เชื่อว่าหลายคนคงมีช่วงชีวิตในมหาวิทยาลัยด้วยการอยู่ ‘หอ’ สถานที่รวมความทรงจำต่าง ๆ ของวัยรุ่น ทั้งประสบการณ์ที่ดี ไม่ดี สนุกสนาน ดราม่า หรือเรื่องลี้ลับ
วันนี้ขอพาไปสำรวจสถาปัตยกรรม ‘หอพัก’ ยุคแรก ๆ ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นอุดมศึกษาสถานแห่งแรกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีอายุยืนยาวมากว่า 50 ปี นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในช่วง พ.ศ. 2507

หอพักถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับการใช้ชีวิตของคนที่ต้องจากบ้านมาไกล มาเรียน มาทำงานในต่างจังหวัดที่ไม่ได้เป็นภูมิลำเนาของตัวเอง แล้วยิ่งย้อนไปเมื่อ 50 ปีก่อน เทคโนโลยีความทันสมัยนั้นเทียบไม่ได้กับปัจจุบัน หอพักก็เหมือนเป็นบ้านหลังที่สองของทั้งนักเรียน นักศึกษา รวมไปถึงบรรดาครูอาจารย์ที่มาสอนในมหาวิทยาลัยแห่งนี้
พาไปดูหอพักนักศึกษาที่น่าสนใจหลังแรกกันก่อน นั่นคือหอพัก 1 – 2 หอพักรุ่นแรกของมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ยังคงใช้งานอยู่ สร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2508 ออกแบบโดย นายอมร ศรีวงศ์ เป็นอาคารสูง 4 ชั้น ใช้โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กตามสมัยนิยมในขณะนั้น หอพักนี้ออกแบบเป็นผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาวขนานไปกับแนวถนน มีห้องพักอยู่ชั้น 2 – 4 และมีใต้ถุนเปิดโล่ง


การยกใต้ถุนสูงทำให้อาคารดูโดดเด่นขึ้น แต่นั่นยังไม่ใช่สิ่งที่โดดเด่นที่สุดของอาคารนี้ เพราะสิ่งที่โดดเด่นที่สุดคือทางลาดขนาดใหญ่หรือ Ramp ที่ตั้งอยู่ปลายสุดของอาคาร ซึ่งใช้เพื่อจุดประสงค์ใดก็ไม่อาจยืนยันได้ อาจเป็นทางหนีไฟหรือขนส่งของก็ได้ และทำให้เราพอจะเดาระบบการจัดวางห้องพักแบบที่มีทางเดินอยู่ตรงกลาง โดยมีห้องพักขนาบไปทั้งสองข้างเพื่อให้ได้จำนวนห้องมากที่สุด

แต่วิธีการนี้ก็มีผลเสีย คือบริเวณทางเดินจะมืด เพราะไม่มีแสงสว่างส่องเข้ามา ผู้ออกแบบจึงกำหนดให้ห้องพักวางเรียงต่อกันมากที่สุด 5 ห้อง แล้วเว้นที่ว่างเป็นระเบียงเสียช่วงหนึ่ง และตรงระเบียงนั้นก็เพียงพอสำหรับการระบายอากาศ แก้ปัญหาเรื่องความมืด-ความชื้นได้ดีพอสมควร น่าเสียดายที่ที่นี่เป็นหอพักหญิง ผู้สำรวจซึ่งเป็นผู้ชายจึงไม่อาจขอเข้าไปดูในห้องพักได้
ไม่เพียงแต่นักศึกษาที่ต้องการหอพัก เมื่อมีบุคลากร เช่น เจ้าหน้าที่ ครู อาจารย์ต่างถิ่นมาสอนในมหาวิทยาลัย ก็ต้องการที่อยู่อาศัยชั่วคราวเช่นเดียวกัน แต่จะพิเศษกว่าหอพักนักศึกษาตรงที่แต่ละยูนิตมีห้องน้ำในตัว ไม่ใช่ห้องน้ำรวมแบบหอพักนักศึกษา และตั้งชื่อได้น่าสนใจว่า ‘แฟลตอาจารย์โสด’


แฟลตอาจารย์โสดสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2512 ออกแบบโดย อาจารย์ธิติ เฮงรัศมี และ วิศวกรณรงค์ กุหลาบ ด้วยงบประมาณก่อสร้างขณะนั้น 1.5 ล้านบาท เป็นอาคารแนวยาว 2 หลัง ใต้ถุนโล่งใช้จอดรถได้ ส่วนชั้น 2 – 3 แบ่งเป็นห้องพักจำนวน 20 ยูนิต ทางขึ้นอาคารเป็นโถงเปิดโล่ง ไม่มีผนัง โชว์โครงสร้างบันไดเห็นเด่นชัดเพื่อแยกเป็นฝั่งชายและหญิง บันไดทั้งสองฝั่งจะแยกออกจากกัน เมื่อเดินขึ้นไปก็จะพบทางเดินยาวนำท่านเข้าไปสู่ห้องพักขนาดไม่ใหญ่มากแต่มีฟังก์ชันครบครัน ทั้งห้องนั่งเล่น ห้องนอน ครัว และห้องน้ำ และแต่ละฝั่งก็มีพื้นที่ส่วนกลางเล็ก ๆ เอาไว้พักผ่อน ปลูกต้นไม้ นั่งเล่นได้


ด้วยสมัยนิยมขณะนั้น การตกแต่งอาคารจึงค่อนข้างเรียบง่ายจนดูเหมือนไม่มีอะไรพิเศษ แต่ก็สะท้อนให้เห็นความเรียบง่ายของการใช้ชีวิตในมหาลัยภูมิภาคแห่งนี้