8 มิถุนายน 2023
2 K

เวลาดูหนังฮอลลีวูด คุณเคยนั่งดู End Credits ไหม

ในรายชื่อยาวเหยียดนั้น มีกลุ่มคนมหัศจรรย์กลุ่มหนึ่งที่เป็นเบื้องหลังผลงานมาสเตอร์พีซเหล่านี้ พวกเขาคือ Set Designer นักออกแบบฉากภาพยนตร์-ซีรีส์ โลกในจอ ห้องหับที่คุณเห็น รายละเอียดต่าง ๆ ที่แฟนหนังพากันสังเกต ล้วนกลั่นมาจากมันสมองของพวกเขาทั้งสิ้น

แพรรี่-ธัญพิชชา ไตรวุฒิ Set Designer แห่งวงการฮอลลีวูดที่เรามีโอกาสได้พูดคุยในวันนี้ เป็นเด็กสถาปัตย์ชาวไทยผู้มีฝันที่ไซซ์ใหญ่กว่าการสร้างตึก

“เราอยากสร้างโลกในจินตนาการ” เธอว่า

บังเอิญมาก งานแรกที่จุดประกายให้เธอเลือกสายอาชีพนี้ คือการทำ ‘ละคอนถาปัด’ พ.ศ. 2557 เรื่อง Sherlock Holmes ซึ่งเป็นเรื่องแรกที่เราได้ดูสมัยมัธยม ก่อนตัดสินใจเข้าเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ตามรอยคนทำละคร ไม่น่าเชื่อว่าคู่หูนักสืบเชอร์ล็อกและวัตสันจะนำพาเด็กปี 3 ผู้เป็นหนึ่งในทีม Art Director ของเรื่อง ไปไกลถึงฮอลลีวูด

แพรรี่ ธัญพิชชา จากนิสิตทำละคอนถาปัด สู่ Set Designer ชาวไทยผู้ออกแบบฉากภาพยนตร์ฮอลลีวูด

นอกจาก Set Designer ซึ่งเป็นอาชีพหลักในตอนนี้ แพรรี่ทำงานในสายงานใกล้เคียงมาแล้วหลากหลายบทบาท ทั้ง Scenic Designer ในละครโอเปร่าสายปรัชญา, Production Designer ในภาพยนตร์ฟอร์มเล็กของนักศึกษา หรือ Illustrator ที่วาดคอนเซปต์อาร์ตให้ซีรีส์ค่ายดัง และทุกประสบการณ์ก็ประกอบสร้างให้เธอเป็นเธอ ไม่มีใครเหมือน

ตอนนี้แพรรี่ต่อสายตรงมาจากอเมริกา พร้อมแล้วที่จะพาคุณนั่งไทม์แมชชีนย้อนดูเรื่องราวการเดินทางของเธอ ตั้งแต่โมเมนต์จุดประกายเล็ก ๆ ในวัยเริ่มต้น สู่วันที่ได้ทำสิ่งที่อยากทำจริง ๆ

ถือป๊อปคอร์นเดินตามมาด้วยก็ได้นะ

ประตู

ฟึ่บ!

ประตูสู่โลกแฟนตาซีบานแรกของเด็กหญิงแพรรี่เปิดเมื่อเธอค้นพบความลับของจักรวาลที่ว่า การดูหนังเป็นสิ่งที่สนุกมาก! (ความลับไหมเนี่ย)

เธอคือนักดูหนังสายพินิจพิเคราะห์ เรื่องไหนดูแล้วชอบมาก ๆ ก็จะตามไปซื้อ Concept Art Book มาเปิดดูที่บ้าน ด้วยความอยากรู้ว่าภาพสวย ๆ ที่เห็นบนจอนั้นผ่านขั้นตอนอะไรมาบ้าง มีใครอยู่เบื้องหลัง เล่มที่เธอชอบเป็นพิเศษก็คือ Art of Pirates of the Caribbean และ Art of Star Wars

“ตอนเด็ก ๆ เราก็นึกว่าผู้กำกับสั่งอย่างเดียว แต่เราได้เรียนรู้โลกความเป็นจริงหลังจากนั้นว่ามันเป็นงานที่ทุกคนร่วมมือกัน ไม่ได้มีแค่คนทำฉากด้วย มีคนทำพร็อป มีตากล้อง มีสตันต์แมน มีสเปเชียลเอฟเฟกต์ วิชวลเอฟเฟกต์ มันเยอะมาก ๆๆๆๆ ตอนเด็ก ๆ เราตื่นเต้นมากเลย” เธอเล่าอย่างออกรส

แพรรี่ ธัญพิชชา จากนิสิตทำละคอนถาปัด สู่ Set Designer ชาวไทยผู้ออกแบบฉากภาพยนตร์ฮอลลีวูด

แล้วประตูบานถัดไปก็เปิดผึงโดยบังเอิญ เมื่อแพรรี่ได้เข้าเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และตกหลุมรักการทำละคอนถาปัดเข้าอย่างจัง

ถึงจะดูหนังมาเยอะ แต่เธอกลับไม่เคยได้สัมผัสกับละครเวทีมาก่อน ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าไอ้ที่เรียกละครเวทีนี่คืออะไร การได้ทำฉากและเป็น Art Director ของละครเรื่อง Sherlock Holmes จึงกลายเป็นประสบการณ์สำคัญในชีวิตที่ทำให้ข้างในของเธอเปลี่ยนไปตลอดกาล

แพรรี่ ธัญพิชชา จากนิสิตทำละคอนถาปัด สู่ Set Designer ชาวไทยผู้ออกแบบฉากภาพยนตร์ฮอลลีวูด
แพรรี่ ธัญพิชชา จากนิสิตทำละคอนถาปัด สู่ Set Designer ชาวไทยผู้ออกแบบฉากภาพยนตร์ฮอลลีวูด

แม้จะเรียนจบมาด้วยความคิดว่าต้องใช้ความรู้ที่บากบั่นเรียนมา 5 ปีให้เกิดประโยชน์ แต่โชคชะตาก็พาให้งานประจำแรกที่เธอได้ทำคือการเป็นสถาปนิกในบริษัทแลนด์สเคปที่วนเวียนอยู่กับการทำงานคอนเซปต์จัด ทั้งศาลา ทั้งสวนน้ำ และแลนด์มาร์กต่าง ๆ ทำให้แพรรี่สนุกราวกับได้กลับไปทำละคอนถาปัด 

และในที่สุดเธอก็ตกตะกอนกับตัวเองว่า จริง ๆ แล้วเธอเกิดมาเพื่อเรียนอะไรกันแน่

ออกล่าฝันแดนไกล

ประตูบานถัดไปมีชื่อว่า UCLA บานนี้พิเศษตรงที่เธอเป็นคนเลือกเปิดเองอย่างตั้งใจ

โปรแกรม Design for Theater and Entertainment เป็นหลักสูตรเดียวที่แพรรี่เห็นว่าสอนทั้ง Theater และ Film TV แม้เธอจะเริ่มเรียนด้วยฝันที่อยากทำฉากละครเวที แต่ยิ่งเรียนก็ยิ่งพบว่าการทำหนังใช่ทางมากกว่า

“เขาไม่ได้เน้นไปที่การสอนวิธีทำงานว่าทำยังไง แต่เน้นไปที่การให้โจทย์ แล้วไกด์เราไปในทางที่จะมีศักยภาพมากที่สุด อย่างโจทย์ Wizard of Oz หน้าที่ของนักเรียนคือยึดโครงเดิมไว้ แล้วตีความเป็นคอนเซปต์ของตัวเอง”

ตอนนั้นแพรรี่ออกแบบให้เรื่องเกิดในนิวยอร์กยุคปัจจุบัน ดึงเอาแลนด์มาร์กและแง่มุมสำคัญของนิวยอร์กมาใช้ แล้วพลิกให้เป็นแฟนตาซี ซึ่งทุกคนในคลาสทำงานออกมาไม่เหมือนกันเลย

แพรรี่ ธัญพิชชา จากนิสิตทำละคอนถาปัด สู่ Set Designer ชาวไทยผู้ออกแบบฉากภาพยนตร์ฮอลลีวูด
แพรรี่ ธัญพิชชา จากนิสิตทำละคอนถาปัด สู่ Set Designer ชาวไทยผู้ออกแบบฉากภาพยนตร์ฮอลลีวูด

“ในปีของเรามี 3 คนเอง คนหนึ่งจบละครมา ส่วนอีกคนจบ Art History แล้วก็มีเราที่จบสถาปัตย์ อาจารย์เขาไม่ได้ดูแค่ว่าเรามีสกิลล์พร้อมเรียนไหมอย่างเดียว แต่เขาดูว่าคนเหล่านี้จะส่งเสริมกันและกันคนละด้านยังไง การจับคนเหล่านี้มารวมกัน จะเกิดไอเดียหรือบทสนทนาที่มีประสิทธิภาพไหม” เหมือนฟอร์มเกิร์ลกรุ๊ปเหมือนกันนะ

พอไปเรียนทำฉากหนังแล้ว ความหมายของ Space ต่างจากสายสถาปัตย์ไหม – เราถาม

“ต่าง ต่างมาก!” แพรรี่ตอบ

แพรรี่ ธัญพิชชา จากนิสิตทำละคอนถาปัด สู่ Set Designer ชาวไทยผู้ออกแบบฉากภาพยนตร์ฮอลลีวูด

“ตอนทำสถาปัตย์ Space คือสิ่งที่สัมผัสโดย User ที่อยู่ในนั้น เราต้องทำให้ Space ตอบโจทย์การใช้งานของ User โดยการทำนายของเรา แล้วก็ต้องตอบรับกับบริบทโดยรอบ สภาพอากาศด้วย บางทีมีโมเมนต์ที่แสงอาทิตย์ส่องเข้ามาในช่องเปิด แล้วก็เกิดความ Sublime ความเพอร์เฟกต์ขึ้นมา เราต้องทำอะไรเยอะกว่าจะทำให้เกิดภาพที่อยากสื่อได้ ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่มีวันไม่ชอบสถาปัตย์ การสร้าง Space ให้สวยงามมันยิ่งใหญ่มาก

“แต่พอเป็นหนัง มันเป็นของปลอม” แพรรี่อธิบาย “สิ่งที่ใช้ Space จริง ๆ แล้วคือกล้อง แล้วเราก็ทำงานกับฝ่ายกำกับภาพ คนจัดแสง และการแสดง”

ด้วยความที่ชินกับงานสถาปัตย์ ตอนเข้าไปแรก ๆ เธอก็พยายามออกแบบทุกอย่าง ทั้งข้างในและข้างนอกให้เหมือนของจริง แต่เมื่อเรียนไปเรื่อย ๆ เธอก็พบว่ามี Criteria อื่น ๆ ในการออกแบบฉากด้วย เช่น การทำให้กำแพงหรือเพดานแยกส่วน-ยกออกได้ เพื่อให้ตั้งกล้องได้ทุกที่ 

“สุดท้ายแล้วสิ่งที่กล้องต้องการมากที่สุดก็คือ Composition (องค์ประกอบ) เราหลอกความจริงและบิดเบือน Space ได้ มันอาจจะดูแปลก ๆ แต่นี่ก็เป็นเทคนิคที่ทำให้ได้ภาพตามที่เนื้อเรื่องต้องการ”

แพรรี่ ธัญพิชชา จากนิสิตทำละคอนถาปัด สู่ Set Designer ชาวไทยผู้ออกแบบฉากภาพยนตร์ฮอลลีวูด
แพรรี่ ธัญพิชชา จากนิสิตทำละคอนถาปัด สู่ Set Designer ชาวไทยผู้ออกแบบฉากภาพยนตร์ฮอลลีวูด

หนทางสู่การเป็นมาสเตอร์

หลังเรียนจบหลักสูตร ประตูบานสำคัญที่แพรรี่อยากเปิดก็คือการเข้า Union หรือสหภาพแรงงานของคนทำงานในฮอลลีวูด 

เนื่องจากคนทำหนังนั้นเป็นฟรีแลนซ์และรับงานเป็นจ๊อบ ไม่มีนายจ้าง ไม่มีความมั่นคง จึงต้องมีสหภาพที่จะคุ้มครองทุกคน เพื่อให้ผู้ว่าจ้างไม่เอาเปรียบคนทำงาน เพื่อนร่วมอาชีพไม่เอาเปรียบกันเอง เพื่อดูแลคุณภาพชีวิตและความปลอดภัย กำหนดราคาค่าจ้าง ทำประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และมีแผนการเงินสำหรับเกษียณ 

หากงบทำหนังสูง Union ก็ต้องเข้ามาคุ้มครอง และหนังเหล่านั้นจะจ้างได้เฉพาะคนที่อยู่ใน Union เท่านั้น แพรรี่จึงต้องเข้า Union ให้ได้

แต่ประตูที่ชื่อว่า Union นี้ไม่ใช้ประตูอัตโนมัติ หากเป็นประตูหินหนัก ๆ ที่ต้องใช้ความพยายามอย่างสูงกว่าจะแง้มได้ แพรรี่ผู้เป็นสาวเอเชียนในสหรัฐฯ ต้องทำงานนอก Union อย่างการเป็น Production Assistant ทำงานสัพเพเหระ วิ่งเอาแบบไปส่งให้ฝ่าย Construction บ้าง ไปหาตัวอย่างกระเบื้องให้ดีไซเนอร์บ้าง หาข้าวเที่ยงให้ทุกคนในออฟฟิศบ้าง แต่เหตุผลที่สุดท้ายแพรรี่ได้เข้าไปเป็นสมาชิกจริง ๆ ก็เพราะได้รับโอกาสทำงานในโปรเจกต์ Union ที่มีหัวหน้าที่ยอมว่าจ้างคนนอกอย่างเราอีกที

แพรรี่ ธัญพิชชา จากนิสิตทำละคอนถาปัด สู่ Set Designer ชาวไทยผู้ออกแบบฉากภาพยนตร์ฮอลลีวูด

“นานเลย” เธอนับนิ้ว “ประมาณ 11 เดือนกว่าจะมีคนเห็นความสามารถ แล้วยอมเดิมพันกับการจ้างเราที่มีประสบการณ์น้อยกว่าคนอื่นเข้าไปทำงาน มันยากมากเลยนะที่จะหาคนที่เชื่อมั่นในตัวเราได้”

เข้ามาแล้วก็ยังมีอะไรให้ฝ่าฟันไม่หยุดหย่อน ในขณะที่เธอได้ดีไซน์ทุกอย่างตั้งแต่ต้นจนจบในหนังนักเรียน พอมาทำงานใน Union ก็รับหน้าที่เป็น Set Designer ทำฉากไปตามที่ Production Designer ตัดสินใจ ซึ่งเป้าหมายของเธอหลังจากนี้คือไต่ให้ตำแหน่งขึ้นสูงไปเรื่อย ๆ ในบรรยากาศการแข่งขันเข้มข้น

“ข้อได้เปรียบจากการมาจากสายสถาปัตย์คือเราอ่านสถาปัตยกรรมได้ดี เข้าใจรายละเอียดเล็ก ๆ ว่ามีความหมายแตกต่างกันยังไงบ้าง เช่น วัสดุแบบนี้ วิธีการเข้าไม้แบบนี้ แสดงให้เห็นว่าตัวละครนี้ฐานะรวยหรือจนกว่าคนอื่น แบบนี้ดูเป็นบ้านภาคเหนือมากกว่าภาคใต้ มันทำให้เราตัดสินใจได้ถูกต้อง”

และนั่นก็คือพลังพิเศษที่แพรรี่มีติดตัวไว้ตลอดการผจญภัย

การผจญภัยสู่การเป็น Set Designer หนังฮอลลีวูดของ ธัญพิชชา ไตรวุฒิ และเกร็ดน่าสนุกจาก 4 ผลงานสร้างสรรค์

4 งาน 4 สกิลล์ ของ Prairie T. Trivuth

01 The Romance of the Rose (Opera)

เมื่อเรียนจบและเริ่มเป็น Production Assistant ในวงการหนัง อาจารย์ที่ UCLA ผู้ชื่นชอบงานของแพรรี่เป็นพิเศษ ติดต่อให้เธอไปออกแบบโอเปร่าสายปรัชญา ผสานตำนานกรีกและวิทยาศาสตร์ ชื่อ The Romance of the Rose เกี่ยวกับสวนวิเศษในความฝัน ประพันธ์โดย Kate Soper ผู้เข้าชิงรางวัลพูลิตเซอร์

เรื่องนี้ตีความใหม่จากบทกลอนฝรั่งเศสยุคกลางชื่อเดียวกัน แต่ก็ถือเป็น World Premier รีเสิร์ชของเดิมดูไม่ได้ การคุยกับผู้กำกับและทำงานร่วมกันเป็นทีมจึงสำคัญมาก หลังจากที่โยนไอเดียกันไปมาก็ตัดสินใจทำฉากสถาปัตยกรรม Palm Springs แบบมินิมอลและโหวงเหวงเหมือนฝันที่ไม่มีขอบเขต ซึ่งการที่ต้องประกอบสิ่งต่าง ๆ บนเวทีโดยมีบางอย่างไม่ได้วางอยู่บนพื้นโลกนั้นยากไม่ใช่เล่น ต้องสื่อสารกับ Technical Director เหมือนที่เคยเป็นสถาปนิกทำงานกับวิศวกรยังไงอย่างงั้น

การผจญภัยสู่การเป็น Set Designer หนังฮอลลีวูดของ ธัญพิชชา ไตรวุฒิ และเกร็ดน่าสนุกจาก 4 ผลงานสร้างสรรค์
การผจญภัยสู่การเป็น Set Designer หนังฮอลลีวูดของ ธัญพิชชา ไตรวุฒิ และเกร็ดน่าสนุกจาก 4 ผลงานสร้างสรรค์

“ในหนัง ถ้าบทบอกว่าในบ้านก็ต้องสร้างบ้าน เราถูกควบคุมโดยความเสมือนจริง แต่พอเป็นละครเวทีหรือโอเปร่า คนที่มาดูก็จะเข้ามาด้วยความเปิดใจ ไม่ได้คาดหวังความจริง ต่อให้เราทำกล่อง 2 กล่องมาวางไว้ เขาก็มองว่าเป็นบ้านได้” แพรรี่เล่าถึงความชอบในละครเวที ที่แม้ตอนนี้จะเน้นทำหนังแล้วก็ยังไม่หายไปไหน “การที่คนทำกับคนดูเข้าใจสิ่งที่ Abstract ตรงกันได้ ถือว่าเป็นสิ่งที่วิเศษมาก 

“แล้วเราก็ชอบทำละครเวทีอยู่แล้ว ชอบทำงานกับชาวละคร ชอบผู้กำกับ สิ่งที่สนุกก็คือการได้ทำงานกับคนที่เชื่อในละครและเห็นคุณค่าของศิลปะ เป็นบุญมากที่เราได้เข้าไปอยู่ในประสบการณ์แบบนั้น”

การผจญภัยสู่การเป็น Set Designer หนังฮอลลีวูดของ ธัญพิชชา ไตรวุฒิ และเกร็ดน่าสนุกจาก 4 ผลงานสร้างสรรค์

02 Bloom (Indie Movie)

“หนังอินดี้สนุกกว่าหนังใหญ่นะ ในหนังใหญ่เรายังไม่ได้เป็นบอสที่จะได้ออกแบบทุกอย่าง แต่พอมาทำหนังอินดี้มันก็สนุกในความได้ครีเอต”

Bloom เป็นธีสิสของเพื่อนใน UCLA เกี่ยวกับสามเหลี่ยมของความสัมพันธ์ ระหว่างสาวมหาลัยที่เป็น Comic Artist แม่ที่ไม่ยอมรับอาชีพของเธอ และคุณยายที่กำลังจะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง

พาร์ตสนุกของโปรเจกต์นี้คือฉากป่า ซึ่งเป็นป่าแฟนตาซีที่เด็ก 2 คนในเรื่องเล่นสมมติกันช่วงย้อนเวลา สิ่งที่อยู่ในบทของผู้กำกับนั้นมีเพียงคำว่า ‘Fantasy Forest’ แต่แพรรี่ก็ครีเอตขึ้นมาเป็นป่ากระดาษตามที่ตัวเอกวาดรูป ซึ่งต้องพยายามทำให้เหมือนกระดาษโดยไม่ใช้กระดาษจริง และคุมให้อยู่ในงบประมาณที่ตั้งไว้ในขณะเดียวกันด้วย

การผจญภัยสู่การเป็น Set Designer หนังฮอลลีวูดของ ธัญพิชชา ไตรวุฒิ และเกร็ดน่าสนุกจาก 4 ผลงานสร้างสรรค์
การผจญภัยสู่การเป็น Set Designer หนังฮอลลีวูดของ ธัญพิชชา ไตรวุฒิ และเกร็ดน่าสนุกจาก 4 ผลงานสร้างสรรค์

“คนเขียนซึ่งเป็นผู้กำกับ เขาเอามาจากชีวิตจริงของเขา ระหว่างที่เรากำลังสร้างฉากอยู่ ยายที่เป็นมะเร็งอยู่ก็เสีย เขาก็ลา 2 อาทิตย์ไปงานศพที่บ้าน” แพรรี่เล่า “หนังอินดี้แบบนี้มันเป็นส่วนตัวกับคนที่สร้างมันมาก ๆ เขาคงไม่เอาเงินตัวเองเกือบ 100,000 ดอลลาร์ เพื่อสร้างสิ่งที่ไม่มีความหมายหรอก เพราะงั้นเขาก็ต้องการคนที่เคารพแล้วก็ช่วยเขานำเสนอเรื่องเหล่านี้ได้ เราก็โชคดีมากที่ได้เข้าไปทำ”

การผจญภัยสู่การเป็น Set Designer หนังฮอลลีวูดของ ธัญพิชชา ไตรวุฒิ และเกร็ดน่าสนุกจาก 4 ผลงานสร้างสรรค์

03 The Residence (Netflix Original Series)

The Residence เป็นซีรีส์ 8 ตอน ว่าด้วยฆาตกรรมปริศนาที่มีเซตติ้งเป็นทำเนียบขาว โดยทั้งหมดนี้เป็นเรื่องแต่ง ทุกตัวละครและประธานาธิบดีก็เขียนขึ้นมาทั้งหมด

โปรเจกต์นี้แพรรี่เป็นหนึ่งใน Set Designer เธอต้องลงมือรีเสิร์ชเรื่องทำเนียบขาวอย่างละเอียด ในการเปลี่ยนประธานาธิบดีแต่ละครั้ง ทำเนียบขาวก็จะถูกรีโนเวตไปในลุคที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น ในยุคของ มิเชล โอบามา จะเน้นสีสันสดใสและศิลปะแนวโมเดิร์น ส่วน เมลาเนีย ทรัมป์ จะเลือกโทนสีพาสเทลและเป็นสไตล์คลาสสิกมากกว่า

“การรีเสิร์ชจะช่วยเราตัดสินใจว่าตัวละครเขาจะคิดรีโนเวตบ้านยังไง ในเรื่องมันเป็นปริศนาฆาตกรรม นักสืบจะต้องเข้าไปสัมภาษณ์คนในทำเนียบขาว จึงเป็นหน้าที่ของฝ่ายศิลป์ที่จะแสดงให้เห็นถึงบุคลิกภาพหรือแรงจูงใจของแต่ละคน”

การผจญภัยสู่การเป็น Set Designer หนังฮอลลีวูดของ ธัญพิชชา ไตรวุฒิ และเกร็ดน่าสนุกจาก 4 ผลงานสร้างสรรค์

ปกติแล้วสิ่งที่แฟน ๆ วิเคราะห์กันในอินเทอร์เน็ตนั้นตรงตามความตั้งใจของ Set Designer บ้างไหม – เราถามในฐานะคนเสพที่ห่างไกลจากวงการผลิตเหลือเกิน

“อะไรที่ดีไซเนอร์ตั้งใจ คนส่วนใหญ่ก็จะเห็น” Set Designer ตอบให้

“บางครั้งคนดูก็เห็นในสิ่งที่ดีไซเนอร์ไม่เห็น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันไม่จริงเสมอไปนะ มันมาจากที่ Production Designer ให้โจทย์ แล้วแต่ละฝ่าย ทั้ง Set Designer, Set Dresser และ Graphic Desiner พยายามทำงานในส่วนของตัวเองให้ตอบรับกับโจทย์นั้น พอมันเข้ามาอยู่ร่วมกันในภาพรวมก็เกิดเป็นจุดสังเกตที่น่าสนใจ หลายอย่างมันเพิ่งมาปรากฏตอนออกแบบเสร็จกันไปแล้ว”

มหัศจรรย์!

04 Confidential Project (Disney+ Original Series)

เธอได้ทำงานนี้เพราะดูโอ้นักเขียน-ผู้กำกับ-โปรดิวเซอร์ ติดต่อมา งานนี้แพรรี่รับบทเป็น Illustrator หรือคนวาด Concept Art เพื่อนำไปเสนอกับสตูดิโอดิสนีย์ หน้าที่ของเธอก็คือการทำสิ่งที่อยู่ในหัวนักเขียนหรือผู้กำกับให้ออกมาเป็น Visual

จากตอนจบของการ์ตูนเรื่อง Atlantis ที่พระเอกนักสำรวจพบรักกับเจ้าหญิงชาว Atlantis ซีรีส์ผจญภัยเรื่องนี้เล่าเรื่องราวของลูกชายที่ไปท่องทะเลแล้วเจอเกาะลึกลึบ โดยจะเชื่อมจักรวาลต่าง ๆ ในดิสนีย์ไว้ด้วยกัน เป็นจักรวาลใหญ่ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเครื่องเล่นหลายเครื่องในดิสนีย์แลนด์

การผจญภัยสู่การเป็น Set Designer หนังฮอลลีวูดของ ธัญพิชชา ไตรวุฒิ และเกร็ดน่าสนุกจาก 4 ผลงานสร้างสรรค์
การผจญภัยสู่การเป็น Set Designer หนังฮอลลีวูดของ ธัญพิชชา ไตรวุฒิ และเกร็ดน่าสนุกจาก 4 ผลงานสร้างสรรค์

โจทย์ที่เธอได้รับคือ ‘เมืองแฟนตาซีที่อยู่บนเกาะลับแห่งหนึ่งในทะเล’ บนเกาะจะมีหอคอยสูงใหญ่อยู่ตรงกลาง ที่แยกออกมาเป็น 4 แฉก 4 เมือง คาแรกเตอร์ไม่เหมือนกัน แพรรี่ต้องคิดว่าเกาะ-เมืองจะหน้าตาเป็นยังไงบ้าง แล้วทำเสนอผู้กำกับจนกว่าจะได้ภาพที่พอใจกันทุกฝ่าย

“ความสนุกของการเป็นคนทำ Concept Art ใน Pitch Deck คือการได้อยู่กับเนื้อเรื่องตั้งแต่ยังเป็นตัวอ่อน Visual ของเรื่องมันก็เลยขึ้นอยู่กับเราเลย ความเป็นไปได้มันไม่มีที่สิ้นสุด เราได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองอย่างเต็มที่มาก”

เพราะความทุ่มเทรวมพลังของทุกคน ตอนนี้โปรเจกต์นี้ได้ Pitch ไปที่ทางสตูดิโอเรียบร้อยแล้ว ติดตามชมกันด้วยนะ

การผจญภัยสู่การเป็น Set Designer หนังฮอลลีวูดของ ธัญพิชชา ไตรวุฒิ และเกร็ดน่าสนุกจาก 4 ผลงานสร้างสรรค์
การผจญภัยสู่การเป็น Set Designer หนังฮอลลีวูดของ ธัญพิชชา ไตรวุฒิ และเกร็ดน่าสนุกจาก 4 ผลงานสร้างสรรค์
การผจญภัยสู่การเป็น Set Designer หนังฮอลลีวูดของ ธัญพิชชา ไตรวุฒิ และเกร็ดน่าสนุกจาก 4 ผลงานสร้างสรรค์

อยู่กับสิ่งที่มี และสิ่งที่ฝัน

เนื่องจากไทยเราเพิ่งมีสหภาพแรงงานสร้างสรรค์ หรือ CUT (Creative Workers Union Thailand) เราก็อยากรู้ของสากลบ้าง

แพรรี่บอกว่า สิ่งสำคัญอันดับ 1 ที่ Union จะต้องดูแลคือสวัสดิภาพของทุกคน กฎหลัก ๆ ก็คือการควบคุมชั่วโมงการทำงานทั้งหมด และควบคุมว่าต้องเบรกทุก ๆ กี่ชั่วโมง หากจบในช่วงเวลานี้ จะเรียกคนมาทำงานได้อีกครั้งในอีกกี่ชั่วโมงข้างหน้า

“แต่ก็ยังไม่ค่อยบาลานซ์นะ ของพี่ทำงานวันละ 12 ชั่วโมงทุกวัน จันทร์-ศุกร์ เริ่ม 8 โมงเช้า จบ 2 ทุ่ม แต่อย่างน้อยสิ่งที่แฟร์ในเรื่องนี้คือเขาจะจ่าย OT เรตธรรมดา 8 ชั่วโมงแรก และ 1.5 หรือ 2 เท่า ใน 4 ชั่วโมงที่เหลือ”

การผจญภัยสู่การเป็น Set Designer หนังฮอลลีวูดของ ธัญพิชชา ไตรวุฒิ และเกร็ดน่าสนุกจาก 4 ผลงานสร้างสรรค์

คิดยังไงกับหนังไทยปัจจุบันที่ทำให้ Set Designer ยังปล่อยของได้ไม่มาก

“เราเชื่อว่าประเทศไทยมีคนที่พร้อมจะดูอะไรใหม่ ๆ คนทำก็มีความสามารถพร้อมจะทำ อยากให้คนลงทุนกล้าที่จะลงทุน แล้วก็กล้าสร้างพื้นที่ให้คนได้นำเสนองานที่มีความหลากหลาย” เธอกล่าว “Set Designer ก็จะมีโอกาสได้สื่อสารสิ่งที่แตกต่างกับคนดูด้วย”

ตอนนี้แพรรี่กำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของอาชีพ ว่างจากการทำงานก็ต้องเรียนโปรแกรมใหม่ ๆ ทั้งยังต้องเสพหนัง เสพซีรีส์ เพื่อเติมเชื้อเพลงให้ความคิดสร้างสรรค์อยู่ตลอดเวลา ไม่ต่างจากตอนเป็นสถาปนิกที่เวลาไปเที่ยวจะต้องดูสถาปัตยกรรมอย่างถ้วนถี่ เพื่อที่สักวันในอนาคตเธอจะขยับเขยื้อนไปเป็น Production Designer ให้ได้

“อยากฝากถึงคนที่มีความฝันในเส้นทางนี้ว่า ทุกคนต้องมีสุขภาพจิตที่ดีนะ พอเราเจอกับช่วงที่ไม่มีงานทำ หรือเจอช่วงที่งานมันยากเกินกว่าที่เราทำได้ เราต้องคอยดูแลตัวเองให้ดี การจะสนับสนุนตัวเองให้ไปถึงจุดหมายได้นั้นไม่ได้ใช้แค่สกิลล์ แต่พลังใจเราต้องมีความพร้อมด้วยค่ะ”

ขอให้ทุกคนได้พบประตูบานที่ใช่ และพาไปสู่เส้นทางที่ชอบเช่นเธอ

แพรรี่ ธัญพิชชา จากนิสิตทำละคอนถาปัด สู่ Set Designer ชาวไทยผู้ออกแบบฉากภาพยนตร์ฮอลลีวูด

ไม่ใช่พระเจ้า, แต่สร้างโลก

WRITER

POOKAN RUENGWES

CINEMATOGRAPHER

JACKIE FANG, RAQUEL HAGMAN, J. J. GEIGER, GIONATAN TECLE, JESSICA BROOKS, ROY FOTIS BOURGAZAS, RYE MANDEL, PEERADON ARIYANUKOOLTORN

BASED ON A TRUE STORY OF PRAIRIE T. TRIVUTH

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน