Bangkok Tribune คือสำนักข่าวที่ไม่มี Rate Card ไม่มีโฆษณา 

แตกต่าง แปลกแยก แหกคอก จะเรียกแบบไหนก็ได้ 

แต่ ปิยะภรณ์ วงศ์เรือง ผู้ก่อตั้งสื่อสิ่งแวดล้อมภาษาอังกฤษหัวเดียวของไทยเชื่อว่า ข่าวต้องรับใช้ประชาชน ไม่ใช่สินค้าที่ตอบโจทย์การตลาด เธอเลือกทำประเด็นสิ่งแวดล้อมด้วยความสนใจ เชี่ยวชาญ และตระหนักว่านี่คือ ‘ลูกเมียน้อย’ บนโต๊ะข่าวที่ไม่มีใครสนใจ

ปิยะภรณ์คือนักหนังสือพิมพ์ประสบการณ์ 20 ปี เติบโตมาในสองสำนักข่าวต่างประเทศ Bangkok Post และ The Nation ตำแหน่งสุดท้ายของเธอในองค์กรใหญ่คือ บ.ก.ข่าวการเมือง ของสำนักข่าวย่านบางนา 

เมื่อถึงเวลา เธอออกมาเปิด Bangkok Tribune สำนักข่าวที่ดำเนินธุรกิจแบบวิสาหกิจสังคม ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรที่เชื่อในพลังของงานข่าวเพื่อสังคม เช่น Konrad-Adenauer-Stiftung, Pulitzer, สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม (สวส.) ฯลฯ

สมัยนี้ผู้คนมักตั้งคำถามว่าด้วยเป้าหมายชีวิต ว่าเราทำสิ่งต่าง ๆ เพื่ออะไร 

หากไปถามสื่อว่าเราทำข่าวไปเพื่ออะไร บางคนอาจตอบว่าเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม บางคนตอบว่าเพื่อเลี้ยงปากท้อง หรือเพื่อยอดวิว

แต่กับปิยะภรณ์ เธอทำข่าวเพื่อตอบคำถามที่เคยเผชิญในวัยเด็ก

ปิยะภรณ์ วงศ์เรือง

สถานที่ที่ดังที่สุดในจังหวัดพะเยา คือกว๊านพะเยา ทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ

น่าเที่ยวขนาดนี้ คนเยอะขนาดนี้ ย่านใกล้เคียงก็น่าจะเป็นสังคมน่าอยู่ แต่ในชุมชนของปิยะภรณ์ ในอำเภอเมือง ห่างออกไปไม่ถึง 20 กิโลเมตร ไม่มีน้ำ ไม่มีไฟ ชีวิตติดลบกันแทบทุกครัวเรือน

ทางออกของทุกครอบครัว คือการหนีไปเสียจากบ้าน ไม่ย้ายมาในเมือง ก็ตั้งดั้นด้นเข้ากรุงเทพฯ เข้ามาเป็นลูกจ้าง คนพะเยาสมัยนั้นถ้าไม่มีที่ดินก็ต้องเช่าที่นาเพื่อปลูกกินและขาย 

ปีไหนฝนไม่ตก หลายบ้านต้องเอาขันมาขอยืมข้าวมาหุงกิน บางบ้านตัดสินใจย้ายประเทศ ญี่ปุ่นคือจุดหมายยอดนิยมของผู้หญิงในภาคเหนือ ด้วยอาชีพที่ไม่น่าทำ แต่ส่งเสียครอบครัวได้

โตมาแบบนี้ ปิยะภรณ์จึงรู้จักคำว่า ช่องว่างทางโอกาส ความเหลื่อมล้ำ ปัญหาเชิงโครงสร้าง กระแทกจิตใจอยู่ตลอดเวลา 

“ตอนนั้นเราไม่รู้ว่าปัญหานี้คืออะไร จะแก้ตรงไหน ไม่รู้ว่ามันคือปัญหาเชิงโครงสร้าง สุดท้ายคนย่านนั้นจะพูดกันแค่ว่า มันเป็นเรื่องของเวรกรรม ต้องยอมรับชะตากรรมกันไป” เธอย้อนความหลัง

ด้วยความโชคดี บวกกับความมุมานะของพ่อแม่ ปิยะภรณ์ได้เรียนด้านสื่อสารมวลชนและสิ่งแวดล้อม ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รู้จักครูบาอาจารย์ดี ๆ หนึ่งในนั้นคือ ศาสตราจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ปราชญ์คนสำคัญของประเทศ

เส้นทางนี้ทำให้ปิยะภรณ์ใฝ่ฝันและผลักดันตัวเองสู่งานข่าว สำนักแรกของเธอคือ The Nation โดยดูแลเนื้อหาข่าวสารคดีชื่อว่า Focus ช่วงปี 2000 

ในวงการหนังสือพิมพ์ไทยยุคนั้น จะมีเซกชันพิเศษเป็นพื้นที่สำหรับงานข่าวแนวสืบสวนหรือข่าวสารคดี นำเสนอเรื่องราวที่ลึกกว่าการรายงานปกติ แต่ละหัวจะมีเอกลักษณ์ต่างกันไป เช่น สยามโพสต์ ก็จะมี ‘โลกสีฟ้า’ กรุงเทพธุรกิจ คือ ‘จุดประกาย’ ฝั่งหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษฝั่งตรงข้ามกับปิยะภรณ์ Bangkok Post ก็จะมี ‘Perspective’ เป็นพื้นที่เรือธงสำหรับงานแนวนี้ 

นักข่าวสมัยก่อน (หรือแม้แต่ตอนนี้ก็ตาม) ชอบทำข่าวตามสถานการณ์ ลงพื้นที่เกิดเหตุ อะดรีนาลีนสูบฉีดทำให้งานน่าตื่นเต้น แต่กับปิยะภรณ์ เธอชอบทำงานเอกสาร ด้วยเป้าหมายที่พิเศษกว่าคนอื่น

“เพราะเราต้องการค้นหาคำตอบตั้งแต่เด็ก” ปิยะภรณ์เล่า 

“เราทำงานเอกสารค้นคว้าข้อมูลค่อนข้างเยอะ ส่วนใหญ่คือการดูนโยบายว่าทำไมรัฐถึงคิดแบบนี้ ออกแบบแบบนี้ มันคือการฉายให้เห็นภาพใหญ่และเจาะลงไปถึงวิธีแก้ปัญหา”

จากหนึ่งเหตุการณ์ ลงพื้นที่ ค้นข้อมูลเพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพใหญ่ เชื่อมโยงประเด็นทำให้เห็นภาพได้ครบถ้วน พยายามค้นหาคำตอบ การทำเนื้อหาที่นำไปสู่คำถาม จุดประเด็นให้เกิดการแก้ปัญหาเชิงนโยบาย นี่คือสไตล์การเขียนข่าวที่เธอได้เรียนรู้ และฝึกฝนจนเชี่ยวชาญ 

“งานข่าวช่วยฝึกเราเชื่อมโยงประเด็นเป็น ทำให้เห็นปัญหาจาก Micro สู่ Macro ได้รู้ว่ามันคือปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่ใช่เรื่องของกรรมอย่างที่พี่ป้าน้าอาเราบอก

“มันเป็นเรื่องของความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่มีช่องว่างสูงมากระหว่างคนกลุ่มหนึ่งที่มีอำนาจ กับคนอีกกลุ่มที่ไม่มีอำนาจในการต่อรองผลประโยชน์ เราเรียกว่ามันคือการเข้าถึงทรัพยากรก็ได้นะ รวมถึงโอกาสในการพัฒนาชีวิตด้วย” 

มี 2 เหตุการณ์ที่ส่งผลต่ออุดมคติในงานข่าวของปิยะภรณ์ หนึ่ง คือการได้ทำข่าวเกี่ยวกับเขื่อนในแม่น้ำโขงช่วงที่เริ่มสร้างใหม่ ๆ ซึ่งได้ทุนสนับสนุนจาก Inter Press Service (IPS) นั่นคือข่าวใหญ่ที่ยังไม่เป็นประเด็นมากในยุคนั้น เธอใช้วิชางานข่าวเผยให้เห็นประเด็นที่ซ่อนอยู่ ซึ่งยังส่งผลต่อชีวิตคนอีกหลายสิบปี

เหตุการณ์ที่ 2 คือการได้ร่วมอบรมกับองค์กรชื่อ Indochina Media Memorial Foundation (IMMF) 

องค์กรนี้ก่อตั้งโดย Tim Page ช่างภาพชาวอังกฤษที่ทำงานในสงครามเวียดนาม สูญเสียเพื่อนนักข่าวและช่างภาพมากมาย เขาสร้างองค์กรนี้อุทิศแก่เพื่อนพ้องที่เคยมาทำข่าวและเสียชีวิตที่นี่ กิจกรรมหลักคือการอบรมนักข่าว แบ่งปันประเด็น ปลูกฝังจริยธรรมนักข่าวให้งอกงามบนภูมิภาคนี้

ปิยะภรณ์เล่าว่าเธอเข้าร่วม IMMF ช่วงเพิ่งทำงานข่าวไม่นาน ที่นี่ไม่ได้สอนแค่เทคนิค แต่ชวนคุยเรื่องความคิดในการทำข่าว หลักการที่ควรจะมี ซึ่งส่งผลต่อความคิดของเธออย่างมาก เมื่อต้องลุกขึ้นมาสร้างสำนักข่าวของตัวเอง ท้าทายความเชื่อระบบสำนักข่าวในปัจจุบัน

จาก The Nation ปิยะภรณ์ย้ายมาทำงานฝั่ง Bangkok Post และย้ายกลับมาทำงานที่ The Nation อีกครั้ง ในฐานะบรรณาธิการโต๊ะข่าวการเมือง 

ที่ผ่านมา ปิยะภรณ์ทำข่าวที่พูดถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง ปัญหาในระบบ วันหนึ่งเธอก็ได้พบปัญหาทำนองเดียวกันนี้ในสำนักข่าวที่ทำงานอยู่ทุกวัน

มองย้อนกลับไป เข้าใจได้ แต่ปิยะภรณ์อยู่ในระบบนี้ไม่ได้อีก เธอเชื่อว่างานข่าวทำหน้าที่เหมือนบริการทางสังคม (Public Service) แต่ทิศทางที่องค์กรกำลังไป คือการมองข่าวว่าเป็นสินค้า 

“มันเป็นภาวะที่ลำบากใจ ถ้าคุณยอมอยู่ในระบบ ก็ต้องถูกกดทับให้ง่อยเปลี้ย เป็นนักข่าวที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีประสิทธิผล ระบบไม่ได้เปิดโอกาสให้คุณไปทำงานที่คุณควรต้องทำ คือการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ เพราะองค์กรต้องหาเงินเพื่อความอยู่รอด คุณอยู่ในระบบก็ทุกข์ ถ้าเดินออกไปก็อาจทุกข์ แต่อาจจะหาทางไปได้ คุณต้องลอง”

ปลายปี 2019 เธอเริ่มทดลองสร้าง Bangkok Tribune สำนักข่าวที่เธอใฝ่ฝัน ขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม โดยไม่มีลูกค้ามาผูกมัด

Tribune เป็นคำศัพท์ในวงการหนังสือพิมพ์ยุคดั้งเดิม แปลว่า ผู้พิทักษ์สิทธิของมวลชน ซึ่งตรงใจเธอมาก

แล้วจะทำอะไรกิน ปิยะภรณ์ไม่ใช่นักข่าวคนแรกที่อยากทำแบบนี้ เมื่อออกมาแล้ว เธอเริ่มมองหาโมเดลธุรกิจแบบใหม่ ต้นแบบของเธอคือ The Guardian และ BBC สำนักข่าวที่เปิดโอกาสให้มวลชนมีส่วนร่วมในการลงทุนหลายรูปแบบ

เธอทำ Proposal ของ Bangkok Tribune ยาวไม่กี่หน้า ส่งให้องค์กรที่เธอเชื่อว่าคิดเหมือนกัน หนึ่งในนั้นคือมูลนิธิ Konrad-Adenauer-Stiftung จากเยอรมนี ให้ทุนเธอมาจัดโครงการ Dialogue Forum วงเสวนาที่หยิบประเด็นสิ่งแวดล้อมขึ้นมาถกเถียง มีให้ชมทางออนไลน์และออฟไลน์

Bangkok Tribune สำนักข่าวสิ่งแวดล้อมไร้โฆษณา เชื่อว่าหน้าที่นักข่าวคือรับใช้ประชาชน
Bangkok Tribune สำนักข่าวสิ่งแวดล้อมไร้โฆษณา เชื่อว่าหน้าที่นักข่าวคือรับใช้ประชาชน

ปิยะภรณ์เลือกให้ Bangkok Tribune ทำประเด็นสิ่งแวดล้อมและการเมืองภาคประชาชน เพราะคิดว่าพื้นที่ข่าวในไทยจำเป็นต้องมีเรื่องแบบนี้ให้มากขึ้น ข่าวการเมืองและเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องผิด แต่เน้นแค่ 2 อย่างนี้คงเป็นเรื่องผิดปกติ ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์โลกที่มีปัญหาความยั่งยืนมากขึ้นเรื่อย ๆ 

“เราไม่ต้องการเป็นนักข่าว NGO เราเป็นนักข่าวมืออาชีพนี่แหละที่ดูแลประเด็นนี้โดยเฉพาะ ทั้งประเด็นรายวันไปจนถึงรายงานพิเศษเจาะลึก เราเชื่อว่า Identity เราชัดในระดับหนึ่งที่จะทำให้คนเข้าใจว่าเราต้องการเชื่อมโยงไปถึงอะไร ต้องการชวนคนคุยเรื่องอะไร”

ในส่วนการบริหาร พนักงานประจำของ Bangkok Tribune มีแค่ 3 – 4 คน ที่เหลือเป็นเครือข่ายนักข่าว ช่างภาพ และที่ปรึกษาที่ช่วยให้ข่าวลึก กลมกล่อม ตอบโจทย์สังคม

ปิยะภรณ์ยอมรับว่าลำบากไม่น้อย แต่ก็ทำมาได้ย่างเข้าปีที่ 4 นอกจากงานแบบ Project Base เธอยังมองช่องทางที่ให้ประชาชนสนับสนุนงานข่าวได้ง่ายและสะดวกขึ้นด้วย

“เราไม่อยากใช้คำว่า Donation เพราะรู้สึกน่าสมเพชเกินไป 

“งานข่าวไม่น่าใช่แบบนั้น แย่สุดมันคือ Public Goods เหมือนน้ำ-ไฟที่คุณบริโภค เป็นสิ่งที่ต้องจ่าย แต่จะทำยังไงให้สังคมเข้าใจว่าคุณจ่ายเพื่อจะได้เสพมันต่อ ข่าวคือสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของชีวิต”

คนข่าวคุณภาพมีมากมาย หลายคนอยู่ไม่ได้ ต้องหันเหไปประกอบอาชีพอื่น ปิยะภรณ์ลองมองโมเดลใหม่ที่ช่วยทั้งวงการ

“ตอนยื่นภาษี เรามีช่องให้บริจาคพรรคการเมือง เราเปิดอีกช่องเพื่อลงขันให้สื่อได้มั้ย ถ้าคุณต้องการสื่อที่ทำข่าวให้คุณโดยเฉพาะ ไม่ใช่ข่าวโฆษณาหรือ CSR ตั้งเป็นกองทุนสื่อจริงจัง ในการประชุมล่าสุดของ สวส. เราก็ไปเสนอไอเดียนี้ จริง ๆ เขาก็มีกองทุน สวส. อยู่แล้ว แต่อันนั้นเป็นภาพรวม ทั้งสินค้าและบริการ แต่เรากำลังพูดถึงสื่อ เราไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้จริงจัง” เธอเล่า

พ.ศ. 2563 สวส. ออกระเบียบใหม่ เปิดให้บุคคลธรรมดาไปจดแจ้งเป็นกิจการเพื่อสังคม เป็นรูปแบบหนึ่งของวิสาหกิจเพื่อสังคม 

Bangkok Tribune เป็นสำนักข่าวเดียวที่เข้าไปจดแจ้งรูปแบบนี้ เธอเชื่อว่าเป็นรูปแบบที่ใช่ ช่วยให้การพัฒนาองค์กรทำได้ง่ายขึ้น มีอนาคตมากขึ้น

มันเป็นเรื่องตลกร้ายที่เธอทำสำนักข่าวสิ่งแวดล้อม หนึ่งในประเด็นสำคัญของโลก แต่ต้องดิ้นรนสารพัดวิธีเพื่อให้องค์กรอยู่รอด 

สถานการณ์สิ่งแวดล้อมย่ำแย่ลงทุกวัน

ในฐานะบรรณาธิการสิ่งแวดล้อม ประสบการณ์ 2 ทศวรรษ เราถามว่าเธออ่านปรากฏการณ์นี้อย่างไร

Bangkok Tribune สำนักข่าวสิ่งแวดล้อมไร้โฆษณา เชื่อว่าหน้าที่นักข่าวคือรับใช้ประชาชน

“เราไม่รังเกียจนะ อย่างน้อยเขาเริ่มอิน เริ่มเข้าใจ เริ่มเงี่ยหูฟัง”

เปิดเว็บสำนักข่าวไหน ก็มีเซกชัน Sustainability ตัวใหญ่แทบจะเต็มพื้นที่เว็บ เธอมองว่าเป็นข้อดี และนับวันภาคธุรกิจจะถูกบีบให้สนใจเรื่องนี้เข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ 

สหภาพยุโรปจริงจังกับนโยบาย Green Deal เป็นหนึ่งในเครื่องมือให้ภาคธุรกิจจริงจังกับการปรับทุกกระบวนการให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ตอนนี้ 3 เทรนด์ใหญ่ด้านสิ่งแวดล้อมที่โลกพูดถึง คือการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Lost) วิกฤตสภาพอากาศ (Climate Change) และมลภาวะ (Pollution) เรียกว่าเป็น Triple Crisis

“คนให้น้ำหนักเรื่องการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะได้รับผลกระทบจาก Climate Change เราว่า Climate Change แรงสุด เพราะจะทำให้ทุกคนอยู่ไม่ได้ และนำไปสู่การสูญพันธุ์

“3 เทรนด์นี้เป็นความท้าทายสำคัญ ควรจะดูต่อเนื่อง อีกเรื่องที่ต้องดูด้วย คือแนวทางการรับมือ”

เราต่างรู้จัก Sustainability Development Goal แต่ตอนนี้สิ่งที่กำลังเกิดคือ Climate Resilience Development Goal เพราะพัฒนาไม่ทันแล้ว หลายประเทศได้รับผลกระทบเรียบร้อย ทำอย่างไรถึงจะฟื้นกลับมาได้ นี่คือเรื่องสำคัญ

Bangkok Tribune สำนักข่าวสิ่งแวดล้อมไร้โฆษณา เชื่อว่าหน้าที่นักข่าวคือรับใช้ประชาชน

ปิยะภรณ์ไม่คิดว่าสำนักข่าวที่เป็นแบบ Bangkok Tribune เท่านั้นจะทำเรื่องนี้ได้ ต่อให้อยู่ในระบบก็มีช่องทางและโอกาสในการพูดถึงเรื่องนี้ให้เยอะขึ้นได้ 

ข่าวสิ่งแวดล้อมบ้านเรายังตามหลังประเด็นอยู่มากในความคิดเธอ ยังวิ่งไล่ตามเหตุการณ์อย่างเดียว ถ้าจะไม่ตามหลัง ก็ต้องทำให้เยอะขึ้น ศึกษาพัฒนาไปด้วยกัน

“คุณต้องใส่ใจเป็นอันดับแรก อย่างน้อยต้องทำความเข้าใจตัวงานที่กำลังทำก่อน เราได้เปรียบคนอื่นหน่อยตรงที่สัมผัสปัญหามาด้วยตัวเอง น้อง ๆ นักข่าวคนอื่นอาจมีพื้นฐานคนละแบบ มองไม่ค่อยเห็นภาพ แต่ถ้าเราเข้าใจเรื่องพื้นฐานว่างานข่าวมีเพื่อรับใช้อะไร ต้องนำเสนออะไร ไม่ใช่แค่โฟกัสเรื่องการเมืองหรือเศรษฐกิจ แต่ยังมีอีกก้อนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ถ้าเราเห็นตรงนี้ได้ เชื่อว่าคนจะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนอีก ซึ่งตอนนี้เราเริ่มเห็นการขยับแล้ว 

“สิ่งแวดล้อมไม่ใช่แค่ปรากฏการณ์หรือสถานการณ์ แต่มันเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของคนกลุ่มใหญ่ คือการเมืองภาคประชาชนอย่างหนึ่ง พวกเขามีชุดข้อมูลและข้อเท็จจริง แต่จะเข้าไปปฏิสัมพันธ์กับคนกลุ่มอื่นที่ครอบงำสังคมอยู่ได้หรือเปล่า ต่อรองเพื่อที่จะได้เข้าถึงทรัพยากรและโอกาสในชีวิตเหมือนคนอื่น ๆ มั้ย ถึงที่สุด มันคือเรื่องของการเมือง เหรียญเดียวกัน แต่มี 2 ด้าน เราละเลย ละทิ้งมันมาตลอด”

“สิ่งแวดล้อมมาพร้อมกับประเด็นการพัฒนา

“มันเป็นเสาหลักของสังคมเรา เราลืม ทิ้งเขาไว้ข้างหลังตลอด

“พอมีปัญหาขึ้นมา เช่น จัดการน้ำผิดพลาด ชุมชนก็พังด้วย นั่นหมายถึงเรากำลังทำลายทรัพยากรของเขา ทำลายโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเขา ซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ กลายเป็นความขัดแย้ง ย้อนกลับมาท้าทายสังคม การเมือง และเศรษฐกิจในภาพรวมอย่างที่เราเผชิญอยู่ในปัจจุบัน”

ตลอดชีวิตนักข่าวของปิยะภรณ์ คือการพูดถึงปัญหา 

การอยู่กับปัญหา ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกสิ้นหวังอย่างเดียว บางมุมก็ทำให้เราเห็นการพัฒนาและแสงสว่างเช่นเดียวกัน

การทำให้ผู้คนเห็นแสงสว่างในยามมืดมิด คือหน้าที่ของนักข่าวที่เธอเชื่อมั่นและทำมาตลอดชีวิต

Bangkok Tribune สำนักข่าวสิ่งแวดล้อมไร้โฆษณา เชื่อว่าหน้าที่นักข่าวคือรับใช้ประชาชน
Bangkok Tribune สำนักข่าวสิ่งแวดล้อมไร้โฆษณา เชื่อว่าหน้าที่นักข่าวคือรับใช้ประชาชน

Writer

ศิวะภาค เจียรวนาลี

ศิวะภาค เจียรวนาลี

บรรณาธิการที่ปั่นจักรยานเป็นงานหลัก เขียนหนังสือเป็นงานอดิเรก

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์