“โฮ่ง ๆๆ” เสียงน้อง ๆ สี่ขาผู้น่ารักดังระงมขึ้นในวินาทีแรกที่ผมกดกริ่ง และเมื่อประตูบ้านเปิดออก น้อง ๆ ก็พากันวิ่งกรูเข้ามาต้อนรับผมอย่างเอิกเกริก
“ฟ็อกซี่ ๆ อย่าซ่ามาก พอแล้ว ๆ” เสียงของ บัว-ภัทรสุดา อนุมานราชธน ดังขึ้นเพื่อปรามจ่าฝูงอย่างเจ้าฟ็อกซี่ให้สงบลง ตอนนี้ฟ็อกซี่เริ่มกระโจนเล่นกับผมอย่างถึงเนื้อถึงตัวแล้ว
“นี่เจ้าลิโด้ แล้วนั่นก็สกาล่าค่ะพี่” คุณบัวแนะนำเจ้า 2 ตัวแสนซนพร้อม ๆ กับตัวอื่น ๆ อีกหลายตัว “บัวไปเจอเจ้าฟ็อกซี่ที่ปราณบุรี อยู่ดี ๆ มันก็โดดขึ้นมาบนรถเฉย ไล่ยังไงก็ไม่ไป เลยพากลับบ้านมาด้วย ทุกวันนี้กลายมาเป็นตัวตึงประจำบ้าน บัวไม่เคยต้องซื้อหมามาเลี้ยงเลย ทั้งหมดเป็นหมาที่เราช่วยมาค่ะ”
คำพูดของคุณบัวทำให้ผมนึกถึงบันทึกที่ อาจารย์สมศรี สุกุมลนันทน์ บุตรสาวของพระยาอนุมานราชธน ถ่ายทอดในหนังสือเรื่อง พ่อ พระยาอนุมานราชธน เอาไว้ว่า
บ้านที่ไม่มีเด็ก ไม่มีหมา ไม่ใช่บ้าน เป็นแค่ที่อยู่อาศัย บ้านของพ่อไม่เคยขาดเด็กและหมาเลย
วันนี้ฟ็อกซี่และเพื่อน ๆ ได้ช่วยกันต้อนรับคุณผู้อ่านเข้าสู่ ‘บ้านพระยาอนุมานราชธน’ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว คราวนี้ก็ถึงเวลาที่เราจะชวนคุณบัวมาแบ่งปันประสบการณ์ว่าเธอใช้ชีวิตในบ้านอายุกว่า 100 ปีของคุณทวดหลังนี้อย่างไร รวมทั้งกระบวนการดูแลรักษาให้ยังคงสภาพแข็งแรงและงดงามอย่างที่เป็นอยู่
คุณทวดพระยาอนุมานราชธน
“คุณทวดเหรอคะ ดุค่ะ” คุณบัวตอบคำถามแรกอย่างตรงประเด็นพร้อมรอยยิ้มเมื่อผมถามถึงคุณทวด
“ท่านเสียเมื่อ พ.ศ. 2512 ซึ่งบัวเกิดไม่ทัน แต่ได้ยินใคร ๆ เล่าว่าท่านเป็นคนจริงจัง ใช้เวลาส่วนใหญ่กับการทำงาน โดยเฉพาะงานค้นคว้าและเขียนหนังสือ เวลาท่านใช้สมาธิทำงานนี่ห้ามไปยุ่งกับท่านโดยเด็ดขาด”
“ตอนเด็ก ๆ เวลาคุณปู่ ฯพณฯ สมจัย อนุมานราชธน อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำสหประชาชาติ ณ กรุงนิวยอร์ก ผู้เป็นบุตรของพระยาอนุมานราชธน คุยกันกับพี่ ๆ น้อง ๆ ของท่านเกี่ยวกับคุณทวด บัวจะชอบไปนั่งฟังท่านเมาท์มอยกันค่ะ (หัวเราะ) คือเป็นเด็กที่ชอบอยู่วงผู้ใหญ่ ซึ่งทำให้เราได้รับรู้เรื่องของท่านมาบ้าง ทุกคนบอกว่าท่านเป็นคนมีกิจวัตรประจำวัน เช่น ตื่นเช้า ชอบอยู่บ้านทำสวน กวาดใบไม้ เป็นคนเงียบ ๆ ทำแต่งาน สมัยนี้อาจเรียกว่าเป็นคนอินโทรเวิร์ต แล้วท่านชอบเดินออกกำลังมาก คุณทวดจะใช้วิธีเดินไปไหนต่อไหน ในขณะที่ท่านกลับให้ลูก ๆ นั่งรถไป”
อาจารย์สมศรีเคยเขียนเล่าถึงประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า หลายปีมาแล้ว หนังสือพิมพ์ลงว่า มีผู้ถามพระยาอนุมานราชธนว่าทำไมจึงต้องเดินไปทำงาน ในเมื่อลูกขี่รถยนต์กันทุกคน ท่านตอบว่า ลูก ๆ เขาเป็นลูกพระยา ส่วนผมเป็นลูกคนสามัญ
นอกจากที่ฟังผู้ใหญ่คุยแล้ว หนังสือก็เป็นแหล่งข้อมูลชั้นดีที่ทำให้คุณบัวรู้จักตัวตนของคุณทวด ไม่ว่าจะเป็นหนังสือที่คุณทวดเขียนเอง หรือลูก ๆ เขียนถึงท่าน หนังสือเหล่านี้ล้วนเก็บรักษาไว้อย่างดีในตู้หนังสือไม้โบราณคู่บ้าน
พระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) เกิดเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2431 เป็นบุตรคนโตของ นายหลี และ นางเฮียะ มีนามเดิมว่า หลีกวงหยง ต่อมาเปลี่ยนไปใช้ชื่อไทยว่า ยง
พระยาอนุมานราชธนเริ่มเรียนหนังสือกับบิดาตั้งแต่อายุ 5 ปี พออายุราว 9 ปี มารดาของท่านได้พาไปฝากเรียนหนังสือที่โรงเรียนบ้านพระยานานาพิธภาษี (โต บุนนาค) ก่อนนำไปฝากเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนอัสสัมชัญจนจบชั้น ม.4 พอขึ้น ม.5 ก็ต้องลาออกจากโรงเรียน เพราะครอบครัวมีฐานะยากจนและมีน้อง ๆ ที่ต้องเข้าเรียนอีกหลายคน ท่านจึงต้องไปเริ่มทำงานที่โอสถศาลารัฐบาล ก่อนย้ายมาที่โรงแรมโอเรียนเต็ล ตามมาด้วยกรมศุลกากร อันเป็นสถานที่ที่ท่านรับราชการอยู่นานถึง 26 ปี
ที่กรมศุลกากรนี้ ท่านได้มีโอกาทำงานกับ นายนอร์แมน แม็กซ์เวล (Norman Maxwell) ซึ่งเป็นทั้งหัวหน้าและอาจารย์ผู้สอนภาษาอังกฤษให้ จนมีความรู้ในขั้นแตกฉาน
พ.ศ. 2454 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ท่านได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ‘ขุนอนุมานราชธน’ เมื่ออายุเพียง 23 ปี ใน พ.ศ. 2456 ท่านได้รับพระราชทานนามสกุลว่า ‘เสฐียรโกเศศ’ และใช้เป็นนามสกุลอยู่ระยะหนึ่ง ต่อมาเปลี่ยนไปใช้นามสกุล ‘อนุมานราชธน’ ตามราชทินนาม ซึ่งเป็นไปตามรัฐนิยมในสมัยนั้น และทายาทยังคงใช้สืบมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ส่วนเสฐียรโกเศศอันเป็นนามสกุลพระราชทานนั้น ท่านนำไปใช้เป็นนามปากกาในหนังสือที่เขียนขึ้น จนกลายมาเป็นนามปากกาที่รู้จักและจดจำกันอย่างแพร่หลาย
พระยาอนุมานราชธนได้รับราชการที่กรมศุลกากรด้วยความเจริญก้าวหน้าเป็นอย่างยิ่ง ท่านได้รับพระราชทานเลื่อนบรรดาศักดิ์จากขุนเป็นหลวง พระ และพระยา ในราชทินนามเดิมด้วยวัยเพียง 36 ปี
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มรสุมทางการเมืองส่งผลให้ท่านต้องออกจากราชการเมื่อ พ.ศ. 2476 ขณะดำรงตำแหน่งผู้ช่วยอธิบดี อีก 2 ปีต่อมา หลวงวิจิตรวาทการ อธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้น ชวนให้ท่านกลับมารับราชการที่กรมศิลปากร ด้วยความรู้ความสามารถนานัปการของท่าน ท่านจึงได้ก้าวหน้าในราชการขึ้นไปเรื่อย ๆ จนเกษียณอายุราชการในตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร ท่านได้รับการต่ออายุราชการอีกหลายต่อหลายครั้งก่อนออกจากราชการมารับบำนาญในบั้นปลายชีวิต
พระยาอนุมานราชธนเป็นอาจารย์พิเศษ สอนวิชาภาษาไทย ประวัติศาสตร์ โบราณคดี และนิรุกติศาสตร์ในสถาบันการศึกษาหลายแห่ง เช่น คณะอักษรศาสตร์ ครุศาสตร์ และรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยนิสิตนักศึกษาต่างเรียกขานท่านว่า ‘อาจารย์เจ้าคุณ’ ด้วยความเคารพ ท่านเคยทำหน้าที่เป็นพระอาจารย์ถวายพระอักษรแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ในวิชาวัฒนธรรมอีกด้วย นอกจากนี้ท่านยังได้เขียนหนังสืออีกมากกว่า 200 รายการ โดยมีจำนวนหนึ่งที่ท่านเขียนร่วมกันกับ พระสารประเสริฐ (ตรี นาคะประทีป) โดยใช้นามปากกาว่า เสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป
ในวาระ 100 ปีชาตกาล เมื่อ พ.ศ. 2531 องค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO ได้ยกย่องพระยาอนุมานราชธนในฐานะ ‘บุคคลสำคัญของโลก’ ส่วนพวกเราชาวไทยนั้น ต่างรู้จักและยกย่องท่านในฐานะนักปราชญ์และนักการศึกษาคนสำคัญที่มีผลงานทั้งหนังสือเรียน ตำราประวัติศาสตร์และวิชาการ ตลอดจนวรรณกรรมอันทรงคุณค่ามากมาย และยังได้รับความนิยมในหมู่นักอ่านมาจนถึงปัจจุบัน
บ้านคุณทวด
“ที่ดินและบ้านหลังนี้คุณทวดเก็บหอมรอมริบและซื้อหาด้วยตัวเองหลังจากที่ท่านทำงานมาระยะหนึ่ง จนแต่งงานมีครอบครัวแล้วจึงย้ายมาอยู่ที่นี่” คุณบัวเอ่ยขึ้นด้วยความภูมิใจ
จากบันทึกของอาจารย์สมศรี สุกุมลนันทน์ ผมพอสรุปได้ว่าพระยาอนุมานราชธนแต่งงานกับ คุณหญิงละไม (สกุลเดิม อุมารัติ) ในวัย 21 ปี ทั้ง 2 ท่านมีบุตร-ธิดาร่วมกัน 10 คน ความรักของท่านนั้นเป็นดั่งรักแรกพบที่กลายมาเป็นตำนานความซื่อสัตย์ซื่อตรงแบบรักเดียวใจเดียวตลอดชีวิต ซึ่งแตกต่างจากผู้มีบรรดาศักดิ์ในสมัยนั้นที่นิยมมีคู่ครองมากกว่า 1 อาจารย์สมศรีบันทึกว่า
เมื่อพ่อแม่มีลูกแล้วสองคน จึงย้ายมาอยู่ในซอยเดโช ซึ่งบัดนี้ได้ชื่อว่าซอยอนุมานราชธน และใช้ชีวิตด้วยกันที่บ้านหลังนี้ตลอดชีวิต
พระยาอนุมานราชธนมีบุตรคนแรกเป็นหญิง บุตรคนที่ 2 เป็นชาย ซึ่งก็คือ ฯพณฯ สมจัย ผู้เป็นปู่ของคุณบัว ดังนั้น ท่านน่าจะย้ายมาอยู่ที่นี่ราว ๆ พ.ศ. 2461 เป็นต้นมา เพราะปีนั้นเป็นปีที่ ฯพณฯ สมจัยเกิด
บ้านหลังแรกของท่านเป็นเรือนไม้หลังเล็กที่ปลูกลงบนที่ดินขนาด 200 ตารางวา ซึ่งพระยาอนุมานราชธนได้ซื้อแบ่งจากอาเขยของท่าน ผู้เป็นเจ้าของที่และปลูกบ้านอยู่ติดกัน ปัจจุบันนี้ซอยเดโชหรือซอยอนุมานราชธนนั้นรายล้อมไปด้วยอาคารสูงระฟ้า มีร้านค้าทันสมัยมากมาย ด้วยความที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองระหว่างถนนสีลมกับสุรวงศ์ แต่ถ้าไปอ่านบันทึกของท่านที่เขียนในหนังสือฟื้นความหลังแล้วจะได้ภาพในอดีตที่แตกต่างไปโดยสิ้นเชิง เราลองมาอ่านดูกันนะครับว่าบรรยากาศย่านใจกลางกรุงเทพฯ ราว ๆ ช่วง พ.ศ. 2461 ในสมัยรัชกาลที่ 6 มีสภาพเป็นอย่างไร
ซอยเดโชเมื่อข้าพเจ้ามาอยู่ใหม่ ๆ นั้น ยังมีเรือนปลูกเป็นที่อยู่อาศัยไม่กี่หลัง ส่วนมากเป็นสวนไม้เส็งเคร็ง หรือไม่ก็ที่ว่างหญ้าคางอกเป็นพง เจ้าของที่ทิ้งไว้และปลูกห้องแถวไม้ชั้นเดียวให้คนหาเช้ากินค่ำอยู่
ตอนกลางซอย ตรงที่หล่มน้ำขังเป็นปลัก ลางทีก็มีแขกเลี้ยงงัวนำงัวมาปล่อยให้เดินเพ่นพ่านอยู่บริเวณปลัก เพื่อกัดเล็มหญ้าสองข้างถนน
ทีนี้ลองตามไปดูบรรยากาศของถนนอื่น ๆ ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันบ้างนะครับ อย่างเช่นถนนสุรวงศ์ ซึ่งบริเวณต้นถนนที่อยู่ใกล้กับถนนเจริญกรุงนั้น ท่านบันทึกว่าเป็นย่านค่อนข้างทันสมัย มีอาคารพาณิชย์ 2 ชั้น มีห้างจำหน่ายยา มีบ้านชาวต่างประเทศ มีสโมสรอังกฤษ ฯลฯ ในขณะที่ช่วงกลางของถนนสายเดียวกันนี้ บริเวณใกล้ ๆ ซอยเดโชนั้นกลับมีสภาพแตกต่างกัน
ถนนสุรวงศ์ แม้จะมีเรือนปลูกให้ฝรั่งเช่าก็ยังมีไม่มากนัก และตั้งอยู่ห่าง ๆ กัน ในเวลาค่ำถ้าไม่มีกิจจำเป็นก็อย่าย่างกรายเดินลึกเข้าไปแต่ลำพัง เพราะอาจถูกนักเลงลองดี ตีหัวเล่นได้ง่าย ๆ
อย่างไรก็ตาม บ้านหลังแรกที่ท่านสร้างนั้นไม่ปรากฏให้เห็นแล้วในปัจจุบัน บ้านที่เหลืออยู่คือบ้านหลังที่สร้างภายหลัง โดยอาจารย์สมศรีได้เล่าเรื่องบ้านหลังนี้ไว้ว่า
พ่อปลูกบ้านหลังที่ 2 บนเนื้อที่เรือนเดิม เป็นไม้สักทั้งหลัง เมื่อเด็ก ๆ ไม่รู้ค่าของไม้สัก ออกจะรู้สึกไม่ชอบใจอยู่เหมือนกันที่พ่อไม่ปลูกตึก เพื่อนใกล้ชิดพ่อล้วนอยู่ตึกทั้งนั้น มาเดี๋ยวนี้จึงรู้ว่าบ้านพ่อมีค่าทั้งวัสดุและฝีมือ
บ้านหลังนี้คือบ้านที่คุณบัวอาศัยอยู่ในปัจจุบัน กับ คุณพ่อ ดร.สันจัย อนุมานราชธน และ น้องชาย คุณณิกษ์ อนุมานราชธน และเป็นบ้านที่เธอมุ่งจะรักษาไว้ให้คงอยู่ตลอดไป
สิ่งทั้งหลายย่อมเกิดจากเหตุ
“วันนั้นมีแท่งโลหะร่วงจากคอนโดที่สร้างอยู่ข้างบ้าน ลงมาที่เรือนหลังเล็กอีกหลังหนึ่งซึ่งอยู่ภายในบริเวณบ้าน วันที่เกิดเหตุบัวไม่อยู่บ้านนะคะ ตอนนั้นบัวไปทำงานที่สหรัฐฯ จากเหตุการณ์นั้นครอบครัวเราเลยตัดสินใจดำเนินคดี ซึ่งทำให้บัวต้องไปที่ศาล มีนัดหนึ่งที่บัวไปศาลแล้วฝั่งตรงข้ามพูดถึงบ้านในลักษณะที่ว่า บ้านไม้เก่าโกโรโกโส จะพังมิพังแหล่อยู่แล้ว ดูไม่มีค่าอะไร ซึ่งบัวก็รู้ว่าเป็นการพูดเพื่อด้อยค่าในทางคดี แต่คำพูดนั้นทำให้บัวลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างทันที”
วันรุ่งขึ้นคุณบัวสืบค้นหมายเลขโทรศัพท์เพื่อติดต่อกรมศิลปากร และขอคำแนะนำเรื่องการนำบ้านคุณทวดไปขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน คุณบัวต้องศึกษาทั้งเงื่อนไขและกระบวนการต่าง ๆ ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เธอได้รู้จักกับ ดร.วสุ โปษยะนันทน์ สถาปนิกเชี่ยวชาญจากกรมศิลปากร ซึ่งเป็นแขกพิเศษที่ผมแอบพามาเซอร์ไพรส์เธอในวันนี้ด้วย
“คุณตุ่น โอย บัวดีใจมาก ๆ ที่ได้เจอกันอีกครั้ง” คุณบัวตื่นเต้นกับแขกคนสำคัญ นี่ถ้าเป็นรายการโทรทัศน์ล่ะก็ ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่ผู้ร่วมรายการทั้ง 2 คนกัดริมฝีปากแน่น อาจมีน้ำตาคลอนิด ๆ ก่อนโผเข้าหากันด้วยความยินดี แม้ว่าวันนั้นทั้งคู่จะมิได้แสดงอาการดังกล่าว แต่ผมก็สัมผัสได้ว่าต่างฝ่ายต่างก็ดีใจมาก ๆ ที่มาพบกัน
“ตอนนั้นทางกรมฯ ส่งเคสของบัวมาให้พี่ พี่เลยมีโอกาสได้รู้จักและให้คำปรึกษากับบัว” ดร.วสุ หรือ คุณตุ่นกล่าว และนั่นคือสาเหตุสำคัญที่ผมเชิญคุณตุ่นให้มาร่วมเล่าให้พวกเราฟังเกี่ยวกับลักษณะเด่นทางสถาปัตยกรรมของบ้านหลังนี้ แต่ก่อนจะถึงประเด็นนั้น เรากลับมาฟังคุณบัวเล่าต่อกันก่อนครับ
“บัวจำไม่ได้ว่าขั้นตอนการดำเนินการมีอะไรบ้าง เท่าที่จำได้คือมีเจ้าหน้าที่เข้ามาวัดพื้นที่ทั่วทั้งบ้าน รวมถึงอาคารทุกหลังเพื่อทำแผนที่ มีการศึกษาประวัติบ้านและบันทึกเก็บไว้เป็นหลักฐาน เราใช้เวลาประมาณ 2 ปี และในที่สุดบ้านพระยาอนุมานราชธนก็ได้ไปปรากฏอยู่ใน ราชกิจจานุเบกษา ในฐานะโบราณสถานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมศิลปากร”
ประกาศสำคัญดังกล่าวปรากฏอยู่ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 134 วันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2560 โดยมีการลงนามรับรองตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2460 จัดเป็นโบราณสถานที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ในฐานะบ้านบุคคลสำคัญของชาติอันควรรักษาไว้
“บ้านหลังนี้เป็นบ้านของบรรพบุรุษที่บัวอยู่มาตั้งแต่เกิด ที่นี่จึงมีคุณค่าต่อครอบครัวเรามาก การที่พวกเราตั้งใจขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานก็เพราะต้องการให้เกิดการคุ้มครองดูแลบ้านของคุณทวดหลังนี้ต่อไปในอนาคต แน่นอนว่าไม่ทันกับคดีความที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ขณะนั้น เพราะเราดำเนินการทีหลัง แต่การตัดสินใจครั้งนั้นก่อให้เกิดประโยชน์ในเวลาต่อมา นั่นคือเมื่อมีโครงการคอนโดนิเนียมโครงการใหม่มาสร้างขึ้นที่หลังบ้าน
“คราวนี้เรารีบแจ้งเขาทันทีว่าบ้านหลังนี้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแล้ว และขอให้เขาก่อสร้างด้วยความระมัดระวัง ทั้งเรื่องแรงสั่นสะเทือน การเอียงการทรุด ของที่จะตกลงมาจากที่สูง รวมทั้งเสียงดังและฝุ่นด้วย ซึ่งผู้รับผิดชอบการก่อสร้างก็พยายามป้องกันบ้านเราเต็มที่ มีการติดตั้งอุปกรณ์วัดการเอียงการทรุดไว้ทั่วบ้าน และมาตรวจสอบทุกเดือน หรือหากเครื่องวัดความสั่นสะเทือนรายงานผลที่เป็นอันตราย ก็จะมีเสียงหวอเตือนไปยังช่างก่อสร้างเพื่อให้เขาระมัดระวังมากขึ้น เป็นต้น”
ถึงจะระวังอย่างไรก็ยังเกิดเหตุซ้ำอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้เป็นข่าวระดับพาดหัวของทุกสื่อ
“บัวแยกเรื่องนี้ออกเป็น 2 ประเด็นนะคะ ประเด็นแรก สิ่งนี้เป็นอุบัติเหตุ ถามว่าร้ายแรงไหม ต้องตอบว่าร้ายแรงมาก ซึ่งเขาก็ได้ดำเนินการซ่อมแซม ชดใช้ไปแล้วเรียบร้อยแล้ว ส่วนประเด็นที่ 2 คือเรื่องการป้องกันและดูแลบ้านเราในฐานะโบราณสถาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างการก่อสร้าง ประเด็นนี้ก็ต้องบอกว่าเขาทำดีมาก ไม่เคยด้อยค่าบ้านเราเลย มีแต่พยายามนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ในระดับที่ดีอย่างที่บัวยกตัวอย่างให้ฟังไปแล้ว ซึ่งบัวมองว่าอุบัติเหตุเกิดจากความประมาท ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่เมื่อเกิดแล้ว แล้วเขาก็รับผิดชอบทุกอย่างด้วยความใส่ใจ”
การขึ้นทะเบียนบ้านคุณทวดเป็นโบราณสถานในครั้งนั้น นอกจากบ้านจะได้รับการดูแลรักษาแล้ว การทำประวัติบ้านโดยละเอียดยังทำให้เธอยังได้เรียนรู้เกี่ยวกับคุณค่าทางสถาปัตยกรรมของบ้านไปด้วย
สถาปัตยกรรมบ้านคุณทวด
“บ้านหลังนี้มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมอย่างไรที่น่าสนใจบ้างครับ” ผมเปิดคำถามกว้าง ๆ กับ ดร.วสุ ซึ่งตอนนี้คุณตุ่นเปรียบเสมือนดารากลางวงสนทนา มีผู้ชมทั้งยืนและนั่งทำตาแป๋วรอฟังคำตอบอย่างใจจดใจจ่อ
“เนื่องจากไม่มีข้อมูลในแง่ที่ว่าใครเป็นสถาปนิก ใครก่อสร้าง ดังนั้นพี่จะพูดจากสิ่งที่สังเกตเห็นนะครับ บ้านหลังนี้ได้รับอิทธิพลมาจากอาคารโคโลเนียล คำว่า Colonial หมายถึง การนำสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกมาใช้ในบริบทที่แตกต่างไปจากต้นกำเนิด ที่เราพบบ่อย ๆ เช่น บ้านที่ดูเป็นบ้านฝรั่ง แต่นำมาสร้างในภูมิอากาศร้อนชื้น จึงส่งผลให้ต้องมีการดัดแปลงองค์ประกอบบางอย่างให้แตกต่างไปจากต้นแบบ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ ณ ที่นั้น ซึ่งเรามักจะพบอาคารลักษณะนี้ในประเทศอาณานิคมทั้งหลาย จึงเรียกกันว่าโคโลเนียล เช่น อังกฤษนำบ้านแบบอังกฤษมาดัดแปลงเป็นบ้านสไตล์บังกะโลสำหรับใช้อยู่อาศัยในอินเดีย เป็นต้น”
คุณตุ่นสอนให้เราสังเกตบ้านแบบโคโลเนียลอย่างง่าย ๆ เร็ว ๆ ดังนี้ เริ่มต้นคือเมื่อมองแวบแรกจะรู้สึกทันทีเลยว่าไม่ใช่เรือนไทย ดูเป็นบ้านฝรั่ง ต่อมาคุณตุ่นให้ลองสังเกตหลังคา ซึ่งมักจะเป็นหลังคาฮิป (Hip Roof) หรือหลังคาปั้นหยา
“คำว่า ปั้นหยา มาจากคำว่า ปัญจะ ที่แปลว่าห้า เพราะหลังคาอาคารประเภทนี้จะมี 5 สัน คือ 1 สันตรงกลางที่ลากตามความยาวของหลังคา ส่วนอีก 4 สันคือสันที่ลากลงมา 4 ด้านที่ปลายหลังคา และเป็นหลังคาปิดทุกด้าน ไม่มีจั่ว ในพื้นที่ภาคใต้ไล่ลงไปถึงแถบมาเลย์และชวา เขาเรียกหลังคาปั้นหยาว่า ลีมะ (Lima) ซึ่งมีความหมายว่า 5 เช่นเดียวกัน ซึ่งสถาปัตยกรรมแถบนั้นก็มีการใช้หลังคาฮิปเช่นเดียวกัน”
หลังคาฮิปของอาคารโคโลเนียลจะมีความลาดชันเพื่อช่วยระบายน้ำฝนได้รวดเร็ว และจะพบชายคาที่ยื่นเหยียดออกไปโดยรอบเพื่อกันแดดและฝน ซึ่งเป็นไปตามสภาพอากาศร้อนชื้นฝนชุกในประเทศแถบใกล้เส้นศูนย์สูตร
“สิ่งที่สังเกตได้ชัดอีกอย่างคือช่องระบายอากาศที่ปรากฏอยู่เหนือผนังทั่วอาคารเพื่อบรรเทาความร้อนและความชื้น อีกอย่างคือระเบียง บ้านโคโลเนียลบางบ้านมีระเบียงเป็นเหมือนทางเดินวนรอบตัวบ้านเลย อย่างบ้านหลังนี้เป็นบ้านขนาดย่อมลงมาหน่อย จึงมีระเบียงเฉพาะด้านหน้าเท่านั้น ระเบียงแสดงถึงภาวะน่าสบายสำหรับผู้อยู่อาศัย มักเป็นมุมสำหรับนั่งเล่นรับลม เป็นมุมรับแขกคนสนิทแบบไม่เป็นทางการ ระเบียงในลักษณะนี้ช่วยทำหน้าที่แทนใต้ถุนเรือนไทยอย่างที่เคยเป็นมาในอดีตนั่นเอง จึงเป็นมุมสบายที่ใคร ๆ ก็อยากมานั่งผ่อนคลายแล้วก็มีความสุข”
พอคุณตุ่นเล่าจบ คุณบัวก็ยืนยันเลยว่ามุมนี้เป็นมุมรับลมสุดโปรดของเธอรวมทั้งฟ็อกซี่ด้วย ถ้าไปอ่านบันทึกที่ ศาสตราจารย์มัลลี เวชชาชีวะ บุตรสาวอีกคนที่เขียนถึงท่านไว้ในหนังสือ พระยาอนุมานราชธน พ่อของลูก จะพบว่าระเบียงเป็นพื้นที่สำคัญของบ้านมาตั้งแต่อดีตด้วยเช่นกัน
ตอนเย็นท่านมักจะออกมาอยู่ที่ระเบียงหน้าเรือน ดูเสมือนว่าท่านนั่งชมธรรมชาติ แต่ความจริงท่านคอยพวกเรา ถ้าเห็นทุกคนกลับบ้านแล้วท่านก็เข้าเรือน ท่านจะคอยจนกว่าเราจะกลับ ถ้ากลับช้า ท่านก็ไม่ค่อยถาม แต่มักจะค้อนให้ กิริยาเช่นนี้เราก็รู้แล้วว่าท่านไม่พอใจ
สำหรับผมนั้น นอกจากระเบียงแล้ว ผมยังชอบช่องแสง ช่องลม และค้ำยันที่ประดับอยู่หน้าเรือน ทั้งหมดล้วนเป็นลวดลายเรขาคณิตอย่างง่าย ๆ แต่เมื่อนำมาประดับไว้ด้วยกันแล้วก็แลดูเป็นจังหวะจะโคนที่ลงตัวงดงาม หัวเม็ดที่กระไดก็ได้รับการเกลาให้มีลูกเล่นน่าสนใจ
“แต่สิ่งที่พี่ตื่นตาตื่นใจกับบ้านหลังนี้มากที่สุดคือการตกแต่งภายในครับ พี่ว่านี่แหละคือสิ่งที่บ่งบอกว่าเป็นบ้านพระยาอนุมานราชธน” คุณตุ่นกล่าวและทำให้พวกเราใจเต้น ว่าแล้วก็รีบเดินตามกันเข้าไปภายใน
“ตู้หนังสือนี้ถือว่าเป็นเฟอร์นิเจอร์แบบบิลต์อิน คือทำหน้าที่แทนผนังบ้านไปเลย อันนี้แหละที่จะเป็นบ้านของคนอื่นไม่ได้นอกจากบ้านของพระยาอนุมานราชธนเท่านั้น สำหรับพี่ สิ่งนี้ยืนยันว่าการออกแบบบ้านทั้งภายนอกและภายในนั้นเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน คืออธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ว่าเป็นโจทย์ที่เจ้าของบ้านต้องกำหนดมาแล้วตั้งแต่ต้นว่าต้องการตู้หนังสือลักษณะนี้ สร้างเป็นผนังตั้งอยู่ตรงนี้ นี่คือความล้ำสมัยกว่าบ้านยุคโคโลเนียลโดยทั่วไป”
“ปกติบ้านโคโลเนียลจะมีการออกแบบตามกฎเกณฑ์อะไรบางอย่าง เรียกว่ามีแพตเทิร์น (Pattern) ที่กำหนดลักษณะเฉพาะบางประการเอาไว้แล้ว และบ้านโคโลเนียลก็มักยึดแพตเทิร์นเหล่านั้นเป็นหลักในการกำหนดแบบ แต่พอเริ่มเข้ายุคโมเดิร์น เริ่มมีแนวคิดสำคัญที่เกิดขึ้นมาใหม่ นั่นคือ Form Follows Function หรือ รูปแบบทางสถาปัตยกรรมดำเนินตามรูปแบบการใช้สอย ซึ่งแนวคิดเรื่องฟังก์ชันนี้เป็นแนวคิดสมัยใหม่”
อาจารย์สมศรีเคยอธิบายเกี่ยวกับการสร้างบ้านในขณะนั้นไว้ว่า
“บ้านหลังใหม่ของพ่อ พ่อคิดให้หนังสือมีพื้นที่เท่า ๆ กับให้คนอยู่ ผนังห้องเป็นตู้หนังสือ ห้องไหน ๆ ก็ต้องมีตู้หนังสือ”
จะเห็นได้ว่าพระยาอนุมานราชธนได้กำหนดโจทย์การสร้างบ้านไว้อย่างชัดเจน ความเป็นนักอ่านของท่านส่งผลให้ท่านพยายามหาวิธีปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้กับลูก ๆ ด้วย และท่านก็มีวิธีที่แยบยลมาก ผมได้คัดบันทึกที่ศาสตราจารย์มัลลีเขียนไว้มาให้ลองอ่านกัน
ที่บ้านรับหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ ในหนังสือพิมพ์มีการ์ตูนเรื่อง Popeye และ แม่ Olive ทุกวันหลังทานอาหารค่ำแล้ว พวกเราก็รุมท่าน บางคนนั่งตัก (โชคดีที่สุดเพราะมองเห็นชัดกว่าคนอื่น ๆ) บางคนก็กอดคอชะเง้อดู บางคนก็เกาะแขนซ้ายขวา ฟังพ่อแปลให้ฟัง ทำให้พวกเราติดหนังสือกันเป็นต้นมา
ทุกวันอาทิตย์ โรงเรียนปิด ท่านให้พี่ชายทำความสะอาดและใส่ยาฆ่าแมลง เมื่อปัดกวาดก็ต้องพลิกหน้าหนังสือในบางครั้ง ทำให้ได้เห็นรูปภาพ เกิดความอยากรู้ จึงเริ่มอยากอ่านหนังสือ ยิ่งอ่านยิ่งติดใจ จึงรักที่จะอ่านหนังสือตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
เรื่องเล่าจากบุตรสาวทั้งสองของท่านช่วยทำให้เราเห็นภาพชัดเลยว่าหนังสือมีความสำคัญต่อบ้านนี้มากเพียงใด
“นอกจากตู้หนังสือแล้ว การตกแต่งบ้านด้วยกระจกสีก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ กระจกสีเป็นการตกแต่งแบบยุโรปที่ได้รับความนิยมในยุคกลาง อย่างเช่นยุคกอทิก (Gothic) สำหรับบ้านหลังนี้ สถาปนิกนำกระจกสีมาใส่ไว้ในรูปทรงเรขาคณิตแบบเรียบง่าย อย่างลายเหลี่ยม ลายตาราง ซึ่งเป็นลายโมเดิร์น ถือเป็นการนำอดีตมาจัดแสดงในรูปแบบใหม่
“ในสมัยรัชกาลที่ 6 มีพระราชนิยมแบบหนึ่งที่เราเรียกว่าเป็นแบบโรแมนติก ซึ่งนิยมความย้อนยุค โหยหาความทรงจำที่งดงามในอดีต ตัวอย่างเช่น การสร้างบ้านนรสิงห์ ตามแบบสถาปัตยกรรม Venetian Gothic Revival เป็นต้น การตกแต่งที่พาย้อนกลับไปสู่อดีตช่วยสร้างความตื่นเต้นให้ผู้อยู่อาศัย อย่างการใช้กระจกสีในบ้านหลังนี้ช่วยสร้างบรรยากาศกึ่งจริงกึ่งฝัน เวลาเราเห็นแสงทะลุผ่านกระจกหลากสีย้อมบรรยากาศของห้องนี้ ลักษณะการตกแต่งเช่นนี้สอดคล้องกับพระราชนิยมที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น” คุณตุ่นเล่าถึงที่มาของความงดงามที่ปรากฏอยู่ตรงหน้าเรา
“อีกสิ่งที่พี่ชื่นชมมากคือเทคนิคการเข้าไม้ที่แนบเนียน เรียบสนิท ทั้งหมดเป็นการเข้าลิ้นโดยไม่ได้ตอกตะปู ถ้าสังเกตโครงผนังไม้แนวตั้งให้ดี จะเห็นการเว้นระยะห่างที่เป็นสัดส่วนสม่ำเสมอกันทุกช่อง และเป็นการออกแบบให้สอดคล้องกับความกว้างของช่องเปิด อย่างเช่น ช่องกว้างผนัง 1 ช่องก็จะกว้างเท่ากับช่องเปิดหน้าต่าง 1 ช่องพอดิบพอดี หรือช่องเปิดประตูก็กว้างเท่ากับช่องกว้างผนัง 2 ช่องพอดี เรียกว่ายึดความกว้างของช่องหน้าต่างและช่องประตูเป็นพื้นฐานในการออกแบบ การออกแบบผนังในลักษณะนี้เรียกว่าเป็นแบบ Modular System และเริ่มขึ้นในยุคโมเดิร์น” คุณตุ่นอธิบายรายละเอียดที่น่าสนใจ และส่งผลให้บ้านหลังนี้ดูมีมิติที่สมมาตรสอดรับกันทุกส่วน
ขณะที่คุณตุ่นเล่าเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับการตกแต่งอาคารนั้น พวกเรายืนชมรายละเอียดต่าง ๆ กันอยู่ภายในบริเวณห้องกลางของบ้าน ซึ่งอาจารย์สมศรีได้บรรยายไว้ว่า หากไม่ได้เขียนหนังสือแล้ว ห้องนี้คือห้องที่พระยาอนุมานราชธนใช้มากที่สุด เดิมจะมีเก้าอี้เอนที่ปรับองศาได้โดยใช้แท่งไม้ที่พักอยู่บนรอยบากด้านหลังของพนักเก้าอี้ มีที่รองรับแขนและที่วางเท้าให้นั่งสบาย ท่านจะเอนตัวอ่านหนังสือที่เลือกสรรมาจากตู้หนังสือที่ตั้งเรียงรายอยู่รอบห้อง เมื่อมีโทรทัศน์ ท่านก็ใช้นั่งดูโทรทัศน์ และเมือถึงวาระสุดท้าย ท่านก็หมดสติบนเก้าอี้ตัวนี้ในห้องนี้
ปัจจุบันห้องกลางมีเปียโนตั้งอยู่ เป็นเปียโนที่ ฯพณฯ สมจัย และภรรยา คุณพันทิพา อนุมานราชธน คุณปู่คุณย่าของคุณบัวซื้อและนำกลับมาจากประเทศอังกฤษ เมื่อคราวเดินทางไปรับราชการเป็นเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอน เป็นเปียโนหลังโปรดที่คุณย่าสอนให้คุณบัวหัดเล่น และวันนี้พวกเราก็ได้ฟังเสียงบรรเลงขึ้นอีกครั้ง
คราวนี้คุณตุ่นชวนเราดูภาพถ่ายบ้านที่ยังเป็นภาพถ่ายขาวดำอยู่ คุณตุ่นพยายามหาข้อมูลเพิ่มเติมจากภาพนั้น
“จากรูปเก่าที่เห็นหลังคาบ้าน จะเห็นว่าบ้านหลังนี้มุงด้วยกระเบื้องดินเผา และเป็นกระเบื้องดินเผาแบบสั่งพิเศษมาจากต่างประเทศ ไม่ได้ผลิตในไทย ก็อาจสันนิษฐานได้ว่าสถาปนิกมีความพิถีพิถันและต้องการเลือกใช้วัสดุที่แตกต่างจากบ้านที่สร้างขึ้นในยุคเดียวกัน บ้านในแถบสีลม สาทร และสุรวงศ์ในช่วงนั้นมักมุงหลังคาด้วยกระเบื้องว่าวที่ผลิตขึ้นจากโรงงานของชาวต่างประเทศที่ตั้งอยู่ในเมืองไทย ซึ่งแตกต่างจากบ้านหลังนี้”
นอกจากอาคารไม้สักหลังใหญ่ที่เป็นอาคารประธานของบ้านแล้ว ยังปรากฏอาคารปูนหลังเล็กที่คุณตุ่นบอกว่าน่าสนใจด้วยเช่นกัน แม้ว่าจะไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานก็ตาม
“บ้านหลังเล็กเป็นบ้านที่สร้างขึ้นในช่วงยุค 70 ค่ะ (ช่วง พ.ศ. 2513 – 2522) คุณปู่คุณย่าสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พักของท่านตอนอายุมากขึ้นค่ะ ส่วนพ่อแม่แล้วก็บัวกับน้องก็อยู่บ้านหลังใหญ่กันต่อไป” คุณบัวกล่าว
“บ้านหลังนี้สร้างยุค 70 แน่ ๆ เป็นแนวโมเดิร์นอย่างชัดเจน สังเกตได้จากการใช้กระเบื้องลอนมุงหลังคาที่มีจั่วแบบไม่ชันมาก มีเสาไม้ค้ำยันใต้หลังคา ซึ่งเป็นลักษณะของการนำศิลปะแบบพื้นถิ่นเข้ามาผสมผสาน ซึ่งก็เป็นความนิยมในช่วงนั้น แล้วยุคนี้เป็นยุคที่นิยมงานเหล็กดัดที่สร้างสรรค์เป็นลวดลายเชิงนามธรรม (Abstract) ต่าง ๆ อย่างของบ้านหลังนี้ต้องนับว่าเป็นงานเหล็กดัดที่สวยเก๋มาก”
“นอกจากเหล็กดัดแล้ว สัญลักษณ์อันโดดเด่นของยุคนี้คืองานกุ๊นขอบด้วยการเรียงอิฐ บ.ป.ก ให้เป็นแนว ส่วนผนังที่ฉาบปูนก็มักจะใช้วิธีสลัดปูนเพื่อให้เกิดลวดลายสามมิติบนพื้นผิว (Texture) บนผนังระบายอากาศก็มีการออกแบบให้เกิดเป็นแพตเทิร์นลวดลายต่าง ๆ คือยุคโมเดิร์นเป็นยุคที่สนุกกับการใช้เทคนิคใหม่ ๆ ต่าง ๆ นานาเพื่อสร้างพื้นผิวสัมผัสที่ไม่เรียบ มีมิติ ก่อให้เกิดเป็นลวดลายใหม่ ๆ” คุณตุ่นพูดไปพวกเราก็ไล่ดูรายละเอียดต่าง ๆ ตามที่คุณตุ่นบรรยายอย่างสนุกสนาน
โอ้โห… บนพื้นที่ 200 ตารางวาแห่งนี้มีอะไรให้สังเกตเยอะจริง ๆ ขอขอบพระคุณคุณตุ่นที่ช่วยชี้ชวนชมพร้อมอรรถาธิบายอย่างละเอียด สำหรับผมแล้ว บ้านพระยาอนุมานราชธนไม่ได้มีความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์ในฐานะที่เป็นบ้านของบุคคลสำคัญเท่านั้น แต่ยังมีรายละเอียดทางสถาปัตยกรรมที่ช่วยเล่าเรื่องของบ้าน ย่าน และยุคได้เป็นอย่างดี
ดูแลรักษาบ้าน
“อยู่บ้านโบราณก็มีอะไรสนุก ๆ นะคะ” คุณบัวเอ่ยยิ้ม ๆ เมื่อผมถามว่าอยู่บ้านคุณทวดแล้วเกร็งหรือไม่
“ความที่เป็นบ้านไม้ ต้องเดินแบบย่อง ๆ ไม่เช่นนั้นจะเกิดเสียงดัง ตอนเด็ก ๆ บางทีงอแงกับแม่ แล้วเราก็เดินเลี่ยงออกมา แม่กลับดุหาว่าเดินลงส้นแบบไม่พอใจ ความจริงเปล่าเลยจ้า…แค่ลืมย่องเท่านั้น ฮ่า ๆๆ”
เธอเล่าพร้อมเสียงหัวเราะ แต่ความคุ้นชินอาการไม้ลั่นเอี๊ยดอ๊าดเช่นนี้ทำให้เธอไม่นอยด์ เวลาไปสถานที่ที่ไม่คุ้นชิน เธอหลับสนิทโดยไม่ได้เสียงยินอะไรที่ชวนผวา ในขณะที่เพื่อนคนอื่น ๆ อาจกระซิบกระซาบกันว่าเมื่อคืนมีเสียงนู่นเสียงนี่กันต่าง ๆ นานา
“พอหน้าฝน ก็ต้องสังเกตแล้วว่าฝนตกนานไหม ถ้าตกนาน ๆ ไม่หยุดเสียที นู่น…ต้องเตรียมถังรองรับน้ำที่รั่วซึมลงมา หรือคุณตุ่นเคยเตือนไว้ว่าบริเวณหนึ่งของห้องกลาง พื้นกระดานเริ่มยวบ ๆ แล้วนะ ให้ระวังตัวกันไว้ด้วย พวกเราก็จะพยายามเลี่ยงบริเวณนั้น ไม่ไปซ้ำเติมให้มันอ่อนแอลง เดี๋ยวพื้นอาจทะลุได้” เธอเล่าอย่างอารมณ์ดี
“ประตูไม้บางทีก็ปิดไม่ได้ โดยเฉพาะห้องน้ำ เพราะไม้มันชื้นและบวม เมื่อก่อนก็พยายามปรับขนาดประตู หาช่างมาเจียรส่วนเกินออก มันก็แก้ไขได้บ้างไม่ได้บ้าง ตอนหลังก็เปิดไปเลยจ้า ใช้วิธีติดม่านบังเอา ฮ่า ๆๆ”
สำหรับคุณบัว การอนุรักษ์เท่ากับการใช้งานต่อไปตามปกติ เพราะเธอและครอบครัวเชื่อว่ายิ่งใช้ก็ยิ่งอยู่นาน แต่ขอให้ใช้อย่างระมัดระวังและทะนุถนอมตามสมควร
“บัวไม่ได้ทำอะไรที่ยุ่งยากเป็นพิเศษนะคะ อาจต้องใส่ใจบางเรื่องมากขึ้น ความที่เป็นเรือนไม้ แม้จะเป็นไม้สัก แต่ก็มีเครื่องเรือนต่าง ๆ ทำจากไม้นานาชนิด ซึ่งทำให้บ้านหลังนี้ต้องระวังเรื่องปลวกมาก ๆ ตอนบัวเด็ก ๆ จะชินกับพี่ ๆ พนักงานกำจัดปลวกที่มาแทบทุกเดือน และทุกวันนี้ก็ยังต้องระวังประเด็นนี้อยู่”
“อย่างจะติดเครื่องปรับอากาศ ก็ต้องดูนิดหนึ่งว่าเป็นแบบแขวนบนผนังได้หรือไม่ บางครั้งต้องใช้แบบตั้งกับพื้นแทน เพื่อลดความเสี่ยงที่ผนังจะเอียง ทรุด หรือทะลายลง”
“หรืออย่างน้องหมา แม่บัวจะให้ระวังไม่ให้หมาไปเดินเพ่นพ่านในตัวบ้าน ส่วนมากให้อยู่แค่ระเบียง แม่กลัวว่าเล็บของเขาจะไปสร้างรอยบนพื้นไม้”
“เวลาถูบ้าน แม่สอนให้บัวถูบ้านแบบโบราณ คือถูเปียกและถูแห้งพร้อมกัน แล้วใช้มือถูด้วยนะคะ คือมือหนึ่งใช้ผ้าเปียกถู แล้วก็เอาผ้าแห้งซับตาม สลับกันถูแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จะใช้ไม้ถูก็ไม่ได้ เพราะกลัวไม้ไปครูดโดนเครื่องเรือนเก่า ๆ บนบ้าน แต่ตอนนี้ก็พออนุโลมให้ใช้ไม้ถูได้แล้ว แต่ต้องถูด้วยความระมัดระวัง และพยายามจัดเก็บบริเวณบ้านให้โล่งขึ้นก่อน ไม้ถูจะได้ไม่ครูดไปโดนอะไร”
แล้วการที่บ้านขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานทำให้เธอรู้สึกยุ่งยากอย่างไรหรือเปล่า
“ไม่เลยค่ะ จะทำอะไรก็เหมือนมีที่ปรึกษาที่คอยแนะนำว่าควรทำอะไร อย่างไร ใช้ช่างรายใด เพราะเรามักรายงานไปว่าเราจะซ่อมแซมสิ่งนั้นสิ่งนี้ อย่างนั้นอย่างนี้นะ แต่เรามีสิทธิ์เลือกใช้ตามวิธี งบประมาณ และเวลาที่เรามีได้ค่ะ”
ประเด็นนี้คุณตุ่นเสริมว่าการซ่อมแซมอาคารที่ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานนั้น ทางกรมศิลปากรไม่ได้เข้ามาควบคุมในทุกรายละเอียด เจ้าของสถานที่ซ่อมแซมรักษาเองได้ แต่ต้องพิจารณาแล้วว่าการซ่อมแซมครั้งนั้นจะไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบสำคัญที่สะท้อนคุณค่าของโบราณสถานนั้น ๆ
“คนทั่วไปมักเข้าใจผิดว่าหากขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแล้วจะซ่อมอะไรไม่ได้เลย ทำอะไรนิด ๆ หน่อย ๆ ก็ต้องรายงานทันที อันนี้เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน อย่างกรณีบ้านพระยาอนุมานราชธน จะซ่อมไฟ ซ่อมรางน้ำ เปลี่ยนก๊อก อะไรเช่นนี้ทำได้ แต่จะเปลี่ยนเอาผนังตู้หนังสือออก หรือเปลี่ยนเอากระจกสีออก อย่างนี้ทำไม่ได้ เพราะเป็นการบั่นทอนคุณค่าลง หรือจะทาสีบ้านใหม่ก็ต้องแจ้ง เพราะสีสะท้อนยุคสมัยซึ่งเป็นคุณค่าสำคัญของอาคาร ดังนั้นก็ควรซ่อมให้เป็นสีดั้งเดิม เป็นต้น”
นอกจากใช้บ้านตามปกติแล้ว เครื่องเรือนชิ้นต่าง ๆ เธอก็ยังนำมาใช้อยู่
“อย่างเตียงของคุณทวด บัวก็ยังนำมาใช้อยู่ เมื่อก่อนเคยใช้นอน แต่ตอนหลังลงมานอนที่พื้นแทน พอดีในห้องนั้นใช้เครื่องปรับอากาศแบบตั้งพื้น ไม่ได้เป็นแบบแขวนผนัง ก็เลยลงมานอนใกล้ ๆ แอร์แล้วเย็นสบายกว่า”
บรรยากาศเดิม ๆ สมัยคุณทวดยังมีชีวิต ก็อาจปรับเปลี่ยนมาเป็นกิจกรรมบางอย่างที่สอดคล้องกัน อาจารย์สมศรีเคยเขียนเล่าว่า จมื่นมานิตย์นเรศ โขนหลวงในสมัยรัชกาลที่ 6 เคยเปิดเวทีแสดงเป็นตัวหนุมานบนเรือนหน้าบ้าน คุณบัวเล่าให้ผมฟังว่าที่บ้านเคยจัดคอนเสิร์ตเปียโนเล็ก ๆ ที่ระเบียงหน้าบ้านเพื่อให้คุณย่าได้ฟังในวันที่ท่านอยู่ในวัยสูงอายุมากจนออกไปฟังคอนเสิร์ตเปียโนนอกบ้านไม่ได้อีกแล้ว หรือสนามหญ้าหน้าบ้านเป็นที่เคยเป็นสนามโครเกต์และแบดมินตันในสมัยที่คุณทวดยังมีชีวิต คุณบัวก็เล่าให้ผมฟังเช่นกันว่าคุณพ่อคุณแม่ของเธอก็เคยชวนเพื่อน ๆ ญาติ ๆ มาร่วมชมและเชียร์บอลโลกแมตช์สำคัญ ๆ กันมาแล้ว โดยขึงจอใหญ่ให้ลุ้นกันแบบเต็มตาเลย
อย่างที่เธอกล่าวไว้ว่าการอนุรักษ์คือการใช้งานตามปกติ เพราะยิ่งใช้ยิ่งคงอยู่ ไม่ใช่เพียงเฉพาะตัวบ้านที่เป็นอาคารเท่านั้น แต่ฉากชีวิตและภาพความทรงจำของบรรพบุรุษก็ยังคงตราตรึงฝังแน่นอยู่ทุกอณูในบ้านของคุณทวดหลังนี้ด้วยเช่นกัน
ขอขอบพระคุณผู้ให้สัมภาษณ์
คุณบัว-ภัทรสุดา อนุมานราชธน เหลนพระยาอนุมานราชธน
คุณตุ่น-ดร.วสุ โปษยะนันทน์ สถาปนิกเชี่ยวชาญ กรมศิลปากร
ข้อมูลอ้างอิง
- ฟื้นความหลัง โดย เสฐียรโกเศศ
- พ่อ พระยาอนุมานราธน โดย สมศรี สุกุมลนันทน์
- สารคดีเชิงชีวประวัติพระยาอนุมานราชธน “เสฐียรโกเศศ” พ่อของลูก โดย สมจัย อนุมานราชธน สมศรี สุกุมลนันทน์ ศ.มัลลี เวชชาชีวะ
- ชีวประวัติพระยาอนุมานราชธน เก็บความจากผลงานและศิษย์ของท่าน รวบรวมและเรียบเรียงโดย นวลจันทร์ รัตนากร ชุติมา สัจจานนท์ มารศรี ศิวรักษ์
- 125 ปี พระยาอนุมานราชธน รวบรวมโดยกรมศิลปากร