หนึ่งในสูตรคลาสสิกของวิถีชีวิตคนอีสานในอดีต คือการหนีความเป็นคนบ้านนอก เข้าเมือง

กรุง หางานทำ ตามความฝัน ไขว่คว้าหาโอกาสที่คิดว่าดีกว่าจมปลักอยู่กับกลิ่นโคลนสาบควายในถิ่นที่กันดารทั้งทรัพยากรและโอกาส

ต๋อม-นีรัญชรา ปฏิกานัง คือสาวอีสานอีกคน ผู้เลือกสร้างเรื่องราวของตัวเองจากสูตรชีวิตคลาสสิกนั้น ทว่าแท้จริงแล้วสิ่งสำคัญที่ผลักให้เธอก้าวออกจากบ้านอย่างไม่ลังเลใจหลังเรียนจบมหาวิทยาลัยแค่ 2 วัน ไม่ใช่แค่อยากออกไปท่องโลกกว้างเพื่อแสวงหาโอกาสเท่านั้น หากแต่คือปมในใจที่คิดว่าแม่ไม่รักและรู้สึกด้อยค่าตัวเองว่าเป็นคนไร้ค่า นอกสายตา

ต๋อม นีรัญชรา สาวอีสานผู้กลับบ้านมาตั้งโรงงานทำแป้งพิซซา ช่วยหญิงใกล้บ้านให้มีงานทำ
ต๋อม-นีรัญชรา ปฏิกานัง

เธอจึงเลือกทำอย่างไรก็ได้ให้ก้าวออกไปจากแผ่นดินอีสาน ตะเกียกตะกายตามฝัน ทำยังไงก็ได้ให้คนหันมาสนใจตัวเอง อยากมีสักครั้งที่แสงไฟส่องบนตัวเธอให้ทุกคนได้เห็น และที่สำคัญคือกดซ่อนความเป็นคนอีสานให้ลึกที่สุด อย่าให้ใครจับได้ โดยไม่รู้เลยว่านั่นคือคือการผลักให้ตัวเธอเองห่างไกลคำว่าความสุขออกไปทุกที

ท้ายที่สุดเส้นทางชีวิตวิถีโค้งเป็นวงกลมที่เธอขีดเขียน ได้วกกลับมาบรรจบในจุดที่เธอเคยหลีกหนี เพื่อค้นพบความสุขกับการเป็นตัวของตัวเอง ความสุขที่ได้ช่วยให้แก๊งหญิงสูงวัย วัยรุ่นออทิสติก และสาว ๆ ที่ว่างงานในซอยบ้านมีงานมีอาชีพ ด้วยการเปิดโรงแป้งพิซซาและบันเบอร์เกอร์เล็ก ๆ แต่มีออร์เดอร์ส่งขายทั่วประเทศ ในนาม ‘Pizza the Gang’ และเหนือกว่าสุขอื่นใด คือการได้ทำลายปมอคติต่อแม่ ปลดเปลื้องพันธนาการทางความคิดที่ผูกมัดเธอไว้กับความทุกข์ใจมายาวนาน

นี่คือนิยายชีวิตจริงอิงดราม่าฝ่าวิกฤตสารพัด ทั้งออกจากบ้าน ล่าฝัน น้ำท่วม ล้มเหลว ประกอบร่างใหม่ ตกตะกอน ก่อนจะค้นพบความสุข ของชีวิตสาวอีสานเจ้าของโรงผลิตแผ่นแป้งพิซซาและบันเบอร์เกอร์ในอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ที่คอลัมน์ อีสาน Lifehacker ครั้งนี้ ขอหยิบยกมาเล่าเพื่อเติมเต็มแรงบันดาลใจและเป็นไกด์ไลน์ความใฝ่ฝันต่อการดำเนินชีวิตโดยมีเป้าหมายปลายทางคือความสุขแท้ ที่นำมาฝากให้กับคุณผู้อ่านทุก ๆ คน

ต๋อม นีรัญชรา สาวอีสานผู้กลับบ้านมาตั้งโรงงานทำแป้งพิซซา ช่วยหญิงใกล้บ้านให้มีงานทำ

ฉันไม่ใช่ลูกรัก

หลังจากไปรอรับช่างภาพซึ่งขับรถตาม GPS เพื่อมายังจุดนัดหมายแต่หลงทาง ด้วยความลึกลับของร้านที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนถนนเส้นทางหลัก สุดท้ายพวกเราก็มาถึงจุดนัดหมายที่ร้าน Pizza the Gang 

ต๋อมวัย 46 ปีในชุดเสื้อเชิ้ตสีขาวกางเกงยีน ออกมาต้อนรับเราตามเวลานัดหมายด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม ก่อนเชื้อเชิญให้เราก้าวไปชมภายในร้านที่เพิ่งรีโนเวตเสร็จไปไม่ถึง 2 เดือน และเดินเชื่อมไปยังหลังร้านซึ่งมีโรงผลิตแป้งบันเบอร์เกอร์และแผ่นแป้งพิซซา ทำให้เราเห็นว่าทั้งร้านและโรงงานผลิตนี้สร้างบนพื้นที่บริเวณบ้านของเธอนั่นเอง ต๋อมเล่าอย่างภูมิใจว่าทั้ง 2 ส่วนที่กล่าวมารวมถึงนวัตกรรมกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ในโรงแป้งล้วนเป็นผลงานของ ภัทร วิชัยโย หรือ พี่เคน สามีคู่ทุกข์คู่ยากของเธอ ผู้ออกแบบ ผลิต และควบคุมการก่อสร้างขึ้นเองทั้งหมด

หลังเยี่ยมชมสถานที่แล้ว เรากลับมานั่งในโซนร้านอาหารอีกครั้งเพื่อรับฟังเรื่องราวชีวิตของต๋อม ที่กว่าจะก้าวมาถึงจุดนี้ได้ไม่ใช่เรื่องง่าย และแล้วเรื่องราวการเดินทางเป็นวงกลม ก่อนบรรจบวนกลับมายืน ณ จุดที่เธอเคยหลีกหนี เพื่อค้นพบความสุขที่แท้จริงในนิยามของผู้หญิงคนนี้ก็เริ่มต้นขึ้น

“เรารู้สึกถูกกดว่าเป็นเด็กบ้านนอก เหมือนทุกคนมองไม่เห็นเรา เราเป็นคนตัวเล็ก ๆ ไม่ได้โดดเด่นอะไร ในใจอยากจะออกไปท่องเที่ยวจังเลย บ้านตรงนี้มันเล็ก มันเหงา มันดูไม่ศิวิไลซ์ ดูไม่สนุก ก็เลยรู้สึกว่า ฉัน อยากออกไปท่องโลกกว้าง ด้วยความที่ไม่เคยออกจากบ้านเลย ตอนนั้นฝันอยากไปเชียงใหม่ อยากไปสัมผัสอากาศเย็น ๆ หนาว ๆ สักครั้งหนึ่ง คงจะมีความสุข 

“หลังจบมัธยมเราก็เรียนที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งยังอยู่ในจังหวัดเดิม แต่อย่างน้อยก็ได้ก้าวออกจากกำแพงบ้านมาแล้ว ทำให้โลกมันเปิดกว้าง เราเรียนสาขาออกแบบนิเทศศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ยิ่งรู้สึกว่าฉันผยอง ฉันมีองค์ และเรื่องที่เราเรียนนั้นเกี่ยวกับงานดีไซน์ ความทันสมัย จะมาใช้ชีวิตอยู่ในขอนแก่นแบบนี้คงไม่ได้ จึงรู้สึกว่าต้องพาตัวเองออกไปท่องโลก ไปสู่ความศิวิไลซ์ หลังจากเรียนจบแค่ 2 วัน ตอน พ.ศ. 2543 เราตัดสินใจเดินทางออกจากบ้านทันที ทั้งที่ยังไม่รู้เลยว่าจะไปอยู่ที่ไหน จะไปทำอะไร แต่ขอออกไปก่อน จำได้ว่าขอเงินแม่ 2,000 บาท แล้วก็เข้ากรุงเทพฯ 

 “จากนั้นเราก็ไม่ค่อยกลับบ้าน คือปกติคนอีสานหรือคนต่างจังหวัดทั่วไป เขาจะกลับบ้านทุกเทศกาลสำคัญ ๆ หรืออย่างน้อยก็กลับปีละ 2 ครั้ง แต่อีนี่กลับปีละครั้งเท่านั้นเอง แถมเหตุผลที่กลับก็เพราะคิดว่าเป็นหน้าที่ ถ้าเลือกได้ตอนนั้นคือไม่อยากกลับมาเลย เพราะจริง ๆ แล้วสิ่งที่ผลักดันอยู่ภายในคือปมในใจว่าแม่ไม่รัก แม่ลำเอียง เลยอยากไปจากตรงนี้”

ต๋อมจึงอธิบายถึงรอยร้าวของสัมพันธภาพระหว่างเธอกับแม่ ซึ่งเป็นต้นเหตุของปมในใจเธอให้เราฟัง

ต๋อม นีรัญชรา สาวอีสานผู้กลับบ้านมาตั้งโรงงานทำแป้งพิซซา ช่วยหญิงใกล้บ้านให้มีงานทำ

“คำว่าเด็กมีปัญหาของเรา คือรู้สึกว่าแม่ไม่รัก สอง คือไม่มีความสำคัญ เรากับพี่ชายอาศัยอยู่กับแม่โดยลำพัง พ่อเสียชีวิตตั้งแต่พวกเราเป็นเด็ก แม่เป็นข้าราชการ ในมุมของเราบางครั้งเราเรียกร้องความรักจากแม่ แต่ไม่ได้ตามความรู้สึกของเด็ก แถมแม่ยังให้ความสำคัญกับพี่มากกว่าเรา เพราะเขาเรียนหนังสือเก่งมาก แม่ก็ให้พี่ชายอ่านหนังสือไม่ต้องทำอะไร แต่เราที่เรียนไม่เก่งต้องทำทุกอย่าง ทำกับข้าว ทำงานบ้าน เปลี่ยนหลอดไฟ เราเลยรู้สึกด้อยและรู้สึกถึงความไม่เท่าเทียมว่าแล้วทำไมฉันต้องทำอะไรทุกอย่างคนเดียว เลยเกิดแรงผลักให้เราไม่อยากอยู่บ้าน 

“อีกเรื่องที่บาดใจ คือแม่เราเป็นคนชอบบ่นและดุลูกด้วยถ้อยคำที่รุนแรงบ้าง หรือบางครั้งแม่ทิ้งเราให้เฝ้าบ้านเวลาท่านออกไปต่างจังหวัด ด้วยความเป็นเด็ก เราไม่เข้าใจ จึงเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจและตีความไปว่าแม่ไม่รักเรา รวมถึงความไม่เข้าใจแม่เพราะแม่ชอบหูแว่ว ได้ยินเสียงคนอื่นนินทาอยู่ตลอดแล้วก็เอามาบ่น บ่นอยู่ลำพังคนเดียวอย่างนั้น ยิ่งทำให้บรรยากาศของบ้านไม่น่าอยู่สำหรับเรา พอเราโตเลยไม่ลังเลที่จะออกจากบ้านหลังนี้ทันที”

เข้ากรุงสมใจ ออกไปหางานทำและตะกายดาว 

  ในทางจิตวิทยากล่าวไว้ว่าชีวิตช่วงวัยเด็กสำคัญที่สุด เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการมีตัวตน และแน่นอนว่าปมในใจคือแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ผลักดันให้แต่ละคนก้าวสู่เส้นทางต่าง ๆ เพื่อเติมเต็ม เช่นเดียวกับเด็กมีปัญหาอย่างต๋อม เมื่อรู้สึกว่าตัวเองไม่มีตัวตน เธอจึงออกแสวงหาตัวตน

“ไม่ได้คิดว่าตัวเองสวยนะ แต่มีความฝันบรรเจิดอยากเล่นละครเวที (หัวเราะ) คือมันเป็นความฝันของคนที่ด้อยค่าตัวเองคนหนึ่งนั่นล่ะ เพราะอยากมีตัวตน อยากมีแสงไฟส่องมาที่ฉันตลอดเวลา ประจวบกับตอนเรียนมหาวิทยาลัย เราชอบการแสดงละครเวที และได้ทำละครร่วมกับรุ่นพี่ ทำละครให้กับเด็ก ๆ ตอนนั้นไปแสดงที่ภัทราวดีเธียเตอร์ ทำค่ายการละคร เลยทำให้เกิดความอยาก รู้สึกว่าฉันชอบ สักครั้งหนึ่งในชีวิตถ้าฉันได้เล่นละครเวทีคงจะมีความสุข

“จนกระทั่งมีโอกาส 2 ครั้งตอนที่เข้าไปอยู่กรุงเทพฯ ครั้งแรกเขามีแคสติงละครเวทีของ คุณบอย ถกลเกียรติ และครั้งที่ 2 พี่คนหนึ่งติดต่อมาบอกว่า น้องขา พี่อยากให้น้องไปเทสต์หน้ากล้องโฆษณาให้พี่หน่อย พี่ว่าบทนี้ต้องเป็นน้องเท่านั้น เราก็ไป แต่ผลของการแคสต์ทั้ง 2 ครั้งเหมือนกันเลย 3..2…1 แอคชัน! มันไม่ออก อินเนอร์ไม่ออกมาจากข้างใน เราเลยได้คำตอบว่าสงสัยมันสุดแล้ว ไม่ใช่สิ่งที่ตอบโจทย์ว่าเราอยากเป็นอีกต่อไป นั่นแหละคือจุดสิ้นสุดของการตะกายดาว

“ทีนี้กลับมาเรื่องงาน อย่างที่เราเล่าให้ฟังว่าเรากำเงิน 2,000 บาทที่ขอแม่เข้ากรุงเทพฯ โดยไม่รู้ว่าจะไปไหน ตอนนั้นเพื่อนเราที่เรียนด้วยกันเขาอาศัยพักกับมูลนิธิแห่งหนึ่ง เราก็ไปขออยู่ด้วย แล้วโชคดีได้รู้จักกับเจ้าของบริษัทอีเวนต์ออร์แกไนเซอร์ชื่อ บริษัท แอคท์วิน จำกัด เขาต้องการคนรุ่นใหม่มาช่วยทำกราฟิกดีไซน์ เราเลยสมัครและได้ทำงานนั้นเป็นงานแรก 

“จากนั้นเราก็คิดว่า ถ้าเราเปลี่ยนงานจะทำให้ได้ตำแหน่งสูงขึ้น ได้เงินเดือนมากขึ้น เลยย้ายไปทำงานเบื้องหลังรายการทีวีที่ บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ในตำแหน่งของกราฟิกดีไซเนอร์เหมือนกัน แต่ครั้งนี้ออกแบบฉากรายการโทรทัศน์ ที่นี่แหละทำให้เราได้พบกับพี่เคนและตัดสินใจคบหาดูใจกัน ทำงานได้ราว ๆ 2 ปีก็เปลี่ยนงานอีก คราวนี้ไปอยู่บริษัท BECi เป็นบริษัทในเครือของช่อง 3 HD ตำแหน่งงานคือ Event Marketing Manager ดูแลคอนเทนต์ของบริษัทที่จะเอามาทำโปรโมต และในขณะที่ทำงานตรงนี้อยู่เราก็ได้ทำธุรกิจส่วนตัวด้วย คือเปิดหอศิลป์ร่วมสมัย แสดงงานศิลปะที่อยุธยา ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิตเรา เดี๋ยวไว้เล่าทีหลัง

“หลังจากทำงานที่ BECi ได้ปีหนึ่ง เราก็ย้ายงานอีกครั้ง ด้วยความรู้สึกด้อยค่าตัวเองที่ไม่เก่งภาษาอังกฤษเหมือนกับเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ ที่จบเมืองนอก จบปริญญาโท ปริญญาเอก จึงเริ่มสมัครงานหางานใหม่ ตอนนั้นมี 2 ทางเลือก คือสมัครงานในตำแหน่งเดิม ซึ่งได้รับคัดเลือกแล้วที่บริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งที่กำลังรอผลสัมภาษณ์ และอีกทางคือมีพี่ที่รู้จักกันชวนไปทำงานแนว NGO ในมูลนิธิ CCF เพื่อเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

“สุดท้ายเราเลือกไปทำงาน NGO ทั้งที่ตำแหน่งงานลดต่ำลงนะ คือมารับตำแหน่ง PR Marketing เพราะคิดว่าอยากลองทำงานที่ไม่เคยทำดูบ้าง จึงเลือกงาน NGO แล้วพอได้ทำรู้สึกว่าสนุก นี่แหละคือตัวเรา หน้าที่ของเราคือออกเดินทางไปทั่วประเทศไทยในถิ่นที่ทุรกันดาร ไปตามหาเด็ก ๆ ยากไร้ แล้วถ่ายภาพพวกเขา เก็บข้อมูล นำมาทำเป็นสตอรีให้กับเด็กเหล่านั้นเพื่อหาผู้ให้ทุนอุปถัมภ์ เป็นงานที่สนุกมาก แถมยังได้เงินเดือนมากกว่าเดิมอีก เพราะเป็นองค์กรต่างชาติ แต่ทำได้ระยะหนึ่งด้วยเหตุผลที่ต้องการไปโฟกัสกับกิจการหอศิลป์ร่วมสมัยที่อยุธยาที่ทำเอาไว้ให้เข้มข้นขึ้น เราจึงตัดสินใจลาออก และนั่นคือการทำงานครั้งสุดท้ายในฐานะลูกจ้าง”

คนโง่สร้างบ้านดิน หอศิลป์ที่สลายไปกับสายน้ำ และการตัดแม่ตัดลูก

อย่างที่ต๋อมเกริ่นไว้ว่าเธอได้ทำธุรกิจส่วนตัวนั่นคือหอศิลป์ร่วมสมัยอยุธยา ซึ่งนั่นเป็นจุดเปลี่ยนและจุดเหวี่ยงที่สำคัญของชีวิตเธอ 

“เรากับพี่เคนร่วมกันเปิดหอศิลป์ร่วมสมัยอยุธยา โดยเราลงทุนเองเป็นหลัก และใช้วิธีเขียนโปรเจกต์แล้วไปขอทุนสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรม ขอจัดตั้งหอศิลป์ร่วมสมัยอยุธยาขึ้นในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมถึงการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่เป็นผู้สนับสนุนกิจกรรมเกี่ยวกับการท่องเที่ยว 

“พอเราลาออกจากงานมูลนิธิฯ กะว่าจะมาลุยเต็มตัวกับหอศิลป์ โดยในตัวในหอศิลป์จะมีกิจกรรมหลากหลาย อย่างแรก คือการแสดงผลงานศิลปะ สอง ทำกิจกรรมเกี่ยวกับเด็กชื่อ ‘สโมสรแต้มสี’ เพื่อเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมพัฒนาการทั้ง EQ และ IQ เด็ก สาม คือกิจกรรมที่เป็น Activity Event ส่งเสริมการท่องเที่ยว เช่น เขามีนักท่องเที่ยวทำทัวร์มาลง องค์กรเราเป็นองค์กรที่ไปทำกิจกรรมสันทนาการให้นักท่องเที่ยว และสี่ คือจัดทำค่ายศิลปะเด็กทั่วประเทศให้กับหน่วยงานหรือโรงเรียนที่แจ้งความประสงค์เข้ามา นี่คืองานหลัก ๆ ของหอศิลป์และงานศิลปะเด็กที่เชื่อมกัน 

“นอกจากนี้เราก็ได้ทำอีกส่วนหนึ่ง คือสร้างบ้านดินเป็นศูนย์การเรียนรู้ ในนั้นมีทั้งส่วนที่เป็นร้านอาหาร แกลเลอรี ห้องสมุด และร้านกาแฟ อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มีบ้านดินอยู่ 7 หลัง 

“พอทำไปได้สักพักก็เกิดเรื่อง คือพอเราทำดีแล้วมีแสง พอคนเห็นเยอะก็มีปัญหาเข้ามา เพราะเราเป็นองค์กรเอกชน การทำงานพวกนี้ส่วนใหญ่เป็นส่วนงานรับผิดชอบของข้าราชการ เลยเกิดข้อครหาว่า คุณทำถูกต้องไหม คุณเป็นเอกชน ไม่ควรไปขอเงินสนับสนุนจากตรงโน้นตรงนี้เพื่อมาทำ จนบางครั้งหน่วยงานที่เราไปขอความช่วยเหลือเขาเกิดความลำบากใจ เพราะอาจกระทบเขาด้วย เลยตัดสินใจว่าอย่างนั้นเฟดตัวเองออกดีกว่า ทั้งที่สู้อุตส่าห์ทำมา 9 ปี เพราะอาจทำให้คนอื่นเดือดร้อน 

“เราพักงานหอศิลป์ไว้ แต่ยังมีสโมสรอยู่บนพื้นที่สร้างขึ้นใหม่ก็คือบ้านดิน ซึ่งเรายังไม่เคยเปิดใช้บริการมาก่อน เพียงแค่เคยจัดค่ายศิลปะ 2 ครั้ง แต่ยังไม่ได้เปิดเป็นทางการ กะว่าครานี้แหละจะเปิดสักที แต่ก็มีปัญหาขึ้นมาอีก คือเรื่องโครงสร้าง อันดับแรก คือมอด ปลวก เพราะเราสร้างบ้านจากดินโครงสร้างเป็นไม้ไผ่ ด้วยความที่เราสร้างบ้านดินเอง อาจไม่มีความรู้มากพอจึงเกิดปัญหา เกิดการเสื่อมสภาพของวัสดุที่นำมาใช้ได้เร็ว ที่คิดจะเปิดเลยยังไม่ได้ เปิดเพราะต้องการจะแก้ไขก่อน พูดง่าย ๆ จะบอกว่าโง่เลยก็ได้นะ เพราะตอนสร้างเราคิดไม่ถึง ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์นี่แหละฆ่าเราได้เลย 

“ครานี้ก็เลยเป็นปัญหาชีวิต ณ ตอนนั้นรู้สึกเคว้ง นั่งนึกว่าจะเอาอย่างไรกับชีวิตดีวะ หอศิลป์ก็ปิด งานประจำที่ทำก็ลาออกมาแล้ว บ้านดินเกิดปัญหา จะเอายังไงดี คำว่า เอายังไงดี คือตอนนั้นเรากับพี่เคน ไม่เหลือเงินทุนสำหรับจะมาปรับปรุง ลงทุน ซ่อมแซม หรือแก้ไขอะไรแล้ว แถมยังมีหนี้ด้วย 

“แต่ยังมีวิกฤตอีกเรื่องที่บีบใจเรามาก เรื่องนี้เราเก็บเป็นความลับมาตลอดชีวิต คือขณะที่เคว้งคว้างอยู่นั้น แม่เราโทรศัพท์มาบอกตัดแม่ตัดลูก สาเหตุคือความเป็นแม่ เขาก็อยากให้ลูกทำงานที่มั่นคงประสบความสำเร็จ แต่ที่ผ่านมาเขาเห็นเราวิ่งทำนู่นนี่มากมาย ยังไม่ลงตัวสักที เลยให้เราเลือกระหว่างจะอยู่กับแฟนและวิ่งทำอะไร ๆ หรือจะเลือกกลับมาบ้านเพื่ออยู่กับแม่ ตอนนั้นเราเองรู้สึกว่าชีวิตดูล้มไม่เป็นท่า เราไม่อยากกลับบ้านด้วยความรู้สึกนี้ เลยตัดสินใจเลือกไม่กลับ ด้วยอารมณ์ของผู้ใหญ่ที่มีความหวังดี แม่เราเลือกใช้วิธีกดดันลูกว่า ถ้าไม่มาแม่ก็ขอตัดแม่ตัดลูกกันนับแต่วินาทีนั้น

“เราเป็นบ้าเลย ร้องห่มร้องไห้ คิดไม่ออกเลยว่าจะเอายังไงกับชีวิต ทุกอย่างล้มครืน แล้วยังมาเจอเรื่องดราม่าแบบนี้อีก ไม่ไหวแล้ว เหมือนคนที่เดินอยู่แล้วไม่มีวิญญาณ ใครจะพาเดินไปไหนก็ไป ให้ทำอะไรก็ทำ ไม่มีอะไรในความคิดเลย แต่ไม่เคยคิดจะขอความช่วยเหลือใครนะ ถามว่ามีหนี้ไหม มีนะ แล้วก็เคยมีเจ้าหนี้โทรศัพท์มาทวงเงินเราด้วย เราไม่รู้จะทำอย่างไร เลยบอกเขาไปว่าเราไม่หนี ไม่ไปไหน แต่ปล่อยให้เราหาเงินเถอะ ดีกว่าฆ่าเรา แล้วเราจะเอาเงินมาคืน ขณะที่คิดอะไรไม่ออกกันอยู่นั้นเลยคุยกันกับพี่เคนว่าเราขับรถขึ้นเหนือกันก่อนไหม ไปพักผ่อนสักหน่อย ให้สมองโล่ง ๆ แล้วค่อยคิดอ่านทำอะไร เลยขับรถกระบะขึ้นเชียงใหม่กัน 

“เหมือนชะตาแกล้งเลย พอไปถึงเชียงใหม่ได้สักพักก็เกิดวิกฤตอีก คือเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่อยุธยา น้ำท่วมโครงสร้างอาคารบ้านดินที่เราสร้างไว้หมดเลย ในวันที่น้ำท่วมแล้วพวกเราไม่อยู่ ณ ตรงนั้น ของทุกชิ้นที่หามาได้ ไม่ว่าจะเป็นของที่เตรียมเปิดรีสอร์ต รูปภาพ ทุกอย่างเสียหายหมด เอาอะไรกลับมาไม่ได้เลย สิ่งที่เราได้ติดตัวมาตอนที่ขึ้นไปเชียงใหม่ก็คือรถกระบะโตโยต้าไฮลักซ์เก่า ๆ ซึ่งเป็นรถของพ่อ แล้วก็กระเป๋าคนละใบกับพี่เคน กับเงินติดตัว 2,000 บาทแค่ไว้เติมน้ำมัน” 

สลายตัวตน การเริ่มต้นชีวิตอีกครั้งที่เชียงใหม่

ราวกับว่าความฝันวัยเด็กที่อยากไปอยู่เชียงใหม่ของต๋อมจะเป็นจริง แต่ชีวิตกลับระบายฉากหลังของความฝันด้วยความว้าวุ่นสับสนจากสารพัดวิกฤต

“เรากับพี่เคนแทบไม่มีเงินติดตัวเลย โชคดีที่เพื่อนพี่เคนเขาให้ไปอาศัยพักตรงบ้านแถวตำบลแม่เหียะ เชิงดอยคำ เป็นบ้านหลังเล็ก ๆ เราเรียกว่าบ้านตุ๊กตา เขาให้เราอยู่ฟรี ๆ ไม่คิดค่าเช่า จ่ายแค่ค่าน้ำค่าไฟ ตอนนั้นไม่มีงานทำ ไม่รู้จะทำอะไร แต่ละวันเลยออกไปวิ่งขึ้นพระธาตุดอยคำทุกวัน ช่วงนั้นฟิตแอนด์เฟิร์มกันมาก 

“มีอยู่วันหนึ่งก็ไปวิ่งออกกำลังกายเหมือนเคย เสร็จแล้วหิวข้าว ปรากฏว่าเพิ่งมารู้ตัวว่าเราไม่มีเงินติดตัวกันเลย กลับบ้านไปค้นหาเศษเหรียญในกระเป๋า เจอแต่เหรียญ 50 สตางค์ เหรียญสลึง จุกเลย น้ำตาจะไหล เราไม่เคยพูดเรื่องพวกนี้กับใคร ไม่เคยบอกใครว่าไม่มีตังค์ ไม่เคยโทรไปยืมใคร ก็เอาเศษเหรียญที่รวบรวมได้ไปแลกที่บิ๊กซี ได้เงินมา 100 นิด ๆ ดีใจมากว่า เอ้อ มีเงินตั้งร้อยหนึ่งแล้ว ก็จับมือกันกับแฟนไปกินข้าว ตอนนั้นมีความสุขมากเลยนะ เหมือนได้ปลดปล่อยตัวตน ไม่มีภาระ ไม่ต้องนึกถึงอะไร ไม่ต้องไปพยุงใคร ไม่ต้องไปคิดว่าคนอื่นจะรู้สึกอย่างไรกับเรา

“ทีนี้พออยู่นาน ๆ เข้า คนในหมู่บ้านก็เริ่มสงสัยว่าไอ้สองคนนี้มันเป็นใคร เรากับพี่เคนจึงไปที่วัดของหมู่บ้านเวลามีงานสำคัญ ๆ เพราะคนจะรวมตัวกันอยู่ตรงนั้น ไปแนะนำตัวกับพ่อหลวงว่าพวกเราเป็นใคร มาอยู่เพราะอะไร ชาวบ้านเลยเข้าใจ เวลาไปวิ่งออกกำลังกายจะได้เจอกับเด็ก ๆ ในหมู่บ้าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนไทใหญ่ ด้วยความที่เราเคยทำงานกับเด็กมามาก เราก็ทักทายเด็ก ๆ สักพักเด็กมาหาที่บ้าน เรากับพี่เคนก็ช่วยสอนการบ้านให้ เพราะไหน ๆ ไม่มีอะไรทำอยู่แล้ว 

“และด้วยความที่ไม่มีอะไรทำนี่แหละ เรากับพี่เคนเลยชวนเด็ก ๆ ฟอร์มทีมฟุตบอลขึ้นมา ชื่อทีม Little Tiger ต้องบอกว่าบ้านที่เราพักนั้นอยู่ติดกับป่าช้า คนภาคเหนือเรียกว่า ‘ป่าเห้ว’ ซึ่งคนภาคเหนือเขาจะถือมาก ๆ ไม่ให้ลูกหลานย่างกรายเข้าไป พวกเราไม่สนเลย กำแพงใครก็ไม่รู้ ทุบเลย แล้วก็พาเด็ก ๆ เข้าไปเล่นฟุตบอลกันในป่าช้า ครานี้เป็นเรื่องเลย ชาวบ้านออกมาตำหนิว่าทำแบบนี้ได้ยังไง ลูกหลานเขากลับบ้านมานอนไม่หลับ 

“เราก็ไปอธิบายว่าสิ่งที่พวกเราทำมีเจตนาดี เพราะเด็ก ๆ เหล่านี้ส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับสัญชาติ จึงได้รับโอกาสทางสังคมน้อย การที่พวกเราทำทีมฟุตบอลและพาเด็ก ๆ ไปแข่ง ถ้าชนะจะทำให้พวกเขามีโอกาสที่ดีขึ้น ผู้ปกครองเด็กและผู้ใหญ่ในหมู่บ้านจึงเข้าใจและสนับสนุน จนกระทั่งเราพาเด็กไปแข่งในจังหวัดเชียงใหม่ และได้แชมป์ฟุตบอลเด็กรุ่นอายุไม่เกิน 13 ปีกันมาด้วยความภาคภูมิใจ

“สงสัยไหมว่าเราเอาเงินที่ไหนใช้ คือพอมาอยู่ได้สักพัก พี่เคนก็ไปหางานมาได้ เป็นงานออกแบบลวดลายเพนต์ช้างเรซิ่นส่งประเทศสิงค์โปร์ คือเราต้องออกแบบลวดลายแล้วเอาไปเสนอ ถ้าผ่าน ลูกค้าซื้อ เราก็ได้งานล็อตนั้นมาเพนต์ จะได้เงินส่วนต่างมากน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนและความยากง่ายของลวดลาย และอีกงานคือเราได้พื้นที่ตรงถนนคนเดินเชียงใหม่จากศิลปินที่รู้จักหยิบยื่นโอกาสช่วยเหลือ ตอนแรกเรารู้สึกตะขิดตะขวงใจนะ เพราะอาย ฉันเคยเป็น PR แฟนเราก็เคยตำแหน่งสูง คนรู้จักเยอะ แต่มาตกตะกอนความคิดได้เพราะนึกถึงวันที่เอาเศษเหรียญสตางค์ไปแลกเงินซื้อข้าวกิน เลยรู้สึกว่า เอาวะ คงถึงเวลาที่ต้องข้ามผ่านความรู้สึกนั้นแล้ว

“พอได้ลงไปทำจริง ๆ สนุก มีความสุขมาก ที่มีความสุขเพราะได้มองเห็นตัวเองในอีกด้านหนึ่ง คือที่ผ่านมาเราเป็นคนหยิ่งในความสามารถว่าฉันมันเจ๋ง ถึงจะเรียนมาไม่สูง แต่ฉันเองก็ทำอะไรมาได้ตั้งหลายอย่าง มั่นใจในตัวเองสูงมาก แต่พอลงไปขายของ เราผ่อนคลายลง ไม่ต้องมีตัวตนพวกนั้น 

“ขายของไปสักพัก วันหนึ่งก็เริ่มเหนื่อย เพราะว่าชีวิตเร่งรีบ บวกกับต้องเขียนช้างด้วย ตอนนั้นเราไปเห็นพื้นที่หนึ่งมันสวย อยากทำร้านอาหาร และได้ไปเจอผู้หลักผู้ใหญ่ใจดีในหมู่บ้าน เขาก็เอ็นดูเราว่าเราดูแลเด็กในหมู่บ้าน พาเด็กไปแข่งฟุตบอลจนได้แชมป์เชียงใหม่ เลยให้พื้นที่เราเช่า อยู่ตรงข้ามกับอุทยานหลวงราชพฤกษ์ เป็นสวนลำไยและมีอาคารบางส่วน นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราได้ทำร้านอาหารที่เชียงใหม่ 

“เราไม่เคยทำร้านอาหารเลยนะ แต่ก็ลองดู เพราะคิดว่าตัวเองทำอาหารพอได้ ขายอาหารนานาชาติ ขายสเต๊ก สลัด กาแฟ ขนมเค้กบางส่วนที่รับมา และน้ำผลไม้สกัด เพราะร้านเราอยู่ตรงข้ามอุทยานหลวงราชพฤกษ์ คนมาออกกำลังกายเยอะ ผลตอบรับกลาง ๆ แต่ข้อดีคือได้เห็นน้ำใจคน 

“สิ่งที่เราโชคดีที่สุดในชีวิต คือทุกที่ที่เราไปจะมีกัลยาณมิตรเสมอ เราไม่เคยมีเพื่อนแย่ ๆ เลย ที่ผ่านมามีแต่จังหวะชีวิตของเราเองที่ขึ้น-ลง แต่ไม่เคยมีใครมาทำให้ชีวิตแย่ลง มีแต่ตัวเราเองนี่แหละที่ทำให้รู้สึกว่าแย่ กัลยาณมิตรเป็นคนที่ช่วยทุกอย่าง คือช่วยทำร้านอาหาร เจอคนดีให้พื้นที่ เด็ก ๆ ที่เราเคยฟอร์มทีมฟุตบอลให้ มาช่วยเป็นแรงงานทำร้านให้เราหมดเลย เราก็ช่วยเหลือเขาเรื่องค่าใช้จ่ายในการทำงานให้เขามีเงินไปเรียนเป็นการตอบแทน

“ทำร้านอยู่ประมาณ 2 ปี ก็โชคดีมาเจอกัลยาณมิตรชาวต่างชาติอีกคนโดยบังเอิญ เขาถูกชะตาว่าเราเป็นคนทำอะไรจริง เลยมาขอร่วมทุนทำร้านอาหาร กลายเป็นการแก้ปมในใจที่เราเคยหนีจากการที่รู้สึกว่าเราไม่ได้ภาษาอังกฤษ แต่ครานี้เริ่มกล้ามากขึ้น แล้วบอกตัวเองว่าต้องเอาชนะตัวเองให้ได้ เขาเสนอว่าจะสอนภาษาอังกฤษให้ แล้วให้เราสอนภาษาไทยให้เขา โอเคเลยค่ะ ดีล (หัวเราะ) ปีแรกคุยกัน เหมือนเป็นการฝึกฝน ถึงเราไม่เก่ง แต่ทำให้เรากล้ามากขึ้น จนคิดว่านี่ถ้าเมื่อก่อนกูกล้าแบบนี้ ไม่หนีปัญหา ชีวิตคงไปได้ไกลในสายอาชีพที่เคยทำในอดีต 

“ทีนี้ก็มีการรีโนเวตร้านใหม่เกิดขึ้น ใช้เงินลงทุนจากเงินที่เรากับแฟนเริ่มเก็บหอมรอมริบมา เพราะตอนนั้นพี่เคนเริ่มทำงานรับเหมา เรามีรายได้กันมากขึ้น เงินมีเท่าไรก็ทุ่มลงไปในร้าน ถ้าเบ็ดเสร็จเงินลงทุนครานี้น่าจะราว ๆ 1.5 ล้านได้มั้ง ของทุกอย่างซื้อใหม่หมดเลย ทำร้านได้ประมาณ 5 เดือน กำลังจะดีแล้วใช่มั้ย (หัวเราะ) แต่ก็เกิดวิกฤตอีก”

วิกฤตซ้ำซาก และเรียนรู้สิ่งที่ทุกข์ที่สุด

ชีวิตที่กำลังกำลังจะเริ่มต้นใหม่ ในจังหวัดที่เธอใฝ่ฝันไว้ในวัยเยาว์ดูท่าจะไปได้สวย แต่แล้ววิกฤตก็มาเยือนอีกครั้ง

“อย่างแรกเลยคือวิกฤตเศรษฐกิจ สอง คือ ณ ตอนนั้นเราเริ่มตั้งท้องโดยไม่รู้ตัว พอใกล้คลอด ร้านต้องหยุดก่อน เพราะเราเป็นตัวหลัก เราทำอาหารเอง เป็นเชฟเอง ขณะที่หยุดร้านเราก็กลับมาคลอด น้องพริกแกง ที่บ้าน อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น 

“พอคลอดน้องครบ 4 เดือน คิดว่าต้องกลับไปดูร้านที่เชียงใหม่แล้ว เราก็พาลูกกลับเชียงใหม่ไปทำร้านได้อีก 5 เดือน วิกฤตก็มาเยือนอีกแล้วค่ะ คือแม่เราป่วยกะทันหัน เป็นเส้นเลือดในสมองตีบ ทำยังไงดีล่ะ ก็ต้องกลับลงมาดูแม่ก่อน และในขณะที่แม่ป่วยนั้นก็เกิดวิกฤตซ้ำซ้อนว่าลูกสาวเราก็ป่วยในเวลาเดียวกัน เข้าห้อง ICU พร้อมกัน 2 คน ตอนแรกหมอวินิจฉัยว่าลูกสาวเกล็ดเลือดต่ำ มีสิทธิ์เป็นลูคีเมีย ในสถานการณ์ตรงนั้น ความรู้สึกของเรา คือที่ผ่านมากว่าจะมายืนตรงจุดนี้มีความทุกข์เยอะมาก แต่ไม่มีครั้งไหนจะเท่าทุกข์ใจในวันนี้วันเดียวเลย เป็นวิกฤตที่ต้องตัดสินใจบนความไม่รู้ ไม่รู้ว่าลูกเราจะเป็นหรือไม่เป็นลูคีเมีย ส่วนแม่จะตายหรือไม่ตาย ทุกข์ที่สุดในชีวิต สุดท้ายผลออกมาว่าแม่ปลอดภัย ออกจาก ICU ส่วนลูกไม่ได้เป็นลูคีเมีย เป็นแค่สภาวะแพ้ภูมิตัวเองจากวัคซีน ฟ้าเปิดเลย โล่งเลย จากวินาทีนั้นเราบอกกับตัวเองว่านับแต่นี้ต่อไป ความทุกข์ใดที่เข้ามาในชีวิตจะกลายเป็นแค่เรื่องธรรมดา

“พอออกจากโรงพยาบาล ลูกก็รักษาตามอาการ แต่แม่กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงที่ต้องดูแลตลอด 24 ชั่วโมง นับจากวันนั้นถึงวันนี้เราไม่เคยได้กลับไปเชียงใหม่อีกเลย และในขณะเดียวกันนั้น ไม่รู้ว่าราหูเข้าหรืออย่างไร วิกฤตชีวิตยังไม่จบอีกค่ะ (หัวเราะและยิ้มอ่อน) ร้านตรงเชียงใหม่ที่ลงทุนรีโนเวตไว้และยังไม่คืนทุน เกิดการเปลี่ยนเจ้าของที่ เราคิดว่างั้นเราจะเซ้ง แต่ปรากฏว่าเซ้งไม่ได้ เพราะเขาบอกว่าสิ่งที่พวกเราสร้างขึ้นมาทั้งหมดไม่ได้อยู่ในสัญญาเช่า เขาให้เราเช่าแค่ตัวอาคาร ไม่ได้ให้เช่าพื้นที่ด้านนอกที่รีโนเวตร้านออกมา ว้าว แล้วจะยังไง ฉันเอาอะไรกลับมาได้ ณ ตอนนั้น เราไม่ได้อยู่เชียงใหม่ แต่คนที่อยู่คือแฟนเรา เขาก็ถามเราว่า จะเอายังไง คำตอบของเราคือไม่ต้องเอาอะไร กลับมาเลย และสิ่งที่เราได้กลับมาคือรถกระบะของพ่อ สามี กับเก้าอี้ประมาณนิดหน่อย ที่เหลือทิ้ง”

ถึงตรงนี้ คนฟังอย่างเราเริ่มรู้สึกว่าชะตาชีวิตเหมือนเล่นตลกกับพวกเขา เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ทั้งต๋อมและสามีต้องกลับมา Set Zero ที่บ้านเกิดอีกครั้ง ว่าแต่พวกเขาจะเอาอย่างไรกับชีวิตต่อไปดี

แม่ก็คือแม่ เมื่อเข้าใจจึงคลี่คลายพันธนาการแห่งทุกข์

“พอเรากลับมาเริ่มต้นใหม่ที่บ้าน ช่วงแรกเรายังไม่คิดอะไรมาก เพราะจิตใจไปห่วงอยู่กับแม่ รายได้ตอนนั้นก็ไม่มี โชคดีที่แม่เป็นข้าราชการ ท่านมีเงินบำนาญ เราก็ใช้เงินนั้นดูแลแม่ ดูแลบ้าน และดูแลลูก แต่ไม่ค่อยพอหรอก ปีแรกนี่แทบไม่ได้ทำอะไรเลย โดยเฉพาะช่วง 3 เดือนแรกที่แม่นอนติดเตียง ให้อาหารทางสายยาง สิ่งที่เราหลอนมากคือเรานอนใต้เตียงแม่ แม่ถูกมัดแขนมัดขา เขาโวยวายทั้งวัน แล้วห้ามให้แม่รู้ว่าเรานอนใต้เตียง ไม่งั้นเขาจะโวยวาย ทุกข์มากเพราะกดดัน 3 เดือนนั้นเราแทบไม่ได้นอนเลย ไม่ไหวแล้ว กูตายแน่ ๆ นมลูกก็ไม่มีแล้ว อาการแย่มาก 

“แต่หลังจากนั้นมีเรื่องมหัศจรรย์ คือเช้าวันที่หมอนัดหมายว่าแม่ต้องเข้าผ่าตัด จู่ ๆ เขาเกิดลุกขึ้นมาเดินเองได้ กินข้าวเองได้ มันเป็นเรื่องมหัศจรรย์ พอแม่ลุกขึ้นมาได้ สิ่งที่เราทำอยู่ 1 ปีคือเดินทางพาแม่ขับรถไปตามจังหวัดต่าง ๆ ที่เขาเคยไป เพื่อต้องการฟื้นความทรงจำให้ท่าน ในขณะเดียวกัน สามีก็มาดูแลลูก ทำอย่างนั้นอยู่ 1 ปีเต็ม ๆ หลังจากนั้นเราจึงเริ่มมีสติคิดได้ว่า กูอยู่อย่างนี้ไม่ได้แล้ว จะทำอะไรดี 

“จำเรื่องการตัดแม่ตัดลูกของเราได้ใช่ไหม สุดท้ายเราก็ดีกัน คือตัดแม่ลูกกันไม่ถึงอาทิตย์หรอก เพราะยังไงแม่ก็คือแม่ จำไม่ได้นะว่าเราโทรหาแม่ก่อนหรือแม่โทรหาเราก่อน คือแม่เราเขาเป็นคนอารมณ์ร้อน แต่ในใจลึก ๆ ไม่คิดอะไร พอเวลาผ่านไปนาน ๆ เข้า เราก็ได้รู้ความจริงอย่างหนึ่งว่าที่ผ่านมาแม่เราป่วย คือท่านมีสภาวะป่วยจิตเภทหลังคลอด อารมณ์ท่านขึ้น ๆ ลง ๆ มีอาการหูแว่ว และไม่ได้รับการรักษา เพราะท่านไม่ยอมรับ ด้วยความเป็นเด็ก เราไม่เข้าใจ อยากหนีปัญหา แต่พอโตขึ้นแล้วเราได้รู้ว่าที่ผ่านมาคืออาการป่วยของแม่ เราเลยเข้าใจและเห็นใจ 

“ทุกวันนี้เราเลือกที่จะแสดงความรักกับแม่ กอดท่าน บอกรักท่าน ถึงแม้ว่าท่านจะไม่รับรู้อะไรเพราะจำอะไรไม่ได้แล้ว แต่มีบางคราวที่ท่านกอดเราตอบแล้วบอกว่ารักเรา คงเป็นความรู้สึกลึก ๆ ในใจของท่านจริง ๆ ที่ไม่เคยบอกเรามาก่อน ทุกวันนี้ปมในใจเรื่องแม่ไม่รักที่เป็นเหมือนพันธนาการผูกมัดเราไว้กับความทุกข์ ผลักให้ชีวิตเราที่ผ่านมาตุปัดตุเป๋ มันคลายออกหมดแล้ว เพราะเราเข้าใจถึงที่มาของปัญหาทั้งหมด และเข้าใจแล้วว่าที่ผ่านมาเป็นเพียงการคิดไปเองของเรา เมื่อคิดได้ ปลดปล่อยได้ก็โล่ง พอโล่งแล้ว พื้นที่ในใจที่เคยระบายด้วยทุกข์ก็ว่างลงให้ความสุขเข้ามาทดแทน”

จากทำพิซซากินเล่นที่บ้าน สู่ร้านอาหาร และโรงงานผลิตแป้งบันเบอร์เกอร์และแผ่นพิซซา

และแล้วการนับหนึ่งใหม่อีกครั้งของต๋อมก็เริ่มต้นขึ้น โดยที่ครานี้ฐานที่มั่นคือบ้านที่เธอเคยหนีออกไป แต่ครั้งนี้ไม่เหมือนเก่า เพราะการเติบโตและประสบการณ์ชีวิตตกตะกอน หล่อหลอมให้เธอเป็นต๋อมที่มีความสุขมากขึ้น 

“พออยู่บ้านเฉย ๆ ก็เหงา เลยหาอะไรทำ เริ่มจากไปเดินแม็คโครแล้วเจอแผ่นแป้งพิซซาสำเร็จรูปวางขาย คิดว่าเดี๋ยวทำพิซซากินเองดีกว่า ทำเสร็จปุ๊บก็ถ่ายภาพโชว์ขึ้นเฟซบุ๊ก พอเพื่อนเห็นก็เริ่มเข้ามาคอมเมนต์ว่า อยากกินด้วย ทำให้ด้วยสิ ซื้อหน่อย คำพวกนั้นแหละจุดประกายเราให้ลองทำพิซซาขาย ขายดีมากเลยนะ วันหนึ่ง 10 ถาด อ้าว แป้งหมด ต้องไปซื้อแป้งพิซซามาเพิ่ม แต่อำเภอบ้านไผ่อยู่ห่างจากแม็คโครซึ่งตั้งอยู่ในตัวเมืองขอนแก่นพอสมควร ชักไม่ไหวกับการเดินทาง เลยตัดสินใจว่า เอาวะ ลองทำเองดู เลยเปิดคลิปวิดีโอสอนทำแป้งพิซซาแล้วฝึกทำจนสำเร็จ

“พอได้สูตรแป้งพิซซาเป็นของตัวเองแล้วก็เกิดแรงบันดาลใจอยากเปิดร้านอาหารอีกครั้ง พี่เคนจึงทำร้านให้ ใช้เงินทุนที่มีบางส่วนมาทำ เปิดเป็นร้านพิซซาขึ้นมาโดยที่อันดับแรกเราต้องหาคนมาช่วย เราก็ไปจีบคุณป้าข้างบ้าน ชื่อ ป้าแตน จีบแกอยู่ 3 เดือน ป้าบอกว่า ป้าสิเฮ็ดได้บ่อีหล่า เคยแต่เฮ็ดนากับเป็นแม่บ้าน มันสิเฮ็ดได้บ่ แปลเป็นภาษาภาคกลาง คือป้าแกกังวลว่าจะทำไม่ได้ เพราะเคยทำแต่ไร่ ไถแต่นาและเป็นแม่บ้าน เราก็ให้กำลังใจไปว่าทำได้แน่ มาเถอะ มาช่วยกันทำ ในที่สุดป้าแตนก็ตกลงมา ทีนี้ในซอยจะมีวัยรุ่นผู้ชายที่เป็นออทิสติก ชื่อ น้องอนันต์ ปั่นจักรยานเล่นไปมาทั้งวัน บ้านเขาก็อยู่ใกล้ ๆ กับบ้านเรานี่แหละ เลยไปคุยกับว่ามาช่วยเป็นเด็กเสิร์ฟให้เราหน่อย แล้วเราก็เริ่มต้นเปิดร้านอาหารชื่อร้าน Pizza the Gang โดยมีแก๊งร่วมก๊วนกันจากคน 3 คนในซอยบ้าน

“ช่วงแรกเรานวดแป้งด้วยมือเลยนะ สนุกมากและขายดีมาก รายได้ถล่มทลาย ไม่คิดว่าจะขายดีขนาดนี้ จนกระทั่งมาคิดว่าน่าจะมีอะไรขายเพิ่มเติมขึ้นมาจากพิซซา คำตอบเลยมาอยู่ที่เบอร์เกอร์ ทีนี้ก็เหมือนเดิมคือไปซื้อแป้งเจ้าดังมาใช้ พอแป้งหมดก็ต้องไปรับในตัวอำเภอ ลำบากอีก สุดท้ายจึงฝึกทำแป้งบันเบอร์เกอร์เอง ฝึกอยู่เป็นเดือนเหมือนกัน พอทำเสร็จแล้วเราก็มีแป้งบันเบอร์เกอร์เป็นสินค้าอีกอย่างในร้าน

“กระทั่งวันหนึ่งมีลูกค้าเขามากินพิซซาที่ร้านแล้วบอกว่าอยากได้แป้งพิซซาของเราไปขายที่ร้านเขาบ้าง ต้องขอบคุณเขามาก ๆ เลยเพราะมันจุดประกายให้เราคิดขึ้นได้ว่า อ้าว แค่แผ่นแป้งก็ขายได้ด้วยเหรอ ก็เลยได้ ๆ เดี๋ยวเราทำแป้งและทำซอสให้ ตอนนั้นมีอีกเจ้าหนึ่งที่ต่างหมู่บ้านเขาจะขายพิซซาเหมือนกันและอยากได้แป้งเราไปขาย เราก็ทำให้ ตรงนี้แหละทำให้เราเห็นช่องทาง ก็เริ่มขยับขยาย เริ่มเอาคนเข้ามาช่วย จนมีพนักงานเพิ่มมากขึ้นอย่างในตอนนี้”

พนักงานในร้านคือแก๊งหญิงสูงวัยและสาว ๆ ว่างงานในซอยบ้าน

เมื่อหน้าร้านเริ่มขายดี แถมมีคนสนใจซื้อแผ่นแป้งและบันเบอร์เกอร์ไปขายต่อ แรงงานแค่ 3 คนเริ่มไม่พอ ต๋อมจึงคิดว่าต้องหาคนมาช่วยแล้ว ซึ่งคนเหล่านั้นก็คือกลุ่มผู้หญิงที่ว่างงานและหญิงสูงอายุในซอยบ้านของเธอนี่เอง 

“คนที่เอาเข้ามาช่วยนี้ เราไม่ได้ตั้งใจให้เขามาช่วยในเชิงธุรกิจนะ อย่างพี่พนักงานชื่อ พี่ทิพย์ เป็นสาวโรงงานที่นวนครมาก่อน และเป็นพี่สาวของเพื่อนสนิทเรา เขากลับมาอยู่บ้านเพราะต้องมาดูแลแม่ที่ป่วย เลยตัดสินใจว่า งั้นเข้ามาอยู่เลย เดี๋ยวจะรับไว้ โดยที่ไม่รู้นะว่าจะหาเงินเดือนให้เขาทันไหม เราก็ไปหางานเข้ามา เพื่อที่จะได้มีเงินหล่อเลี้ยงทีมให้อยู่ได้ 

“สักพักงานเริ่มเยอะขึ้น ทำไม่ทัน ต้องรับคนเพิ่มสิ แต่เราไม่กล้ารับผิดชอบคนที่เขาทำงานจากที่อื่นแล้วตั้งใจมาทำงานกับเรา เพราะไม่มั่นใจว่าธุรกิจนี้จะไปได้แค่ไหน งั้นเรามองหาคนในชุมชนเราก่อนนี่แหละ เลือกเอาคนที่เขาอยู่ใกล้ ๆ บ้านที่เดินมาทำงานได้ ไม่ต้องเสียค่าน้ำมันรถ และที่สำคัญคือตอนกลับมาอยู่บ้าน เราได้เห็นว่าในชุมชนมีกลุ่มคนว่างงาน โดยเฉพาะกลุ่มแม่บ้านที่เขาเป็นผู้สูงอายุ หรือส่วนใหญ่ทำงานรับจ้างไปเรื่อย ทำงานโรงงาน เก็บของเก่าขาย หรือไม่ก็ทำไร่ไถนา คือเป็นงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำอาหารเลย แต่สิ่งที่คนกลุ่มนี้เป็นเหมือนกัน คือเขาเริ่มอายุเยอะและเริ่มทำงานหนัก ๆ ไม่ได้แล้ว แต่มาทำงานกับเราไม่ได้หนักมาก พวกเขาน่าจะทำได้

“ประกอบกับประสบการณ์ที่เราเคยรับเด็กวัยรุ่นเข้าทำงาน เมื่อก่อนเราคิดแค่ว่าเด็กวัยรุ่นขยันดี แต่สุดท้ายก็พบว่าประสบการณ์ชีวิตเป็นสิ่งสำคัญ มันบ่งบอกให้รู้ว่ากลุ่มคนสูงอายุหรือคนที่มีครอบครัวแล้ว เขามีความรับผิดชอบมากกว่า เพราะเขาต้องรับผิดชอบครอบครัว เขาจะไม่ทิ้งงานหรือทำแบบทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ ไป จะทำให้ธุรกิจของเราหนักแน่นและมั่นคงขึ้น เลยให้คนในชุมชนเรานี่แหละเป็นตัวเลือกหลัก พวกเขาจะได้มีงานทำ และเติบโตไปพร้อม ๆ กับธุรกิจที่กำลังริเริ่ม

“ทั้งที่รู้นะว่าพวกเขาเป็นแรงงานสูงอายุ หรือแม้แต่บางคนเป็นออทิสติก แต่เราเข้าใจถึงความแตกต่างของศักยภาพมนุษย์ สิ่งที่เรามั่นใจมากกับทีมงาน The Gang คือทุกคนมีความรับผิดชอบ และเราเชื่อว่าต่อให้อายุมากขนาดไหน แต่ศักยภาพของคนฝึกได้ พอฝึกแล้วจะไม่มีวันถดถอย มีแต่เดินหน้า เกิดเป็นทักษะ ความชำนาญ ผสานกับความเคยชิน มันจะยิ่งเก่ง 

“และเราเล็งเห็นว่าสิ่งที่ช่วยได้มากที่สุดคือการใช้เครื่องจักรเข้ามาทุ่นแรง ช่วยให้พนักงานเหนื่อยน้อยลง แต่ยังได้เนื้องานมากขึ้น เพราะอย่างป้าแตน ทีมงานคนแรกของเรา เขาอายุเยอะแล้ว ปีนี้ 63 ปี จะให้มายืนรีดแป้งทีละแผ่น ๆ เหมือนเดิมไม่ได้ แต่พอเริ่มมีเครื่องจักรรีดแป้ง เขาก็สบายมากขึ้น นี่ต่างหากคือแนวทาง 

“เครื่องจักรส่วนใหญ่กว่า 80% ที่ใช้ในโรงแป้งของเรา คนที่คิดค้นและสร้างนวัตกรรมเหล่านั้นให้คือพี่เคน สามีของเรา เขาเป็น MacGyver เป็นนักประดิษฐ์ ขณะที่เราเป็นคนครีเอต เป็นคนดีไซน์ธุรกิจ เราบอกว่าอยากเป็นแบบนู้น อยากทำอย่างนี้ แล้วเขาก็มาซัพพอร์ต 

“แต่ว่าถึงทำงานสบายขึ้น ก็ไม่ได้หมายความว่าเราไปลดเงินเขานะ เราให้เงินเขาเยอะขึ้นด้วยซ้ำ เพราะเขาอยู่กับเรามานาน สิ่งหนึ่งที่เราคิดเสมอ คือหากพนักงานอยู่ได้ เราก็อยู่ได้ เราได้มากเท่าไร เราจะให้เขามากขึ้น ให้เขาอยู่สบาย ที่ไหนที่เขาอยู่แล้วสบาย เขาก็อยากอยู่ ที่ไหนอยู่แล้วทุกข์เขาก็ไม่อยากอยู่ ฉะนั้นเราอยู่กันเป็นแบบครอบครัว แต่เคารพซึ่งกันและกัน และเวลาทำงานต้องเด็ดขาด อาจมีพูดเล่นกันบ้างในบางโอกาส แต่ก็ต้องเป็นคำพูดที่เคารพกัน นั่นคือสิ่งสำคัญ” 

อยู่บ้านนอก ต้องไม่ด้อยค่าตัวเอง และใช้ความคิดสร้างสรรค์สร้างความแตกต่าง

จากเรื่องราวทั้งหมดที่เล่ามา ทำให้เห็นว่าต๋อมผ่านร้อนผ่านหนาวมามากแค่ไหน เราจึงไม่ลืมถามเธอว่า เมื่อกลับมาอยู่บ้านนอก อะไรคือสิ่งที่ทำให้มีชีวิตรอดอยู่ได้อย่างดี ต๋อมไม่ขอตอบในประเด็นนี้ แต่จะให้แนวทางบางอย่างที่เธอค้นพบ 

“เอาจริง ๆ เราไม่กล้าตอบว่าจะอยู่อย่างไรให้รอด เพราะทุกวันนี้ที่เป็นอยู่ก็ไม่รู้ว่าจะรอดไปถึงไหน เนื่องด้วยสภาพเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบันมันสวิงมาก ๆ ต้องแก้ต้องปรับอยู่ตลอดเวลา และเราก็ยังรู้สึกว่าอยู่ในสถานะลอยเหนือเมฆพอที่จะบอกว่าตัวเองรอดไม่ได้ จึงไม่กล้าชี้ทางใครแบบฟันธง

“แต่สิ่งที่ค้นพบเมื่อกลับมาอยู่บ้านท่ามกลางวิกฤต อย่างแรกเลยคือเราต้องไม่ด้อยค่าตัวเอง สอง เราต้องอย่าหยุดนิ่ง สาม ต้องฝึกมองหาโอกาส และสี่ เราต้องฝึกคิดให้เป็นระบบ

“เริ่มจากถามตัวเองว่าทำไมถึงกลับมาอยู่บ้าน มีเหตุผลอะไร เมื่อรู้แล้วก็คิดต่อไปว่า แล้วจะทำอะไรเพื่อดำรงชีวิตอยู่ให้ได้ พอได้คำตอบแล้วก็พัฒนาสิ่งนั้นให้ดี เมื่อของเราดีแล้ว จะมีศักยภาพในการขายหรือสร้างรายได้ และคิดต่อว่าจะขายให้ใคร เมื่อรู้กลุ่มเป้าหมายแล้วก็ไปคิดวิธีว่าจะขายอย่างไร นี่คือวิธีคิด เราต้องคิดให้เป็นลำดับขั้นตอน แล้วจะทำให้เราไม่หลงทาง 

“สิ่งที่เราเจอตอนทำธุรกิจในบ้านนอก คือมีข้อจำกัดเรื่องจำนวนคน สมมติว่าคนในอำเภอบ้านไผ่มีอยู่ 1,000 คน คนที่จะมากินมาใช้บริการของเราก็จะวน ๆ อยู่ใน 1,000 คนนี้แหละ เขาจะมากินเราทุกวันได้ยังไง ฉะนั้น ในเมื่อตลาดในพื้นที่มีจำกัด จะทำยังไงให้เพิ่มมูลค่าสินค้าขึ้นได้ และในเมื่อตลาดในพื้นที่มีจำกัด เราลองขยายตลาดให้กว้างขึ้นกว่านี้ไหม 

“อย่างเราใช้วิธีขายส่งแผ่นแป้งพิซซาและบันเบอร์เกอร์ออกไปทั่วประเทศ ถ้าเมื่อไรการแข่งขันสูงขึ้นหรือชนเพดานในระดับประเทศแล้ว เราก็ขยายต่อไปในระดับต่างประเทศ อย่างนี้คือการไม่หยุดนิ่ง สุดท้ายสิ่งสำคัญที่ช่วยได้มากคือความคิดสร้างสรรค์ เพราะเมื่อมองเห็นช่องทางการตลาดแล้ว ความคิดสร้างสรรค์นี่แหละที่ช่วยให้เกิดความแตกต่างและนำไปสู่การเติบโต ขยับขยายเพิ่มโอกาสให้กับธุรกิจมากขึ้น 

“อย่างเช่นเราเป็นเจ้าแรก ๆ ที่ขายแป้งพิซซาขอบไส้กรอกแบบแช่แข็ง ซึ่งตอนนั้นไม่มีคนทำ เราคิดทำตรงนี้แล้วส่งขายออกไปจนเกิดฐานลูกค้าใหม่ ๆ ขึ้น แล้วมาคิดต่ออีกว่าคนไม่กินพิซซากันอย่างเดียวหรอก งั้นจะขายอะไร คำตอบก็มาอยู่ที่แป้งเบอร์เกอร์ งั้นก็ทำแป้งเบอร์เกอร์ขาย แต่ทำให้แตกต่าง เช่น ลองทำบันเบอร์เกอร์แป้งมันม่วง บันผสมชาร์โคล บันชาเขียวออกมาไหม เพราะตลาดยังไม่มี 

“ทีนี้ต้องรู้ว่าในทะเลของการแข่งขัน เราไม่ใช่เจ้าเดียวที่ขายบันเบอร์เกอร์ และไม่รู้เลยว่าวันไหนลูกค้าจะเปลี่ยนใจไปใช้เจ้าอื่น เลยเกิดไอเดียเรื่องการทำแฟรนไชส์ The Gang ขึ้น ซึ่งตอนนี้มีอยู่ 2 สาขาแต่ถ้ารวมที่โรงผลิตก็เป็น 3 สาขา เพื่อที่จะสร้างระบบการค้าให้มั่นคงขึ้น โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการแบ่งส่วนการตลาดมากนัก 

“เรายอมรับว่าไม่คิดว่าจะมาได้ไกลขนาดนี้ แต่ที่มาได้ไกล เพราะเรามองเห็นโอกาสทางการตลาด และกล้าลงมือทำ ซึ่งอีกสิ่งหนึ่งในตัวที่เรามองว่าเป็นจุดแข็งและสำคัญมากในการทำธุรกิจ คือเราเป็นคนกล้าได้กล้าเสีย เพราะไม่รู้จะเสียอะไรแล้ว อย่างที่เล่าเรื่องชีวิตให้ฟัง จะเห็นว่าเราเสียมาตลอด เสียจนไม่มีอะไรจะเสีย มันจึงไร้ความกลัว คนเราเกิดมาเพื่อทำอะไรบางอย่าง การตัดสินใจทำลงไปแล้ว ผลที่ตามมาคือได้ ต่อให้เสีย ก็ยังได้รู้ว่า อ้าว ทำแบบนี้มันเสียนี่ งั้นต่อไปไอ้แบบนี้เราก็ไม่ต้องทำ”

ตกตะกอนความคิดและค้นพบความสุขที่แท้จริง

ต๋อมกล่าวทิ้งท้ายบทสนทนากับเราถึงความสุขแท้จริงที่เธอตกตะกอนความคิดและค้นพบเมื่อกลับมาอยู่บ้านว่า

“เมื่อก่อนเราพยายามหลีกเลี่ยงกับความเป็นสาวอีสาน เพราะเคยไปฝึกงานที่บริษัทโฆษณาแล้วมีคนดูถูกโดยที่เขาอาจไม่ได้ตั้งใจว่า อุ๊ย น้องเป็นคนอีสานหรือคะ งั้นพี่ ๆ เลี้ยงแค่ส้มตำก็คงจะอิ่มแล้วมั้ง แล้วเขาก็หัวเราะเรา โอ้แม่เจ้า ทำไมต้องดูถูกฉันอย่างนี้ หลังจากนั้นเราก็พยายามทำตัวเป็นคนภาคกลางเลย พูดไทย ไม่พูดอีสาน แต่เหมือนคนมีความลับ ต้องซ่อนตัวตนความเป็นคนอีสานของเราไว้ จนกลับมาอยู่บ้าน กลับมาเว้าอีสาน เราพูดได้เต็มปากว่าเป็นคนอีสาน ได้กลับมาเป็นตัวเองมากที่สุด มีความสุขที่สุด เพราะมันคือธรรมชาติของเราและมีเสน่ห์

“วันแรกที่กลับมายังไม่รู้สึกหรอก คิดไม่ออก สติไม่มี ยังโง่อยู่ เพราะว่ายังหลงตัวเอง จนกระทั่งอยู่บ้านมาได้สักพักและเปิดร้านทำโรงแป้ง แล้วเห็นคนในพื้นที่ทำงานกับเรามีอาชีพ ได้เห็นรอยยิ้มตอนเขาทำงาน มันคือความสุขใจอย่างบอกไม่ถูก 

“ตอนสร้างร้านมีแต่คนมาช่วยนะ เดี๋ยวลุงป้าน้าอาในละแวกบ้าน เขามาช่วยเหลือเราด้วยความบริสุทธิ์ใจ เราเลยได้พบว่าอันนี้แหละที่เคยวิ่งหามานานแต่มันไม่เจอ การได้เป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริง และเวลาได้มองสิ่งที่ตัวเองสร้างขึ้นมาแล้วทำให้คนอื่นรู้สึกมีความสุขไปด้วยกับเรา ใจมันปริ่มสุขและสนุกด้วย แต่ก็เกิดแรงกดดันกับตัวเองเหมือนกันว่า กูจะทิ้งสิ่งนี้ไม่ได้ กูต้องเดินนะ เพราะเอาชีวิตของทุกคนมาผูกไว้แล้ว แต่ที่ผูกไว้นี่มันไม่ได้ทุกข์นะ 

“ช่วงแรกที่เรากลับมา ทุกคนรู้ว่าเรากลับมาเพราะความจำเป็น ณ ตอนแรกใช่ แต่ตอนนี้เราจะบอกว่า เราคิดถูกแล้วที่กลับบ้าน เพราะถ้าตอนนั้นไม่กลับมา ป่านนี้ชีวิตมันจะล่องลอยไปอยู่ตรงจุดไหนก็ไม่รู้ อาจหาตัวเองไม่เจอ แต่ตอนนี้เราหาตัวเองเจอแล้ว เวลาลูกค้าเข้าร้านเขาจะชอบพูดคุยกับเรา เพราะเราพูดคุยด้วยตัวตนที่ไม่มีฟอร์ม และสำคัญที่สุด เราพูดคุยด้วยความหวังดี เราหวังดีกับทุกคน เราพบว่าพลังแห่งความหวังดีทำให้เราได้มิตรแท้ เลยส่งต่อความรู้สึกดี ๆ กลับมา ด้วยการที่ทำให้เรามีแก๊งกัลยาณมิตรรายล้อมรอบตัว และตรงนี้แหละคือมีความสุขที่สุดจริง ๆ (ยิ้ม)”

วันนี้ ทั้งร้านอาหาร โรงผลิตแป้งพิซซาและบันเบอร์เกอร์ส่งขายทั่วประเทศ รวมถึงแฟรนไชส์ภายใต้แบรนด์ The Gang จึงเป็นมากกว่าธุรกิจ แต่คือขุมพลังที่หล่อเลี้ยงชีวิตต่อลมหายใจและความสุขใจให้ทั้งครอบครัวของต๋อมและผู้คนในชุมชนให้ดำรงอยู่ได้ บนแผ่นดินเกิดที่วันนี้ต๋อมอยู่กับมันอย่างแนบเนียนเป็นส่วนหนึ่งของบ้านอย่างไม่คลางแคลงใจเช่นวันวาน 

สิ้นสุดการพูดคุย ต๋อมออกไปทำพิซซาแป้งหมักแบบนโปลีที่เธอซุ่มซ้อมฝึกฝนเลี้ยงยีสต์เอง ทำแป้งเอง แถมยังครีเอตหน้าพิซซา โดยเลือกใช้กุนเชียงของดีประจำอำเภอบ้านไผ่ ใส่ลงแทนไส้กรอกแบบฝรั่ง พร้อมตั้งชื่อหน้าว่า ‘Banphai Lover’ อบในเตาอบพิซซานวัตกรรมที่คิดค้นจากสามีของเธอ ให้เราได้ลองลิ้ม ฉันสังเกตเห็นว่าในขณะรีดแป้งและปรุงพิซซา หรือแม้แต่ตลอดเวลาขณะบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของเธอให้ฟัง ดวงตาเล็ก ๆ ของต๋อมฉายประกายความสุขออกมาอย่างชัดเจนตลอดเวลา เป็นเครื่องยืนยันว่าเรื่องราวการค้นพบความสุขแท้ตามนิยามของต๋อมนั้นหาได้เกินกว่าความเป็นจริงอุดหนุนและติดตามความเคลื่อนไหวของร้าน Pizza the Gang ได้ที่ Facebook : Pizza the Gang หรือเพจจำหน่ายบันเบอร์เกอร์และแป้งพิซซาของต๋อมและเดอะแก๊งสาวสูงวัยได้ที่ Facebook : The Gang ขายแป้งเบอร์เกอร์ แป้งพิซซ่า โฮมเมด

Writer

สิทธิโชค ศรีโช

สิทธิโชค ศรีโช

มนุษย์ผู้ตกหลุมรักอาหารการกินมาตั้งแต่จำความได้ เคยโลดแล่นอยู่ในวงการสื่อสารด้านอาหารกว่าสิบปี ก่อนกลับบ้านนอกมาใช้ชีวิตติดกลิ่นปลาร้าที่อีสาน และยังคงมุ่งมั่นส่งต่อเรื่องราววัฒนธรรมอาหาร สุขภาพ และการดำรงชีวิตของผู้คนบนที่ราบสูง ให้โลกได้รับรู้

Photographer

Avatar

กานต์ ตำสำสู

จบวารสารศาสตร์ ม.สารคาม อายุ 26 เป็นคนสตูลที่เดินทางมาเรียนที่ภาคอีสาน ชอบฟังเพลงโลโซ คลั่งฟุตบอลไทย และชอบถ่ายภาพบ้านเกิดตัวเองเป็นชีวิตจิตใจ ปัจจุบันเปิดแล็ปล้างฟิล์มและห้องมืด ‘ฟิล์มกาหลง’ อยู่ขอนแก่น