‘อร่อย!’
นี่คือความรู้สึกแรกของเราหลังดื่มนมแพะครั้งแรกในชีวิต เพราะหลังจากได้ยินเสียงลือเสียงเล่าอ้างที่พูดถึงกลิ่นและรสชาติเฉพาะตัวของนมแพะ คนไม่รักนมอย่างเราจึงไม่คิดจะลอง
ท่าทีกลืนน้ำลายตามทุก 15 นาทีระหว่างฟังกระบวนการเบื้องหลังนมสีขาวแปลกตาของนมแพะบุญบูรณ์ ร้อนถึง วัต-ชญาน์วัต สว่างแจ้ง ผู้ก่อตั้ง ‘บุญบูรณ์ฟาร์ม’ แห่งหมู่บ้านแพะหนองแดง ตำบลทุ่งฝาย อำเภอเมืองฯ จังหวัดลำปาง ต้องรีบเสิร์ฟนมแพะแช่เย็นเจี๊ยบคั่นกลางการสนทนา
ใช่แล้ว! นอกจากรถม้าและชามตราไก่ ที่ลำปางมีฟาร์มแพะนมขนาดกะทัดรัด ผลิตน้ำนมและผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่สร้างสรรค์จากนมแพะชั้นดี ซึ่งหากคุณเป็นชาวเหนือตอนบนที่รักชอบการเดินตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์คุณภาพดี คุณต้องคุ้นชื่อ ‘บุญบูรณ์’ และบรรดาเมนูของคาวหวานที่ใช้นมแพะแทนกะทิแน่นอน
มองเผินๆ บุญบูรณ์คือฟาร์มเลี้ยงแพะนมธรรมดา แต่ถ้าคุณรู้เรื่องเบื้องหลังความตั้งใจและที่มาของฟาร์มจากความฝันของอดีตสถาปนิกผู้วางดินสอเขียนแบบ มาจับแพะ (ไม่ชนแกะ) ออกแบบชีวิต และทำบุญบูรณ์ให้กลายเป็นฟาร์มแพะต้นแบบของการเลี้ยงแพะนมและแปรรูปนมแพะตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ให้ได้นมคุณภาพจากแพะที่ผ่านการเลี้ยงดูอย่างมีมนุษยธรรมภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ดี คุณจะอยากดื่มนมแพะเหมือนกันกับเราตอนนี้
นี่ไม่ใช่เรื่องสถาปนิกเมืองกรุงหนีงานมาจับเสียมอย่างที่คุณเข้าใจ เดิมทีเราตั้งใจจะเล่าเรื่องนี้ให้สั้นและกระชับเพื่อให้คุณรู้จักกระบวนการทำฟาร์มแพะอย่างพอแล้วดี แต่เรื่องราวระหว่างทางของวัตเป็นตัวอย่างที่เห็นเป็นรูปธรรมของคนที่ใช้หลักการ 3 ห่วง 2 เงื่อนไขตอบโจทย์ของตัวเอง สร้างธุรกิจของตัวเองขึ้นมา และปูทางพาคนทั้งชุมชนไปด้วยกัน
วัตเดินกลับมาพร้อมนมแพะแช่เย็นขวดที่เท่าไหร่จำไม่ได้แล้ว ไปฟังเขาเล่าเรื่องบุญบูรณ์พร้อมกัน
01
ฟาร์ม(ที่)ฝันของสถาปนิกผู้ฝันอยากเป็นเกษตรกร
บุญบูรณ์ฟาร์มมาจากการพยายามหาคำตอบของคำถามที่อยู่ในใจของวัต เมื่อครั้งยังเป็นสถาปนิกในวงการออกแบบ อยู่ท่ามกลางแวดวงของผู้มีรสนิยม เป็นสถาปนิกมือรางวัล โลดแล่นอยู่ในวงการนับ 10 ปี มีชีวิตที่ใครๆ ฝันถึง ขณะเดียวกันวัตไม่ต่างจากคนเมืองส่วนใหญ่ คนที่ทำงานบนเส้นทางความฝันและความเป็นจริงจนถึงจุดหนึ่งแล้วพบว่าสิ่งที่ทำอยู่พาเขาห่างจากเป้าหมายของชีวิตออกไปทุกที
จุดเปลี่ยนสำคัญ เกิดขึ้นหลังจากวัตทำงานกับสถาบันอาศรมศิลป์ ได้ทำงานลงพื้นที่ร่วมกับชุมชน เป็นช่วงชีวิตที่วัตเริ่มรู้จักคำว่า ‘ข้อมูล’ จากที่เมื่อก่อนรู้จักแต่คำว่า ‘จินตนาการ’
“กับงานออกแบบถ้าเราทำได้ไม่ดีพอหรือไม่มีความสามารถมากพอ จากสร้างสรรค์ก็อาจจะเป็นการทำลาย เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่รู้จริง เราไม่ถนัดจริง เราขอไปทำอย่างอื่นที่เราถนัด เพื่อนสนิทที่รู้จักนิสัยกันดีก็มักจะถามเสมอว่าทำไมเรามาเรียนสถาปัตย์ เพราะตัวตนเราไม่ได้มีความเป็นนักออกแบบเลย เราชอบอยู่กับดิน ต้นไม้ และสัตว์ หยุดจากงานก็ชอบเข้าป่าแทนที่จะเดินดูตึกรามบ้านช่อง” วัตตัดสินใจหยุดการเรียนแล้วใช้วิชาความรู้ออกแบบชีวิตตัวเองและผู้คน เพราะอยากเรียนรู้โลกและเข้าใจตัวเองมากขึ้น วัตชอบธรรมชาติ เขาถามตัวเองว่า อาชีพอะไรจะทำให้เขาใกล้ชิดธรรมชาติมากที่สุด และคำตอบก็คือ เกษตรกร
วัตไม่ได้เป็นคนลำปางโดยกำเนิด แต่ผูกพันกันในระยะสั้นๆ ช่วงน้ำท่วมกรุงเทพฯ ครั้งใหญ่ อะไรทำให้เขาตัดสินใจเริ่มต้นชีวิตเกษตรกรที่นี่
เหตุผลก็คือ ลำปางมีทุกอย่างเหมือนเชียงใหม่ มีสนามบิน มีห้างสรรพสินค้า มีสิ่งอำนวยความสะดวก แต่เนิบช้า
ก่อนมาลงหลักปักฐาน วัตศึกษาลำปางเชิงลึกจากชาติพันธุ์หมู่บ้านต่างๆ วิเคราะห์ผู้คนผ่านความเป็นอยู่ อาหารการกิน ภาษาพูด และอาชีพ ที่ดำเนินมาตั้งแต่ในอดีต เป็นธรรมดาที่วัตจะต้องใช้พลังและเวลาไม่น้อยเพื่อพิสูจน์ตัวเองว่าเขาไม่ใช่คนเมืองหลวงที่จ้องฉกฉวยประโยชน์จากพื้นที่
“เราเริ่มจากการใช้ชีวิตเป็นชาวนาปลูกข้าวปลูกผัก แต่ทำโดยใช้ความต้องการของเราเพียงคนเดียวเป็นสิ่งขับเคลื่อน ไม่รู้เลยว่าสิ่งนี้ตอบโจทย์เราจริงๆ หรือเปล่า จะเป็นอาชีพของเรา และทำให้เราและครอบครัวมีความสุขจริงมั้ย ตอนนั้นไม่มีใครเชื่อเลยว่าการทิ้งงานออกแบบมาปลูกผักปลูกข้าวจะรอด เพราะไม่เคยมีใครเห็นว่าเราจะทำได้ แถมเรายังเป็นภูมิแพ้ อ่อนแอ และขี้โรค” เมื่อรู้จักตนแต่ไม่อาจประมาณตนได้ในตอนแรก วัตจึงตั้งหน้าตั้งตาหาความรู้ตามศูนย์การเรียนรู้ต่างๆ เพื่อเป็นเกษตรกรในแบบที่พอดีกับตัวเอง
02
ความพอใจที่จะทำ พอใจที่จะรู้ สู่กระบวนการพัฒนาตัวเอง
ความรู้ที่วัตมีติดตัวเป็นอาวุธชั้นดี ทั้งความรู้เรื่องการทำเกษตรและความรู้เรื่องการทำธุรกิจที่ได้จากการบริหารบริษัทออกแบบเล็กๆ ของตัวเอง แต่เมื่อจับสองสิ่งนี้มารวมกันก็เกิดเป็นศาสตร์ใหม่
“เรามองย้อนไปจากวันนี้เคยทำเรื่องที่น่าตลกมาก เคยเลี้ยงไก่ให้ผลผลิตเป็นไข่วันละแผง แล้วเราก็ขับรถเข้าเมืองไป 30 กิโลเมตรเพื่อขายไข่ 1 แผงแล้วตีรถกลับ คิดง่ายๆ ก็รู้ว่ามันไม่คุ้ม” วัตบอกว่าเป็นความรู้ที่มีพอทำเพื่อพึ่งพาตัวเองได้ แต่ไม่อาจก้าวข้าวไปถึงการเป็นเศรษฐกิจพอเพียงขั้นกว่าที่เขาตั้งใจไว้
ช่วงที่เริ่มต้นเป็นเวลาที่เกษตรกรทุกคนอยากทำเกษตรอินทรีย์กันหมด วัตจึงศึกษาตลาดด้วยการเข้าร่วมกลุ่ม Farmers’ Market เพื่อสร้างสรรค์สินค้าที่ยังไม่มีในตลาดและตอบโจทย์ผู้บริโภคมากกว่าที่จะคิดเอง จนได้พบว่าในตลาดยังไม่ค่อยมีสินค้าเกี่ยวกับปศุสัตว์ ไม่มีเนื้อสัตว์ ไม่มีนม
วัวเป็นสิ่งแรกที่วัตคิดถึง แต่เมื่อลองคลุกคลีและศึกษาก็พบว่าไม่เพียงต้องหาหญ้าจำนวนครึ่งร้อยกิโลกรัมต่อวันเพื่อเลี้ยงวัวหนึ่งตัว การดูแลจัดการมูลสัตว์และอื่นๆ ยังเป็นงานใหญ่เกินกว่าเขาและครอบครัวจะทำไหว
“เราเป็นภูมิแพ้ หาข้อมูลก็พบว่านมแพะแก้โรคภูมิแพ้ได้ และแพะยังคล้ายวัวแต่ตัวเล็กกว่า ขี้สะอาด เม็ดเล็ก เก็บง่าย จึงไปเรียนรู้เรื่องแพะนมที่โครงการฟาร์มตัวอย่างฯ จังหวัดอ่างทอง ได้แพะเด็กกลับมา 3 ตัวภายในระยะเวลาปีเดียว เราได้นมจากแพะวันละ 2 กิโลกรัม”
แม้จะให้นมน้อยกว่าเมื่อเทียบโดยปริมาณ แต่เมื่อเทียบน้ำหนักตัวแล้ว แพะให้นมมากกว่าวัวถึง 5 เท่า นั่นคือ วัว 1 ตัวหนัก 800 – 1,000 กิโลกรัม ให้นมวันละ 10 กิโลกรัม คิดเป็น 1% ขณะที่แพะ 1 ตัว หนัก 40 กิโลกรัม ให้นมวันละ 2 กิโลกรัม คิดเป็น 5% ประกอบกับนมแพะจะกลายเป็นทางเลือกอาหารในอนาคต เพราะทุกวันนี้มีคนแพ้นมวัวเยอะมากขึ้น
ด้วยพื้นฐานการคิดแบบนักออกแบบ และนิสัยรักการเรียนรู้ที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ นอกจากจะเข้าร่วมอบรมหลักสูตรการทำเกษตรจากหลายๆ แหล่ง วัตยังเพิ่มพูนความรู้เรื่องการแปรรูปจากศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์เชียงใหม่ หาข้อมูลวิจัยเรื่องแพะจากคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยี ม.แม่โจ้ และสถาบันวิจัยเทคโนโลยีการเกษตร ในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาลำปาง แม้ไม่ได้เรียนรู้วิชาบังคับครบตามหลักสูตร แต่ล้วนเป็นวิชาที่จำเป็นต่อการแก้โจทย์ปัญหา เช่น วิชาการจัดการฟาร์ม วิชาการดูแลสุขภาพสัตว์
“วันนี้เราเจอสิ่งที่ปลดล็อก ตอบคำถามที่อยู่ในใจ ถ้าเราอยู่กับธรรมชาติและอาชีพที่เรารัก รู้วิธีแก้ปัญหาจากการหาความรู้ ยิ่งทำยิ่งสนุก ภาษาธรรมเรียกว่า ‘ฉันทะ’ เกิดจากความพอใจที่จะทำ พอใจที่จะรู้ ก่อนจะนำไปสู่กระบวนการพัฒนาตัวเองโดยที่เราไม่รู้ตัว ค่อยๆ เปลี่ยนไปในทางที่ขึ้น” วัตเล่าเหตุผลที่ทำให้เขาตั้งมั่นหาความรู้เพื่อให้บุญบูรณ์แข็งแรง
03
คิด ทำ และสื่อสาร อย่างผู้ประกอบการภาคเกษตรที่รู้จักตัวเอง
เพื่อให้อาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพยั่งยืน
ถ้าคุณได้มีโอกาสลิ้มลองพร้อมกับเราตอนนี้ คุณจะแปลกใจที่นมแพะของบุญบูรณ์อร่อย ดื่มง่าย ไม่มีกลิ่นและรสคาวอย่างที่เคยได้ยินใครบอกไว้ นอกจากนมแพะพาสเจอไรซ์พร้อมดื่ม ยังมีโยเกิร์ตนมแพะไม่ผสมน้ำตาล พุดดิ้งนมแพะมะพร้าวอ่อน ซึ่งวัตบอกว่าเขาเริ่มสนุกกับการแก้โจทย์ว่าทำอย่างไรให้คนรักนมแพะ
นอกจากอาหาร ผลิตภัณฑ์จากบุญบูรณ์ฟาร์มยังได้แก่เครื่องสำอาง ซึ่งมาจากโจทย์ว่าจะต้องเป็นสิ่งที่เก็บได้นาน ขนส่งได้ไกล และคนใช้ซื้อซ้ำ จึงออกมาเป็น สบู่ สบู่เหลว ลิปบาล์ม และโลชั่น จากนมแพะ ซึ่งขอมาตรฐานการผลิตง่ายกว่าการแปรรูปเป็นอาหาร
“เกษตรกรไม่ใช่ต้องอยู่แค่ในแปลง ขายของโดยให้คนอื่นกำหนดราคา ถ้าเราทำของคุณภาพดี เราควรจะพาตัวเองไปอยู่ในตลาดที่มีผู้บริโภคต้องการเรา เราเชื่ออย่างนั้นและอยากสื่อสารเรื่องนี้ให้เพื่อนเกษตรกร ซึ่งบางคนก็เข้าใจตั้งแต่ครั้งแรกที่เราพูด จนทุกวันนี้เติบโตค่อยๆ พัฒนาไปทีละขั้นเหมือนกันกับเรา เราเรียนรู้ว่าความรู้สึกนี้ต่างหากที่เป็นการดำเนินชีวิตอย่างเศรษฐกิจพอเพียงขั้นกว่าที่เราเคยตั้งคำถาม
“เราพบคำตอบโดยไม่รู้ตัวในวันที่เรามีเพื่อนและกัลยาณมิตรที่ร่วมกันทำงาน สร้างสังคมของเกษตรกรรุ่นใหม่ที่คิดและทำอย่างธุรกิจ เป็นผู้ประกอบการภาคการเกษตรที่รู้จักกระบวนการผลิต การแปรรูป การทำตลาด และสื่อสารกับผู้บริโภคที่อยู่ปลายทาง เป็นองค์ประกอบที่จะทำให้กำหนดราคาได้ไม่เสียเปรียบอย่างที่แล้วมา” วัตเล่าเหตุและผลของความตั้งใจที่จะทำให้เกษตรกรเป็นอาชีพที่ยั่งยืน หลุดพ้นจากความยากจนเพราะต้องติดอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ไม่อาจต่อรองได้อย่างที่แล้วมา เมื่อไม่หลงเหลือความภาคภูมิใจจึงไม่อาจทำให้วงการเกษตรกรรมก้าวหน้า เกิดความรู้สึกท้อ เหนื่อยล้าจนขายไร่ขายนา และไล่ลูกหลานออกไปสู่สังคมเมือง
มาจนถึงตอนนี้คงเดาได้ไม่ยากว่าทำไมหมู่บ้านในชนบทจึงมีแต่เด็ก ผู้หญิง และคนชรา เมื่อผู้ชายในหมู่บ้านไปทำงานนิคมอุตสาหกรรมในเมือง เด็กที่โตขึ้นหน่อยก็เข้าไปเรียนหนังสือในเมือง เรียนต่ออาชีวะแล้วทำงานในนิคมอุตสาหกรรม โดยที่ตัวไม่กลับมาอีกแล้ว ส่งกลับมาเพียงแต่เงิน เมื่อพ่อแม่ที่บ้านเห็นว่าไม่ต้องทำเกษตรให้เหนื่อย ไร่นาจึงถูกทิ้งร้างไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์
ไม่ใช่แค่แก้ปัญหาคุณภาพชีวิตและความภูมิใจในอาชีพเกษตรกร แต่ยังช่วยแก้ปัญหาสังคมชนบทที่เราเห็นมาอย่างยาวนาน
04
สร้างภูมิคุ้มกันจากการสร้างโอกาสแก่คนที่อยู่รอบตัว
เมื่อบุญบูรณ์ออกร้านตามงานต่างๆ วัตพบข้อมูลว่าเด็กสมัยนี้แพ้นมวัวเยอะมาก และเมื่อกินนมไม่ได้ก็ไม่รู้จะกินอะไร ทำให้ร่างกายมีอัตราการเจริญเติบโตต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งนมแพะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ เขาจึงคิดอยากทำให้คนใกล้ตัวเข้าถึงนมแพะด้วย ซึ่งเขาก็ยอมรับว่าราคานมแพะสูงกว่านมวัวที่มีในตลาดถึง 3 เท่า เนื่องจากต้นทุนการผลิตและจัดการที่สูง จึงออกมาเป็นโครงการที่ขายนมแพะที่ให้โอกาสกับคนมีเงินส่งมอบนมแพะให้คนที่ต้องการ โดยเริ่มจากศูนย์เด็กเล็กในพื้นที่ก่อน แล้วเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบเพื่อพิสูจน์คุณประโยชน์จากนมแพะให้เป็นที่ประจักษ์
ความคิดเรื่องการแก้ปัญหาสภาพแวดล้อมและเปลี่ยนแปลงสังคมเป็นความสนใจของวัตมาตั้งแต่เรียนปริญญาโทที่อาศรมศิลป์ ซึ่งเขาให้ความสำคัญกับการทำอย่างมีความรู้และเข้าใจปัญหานั้นมากเพียงพอ เพื่อเข้าถึงและพัฒนาไปในทิศทางที่ถูกต้อง เขาจึงไม่เลือกที่จะทำงานอุทิศตัวเพื่อชุมชนโดยไม่หวังกำไรแบบ NGO เพราะนั่นจะทำให้ชาวบ้านไม่เชื่อ และตั้งใจพิสูจน์ให้เห็นความก้าวหน้า ทั้งจากรายได้ที่เพียงพอเลี้ยงครอบครัว และแบ่งปันสิ่งที่มีแก่เพื่อนบ้านและคนในชุมชน
นั่นคือ ในการทำฟาร์มแพะนมมีกระบวนการจัดการฟาร์มอย่างง่าย แบ่งย่อยเป็นแผนกๆ ได้ เช่น แพะอนุบาล แพะประถม แพะมัธยม แพะมหาวิทยาลัย และแพะปริญญาโท ชาวบ้านที่เก่งเลี้ยงแพะเด็กก็เอาแพะเด็กไปเลี้ยงก่อนขายต่อให้ชาวบ้านคนที่เลี้ยงแพะประถม และมัธยมต่อไป
“ที่ปลายทางของเรื่องนี้ เราอาจจะเป็นแค่มหาวิทยาลัย ทำหน้าที่รีดนมและแปรรูป ในวันที่กิจการเติบโตขึ้น ไม่จำเป็นว่าต้องรับผิดชอบทุกกระบวนการ แต่ให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในธุรกิจนี้ ดูแลรับผิดชอบกิจการของตัวเอง วันหนึ่งอาจจะตั้งเป็นสหกรณ์แพะเด็กหรือสหกรณ์ผู้แปรรูปนมแพะ เป็นโอกาสที่จะได้เรียนรู้ลึกๆ ในสิ่งที่ตัวเองทำจริงจัง ไม่ต้องเรียนรู้ทั้งหมดที่ยากและใช้เวลานาน”
05
คุณธรรมที่เคลื่อนพาชีวิตและกิจการไปสู่ความเจริญ
ชื่อของบุญบูรณ์ มากจากข้อธรรมที่เรียกว่า จักร 4
องค์ประกอบ 4 อย่างที่จะทำให้เกิดจักร 4 จักร หรือล้อ 4 ล้อ เคลื่อนพาชีวิตไปสู่ความเจริญ ประกอบด้วย หนึ่งคือ การได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี สองคือ การพบกัลยาณมิตร มีเพื่อนมีครูที่ดี สามคือ การมีความรู้ความเห็นถูกต้อง วิชาการและคุณธรรม สี่คือ การประกอบด้วยบุญเก่าที่สะสมมา ซึ่งวัตตีความว่าบุญเก่าคือทั้งหมดที่เราทำในวินาทีนี้ มันคือเหตุซึ่งผลอาจจะเกิดในนาทีถัดไปก็ได้ ถ้าเราสร้างเหตุไว้ดี ผลก็ย่อมดี
“ไม่ใช่แค่ฟาร์มแต่คือคนทั้งชุมชน คือบุญบูรณ์ เพราะมีทั้งสี่องค์ประกอบครบถ้วน หนึ่ง เราอยู่ในทำเลที่ดี สิ่งแวดล้อมที่ดี ใกล้เมือง ทำมาหากินได้ ใกล้ธรรมชาติ ใกล้อุทยาน สอง เราเลือกครูบาอาจารย์และกัลยาณมิตรที่เราจะเข้าหา อาจารย์ในสถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการที่มีความรู้ มีเครื่องมือ มีปัจจัย สาม ความรู้ที่ถูกต้อง เรารู้จักตัวเอง รู้จักการใช้ข้อมูลที่มี การสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง ประมาณตนได้ นี่คือความเห็นความรู้ที่ถูกต้อง และข้อสี่จะตามมาถ้าเราทำ 3 ข้อแรกได้สมบูรณ์” วัตอธิบายความ ก่อนจะเล่าว่าแนวคิดนี้มาจากเหตุผลที่วัตอยากให้คนในชุมชนเห็นคุณค่าของตัวเอง
นอกจากนี้จักร 4 ยังเชื่อมโยงได้กับเรื่อง Human Dimension หรือมิติของมนุษย์ ซึ่งประกอบด้วย To Love To Learn To Live และ To Leave a Legacy นั่นคือสิ่งแวดล้อมที่ดีเพื่อการอยู่อาศัยที่ดี ความรู้ความเห็นชอบที่ดีไปสู่การเรียนรู้ การมีกัลยาณมิตรเพื่อมีรักและเป็นที่รัก และเหตุที่ดีนำพาสู่ผลที่ดี ซึ่งก็คือการละทิ้งความสำเร็จเดิมเพื่อสร้างเรื่องราวใหม่ที่จะส่งมอบให้คนรุ่นต่อไป
มาถึงตอนนี้เราจะเห็นว่าวัตเป็นตัวอย่างของคนที่ใช้หลักการ 3 ห่วง 2 เงื่อนไขตอบโจทย์ของตัวเอง และยังสร้างธุรกิจของตัวเองขึ้นมา ปูทางพาคนทั้งชุมชนไปด้วยกัน
06
ความพอที่เชื่อมโยงเกษตรกรและชุมชน ด้วยศาสตร์ของพระราชา
มาจนถึงตอนนี้ ผลิตภัณฑ์ของบุญบูรณ์ฟาร์มคือฟาร์มแพะนม องค์ความรู้ และโอกาสที่มอบให้คนอื่น
ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่สถาปนิกคนหนึ่งจะมุ่งมั่นทำตามความฝันโดยที่ไม่มีพื้นฐานใดๆ มาก่อน การออกแบบพื้นที่ที่พอดีกับตัวเองจึงต้องมาจากจุดที่อยู่ตรงกลาง เพราะจะใช้ภูมิปัญญาที่มีแบบโบราณดั้งเดิมก็คงไม่ได้ หรือจะใช้เทคโนโลยีเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์แบบสมัยนิยมก็ไม่ได้เช่นกัน
วัตเล่าจุดตรงกลางก็คือ หนึ่ง หาว่าอะไรคือสิ่งที่เป็นต้นทุนของพื้นที่ สืบหาว่าภูมิปัญญาท้องถิ่นเขาทำกันมาแบบไหน ไม่ใช่อ่านแต่ตำรา สอง เทคโนโลยีที่เข้าถึงได้ง่ายซึ่งหาได้จากสถาบันการศึกษาในพื้นที่ที่ทำงานวิจัยและมีข้อมูลของพื้นที่ดีอยู่แล้ว และเมื่อภูมิปัญญา รวมกับข้อมูลเชิงวิชาการของพื้นที่ก็จะเกิดเทคโนโลยีที่เหมาะสม ทดลองใช้และเก็บข้อมูลเพื่อส่งต่อให้นักวิชาการปรับปรุงและพัฒนางาน เกิดการทำซ้ำจนได้สูตรสำเร็จที่เหมาะกับพื้นที่นั้นจริงๆ ยิ่งจะเปลี่ยนภาพจำของการทำเกษตร ที่ไม่จำเป็นต้องตรากตรำกลางแดดอีกต่อไป
“เช่นเดียวกับในโลกธุรกิจ เกษตรกรอย่างเราจะอยู่อย่างไรให้ทั้งแข่งขันได้และไม่เบียดเบียนตัวเอง ไม่เบียดเบียนคู่แข่ง ทำยังไงให้เราอยู่รอดได้โดยที่ไม่ได้รู้สึกว่ากำลังฝืนตัวตนและความเชื่อของตัวเอง หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและ ‘โครงการพอแล้วดี The Creator‘ ทำให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้น 100% ที่ผ่านมาเราเต็มไปด้วยความอยากจะทำ แต่เราไม่รู้วิธีการ เรารู้ดีเรื่องงานภาคปฏิบัติในฟาร์มทั้งหมด แต่กับการเชื่อมต่อกับโลกภายนอก เราไม่รู้เลย เราไม่รู้จักตัวเองเลยว่าเรายืนอยู่ในจุดไหน ตอนแรกเราเข้าใจว่าเราเป็นฟาร์มขายนมแพะ ผลิตภัณฑ์เราคือนม แต่มันกลับไม่เป็นอย่างที่คิด
“สิ่งที่เรามีอยู่สร้างคุณค่าได้มากกว่าจะเป็นแค่นมแพะ เราคือตัวแทนของเกษตรกร คือคนที่จะเชื่อมโยงภาคธุรกิจ เทคโนโลยี ข่าวสาร กระแสสังคมภายนอก ไปหาเกษตรกรที่มีทักษะการผลิตแต่ขาดตัวเชื่อม อีกกลุ่มคือคนที่อยากหันหลังให้ชีวิตเมืองแล้วมาเป็นเกษตรกรแต่เขาไม่รู้เลยว่าจะต้องคุยกับใคร เราเลยได้คำตอบว่าจริงๆ แล้วเราเข้าใจคนทุกกลุ่มที่เล่ามานี้ เราน่าจะเป็นคนที่อยู่ตรงกลาง คอยถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้กับคนเหล่านี้ ดังนั้น คุณค่าของ ‘บุญบูรณ์’ จึงไม่ใช่การผลิตนมแพะแต่คือฟาร์ม คือตัวเรา คือสถานที่แห่งนี้”
เด็กๆสมัยนี้…สังคมก้มหน้าSocial Ignoreism.
Posted by Boonboon goatmilk farm – บุญบูรณ์ฟาร์ม แพะนมลำปาง on Monday, July 30, 2018
บุญบูรณ์ฟาร์ม
ประเภท: ฟาร์มนมแพะ และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากนมแพะ
ที่ตั้ง: 120/5 ม.3 หมู่บ้านแพะหนองแดง ตำบลทุ่งฝาย อำเภอเมืองฯ จังหวัดลำปาง 52000
ผู้ก่อตั้ง: ชญาน์วัต สว่างแจ้ง
Facebook : Boonboon goatmilk farm
พอแล้วดี The Creator
Facebook | พอแล้วดี The Creator
porlaewdeethecreator.com