นาโอกิ อุราซาว่า เป็นชื่อเสียงเรียงนามที่ได้ยินมานานมาก ๆ เลยครับ พูดถึงนักเขียนมังงะที่หลายคนยกให้เป็นตำนานแห่งวงการคนนี้แล้วจะนึกถึงผลงานขึ้นชื่ออย่าง 20th Century Boys, Billy Bat, Monster ซึ่งเรื่องหนึ่งที่ได้ยินมาตลอดแต่ไม่เคยอ่านสักทีคือเรื่องนี้ ว่ากันว่ายอดเยี่ยม และสิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น จนกระทั่งเวลาล่วงเลยไป จากวันที่มังงะตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2003 อีก 20 ปีต่อมา (2023) PLUTO ได้กลายเป็นอนิเมะฉายทาง Netflix 

เปิดไปแค่อีพีแรกอีพีเดียวเท่านั้นก็เข้าใจได้ไม่ยากเลยว่า ทำไม PLUTO ถึงควรค่าแก่การหยิบมาสร้างเป็นอนิเมะ ทั้งที่มังงะต้นฉบับก็นานมากแล้ว และไม่ต้องพูดถึงเจ้าหนูอะตอม Astro Boy หรือต้นฉบับของมังงะเรื่องนี้ที่มีมาตั้งแต่ปี 1952 

PLUTO ไม่เพียงยอดเยี่ยมด้วยตัวมันเองในฐานะอนิเมะไซไฟ และมีสถานะเป็นวัตถุเหนือกาลเวลา ด้วยจินตนาการล้ำเลิศกับประเด็นที่ต้องการนำเสนอ แต่เมื่อมองในภาพรวม โดยเราพิจารณาผลงานภาพยนตร์หรือซีรีส์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับหุ่นยนต์ อนิเมะเรื่องนี้ (ด้วยตัวมันเองและการไปรวมกับเรื่องอื่น ๆ) ยิ่งทำให้ Genre ‘หุ่นยนต์มีชีวิต’ น่าสนใจขึ้นเป็นเท่าตัว และยังถือเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่จะทำให้คลาสเรียน ‘หุ่นยนต์ 101’ กลายเป็นคลาสที่สมบูรณ์แบบ

จาก Astro Boy : The Greatest Robot on Earth สู่ PLUTO อนิเมะอนิไซไฟบน Netflix ที่ใช้ ‘หุ่นยนต์’ ตั้งคำถามถึงความเป็นมนุษย์

ก่อนจะเริ่มพูดถึงประเด็นและการนำเสนอของ PLUTO และกล่าวชื่นชม นาโอกิ อุราซาว่า ไม่เว้นพารากราฟ ต้องขอย้อนไปแสดงความเคารพนับถือและกราบไหว้บิดาของเจ้าหนูอะตอมอย่าง อาจารย์เทซูกะ โอซามุ ที่ล้ำมาตั้งแต่หลายสิบปี หรือราว ๆ 1 ชั่วอายุคนที่แล้วครับ จนต่อยอดมาเป็นผลงานที่ยอดเยี่ยมอีกแบบอย่าง PLUTO 

เอกลักษณ์ชัดเจนอย่างดวงตากลมโต รองเท้าสีแดง ทรงผมแหลม ๆ และหุ่นยนต์มีความเป็นมนุษย์ คือสิ่งที่ทำให้เราจดจำเจ้าหนูปรมาณูหรือเจ้าหนูอะตอมได้ แต่มังงะและอนิเมะเรื่องนี้เป็นมากกว่านั้นสำหรับชาวญี่ปุ่นและชาวโลก 

ลองนึกภาพว่าปี 1952 หรือช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการทิ้งระเบิดที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ ญี่ปุ่นถูกมองเป็นตัวร้าย สภาพจิตใจของผู้คนที่ต้องฟื้นฟูหลังจากสงครามจบลงในปี 1945 โดยยากที่จะคิดถึงเรื่องอื่นกับเรื่องความบันเทิง และไหนจะวิทยาการสมัยนั้นที่ยังไม่ก้าวหน้า ขนาดทำให้คนจินตนาการไปได้ไกลกว่าสิ่งที่ตัวเองเห็นตรงหน้าสักเท่าไหร่ เทซูกะ โอซามุ คือหนึ่งในคนที่ทำให้ทั้งโลกรู้จักและมองญี่ปุ่นใหม่ในฐานะประเทศทรงอิทธิพลด้านป๊อปคัลเจอร์ 

หรือถ้าให้พูดสั้น ๆ (ที่ฟังดูแล้วอาจจะเกร่อไปหน่อย และได้ยินบ่อยเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงนี้) คือ Astro Boy เป็น ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ที่มีมาช้านาน เป็นตัวตั้งตัวตีที่กระตุ้นอุตสาหกรรมมังงะหรืออนิเมะญี่ปุ่น และทำให้เกิดเป็นผลงานมากมายหลังจากนั้น รวมไปถึงเนื้อหาที่ออกแบบให้เจ้าหนูอะตอมเป็นทูตสัมพันธไมตรีระหว่างชาวโลกกับเอเลียนต่างดาว ก็ชวนให้มองเห็นภาพที่ญี่ปุ่นส่งเจ้าหนูหุ่นยนต์ตาโตไปจับมือทั้งอดีตอริและนานาประเทศทั่วโลกอยู่เหมือนกัน

แม้จะยังไม่เคยมีโอกาสอ่านหรือดู Astro Boy (มากสุดแค่ได้ยินชื่อและมองเห็นผ่าน ๆ) แต่จากการไปหาอ่านหาดูพอสังเขปหลังดู PLUTO จบ ต้องบอกว่าความ Timeless ในการนำเสนอประเด็น ‘หุ่นยนต์เป็นมนุษย์’ นอกจากจะน่าสนใจเสมอ Astro Boy ยังเป็นผลงานที่ถ่ายทอดเรื่องนี้อย่างลึกซึ้ง แต่เข้าใจง่าย สไตล์เด็กดูได้ ผู้ใหญ่ดูดี 

จนกระทั่งมาถึงยุคต่อไป ผู้คนพึงพอใจกับความบันเทิงในเบื้องต้นและต้องการสิ่งที่ซับซ้อนขึ้น ก็มีผู้แต่งอีกคนนำเจ้าหนูอะตอมมาต่อชีวิต ด้วยการรีเมก รีบูต รีโมเดล หรือรีอะไรก็ตามที่นึกออกใหม่ โดยเป้าหมายไม่ใช่เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น แต่กลายเป็นซีเรียส จริงจัง ผู้ใหญ่ และซับซ้อนขึ้น ทั้งที่หัวใจ ตัวละคร และประเด็นของมังงะเจ้าหนูอะตอมยังครบถ้วนไม่ได้ไปไหน รวมถึงนาโอกิยังได้ทำการ ‘Humanize’ ต้นฉบับอย่าง Astro Boy เพิ่มความเป็นมนุษย์เข้าไป ทั้งรูปลักษณ์ หน้าตา ประเด็นนำเสนอ โดยที่คุณค่าจากการอ่านหรือดูก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

จาก Astro Boy : The Greatest Robot on Earth สู่ PLUTO อนิเมะอนิไซไฟบน Netflix ที่ใช้ ‘หุ่นยนต์’ ตั้งคำถามถึงความเป็นมนุษย์

ขอสารภาพผิดว่าตัวเองเป็นหนึ่งในคนที่อ่านผลงานของอาจารย์นาโอกิไม่เคยจบเลยครับ PLUTO ดูเป็นความสำเร็จแรกที่ทำให้ผมสนอกสนใจจนอยากไปตามเก็บเรื่องอื่น ๆ หลังจากประทับใจกับอนิเมะเรื่องนี้เข้าอย่างจัง แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าพูดถึง 3 เรื่องที่โด่งดังที่สุด อย่าง Monster กับ 20th Century Boys ที่อ่านไปเมื่อสมัยเด็กและยอมแพ้ไปราว ๆ กลางเรื่องแล้ว ก็ยังพอจำได้ว่านาโอกิ อุราซาว่า เป็นคนแต่งที่ถนัดทำให้ทุกอย่างดูสมจริง และค่อนข้างจะไม่เกรงใจคนอ่าน (ถ้าเป็นหนัง ก็คงเป็นหนังอินดี้แบบที่ไม่เกี่ยวกับทุนสร้าง แต่เกี่ยวกับจิตวิญญาณและความสนใจส่วนตัว) ไม่ว่าจะบทพูดที่ยาวเหยียดกับความ Slow Burn ที่ทำให้หลายคน (รวมถึงตัวผมเอง) เลิกอ่านไปซะก่อน

แต่สิ่งที่พูดไปและอาจดูเหมือนเป็นข้อเสีย คือสิ่งที่ยอดเยี่ยมของผลงานอาจารย์นาโอกิ เพราะด้วยความค่อยเป็นค่อยไป ลายเส้นที่มักวาดให้ตัวละครเป็นคนจริง ๆ รายละเอียดเรื่องราว ฉาก บทสนทนา และเนื้อหา นาโอกิ อุราซาว่า ไม่ใช่แค่สร้างโลกในมังงะ แต่ใช้มังงะสะท้อนโลกความจริงได้อย่างเฉียบคมและแยบคาย

กรณี PLUTO ถ้าเรามองผลงานเรื่องนี้เป็นวิชา จะประกอบไปด้วยคลาสที่หลากหลาย ทั้งจริยศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สงครามการเมือง มานุษยวิทยา จิตวิทยา ปรัชญา และวิทยาศาสตร์หุ่นยนต์ นอกจากเนื้อหาที่เป็นแรงบันดาลใจแล้ว สิ่งที่อาจารย์นาโอกิทำได้เหมือนที่อาจารย์เทซูกะ โอซามุ ทำ คือเป็นผู้ประพันธ์ที่ ‘มาก่อนกาล’ เพราะถึงแม้คนจะต้องการอะไรมากกว่าแอคชัน ในสมัยปี 2003 (หรือแม้จะเป็นต้นปี 2010 ก็ตาม) ยังเป็นยุคที่หลายคนยังเคยมองข้าม Watchmen และ The Dark Knight หรือไม่ได้มองว่า The Matrix เป็นอะไร (อภิปรัชญา) มากไปกว่าหนังแอคชันสุดมัน

PLUTO อนิเมะโดย Naoki Urasawa ที่ใช้ ‘หุ่นยนต์’ ตั้งคำถามถึงความเป็นมนุษย์ได้อย่างลึกล้ำ

PLUTO มี 8 อีพี ดัดแปลงจากตอนเลื่องชื่อของ Astro Boy ที่ชื่อ The Greatest Robot on Earth ว่าด้วยเรื่องราวของโลกอนาคตอันไกลโพ้นที่ทุกอย่างล้ำหน้าจนมนุษย์กับหุ่นยนต์อยู่ร่วมกันเป็นปกติ ในโลกของอนิเมะเรื่องนี้มีหุ่นยนต์เก่งที่สุดในโลก 7 ตัว สร้างขึ้นมาแบบ 1 : 1 หรือผู้สร้าง 1 คน กับหุ่นยนต์ 1 ตัว หนึ่งในนั้นคือ นักสืบเกซิกต์ (Gesicth) ที่ไขคดีปริศนาหลังจากหุ่นยนต์เก่งที่สุดในโลกที่ว่าทยอยถูกเก็บไปทีละตัว โดยวายร้ายลึกลับที่ชื่อ ‘พลูโต’ 

Setting ในโลกของ PLUTO หุ่นยนต์มีกฎที่สอดคล้องกับกฎข้อแรกของ ไอแซค อาซิมอฟ (Isaac Asimov) นั่นคือ หุ่นยนต์ห้ามทำร้ายมนุษย์ ซึ่งข้อนี้มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการถ่ายทอดความเป็นมนุษย์ของหุ่นยนต์ในสตอรี่ และหากสังเกตดี ๆ แทนที่จะชื่อ Atom หรืออะไรทำนองนั้น อาจารย์นาโอกิกลับใช้ชื่อ ‘PLUTO’ เป็นชื่อของมังงะต้นฉบับ หรือเลือกเล่าผ่านการสืบหาวายร้าย โดยมีวายร้ายอยู่ที่แกนกลางเรื่องแทน อีกทั้งเจ้าหนูอะตอมเป็นตัวละครสำคัญก็จริง แต่เรื่องราวกลับเฉลี่ยเล่าผ่านหุ่นยนต์ 7 ตัว โดยเฉพาะตัวหลักอย่างเกซิกต์ กับการปรากฏตัวและชื่อของพลูโตที่มีแอร์ไทม์มากกว่าเพื่อน จนเกือบลืมไปว่านี่คือเรื่องเดียวกับ Astro Boy  (ถึงอย่างนั้นตัวเอกเก่าอย่างอะตอมและ ดร.เท็นมะ ก็ยังเป็นส่วนสำคัญของเรื่องราวนี้อย่างมาก)

จาก Astro Boy : The Greatest Robot on Earth สู่ PLUTO อนิเมะอนิไซไฟบน Netflix ที่ใช้ ‘หุ่นยนต์’ ตั้งคำถามถึงความเป็นมนุษย์

ยังไม่หมดเพียงแค่นี้ อนิเมะ PLUTO ยังอินดี้ถึงขนาดเปิดมาด้วยเกซิกต์ แล้วราว ๆ ครึ่งหลังของอีพีแรกกลับเปลี่ยนไปเล่าเรื่องอดีตหุ่นยนต์รบชื่อ นอร์ธ หมายเลข 2 (North #2) ที่มารับใช้และพยายามแต่งเพลงให้ ดันแคน (Duncan) ชายแก่ตาบอดขี้ยัวะ ซึ่งเริ่มจากความเกลียดหุ่นยนต์ และแม้จะเหมือนไม่ได้เกี่ยวกับเนื้อเรื่องหลักขนาดต้องมาลงดีเทลเยอะขนาดนี้ (แถมยังโผล่มาแค่ช่วงนี้แล้วไม่ปรากฏตัวอีกเลย) แต่สุดท้ายแล้วอีพีแรกกับเรื่องราวของทั้งสองคือบทสรุปที่ทั้งซึ้งกินใจชวนน้ำตาไหล และเป็นตัวเซตโทนที่ดีว่าต่อจากนี้เรากำลังจะได้ดูอะไร 

นั่นก็คือ ‘หุ่นยนต์ ความสัมพันธ์ และความรู้สึก’ ที่เล่าเรื่องของ ‘เทียม’ แต่มีแก่นแท้ที่ ‘จริง’ เพราะไม่ใช่แค่ดันแคนที่รู้สึกกับนอร์ธ หมายเลข 2 คนดู-คนอ่านเองก็รู้สึกไม่ต่างกัน ทั้งกับตัวละครและมังงะหรืออนิเมะที่แต่ง สร้าง หรือประดิษฐ์ขึ้นเรื่องนี้ นั่นหมายความว่าอนิเมะเรื่องนี้ ‘จริง’ มากพอ เมื่อดูจากการที่มันทำงานกับความรู้สึกมนุษย์ผู้อ่านได้เช่นนี้

จาก Astro Boy : The Greatest Robot on Earth สู่ PLUTO อนิเมะอนิไซไฟบน Netflix ที่ใช้ ‘หุ่นยนต์’ ตั้งคำถามถึงความเป็นมนุษย์

ความเจ๋งของ PLUTO หรือจริง ๆ ต้องใช้คำว่า ผลงานส่วนใหญ่ของอาจารย์นาโอกิ คือมีความอินเตอร์ นอกจากนี้ เรื่องนี้ยังดัดแปลงเป็นอนิเมะอย่างถูกที่ถูกเวลา นอกจากจะเลขสวยด้วยการฉายทั่วโลกใน 20 ปีต่อมาแล้ว PLUTO ยังเป็นอนิเมะที่ฉายในยุคที่ AI กับหุ่นยนต์และเทคโนโลยีเป็นหัวข้อข่าว-หัวข้อสนทนารายวัน ซึ่งความน่าสนใจอยู่ตรงที่เรื่องนี้ไม่ได้พูดถึงหุ่นยนต์ครองโลก หรือหุ่นยนต์กับมนุษย์อยู่ร่วมกันไม่ได้ เรื่องนี้ข้ามพ้นตรงนั้นไปนานแล้ว ถึงขนาดที่หุ่นยนต์แต่งงานหรือแม้แต่รับเลี้ยงลูกได้ ในขณะที่ด้านรูปลักษณ์ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นแอนดรอยด์หน้าตาเหมือนมนุษย์จนแยกไม่ออกซะทีเดียว เพราะหุ่นยนต์คล้ายมนุษย์ก็แต่งงานกับคู่รักที่หน้าตาคล้ายตู้เย็นหรือหุ่นยนต์ดูดฝุ่นได้เช่นกัน

นอกจากนี้ จิตวิญญาณที่ PLUTO ยังได้รับมาจาก Astro Boy ถูก ‘ยอดเยี่ยมmized’ ด้วยการดัดแปลงเป็นอนิเมะ เพราะนอกจากเป็นหนึ่งในอนิเมะงานดีที่ประณีตและถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกตอนอ่านมังงะอย่างครบถ้วนแบบ 1 : 1 (มังงะ 1 เล่ม ต่ออนิเมะ 1 อีพี) การเป็นสื่อที่ใช้ภาพเคลื่อนไหวกับเสียงทำให้ PLUTO ฉบับอนิเมะถูกอัปเกรดประสบการณ์ให้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นฉากแอคชันที่สนุก ไปจนถึงฉากหุ่นยนต์นอร์ธ หมายเลข 2 เล่นเปียโน ซึ่ง​เป็นสิ่งที่มังงะให้เราไม่ได้ นอกจากเห็นตัวโน้ต สร้างความตราตรึงให้กับเรา 

PLUTO อนิเมะโดย Naoki Urasawa ที่ใช้ ‘หุ่นยนต์’ ตั้งคำถามถึงความเป็นมนุษย์ได้อย่างลึกล้ำ
PLUTO อนิเมะโดย Naoki Urasawa ที่ใช้ ‘หุ่นยนต์’ ตั้งคำถามถึงความเป็นมนุษย์ได้อย่างลึกล้ำ

และในวันนี้ที่มีหนัง ซีรีส์ อนิเมะไซไฟจำนวนมากแล้ว นอกจากตัวเองยังสดใหม่ ผลงานเหล่านั้นยิ่งทำให้เรามอง PLUTO ว่าเป็นผลงานที่ยอดเยี่ยม หายาก และมาสเตอร์พีซมากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะอย่างที่ได้พูดไปตอนต้นว่า หากเรานำมาพูดรวมกับเรื่องอื่น วิชาหุ่นยนต์ 101 ที่ว่านี้จะเป็นคลาสที่น่าสนใจยิ่งขึ้น ซึ่งเรื่องอื่นที่ว่าคือ Westworld กับ Prometheus + ภาคต่ออย่าง Alien: Covenant ที่มีตัวละครอย่าง โดโลเรส (Dolores) กับ เดวิด (David) ตามลำดับ 

Westworld ของ HBO ว่าด้วยการเดินทางเข้าสู่ ‘The Maze’ หรือเขาวงกตที่มีแต่หุ่นยนต์ที่เรียกว่า ‘โฮสต์ (Host)’ เท่านั้นที่จะเดินทางเข้าไปได้ นั่นก็คือเขาวงกตของ Consciousness (จิตใต้สำนึก) ที่หุ่นยนต์ในธีมพาร์กคาวบอยชื่อ Westworld ต้องเป็นผู้เดินทางเข้าไปเอง และตระหนักให้ได้ว่าเสียงหรือสิ่งที่สั่งการตัวเองอยู่ไม่ใช่โค้ดหรือผู้สร้างอย่างมนุษย์คนใด หากแต่เป็นเสียงของตัวเอง และเมื่อนั้นหุ่นยนต์จะได้รับสถานะ ‘Sentience’ หรือตระหนักได้ถึงความต้องการ อารมณ์ และความรู้สึกนึกคิดของตัวเองอย่างสมบูรณ์แบบ ก่อนที่จะนำไปสู่การนองเลือดในซีซันแรก (แหกกฎข้อแรกของไอแซค อาซิมอฟ ได้หลังจากปลดปล่อยตัวเอง) 

และสิ่งที่ไกลกว่านั้นอย่างการที่มนุษย์ต้องการสำเนาจิตใจ เพื่อใช้ชีวิตเป็นอมตะอยู่ในร่างโฮสต์ สิ่งที่ Westworld บอกเราผ่านความซับซ้อนและฉลาดแยบยลของการนำเสนอเรื่องราวตัดไปตัดมา (และเล่าคู่ขนานกันไปอย่างเนียน ๆ) คือการตระหนักรู้ถึงตัวตน และการที่หุ่นยนต์ไม่จำเป็นต้องเป็น ‘เหมือนมนุษย์’ แต่เป็นสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่ที่เหนือกว่า และเดินทางจากสิ่งมีชีวิตไร้ Free Will ไปสู่สิ่งมีชีวิตที่มี Free Will เหนือผู้สร้างที่เจ็บได้ ตายเป็น

ในขณะที่อีกเรื่องเรียกว่าอยู่กึ่งกลางระหว่าง Westworld กับ PLUTO นั่นก็คือการที่หุ่นยนต์แอนดรอยด์อย่างเดวิดคอยตั้งคำถามเชิงอภิปรัชญาว่าอะไรที่สร้างเขา และถ้ามนุษย์สร้างเขา ใครสร้างมนุษย์ เท่านั้นยังไม่พอ ถ้า Engineer สร้างมนุษย์ที่สร้างเดวิด แล้วใครสร้าง Engineer

Prometheus ถือเป็นหนังที่ตั้งคำถามเชิงนี้ได้อย่างน่าสนใจถึงวัตถุประสงค์ในการสร้างสิ่งมีชีวิตและการมีชีวิต โดยมีตัวการคือสิ่งสังเคราะห์ไม่มีชีวิตอย่างหุ่นยนต์ ข้อแตกต่างระหว่างเรื่องนี้กับเรื่องบนคือไม่มีกฎไอแซค อาซิมอฟ ในเรื่องนี้ ทำให้เดวิดมีอิสระในการตั้งคำถามจนเกิดเรื่องราวใหญ่โต 

และเมื่อมาถึงภาคต่ออย่าง Alien: Covenant เดวิดก็ได้เป็นพระเจ้าในห้องทดลองขนาดใหญ่ที่เรียกว่าจักรวาล ด้วยการสร้างสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่ขึ้นมาอีกทอด นั่นก็คือต้นแบบของ ‘ซีโนมอร์ฟ (Xenomorph)’ หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า ‘เอเลียน (Alien)’ สิ่งที่หนัง 2 เรื่องเดียวกันนี้บอกเราคือเรื่องของสายพานวิวัฒนาการครับ สิ่งที่ถูกสร้างไม่ว่า Bio หรือ Mechanic ก็เป็นจริงได้ ถ้าทำให้เกิดแรงกระเทือนทางสถานการณ์ อารมณ์ และกายภาพของมนุษย์ หรือสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนในสายพาน เป็นผู้ล่าหรือผู้ถูกล่าก็ตาม 

จาก Astro Boy : The Greatest Robot on Earth สู่ PLUTO อนิเมะอนิไซไฟบน Netflix ที่ใช้ ‘หุ่นยนต์’ ตั้งคำถามถึงความเป็นมนุษย์

เมื่อวกกลับมาที่ PLUTO อนิเมะเรื่องนี้พูดถึง ‘อารมณ์ความรู้สึก’ แบบเน้น ๆ ครับ แม้ว่าหากจัดหมวดแล้ว PLUTO ยังเป็นอนิเมะที่อยู่ในแผนก ‘หุ่นยนต์เป็นมนุษย์’ ที่อาจดูเก่า ดูเอาต์แล้ว แต่ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่อง แนวสืบสวนสอบสวนดราม่าหนัก ๆ ตัวละครที่มีมิติและเอกลักษณ์ชัด รวมถึงองค์ประกอบอื่น ๆ โดยเฉพาะการนำเสนอประเด็นนี้ ทำให้เรื่องนี้ยังคงสดใหม่ แม้กระทั่งหยิบมังงะมาอ่านหรือเปิดอนิเมะมาดูในอีกกี่ปีข้างหน้าก็ตาม 

ในอนิเมะ PLUTO นอกจากที่ได้กล่าวไปก่อนหน้า ยังมีทั้งหุ่นยนต์อย่าง อูรัน (Uran) เป็นทั้งน้องสาวของอะตอม สัมผัสถึงความรู้สึกด้านลบของสิ่งมีชีวิตได้ เอปซิลอน (Epsilon) มีพลังมหาศาลและเป็นตัวแทนของแสงสว่าง รับเด็กมนุษย์มาเลี้ยง Brau-1589 หุ่นยนต์ที่แหกกฎข้อสำคัญและฆ่าคนโดยเจตนา รวมถึงเกซิกต์ ตัวเอกของเรื่องที่มีความทรงจำปลอม ถูกบิดเบือน และทำหน้าที่ตั้งคำถามกับความรู้สึก กับการทำอะไรได้หรือไม่ได้ หุ่นยนต์ที่ทำเพื่อธรรมชาติ หุ่นยนต์ที่มีครอบครัว และอีกมากมาย รวมถึงการขยี้ประเด็น อนิเมะเรื่องนี้ยังใส่ประเด็นอารมณ์ความรู้สึกผ่านการฟื้นคืนชีพหุ่นยนต์ ด้วยการกำหนดให้การคืนชีพทำได้ด้วยการใส่ข้อมูลตัวตนเป็นล้าน ๆ โดยมีเวทมนตร์เดียวเป็นชิ้นส่วนสุดท้ายและส่วนสำคัญที่สุด นั่นคือ ‘ความรู้สึกที่เอนเอียง’ หากหุ่นยนต์เอาชนะได้ ก็จะมีชีวิตได้ และในขณะเดียวกัน เนื้อหาเกี่ยวกับตัวละครและเกซิกต์ก็ยังสะท้อนให้เห็นเช่นกันว่าความรู้สึกเอนเอียงหรือความสุดโต่งอันตรายอย่างไรได้บ้าง ซึ่งนั่นคือความเป็นมนุษย์ 

อีกทั้งยังมีเนื้อหาช่วงที่หุ่นยนต์ลอกเลียนแบบพฤติกรรมมนุษย์เพื่อให้ใช้ชีวิตสอดคล้องไปด้วยกัน กับฉากที่ ดร.เทนมะ บอกให้ เฮเลน่า ภรรยาเกซิกต์แกล้งร้องไห้ ซึ่งหาก ทำไปนาน ๆ แล้ววันหนึ่งจะจริงขึ้นมา เหมือนที่เขาสร้างอะตอมขึ้นมาแทน โทบิโอะ ลูกชายที่เสียไปเพราะอุบัติเหตุ จนวันหนึ่งอะตอมก็กลายเป็นลูกชายของเขาจริง ๆ ทางความรู้สึก เหมือนที่เฮเลน่าร้องไห้จริง ๆ และความสัมพันธ์ในความรู้สึกของเธอกับเกซิกต์ก็จริงไม่ต่างจากที่มนุษย์เป็น เป็นอีกส่วนที่ทำให้เรื่องนี้ถ่ายทอดความจริงแท้และอารมณ์ออกมาได้อย่างน่าจดจำ และมีประเด็นชวนคิด ชวนถก ชวนนำไปสนทนาเกินกว่าจะอ่านจะดูแล้วจบไป

จาก Astro Boy : The Greatest Robot on Earth สู่ PLUTO อนิเมะอนิไซไฟบน Netflix ที่ใช้ ‘หุ่นยนต์’ ตั้งคำถามถึงความเป็นมนุษย์

ตามลำพัง PLUTO นั้นคือเรื่องราวที่ถูกใช้สะท้อนหลายแง่มุม ทั้งความแค้น ความรัก ความโกรธ ความผูกพัน ความเศร้า ความจริง ความปลอม ความศรัทธา ความเป็นมนุษย์ ความสมหวัง ความผิดหวัง และความสูญเสีย และถ้าบวก PLUTO กับอีก 2 เรื่องอย่าง Westworld และเรื่องราวของเดวิด (ขอเรียกแบบนี้นะครับ เพราะทำไปทำมา ตัวละครนี้เป็นบอสใหญ่กว่าเอเลียนหรือ Engineer ซะอีก) เราจะได้เป็น ‘ตัวตน + ความตระหนักรู้ + เจตจำนงเสรี + อารมณ์ความรู้สึก + ความจริงแท้’ ที่รวมกันแล้วคือทุกมิติของเรื่องราวเกี่ยวกับหุ่นยนต์ในฐานะ ‘ผู้ถูกสร้าง’ หรือ ‘ผู้กำเนิดมาบนโลกใบนี้’ ซึ่งมองมายังสถานะของมนุษย์ได้ไม่ต่างกัน

การดูอนิเมะเรื่องนี้ทำให้ได้ข้อสรุปว่า หากเรื่องเล่าสักเรื่องจะควรค่าแก่การถูกพูดถึงอยู่เสมอ ต้อง ‘สดใหม่’ และหากจะเล่าเรื่องเดิม ประเด็นเดิม ก็ต้อง ‘มีดี’ พอ (มีดีคือคำขอบเขตกว้าง ๆ ที่อนิเมะเรื่องนี้ครอบคลุมได้) ไม่ว่าจะด้วยเนื้อหา ลีลา ตัวละคร ลายเซ็น หรือการสร้างโลก โดยเฉพาะตัวสาระแก่นสารที่จะทำให้เนื้อหาไม่ใช่แค่ยอดเยี่ยมในยุคสมัยที่มันเผยแพร่ออกไปครั้งแรก แต่จะยอดเยี่ยมไปถึงรุ่นหลังจากนี้ด้วย

รับชม PLUTO ได้แล้วที่ Netflix

Writer

Avatar

โจนี่ วิวัฒนานนท์

แอดมินเพจ Watchman ลูกครึ่งกรุงเทพฯ-นนทบุเรี่ยน และมนุษย์ผู้มีคำว่าหนังและซีรีส์สลักอยู่บนดีเอ็นเอ