The Cloud x GC Sustainable Living Symposium

การลาออกจากงานประจำมาทำเกษตร อาจฟังดูเป็นความคิดที่ไม่เข้าท่าในสายตาใครหลายคน

แต่สำหรับ อารีย์ อยู่คง แห่งเพื่อนสวนฟาร์ม เธอพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าหนทางนี้เป็นไปได้

“เรามองว่าเกษตรกรไม่จำเป็นต้องยากจน ทุกวันนี้เรามีการทำเกษตรแบบ Smart Farming ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย มีช่องทางหาตลาดเองได้ ถ้ารู้จักปรับตัว”

วันนี้อารีย์คือเจ้าของฟาร์มเมลอนในจังหวัดระยองที่ชื่อ ‘เพื่อนสวนฟาร์ม’ อีกทั้งยังมีคาเฟ่ที่ลูกค้าเดินเที่ยวชมฟาร์มได้ มีจุดถ่ายรูปเก๋ ๆ มีต้นไม้ใหญ่ บ่อน้ำ มีอาหารคาวหวานที่ทำจากผักผลไม้สด ๆ ที่ปลูกเอง แถมยังต่อยอดเป็นชุดปลูกผักไมโครกรีนที่ให้คนเมืองซื้อไปปลูกกินเองได้ง่าย ๆ 

เราได้รู้จักกับอารีย์ในงาน ‘GC Sustainable Living Symposium 2023 : We are GEN S’ ซึ่งรวมพลคนที่ทำเรื่องความยั่งยืนจากหลายภาคส่วนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งอารีย์แห่งเพื่อนสวนฟาร์มก็คือหนึ่งในสปีกเกอร์ของงานนี้ และนั่นจึงทำให้เรามีโอกาสนัดคุยกับเธอ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวที่เราเชื่อว่าน่าจะเป็นตัวอย่างและสร้างแรงบันดาลใจให้ใครอีกหลายคนที่มีความฝันคล้าย ๆ กัน 

Back to Nature

ย้อนกลับไปในสมัยเด็ก เธอเติบโตมาในครอบครัวเกษตรกรจังหวัดระยอง ที่บ้านมีสวนผลไม้ ผืนนา แปลงพืชผักสวนครัว ซึ่งเธอก็มีโอกาสช่วยพ่อแม่รดน้ำผัก ตามไปสวน จนผูกพันกับต้นไม้และการเกษตรมาตั้งแต่เด็ก ความรักในต้นไม้ของเธอมากถึงขนาดว่า เวลาว่างเคยเดินเข้าห้องสมุด เปิดหนังสือต้นไม้ และท่องชื่อต้นไม้ในหนังสือ 400 กว่าหน้าได้หมด

แต่ก็เช่นเดียวกับใครอีกหลายคนที่ความสนใจในวัยเด็กถูกทิ้งไว้ข้างหลังเมื่อถึงเวลาต้องเลือกอาชีพ หลังเรียนจบปริญญาตรี อารีย์เริ่มงานแรกด้วยงานลูกค้าสัมพันธ์ของบริษัทแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ 

“ช่วงปลายปี 4 มีคนชวนให้สมัครงานนี้ เราเห็นว่าเป็นโอกาสดีเลยลองทำ หาประสบการณ์ แต่ทำไปสักพักก็รู้สึกว่าไม่มีความสุข มันไม่มีธรรมชาติ ไม่มีที่กว้าง ๆ เหมือนอยู่บ้าน อยู่ได้ปีเดียวก็ย้ายกลับมาทำที่ระยอง เป็นงานด้านแอดมิน เลขาฯ”

แม้จะยังคงทำงานประจำในออฟฟิศ แต่เมื่อได้กลับมาอยู่บ้าน เธอก็มีโอกาสใช้เวลาว่างวันเสาร์-อาทิตย์ทำสิ่งที่รัก นั่นคือการเปิดร้านต้นไม้และรับจัดสวนร่วมกับสามีที่เป็นสถาปนิก จนเวลาผ่านไปอีกราว 6 ปี เธอก็เริ่มรู้สึกว่างานเสริมวันเสาร์-อาทิตย์มีความสุขกว่างานประจำ

“เราเริ่มรู้สึกอิ่มตัวกับงานออฟฟิศ พูดง่าย ๆ ว่าเบื่อนั่นแหละ เหมือนแค่ทำงานตามหน้าที่ให้จบไป ไม่ได้มีไฟเหมือนตอนจบใหม่ ๆ แล้วเราก็เห็นว่างานเสริมมันไปได้ เลยตัดสินใจลาออก ซึ่งก่อนหน้านี้สามีก็ลาออกมาเปิดร้านต้นไม้ในห้างก่อนแล้ว”

แม้ว่าการลาออกจากงานประจำของทั้ง 2 คนจะเป็นสิ่งที่คนรอบข้างทักท้วง เพราะดูเป็นหนทางที่ตรงข้ามกับความมั่นคง แต่เธอก็เชื่อมั่นว่าหนทางนี้มีความเป็นไปได้ 

“การออกมาทำธุรกิจของตัวเองเป็นงานที่สบายใจและหนักใจไปพร้อม ๆ กัน เราต้องเรียนรู้การบริหาร ต้องรับผิดชอบมากขึ้น เพราะตอนนี้ไม่ใช่แค่เราแล้ว ยังมีลูกน้องอีก 2 – 3 ชีวิตที่ต้องดูแล แต่เราก็มีความสุขในแง่ที่ว่าได้ทำในสิ่งที่เรารัก ถึงเหนื่อยแค่ไหนก็ยังเป็นสิ่งที่เราชอบ และได้อยู่กับครอบครัว” 

ธุรกิจของอารีย์ในช่วงแรกคือการขายต้นไม้ รับจัดสวน ดูแลบ้านให้ลูกค้า จนต่อมาเธอได้มีโอกาสรับเหมาให้บริษัทในเครือ ปตท. ธุรกิจของเธอจึงเติบโตขึ้น จนกลายเป็นบริษัทที่มีลูกน้อง 50 – 60 คน อีกทั้งงานวิจัยที่เธอได้เรียนรู้จากงานนั้นก็เป็นพื้นฐานที่ทำให้เธอตัดสินใจต่อยอดเป็นฟาร์มเมลอนและบัตเตอร์นัตสควอชของตัวเอง 

“ในสมัยนั้นยังไม่ค่อยมีคนปลูกเมลอนเท่าไหร่ เราเลยเลือกปลูกเพื่อสร้างความแตกต่าง พอ Demand มาก แต่ Supply น้อย ก็ทำให้เรากำหนดราคาเองได้ และเราก็ทำตลาดออนไลน์ให้คนสั่งจองล่วงหน้า” 

หลังจากทำฟาร์มเมลอนควบคู่รับเหมาจัดสวนอยู่ 5 – 6 ปี เธอก็เริ่มมองว่าการรับเหมาจัดสวนอาจไม่มั่นคงนัก เนื่องจากต้องพึ่งพาลูกค้าเป็นหลัก ถ้าลูกค้าไม่ทำโครงการต่อ บริษัทของเธออาจไม่รอด เธอจึงคิดหาทางขยายธุรกิจ โดยเข้าร่วมโครงการปั้นนักธุรกิจเกษตร และได้ผลลัพธ์เป็นคาเฟ่ในสวน เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่อยากใกล้ชิดธรรมชาติ มีจุดเด่นคือนำผลผลิตจากฟาร์มมาเสิร์ฟถึงโต๊ะ 

นอกจากนั้น ในช่วงโควิดที่ผ่านมา อารีย์ยังพัฒนาผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ คือชุดปลูกผักไมโครกรีน ทำให้คนเมืองปลูกผักกินเองได้ง่าย ๆ เพียงแค่หยอดเมล็ดลงวัสดุปลูก รดน้ำ รอ 5 – 7 วันก็ได้ต้นอ่อนผักต่าง ๆ มาทำอาหาร ซึ่งเธอเล่าว่าจุดเด่นของผักไมโครกรีนหรือต้นอ่อนผัก คือมีคุณค่าทางอาหารสูงกว่าผักชนิดเดียวกันเมื่อโตเต็มที่ ซึ่งผลิตภัณฑ์นี้ก็ทำให้ฟาร์มของเธอเป็นที่รู้จักมากขึ้น

Entrepreneur’s Lesson

สำหรับอารีย์แล้ว เธอมองว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้เพื่อนสวนฟาร์มเติบโตมาถึงวันนี้ได้ คือความใส่ใจในรายละเอียดและให้ความสำคัญกับคุณภาพสินค้า

“เราจะนึกถึงใจลูกค้าเสมอว่าอยากได้แบบไหน เราไม่ได้ขายถูก แต่เรารู้ว่าลูกค้าซื้อเพราะความคุ้มค่า เราจะภูมิใจกับคำชมที่ว่า ที่นี่ใส่ใจรายละเอียดแม้เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ปกติเราจะใช้ดอกไม้ทานได้ตกแต่งชุดอาหาร ซึ่งก็มีลูกค้าที่สั่ง 800 ชุด แล้วบอกว่าไม่ต้องแต่งสวยก็ได้ แต่เราก็บอกว่าเราอยากทำให้”

สวนเมลอนของเพื่อนสวนฟาร์ม อารีย์บอกว่าเธอมีมาตรฐานชัดเจนว่าความหวานต้อง 14 Brix ขึ้นไป ถ้าลูกค้าซื้อไปแล้วพบว่าไม่หวานหรือคุณภาพไม่ดี ก็นำมาเคลมเพื่อเปลี่ยนลูกใหม่ได้ อีกทั้งการปลูกของเธอก็เป็นไปตามมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practices) ที่ยืนยันถึงความปลอดภัยต่อผู้บริโภค

ส่วนเรื่องความยั่งยืน อารีย์เองก็พยายามลดการใช้สารเคมีให้เหลือน้อยที่สุด โดยถ้าเลือกได้ก็จะใช้สารสกัดจากธรรมชาติทดแทน แม้ว่าจะทำให้ต้นทุนสูงขึ้นก็ตาม

“สารสกัดจากธรรมชาติมักต้องใช้เยอะกว่า อย่างเช่นสารเคมีราคาขวดละ 1,500 – 2,000 บาท พ่นเดือนละ 1 – 2 ครั้ง แต่สารสกัดธรรมชาติขวดละ 700 – 800 บาท แต่ต้องพ่นทุกสัปดาห์ ทำให้ต้นทุนสูงกว่า แต่เราก็เลือกใช้ เพราะห่วงตัวเองด้วย ห่วงผู้บริโภคด้วย ห่วงสิ่งแวดล้อมด้วย”

ส่วนนวัตกรรมอีกอย่างที่ช่วยทำให้ลดการใช้สารเคมีได้มาก คือการปลูกในโรงเรือน เพราะโรงเรือนช่วยกันแมลงตัวใหญ่ที่จะเข้าไปวางไข่ และช่วยกันฝน ลดโรคที่มาพร้อมกับความชื้นได้มาก อีกทั้งทำให้ปลูกได้ทุกฤดูกาล 

“เรามองว่าอนาคตการเกษตรจะมีแนวโน้มไปในทางเกษตรยั่งยืนเพิ่มขึ้น อย่างเมลอนและพืชกระตูลแตง เป็นพืชอายุสั้น ที่มีโรคและแมลงกวนค่อนข้างเยอะ สมัยก่อนเกษตรกรปลูกแบบใช้สารเคมีกันมาก ซึ่งอันตรายกับคนปลูกและคนกิน ทุกวันนี้เปลี่ยนมาปลูกในโรงเรือนมากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคก็ต้องช่วยกันด้วย โดยส่งเสริมเกษตรกรที่ผลิตในระบบที่ปลอดภัย เพราะการทำเกษตรอินทรีย์ใช้ต้นทุนเยอะกว่า ต้องขายแพงกว่า ถ้าคนเลือกแต่ของที่ราคาถูก คนทำของดี ๆ ก็จะไม่มีกำลังใจและกำลังทรัพย์ในการทำต่อ”

เมื่อถามถึงหนทางการอยู่รอดของอาชีพเกษตรกรในอนาคต อารีย์มองว่าอาชีพเกษตรกรอยู่รอดและมั่นคงได้ หากรู้จักปรับตัวให้ทันโลก 

“เราเองตอนมาทำใหม่ ๆ พ่อแม่ก็ไม่เห็นด้วย วิธีที่ทำให้เขายอมรับคือต้องพิสูจน์ให้เห็น เรามองว่าอนาคตประชากรโลกเพิ่มขึ้น ต้องการอาหารเพิ่มขึ้น ยังไงก็ต้องการอาชีพนี้ แต่ความรู้เกษตรอย่างเดียวไม่พอ ต้องศึกษาตลาดและการทำธุรกิจด้วย ต่อให้คู่แข่งเยอะ ถ้าเรามีจุดแตกต่าง ยังไงลูกค้าก็มาหาเรา อย่างที่ญี่ปุ่น เกษตรกรเป็นอาชีพที่รวย เพราะเขามีพื้นที่เกษตรน้อย ทำอะไรมาก็ขายได้ แล้วเขาทำแบบประณีต คุณภาพดี ทำมาทีคนก็อยากซื้อ”

ทุกวันนี้ นอกจากเพื่อนสวนฟาร์มจะมีลูกค้าแวะเวียนมาไม่ขาดสายแล้ว ยังมีเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีความฝันคล้าย ๆ กันเข้ามาขอคำแนะนำอยู่เสมอ ซึ่งเธอก็ยินดีแบ่งปันความรู้โดยไม่เคยมองว่าพวกเขาเป็นคู่แข่ง แต่มองว่าเป็นการสร้างทางเลือกใหม่ ๆ ให้ลูกค้า เพราะแต่ละคนก็มีจุดเด่นที่ไม่เหมือนกัน 

“การจะทำอะไรสักอย่าง ถ้าเราได้ทำในสิ่งที่รัก ก็ถือว่าสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องเป็นเกษตรกรก็ได้ แต่สำคัญคือให้ถามตัวเองว่าเรารักอะไร” 

GC Sustainable Living Symposium งานที่อัปเดตเทรนด์ความยั่งยืนและแนวทางปฏิบัติจากหน่วยงาน เพื่อแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยงานปีนี้มาในธีม ‘We are GEN S’ เจเนอเรชันแห่งความยั่งยืนที่ GC อยากชักชวนทุกคนมาร่วมเป็นส่วนหนึ่ง เพราะความยั่งยืนคือทางรอดเดียวของโลก ติดตามเรื่องราวได้ที่

ภาพ : เพื่อนสวนฟาร์ม

Writer

Avatar

เมธิรา เกษมสันต์

นักเขียนอิสระ เจ้าของเพจ ‘Nature Toon การ์ตูนสื่อความหมายธรรมชาติ’ สนใจเรื่องธรรมชาติ ระบบนิเวศ สรรพสัตว์ โลกใต้ทะเล และการใช้ชีวิตแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีผลงานหนังสือแล้ว 2 ชุด คือ ‘สายใยที่มองไม่เห็น’ และ ‘สายใยใต้สมุทร’