ก่อนจะโด่งดังอย่างวันนี้ POEM เคยถูกวิจารณ์อย่างหนักจากบรรณาธิการแฟชั่นหลายสำนัก ถึงการนำสายรัดเอวคอดเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของงานออกแบบ

“บ้างก็ว่าล้าหลัง ทรมานผู้หญิง และถึงขั้นบอกว่าแบรนด์เราจะถูกเฟมินิสต์โจมตี แต่สุดท้ายเวลาก็พิสูจน์ทุกอย่างว่าสิ่งที่เราทำนั้น Empower ผู้หญิงในสังคมไทยได้จริง ๆ” 

ฌอน-ชวนล ไคสิริ แห่ง POEM เล่าย้อนเรื่องราวสมัยเริ่มต้นทำแบรนด์ใหม่ ๆ

POEM ไทยดีไซเนอร์กับแผนธุรกิจในจีนที่ปรับวิธีเล่าเรื่อง Empower ให้เข้ากับบริบทและสังคมจีน

จากความตั้งใจแรกที่อยากเอาคอร์เซตเข้ามาใส่กับแฟชั่นไทย วันนี้ฌอนพา POEM ไปไกลกว่านั้นมาก

ถ้า 15 นาทีของแฟชั่นโชว์ 1 โชว์ เล่าเรื่องการทำงานออกแบบของดีไซเนอร์ตลอดหลายเดือนได้

15 นาทีของบทความนี้ จะพาไปดูเรื่องราว 17 ปีของไทยดีไซเนอร์แบรนด์ที่โตมากับเหตุการณ์ทางการเมือง เกิดรัฐประหารตั้งแต่วันแรกที่เปิดกิจการ อดทนกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมจนผ่านพ้น 4 ปีแรกไปได้ ไหนจะต้องเจอบทพิสูจน์ทั้งในงานออกแบบและเรื่องการทำธุรกิจ 

อะไรคือสิ่งสำคัญสำหรับการอยู่ในธุรกิจแฟชั่น การแสดงจุดยืนสำคัญต่อธุรกิจแค่ไหน ความท้าทายในวันนี้คืออะไร ไปจนถึงเรื่องการทำธุรกิจในประเทศจีน

ขออภัยหากดนตรีประกอบบทความนี้มีจังหวะเพลงที่เร้าอารมณ์ไปหน่อย 

ขอเชิญรับชมแฟชั่นโชว์ชุดล่าสุดที่ POEM ทำร่วมกับ The Cloud ได้ ณ บัดนี้

(ไฟเปิด)

DIVERSITY IN FASHION

หากติดตามวงการแฟชั่น คุณจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของเทรนด์ตั้งแต่ปี 2018 ที่แฟชั่นเริ่มไม่มีสิ่งใดเป็นกระแสหลัก ไม่มีสีหลัก ไม่มี Silhouette ใดที่เป็นเทรนด์หลักของฤดูกาล นั่นเพราะทุกคนควบคุมโซเชียลมีเดียได้ ทุกคนเป็นสื่อได้ด้วยตัวเอง มีผู้ติดตามของตัวเอง เขาจึงกระจายข่าวหรือบอกสิ่งที่อยากเล่าเองได้ 

ซึ่งสิ่งที่ตามมาและแรงมาก ๆ ในปี 2022 หลังจากช่วงโควิด-19 คือเรื่องความหลากหลาย และสิ่งที่หลายแบรนด์หรือแม้กระทั่งแบรนด์ใหญ่ ๆ ทำ คือนำเสนอนางแบบที่มีความหลากหลาย นางแบบที่มีผิวด่าง นางแบบ Plus Size นางแบบ Transgender 

ขณะที่ความหลากหลายในแบบ POEM ไปไกลกว่านั้น

“คนทั่วไปมักคิดถึง LGBTQ+ หรือเรื่อง Plus Size มันก็ใช่นะ ถ้าเป็นเรื่องกายภาพ ส่วนตัวเราในฐานะดีไซเนอร์ที่ทำเสื้อผ้าให้ผู้หญิงไทยที่สูงประมาณ 157 – 158 เซนติเมตรตามค่าเฉลี่ย เราว่าเวลาสื่อหรือใครก็ตามพูดเรื่องความหลากหลาย พูดเรื่องไซซ์ แต่ไม่เคยหลุดจากคนตัวสูง หรือไม่เคยแตะเรื่องสัดส่วน

“ในแฟชั่นโชว์ Bangkok International Fashion Week (BIFW) ปี 2022 เราเลือกนางแบบสูง 157 นายแบบสูง 168 มาเดิน เพราะเราต่างรู้ดีว่าในโลกแห่งความเป็นจริง ผู้ชายสูง 175 ถือว่าสูงแล้ว แต่วงการแฟชั่นมักให้ความสำคัญกับนายแบบสูง 190 นางแบบสูง 180 ซึ่งเมื่อคนใส่ตัวสูง ดีไซเนอร์ก็ทำงานง่าย เพราะทำเสื้อผ้าแบบที่ไม่ต้องมีโครงสร้างอะไรเลย ไม่ต้องช่วยคนใส่ นี่คือความมักง่ายของดีไซเนอร์หรือเปล่า อันนี้เป็นเรื่องกายภาพในเรื่องความหลากหลาย เพราะฉะนั้น ถ้าจะพูดเรื่องความหลากหลาย มันไม่ใช่แค่เพศ ไม่ใช่แค่เรื่องสีผิว ชนชาติ กายภาพ คุณต้องให้พื้นที่สื่อกับคนที่ตัวเตี้ยกว่าอย่างผู้หญิงสูง 140 หรือผู้ชายสูง 160 บ้าง ไม่ใช่ว่าไม่ให้พื้นที่เขาเลย”

นอกจากนี้ ความหลากหลายยังกินความถึงเรื่องนามธรรม อย่างการยอมรับและอยู่ร่วมกับคนที่มีมุมมองแนวคิดเกี่ยวกับสังคมและการเมืองที่แตกต่างจากตัวเอง

POEM ไทยดีไซเนอร์กับแผนธุรกิจในจีนที่ปรับวิธีเล่าเรื่อง Empower ให้เข้ากับบริบทและสังคมจีน
POEM ไทยดีไซเนอร์กับแผนธุรกิจในจีนที่ปรับวิธีเล่าเรื่อง Empower ให้เข้ากับบริบทและสังคมจีน

“อันนี้เป็นสิ่งที่ยากและไม่เกี่ยวกับเรื่องเจเนอเรชันด้วย บางคนไม่ยอมรับที่จะอยู่กับคนที่มีแนวความคิดไม่เหมือนกัน ซึ่งตัวเราก็แสดงตัวจุดยืนชัดเจนว่าคิดยังไง เรามีลูกค้าที่หลากหลาย แต่เราก็ยังมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันได้ เพราะเรารู้ว่าแนวความคิดและจุดยืนของเราไม่ใช่เรื่องทั้งหมดของชีวิต การเจอกับคนที่เขาอาจไม่ได้คิดแบบเดียวกับเรา แต่ยังต้องทำงานด้วยกัน กินข้าวด้วยกันได้ นี่คือความหลากหลายของจริง”

และเมื่อทุกคนมีเรื่องเล่าของตัวเอง เพราะฉะนั้น ไม่มีทางบอกได้เลยว่าอะไรเป็นเทรนด์หลักในยุคสมัยนี้ การลุกมาบอกว่าซีซันนี้ต้องเป็นอะไร มีสีหลักคืออะไร กลายเป็นเรื่องที่ล้าหลัง เชยมาก และยิ่งทำให้คนตั้งคำถามว่า คุณไปอยู่ที่ไหนมา

“สิ่งสำคัญสำหรับการอยู่ในโลกแฟชั่นทุกวันนี้คือการเป็นตัวของตัวเอง คุณจะมีดีไซน์ที่ชัดเจนและแตกต่างยังไงก็ได้ หรือคุณจะมีแคมเปญอะไรก็ตาม จงเล่าเรื่องในแบบที่คุณเชื่อและคุณเป็น ที่สำคัญ คุณต้องทำสิ่งนั้นอย่างต่อเนื่อง”

Being Yourself

วงการธุรกิจมักจะบอกให้ผู้ประกอบการเป็นตัวของตัวเอง แต่สำหรับวงการแฟชั่น การเป็นตัวของตัวเองไม่ได้ง่ายขนาดนั้น 

“ถ้าถามว่าจุดยืนทางความคิดและสิ่งที่เราเลือกทำให้เราอยู่ในวงการแฟชั่นไทยยากไหม มันก็อยู่ยาก แต่ไม่ได้ยากขนาดนั้น เพราะในโลกที่สนใจเรื่องความหลากหลายทางความคิด เรารู้ดีว่าต้องวางตัวยังไง ถึงแม้ว่าจะมีราคาที่ต้องจ่าย เช่นเสียลูกค้าบางกลุ่มไป สุดท้ายแล้วเราก็แค่ต้องอยู่ร่วมกันให้ได้แบบให้เกียรติกัน และไม่ได้มีแค่เราที่ต้องจ่ายนะ คนที่คิดตรงข้ามกับเราเขาก็มีราคาที่เขาต้องจ่าย แค่จ่ายกันคนละรูปแบบ”

ฌอนย้ำกับเราตลอดการพูดคุยถึงราคาที่ต้องจ่าย แต่เขาก็ยินดี เพราะอย่างน้อยเขาก็ได้เป็นตัวของตัวเอง และการจะเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์ที่ทำแคมเปญให้กับสังคมได้ กฎข้อแรก คือ ‘ทำในสิ่งที่เชื่อ และยอมรับผลที่ตามมาให้ได้’

POEM ไทยดีไซเนอร์กับแผนธุรกิจในจีนที่ปรับวิธีเล่าเรื่อง Empower ให้เข้ากับบริบทและสังคมจีน

17 ปีที่แล้ว POEM เริ่มต้นขึ้นจากความตั้งใจสานต่อคุณค่างานตัดเย็บของแม่และทีมช่างตัดเสื้อ ด้วยการเปิดร้านขายเสื้อผ้าแบบ Ready to Wear ในสยามสแควร์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 

“แน่นอนว่าความท้าทายไม่ใช่แค่เรื่องการพิสูจน์ว่าดีไซน์ของเราเป็นแบบไหน แต่ในสถานการณ์ทางการเมืองที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจเวลานั้น ความยากคือเราจะขายอะไร ร้านถึงจะไปรอด”

POEM ไม่ได้มีแค่ชุดไปงานหรู เดินพรมแดง แต่ยังมีเสื้อผ้าชุดทำงานออฟฟิศ ซึ่งมีกลุ่มลูกค้าที่เหนียวแน่นมาก 

“ที่คนกลัวแบรนด์เราไม่ใช่เพราะว่าแพง แต่กลัวว่าตัวเองจะสวยไม่พอ ไม่จริงนะ แม้ว่าเราจะมีเสื้อผ้าไซซ์เล็กให้ผู้หญิงสูง 153 ใส่ได้ แต่ก็มีไซซ์ที่รองรับรูปร่างที่หลากหลายมากพอ เพียงแต่ภาพที่สื่อสารในโซเชียลมีเดียทำให้คนมีภาพจำว่าเป็นเสื้อผ้าที่มีแต่นางงามใส่”

POEM ไทยดีไซเนอร์กับแผนธุรกิจในจีนที่ปรับวิธีเล่าเรื่อง Empower ให้เข้ากับบริบทและสังคมจีน

ปี 2022 เป็นปีที่แบรนด์ขยับทำไซซ์มาตรฐานให้ใหญ่ขึ้น 1 ไซซ์ ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดี และต่อให้เพิ่มใหญ่ขึ้นอีก 2 เท่า เราก็เชื่อว่าพร้อมจะมีคนรอ POEM อยู่เสมอ 

ยิ่งคุยกันเราก็ยิ่งพบจุดแข็งที่ทำให้แบรนด์นี้แตกต่าง เป็นที่รัก และยากที่ใครจะลอกเลียนแบบได้ จากสิ่งที่ POEM ทำ แต่คนอื่นไม่ทำ 4 เรื่อง ดังนี้

ฌอนเล่าย้อนกลับไปสมัยเรียนที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาได้รับโอกาสเป็นประธานฝ่ายเครื่องแต่งกายทำชุดให้ละครเวทีของคณะ 4 ปีซ้อน ตั้งแต่เรื่อง Pirates of the Caribbean, ปริศนา, Moulin Rouge และ เจมส์ บอนด์ 007 ไม่รู้ว่าเป็นเพราะความบังเอิญหรือจงใจ ทุกเรื่องมีคอร์เซตเป็นส่วนหนึ่งของชุด ยิ่งจุดประกายเขาถึงเรื่องที่อยากเล่า

“ช่วงที่เริ่มทำร้านเมื่อปี 2006 เรามักจะพบคอร์เซตในชุดของพริตตี้งานมอเตอร์โชว์ หรือภาพจำของ Sex Worker ในต่างประเทศที่ผู้หญิงในชุดหนังสีดำใช้คอร์เซตสังเวยสรีระให้ผู้ชาย แต่ในมุมของเรา คอร์เซตคืองานฝีมือ คือ Craftmanship เราอยากเปลี่ยนภาพจำเดิม ๆ นั้นใหม่ว่า คอร์เซตเป็นไอเทมที่มอบพลังและความมั่นใจให้แก่ผู้หญิงเวลาที่สวมใส่ เราไม่ได้ใส่คอร์เซตไปให้ผู้ชายดู” ฌอนใช้เวลาถึง 4 ปีเต็มสื่อสารเรื่องนี้จนตลาดตกตะกอน

ระหว่างที่ POEM ตั้งเป้าจะทำคอร์เซตที่เปลี่ยนความคิดผู้คน เทรนด์สตรีตแฟชั่นก็มา นักออกแบบทุกคนไปเล่นกับดีไซน์ Oversized กันหมด ไม่มีใครอยากทำโครงสร้างแพตเทิร์นอะไรที่วุ่นวาย แล้วแค่ใช้เซเลบริตี้มาเล่าเรื่อง เขาก็ขายได้ ทำเงินง่าย ขณะที่คอร์เซตต้องใช้ทั้งความประณีตในการตัดเย็บ รวมถึงใช้เวลาไม่น้อยสื่อสารกับช่างฝีมือ

แม้เส้นทางการสร้างแบรนด์ POEM จะเริ่มต้นจากแจ้งเกิดในวงสังคม ขยายฐานลูกค้าไปที่คนดังคนมีชื่อเสียง ก่อนจะเข้าไปนั่งในใจของประชาชนคนทั่วไปซึ่งส่งผลอย่างมากต่อธุรกิจ ฌอนเล่าว่าหลังจากนี้ POEM พยายามจะใช้ดาราคนดังเพื่อการโปรโมตแบรนด์ให้น้อยที่สุด “ซึ่งต่างจากในปี 2016 มาก ตอนนั้นแทบจะเป็นงานประกาศรางวัลอะไรสักอย่าง เพราะรวมนักแสดงดาราทั่วฟ้าเมืองไทย มากกว่าเป็นแค่งานครบรอบ 10 ปีแบรนด์” 

เหตุผลที่พยายามจะทำ Zero Celebrity เพราะฌอนอยากให้คนจดจำตัวตนของแบรนด์และสิ่งแบรนด์อยากสื่อสารมากกว่าจำได้ว่าคนดังคนไหนใส่เสื้อผ้าแบรนด์นี้

แต่ในยุคที่ทุกคนเป็น Content Creator หรือเป็น Influencer ฌอนก็บอกว่าชัดเจนว่าเขาไม่ได้ต่อต้าน และยังทำงานเล่าเรื่องแบรนด์กับ KOL หลายคน เพียงแต่ POEM ไม่ได้เลือกจากตัวเลขผู้ติดตาม แต่ดูจากวิธีการเล่าเรื่องและความเข้าใจตัวตนของแบรนด์ 

เมื่อถามถึงทักษะใหม่ที่นักออกแบบผู้ควบตำแหน่งผู้ประกอบการต้องรู้ ฌอนก็รีบตอบทันทีว่า คือทักษะการเล่าเรื่อง

“เราคิดว่าแฟชั่นดีไซเนอร์ควรมีทักษะการทำประชาสัมพันธ์ ไม่ใช่แค่ทำแคมเปญถ่ายภาพสินค้าลงไป แต่คือการสร้าง Message บางอย่างในงานออกแบบ”

“เราสังเกตว่าบางทีในอินสตาแกรมของเราเอง คนไม่ได้สนใจนะว่าเราจะขายอะไร เราแทบไม่มี Engagement เวลาโพสต์เรื่องชุดใหม่เลย แต่คนสนใจเวลาเราแสดงออกทางการเมือง คนรอฟังอะไรอย่างนี้มาก คนกำลังมองว่าในฐานะที่เราเป็นดีไซเนอร์ เราได้สร้างการเคลื่อนไหวทางสังคมอะไรบ้าง ซึ่งสิ่งที่น่าประหลาดใจก็คือ ต่อให้เขาไม่มองว่าเราจะขายอะไร แต่ถ้าของที่เราทำแคมเปญอะไรบางอย่างมีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคม ยังไงของชิ้นนั้นก็ขายได้ มันเป็นผลพลอยได้จริง ๆ”

POEM ไทยดีไซเนอร์กับแผนธุรกิจในจีนที่ปรับวิธีเล่าเรื่อง Empower ให้เข้ากับบริบทและสังคมจีน

ขณะที่ POEM พูดความหลากหลายกับกลุ่มลูกค้าคนไทย แต่ในแฟชั่นโชว์ชุดล่าสุดที่จีน พวกเขาเลือกที่จะไม่พูดเรื่องนี้

“POEM เปิดประตูสู่ตลาดประเทศจีนด้วยการมีลูกค้าที่เป็นคนดังระดับ A List ซึ่งคุณค่าของเราอยู่ที่ว่ามีเซเลบริตี้คนไหนใส่ เรายังพูดเรื่องสิทธิความเท่าเทียมกันของผู้หญิงที่ประเทศนั้นไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนต่อบริบทสังคมในเวลานั้น แต่เรามั่นใจว่าลูกค้าที่แวะมาหน้าร้านจะสัมผัสถึงสิ่งที่เราอยากสื่อสารเพียงแค่ลองสวมใส่ ลูกค้าส่วนใหญ่ก็พูดเองว่าเขารู้สึกมั่นใจทุกครั้งที่ได้ใส่ชุดของ POEM แค่นี้เราก็รู้สึกว่ามาถูกทางแล้ว ในขณะที่ประเทศไทย พวกเราไม่อ้างอิงคุณค่าของแบรนด์และตัวเรากับเซเลบริตี้ที่ใส่ชุดของเราเหมือนเมื่อ 7 – 8 ปีก่อนอีกต่อไปแล้ว เพราะแบรนด์เรามีเนื้อหาสาระที่คนในสังคมไทยจับตาดูอยู่ ซึ่งเติมเต็มจิตวิญญาณของเราในฐานะที่เป็นดีไซเนอร์ไทยได้จริง ๆ”

สำหรับคนที่กำลังค้นหาตัวเองหรือผู้ประกอบการที่อยู่ในช่วงเริ่มต้น เรามีคำแนะนำดี ๆ จากฌอน ถึงวิธีค้นหาเป้าหมายหรือสิ่งที่สนใจและทำสิ่งนั้นได้ตลอดรอดฝั่ง ขั้นแรก ต้องรู้จักตัวเอง สะสมข้อมูลและใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มี สร้างความเชื่อมั่นในตัวเอง 

ขั้นต่อมา คือทำอย่างไรให้คนอื่นมองเห็นในสิ่งที่คุณเชื่อ 

ขั้นสุดท้าย คือทำให้เขาเชื่อเหมือนเราได้ไหม

“เหมือนที่ POEM พยายามทำคอร์เซตในช่วงแรก พอเริ่มมีคนใส่ เริ่มมีคนเชื่อแบบเรา สุดท้ายเมื่อสิ่งที่ต้องการสื่อสารชัด เราก็แทบไม่ต้องพูดอะไรเลย ผลงานจะพูดแทนเราเอง และอย่าลืมว่าความต่อเนื่องคือสิ่งสำคัญ อย่ากลัวที่จะต้องทำงานเดิมซ้ำ ๆ หรือแม้แต่ใครจะบอกว่าไม่ได้นำเสนอสิ่งใหม่ ไม่ออกจากเซฟโซนของตัวเอง เราก็แค่รับฟัง”

POEM ไทยดีไซเนอร์กับแผนธุรกิจในจีนที่ปรับวิธีเล่าเรื่อง Empower ให้เข้ากับบริบทและสังคมจีน

RAISED IN CHINA

หลังจากเข้าร่วมเป็นหนึ่งในแบรนด์ไทยที่ได้ไปจัดแฟชั่นโชว์ที่ประเทศจีนในปี 2018 นั้น 1 ปีต่อมา POEM ก็ได้รับเลือกจากรัฐบาลให้ไปจัดแฟชั่นโชว์อีกครั้งที่ Xi’an International Fashion Week 2019 ซึ่งถือเป็นงานที่ทำให้แบรนด์แจ้งเกิดในจีนแบบจริงจัง จากนั้นไม่นานก็มี Press Room อยู่ที่ปักกิ่ง คอยดูแลการประชาสัมพันธ์ให้สไตลิสต์ที่นั่นรู้จักและเลือกใช้ และจากการเตรียมตัวที่หนักมาก ในที่สุดแบรนด์ไทยแบรนด์นี้ก็ได้รับข้อเสนอให้ไปเปิด ร้าน Pop-up ที่ Plaza 66 ห้างสรรพสินค้าหรูที่เทียบเท่าไอคอนสยามแห่งเซี่ยงไฮ้

“หลังจบแฟชั่นโชว์ที่ซีอาน เรารู้แน่ ๆ ว่าจะได้เปิดตลาดที่จีน เพียงแต่สถานการณ์โรคระบาดเป็นตัวเร่งให้เราได้ไปจีนเร็วขึ้น เราจึงทำ Cash Flow เตรียมไว้เลย นอกจากกระแสเงินสด เราก็วางแผน Inventory, Production ซึ่งถ้าสินค้าเพียงพอ เงินก็จะเข้ามา เป็นหลักการง่าย ๆ ของธุรกิจ ส่วนฝั่ง PR จริง ๆ ก็มีดาราจีนชื่อดังมากมายใส่ชุดเรา เพียงแต่นำรูปมาโพสต์ต่อไม่ได้ ซึ่งชุดส่วนใหญ่ของเรา ถึงไม่แท็กก็พอจะดูรู้”

หลังจากเปิดร้านได้เพียง 2 วัน ตี๋ลี่เร่อปา ซูเปอร์สตาร์แถวหน้าของจีนก็มาช้อปปิ้งที่ร้าน และใส่ถ่ายรูปที่หน้าหอไข่มุกจนมีคนแชร์รูปไปทั่ว ซึ่งแม้จะไม่ได้มีการกล่าวถึงชื่อแบรนด์ แต่ทุกคนก็รู้ได้ในทันที

“เหตุการณ์นั้นเป็นตัวเปลี่ยนเกมเลย เราได้รับข้อความจากสไตลิสต์ทุกคนที่ทั้งขอซื้อและขอยืมไปใส่”

จากกระแสที่มีคนดังเลือกใช้ POEM แบรนด์ก็กลายเป็นที่จับตาของห้างสรรพสินค้า “ตอนนั้นเนื้อหอมมาก เราตัดสินใจย้ายร้านไปที่ห้างเปิดใหม่เพราะเขาให้สัญญาระยะยาว 3 ปี และตำแหน่งร้านอยู่ตรงทางเข้าห้าง อยู่ติดกับ Dolce & Gabbana ในมุมหนึ่งเรารู้สึกดีที่เขาเห็นศักยภาพ ในขณะที่ถ้าเป็นประเทศไทย ไม่มีทางเลยที่ไทยดีไซเนอร์จะได้ลงมาอยู่ชั้นเดียวแบรนด์ระดับโลก”

นอกจากความรู้สึกภูมิใจตามไปด้วยแล้ว เรายังได้ความรู้ใหม่จากการที่ POEM ไปบุกตลาดจีน 2 – 3 เรื่อง 

เรื่องแรก คือเรื่องสินค้าเลียนแบบ หากคุณกำลังนึกเป็นห่วงว่า POEM กำลังไปให้เจ้าพ่อแห่งวงการทำซ้ำเลียนแบบสินค้าถึงที่ เรื่องกลับกลายเป็นว่าเหล่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์ชาวจีนพากันทำคอนเทนต์จับเท็จ เปรียบเทียบของจริงของปลอมให้ดูกันอย่างละเอียด กลายเป็นว่าส่งเสริมภาพลักษณ์เรื่องคุณภาพการตัดเย็บที่คุ้มค่าคุ้มราคาจนขายดีขึ้นไปอีก

เรื่องที่ 2 บรรยากาศหน้าร้านในจีน หากคุณกำลังนึกถึงนักท่องเที่ยวจีนยามแวะมาอุดหนุนร้านค้าในไทย แล้วเผลอคิดว่า POEM สาขาจีนอาจโดนบุกบ้างเหมือนกัน เรื่องกลับกลายเป็นว่าลูกค้าที่มาหน้าร้านเป็น Modern Chinese Women มาก ๆ มีบุคลิกอินเตอร์และหรูหราสุด ๆ สมเป็นพลเมืองโลกยุคใหม่

เรื่องที่ 3 คือการนำเสนอ Message หลักของแบรนด์ที่ต้องทำอย่างแยบยล “เราต้องรู้ว่าสังคมและวัฒนธรรมเขารับได้เรื่องอะไรและรับไม่ได้เรื่องอะไร มีเสื้อผ้าหลายทรงหลายแบบที่ไม่ได้ส่งไปขายที่นั่น หรือไม่ได้มีการทำแคมเปญเชิดชูความเท่าเทียมใด ๆ เพราะอาจดูเปิดเผยเกินไปสำหรับผู้หญิงจีนที่ยังอยู่ในสังคมแบบนั้น ครั้งหนึ่งเราส่งชุดให้ กงลี่ ใส่เพราะเขาขอมา แต่สุดท้ายก็โดนเซนเซอร์เพราะโป๊เกินไป เราก็ต้องระวัง เพราะบริบทวัฒนธรรมไม่เหมือนกัน” 

ใครจะคิดว่าชุด POEM ที่เรียบร้อยสุด ๆ ในบ้านเราจะถูกมองว่าโป๊เกินไป

Fashion Changes, but Style Endures

หลังจากฟังเรื่องราวทั้งช่วงก่อตั้งและการเติบโตในตลาดจีนแผ่นดินใหญ่ ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า จนถึงเวลานี้ อะไรคือสิ่งที่ท้าทายที่สุดในการทำธุรกิจแฟชั่นของ POEM

“ปัญหาใหญ่ที่สุดของวงการแฟชั่นในทุกวันนี้ก็คือ สื่อแฟชั่นที่ไม่ได้ทำหน้าที่สะท้อนหรือส่องแสง ให้พื้นที่หรือสนับสนุนกลุ่มคนใหม่ ๆ ที่ทำงานในวงการนี้สักเท่าไหร่ ซึ่งในอดีต Culture ของแฟชั่นไทยจริง ๆ อยู่ที่สื่อ แต่เรากลับไม่ไปไหนไกลเลย เพราะสื่อแฟชั่นที่มีน้อยเกินไป จนเรียกได้ว่าผูกขาดอยู่ที่บางกลุ่ม”

เมื่อถามถึงเรื่องที่ภูมิใจตลอด 17 ปี คำตอบของฌอนไม่ใช่เรื่องความสำเร็จด้านตัวเงิน อีเวนต์แฟชั่นโชว์ต่างประเทศ หรือการเปิดหน้าร้านในห้างสรรพสินค้าใหญ่แบบที่เกินคาดฝัน แต่กลับเป็นเรื่องห้องทำงานใหม่ที่ตึกอัมรินทร์พลาซ่า

“สำหรับเรา ความภูมิใจที่สุดคือการได้ทำงานอยู่ห้องเดียวกันกับแม่ ซึ่งก่อนหน้านี้ทีมช่างจะทำงานที่ห้องเสื้อของแม่ที่สุรวงศ์ ส่วนออฟฟิศจะอยู่อีกที่ แต่ตอนนี้ทุกคน ไม่ว่าจะฝ่ายขาย ฝ่ายการตลาด ทีมออกแบบ ทีมช่างเสื้อมาทำงานอยู่ในที่เดียวกันในออฟฟิศที่ตึกอัมรินทร์พลาซ่า และยังมีหน้าร้านอยู่ที่ห้างเกษร ซึ่งไม่ง่ายเลย ทั้งหมดนี้เกิดจากการทำงานหนักของทุกคน นี่เป็นความภูมิใจที่ยังไม่เคยบอกใคร เรายังจำวันแรกที่ไปวางมัดจำเพื่อทำร้านที่สยามสแควร์ได้ดี เพราะเป็นวันเดียวกับที่เกิดรัฐประหาร (19 กันยายน พ.ศ. 2549) เราให้ผู้รับเหมามาทำร้านแบบง่าย ๆ ก่อนจะเปิดวันแรกวันที่ 12 ตุลาคม

“ในฐานะที่เป็นดีไซเนอร์ เราจะบอกตัวเองอยู่ตลอดเรื่อย ๆ ว่าอย่าให้จิตวิญญาณหายไปกับโลกแห่งทุนนิยม ถ้าวันหนึ่งที่เราโตขึ้นแล้วเม็ดเงินมากขึ้น สิ่งที่เราไม่อยากสูญเสียคือจิตวิญญาณการเป็นดีไซเนอร์ของเรา” ฌอนทิ้งท้าย

Lessons Learned

  • บางทีโซเชียลมีเดียก็ป้อนข้อมูลมากมายเกินไป จนเราใช้ข้อมูลเหล่านั้นไม่เป็น และหลายคนอาจไหลตามสิ่งที่โซเชียลมีเดียพาไปจนไม่เป็นตัวของตัวเอง
  • อุตสาหกรรมแฟชั่นสร้างมลภาวะเป็นอันดับต้น ๆ ให้โลก ถ้าสิ่งที่กำลังทำในธุรกิจนี้ไม่ได้สร้างรายได้ที่สมเหตุสมผล หรือไม่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ให้สังคม ก็จงออกจากอุตสาหกรรมนี้ไป อย่าสร้างภาระให้แก่โลกอีกเลย
  • บทเรียนข้อสุดท้ายอาจส่วนตัวไปบ้าง แต่อยากให้ทุกคนตั้งคำถามนี้กับตัวเองบ่อย ๆ ว่าสิ่งที่ทำหรือธุรกิจนี้เติมเต็มคุณอย่างไร ซึ่งสิ่งที่เติมเต็มเรา คือความสุขที่ได้ทำงานกับแม่ทุกวัน

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล