The Cloud x ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ทุกเช้าวันจันทร์ ณ ชุมชนคลองล่าง ซอยจรัญสนิทวงศ์ 37 กลุ่มคุณลุงคุณป้าวัยเกษียณมีนัดพบปะ ทำกิจกรรม เรียนรู้การปลูกผักร่วมกันที่บ้านสวนของ ป้อม-วรรณี ประชุมพันธ์ หนึ่งในสมาชิกกลุ่มสังคมผัก มี นก-ธนัน รัตนโชติ ผู้บุกเบิกธุรกิจเพื่อสังคม PLANT:D เป็นผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับกลุ่ม 

การปลูกผักไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อให้เรามีผักไว้กินเท่านั้น แต่ยังเป็นงานอดิเรกที่นำความสนุกและความสุขมามอบให้แก่กัน สร้างมิตรภาพในชุมชน ผู้สูงอายุได้เคลื่อนไหว ออกกำลังกาย ส่งผลให้สุขภาพกายและใจแข็งแรง ที่สำคัญยังสร้างรายได้ให้ ‘คนวัยอิสระ’ รู้สึกภาคภูมิใจในฝีมือของตัวเอง

จุดเริ่มต้นของ PLANT:D

“ผมทำงานเป็นที่ปรึกษาและนักวางแผนกลยุทธ์องค์กรเพื่อช่วยให้ธุรกิจทั่วไปและธุรกิจเพื่อสังคมมีกำไรอย่างยั่งยืน ผมเห็นจุดที่น่าตกใจ คือมีการฉีดสารเคมีใส่ผลผลิตในปริมาณมากกว่าที่คิด” นกเล่า

ปัญหาปัจจุบันที่ผู้บริโภคพบคือผักราคาสูง แถมฉีดยาฆ่าแมลงเยอะ ในมุมผู้บริโภค นกคิดว่าระบบอาหารไม่มีความเป็นธรรมและปลอดภัยมากพอ จึงอยากสร้างชุมชนผู้บริโภคที่มีความรู้ มีกำลังต่อรองกับระบบอาหารผูกขาด สร้างระบบอาหารที่เป็นธรรม ให้ลูกค้าซื้อตรงกับผู้ผลิตในราคาเหมาะสม

ช่วงแรก เขาและทีมทดลองรวบรวมออร์เดอร์คนใกล้บ้านก่อน เริ่มจากข้าวและผัก พร้อมทำงานเชื่อมกับเพื่อนที่ทำงานวิสาหกิจชุมชน เมื่อผ่านไปสักระยะ นกมองเห็นทีท่าว่าโมเดลนี้ใช้งานได้ เขาจึงนำข้อดีและข้อด้อยต่าง ๆ มาสร้างไอเดียในใจ “ที่สุดแล้ว เราต้องมีผักที่ปลูกในเมือง” นกบอก

จากนั้นไม่นาน คุณแม่ของนกที่เพิ่งเกษียณล้มป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) จากคนที่เคยเดินดูต้นไม้รอบบ้านได้ ภายในสัปดาห์เดียว นกพบว่าคุณแม่ของเขาดูแก่ลงไปมาก เดินไม่ถนัด กลัวจะหกล้ม ลูกชายจึงเริ่มหาทางว่าทำอย่างไรให้คนที่เคยชอบปลูกต้นไม้กลับมาปลูกต้นไม้ได้อีกครั้ง

ท้ายที่สุดแล้ว มาลงตัวที่ ‘ปลูกผัก’

นกเรียนรู้วิธีปลูกผักด้วยตนเอง เริ่มตระเวนเรียนในที่ต่าง ๆ ทั้งสวนผักคนเมือง ป้าป้อมปลูกผัก และอีกหลายแห่ง เขาไปลงเรียนทุกคอร์ส จนเข้าใจว่าต้องออกแบบการปลูกให้เหมาะกับผู้สูงอายุ ไม่ต้องนั่งยอง อุปกรณ์มีขนาดเบา กระถางเล็ก คนที่เรี่ยวแรงน้อยก็ปลูกได้ และเริ่มจากชนิดที่ปลูกง่าย อย่างต้นอ่อนทานตะวัน (นกย้ำว่าต้นนี้ยกให้เป็นผักไหว้ครู คือปลูกแล้วได้กินแน่นอน) 7 วันก็ได้ทานแล้ว 

จากแนวคิดของลูกชาย ในที่สุดการปลูกผักก็ทำให้คุณแม่กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

แนวคิดเรื่อง ‘ปลูกผักในเมือง’ และประสบการณ์โดยบังเอิญจากการดูแลคุณแม่ทำให้นกค้นพบว่าผู้ที่ปลูกผักในเมืองได้ดีที่สุดคือ ‘ผู้สูงอายุ’ เพราะพวกเขามีทั้งพื้นที่ เวลาว่าง และชอบงานอดิเรก

จากการปลูกในพื้นที่ขนาดเล็กในหลาย ๆ บ้านของผู้สูงอายุ นกจึงออกแบบโมเดลขึ้นมา จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ PLANT:D ธุรกิจเพื่อสังคมที่สร้างความสุขและรายได้ให้ผู้สูงวัยด้วยการปลูกผัก

ปลูกความสนุกด้วยการสร้างกลุ่มสังคมผัก

ทุกสัปดาห์สมาชิกในชุมชนจะนัดเจอกันเพื่อมาเรียนปลูกผัก

มีนกเป็นผู้สอนและผู้ช่วยเตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ ตั้งแต่ดิน ปุ๋ย จนถึงต้นอ่อน

ก่อนเริ่มเรียน คุณลุงคุณป้าจะหอบหิ้วสิ่งที่ปลูกเมื่อสัปดาห์ก่อนมาโชว์กันอย่างสนุกสนาน ผักของใครงาม คนปลูกก็รู้สึกภูมิใจ แต่ละคนจะสลับกันเป็นเซียนผักตามชนิดที่ถนัด ได้พูดคุยแลกเปลี่ยน แบ่งปัน ที่สำคัญคือทำให้ผู้สูงวัยมี ‘พื้นที่เท่ ๆ ยืนในสังคม’ โดยไม่ถูกมองและไม่คิดว่าตัวเองเป็นภาระ 

ที่น่ารักขึ้นไปอีกคือพวกเขามีไลน์กลุ่มสังคมผักด้วย เอาไว้พูดคุย โชว์ผลงาน ‘งอกแล้ว’ ‘ตายแล้ว’ ‘กินแล้ว’ ถือเป็นกลุ่มสังคมจริงที่เหนียวแน่นและเป็นสายสัมพันธ์เชื่อมคนในชุมชนเข้าด้วยกัน

ตูน-พรรณพิมล สุทธิมานะ หนึ่งในสมาชิกที่พัฒนาฝีมือและขยายพื้นที่ปลูกผักของตนเองไปยังระเบียงบ้านชั้น 2
ทั้งยังหมักปุ๋ยและทำน้ำหมักจุลินทรีย์เอง

ในช่วงเริ่มต้น นกเน้นให้แต่ละบ้านปลูกผักเพื่อให้มีอาหารปลอดภัยไว้กินในครอบครัว เมื่อปลูกได้มากขึ้นจึงนำมาแบ่งปันในกลุ่ม เมื่อชำนาญและปลูกได้ในปริมาณมากพอ PLANT:D จะเข้ามาช่วยหาช่องทางในการขาย ซึ่งการทำงานของ PLANT:D เป็นลักษณะการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ เริ่มจากวัดไชยทิศ สู่ประชานิเวศน์ 1 แฟลตคลองจั่น และชุมชนคลองล่าง แต่ละชุมชนมีคนหมุนเวียนมาเรียนราว 20 คน บางแห่งมีมากถึง 30 – 40 คน เมื่อที่ไหนมีคนหมุนเวียนเยอะพอ ก็มีผลผลิตมากพอให้นำไปขาย

เน้นจุดขายที่คุณภาพของผัก มิใช่ความสงสารเห็นใจ

PLANT:D มีโมเดลธุรกิจที่เน้นคุณภาพผักปลอดภัยและไม่ใช้สารเคมี

“เราไม่ได้บอกผู้บริโภคว่านี่คือผลผลิตที่ปลูกโดยผู้สูงอายุ ช่วยมาอุดหนุนกันหน่อยนะครับ เพราะเราเชื่อว่าโมเดลธุรกิจที่ไม่ได้ขายตัวสินค้า แต่ขายแบบกึ่งบริจาคกึ่งสงสารเป็นลักษณะของการช่วยซื้อ ซึ่งลักษณะการซื้อแบบนั้นทำให้ผู้บริโภคมีโอกาสซื้อสินค้าแค่ครั้งเดียวแล้วไม่ซื้อต่อ” นกเล่า

คนซื้อผักของ PLANT:D จึงเลือกซื้อที่คุณภาพของสินค้า ไม่ใช่เพราะช่วยอุดหนุนผู้สูงอายุ 

“สุดท้ายผู้บริโภคจะเข้าใจเองว่าเขาซื้อเพราะผักเหล่านี้ดีกว่าที่ขายในซูเปอร์มาร์เก็ต”

อาจารย์สุณี รักษาเกียรติศักดิ์ อดีต Data Scientist ต่อเติมบ้านเพื่อปลูกผัก ทั้งปลูกลงกระถางและปลูกลงดิน
แถมอาจารย์สุณีมีสูตรน้ำผักมัดใจคน ทั้งยังตั้งใจทำบ้านให้ร่มรื่น เป็น Co-working Space เปิดรับผู้คนในชุมชน

ลูกค้าผักของชุมชนคลองล่างคือสมาชิกที่อาศัยอยู่ในคอนโดหน้าปากซอย ทุกสุดสัปดาห์ทีมของนกจะเก็บเกี่ยวผลิตผลและบรรจุใส่ถุง นำไปส่งให้ถึงมือลูกค้าภายในครึ่งวัน ความใส่ใจและความรวดเร็วทำให้ลูกค้าสัมผัสได้ถึงคุณภาพที่มาพร้อมความสดใหม่ ปลอดภัย และที่สำคัญ ราคาเหมาะสม

“สิ่งนี้ทำให้โมเดลของเราเป็นธุรกิจที่เดินหน้าต่อไปได้ด้วยตัวสินค้าจริง ๆ โดยเราไม่ต้องพูดว่าซื้อเพื่อช่วยผู้สูงอายุ เวลาเราไปเปิดตัวกับลูกค้ากลุ่มใหม่ เขาจะซื้อโดยไม่รู้ว่าเป็นผักที่ปลูกโดยคนสูงวัยด้วยซ้ำ เพราะเราไม่ได้บอกเขาแต่แรกว่าใครเป็นคนปลูก” แบบนี้ยิ่งทำผู้สูงอายุภูมิใจในตัวเอง

ปลูกผักด้วยใจ สร้างรายได้ในวัยเกษียณ

PLANT:D คือผู้มองหาช่องทางว่าจะไปขายที่ไหน วางแผนการขายในรูปแบบพรีออร์เดอร์ โดยลูกค้าต้องสั่งซื้อล่วงหน้า 1 เดือน ทีมของนกจะจัดผักเป็นแพ็ก แพ็กละ 200 กรัม ขายเป็นโมเดล 2 แพ็กต่อสัปดาห์ ใน 1 เดือนลูกค้าจะได้ทั้งหมด 8 แพ็ก ราคา 450 บาท แถมส่งตรงให้ถึงบ้านสด ๆ ใหม่ ๆ

โมเดลนี้ต้องการพื้นที่เพียง 2 x 1 ตร.ม. โดยต่อโครงสร้างขึ้นด้านบนเป็นคอนโด 2 ชั้น ผักที่ปลูกเป็นจำพวกผักสลัด กวางตุ้ง คะน้า ต้นอ่อนทานตะวัน และผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่ทีมกำลังเตรียมการอยู่ 

“ถ้าขายตามรอบที่เราออกแบบให้ เฉลี่ยต่อเดือนจะขายได้ 3,000 – 4,000 บาทต่อบ้าน (ตัดจากที่เก็บไว้กินเองและต้นทุนที่เอามาใช้ปลูกแล้ว) ในอนาคต เราอยากยกระดับให้ถึง 5,000 บาท เพราะจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชพบว่ากรณีผู้สูงอายุไม่ได้เตรียมความพร้อมทางการเงินไว้ จำนวนเงินที่ใช้ในครัวเรือนหลังเกษียณสำหรับคู่สามีภรรยาจะอยู่ที่ประมาณ 4,500 บาทต่อเดือน เราเลยใช้เกณฑ์นี้ในการออกแบบโมเดล ตั้งเป้าการปลูกและขายอยู่ที่ 4,500 บาทเช่นเดียวกัน” นกเล่า

ก้าวต่อไปของ PLANT:D

นับจากวันที่เริ่มต้น วันนี้ PLANT:D เดินทางมาถึงขวบปีที่ 6 แล้ว

นกบอกกับเราว่าเขาต้องการสร้างชุมชนของคนที่พึ่งพาตนเองทางอาหารได้ เข้าใจเรื่องอาหารปลอดภัยที่ทำได้ทั้งเป็นผู้ผลิตและเป็นผู้แบ่งปัน รวมถึงเป็นชุมชนผู้บริโภคที่มีความรู้

“ที่ผ่านมามีคนทักมาหาตลอดว่าอยากเรียน แต่อยู่ไกล มาไม่ไหว ตอนนี้เรากำลังออกแบบการเรียนแบบ Hybrid Platform หรือ On-site ผสม Online เป็นกลุ่มชุมชนที่แต่ละคนปลูกผักเองได้ที่บ้าน คาดว่าจะเปิดตัวภายในเดือนตุลาคมนี้ หากท่านที่สนใจลงทะเบียนไว้ เราจะส่งชุด Kit ไปให้ที่บ้าน 1 ชุด ประกอบด้วยเนื้อหาการเรียนหลายสัปดาห์จนปลูกเองได้ เป็นการเรียนผ่านกิจกรรม On-site การไลฟ์สด และวิดีโอ รวมถึงมีคลินิกปลูกผักที่เข้ามาขอคำปรึกษาได้” นกเล่าแผนของเขาอย่างรอบคอบ

เบื้องต้นนกจะเน้นให้ผู้เรียนปลูกทานเองได้ก่อน เมื่อปลูกจนเก่งและได้ปริมาณมากพอ มีกลุ่มคนในละแวกบ้านที่สนใจรวมตัวกันเป็นชุมชนปลูกผัก นกจึงเข้าไปช่วยให้ความรู้ต่ออีกขั้น 

“ในกรุงเทพฯ มีชุมชนผู้สูงอายุมากกว่า 300 ชุมชน เรามีโอกาสเข้าไปร่วมทำงานกับหลายพื้นที่ ซึ่งเราพบว่าพวกเขามีศักยภาพมากพอจะพัฒนาเป็นธุรกิจเพื่อสังคมของชุมชนต่อไปได้” 

นกเล่าถึงความเป็นไปได้ในอนาคต พร้อมบอกกับเราว่า ต่อจากนี้ชาวสูงวัยจะเป็นฮีโร่นักปลูกผักของหลาน ๆ เพราะหลานบางคนไม่ทานผัก เนื่องจากได้กลิ่นยาฆ่าแมลง แต่เมื่อไหร่ที่ปู่ย่าตายายของพวกเขาเก็บเกี่ยวผลผลิตปลอดสารพิษมาให้ หลานกลับตั้งใจทานอย่างอิ่มหนำ นี่จึงกลายเป็นความสามารถพิเศษที่มีแต่ ‘รุ่นใหญ่’ เท่านั้นที่มีฝีมือมากพอ

“ท้ายที่สุด เมื่อความร่วมมือของผู้ผลิตและผู้บริโภคเกิดขึ้นอย่างเต็มที่ เราจะมีกำลังต่อรองกับระบบอาหารผูกขาดที่มีอยู่ในประเทศ ซึ่งตอนนี้กำหนดอะไรก็ได้ อยู่ดี ๆ อยากขึ้นราคาไข่ อยากบอกว่าหมูแพง ไก่แพง ก็ทำได้ แต่ในจุดหมายปลายทางของ PLANT:D เราอยากให้มีระบบอาหารที่เป็นธรรมเกิดขึ้นภายในประเทศ จากพลังของผู้บริโภคที่ซื้อตรงกับกลุ่มผู้ผลิต ทั้งยังผลิตเองกันได้ด้วย

“ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดความแข็งแรงและยั่งยืนมากกว่า” นกทิ้งท้าย

The Cloud Golden Week : Happy Young Old คือแคมเปญสนุก ๆ ที่ The Cloud จับมือกับ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เปิดรับวัยอิสระ อายุ 45 ปีขึ้นไป ทั้งนักเขียน ช่างภาพ และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ มารวมพลัง ‘เล่าเรื่อง’ ผ่านสื่อดิจิทัลบนก้อนเมฆเป็นเวลา 1 สัปดาห์ 

ภายใต้ธีม ‘การเตรียมตัวเข้าสู่วัยอิสระ’ และ ‘การดำเนินชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความสุข’ เปรียบเสมือนคู่มือเล่มน้อย ๆ ที่อัดแน่นด้วยคำแนะนำ การรับมือ การใช้ชีวิตก่อน-หลังเกษียณในหลากหลายมิติ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ‘การเงิน’ เราจึงชวนวัยอิสระเล่าเรื่อง PLANT:D โมเดลกิจการเพื่อสังคมที่สร้างรายได้หลังเกษียณให้ผู้สูงอายุด้วยการปลูกผักปลอดภัย นอกจากสร้างรายได้ ยังสร้างเพื่อน สร้างความสุข สร้างคุณค่าในตนเอง และยังเป็นกลุ่มคนเล็ก ๆ ที่สร้างระบบอาหารที่เป็นธรรมให้เกิดขึ้นกับประเทศไทย

ชวนเตรียมพร้อมรับมือเกษียณ ปรับความคิดและเข้าใจวิธีการบริหารเงินให้เพียงพอ เพื่อชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความสุข กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในแคมเปญ ‘Happy Money, Happy Young Old ปูนนี้ (ก็) มีใช้’ ทาง setga.page.link/Ap2ENbWW3ycqciA69

Writer

จินดารัตน์ แดงเดช

จินดารัตน์ แดงเดช

มีความใฝ่ฝันที่จะทำงานด้านสื่อสารมวลชนมาตั้งแต่เด็ก ชื่นชอบการอ่านหนังสือ การเดินทางและพบปะผู้คนที่หลากหลาย

Photographer

วิศรุต อังคทะวานิช

วิศรุต อังคทะวานิช

ช่างภาพสายโฆษณาและศิลปินภาพถ่ายที่เป็นที่รู้จักจากการถ่ายภาพปลากัด