21 กุมภาพันธ์ 2024
2 K

PHTAA อ่านว่าอะไร นี่เป็นคำถามที่พวกเขาต้องตอบเป็นประจำ และเป็นคำถามแรก ๆ ที่เราหยิบยกขึ้นมาเมื่อได้เจอกัน

PHTAA อ่านว่า พี-เอช-ที-เอ-เอ ซึ่ง P คือ พลวิทย์ (วิทย์-พลวิทย์ รัตนธเนศวิไล) H คือ หฤษฎี (พลอย-หฤษฎี ลีละยุวพันธ์) T คือ ธนวรรธน์ (โต๋-ธนวรรธน์ ปัจฉิมะศิริ) หรือชื่อของผู้ก่อตั้งทั้ง 3 ส่วน AA มาจาก And Associate

ปลายปีที่ผ่านมาพวกเขาได้จัดนิทรรศการครบรอบ 9 ปีของออฟฟิศไป ใช้ชื่อว่า ‘Re-Appropriate’ ซึ่งเป็นชื่อที่บ่งบอกสิ่งที่พวกเขามองเห็นตัวเองเป็นอย่างมาก

ท่ามกลางออฟฟิศสถาปนิกมากมาย พวกเขาเป็นอีกทีมที่มีผลงานโดดเด่น หากตั้งใจมองสักนิดก็คงเห็นได้ว่าทีมนี้เล่นสนุกกับการออกแบบไม่เคยหยุดหย่อน

วิถีของเขาคือการหยิบสิ่งเดิมมาสร้างสรรค์ใหม่อีกครั้งในวิธีที่ไม่เคยทำมาก่อน เพื่อมองหาความเป็นไปได้ ‘อื่น ๆ’ ที่น่าสนใจ และหากมีการหยิบไอเดียมากางบนโต๊ะ พวกเขาก็มีวิธีการตัดสินใจที่ไม่เหมือนใคร เพราะอย่างที่พลอยบอก “อันไหนไม่มั่นใจ เราจะเลือกอันนั้น”

เราจะพาคุณไปรู้จักกับนักพลิกแพลงอย่าง PHTAA Living Design ผ่านวิธีคิด ประสบการณ์ และสิ่งที่พวกเขาตกตะกอนมาตลอด 9 ปีที่ผ่านมา

ข้อดีของความกำกวม

โดยปกติทั่วไป ออฟฟิศสถาปนิกมักเกิดมาจากเพื่อนที่ทำงานด้วยกันเข้าขา แล้วชักชวนกันมาก่อร่างสร้างตัวที่ใหม่ แต่ PHTAA ไม่ใช่อย่างนั้น

เรื่องราวเริ่มมาจาก วิทย์ สถาปนิกจากศิลปากร พบอินทีเรียสาวบางมดอย่างพลอยในโซเชียลมีเดีย แล้วเห็นในสิ่งที่พลอยเป็น สิ่งที่พลอยชอบ แม้ไม่เห็นงานออกแบบของพลอยเลยแม้แต่นิด แต่นั่นก็มากพอแล้วที่วิทย์จะสนใจ

“เขาเป็นคนที่มี Resource เยอะ เหมือนเป็นเหมืองแร่ที่ยังไม่ถูกขุด เหมือนเพชรที่ยังไม่ถูกเจียระไน ” วิทย์เปรียบเปรย

หลังจากที่วิทย์ส่งข้อความไปทักทายพลอย ไม่นานเกินรอ ออฟฟิศ PHTAA ก็เกิดขึ้นตามมา โดยมี โต๋ Interior Designer รุ่นน้องมหาวิทยาลัยของวิทย์ และเพื่อนร่วมงานเก่าของพลอย เป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายที่มาเติมเต็มทีมให้สมบูรณ์ที่สุด

3 คนเป็นจำนวนที่พวกเขามองว่าลงตัวและทำให้เกิดสมดุลของการโยนไอเดีย

ทั้ง 3 ตกลงกันว่าจะยึด 3 คำหลัก อย่าง Sculptural (ความสวยงามในรูปทรง) – Autonomous (อิสระทางความคิดของแต่ละคน) – Ambiguous (ความกำกวม) เป็นแนวทางในการทำงานด้วยกัน

“เราคุยกันว่า ถ้ามัน ‘กำกวม’ แปลว่ามันเป็นสิ่งใหม่” วิทย์อธิบายคำสุดท้ายให้เราฟัง “เวลาเราเปิด Pinterest มันก็จะมี Reference ที่ชอบ แล้ว ณ วันหนึ่งเมื่อเราจะสร้างอะไรขึ้นมา เราก็จะสบายใจว่ามันสวยแน่นอน ความไม่กำกวมแบบนั้นมันไม่เกิดการตั้งคำถาม แล้วก็จะออกมาเป็นงานธรรมดาทั่วไป แต่ถ้าเราสร้างโดยไม่มั่นใจกับดีไซน์เพราะไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว มันจะเป็นการต่อยอดจากสิ่งที่เคยมี

และนี่ก็คือวิถีของ PHTAA ออฟฟิศออกแบบที่แตกต่างตั้งแต่วิธีการรวมตัวไปจนถึงวิธีการคิดงานเหมือน Free Jazz ดี ๆ ที่ต้องมีการอิมโพรไวส์และคาดไม่ถึงว่าผู้เล่นในวงจะชงอะไรมา

เมื่อทุกอย่างเริ่มจากการกลับหัวมอง

นิทรรศการครบรอบ 9 ปีของออฟฟิศเกิดขึ้นมาจากตอนที่พวกเขาทำหนังสือ art4d monograph เมื่อได้กลับไปรวบรวมผลงานที่เคยทำมา ก็เหมือนได้ทบทวนความเป็น PHTAA อีกครั้ง

และศัพท์ที่เขาเลือกมาตั้งชื่อหนังสือรวมไปถึงนิทรรศการ คือ ‘Re-Appropriate’ เนื่องจากลูกค้าชาวต่างชาติผู้เป็นอดีตสถาปนิกกล่าวว่า งานของ PHTAA ทำให้นึกถึงคำนี้

“Re-Appropriate คือการปรับวิธีคิดบางอย่างให้เกิดความเหมาะสมขึ้นมาใหม่ในอีกรูปแบบหนึ่ง” วิทย์กล่าว

“เราหาความเป็นไปได้ของการใช้ Material (วัสดุ) ในวิธีที่ต่างออกไป เช่น Material A อาจจะมีออปชัน 1 ในการปูพื้น ส่วนออปชัน 2 – 3 จะซ่อนอยู่โดยที่เราไม่เคยค้นพบ ซึ่งมันอาจจะก่อผนังหรือทำหลังคาก็ได้ แค่ยังไม่มีคนทำ ไม่ได้แปลว่าทำไม่ได้”

แน่นอน ถึงจะมีการนิยามคำใหม่ขึ้นมา แต่สุดท้ายแนวทางของพวกเขาก็กลับไปตอบความกำกวมที่เคยคิดกันไว้ตั้งแต่แรกเริ่ม

วัสดุหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ‘บัว’

เมื่อ 9 ปีก่อนพวกเขาเดินไปเจอร้านขายบัวแล้วเกิดไอเดียสนุก ๆ ขึ้นมา จากชิ้นยาว ๆ ที่ใช้แปะตามผนัง เขานำบัวมาตัด ๆๆ แล้วประกอบให้เป็น Modular กลายเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่นำบัวแบบต่าง ๆ ทั้งบัวไม้ บัวโฟม บัวพลาสติก มาประกอบกันเป็นเก้าอี้ ซึ่งแต่ละวัสดุก็เป็นตัวแทนของงานคราฟต์ยุคเก่าและใหม่

“เราชอบอะไรที่มีที่มาที่ไป” พลอยว่า “บัวเองก็มีที่มาที่ไป มีการทับซ้อนในเชิงการใช้งานที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมอย่างน่าสนใจ เราพูดไม่ได้ว่าเป็นของตะวันตกหรือของประเทศอะไร เพราะมันปรับมาเรื่อย ๆ จากยุโรป มาเอเชีย มาไทย อะไรที่กำกวมแบบนี้มันน่าสนใจ”

จากวัสดุตกแต่งก็กลายเป็นทั้ง Architecture เป็นทั้ง Structure ที่ใช้ในการทำ Drop-off ของ Found ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานแต่งงาน ซึ่งการประกอบเป็นรูปทรงและคว้านออกให้เกิดสเปซก็ทำให้งานของพวกเขามีความเป็นประติมากรรมอย่างที่ตั้งใจ

สถาปัตยกรรม x Craftmanship?

เพราะ 9 ปีที่แล้วตอนที่ PHTAA เริ่มก่อตั้งออฟฟิศ โปรเจกต์ที่พวกเขาได้รับไม่ได้มีงบมากนัก งาน Digital Craftmanship อย่างการขึ้นรูปด้วยเครื่อง CNC หรือเครื่องพรินต์คอนจึงยังไม่ปรากฏ แต่ความเจ๋งในการทำงานกับช่างท้องถิ่น คือการใช้มือคนทำนี่แหละ เมื่อใช้มือคน ความไม่สมบูรณ์แบบก็เกิดขึ้น ซึ่งพวกเขามองว่านี่คือเสน่ห์ของงานไทย

“เพราะเป็นมนุษย์เลยทำเรียบร้อยได้เท่านี้ ถ้าเรียบร้อยกว่านี้ก็ต้องเป็นหุ่นยนต์แล้ว” วิทย์ยืนยัน

หลายคนมองว่าทุกวันนี้ Craftmanship หายไปแล้ว แต่โต๋คิดว่ามันแค่ถ่ายทอดมาในรูปแบบอื่น อย่างแถบปริมณฑลที่มีร้านทำบัวซีเมนต์เยอะมาก เพราะบ้านคนมีฐานะในยุคก่อนหน้านี้มักใช้ตกแต่ง แต่เมื่อวันเวลาผ่านไปก็อาจกลายเป็นของที่ถูกลืม ฉะนั้น จึงมีการหยิบบัวซีเมนต์มาปรับใช้ในรูปแบบที่ต่างออกไปจากหน้าที่หลักของมัน เช่น การปิดมุม ปิดขอบ การจบงานต่าง ๆ มาเป็นการทำหน้าที่เป็นผนัง ฝ้าเพดาน ซึ่งถือว่าเป็นการต่อยอดจาก Craftmanship เดิมที่ถูกหลงลืม

“เมื่อ Craftmanship เกิดผลลัพธ์ใหม่ ๆ อาจสร้างแรงบันดาลใจไปสู่การสร้างสรรค์ต่อ ๆ ไปได้ครับ” โต๋กล่าว

นอกจากนี้ วิทย์ยังเสริมถึงอีกประเด็นที่สำคัญมาก นั่นคือทักษะในการทำงานของช่าง

การทำที่พวกเขาสร้างสรรค์การใช้วัสดุเดิมในแบบใหม่ ๆ ขึ้นมา ไม่ได้ทำให้วงการออกแบบคึกคักเท่านั้น แต่ทำให้เหล่าช่างมีฝีมือฉกาจฉกรรจ์มากขึ้นด้วย และหลังจากนี้ไป หากมีงานในลักษณะนี้อีก ช่างก็จะรู้แล้วว่าต้องทำอะไรก่อนหลัง แบบไหนเวิร์ก แบบไหนไม่ 

หลังจากนั้น หากสถาปนิกรุ่นหลังนึกสนุกอยากทำงานที่ต้องพึ่งพาฝีมือเชิงช่างที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางบ้าง PHTAA จึงมีเครือข่ายช่างที่มีประสบการณ์ไปแนะนำได้ และเกิดงานดี ๆ ในประเทศไทยให้เราชมกันต่อไป

“ปกติช่างเขาไม่เคยมีโอกาสได้ทำแบบนี้มาก่อน” วิทย์กล่าว “เมื่อเขามีโอกาส เขาก็ต้องหาวิธีให้เกิดขึ้นได้จริงพร้อมกับเรา ซึ่งนอกจากตัวเขาเองจะสกิลล์อัป ลูกน้องสกิลล์อัป เขายังได้ค่าแรงมากขึ้น และทำให้ธุรกิจของเขาในการทำของชิ้นนี้มันอยู่ต่อไปในอีกยุคได้ด้วย”

4 งานที่สุดจะ PHTAA

01 PHTAA Office

งานแรกที่น่าเล่า และทำให้คุณรู้จัก PHTAA มากขึ้น ไม่ใช่ที่ไหนไกล แต่เป็นออฟฟิศของพวกเขาเองนี่แหละ

ทั้ง 3 เล่าว่าเดิมทีออฟฟิศนี้เป็นเหมือนห้องสี่เหลี่ยมที่มีคนนั่งทำงานเฉย ๆ Facility จึงไม่ได้เอื้อให้คนทำงานสักเท่าไหร่ เมื่อมีความคิดที่จะปรับปรุงใหม่ พวกเขาจึงตั้งใจทำให้เหมาะกับการทำงานมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่อง Material Library หรือที่เก็บตัวอย่างวัสดุ

ด้วยความที่อาชีพนี้ต้องดูวัสดุตลอด แต่พื้นที่มีจำกัด พวกเขาจึงตั้งใจ ‘สร้างบ้าน’ ให้วัสดุแต่ละประเภทเป็นอย่างดี โดยพยายามค้นหาวิธีการดีไซน์ชั้นโมดูลเก็บตัวอย่างวัสดุ ซึ่งสุดท้ายพวกเขาก็ทำให้ทุกอย่างถอดประกอบได้ทั้งหมด เนื่องจากที่นี่เป็นออฟฟิศเช่า หากจะขยับขยายหรือย้ายไปที่อื่นในอนาคต จะได้นำชั้นโมดูลนี้ไปด้วยได้

อีกอย่างที่เน้นคือพื้นที่ส่วนรวมที่ใหญ่ขึ้น นั่นคือโต๊ะกลางออฟฟิศที่มีไว้ให้คนทำงานมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น (และหากก้มไปดูก็จะเห็นที่เก็บ Material Board เพิ่มเติมสอดอยู่ใต้โต๊ะด้วยนะ)

และทีเด็ดที่สุดคือ ‘บล็อกแก้ว’

บล็อกแก้วแบบเดิม ๆ จะแบ่งเป็น 2 ซีก แล้วนำมาประกอบกัน ซึ่งเป้าหมายของบล็อกแก้วคือการเป็นผนังกันน้ำที่มีแสงสว่างเข้าได้

แต่พวกเขาตั้งคำถามกับบล็อกแก้วเดิมว่า หากทำให้แสงผ่านได้ และมี Ventilation (ลม) ผ่านได้ด้วยจะเป็นอย่างไร จึงไม่เชื่อม 2 ซีกเข้าหากัน แล้ววางเป็นแนวนอนแทน นอกจากข้อดีเรื่องแสงและลมแล้ว ยังใช้แก้วน้อยลง น้ำหนักเบาขึ้นด้วย เรียกว่าเป็นการหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้บล็อกแก้ว

“การ Re-Appropriate ไม่จำเป็นต้องทำอะไรยาก ๆ” วิทย์สรุป “ไม่ได้หมายความว่าคิดออกง่ายนะ แต่เราไม่ต้องผ่านกระบวนการอะไรที่นึกไม่ถึง สิ่งที่เราทำคือเรามองสิ่งธรรมดา ย้อน Process กลับไป แล้วทำให้สำเร็จในอีกแบบหนึ่ง”

02 Baptist Student Center (BSC)

BSC เป็นเหมือน Community Center ให้ชาวคริสต์มารวมตัวกัน พบปะ พูดคุย ทำกิจกรรม โดยฟังก์ชันจะประกอบไปด้วยพื้นที่อเนกประสงค์สำหรับจัดกิจกรรมเกี่ยวกับศาสนา ที่พักของมิชชันนารี และบ่อประกอบพิธีศีลจุ่ม

งานนี้เรียกได้ว่าเป็นการรีโนเวตอาคารที่มีอยู่เดิม โดย PHTAA หยิบเอาบล็อกแก้วแบบใหม่ซึ่งเคยใช้กับออฟฟิศของตัวเองมาใช้เป็นเปลือกอาคารทั้งหมดของที่นี่

ที่มาที่ไปของการใช้บล็อกแก้วมาจากขั้นตอนรีเสิร์ช พวกเขาได้เลือกบทหนึ่งในพระคัมภีร์ ไบเบิล ขึ้นมา ซึ่งกล่าวถึงตอนที่พระเยซูไปริมหาดกับ 2 สาวก เมื่อสาวกใช้แหหว่านลงไปก็ไม่มีปลาติดขึ้นมา เพราะแหที่มีนั้นห่างเกินไป แต่เมื่อพระเยซูทำบ้างกลับจับปลาได้ราวปาฏิหาริย์

แหเองก็มีความเป็นกริดและความเป็นรูที่สสารผ่านได้เหมือนกับบล็อกแก้วแบบใหม่ของ PHTAA เหล่าดีไซเนอร์จึงเลือกใช้บล็อกแก้วเป็นเปลือกอาคาร โดยเปรียบบล็อกแก้วให้เป็นแหใน ไบเบิล

“Owner โปรเจกต์นี้คือสภาคริสตจักรในประเทศไทย คณะกรรมการมีความคิดหัวก้าวหน้า ดีไซน์ที่เราเสนอไปเขาก็ตกลงหมดทุกอย่าง” วิทย์เล่าถึงความเปิดกว้างให้ตีความ

03 ร้านอาหารริมแม่น้ำแคว

นี่คือร้านอาหารริมแม่น้ำแคว โปรเจกต์ใหม่ของ PHTAA ที่ยังไม่ได้ตั้งชื่ออย่างเป็นทางการ

การสร้างอาคารอยู่ริมแม่น้ำจะต้องมีกำแพงกันดินเพื่อกันผืนดินถูกกัดเซาะ ซึ่งจะเกิดการสูญเสียพื้นที่ใช้สอย รวมถึงช่วยรับแรงที่กดลงมาจากอาคารให้คงอยู่ได้ตลอดไป พวกเขาจึงตั้งคำถามขึ้นมาว่า ทำไมกำแพงกันดินริมแม่น้ำแควส่วนใหญ่เป็นแค่หินหรือปูนหน้าตาเหมือนกัน ไม่มีดีไซน์ ไม่มีเนื้อหาอย่างอื่นที่นำมาต่อยอดได้เลยหรือ

“เราเลยคิดว่าจะทำให้กำแพงกันดินมันสวยขึ้นมา เพื่อสร้างพื้นที่ใช้สอยริมน้ำขึ้นมา และใช้เป็นฟังก์ชันที่จัดงานได้” วิทย์กล่าว จากกำแพงกันดินก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นในรูปทรงโค้งไปโค้งมาที่ช่วยสร้างบรรยากาศให้พื้นที่

“เราอยากหยิบยกสิ่งธรรมดาขึ้นมา แล้วจัดการกับมันให้ดีที่สุด”

04 Camper สาขาเซ็นทรัลเวิลด์

“จากร้านอาหารริมแม่น้ำแคว ก็มาเป็นร้าน Camper อาจดูเป็นคนละเรื่องเดียวกันหน่อย แต่ 2 งานนี้เกี่ยวข้องกัน” โต๋พูดเปิด

ปกติแล้วเวลาทำงานร่วมกัน พวกเขาต้องช่วยกันระดมความคิด เมื่อตอนที่โยนไอเดียให้ร้านนี้จึงมีการพูดถึง Camper รุ่นหนึ่งที่ฮิตมาก ๆ ในหมู่สถาปนิก นั่นก็คือ Camper Pelotas ซึ่งมีปุ่ม ๆ อยู่ใต้รองเท้า

คิดได้ดังนั้นแล้วก็ไม่รอช้า ทั้ง 3 ลองเสนอลูกค้าดูว่า หากพวกเขาจะหยิบภาพจำนั้นมาทำเป็น Interior Design ได้ไหม โดยที่ไม่ได้คิดมาแน่ชัดว่าปุ่ม ๆ นี้จะไปปรากฏตรงไหน

“ตอนนั้นเราทำรีเสิร์ชเรื่องกำแพงกันดินโปรเจกต์ร้านอาหารแม่น้ำแควพอดี แล้วกำแพงเป็นทรง Vertical (แนวตั้ง) เราเลยคุยกันว่า เฮ้ย ทำไมเราไม่เอาไอเดียนั้นมาใช้ โดยที่เราทำเป็นโมดูล”

กำแพงกันดินมีหลายแบบ ใช้ปูน ใช้หินก็มี แต่ที่ต่างประเทศนิยมกันคือการประกอบโมดูลก้อน ๆ เป็นกำแพงกันดิน พวกเขาจึงนำความเป็นโมดูลตรงนั้นมาบวกกับปุ่มรองเท้า กลายเป็นประติมากรรมที่ใช้วางรองเท้าขึ้นมา ติดตั้งเป็นแนวตั้ง และจัดแสดงสินค้าได้ตั้งแต่ข้างล่างจนถึงข้างบน

ความพิเศษคือส่วนวางรองเท้าที่เป็นแนวนอนจะยื่นไม่เท่ากัน เมื่อติดตั้งจึงนึกไปถึงกำแพงกันดินโค้ง ๆ ที่เลื้อยไปตาม Profile ของภูมิประเทศ ทั้งยังวางโมดูลเหลื่อมกันแบบกำแพงกันดินด้วย

“มันประกอบกับว่าลูกค้าอยากดีไซน์ให้ตัวนี้เป็นโปรโตไทป์ของ Pop-up Store ด้วย เราจึงออกแบบให้โมดูลเลื้อยเป็นรูปทรงอะไรก็ได้ เวลาเขาวางเป็น Pop-up ด้านนอก”

ทำงานหนัก / สนองเขา / หรือสนองใคร

“ปีแรกเราเด็กมาก พอทุกคนทำงานประจำมาก่อนก็รู้สึกอยากทดลอง อยากปล่อยของที่อัดอั้นมานาน สิ่งที่เราคิดไม่ใช่เรื่องเงินด้วยซ้ำ แต่เราอยากทำงานแบบที่เราอยากทำ ในบางงานเราโฟกัสที่ตัวเองมากกว่าโจทย์” โต๋เล่าถึง PHTAA ในวันที่เริ่มตั้งไข่

“เหมือนเราเรียนจบมัธยมมาแล้วอยากไว้ผมยาว อยากย้อมผม” วิทย์เสริมยิ้ม ๆ

“แต่พอเราคิดถึงลูกค้ามากขึ้น งานเราก็มีเนื้อหามากขึ้นโดยอัตโนมัตินะ การฟังคอมเมนต์จากลูกค้าแล้วพยายามตอบโจทย์เขาให้ได้ ทำให้สถาปัตยกรรมของเราขึ้นไปอีกระดับ ไม่ใช่แค่สวยงามแต่รูป”

และเดิมทีที่พวกเขาตั้งโจทย์ไว้ให้ตัวเองว่าตอบสนองลูกค้า 50 ตอบสนองตัวเอง 50 ก็กลายเป็นว่าทำให้ 50 ที่ให้ลูกค้า กลายเป็น 100 ของตัวเองให้ได้ ซึ่งหมายความว่าตัวเองจะต้องพอใจกับงานด้วย

เราถามพวกเขาว่า ในอนาคตยังมีอะไรที่ PHTAA อยากทดลองต่อไปไหม

พวกเขาก็ตอบว่า เมื่อทำเพื่อตัวเองมากพอแล้ว ในวัยหนึ่งก็อยากทำงานให้เกิด Social Impact บ้าง เช่น การทำสิ่งที่เราถนัดคืนให้สังคมบ้างยกตัวอย่างเช่น Social Housing หรือ Infrastructure ใด ๆ เพื่อมวลชน

“แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น เราต้องเติมเต็มตัวเองก่อน ถ้าเรายังเติมไม่เต็มแล้วไปทำ สุดท้ายเราอาจจะทำอะไรที่เราอยากทำ แต่ไม่ใช่สิ่งที่เมืองหรือผู้คนต้องการจริง ๆ” วิทย์สรุป

อย่างไรก็ตาม เราคิดว่าหากมีนักออกแบบที่รักในการพลิกแพลงแบบ PHTAA เข้าไปทำงานเพื่อสังคมบ้าง เราอาจเห็นวิธีแก้ปัญหาที่ทำให้ไปถึงปลายทางง่ายกว่าเดิม แต่ไม่มีใครเคยคิดก็ได้

จนกว่าจะถึงวันนั้น หวังว่าช่องทางในการร่วมงานกันของรัฐและเอกชนจะเปิดกว้างและเดินผ่านได้อย่างไม่ยากจนเกินไป

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล