว่าจะได้ Disruptive Technology ที่เราใช้วันนี้ได้ เพราะฉะนั้นอย่าไปคิดว่าทำวิจัยแล้วจะขายได้เท่าไหร่

“ยกตัวอย่างงานวิจัยล่าสุด เขาวิเคราะห์ธนาคารในสหรัฐอเมริกาหลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2008 บางธนาคารรับเงินช่วยเหลือจากธนาคารกลาง แต่ไม่เปลี่ยนผู้บริหาร แม้ทำธนาคารเจ๊งไปแล้วก็ยังบริหารต่อ ประโยชน์ของงานวิจัยคือก่อนมีวิกฤตอีกรอบ ข้อมูลนี้เป็นตัวช่วยว่า ถ้าเราจะอุ้มธนาคารที่มีปัญหา เราควรทำอย่างไร ผลวิจัยบอกว่าคุณต้องเปลี่ยนผู้บริหาร ไม่งั้นก็เป็นแบบเดิม เสี่ยงมากขึ้นไปอีก” 

ประมวลเปรียบว่าการทำธุรกิจเป็นเหมือนวิทยาศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับสังคม ทุกองค์ประกอบมีประโยชน์ ถ้าเราจะเข้าใจสิ่งที่ซับซ้อน การได้อ่านสิ่งที่คนศึกษามาก่อนย่อมมีประโยชน์  

งานของประมวลคือการบริหารโรงเรียนสอนธุรกิจ งานนี้ทำให้เขาได้เชื่อมศาสตร์หลายแขนงมาใช้ในการสอนนักศึกษา ให้ความรู้ผู้คน 

งานการศึกษาและงานวิจัยคล้ายกันอยู่ข้อหนึ่ง คือการให้สิ่งดี ๆ กับผู้คนด้วยความรู้ ความเข้าใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประมวลเชื่อและทำมาตลอดชีวิต

Writer

ศิวะภาค เจียรวนาลี

ศิวะภาค เจียรวนาลี

บรรณาธิการที่ปั่นจักรยานเป็นงานหลัก เขียนหนังสือเป็นงานอดิเรก

Photographer

ภรัณยู วรรณศรีพิศุทธิ์

ภรัณยู วรรณศรีพิศุทธิ์

นักศึกษาเอกญี่ปุ่นจากมหาสารคาม สนใจภาพถ่าย ชีวิตขับเคลื่อนด้วยเสียงเพลง อยากมีเงินไปมิวสิกเฟสติวัลเยอะๆ