28 กุมภาพันธ์ 2024
1 K

คุณคงเคยได้ยินคำว่า ‘สวน 15 นาที’ มาบ้าง

สวน 15 นาทีคือนโยบายของกรุงเทพมหานคร เกี่ยวกับการกระจายสวนและพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนเข้าถึงได้ด้วยการเดินเท้าภายใน 15 นาที หรือห่างจากชุมชนประมาณ 800 เมตร 

แต่เมื่อลองคิดดูว่ากรุงเทพฯ จะไปถึงอุดมคตินั้นได้ยังไงก็พบกับอุปสรรคเต็มไปหมด จะหาที่ดินจากไหน ใครจะริเริ่ม สถาปนิกชื่อดังที่ไหนจะเป็นผู้ออกแบบ และอีกกี่เดือนกี่ปีจะเสร็จสมบูรณ์

แค่คิดก็ท้อแล้ว

นั่นอาจเป็นเพราะเราต่างมีภาพในใจเป็นสวนกว้างใหญ่หน้าตาอลังการ หากเราลองเขย่านิยามของคำว่า ‘สวน’ ดูใหม่ แล้วพุ่งเป้าไปที่ประโยชน์ใช้สอยของแต่ละชุมชน เราจะเห็นทางไปต่อ

‘POP PARK BKK’ เป็นโปรเจกต์ทำสวนชั่วคราวที่ Healthy Space Alliance (HSA) พาผู้เชี่ยวชาญ นักออกแบบ สถาบันการศึกษา มาถ่ายทอดวิธีการปั้นสวนให้ตอบโจทย์ผู้ใช้ให้กับสำนักงานเขตต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ แล้วพึ่งพิงให้แต่ละเขตเป็นหลักในการพัฒนาสวนในพื้นที่ของตัวเอง

และแทนที่จะต้องรองบประมาณก้อนใหญ่แล้วปล่อยให้ทิ้งร้างไปเรื่อย ๆ สวนก็ปรับเปลี่ยนเท่าที่จะเป็นไปได้ด้วยทรัพยากรของเขต เช่น ปรับพื้นที่ มีเจ้าหน้าที่ช่วยทำความสะอาด วางแผ่นพื้น ทาสี ปลูกต้นไม้ และมีงบประมาณของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สนับสนุนการปรับปรุงพื้นที่บางส่วน การจัดกิจกรรมและกระบวนการมีส่วนร่วม

สิ่งสำคัญคือต้องเข้าไปกระตุ้นพื้นที่ด้วยการชวนผู้คนแถวนั้นมาทดลองใช้ แล้วนำความคิดเห็นของทุกคนมาพัฒนาต่อ

“มันมีประโยชน์ในแง่ที่ป๊อป เร็ว คุยกันได้ ปรับเปลี่ยนได้ เมื่อถึงเวลาต้องทำของจริงจะได้ชัดเจนขึ้น” ยศพล บุญสม จาก HSA กล่าว

ในปีที่ผ่านมา มี POP PARK BKK กว่า 24 แห่งผุดขึ้นมาในกรุงเทพฯ และกำลังตามมาอีกเรื่อย ๆ ในปีนี้ ปีหน้า และปีถัด ๆ ไป

ความน่าสนใจ คือนี่ไม่ใช่กิจกรรมฉาบฉวยที่มาแป๊บ ๆ แล้วก็ไป เพราะสวนชั่วคราวที่เคยจัดกิจกรรมแล้วยังอยู่ในขั้นตอนผลักดันให้กลายเป็นสวนถาวร และพวกเขาก็กำลังตั้งใจผลักดันโครงการนี้ให้เข้าสู่ระบบของ กทม. อย่างจริงจังด้วย

ในอนาคตกรุงเทพฯ อาจเป็นเมืองแห่งสวน 15 นาที ด้วยโครงการนี้ก็เป็นได้

Make It Happen!

จุดเริ่มต้นของโครงการนี้มากจากตอนที่พวกเขาทำสวนวัดหัวลำโพงรุกขนิเวศน์เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ในนามของ we!park 

ในตอนนั้นชาว we!park เข้าไปคุยกับผู้คนในชุมชนถึงสวนที่กำลังจะเกิดขึ้น แต่เมื่อพ่อ ๆ แม่ ๆ นึกภาพไม่ออกว่าสวนที่ว่าจะหน้าตาประมาณไหน พวกเขาจึงทำ POP PARK BKK ขึ้นมาให้เห็น คนจึงได้เข้ามาทดลองใช้ เข้ามาคุยด้วย

“สวนชั่วคราวครั้งนั้นสร้างบทสนทนาได้ดีมาก เราเลยใช้เป็นหนึ่งในขั้นตอนการทำสวนของ we!park ในทุก ๆ โครงการ” ยศพลว่า

พ.ศ. 2565 พวกเขา ในนามของ HSA ก็ไปกันต่อด้วยการเสนอกับ กทม. ให้ POP PARK BKK กลายเป็นหนึ่งในกระบวนการทำสวน 15 นาที

“กว่าจะของบ เขียนแบบ บางที 3 เดือน บางทีก็เป็นปี ๆ เรารู้สึกเสียดายโอกาส เวลาเข้าไปคุยกับชุมชน เขาก็อยากเห็นสวนออกมาจริง ๆ แล้ว เราเลยใช้สวนชั่วคราวเป็นตัวเก็บความเห็น กระตุ้นพื้นที่โดยใช้ทรัพยากรของเขต และมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สนับสนุนบางส่วน”

หัวใจสำคัญของสวนชั่วคราวคือ ‘Park Coaching’

หรือคอร์สฝึกอบรมเจ้าหน้าที่เขตทั้ง 50 เขต ให้มีความเข้าใจพื้นฐานในการทำสวน เก็บข้อมูลยังไง วางโซนนิ่งยังไง จากนั้นก็ให้แต่ละเขตใช้พื้นที่จริงในการออกแบบ โดยมีผู้เชี่ยวชาญอย่างคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยและบริษัทภูมิสถาปนิก ช่วยโค้ชกันอย่างเข้มข้น

ยศพลยืนยันว่าให้สำนักงานเขตทำจะยั่งยืนกว่าคนนอกอย่างพวกเขาทำแน่นอน เพราะเขตใกล้ชิดกับชุมชนที่สุดและเข้าถึงชาวบ้านได้ง่ายที่สุด เมื่อช่องโหว่คือเขตไม่มี Know-how ในการดำเนินการ พวกเขาก็ไปวางระบบตรงนั้น

จบจากการอบรมก็มาถึงขั้นตอน ‘การเลือกประเด็น’ 

ทุกที่ล้วนมีความต้องการหลากหลาย หากทำสวนให้ออกมาหน้าตาเหมือนกันเป็นสิบ ๆ ที่ก็คงจะไม่มีทางเวิร์ก จึงเป็นหน้าที่ของเหล่าผู้เชี่ยวชาญในการเข้าไปดูว่าแต่ละพื้นที่มีศักยภาพยังไงบ้าง

แล้ว POP PARK BKK ก็แบ่งออกเป็น 6 ประเด็นหลักด้วยกัน

6 เสาหลัก สวนชั่วคราว

01 Community & Well-being (พัฒนาชุมชนและสุขภาวะ)

สวนประเภทแรกเน้นตอบโจทย์การเข้าถึงและการใช้งานของคนทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าในชุมชนจะมีเด็ก ผู้สูงอายุ กลุ่มเปราะบางใด ๆ สวนประเภทนี้มีเป้าหมายเพื่อเติมเต็มความต้องการของทุกคน

เห็นได้ชัดมากที่ ‘สาทร’ จากการพัฒนาพื้นที่รกร้าง ด้านหลังตลาดแสงจันทร์ ตอนนี้เขตได้เพิ่มพื้นที่สีเขียวสำหรับพักผ่อนและออกกำลังกายให้กับชุมชนแล้ว (แผนที่)

02 Mobility & Connectivity (เส้นทางสัญจร)

เพราะพื้นที่สวนที่ได้มาส่วนใหญ่ล้วนเป็นเส้นเล็ก ๆ ยาว ๆ สวนประเภทนี้จึงให้ความสำคัญกับการเชื่อมพื้นที่เข้าหากันด้วยการทำทางเดินและทางจักรยานที่ร่มรื่นน่าใช้

ตัวอย่างของสวนแห่ง Connectivity อยู่ที่ ‘ธนบุรี’ สวนสาธารณะใต้โครงสร้างทางยกระดับถนนราชพฤกษ์ที่ส่งเสริมโครงข่ายการเดินเท้า (แผนที่)

03 Blue Green Infrastructure (โครงข่ายพื้นที่สีเขียว)

สวนประเภทนี้ตอบโจทย์โดยตรงในประเด็นสิ่งแวดล้อม ในการช่วยเมืองรับน้ำ ช่วยฟอกอากาศ ช่วยลดความร้อน ทำให้เมืองเย็นลง โดยเน้นไปที่การใช้ประโยชน์จากคลองให้เต็มศักยภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะด้านการจัดการน้ำหรือการพักผ่อนหย่อนใจ

สวนบลูกรีนที่น่าสนใจอยู่ที่ ‘ตลิ่งชัน’ บริเวณเชิงสะพานข้ามคลองบางขุนศรี ถนนพรานนก-พุทธมณฑล ซึ่งเป็นจุดอัญเชิญพระธาตุของเขตตลิ่งชันในประเพณีชักพระ ถ้าได้ผ่านไปแถวนั้นก็เข้าไปเดินเล่นได้ (แผนที่)

04 Biodiversity Values (นิเวศวิทยา)

โดยทั่วไป แต่ละเขตจะมีพันธุ์ไม้เดียวกันที่ใช้ปลูกในทุก ๆ เขต แต่นั่นทำให้ไม่สอดคล้องกับระบบนิเวศเท่าไหร่นัก สวนประเภทนี้จึงเน้นไปที่การเลือกต้นไม้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ เช่น หากสวนอยู่ฝั่งธนฯ หรือบางบอน ก็ใช้พันธุ์ไม้ที่เหมาะกับดินเค็ม

เข้าไปชม Biodiversity ได้ที่สวน 15 นาที ศูนย์การเรียนรู้ตามศาสตร์พระราชา (สวนรักษาศุข) ที่ ‘บางบอน’ ที่นั่นเป็นแหล่งเรียนรู้ความหลากหลายของชนิดพันธุ์บอนและอื่น ๆ อีกทั้งยังเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ พื้นที่ออกกำลังกายให้ชุมชนข้างโรงเรียนและสถานีรถไฟพรมแดนด้วย (แผนที่)

05 Urban Agriculture (พื้นที่สีเขียวเพื่อเป็นแหล่งอาหาร)

ช่วงโควิด-19 ระบาด ชุมชนสะท้อนว่าไม่มีสวนใกล้บ้านที่ใช้ประโยชน์ได้ จึงเกิดเป็นสวนประเภทนี้ที่มีแปลงผักให้ชาวบ้านช่วยกันดูแล ใครอยากใช้กะเพรา โหระพา อะไรก็มาเด็ดไป

ใครอยากไปเห็นบรรยากาศสวนกินได้กับตา ลองไปดูที่ ‘วัฒนา’ ณ สวนริมคลองแสนแสบ ตรงข้ามท่าเรืออิตัลไทยได้ ที่นั่นเป็นพื้นที่พัฒนาร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชน ไม้ดอกที่เพิ่งปลูกช่วยเติมสีสันให้คนในย่านได้ไม่น้อยเลย (แผนที่)

06 Culture and Creativity (วัฒนธรรมและกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์)

สวนประเภทถัดมามุ่งเน้นไปที่อัตลักษณ์ของชุมชนเป็นหลัก หลายชุมชนมีอัตลักษณ์ส่วนตัวที่น่าสนใจ แต่ไม่เคยถูกสื่อสารออกมา พวกเขาจึงตั้งใจหยิบความพิเศษนั้นไปพัฒนาเป็นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมได้

เราอยากให้ไปดูที่ ‘บางกอกน้อย’ แม้จะเป็นพื้นที่ว่างขนาดเล็กเพียง 23.5 ตารางวา แต่ก็มีศักยภาพในการออกแบบและพัฒนาให้เป็นพื้นที่สีเขียวใกล้บ้านได้ ตอนนี้กลายเป็นพื้นที่พักผ่อนและทำกิจกรรม มีทีเด็ดเป็นภาพเพนต์ ‘ภาพจำของคนในย่านวังหลัง’ บนผนัง (แผนที่)

ตกลงว่าสวนของใคร

น่าสนใจนะว่าเวลาจัดกิจกรรมกระตุ้นพื้นที่ พวกเขามีวิธีชวนชาวบ้านมาเข้าร่วมยังไงบ้าง 

เมื่อเราเอ่ยปากถาม ยศพลก็เล่าให้ฟังว่า โดยปกติแล้วฝ่ายพัฒนาชุมชนของแต่ละเขตจะเชื่อมโยงกับชุมชนอยู่แล้ว การเชิญชวนจึงเรียบง่ายแค่เคาะประตูบ้าน เล่าให้ฟังว่าจะมีสวนชั่วคราวแถวนี้นะ มาดูแล้วแลกเปลี่ยนความเห็นกันเถอะ

สิ่งที่ HSA ไปเสริมคือการเชื่อมโยงภาคส่วนอื่น ๆ ไม่ว่าจะเอกชนหรือสถาบันการศึกษา

“ชาวบ้านที่มาเข้าร่วมคือเขามีความต้องการจะทำให้ชุมชนดีขึ้นจากที่มีอยู่ แล้วเขาเห็นอยู่ทุกวันว่าพื้นที่ตรงนั้นยังว่าง พอเราไปชวนคิด ชวนคุย ก็เหมือนเปิดประตูให้ความต้องการกับคนที่จะทำมาเจอกัน”

มีใครบ้างที่เข้ามาดูสวนชั่วคราว – เราถามต่อ พยายามนึกภาพชาวบ้านที่ว่า

“หลากหลาย ผู้สูงอายุ กลุ่มวัยรุ่น คนทำงาน” ยศพลตอบ

“บางพื้นที่อย่างแถวชานเมือง คันนายาว กลุ่มผู้สูงอายุเขาอยู่กับบ้าน เขาก็จะแอคทีฟมากหน่อย เพราะเห็นอยู่ทุกวัน บางพื้นที่ในกรุงเทพฯ ชั้นใน อย่างบางกอกน้อย ก็จะเป็นคนอยู่ห้องแถว เจ้าของตลาด เจ้าของร้านค้า นักเรียน หรือคนทำงานโรงพยาบาล มันก็แล้วแต่เซตติ้ง

“แต่ถ้าพูดถึงกลุ่มพนักงานออฟฟิศที่อยู่คอนโด เขามีตัวเลือกมากกว่านั้น เลยทำให้เขาไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องทำ”

ถึงอย่างไร ‘การพัฒนาเมือง’ ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นการเกื้อกูลกลุ่มเปราะบางอย่างเดียว เพราะ “ถ้ามันแย่ ก็แย่ด้วยกันทั้งหมด ถ้ามันดี ก็ดีด้วยกันทั้งหมด” ยศพลว่าอย่างนั้น

ไปต่อ ไม่รอแล้วนะ

ถ้านับกันจริง ๆ พ.ศ. 2567 นี้คือปีที่ 3 ของโครงการแล้ว จากที่เป็นโครงการทดลอง ในปีนี้ Park Coaching กำลังจะกลายเป็นหลักสูตรถาวรที่ฝังในระบบของ กทม. และมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของ กทม. ต่อไปเจ้าหน้าที่เขตจะผลัดกันเข้ามาอบรม 

พวกเขามีเป้าหมายในเชิงปริมาณอีกเป็นร้อยสวนที่จะตามมา ซึ่งสอดคล้องกันกับนโยบายสวน 15 นาทีในผังเมืองฉบับใหม่ของ กทม. พอดี

ที่ท้าทายคือสวนชั่วคราวที่เคยจัดกิจกรรมไปแล้วมากกว่า

เพราะแต่ละพื้นที่มีศักยภาพต่างกัน บางเขตรู้จักกับเอกชนก็ไปต่อได้ บางเขตไม่รู้จักก็เป็นหน้าที่ของ HSA ที่ต้องหนุนเสริม แต่นั่นคือที่มาที่ทำให้ต้องมีคณะกรรมการประจำกลุ่มเขตคอยให้คำปรึกษาและกระตุ้นพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

“แน่นอน คุณภาพอาจไม่ได้สมบูรณ์แบบ 100 เปอร์เซ็นต์” ยศพลกล่าว

“ตอนที่เราเริ่มทำงานเรื่องนี้ เราก็คิดว่า เฮ้ย สวนมันต้องสวยเหมือนสวนหัวลำโพงสิ ถึงจะเพอร์เฟกต์ในมุมนักออกแบบ แต่ไม่ใช่ ถ้าเกิดว่าสวนถูกขยับด้วยเขตจากการโค้ชชิ่ง และเป็นรูปเป็นร่าง เปิดพื้นที่ให้คนใช้ได้ปลอดภัย แค่นั้นก็ได้ประโยชน์แล้วนะ

“จริง ๆ แล้วความสำเร็จอาจมีหลายเลเวล”

นอกเสียจากกรุงเทพมหานคร ปีที่ผ่านมาชาวคณะก็ได้ลองขยับขยายไปที่จังหวัดขยายผลอย่างเชียงใหม่ด้วย

ไม่ใช่ว่าทุกเมืองจะขยับได้เลย แต่ต้องมีนโยบายเรื่องสวนขึ้นมาก่อน และเชียงใหม่ก็ยังไม่มีนโยบายอย่างชัดเจน เมื่อเริ่มจากข้างบนไม่ได้จึงเริ่มจากข้างล่างแทน ด้วยการสร้างความรับรู้ให้กับเยาวชน

ถึงอย่างไรก็ตาม พวกเขามองไปถึงอนาคตข้างหน้าแล้วว่า หากหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชใช้การได้ดีจริง ๆ ก็อยากให้แต่ละจังหวัดเข้ามาเรียน แล้วกลับไปปรึกษาหารือกับผู้เชี่ยวชาญในจังหวัดนั้น ๆ

หวังว่าแถวบ้านของทุกคนจะมีสวนเล็ก ๆ ที่ตอบโจทย์ชีวิตให้ใช้ในเร็ววัน

ภาพ : Healthy Space Alliance

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน