บ้านพิษณุโลก เป็นคฤหาสน์อายุกว่าร้อยปี ตั้งอยู่ที่ริมถนนพิษณุโลก ย่านนางเลิ้ง เดิมชื่อ ‘บ้านบรรทมสินธุ์’ เป็นบ้านพักของ พระยาอนิรุทธเทวา (หม่อมหลวงฟื้น พึ่งบุญ) ข้าราชบริพารคนสนิทใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ภายหลังกลายเป็นบ้านรับรองแขกเมือง และบ้านพักประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไทย (แต่ไม่ค่อยมีนายกรัฐมนตรีท่านใดมาพำนัก)

ในภาวะที่การเมืองไทยเปลี่ยนแปลงผันผวนเป็นรายชั่วโมง นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศจะเป็นใครก็ยังไม่ทราบแน่ เราลองมาดูประวัติศาสตร์อันน่าสนุกของบ้านบรรทมสินธุ์หรือบ้านพิษณุโลก พร้อมชมความงดงามทางสถาปัตยกรรมของบ้านซึ่งพร้อมที่จะเป็นบ้านพักประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปของเรากัน

บ้านพิษณุโลก บ้านพักทรง Venetian Gothic ประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ไม่ค่อยมีนายกฯ มาพัก
ด้านหน้าของตึกใหญ่ บ้านพิษณุโลก หรือบ้านบรรทมสินธุ์เดิม

“เทวดาจุติมาจากสวรรค์”

หม่อมหลวงฟื้น พึ่งบุญ เกิดเมื่อ พ.ศ. 2436 เป็นน้องชายของ หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ (เจ้าพระยารามราฆพ) ทั้งสองเป็นบุตร พระยาประสิทธิ์ศุภการ (หม่อมราชวงศ์ละม้าย พึ่งบุญ) และ พระนมทัต พึ่งบุญ ซึ่งเป็นพระนมใน สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ มาแต่แรกพระราชสมภพ

เมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้นทรงศึกษาวิชา ณ ทวีปยุโรป เจริญพระราชอิสริยยศเป็นสยามมกุฎราชกุมารพระองค์ที่ 2 ของสยาม และเสด็จนิวัติพระนครใน พ.ศ. 2445 แล้วหม่อมหลวงเฟื้อและหม่อมหลวงฟื้น พึ่งบุญ ก็ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็ก โดยทรงนับว่าเป็นข้าหลวงเดิม รับราชการสนองพระเดชพระคุณ เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของสมเด็จพระยุพราชเป็นอย่างมาก

บ้านพิษณุโลก บ้านพักทรง Venetian Gothic ประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ไม่ค่อยมีนายกฯ มาพัก
พระยาอนิรุทธเทวา

ถึง พ.ศ. 2453 สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นับแต่นั้นมา หม่อมหลวงฟื้นได้รับพระราชทานเลื่อนยศและตำแหน่งสูงขึ้นโดยลำดับ เป็นพระยาอนิรุทธเทวา จางวางมหาดเล็ก ใน พ.ศ. 2459 ทั้งยังเป็นผู้ช่วยราชการกรมพระอัศวราช อธิบดีกรมมหาดเล็ก และผู้บัญชาการกรมมหรสพอีกด้วย

หม่อมหลวงฟื้นกอปรด้วยความซื่อตรงจงรักภักดี มีอุปนิสัยเยือกเย็น สุขุม ทั้งยัง ‘รูปงาม’ จนเป็นที่เล่าลือ ดังที่ หม่อมหลวงเนื่อง นิลรัตน์ บรรยายไว้ว่า งามเหมือนเทวามาจากสวรรค์ ผู้ชายใส่เครื่องเพชรทั้งตัวงามวูบวาบไปหมด มองดูกลับไม่น่าเกลียด กลับเห็นเป็นน่ารัก แม้จะใส่สร้อยเพชรที่ข้อเท้า ก็ดูเก๋ดีออกจะตาย หน้าท่านก็ขาวสวย ผมก็ดำสนิทหยักศกสลวย ลูกตาใสแวววาว ดูไปทั้งตัวสวยไปทั้งนั้น สมแล้วที่ท่านชื่ออนิรุทธเทวา แสดงว่าเทวดาจุติมาจากสวรรค์

บ้านพิษณุโลก บ้านพักทรง Venetian Gothic ประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ไม่ค่อยมีนายกฯ มาพัก
รัชกาลที่ 6 ทรงฉายพระรูปพร้อมเจ้านายและข้าราชบริพาร รวมทั้งหม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ (ซ้ายสุด) และหม่อมหลวงฟื้น พึ่งบุญ (คนที่ 3 จากขวา ยืนระหว่างคนไว้หนวด 3 คน)

ในช่วงปลายรัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินผืนงามของพระคลังข้างที่ในย่านนางเลิ้งให้แก่เจ้าพระยารามราฆพแปลงหนึ่ง ให้พระยาอนิรุทธเทวาแปลงหนึ่ง ที่แปลงหลังนี้มีรูปร่างเป็นสี่เหลี่ยมคางหมูยาว ขนาด 50 ไร่ อยู่ริมถนนพิษณุโลก ทางทิศใต้ของสนามม้ากรมพระอัศวราช (ภายหลังเป็นราชตฤณมัยสมาคม และกำลังปรับปรุงเป็นอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ)

บนที่ดินผืนงามนี้ เมื่อ พ.ศ. 2462 รัชกาลที่ 6 ทรงออกแบบร่างของบ้านพระยาอนิรุทธเทวาด้วยพระองค์เอง โดยในปีก่อนหน้าได้ทรงออกแบบร่างบ้านพระราชทานแก่เจ้าพระยารามราฆพเช่นกัน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณพิเศษที่พระราชทานแก่ข้าราชบริพารสองพี่น้องคู่นี้ ทั้งนี้ พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ นายมาริโอ ตามาญโญ และสถาปนิกอิตาเลียนคนอื่น ๆ ได้แก่ โอเรสเต ตาเวลลา และ อัลเฟรโด สปิญโญ พัฒนาแบบสถาปัตยกรรมและดำเนินการก่อสร้างไปจนแล้วเสร็จในราว พ.ศ. 2465 พร้อมพระราชทานนามบ้านว่า บ้านบรรทมสินธุ์

The Villa

ที่ดินบ้านบรรทมสินธุ์แบ่งออกเป็น 3 ตอน ตอนเหนือเป็นสนามฟุตบอล มีถนนวนรอบ ขอบสนามด้านหนึ่งมีศาลาฟุตบอล อีกด้านหนึ่งมีโรงเก็บรถยนต์ ตอนกลางเป็นที่ตั้งของตึกใหญ่ หลังตึกใหญ่มีสระน้ำ ที่ริมสระนั้นมี ‘ตึกเย้าใจ’ เล่ากันว่าในช่วงรัชกาลที่ 6 พระยาอนิรุทธเทวาและครอบครัวอาศัยอยู่ที่ตึกเย้าใจด้านหลัง ส่วนตึกใหญ่เป็นที่ประทับเวลาในหลวงเสด็จฯ มาเยือนบ้านนี้ ที่ดินตอนใต้เป็นสวนขนาดใหญ่ ประมาณ 25 ไร่ มีเรือนไม้กระจายอยู่ห่าง ๆ

บ้านพิษณุโลก บ้านพักทรง Venetian Gothic ประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ไม่ค่อยมีนายกฯ มาพัก
แผนที่สำรวจ พ.ศ. 2468 ปรับสีให้เห็นบริเวณบ้านบรรทมสินธุ์ ตึกใหญ่คือจุดสีแดงกลางที่ดิน ล้อมรอบด้วยถนน สระน้ำ และสวน

ตึกใหญ่หันหน้าไปทางทิศเหนือ มีที่เทียบรถเป็นโครงสร้างเหล็กหล่อ มุงด้วยกระจกใส บันไดหินอ่อนพาเราขึ้นไปยังโถงทางเข้าซึ่งเป็นห้องโถงกลม เหนือโถงนี้ที่ชั้น 2 เป็นห้องสมุด ส่วนที่ชั้น 3 เป็นห้องพระ หลังคาเป็นโดมกลม จากโถงทางเข้าเป็นโถงบันไดหลักสำหรับเจ้าของบ้าน ซึ่งแบ่งอาคารเป็น 2 ฟาก ตามผังเดิมของนายตามาญโญ ชั้นล่างฟากหนึ่งเป็นห้องรับแขกและห้องบิลเลียด อีกฟากหนึ่งเป็นห้องอาหารและห้องสูบบุหรี่ ด้านหลังมีห้องเตรียมอาหารและห้องบ่าว เดินเชื่อมถึงกัน พร้อมบันไดบ่าวขึ้นไปยังชั้น 2 ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ฟากเหมือนชั้นล่าง มีห้องนอน ห้องแต่งตัว และห้องน้ำ 2 ชุด

บ้านพิษณุโลก บ้านพักทรง Venetian Gothic ประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ไม่ค่อยมีนายกฯ มาพัก
ผังชั้นล่างบ้านบรรทมสินธุ์ เขียนโดยนายตามาญโญ

ในแบบสถาปัตยกรรม ตามาญโญเรียกอาคารนี้ว่า ‘วิลลา (H.E. Phya Aniruddha Deva’s Villa)’ คือเป็นคฤหาสน์ในชนบท มีทัศนียภาพรอบตัว บ้านบรรทมสินธุ์จึงมีลักษณะเด่นที่การ ‘ออกมุข’ อาคารเป็นมุขครึ่งวงกลมในทุก ๆ ด้าน ทุกมุขมีทางเดินกรุหน้าต่างรอบ หน้าต่างทางเดินนี้ตอนบนเป็นบานเฟี้ยมกระจก เปิดกว้างทั้งช่องหน้าต่างก็ได้ เปิดกระทุ้งเฉพาะบานก็ได้ ส่วนตอนล่างเป็นบานเกล็ดไม้ เลือกเปิด-ปิดได้เช่นกัน หากเปิดโล่งหมดก็จะมีราวระเบียงซีเมนต์หล่อ ทั้งหมดนี้สะท้อนถึงความเข้าใจสภาพภูมิอากาศร้อนชื้นของกรุงเทพฯ เป็นอย่างดี

บ้านพิษณุโลก บ้านพักทรง Venetian Gothic ประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ไม่ค่อยมีนายกฯ มาพัก
มุขด้านตะวันออกของตึกใหญ่

Venetian Gothic

เมื่อมองจากภายนอก บ้านบรรทมสินธุ์โดดเด่นด้วยมุขโค้ง โดยเฉพาะส่วนโถงทางเข้าที่ทำเป็นหอคอยสูง ยอดเป็นโดมกลม ตามาญโญจัดจังหวะช่องเปิดอย่างมีระเบียบ ชั้นล่างใช้ซุ้มโค้ง (Arch) กว้าง ส่วนชั้นบนทำหน้าต่างให้ถี่ขึ้น มีซุ้มโค้งยอดแหลมรองรับโครงโค้งโปร่ง ฉลุเป็นลาย 4 กลีบ (Quatrefoil) กรอบหน้าต่างทำเป็นเสาเกลียวเล็ก (Ropework) ผนังทึบบางส่วนตกแต่งด้วยแผ่นหินอ่อนสลับสี หลังคาอาคารทำชายคาคอนกรีตเสริมเหล็กบาง ๆ รอบ ๆ ทำราวกันตก (Parapet) ซีเมนต์เป็นเส้นสูง-ต่ำสลับกัน ทั้งหมดนี้คือรูปแบบกอทิกอย่างเวนิส (Venetian Gothic) มีลักษณะเด่นที่ความโปร่งเบา ประดับตกแต่งมากมาย โดยเฉพาะส่วนบนของอาคาร ผสมผสานเครื่องตกแต่งสถาปัตยกรรมอย่างมุสลิม ไบแซนไทน์ และเปอร์เซียเข้าไปด้วย ปรากฏชัดในอาคารสำคัญอย่างพระราชวังดยุก (Palazzo Ducale) มหาวิหารซานมาร์โค (Basilica di San Marco) และวังคาโดโร (Ca’ d’Oro) ที่นครเวนิส ที่สร้างขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13 – 15

บ้านพิษณุโลก บ้านพักทรง Venetian Gothic ประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ไม่ค่อยมีนายกฯ มาพัก
ตึกใหญ่มองจากทางเข้าหน้าบ้าน ภาพถ่ายราวรัชกาลที่ 7

ตามาญโญ ‘แปล’ ภาษาสถาปัตยกรรมกอทิกอย่างเวนิสให้กลมกลืนกับบริบทไทยในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เช่นเดียวกับพระราชนิพนธ์บทละคร เวนิสวาณิช ที่รัชกาลที่ 6 ทรงแปลจากเรื่อง The Merchant of Venice ของ วิลเลียม เชกสเปียร์ ใน พ.ศ. 2457 โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กอย่างทันสมัยถูกซ่อนไว้อย่างแนบเนียนภายใต้เครื่องตกแต่งสถาปัตยกรรมหรูหรา ผสมผสานความเป็นตะวันตกและตะวันออกมาแล้วตั้งแต่ต้นทางที่เวนิส และมาปรับประยุกต์อีกครั้งที่กรุงเทพฯ

ด้านตะวันออกของตึกใหญ่มีสระน้ำกว้าง ในสระมีเกาะน้อยใหญ่ มีสะพานคอนกรีตรูปแบบกอทิกเชื่อมถึงกัน บนเกาะใหญ่มีศาลท้าวหิรัญพนาสูร เทพารักษ์ประจำบ้าน เป็นอาคารทรงไทย ด้านทิศเหนือของตึกใหญ่มีตึกเย้าใจ เป็นที่อยู่ของพระยาอนิรุทธเทวาและครอบครัว เป็นตึก 2 ชั้น หลังคาปั้นหยา ตกแต่งภายในด้วยฉากไม้ฉลุแบบกอทิก แต่เขียนลายสีบนผนังแบบอาร์ตนูโว ขณะที่ทางฟากตะวันตกของบ้านมี ‘ตึกธารกำนัล’ เป็นอาคารชั้นเดียว ใช้สำหรับทอดพระเนตรการแข่งขันฟุตบอลหรือกีฬาอื่น ๆ ในสนามก็ตกแต่งภายในด้วยลวดลายแบบแขกมัวร์

บ้านพิษณุโลก บ้านพักทรง Venetian Gothic ประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ไม่ค่อยมีนายกฯ มาพัก
ศาลท่านท้าวหิรัญพนาสูร
เจาะอดีต ‘บ้านพิษณุโลก’ ตั้งแต่บ้านพระยาอนิรุทธเทวา ฉากบ้านทรายทอง จนถึงบ้านพักนายกฯ ที่เลื่องลือด้านตำนานผีดุ
ตึกเย้าใจ
เจาะอดีต ‘บ้านพิษณุโลก’ ตั้งแต่บ้านพระยาอนิรุทธเทวา ฉากบ้านทรายทอง จนถึงบ้านพักนายกฯ ที่เลื่องลือด้านตำนานผีดุ
ตึกธารกำนัล

ที่บ้านนรสิงห์ (ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล) ของเจ้าพระยารามราฆพ ซึ่งนายตามาญโญออกแบบตามแบบที่รัชกาลที่ 6 ทรงร่างขึ้น เราพบการใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมหลากหลายที่มาแวดล้อมอาคารหลักที่เป็นแบบกอทิกอย่างเวนิสนี้เช่นกัน แม้ว่าบ้านนรสิงห์จะออกแบบขึ้นก่อน (พ.ศ. 2462) แต่ตึกใหญ่มาสร้างเสร็จใน พ.ศ. 2469 ด้วยขนาดอาคารที่ใหญ่โตกว่าบ้านบรรทมสินธุ์มาก

Theatrical Space

อย่างไรก็ดี สถาปัตยกรรมของบ้านบรรทมสินธุ์มิได้โดดเด่นด้วยรูปแบบกอทิกอย่างเวนิสเท่านั้น หากโดดเด่นด้วยความ ‘ประดุจฉากละคร (Theatrical)’ ของสเปซ และการจัดลำดับสเปซเป็นฉาก ๆ ต่อเนื่องกัน ทั้งภายในและภายนอกอาคาร การวางตึกใหญ่ให้เยื้องกับประตูหน้าบ้าน ทำให้เกิดถนนโค้งยาว นำสายตามาสู่ตัวตึกใหญ่ รับรู้รูปทรงรวมของอาคารเป็นมุมเฉียงก่อน จากนั้นถนนจึงวนรอบประติมากรรมรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ในสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ซึ่งตั้งอยู่หน้าจุดที่เทียบรถตรงมุขกลาง รับกับความสมมาตรแบบมีแกน (Axial Symmetry) ของตัวตึกใหญ่ด้านหน้า

เจาะอดีต ‘บ้านพิษณุโลก’ ตั้งแต่บ้านพระยาอนิรุทธเทวา ฉากบ้านทรายทอง จนถึงบ้านพักนายกฯ ที่เลื่องลือด้านตำนานผีดุ
ที่เทียบรถและบันไดหน้าตึกใหญ่

ฉากสำคัญชุดถัดไป คือบันไดหินอ่อนที่ทอดตัวจากที่เทียบรถขึ้นไปยังโถงทางเข้า เราเดินเข้าสู่ตัวอาคารภายใต้โครงสร้างที่เทียบรถโครงสร้างเหล็กหล่อกรุด้วยกระจกใส เมื่อเข้ามาในตึกเราพบกับห้องโถงกลมที่มีเพดานเป็นโดมตื้น ๆ ที่บีบรัดสเปซเข้ามา และคลายออกเมื่อเราเดินเข้ามาสู่โถงบันได ซึ่งเป็นโถงโปร่งสูง 3 ชั้น สถาปนิกออกแบบบันไดให้เวียนไปตามผนังห้องโถงนี้โดยไม่มีเสารับ ทำให้โถงบันไดเป็นมากกว่าทางสัญจร โดยเป็นจุดตัดของแนวแกน (Axis) ที่จะส่งต่อไปยังส่วนอื่นของอาคาร

จากโถงทางเข้ามองเข้าไปยังโถงบันไดหลัก ทางซ้ายเห็นอัฒจันทร์ขึ้นไปยังห้องรับรอง

อีกตัวอย่างหนึ่งของความ ‘ดราม่า’ ภายใน คือการเชื่อมสเปซจากโถงบันไดหลักไปยังห้องรับแขกทางด้านซ้าย ตามาญโญออกแบบให้ตีนบันไดหลักเป็นขั้นบันไดแบบอัฒจันทร์ เมื่อเข้าสู่ห้องรับแขก เราจึงยืนในระดับที่สูงกว่าพื้นห้องประมาณ 1 เมตร มีบันไดหินอ่อนโค้งแยกทางซ้ายและขวา พาเราลงมาสู่ระดับพื้นห้อง ที่หน้าบันไดเล็กมีบ่อน้ำพุ ทำเป็นรูปหัวสิงห์หินอ่อนพ่นน้ำ ความหรูหราของการตกแต่งภายในจึงทำงานร่วมกับลำดับของสเปซภายในอาคารอย่างสมบูรณ์

เจาะอดีต ‘บ้านพิษณุโลก’ ตั้งแต่บ้านพระยาอนิรุทธเทวา ฉากบ้านทรายทอง จนถึงบ้านพักนายกฯ ที่เลื่องลือด้านตำนานผีดุ
ห้องรับรอง เห็นบันไดหินอ่อนโค้งลงมาจากโถงบันไดหลัก และน้ำพุหัวสิงห์ (ซ้าย)

จากบ้านบรรทมสินธุ์สู่บ้านทรายทอง

เมื่อสิ้นรัชกาลที่ 6 ใน พ.ศ. 2468 ตำแหน่งอธิบดีกรมมหาดเล็กถูกยุบ พระยาอนิรุทธเทวาจึงเกษียณอายุราชการเมื่ออายุได้ 34 ปี รับเงินปีค่าเลี้ยงชีพตามพระราชพินัยกรรมในรัชกาลที่ 6 สืบมา ท่านและครอบครัว ได้แก่ คุณหญิงเฉลา อนิรุทธเทวา และบุตรธิดา 3 คน จึงย้ายมาพำนักที่ตึกใหญ่

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 พระยาอนิรุทธเทวายังคงมีบทบาทในสังคมสมัยประชาธิปไตย บ้านบรรทมสินธุ์เป็นที่ตั้งของคณะละครบรรทมสินธุ์ ที่ท่านร่วมกับข้าราชสำนักสมัยรัชกาลที่ 6 ท่านอื่น ๆ สืบทอดนาฏศิลป์ ละคร และละครร้องให้แก่คนรุ่นหลัง

10 ปีต่อมา เมื่อกรุงเทพฯ ตกอยู่ในภาวะสงครามมหาเอเชียบูรพา พระยาอนิรุทธเทวาและครอบครัวอพยพไปอยู่ที่จังหวัดนนทบุรี บ้านบรรทมสินธุ์ว่างอยู่ระยะหนึ่ง ถึง พ.ศ. 2485 รัฐบาลไทยสมัยนั้นจึงขอซื้อบ้านและบริเวณครึ่งหนึ่ง คือประมาณ 25 ไร่ทางฝั่งตึกใหญ่และอาคารบริวาร เพื่อใช้เป็นบ้านรับรองแขกเมือง และเป็นที่ทำการกรมประสานงานไทย-ญี่ปุ่น พระยาอนิรุทธเทวาจึงขายบ้านให้แก่รัฐบาลเฉพาะที่ดินและอาคาร ในราคา 500,000 บาท ส่วนเครื่องตกแต่งบ้านที่มีความหมายพิเศษถึงรัชกาลที่ 6 นั้น ท่านได้ขนย้ายออกไปรักษาไว้สำหรับสกุลวงศ์ต่อไป

รัฐบาลเปลี่ยนชื่อบ้านบรรทมสินธุ์เป็น ‘บ้านพิษณุโลก’ ตามชื่อถนนหน้าบ้าน ส่วนตึกใหญ่ก็ให้ชื่อว่า ‘ตึกไทยพันธมิตร’ แทน ทั้งนี้ ในช่วงเวลาเดียวกัน รัฐบาลได้ซื้อบ้านนรสิงห์จากเจ้าพระยารามราฆพในราคา 1,000,000 บาท เพื่อใช้เป็นทำเนียบรัฐบาลและสถานที่รับแขกเมือง โดยเปลี่ยนชื่อบ้านเป็น ‘ทำเนียบสามัคคีชัย’ บ้าน 2 หลังที่รัชกาลที่ 6 ทรงออกแบบและพระราชทานให้แก่สองพี่น้องในราชสกุล พึ่งบุญ และตามาญโญคัดสรรรูปแบบสถาปัตยกรรมกอทิกอย่างเวนิสให้ จึงมีบทบาทใหม่ที่สำคัญยิ่งในสมัยประชาธิปไตย

หลังสงครามมหาเอเชียบูรพาสงบลง พระยาอนิรุทธเทวาขายที่บ้านบรรทมสินธุ์เดิม ส่วนที่เป็นสวนและเรือนไม้เล็ก ๆ ที่ยังคงเหลืออยู่ให้แก่ทางโรงพยาบาลมิชชั่น สร้างอาคารโรงพยาบาลขึ้นมา ส่วนท่านและครอบครัวย้ายไปพักที่วังปากคลองผดุงกรุงเกษม ย่านเทเวศร์ ขนานนามบ้านใหม่ว่า ‘บ้านบรรทมสินธุ์’ พระยาอนิรุทธเทวาอาศัยอยู่ที่บ้านบรรทมสินธุ์ ปากคลองผดุงกรุงเกษม จนถึงอนิจกรรมใน พ.ศ. 2494 สิริอายุ 57 ปี

ในสมัย จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี มีดำริจะปรับปรุงตึกไทยพันธมิตร บ้านพิษณุโลก เป็นบ้านพักประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยที่ตั้งที่ใกล้กับทำเนียบรัฐบาล คือบ้านนรสิงห์เดิม และเพื่อรักษามรดกวัฒนธรรมของชาติ แต่มิได้ดำเนินการต่อ

ล่วงมาถึง พ.ศ. 2523 บ้านพิษณุโลกได้รับบทบาทใหม่ในช่วงสั้น ๆ คือเป็นฉากสำคัญของภาพยนตร์เรื่อง บ้านทรายทอง กำกับโดย รุจน์ รณภพ นำแสดงโดย จารุณี สุขสวัสดิ์ และ พอเจตน์ แก่นเพชร บ้านพิษณุโลกกลายเป็นบ้านทรายทองของตระกูลสว่างวงศ์ ถนนที่ทอดยาวจากทางเข้าบ้านด้านถนนพิษณุโลก กลายเป็นฉากให้ พจมาน พินิตนันทน์ หิ้วชะลอมเดินเข้ามาพบกับคฤหาสน์อันโอ่อ่า ทว่าเปี่ยมไปด้วยความเย็นชาของญาติในตระกูลสว่างวงศ์ ทั้งหม่อมพรรณราย หญิงเล็ก หญิงใหญ่ ตลอดจนคนรับใช้ ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำรายได้ถึง 20 ล้านบาท และทำให้บ้านพิษณุโลกกลายเป็น ‘ภาพจำ’ ของคฤหาสน์ผู้ดีเก่าที่สังคมรับรู้ ทั้งโถงทางเข้า โถงบันได ไฟระย้า ฯลฯ

เจาะอดีต ‘บ้านพิษณุโลก’ ตั้งแต่บ้านพระยาอนิรุทธเทวา ฉากบ้านทรายทอง จนถึงบ้านพักนายกฯ ที่เลื่องลือด้านตำนานผีดุ
ใบปิดภาพยนตร์ บ้านทรายทอง พ.ศ. 2523

ในช่วงที่มีการถ่ายภาพยนตร์นั้นเอง รัฐบาล พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ คิดที่จะบูรณะปรับปรุงบ้านพิษณุโลกเป็นบ้านพักประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สำรวจและร่างโครงการไว้ มีงบประมาณราว 19 ล้านบาท แต่โครงการคงค้างมาจนถึงสมัยที่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ใน พ.ศ. 2525 ได้มีการบูรณะปรับปรุงอาคาร ทั้งตึกใหญ่ อาคารบริวาร และภูมิทัศน์โดยรอบครั้งใหญ่ จนแล้วเสร็จภายใน 144 วัน พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ จึงเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่ได้เข้าพัก ณ บ้านพิษณุโลก ในฐานะบ้านพักประจำตำแหน่งได้เพียง 2 วันท่านก็ย้ายกลับไปพักที่บ้านสี่เสาเทเวศร์ของท่าน อันเป็นตำนานของความ ‘ผีดุ’ ของบ้านหลังนี้ บ้านพิษณุโลกคงอยู่ในความดูแลของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเรื่อยมา โดยสมัยรัฐบาล พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ บ้านหลังนี้เป็นที่ทำการของคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ที่สื่อมวลชนเรียกว่า ‘กลุ่มบ้านพิษณุโลก’

นายกรัฐมนตรีท่านเดียวที่ได้ใช้บ้านพิษณุโลกเป็นที่พักระหว่างดำรงตำแหน่งอย่างต่อเนื่อง คือ นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีช่วง พ.ศ. 2535 – 2538 และ พ.ศ. 2540 – 2544 กล่าวกันว่าท่านใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายในคฤหาสน์ขนาดใหญ่ นอนคนเดียวในห้องนอนที่ชั้นบน มีนายตำรวจอารักขาและ ‘พ่อบ้าน’ คอยดูแลรับใช้เพียงคนเดียวเท่านั้น

นับแต่นั้นมา บ้านพิษณุโลกยังคงเป็นบ้านพักประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่นายกฯ หลายท่านมาใช้ประชุมหารือข้อราชการ หรือรับรองแขกอย่างเป็นทางการน้อยกว่าการใช้ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรียังคงดูแลรักษาบ้านพิษณุโลกเป็นอย่างดี แม้อายุอาคารจะได้ 100 ปีเศษแล้ว แต่ก็ยังคงสภาพมั่นคงถาวร ภูมิสถาปัตยกรรมภายนอก ตลอดจนการตกแต่งภายใน ยังคงบรรยากาศของคฤหาสน์ของขุนนางชั้นสูงในสมัยรัชกาลที่ 6 ไว้ได้อย่างครบถ้วน

นับเป็นบ้านหนึ่งในไม่กี่หลังของกรุงเทพฯ ที่ยังคงการใช้งานดั้งเดิมไว้ได้ต่อเนื่องมากว่าศตวรรษ พร้อมต้อนรับนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศในเวลาอันใกล้นี้

Writer & Photographer

พีรศรี โพวาทอง

พีรศรี โพวาทอง

อาจารย์ประจำคณะสถาปัตย์ในมหาวิทยาลัยเก่าแก่แห่งหนึ่ง เมื่อว่างเว้นจากการนั่งนินทาคน มักจะ 1.นอน 2.เดินเล่น และ 3. ค้นคว้าเอกสารจดหมายเหตุในเรื่องสถาปัตยกรรมอันคร่ำครึพ้นสมัย