ถ้าเอ่ยชื่อ เต้-ปิติรัตน์ ยศวัฒน เชื่อว่ากลุ่มคนที่สนใจภาพวาดแนว Urban Sketchers ต้องคุ้นหูอย่างแน่นอน เต้เป็นเจ้าของผลงานหนังสือ วาดพระนคร และ วาดภูเก็จ ที่เพิ่งออกมาใหม่หมาดในปีนี้ อาชีพหลักของเธอคือสถาปนิกผู้ทำงานออกแบบบ้านอาคารต่าง ๆ และเป็นนักวาดภาพประกอบอิสระที่ค้นพบความชอบนี้หลังจากเรียนจบและออกจากการเป็นอาจารย์ประจำที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และไม่เพียงแต่ชอบวาดรูปเท่านั้น เต้ยังชอบการเดินทางและเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา 

เธอเล่าว่าช่วง 10 กว่าปีที่แล้ว เธอเห็นเพจกลุ่ม Bangkok Sketchers รวมตัวกันไปวาดบรรยากาศของเมือง ผู้คน ถนนหนทาง และในกลุ่มนั้นมีรุ่นพี่คณะที่เธอรู้จัก เธอจึงเข้าร่วมกลุ่มและไปสเกตซ์ภาพเมืองอย่างสม่ำเสมอ 

จากคนวาดรูปเมือง วัด วัง ถนนหนทาง เต้ขยายพื้นที่การวาดออกไปกว้างและลึกกว่าแค่บนแผ่นดิน เพราะในช่วงเวลานั้นเอง กิจกรรมดำน้ำเพื่อสันทนาการก็กลายเป็นงานอดิเรกอีกอย่างหนึ่งที่เธอบรรจุเข้าไปในการใช้เวลาในชีวิต เธอเริ่มวาดรูปฉากและชีวิตใต้ท้องทะเลที่เธอพบเจอระหว่างการดำน้ำ 

ถามเต้ว่ามีศัพท์เรียกคนดำน้ำแล้ววาดรูปแบบที่ทำไหม เธอตอบว่า 

“ยังไม่เคยได้ยินศัพท์เรียกนะคะ จริง ๆ ก็เท่ากับว่า Underwater Sketch หรือ สเกตซ์ใต้น้ำ เคยเห็นบางคนบ้างที่ทำ คือพอเพื่อนเจอในอินสตาแกรมก็จะส่งมาให้ดู 1 หรือ 2 ครั้ง แต่ว่าจริง ๆ เต้ไม่ค่อยถือเป็น Underwater Sketch จริงจังเท่าไร เหมือนวาดเพื่อจดโน้ต ซึ่งจะละเอียดหรือไม่ขึ้นอยู่กับจังหวะที่เรามี โน้ตไว้เพื่อที่จะขึ้นมาวาดอีกรอบให้เป็นรูปจริงค่ะ”

จุดเริ่มต้นของการวาดภาพใต้น้ำลึก

“เราเริ่มดำน้ำเพราะเพื่อนสนิทที่เรียนคณะสถาปัตยฯ ด้วยกัน เขาไปทำงานในวงการดำน้ำจริงจัง ซึ่งก็คือ มีน-ชุตินันท์ โมรา ซึ่งเขียนคอลัมน์ให้ The Cloud ด้วยค่ะ ช่วงนั้นเขาเป็นครูสอนดำน้ำและเป็น Dive Leader เต้เลยตัดสินใจเริ่มเรียนดำน้ำกับเขาและไปออกทริปกับเขาประมาณปีละ 2 ทริป เต้ทำเหมือนเป็นสันทนาการแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่เข้าร่วมกลุ่ม Urban Sketchers ได้ไม่นานค่ะ 

“ทีนี้เริ่มวาดรูปเพราะปกติคนที่ดำน้ำเขาจะซื้อกล้องตัวเล็ก ๆ ใส่ Housing กันน้ำง่าย ๆ ไปจนกระทั่งกล้องขนาดใหญ่ราคาแพง ซูมดี ๆ ขยายตัวจิ๋วเป็นตัวใหญ่ได้อะไรอย่างนี้ เพื่อบันทึกสิ่งที่เห็นใต้น้ำ เต้ก็ตั้งปณิธานว่า ฉันจะไม่ซื้อกล้อง! เพราะมันจะไม่มีวันจบ (หัวเราะ) อีกอย่างคือเต้ไม่ค่อยชอบเรื่องเทคโนโลยี และคิดว่าในเมื่อมีอุปกรณ์ในมือ เราสเกตซ์เป็นอยู่แล้ว งั้นก็วาดรูปเอาแล้วกัน   

“ตั้งแต่ตอนเรียนดำน้ำ มีนเชียร์ให้ทุกคนเขียน Dive Log คล้าย ๆ ไดอารี่ส่วนตัว เป็นการจดบันทึกทุก ๆ ไดฟ์หลังขึ้นมาจากใต้น้ำว่าไดฟ์ไซต์เราลงไปที่ไหน วันไหน เจออะไรบ้าง เจอตัวอะไร บรรยากาศเป็นยังไง ปกติไดฟ์ล็อกมีทั้งเทคนิคอล เช่น ระยะการมองเห็นแค่ไหน ใช้อากาศในการดำรอบนี้ไปเท่าไหร่ อุณหภูมิน้ำเท่าไหร่ แล้วก็ตามด้วยบรรยากาศหรือประสบการณ์ที่เราเจอในไดฟ์นั้น ๆ ไดฟ์หนึ่งประมาณ 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง 

“พอไม่มีกล้องถ่ายรูป เราจำอะไรไม่ค่อยได้ ต้องวิ่งไปขอดูกล้องเพื่อนว่าเมื่อกี้มันตัวอะไรนะ เป็นยังไง ก็จะมีความขลุกขลัก พอจดไดฟ์ล็อกมาสักพักเราเลยเริ่มขยับเป็นถือแผ่นกระดานลงไปใต้น้ำ ซึ่งเรียกว่า Dive Slate หรือสเลตดำน้ำ ปกติใช้พกไปเขียนสื่อสารใต้น้ำยามจำเป็น เพราะพูดคุยกันไม่ได้ เป็นเหมือนกระดานชนวน แต่เป็นพลาสติกสีขาวและผิวสากแบบที่ใช้ดินสอธรรมดาเขียนใต้น้ำได้ เต้เริ่มจากพกอันเล็ก ๆ ที่แถมมากับการเรียนหรือไปดำน้ำ 

“ทีนี้พอเริ่มวาด มันเริ่มใหญ่ไม่พอ เริ่มเต็มแผ่นเร็ว เพราะบางทีเราดำเกือบชั่วโมงก็เต็มหน้า เลยซื้อขนาด A4 มาใช้ ตอนลงน้ำทีก็เหมือนถือ A4 ไปประชุมอยู่ใต้น้ำค่ะ (หัวเราะ)” 

วาดภาพใต้น้ำลึกด้วยดินสอไม้

“ดินสอที่ใช้วาด เมื่อก่อนใช้ดินสอไม้แบบอ้วน ๆ หน่อย เพราะเจอน้ำทะเลแล้วไม้จะแตกเร็ว พังเร็ว แต่ว่าไส้ไม่มีปัญหานะคะ ระยะหลังก็ดินสอ 2B หรือ 4B ธรรมดาที่เราวาดรูปกันก็ถือลงไปได้ แต่ไม้จะเยินเร็วหน่อย พกไปแท่งเดียวเลย มีเตรียมไปสำรองบ้าง แต่โดยปกติก็พกไปแท่งเดียวแล้วใช้ได้เรื่อย ๆ ใช้ได้หลายทริป บางทีใช้ได้เป็นปีเลย สีของฟิล์มเคลือบไม้ดินสอซีด ปลายแท่งบิ่น แตก แยกจนเกือบเห็นไส้ดินสอ สภาพจะเยิน ๆ เท่ดีนะคะ ซีด ๆ แต่ก็ใช้ได้  

“ในการดำน้ำแต่ละครั้ง สิ่งที่เตรียมลงไปนอกจากอุปกรณ์ดำน้ำปกติ ไฟฉาย (ส่วนใหญ่ใช้ในกรณีที่ดำน้ำช่วงหลังพระอาทิตย์ตก) เต้จะเพิ่มดินสอและแผ่นสเลตขนาด A4 ลงไปด้วย 1 แผ่นทุกครั้ง ซึ่งแผ่นสเลตนี้ออกแบบให้มีตัวล็อกกับชุดดำน้ำเพื่อให้สะดวกในการพกพา

“จริง ๆ เขาจะออกแบบมามีตัวล็อก กริ๊กเข้าไปที่ตัวล็อกของเสื้อ แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้เข้าคู่กัน เพราะเสื้อเราไปเช่าเขา ส่วนใหญ่ตอนจะลงน้ำก็แค่เสียบกระเป๋าที่มีซิปของเสื้อแล้วหนีบรักแร้ไว้แล้วก็กระโดดลงน้ำไป พอลงสู่ความลึกที่เหมาะสม ทุกอย่างเซตติ้งดีแล้ว หายใจ ปรับความดันอะไรได้พร้อม ก็ค่อยหยิบออกมาเตรียมทัวร์ค่ะ  

“ปกติเต้พกแค่แผ่นเดียว จริง ๆ จะพกเยอะก็ได้ แต่ไม่สะดวก เพราะใต้น้ำมีกระแส กระดานค่อนข้างต้านน้ำ คิดว่าเอาแผ่นเดียวนี่แหละแล้วหาวิธีจด ใช้พื้นที่ให้เหมาะ สุดท้ายก็แผ่นหนึ่งกำลังดี ไม่เกะกะ

“อ้อ! ลืมบอกอย่างหนึ่งค่ะ เต้ไม่ได้ปฏิเสธการใช้กล้องใต้น้ำหรือท่องเที่ยวนะคะ แต่การพากล้องไปใต้น้ำตามมาด้วยอุปกรณ์เสริมและกิจกรรมมากมาย ทั้งก่อนลงน้ำ ใต้น้ำ และหลังขึ้นจากน้ำ ซึ่งนั่งดูเพื่อนทำก็เหนื่อยแล้ว ไหนจะต้องแบก ต้องดูแล ไหน ๆ ใช้การวาดรูปในการท่องเที่ยวบนบกแล้ว ก็ทำต่อไป ไม่ต้องซื้ออะไรใหม่นอกจากสเลตค่ะ (หัวเราะร่วน)” 

การจดไดฟ์ล็อกก็เหมือนจดไดอารี่

“ไดฟ์ล็อกจริง ๆ ในระดับนักดำน้ำเพื่อสันทนาการ (Recreational Diving) ไม่ได้มีจุดประสงค์อะไรพิเศษมากหรอกค่ะ เป็นบันทึกความทรงจำ ช่วยนับจำนวนไดฟ์ และช่วยพัฒนาสกิลล์ที่เรายังขาด แต่ด้วยความที่เพื่อนเราซึ่งเป็นคนสอนดำน้ำเห็นว่าวาดรูปได้ เขาก็จะเชียร์ให้ทำ ซึ่งเราก็มองว่าน่าจะสนุกกับการวาด 

“บางคนก็ไม่เขียนค่ะ เขาแค่จดสั้น ๆ มีนชอบบอกทุกคนที่เจอกันว่า จดสิ ๆ ไดฟ์ล็อกควรทำนะ วันหนึ่งถ้าถึง 200 – 300 แล้ว มันจะภูมิใจ 

“ข้อดีหนึ่งของการจดไดฟ์ล็อกก็เหมือนการจดไดอารี่ ทำให้เราเหมือนรีแคปตัวเองทุก ๆ ไดฟ์ว่าเจออะไร ทำอะไรที่ไหน แล้ววันหนึ่งเราย้อนกลับมาเปิดดูจะเห็นบันทึกว่าเราเคยไปที่ไหนบ้าง ที่สำคัญคือเห็นจำนวนไดฟ์ที่ผ่านมาทั้งหมด ซึ่งบางทีก็มีผลต่อการไปดำน้ำ จะรู้ว่าตัวเราอยู่ที่ประสบการณ์ประมาณไหน สำหรับเต้ตอนนี้จดมาที่ 164 ไดฟ์ ซึ่งเป็นหลักฐานที่ดีสำหรับคนที่อยากดำน้ำในระดับที่สูงขึ้น” 

จำนวนไดฟ์ที่ค่อนข้างมากของเต้ เธอบอกว่าจริง ๆ แล้วไม่ได้มาจากการที่ไปบ่อย แต่ระยะหลังเธอมักไปแบบ Liveaboard ออกเรือไปราว 5 – 6 วัน กิน-นอนบนเรือกลางทะเล วันหนึ่งดำน้ำ 4 ไดฟ์ เช้า สาย บ่าย เย็น ทริปหนึ่งประมาณ 14 – 15 ไดฟ์ 

“สมุด Diving Logbook เล่มแรกของเต้เป็นสมุดที่แถมมาจากตอนเรียนดำน้ำ มีพื้นที่จำกัดในการวาดภาพและเนื้อกระดาษบาง จด ๆ วาด ๆ ไปแล้วอึดอัด และพอดีกับช่วงนั้นที่เริ่มกลับมาวาดรูปด้วยความสนุกอีกครั้งกับ Bangkok Sketchers พอสมุดเล่มแรกนี้หมด เต้เลยเปลี่ยนมาใช้ Sketchbook เล่มเล็ก ๆ ในการจด Logbook เพื่อจะได้วาดรูปได้สนุก ๆ มากขึ้นค่ะ โดยเฉพาะช่วงหลังก็เริ่มหาอะไรเล่นเพิ่มอีก เลยใช้สมุดที่เป็นกระดาษสีส้ม สีดำ สีน้ำตาล มาระบายด้วยสี Gouache และปากกาขาว บันทึกจึงกลายเป็นการ์ตูนขึ้น ไวขึ้น ลงสีน้อย ๆ”

สำหรับการวาดภาพบนบก เรามักเห็นภาพที่สำเร็จเป็นชิ้นงาน แต่สำหรับ Underwater Sketch นั้นต่างไป ถ้าเธอไปวาดเมือง บางครั้งวาดได้ถึง 4 – 5 ภาพ ขณะที่ดำน้ำนั้นการวาดจะเป็นเหมือนการบันทึกสิ่งที่เห็น สเกตซ์สิ่งที่ประทับใจในช่วงเวลาสั้น ๆ 

“ตอนวาดในช่วงดำน้ำจะไม่ได้วาดเป็นรูป แต่เป็นการจดโน้ตว่าเจอตัวอะไร แล้วก็สเกตซ์และโน้ตไว้ว่าตัวนั้นสีเป็นยังไง เท่ากับว่าสเลต A4 2 ด้านอาจมีหลาย ๆ ตัวค่ะ เต้ไม่ได้วาดเป็นซีนเหมือน Urban Sketch แต่เป็นการวาดสัตว์หลาย ๆ ตัว หรือถ้ามีซีนที่ชอบก็จะทำโน้ตกรอบเล็ก ๆ ว่าซีนหน้าตาเป็นแบบนี้ พอขึ้นมาค่อยมาวาดจริงบนกระดาษ ลงสีอีกทีบนสมุดสเกตซ์ทั่วไปที่เราเตรียมมา

“พอขึ้นจากน้ำก็จะถ่ายรูปแผ่นสเลตไว้ แล้วเปิดสมุดไดฟ์ล็อกของเรา ลอกตามที่บันทึกไว้แล้วก็ลงสี วาดให้ละเอียดและถูกต้องขึ้น อาจต้องเปิดคู่มือหนังสือสัตว์เทียบบ้าง แต่เพราะส่วนใหญ่เต้วาดด้วยความสนุก สัดส่วนไม่ต้องเป๊ะ ๆ บางทีเปิดหนังสือคู่มืออย่างปลาประเทศไทย เปิดตัวนี้มาเทียบกับตัวที่เราเจอ แล้วจะมาทำเป็นรูปใหม่ให้มีสัดส่วนถูกต้องเลย บางทีทำไม่ได้เพราะไม่เหมือนความจำที่เราเห็นเขา

“เต้ไม่ได้จริงจังกับการต้องวาดให้เหมือน เราวาดไปตามที่เรารู้สึก เพราะเราเก็บไว้ดูเอง มีบางครั้งที่วาดแล้วพยายามลอกตามหนังสือ ซึ่งรู้สึกไม่สนุกเลย” 

“พอเราวาดแล้วก็จะพยายามลงสีให้เสร็จก่อนลงไดฟ์ถัดไป แผ่นสเลต ถ้าใช้แค่หน้าเดียว ที่ยังเหลือ ไดฟ์ถัดไปก็เอาลงไปเลย แต่ถ้าใช้เต็มแล้วก็จะใช้ฟองน้ำล้างจาน ใช้น้ำยาล้างจานหรือยาสีฟันถูแล้วล้างออกได้ค่ะ

“ถ้าดูจากแผ่นสเลตในภาพจะเห็นว่าเต้จดยิบย่อยเลย เส้นขาวดำเร็ว ๆ คือสิ่งที่วาดในสเลต พอขึ้นมา มันอยู่ที่เราจะวาดออกมาเป็นซีนหรือเปล่า ซึ่งบางทีเราก็วาดเอาจากความจำว่าเป็นแลนด์สเคปประมาณนี้ แล้วเราก็วาดเป็นฉากขึ้นมา แล้ววาดตัวนั้นตัวนี้เข้าไปที่เราเห็น แต่ของจริงไม่ได้มาเจอพร้อมกัน ขณะที่บางทีเราก็ไม่ได้วาดเป็นซีน วาดแค่ตัวเดียวใหญ่ ๆ อันนี้แล้วแต่ว่าวันนั้นเห็นอะไรมาและประทับใจอะไรในไดฟ์นั้น 

“อย่างปะการังก็มีจด ๆ มาบ้าง เพราะจะเอาไปประกอบในซีนแลนด์สเคปของเรา บางไดฟ์ไซต์ที่มีปะการังบางชนิดเยอะเป็นพิเศษ เราก็จะจดเหมือนเป็นทรงคร่าว ๆ บางจังหวะที่ปะการังซ้อนกัน มองเข้าไปเป็นเมือง เป็นอีกโลกหนึ่ง แล้วก็มีปลาเล็กปลาน้อยอยู่ในนั้น พวกนี้จะขึ้นอยู่ว่าเราประทับใจซีนไหนและเราอยากจะเก็บขึ้นมาวาด ก็คงคล้าย ๆ คนถ่ายรูปเหมือนกันค่ะ” 

เราถามเธอว่า อย่างน้อยใน 1 ทริป บันทึกทั้งหมดจะจบใน 1 ทริปเลยใช่ไหม 

“ใช่ค่ะ จะทำให้เสร็จ เพราะว่าถ้ากลับมาแล้วมันจะดอง แต่อาจมีบ้างที่กลับมาแล้วมีซีนที่ชอบก็จะมาลงสีที่บ้านเพิ่ม แต่ถ้าเป็นตัวไดฟ์ล็อกจะทำให้จบในทริป เพราะระหว่างไดฟ์มีช่วงที่จำเป็นต้องพักจากน้ำ เพื่อให้ร่างกายคืนกลับมาเป็นปกติ พักอยู่ประมาณ 2 – 3 ชั่วโมง เราจะมีเวลาทำถ้าไม่เหนื่อยหลับไปก่อน”  

วาดให้ไว ลอยตัวให้นิ่ง 

“การวาดภาพใต้น้ำต้องไวค่ะ เพราะในระหว่างที่วาดเราต้องดำไปเรื่อย ๆ กับอีกข้อหนึ่งคือมีเรื่องความยากของการทรงตัวใต้น้ำด้วย เพราะฉะนั้น เห็นอะไรก็ต้องวาดเลย 

“นอกจากในแง่ทักษะที่คนบอกว่าเต้เป็นคนวาดเร็วแล้ว คิดว่ามีเรื่องความมั่นใจและความช่างมัน เหมือนปล่อยให้ตัวเองเรียนรู้ เห็นแล้วก็วาดไปเถอะ ไม่ต้องกังวลว่าเหมือนหรือไม่เหมือน แล้วก็เราไม่มีโอกาสลบ แต่บนบกเต้ก็ไม่ลบอยู่แล้วนะคะ เราสอนทุกคนว่าพยายามเลิกใช้ยางลบเพื่อเพิ่มความมั่นใจ เส้นผิดก็ช่างมัน ค่อย ๆ วาดไปจนเจอเส้นที่ถูก ไม่ต้องลบ ไม่ต้องกังวล”

แล้วอะไรคือปัญหาที่ถ้านักดำน้ำมือใหม่แก้ไขได้ ก็จะดำได้ดีและวาดรูปได้ด้วย 

“นักดำน้ำมือใหม่จะหายใจเยอะ พึ่บพั่บ ๆ เพราะนอกจากความกังวล ยังมีความตื่นเต้นและการควบคุมการลอยตัว หรือ Buoyancy ที่ว่าเวลาเราหายใจเข้า ปอดขยายตัว เราจะลอยขึ้นนิดหนึ่ง พอเราหายใจออก ปอดยุบ ตัวเราจะค่อย ๆ ต่ำลงนิดหนึ่ง ตรงนี้ถ้าเราลดความกังวลและหายใจได้นิ่ง ๆ ช้า ๆ ธรรมดา เราจะเชี่ยวชาญขึ้น ตัวเรานิ่งขึ้น และจะวาดรูปได้ง่ายขึ้นค่ะ 

“เต้ก็เคยเจอเป็นปัญหานี้ ถ้าน้ำนิ่งไม่เป็นไร แต่ถ้าน้ำแรง เราหายใจนิดหนึ่ง บางทีมันขึ้นไปเจอกระแสน้ำแล้วตัวปลิว เหมือนลอยอยู่ท่ามกลางพายุ บางทีก็ต้องปล่อยให้ลอยไปตามกระแสน้ำ แต่มือยังวาดอยู่นะ (หัวเราะ) ซึ่งก็สนุกดี” 

ปกติการวาดภาพจะต้องมองวัตถุ แล้วถ้าตัวปลิวอย่างที่เล่า แล้วตาจะต้องมองอะไร

“อันนี้อาจเป็นข้อได้เปรียบของคนวาดรูป คือเราเก็บภาพที่เห็นเป็นเหมือนภาพถ่ายที่จดจำเอาไว้ในสมองค่ะ ถึงแม้จะผ่านไป แต่เราก็ใช้ความจำ 2 วินาทีนั้นแล้วนำมาวาดต่อ โดยพื้นฐานเต้เป็นคนสเกตซ์เร็ว เห็นปลาตัวหนึ่งก็สเกตซ์แล้วจดโน้ตว่าสีอะไร ตรงไหนสีอะไร ถ้ามีเวลาเยอะ ก็จะลงรายละเอียด ลงสัดส่วนให้ใกล้เคียงขึ้น หรือลงแรเงาให้เห็นรูปทรงหรือเห็นน้ำหนักของสีที่มากขึ้น ซึ่งเวลาจะมากน้อยบางทีขึ้นอยู่กับเพื่อนหรือกรุ๊ปที่อาจรออยู่ตรงนั้น เผื่อจะเห็นสัตว์ตัวที่เห็นยากหรือสวยเป็นพิเศษ 

เราถามเธอต่อว่า เป็นไปได้แค่ไหนที่จะวาดจนจบเป็นชิ้นงาน ณ ใต้น้ำเลย

“จริง ๆ คิดว่าได้ ถ้าอยู่ตรงนั้นนานพอ แต่ส่วนใหญ่เวลาดำน้ำก็เหมือนไปเดินเล่น มันต้องเคลื่อนที่ไปเรื่อย ๆ แล้ววนกลับมาขึ้นเรือ ไม่ใช่ลงไปแล้วอยู่ตรงนั้นครึ่งชั่วโมง เปรียบเทียบคล้าย ๆ เวลาเราไปทัวร์ เราก็อยากมีโอกาสที่จะเจอปลาหรือสัตว์แปลก ๆ เราอยู่ที่ตรงนี้แล้วอยู่ไปเรื่อย ๆ ไม่ได้เพราะยังมีสิ่งอื่นรออยู่ ทั้งสัตว์ ปะการัง ดอกไม้ทะเล หรือวิวต่าง ๆ ที่ควรจะไปเห็น”

ความสุขบนบก vs ใต้น้ำ

เต้บอกว่าการวาดภาพบนบกกับใต้น้ำให้ ‘ความฟิน’ ต่างกัน ซึ่งเธอว่าถ้าต้องให้คะแนน ขอให้การวาดบนบกมากกว่า เพราะมองแสง หยิบสีนี้ขึ้นมาผสม และถ่ายทอดภาพตรงหน้าออกไปได้ทันที แต่การวาดใต้น้ำขาดความเต็มอิ่มตรงนั้น เพราะมีข้อจำกัดเรื่องเวลาที่อยู่ใต้น้ำ 

แต่สิ่งสำคัญที่เกิดตอนใต้น้ำ คือการบันทึกสิ่งที่พบเจอจากการดำดิ่งลงไปในโลกใต้ทะเล แทนที่จะใช้กล้อง เธอบันทึกความงามเหล่านั้นผ่านความรู้สึก ความจำ แล้วถ่ายทอดมันออกมาผ่านภาพวาด 

เต้หยิบรูปปลาสีส้ม ซึ่งเป็นหนึ่งในผลงานที่เธอประทับใจแล้วเล่าว่า “นี่เป็นซีนที่ชอบที่สุด (ในตอนนี้และเป็นภาพล่าสุดที่วาด) คือตอนนั้นลอยตัว หงายท้อง น้ำนิ่งใส แสงแดดส่องลงมาไม่ลึกมาก ฝูงปลา Batfish ว่ายผ่านไปเหมือนกองทัพ เหลือบตาลงมามองดูเรา น้ำใสและนิ่งจนเห็นท้องฟ้าที่เหนือผิวน้ำขึ้นไปชัดแจ๋ว” 

ปกตินักดำน้ำมักมีความฝันอยากไปดำน้ำที่โน่นที่นี่ เจอปลาชนิดนั้นชนิดนี้ แล้วความฝันเต้เป็นอย่างไร เธอตอบอย่างอารมณ์ดีว่า 

“ไม่มีค่ะ สังเกตตัวเองว่าเป็นอย่างหนึ่ง คือนักดำน้ำจะมีความฝันว่าอยากเจอตัวนั้นตัวนี้ เช่น ถ้าไปไดฟ์ไซต์นี้ หวังว่าจะได้เจอฉลามที่อยู่ที่นี่แต่เจอยาก หรือพยายามดั้นด้นไปที่ไดฟ์ไซต์โน้นเพื่อที่จะไปเห็นตัวนั้น สำหรับเต้ไม่มีแพสชันตรงนั้นอยู่เลย ถ้าเห็นก็โชคดี แต่ก็เฉย ๆ อาจเป็นเพราะเราไม่ได้ถ่ายรูปด้วย เหมือนยืนมองด้วยความประทับใจก็พอแล้ว

“อาจเป็นนิสัยนี้ ทำให้เราเวลาวาด เราอาจไม่ได้วาดตัวที่หายาก คือตัวหายากอาจแค่บันทึกไว้ว่าเคยเจอ เราอาจอยากวาดตัวปกติ แต่พฤติกรรมน่ารักและเป็นประสบการณ์ของไดฟ์นั้น หรือตัวนี้สีน่ารักจัง เป็นปลาธรรมดานี่แหละ แต่พอดีเราได้อยู่ใกล้ สบตากับมัน อะไรอย่างนี้ก็จะบันทึกไว้

“แรก ๆ เต้วาดเป็นพวกสัตว์หรือพฤติกรรมของสัตว์ แต่หลัง ๆ อาจเพราะดำบ่อยขึ้น เราเริ่มเจอตัวที่คุ้นชิน เลยเริ่มวาดเป็นซีน เป็นบรรยากาศ เป็นแลนด์สเคป หรือแสงของน้ำตอนนั้นที่เราประทับใจ แล้วเราก็พยายามบันทึกไว้ในสมอง สี แสง ที่เราเห็น อาจจดได้นิดหน่อย แล้วขึ้นมาเอาสิ่งที่เราจด เอาภาพในสมองมาวาดออกมาเป็นซีนมากกว่าจะวาดเป็นสัตว์เป็นตัว ๆ เหมือนช่วงแรก ๆ”  

จดบรรยากาศ แสง สี ใต้ท้องทะเล ด้วยลายเส้น 

“สเกตซ์ไว้เป็นองค์ประกอบคร่าว ๆ เช่น ตอนกำลังจะขึ้นสู่ผิวน้ำ ช่วงท้าย ปกตินักดำน้ำต้องลอยตัวอยู่ที่ระดับความลึก 5 เมตร 3 นาที เรียกว่าการทำ Safety Stop เพื่อเคลียร์แก๊สในร่างกายออกไปให้หมดก่อนขึ้นสู่ผิวน้ำ เวลา Safety Stop ตรงนี้เป็น 3 นาทีที่มักจะสวยงามมาก มองลงไปจะเห็นท้องทะเลข้างล่าง พอมองขึ้นไปข้างบนเราจะเห็นฟองอากาศของเราและแสงอาทิตย์ที่ผ่านผิวน้ำลงมา มีหลายจังหวะที่เป็นซีนประทับใจ 

“เต้ชอบดูแสง ดูสีที่มันซับซ้อน บางทีจดเป็นซีนแบบนี้ แล้วเห็นนักดำน้ำเป็นตัวดำ ๆ เห็นฟองอากาศ เห็นแสงสีรุ้ง ๆ ค่อย ๆ ไล่ลงมา แล้วก็จดเป็นรหัสสีว่าตรงนี้จะใช้สีอะไร ตอนขึ้นไปใช้สีน้ำข้างบน แล้วก็ค่อยไปวาด” 

ไดฟ์ไซต์ที่ประทับใจ

  “อันนี้จริง ๆ จะลอกคำเพื่อนชุตินันท์ เขาบอกว่า ทุก ๆ ไดฟ์ไซต์เราไปซ้ำกันตลอด เช่น โลซิน อันดามัน แต่ว่าทุกครั้งที่ไปไม่เคยซ้ำกัน ไม่เหมือนกัน ถึงแม้บางทีสัตว์จะเป็นกลุ่มเดิม ปลาชนิดเดิม แต่บรรยากาศ ทุกอย่างไม่เคยเหมือนเดิม เราได้ไปเห็นความซับซ้อน สีของปะการัง ฝูงปลา ปลาเล็ก ปลาน้อย ปลาใหญ่ มันว่ายวนเหมือนฝูงสัตว์ ซึ่งการว่ายของเขาจะมีระยะห่างกับเราแล้วแต่ตัว บางตัวระยะห่างน้อย เข้ามาใกล้เมตรหนึ่งแล้วก็จะเอียงตามองเรา น่ารักดี เหมือนหมา แต่ถ้าเราเอื้อมมือไป เขาก็จะว่ายหนี บางครั้งเจอฝูงปลาใหญ่ ๆ เป็นรูปปลาใหญ่ ๆ หรือบอลลูน เราว่ายเข้าไปก็เหมือนแหวกเข้าไปกลางบอลลูน แล้วบอลลูนก็จะแยกออก ซีนนี้ก็เคยเขียนเป็นสีน้ำไว้ แล้วก็ซีนว่ายผ่านเข้าไปในถ้ำ ตอนจะออกมาเห็นถ้ำมืด ๆ แล้วน้ำข้างนอกเป็นประกาย เป็นแสง เป็นลำ เข้ามา 

“พวกนี้จริง ๆ เพื่อนถ่ายรูปกันหมด แต่เราตัดสินใจไม่ใช้กล้อง ต้องพยายามวาดให้ได้”

วาดจนอากาศหมดแทงก์ก่อนขึ้นสู่ผิวน้ำ! 

เต้เล่าว่าครั้งหนึ่งเธอเคยประมาทวาดรูปเพลินใต้น้ำจนอากาศหมดถังก่อนถึงจุด Safety Stop ใต้น้ำ 5 เมตร

“ก็อาจจะเหมือนหลาย ๆ คน พอเริ่มดำน้ำไปถึงจุดหนึ่งเราเริ่มรู้สึกไปเองว่าเราเชี่ยวชาญแล้ว เก่งแล้ว เราก็จะเริ่มชิลล์ เราก็ก้มหน้าวาดรูป จำได้คล้าย ๆ ว่าตอนนั้นมองปลาที่อยู่ที่พื้นทราย ก้มหน้าวาดไปเรื่อย ๆ เราลืมไปว่ามันลึกค่อนข้างมาก คือเพดานที่เต้ดำได้คือความลึก 30 เมตร ตอนนั้นน่าจะดำอยู่ที่ 25 เมตร ซึ่งความลึกยิ่งมากอากาศในแทงก์ยิ่งหมดเร็ว เพราะอากาศหดตัว พอเราหายใจ 1 ทีมันจะเป็นก้อนใหญ่ จะเสียอากาศไปเยอะ แล้วเต้อยู่ตรงนั้นค่อนข้างนานด้วยความมั่นใจว่าเห็นเพื่อน ๆ ก้มหน้าถ่ายรูปกันอยู่ยาว ๆ ทีนี้วาดไปวาดมา เงยหน้ามาอีกที เห็นเพื่อนเริ่มไต่ระดับขึ้นความลึกที่น้อยลง ไต่ขึ้น ๆ อ้าว เราช้าอยู่คนเดียว เราก็รีบตามไป 

“และด้วยความสะเพร่า เราไม่ได้เช็กดูอากาศในแทงก์ ซึ่งจริง ๆ ต้องดู Gauge ตลอดว่าอากาศเราลดไปเหลือแค่ไหน พอเราอยู่ที่ลึกนาน ๆ แล้วเราไม่ได้เช็กอากาศ มันจะหายไปเยอะโดยที่เราไม่รู้ตัว พอเราขึ้นไปถึงจุดที่ต้องทำ Safety Stop ตอนนั้นอากาศใกล้หมดแทงก์แล้ว ซึ่งอันตรายมากค่ะ แต่ดีที่เราไม่แพนิกแล้วเพื่อนที่ไปด้วยก็เก่ง ๆ กัน เขาทำ Safety Stop เสร็จแล้ว ก็เรียกให้เด็กเรือข้างบนหิ้วแทงก์ใหม่ดำลงมาหาเรา เพื่อให้เราใช้อากาศของแทงก์ใหม่ในการทำ Safety Stop เพราะถ้าไม่ทำแล้วขึ้นไปเลย แก๊สในร่างกายจะขยายตัวและค้างอยู่ในตัว ซึ่งอันตรายถึงชีวิต หรือถ้าอากาศหมดแล้วรีบขึ้นไปเลย ปอดอาจฉีกได้ด้วย 

“เพื่อความปลอดภัย คุณจำเป็นต้องอยู่ตรงนั้นให้ได้ 3 นาทีเพื่อทำ Safety Stop จำได้ว่าตอนนั้นคือมือหนึ่งจับท้องเรือ จับเชือกหรืออะไรไม่แน่ใจ แล้วพยายามเอาตัวให้อยู่ต่ำ แล้วก็จับ Regulator ที่เชื่อมกับแทงก์ที่เด็กห้อยไว้ เด็กเรือก็มือหนึ่งจับแทงก์ อีกมือห้อยเรือไว้ แล้วก็หายใจให้นับเวลาให้ครบ พอเคลียร์ดีแล้วเราค่อยขึ้น อันนี้คือเคสที่ 1 เกิดจากความสะเพร่าที่เราอยู่ลึกแล้วไม่คอยเงยหน้าดูเพื่อนและไม่ค่อยเช็กอากาศตัวเอง โชคดีว่าปลอดภัยค่ะ 

“อีกเคสคล้าย ๆ กัน คือก้มหน้าดูอะไรบางอย่างอยู่ ช่วงนั้นเป็นช่วงโพล้เพล้ใกล้ค่ำ หรืออาจเป็น Sunset Dive จำไม่ได้ แต่ใต้น้ำมืดไปแล้ว ซึ่งเราอาศัยไฟฉายอย่างเดียว แต่เคสนี้ไม่เกี่ยวกับการวาดรูปนะคะ เป็น Sunset Dive ที่มือต้องถือไฟฉายก็จะไม่ได้วาดรูป แต่เราใช้ไฟฉายดูอะไรสักอย่างจนเพลิน ทีนี้พอเงยหน้าขึ้นมาแล้วหาใครไม่เจอเลย น่ากลัวมากตอนนั้น ต้องทำตามขั้นตอนที่เขาสอนไว้ คือปิดไฟฉายเพื่อให้ทุกอย่างมืดสนิท แล้วตาจะเริ่มปรับแสงและเห็นทุกอย่างชัดขึ้น เราอาจเห็นว่ามีแสงไฟฉาย เทา ๆ มัว ๆ อยู่ไกล ๆ แล้วเราก็จะว่ายไปหาแสงนั้นได้ แต่ต้องปิดไฟฉายมืดสนิทแป๊บหนึ่ง แต่วันนั้นคือปิดไฟแล้วก็ยังไม่ค่อยเห็นใคร ใช้ความรู้สึกเอาว่าเมื่อกี้เรากำลังมุ่งหน้าไปทางไหนกัน ลองไปทางนั้นดูสัก 5 เมตร 10 เมตร จนเริ่มเห็นไฟเทา ๆ ไกล ๆ ก็รีบตามไป แต่ไม่ได้บอกใครนะคะว่าเมื่อกี้หลงมา คือทำตัวเนียน ๆ เป็นปกติ ชิลล์ ๆ ไป แต่หัวใจตึกตัก ๆ มาก” 

อะไรคือความน่าหลงใหลที่ทำให้คนคนหนึ่งลงไปดำน้ำแล้ววาดรูป

“ยกตัวอย่างของการวาดรูปบนบกก่อนนะคะ เวลาเรานั่งสเกตซ์ เราได้รับรู้สภาพวาดล้อมตรงนั้น ผ่านผัสสะ Sense ต่าง ๆ รูป รส กลิ่น เสียง ความร้อน ควันรถ ขี้หมา เสียงคลื่น เสียงถนน ผู้คนผ่านไปมา ทักทาย มันเป็นประสบการณ์ใหม่ที่ลึกกว่าการเดินถ่ายรูปแล้วผ่านไป แล้วยิ่งนั่งสเกตซ์ เราจะค้นพบสิ่งที่ถ้าเราถ่ายรูปเราจะไม่ทันเห็น อย่างเราวาดเมือง เอ๊ะ หน้าต่างตรงนี้เป็นแบบนี้เหรอ ยิ่งเป็นสถาปนิก เอ๊ะ โครงสร้างตรงนี้ทำอย่างนี้เหรอ หรือว่า อ๋อ เขาใช้สี ใช้ดีเทลตรงนี้แบบนี้ พอเราเริ่มวาด เราเห็นคนเห็นอะไรต่าง ๆ อีกแบบหนึ่ง แล้วมันเป็นประสบการณ์ที่อยู่ในความทรงจำตลอดไป ทุกครั้งที่เรากลับมาดูรูปเก่า ความรู้สึกนั้นคงอวล ๆ อยู่  

“สิ่งนี้ใต้น้ำก็คล้าย ๆ กัน พอเราเริ่มวาด เช่นวาดสัตว์สักตัวที่เรารู้สึกประทับใจในไดฟ์นี้ ถึงแม้จะเป็นปลาที่เราเจอทุกไดฟ์ก็ตาม พอเราเริ่มวาดจะเห็นว่า เอ๊ะ เขามีสีตรงนี้ด้วยเหรอ มีครีบตรงนี้ด้วยเหรอ จริง ๆ มีครีบด้านนี้อีกสีหนึ่ง ถ้าถ่ายรูปเราก็ไม่เห็น แต่ถ้าวาดแค่เป็นซีนเราก็ไม่เห็นนะคะ ซึ่งถ้ามีเวลา เพื่อนยังถ่ายภาพตรงนี้อีกนาน เราก็จะวาดเขาละเอียดขึ้น พบสิ่งใหม่ ๆ มากขึ้น แต่ละครั้งไม่เคยเหมือนกันเลย 

“แต่ถามว่าอะไรที่ต่างกันระหว่างบนบกกับใต้น้ำ มันก็เป็นแค่ความคล่องตัวค่ะ การไปวาด Urban Sketch ยากกว่าวาดในสตูดิโอในแง่ของทุกสิ่งที่เปลี่ยนตลอดเวลา คน แสง เวลา หรือต้องเจอกับอากาศร้อน เจอฝน เจอที่นั่งไม่สะดวกสบาย มีความขลุกขลักประมาณหนึ่ง แล้วลงไปใต้น้ำก็เป็นความขลุกขลักอีกแบบหนึ่ง ทั้งกระแสน้ำ ข้อจำกัดของอุปกรณ์ เวลาที่เรากำหนดเองไม่ได้ เราต้องเป็นผู้ว่ายตาม Dive Leader เท่านั้น อย่างมากอ้อยอิ่งได้แป๊บหนึ่งแล้วก็ตามท้ายฝูงไป และมีข้อจำกัดอุปกรณ์ที่เราต้องใช้สมองจำความประทับใจนั้นให้ชัด ต้องพยายามเลยว่าฉันจะจำสิ่งนี้ให้ได้ จะจำสีนี้ให้ได้ แล้วขึ้นไปค่อยวาด”  

นอกจากนี้ เต้ยังเล่าถึงสีของใต้น้ำ ซึ่งเป็นสีที่เราไม่เคยเจอมาก่อนด้วย 

“มันจะมีความวาวที่เราวาดไม่ได้ ถ้านึกถึงหมึกหรือปลาที่เราอาจเห็นบนบก จะมีความแวว ๆ อยู่นิดหนึ่ง บางทีเป็นตัวดำแล้วจุดฟ้าแบบฟ้าเทอร์ควอยส์สุด ๆ ต้องเป็นสีนีออนเท่านั้น ใช้สีน้ำบางทีไม่มี 

“และอีกอย่างคือเวลาอยู่ใต้น้ำ แสงสีแดงจะถูกดูดกลืนหายไปมากที่สุด ทำให้ยิ่งลึก แสงสีแดงจะเห็นเป็นสีดำ สีน้ำตาล ต้องใช้ไฟฉาย ซึ่งไฟฉายของนักดำน้ำมือสมัครเล่นจะไม่ชัด บางทีต้องไปอาศัยไฟจากเพื่อนที่เป็นเหมือนสปอตไลต์ฉายไปจึงจะเห็นสีที่ชัดขึ้น” 

ภาพวาด เสน่ห์ และการอนุรักษ์

สำหรับนักวาดภาพแล้ว เต้บอกว่าการลงมือวาดทำให้มองเห็นรายละเอียดเล็ก ๆ และการวาดภาพนั้นใกล้ชิดผู้คนได้มากกว่าภาพถ่ายในบางแง่มุม 

“ยกตัวอย่างการวาดรูปบนบก วาดบ้านไม้เยิน ๆ ถ้าเป็นภาพถ่าย คนจะสนใจน้อยกว่า แต่ถ้าถ่ายทอดออกมาเป็นสีน้ำ เป็นรูปวาดจะมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่หันมามอง แต่ทั้งนี้ขึ้นกับพื้นฐานของเราด้วยนะคะ เต้ชื่นชอบอาคารเก่าอยู่แล้ว และเราก็เห็นได้ชัดจากการไป Urban Sketch เรารู้ว่ารูปที่เราวาดมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมคุณค่าให้คนเห็นความงามของสถานที่และผู้คน เช่น ชุมชนเก่า ๆ อาจดูทรุดโทรม แต่พอเราวาด คนตรงนั้นเห็นเราวาดก็มองว่า เออ บ้านเขาก็สวยเหมือนกันนะ ทำให้เขาเห็นคุณค่าในชุมชนตัวเอง อีกส่วนคือถ่ายทอดไปให้คนอื่นเห็นความงาม ส่วนนี้คงเป็นส่วนหนึ่งของกระแสที่ทำให้คนมองเห็นคุณค่าและอนุรักษ์สิ่งต่าง ๆ ให้สืบต่อกัน

“ส่วนการวาดภาพใต้น้ำ คือการเอาตัวเราลงไปรับรู้เสน่ห์ของบรรยากาศใต้น้ำ บวกกับการได้รับความรู้จากเพื่อนหรือครูดำน้ำว่าสิ่งไหนอยู่ร่วมกันยังไง มีพฤติกรรมยังไง สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมยังไง เรื่องน้ำเสีย มลภาวะ อุณหภูมิโลก อุณหภูมิน้ำที่สูง มีผลต่อสัตว์เหล่านี้ยังไง หรือไดฟ์ที่เราเห็นว่าสัตว์พวกนี้หรือกลุ่มนี้เยอะ เพราะสัตว์อีกกลุ่มหนึ่งหายไป อาจเพราะการกระทำของคน อะไรอย่างนี้มันค่อย ๆ ซึมซับเข้ามาทีละน้อย ๆ 

“ถามว่าสิ่งที่เราวาดจะมีอิมแพกต์ชัดเหมือนกับภาพบนบกไหมก็ยังไม่แน่ใจเหมือนกันค่ะ แต่ก็อาจทำให้คนที่เห็นรูปของเราหันมาสนใจสิ่งต่าง ๆ ใต้น้ำมากขึ้น อาจมาจากตรงที่เราจดชอร์ตโน้ตหรือโพสต์ให้คนเห็นสิ่งเหล่านั้น แต่ถามว่าชัดมั้ยก็ยังไม่ชัดเท่ากับเพื่อนเราที่เขาถ่ายรูป ถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้นชัด ๆ สอดแทรกแนวคิดในการอนุรักษ์สภาพแวดล้อม น่าจะเอาไปเล่าได้ชัดกว่าค่ะ 

“การที่เราได้ไปเห็น ไปสังเกต ไปวาด เหมือนเราได้ไปรับรู้ว่ามีระบบนิเวศอื่น มีโลกอื่น เป็นอีกสิ่งหนึ่งเลยที่แค่ดูรูปถ่ายหรือดูรูปวาดก็ยังไม่เท่ากับเอาตัวเราไปอยู่ตรงนั้น” 

ภาพ : ปิติรัตน์ ยศวัฒน และเพื่อนนักดำน้ำ
Facebook : PiTi Art

Writer

Avatar

สกุณี ณัฐพูลวัฒน์

จบเกษตร แล้วต่อด้านสิ่งแวดล้อม แต่เติบโตด้านการงานด้วยการเขียนหนังสือมาตลอด ชอบพูดคุยกับผู้คน ชอบต้นไม้ ชอบสวน ชอบอ่าน ชอบงานศิลปะและชอบหนังสือภาพ ทุกวันนี้จึงพาตัวเองคลุกคลีอยู่กับสิ่งที่ชอบที่ชอบ ด้วยการเขียนหนังสือ ทำงานศิลปะ เดินทาง และเปิดร้านหนังสือ(ภาพ)ออนไลน์ Of Books and Bar