“เราอยากให้มันเป็นสวนอนุรักษ์ คิดว่าคงจะเป็นพื้นที่สีเขียวที่สุดท้ายของกรุงเทพฯ แล้วจริงๆ เพราะคงไม่มีคนกว้านซื้อที่ในกรุงเทพฯ เพื่อมาทำพื้นที่สีเขียว มันไม่คุ้มกันเลย” ชายหนุ่มเจ้าของสวนเปรย

ธรรมชาติรอบทิศทางพาสบายตา ลมอ่อนๆ โชยมาปะทะหน้า กลิ่นดินจางๆ จากสวนลอยเข้ามาเตะจมูก ผู้คนหลากวัยสนทนากันด้วยอารมณ์ผ่อนคลาย บ้างตื่นเต้นกับเมนูตรงหน้า บ้างหยอกล้อกันสนุกสนานที่ริมคลอง บ้างอ่านหนังสืออยู่ใต้ร่มเงาต้นลิ้นจี่ ทั้งหมดนี้เป็นบรรยากาศดีๆ ที่เรากำลังสัมผัสอยู่ที่ ‘ภูมิใจการ์เด้น’ สวนลิ้นจี่ 100 ปี

นึกแล้วก็แปลกอยู่ในใจเล็กๆ กรุงเทพฯ เมืองใหญ่ที่เราคุ้นเคย มีสถานที่แบบนี้ด้วยเหรอ 

ภูมิใจการ์เด้น สวนลิ้นจี่ 100 ปีที่รักษาวิถีชาวสวนริมน้ำแห่งบางขุนเทียน

ภูมิใจการ์เด้น เป็นสวนแห่งความภาคภูมิใจของ พรทิพย์ เทียนทรัพย์ และ อันดามัน โชติศรีลือชา สองแม่ลูกชาวบางขุนเทียน ผู้อยากอนุรักษ์ ‘สวนแบบโบราณ’ และอยากแชร์ความงามให้ใครต่อใครได้สัมผัสและรับรู้

ภูมิใจการ์เด้นตั้งอยู่ในเขตจอมทอง กรุงเทพฯ ฝั่งธนบุรี เดิมทีย่านนี้เรียกว่าบางขุนเทียน ย่านที่เต็มไปด้วยสวนชอุ่มงามริมแม่น้ำ ชาวบ้านในละแวกนี้ซึ่งเรียกตัวเองว่าชาวสวนปลูก ‘ลิ้นจี่’ ไว้ริมคลอง และปลูกพืชพรรณอีกมากมายไว้ในที่ดอน ด้วยความที่ย่านนี้อยู่ไม่ไกลจากอ่าวไทยสักเท่าไหร่ เมื่อน้ำทะเลหนุน ก็ทำให้มีน้ำเค็มเข้ามา พืชที่ถูกกับน้ำเค็มจึงได้เปรียบทางด้านกายภาพ ใครต่อใครก็ว่าผลไม้บางขุนเทียนนั้นรสชาติหวานอร่อยกว่าที่ใดที่เคยได้ลิ้มรส

ชาวสวนมีสวนไว้เลี้ยงชีพ กินเองบ้าง ค้าขายแลกเปลี่ยนบ้าง ซึ่งตลาดน้ำวัดไทร เคยเป็นแหล่งค้าขายหลักที่คึกคักที่สุดอีกที่หนึ่งของประเทศไทย บางขุนเทียนมีสถานที่สำคัญอย่างวัดราชโอรส วัดประจำรัชกาลที่ 3 จุดเริ่มต้นของศิลปกรรมแบบพระราชนิยม มีการนำศิลปะจีนเข้ามาผสมผสาน จอห์น ครอว์เฟิร์ด (John Crawfurd) ราชทูตอังกฤษที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีในสมัยรัชกาลที่ 2 เขียนบันทึกยกย่องความงามของวัดนี้ว่าเป็นวัดที่สร้างได้งดงามที่สุดของบางกอก 

จากที่กล่าวมาอาจทำให้พูดได้ว่า บางขุนเทียน เป็นย่านที่เคยรุ่งเรืองในอดีตจริงๆ

ภูมิใจการ์เด้น สวนลิ้นจี่ 100 ปีที่รักษาวิถีชาวสวนริมน้ำแห่งบางขุนเทียน
ภูมิใจการ์เด้น สวนลิ้นจี่ 100 ปีที่รักษาวิถีชาวสวนริมน้ำแห่งบางขุนเทียน

“ตรงนี้เป็นพื้นที่สวนของครอบครัว เราอยู่ตรงนี้มาร้อย เกือบสองร้อยปีแล้วครับ ตั้งแต่ช่วงต้นรัตนโกสินทร์” อันดามันเท้าความตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ

“ตลอดสองริมฝั่งคลองแทบจะเป็นญาติกันทุกบ้าน ต้นตระกูลก็ต้นตระกูลเดียวกัน บ้านผมเป็นครอบครัวคนไทย อยู่ติดๆ กันริมน้ำ ไปมาหาสู่กันทางคลอง ที่คุณเคยได้ยินมาทั้งหมด คือที่นี่เลย

“เวลาผ่านไป สวนก็หายไป บ้านสวนริมคลองก็หายไป เพราะกรุงเทพฯ ขยายตัวแบบไร้ทิศทาง ทำให้การทำสวนในกรุงเทพฯ เป็นสิ่งที่ยากลำบาก ถามว่ายากลำบากยังไง จริงๆ เริ่มตั้งแต่ปัจจัยทางทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งไม่ค่อยเอื้ออำนวยแล้ว ปัจจัยทางบริบทสังคม แม้แต่พฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนไป ทำให้สวนค่อยๆ เสื่อมสลาย” 

สำหรับปัจจัยทางธรรมชาติ ลิ้นจี่คือตัวอย่างที่ทำให้เห็นภาพได้ชัด

ภูมิใจการ์เด้น สวนลิ้นจี่ 100 ปีที่รักษาวิถีชาวสวนริมน้ำแห่งบางขุนเทียน

ลิ้นจี่ที่สวนแห่งนี้ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์กะโหลกใบยาว พันธุ์ที่เขาว่าหวานอร่อยที่สุด นอกจากพันธุ์นี้ก็เป็นกะโหลกใบอ้อ ต้นลิ้นจี่เหล่านี้โดยมากมีอายุเป็นร้อยปี ถึงจะฟังดูโบราณเสียหน่อย แต่ก็ไม่ได้ตายง่ายๆ สิ่งที่ยากคือรอให้ลิ้นจี่ออกผล เพราะลิ้นจี่เป็นผลไม้ที่อาศัยอากาศหนาว หากปีไหนไม่หนาวหรือหนาวแบบไม่ต่อเนื่อง ลิ้นจี่ก็แทบไม่ออกผลเลย ทำให้จากเดิมที่ลิ้นจี่มักออกลูกปีละครั้ง ปัจจุบันต้องรอ 4 – 5 ปี ไปจนนานที่สุดถึง 7 ปี 

แม้อะไรๆ จะเปลี่ยนไปชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ จนยุคทองของสวนผ่านไปเนิ่นนาน การคมนาคมเองก็เปลี่ยนไปใช้ทางบกเป็นหลัก ทำให้บ้านสวนริมน้ำแถวนี้กลายเป็นที่ดินตาบอด เสื่อมโทรม ตั้งอยู่ในซอยลึกเปลี่ยวที่ความเป็นเมืองทิ้งไว้ข้างหลัง แต่คุณแม่พรทิพย์ ลูกสาวชาวสวนผู้นี้ ก็ยังพยายามทำสวนอย่างไม่ลดละ

“เราทำสวนในบ้านก่อน พอ พ.ศ. 2553 หรือสิบเอ็ดปีที่แล้ว เราเริ่มซื้อแปลงที่เป็นกองขยะ แล้วก็แปลงเล็กแปลงน้อยอีกสิบแปลง” เธอเริ่มเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ “หลังจากจัดการกับขยะพลาสติกทั่วสวน เราก็เริ่มฟื้นฟูสวนด้วยการปลูกทองหลาง ซึ่งเป็นพระเอกของเราเลย ทองหลางเป็นพืชที่ให้ไนโตรเจนสูงและเป็นปุ๋ยด้วย เราเอาใบมากินได้ ถ้าจะปลูกพริกไทยหรือปลูกพืชอื่น ก็มีภูมิปัญญาในการเอาต้นทองหลางมาใช้ประโยชน์ได้มากมาย”

ภูมิใจการ์เด้น สวนลิ้นจี่ 100 ปีที่รักษาวิถีชาวสวนริมน้ำแห่งบางขุนเทียน
ภูมิใจการ์เด้น สวนลิ้นจี่ 100 ปีที่รักษาวิถีชาวสวนริมน้ำแห่งบางขุนเทียน

“สวนของเราทำแบบภูมิปัญญาสมัยก่อน เป็น Permaculture สามารถ Sustain ได้ภายในรั้วรอบขอบชิดของตัวเอง” ลูกชายเสริมต่อถึงวิถีของสวนแบบดั้งเดิม “สมัยก่อนชาวสวนจะปลูกพืชที่เก็บเกี่ยวได้ทั้งปี อย่างลิ้นจี่นี่เก็บได้ปีละครั้ง เขาก็ต้องปลูกพืชอื่นที่เอาไปขายได้ด้วย อย่างขนุน ชมพู่ มะม่วง หรือพืชผักต่างๆ”

“สำหรับที่นี่ ในพื้นที่หนึ่งตารางเมตรแบ่งเป็นระบบนิเวศย่อมๆ ได้เลย เรามีต้นตะลิงปลิง ต้นชะพลู ต้นทองหลาง ปลูกไว้ด้วยกัน ถึงเวลาก็เอามาใส่จานเดียวกัน” คุณแม่พรทิพย์เล่าเสริมอีกว่า การจะทำสวน 7 – 8 ไร่ ต้องใช้ทั้งทุน ทั้งแรง ทั้งความรัก ความบ้า และความสามารถ ผสมกันอย่างต่อเนื่อง เพราะสวนเป็นสิ่งที่ปล่อยทิ้งไม่ได้ หากดายหญ้าไว้ 3 เดือนแล้วไม่ได้เข้ามาดู ก็ต้องเริ่มทำใหม่ตั้งแต่ต้น ซึ่งงานในสวนนี้ แม้เธอไม่ได้ลงแรงทำด้วยตัวเองทั้งหมด แต่ก็ต้องใช้สมองในการคิด อธิบายรายละเอียดให้คนอื่นเข้าใจ ตามองค์ความรู้ที่เธอสะสมมาตลอดการเป็นชาวสวนริมน้ำ

ราว 2 ปีถัดมา ชีวิตชีวาก็กลับมายังสวนของครอบครัว จากที่ทำเพื่ออนุรักษ์พื้นที่สวน ก็เริ่มมีคนสนใจสิ่งที่แม่ลูกทำจริงๆ จังๆ เริ่มจากเพื่อน เพื่อนของเพื่อน ที่อยากเข้ามาเดินชมสวนเพื่อสัมผัสวิถีชีวิตริมคลอง จากนั้นก็เกิดกิจกรรมขึ้นตามธรรมชาติ อย่างการเก็บวัตถุดิบในสวนมาปรุงอาหารกันสนุกสนาน กลายเป็น Experience Tour ไปโดยปริยาย

หลังจากเปิดให้เพื่อนๆ รอบตัวได้ยล 2 ปีหลังมานี้ ‘ภูมิใจการ์เด้น’ ก็ภูมิใจนำเสนอสู่สาธารณชนอย่างเต็มตัว

ภูมิใจการ์เด้น สวนลิ้นจี่ 100 ปีที่รักษาวิถีชาวสวนริมน้ำแห่งบางขุนเทียน
ภูมิใจการ์เด้น สวนลิ้นจี่ 100 ปีที่รักษาวิถีชาวสวนริมน้ำแห่งบางขุนเทียน

“เดิมทีสวนเป็นพื้นที่ที่เราทำขึ้นเพื่ออนุรักษ์ตามแบบของเราเอง เราอยู่แล้วมีความสุข พอเรามีความสุข ตอนนี้ก็เป็น Phase ที่เราอยากแชร์ความสุขให้กับคนทุกกลุ่ม เด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ คุณทวดอายุร้อยแปด ร้อยเก้าปีก็เคยมาที่นี่ ภูมิใจการ์เด้นในนิยามของผมกับคุณแม่เลยเป็น Living Museum สวนกึ่งพิพิธภัณฑ์ เราเปิดสถานที่ตรงนี้ให้คนตระหนักถึงการมีอยู่ของบ้านสวนริมคลอง กลับมาชมเรื่องวิถีชาวสวน ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมย่านเก่าแก่ของบางขุนเทียน”

มากไปกว่านั้น สิ่งที่คุณแม่พรทิพย์เน้นย้ำตลอดการสนทนากับเราคือ ‘วัฒนธรรมอาหารของบางขุนเทียน’ ซึ่งภูมิใจการ์เด้น สวนโบราณในยุคสมัยใหม่แห่งนี้ ก็มีแนวทางในการอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวผ่านวิถีการกิน

“กินแล้วปลูก ปลูกแล้วกิน” คุณแม่ชาวสวนพยายามอธิบาย “ภูมิปัญญาชาวสวน ปลูกครั้งเดียว กินชาติหนึ่งเลย เรื่องอาหารเป็นส่วนช่วยเราเรื่องการอนุรักษ์อย่างเต็มรูปแบบ ถ้าตัดอาหารทิ้ง ไม่มีสวนให้คุณเห็นทุกวันนี้หรอก มันเป็นส่วนสำคัญ เรารักการเข้าสวนและการทำอาหาร แค่เราปลูกของที่เราจะกิน ก็มีบริเวณที่เป็นพื้นที่สีเขียวได้แล้ว” 

ภูมิใจการ์เด้น สวนลิ้นจี่ 100 ปีที่รักษาวิถีชาวสวนริมน้ำแห่งบางขุนเทียน
Natura Cafe สวนกึ่งพิพิธภัณฑ์มีชีวิตของสองแม่ลูกที่อยากให้สวนลิ้นจี่ 100 ปีเป็นปอดสีเขียวแห่งบางขุนเทียน และแหล่งภูมิปัญญาชาวสวนโบราณ

ก่อนหน้านี้คุณแม่และลูกชายทำงานประจำ เวลามีคนเข้าขอมาชมสวน จึงต้องบอกปัดในบางที

“บางทีก็ต้องปฏิเสธเขา ให้เขามาเดินในบ้านเราโดยที่ไม่มีคนคอยแนะนำไม่ได้ เกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำๆ จนเราต้องขอแม่ว่า แบ่งพื้นที่บางส่วนในสวนเป็นห้องรับรองแขก เลยเป็นที่มาของการเปิดคาเฟ่” อันดามันเกริ่น

พื้นที่ริมน้ำที่เรานั่งอยู่ตอนนี้คือ Natura Cafe เป็นส่วนที่สองแม่ลูกเรียกว่า ‘ห้องรับแขกของสวน’ 

Natura Cafe สวนกึ่งพิพิธภัณฑ์มีชีวิตของสองแม่ลูกที่อยากให้สวนลิ้นจี่ 100 ปีเป็นปอดสีเขียวแห่งบางขุนเทียน และแหล่งภูมิปัญญาชาวสวนโบราณ

“คนที่เขาไม่รู้จักภูมิใจการ์เด้น เขาก็มองว่าเป็นร้านขนมคาเฟ่ธรรมดา แต่ว่าสิ่งที่เราทำ เป้าประสงค์ของเรา มันกว้างไกลกว่านั้นเยอะเลย”

ลูกชายเล่าว่าคาเฟ่นี้เปิดไว้ให้คนที่มาชมสวนมีที่นั่งสบายๆ หลบแดดหลบฝนได้ตามอัธยาศัย ซึ่งเมนูของที่นี่ก็หนีไม่พ้นวัตถุดิบที่เก็บสดๆ จากสวนภูมิใจในแต่ละฤดูกาล ไม่ว่าจะเป็นมะยงชิด มะม่วงเบา ชมพู่มะเหมี่ยว และที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือ ‘ตะลิงปลิง’ ที่ปลูกไว้ในสวนเยอะมาก จนสองแม่ลูกนำมาสร้างสรรค์เมนูได้หลายอย่าง ตั้งแต่ยำตะลิงปลิง แกงตะลิงปลิง เมี่ยงตะลิงปลิง น้ำตะลิงปลิง ไปจนถึงเค้กตะลิงปลิงที่เราได้ชิมในวันนี้

เราสูดหายใจเต็มปอดและกวาดตาสำรวจคาเฟ่เลียบน้ำช้าๆ บริเวณที่เรานั่งอยู่เป็นโซนใหม่ มีอาคารศาลากาแฟ สำหรับสั่งเครื่องดื่มและขนม ศาลาริมน้ำสำหรับนั่งห้อยขาลิ้มรสเอร็ดอร่อยอีก 1 หลัง ทั้งสองอาคารออกแบบโดย ธ.ไก่ชน ดึงลักษณะอาคารริมคลองย่านบางขุนเทียนมาประยุกต์ และใช้ ‘ไม้ไผ่’ เป็นวัสดุหลักอย่างประณีตบรรจง

Natura Cafe สวนกึ่งพิพิธภัณฑ์มีชีวิตของสองแม่ลูกที่อยากให้สวนลิ้นจี่ 100 ปีเป็นปอดสีเขียวแห่งบางขุนเทียน และแหล่งภูมิปัญญาชาวสวนโบราณ

“เหตุผลที่ต้องเป็นไม้ไผ่ เพราะเราตั้งใจจะชูอัตลักษณ์ความเป็นพื้นถิ่นของวิถีชาวสวนแบบบ้านๆ ไม้ไผ่ตอบโจทย์ตรงนี้สองข้อ หนึ่ง ไผ่เป็นพืชค่อนข้างอีโค่ โตเร็ว เป็นไม้เศรษฐกิจ สอง เป็นการเคารพภูมิปัญญาคนสวนโบราณ สวนทุกสวนต้องปลูกไผ่ เพื่อใช้เป็นเครื่องไม้เครื่องมือ กินก็กินได้ เอาไปทำเป็นเฟอร์นิเจอร์อย่างแคร่ก็ทำได้”

ใกล้ๆ ศาลาริมน้ำมีลานกว้างขว้างสบายๆ ล้อมรอบคลุมรากต้นลิ้นจี่พันธุ์สาแหรกทองไว้อย่างพอดิบพอดี และเอื้อต่อการรักษาต้นลิ้นจี่อายุกว่า 40 ปีต้นนี้ไว้

ภูมิใจการ์เด้นเป็นสวนที่ผู้มาเยือนอย่างเรารู้สึกถึงความตั้งใจดีของเจ้าบ้าน ไม่ว่าจะเป็นความตั้งใจอนุรักษ์พื้นที่สีเขียว อนุรักษ์วัฒนธรรมชาวสวน หรือความตั้งใจที่จะแบ่งปันให้คนอื่นได้ชม ขณะเดียวกัน ผู้คนที่หลั่งใหลเข้ามาในสวนอย่างต่อเนื่องระหว่างที่เรานั่งอยู่ ก็ทำให้เราคิดว่าการมาของภูมิใจการ์เด้น คงทำให้ย่านนี้เปลี่ยนไปไม่มากก็น้อย

“จากพื้นที่อโคจร คนไม่กล้าเข้ามา จนเริ่มฟื้นฟูคนก็มองว่าเป็นบ้า ขวางโลก ตอนนี้เราทำให้คนอื่นเห็นแล้วว่าเราทำได้ พอเป็นสถานที่ท่องเที่ยว คนค้าขายทางเรือแถวนี้ก็มีรายได้มากขึ้น สวนรอบข้างก็เริ่มคิดอยากจะทำบ้าง

“สิ่งที่เราทำคือการรักษาภูมิปัญญา ยิ่งคนรอบข้างเห็น ยิ่งเขาอยากลุกขึ้นมาทำ มันยิ่งกว่าภูมิใจ”

Natura Cafe สวนกึ่งพิพิธภัณฑ์มีชีวิตของสองแม่ลูกที่อยากให้สวนลิ้นจี่ 100 ปีเป็นปอดสีเขียวแห่งบางขุนเทียน และแหล่งภูมิปัญญาชาวสวนโบราณ
ภูมิใจการ์เด้น และ Natura Cafe

ที่อยู่ : 9/3 ถนนพระรามที่ 2 ซอย 28 แยก 18 แขวงจอมทอง เขตจอมทอง กรุงเทพฯ 10150 (แผนที่)
เปิดทุกวัน เวลา 10.00 – 18.00 น.
Facebook : ภูมิใจการ์เด้น และ Natura Cafe

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน

Photographer

Avatar

รัชต์ภาคย์ แสงมีสินสกุล

ช่างภาพที่มีร้านล้างฟิล์มเป็นของตัวเอง แต่นานๆจะถ่ายฟิล์มที เพราะช่วงนี้ฟิล์มมันแพง