หากพูดถึงจังหวัดเพชรบุรี จะนึกถึงอะไรกันบ้าง
เขาวัง หาดชะอำ หรือเป็นเพียงทางผ่านลงภาคใต้
จริง ๆ แล้ว เมืองนี้อุดมไปด้วยคุณค่าหลากมิติที่ซุกซ่อนอยู่ในทุกมุมเมือง กำลังรอให้คุณเข้าไปสำรวจและทำความรู้จักเพชรบุรีในแบบที่เพชรบุรีเป็น
“เมืองเพชรเหมือนมีหีบสมบัติ แต่ทุกคนนั่งทับไว้ ไม่ยอมเปิดออกมาใช้” ดิว-รชา ถาวระ หนึ่งในทีมงานจากสถาบันอาศรมศิลป์ให้ความเห็น
กว่า 10 ปีที่ผ่านมา อาศรมศิลป์เข้าไปทำโปรเจกต์ระยะยาวกับเพชรบุรี ตั้งแต่เริ่มต้นเดินสำรวจเมือง แล้วนำสิ่งดี ๆ ที่คนนอกอย่างพวกเขาพบไปชี้ให้คนในพื้นที่เห็น ว่าบ้านเกิดของตนก็มีดีไม่แพ้ที่ไหน
คุณค่าเล็ก ๆ ที่เคยมองข้ามนี่เอง เป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมชั้นดี และมีศักยภาพในการนำไปต่อยอดได้อีกหลายทาง ไม่ว่าจะจัดงานเทศกาลตามแบบฉบับเพชรบุรี ปรับปรุงพื้นที่ชุมชนให้มีสภาพแวดล้อมที่ดี มีเสน่ห์ความเป็นท้องถิ่น จุดประกายผู้คนให้ลุกขึ้นมาพัฒนาบ้านเกิด หรือยกระดับการท่องเที่ยวให้เป็นวิสาหกิจชุมชนอย่างจริงจัง ทำให้คนภายนอกมีโอกาสสัมผัสที่นี่ในเบื้องลึก
และสนับสนุนให้คนเมืองเพชรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในทุกวัน

แทรกซึมกับเยาวชน
“อ้าว ว่าไง ยังหล่อเหมือนเดิมเลยนะ” เสียงคุณลุงคนหนึ่งดังออกมาจากในรั้วบ้าน
ตั้งแต่เดินตามดิวเข้ามาในซอย เราก็ได้ยินเสียงทักทายไม่ขาดสาย ชัดเจนว่าชายหนุ่มชาวนครศรีธรรมราชคนนี้สนิทสนมคุ้นเคยกับผู้คนที่นี่ราวกับเป็นลูกหลานคนหนึ่ง
เรื่องราวเริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. 2555 ที่ชาวอาศรมศิลป์ 6 – 7 คน เข้าไปทำงานกับเพชรบุรีและดิว ซึ่งเป็นตัวหลักในทีม ก็ได้เริ่มทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทของสถาบันอาศรมศิลป์ เกี่ยวกับการพัฒนาเมืองเพชรบุรีด้วย โดยโจทย์ที่ สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) ให้ไว้ ก็คือการพัฒนาเมืองให้เป็นต้นแบบ ‘สุขภาวะ’
“ตอนนั้นชุมชนเขามองเราเป็นนักศึกษา แค่มาสัมภาษณ์ เดี๋ยวทำวิทยานิพนธ์เสร็จแล้วก็ไป” ดิวเล่าย้อนกลับไปถึงช่วงที่เขาและชาวบ้านยังเป็นคนแปลกหน้าของกันและกัน “เราเลยต้องคิดว่า จะทำยังไงให้ชุมชนรู้สึกว่าเราตั้งใจมาทำงานด้วย เราอยากเห็นบ้านเขาพัฒนาจริง ๆ”
อาศรมศิลป์จึงตัดสินใจเริ่มขับเคลื่อนด้วยเยาวชน โดยคำแนะนำของ อาจารย์จำลอง บัวสุวรรณ์ ที่ปรึกษาของ ‘กลุ่มลูกหว้า’ เครือข่ายเยาวชนจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเยาวชนกลายมาเป็นคนในพื้นที่กลุ่มแรกที่พวกเขาได้สานสัมพันธ์และร่วมจัดกิจกรรม
“เดี๋ยวนี้เยาวชนเมืองเพชรมุ่งวิชาการ เรียนพิเศษ อยู่บ้านแม่ก็ซื้อกับข้าวให้ แทบจะไม่ได้มาเดินในชุมชน เราเลยชวนเด็ก ๆ มาลงสำรวจพื้นที่” ดิวพูดถึงกิจกรรม ‘เด็กเพชรอ่านเมือง’ ซึ่งเป็นงานที่ทำให้เยาวชนรู้จักบ้านเกิดของตัวเองมากยิ่งขึ้น จากที่ไม่เคยรู้ว่าร้านอะไรอยู่ตรงไหน บ้านใครมีประวัติความเป็นมาอย่างไร มีคุณค่าอย่างไรบ้าง ก็ได้รู้ขึ้นมาในคราวนี้
เมื่อชุมชนเห็นว่าพาเด็กประถม-มัธยมในพื้นที่เข้าไปชวนคุย ก็ยินดีให้ความร่วมมือ แล้วพวกเขาเองก็พลอยได้รับทั้งความเอ็นดูและความเชื่อมั่นว่าตั้งใจทำงานจริง ต่างจากเดิมที่ชาวบ้านมองว่าเป็นนักศึกษาจากกรุงเทพฯ ที่เข้ามาทำงานอย่างฉาบฉวย
“อย่างบ้านธรรมดาหลังหนึ่ง พอเด็ก ๆ เดินเข้าไปถาม ปู่แกก็เล่ายาวเลย อันนี้มาจากเมืองจีนนะ สั่งทำที่นู่นที่นี่นะ เรารู้สึกว่ากิจกรรมเยาวชนทำให้คนในชุมชนเห็นคุณค่าในของที่เขามี
“ได้ประโยชน์กันทั้ง 3 ฝ่ายนะ เด็กได้รู้จักบ้านเกิด เราได้เข้าใจพื้นที่มากขึ้น ชุมชนก็เห็นคุณค่าของตัวเอง และเข้าใจเรามากขึ้นเหมือนกัน”

เล่าเรื่องเมืองเพชร ให้ชาวเพชรฟัง
‘คุณค่าใกล้ตัว’ เป็นสิ่งที่นักออกแบบมองหาจากการทำงานครั้งนี้
จากการสำรวจที่ผ่านมา พวกเขาพยายามรวมรวมข้อมูลที่ได้มาสื่อสารให้เข้าใจง่าย ไม่ว่าจะเป็น ‘แผนที่ร้านโบราณ’ หรือ ‘แผนที่ของอร่อย’ โดยร้านที่อยู่บนแผนที่ ก็คือร้านเจ๋งที่เด็ก ๆ เลือกสรร ซึ่งความเจ๋งที่ว่าอาจจะไม่ใช่ของที่ขายหรือรสชาติอาหารเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงเรื่องราวที่เจ้าของร้านเล่าด้วยความภูมิใจ อย่างการขายของเพื่อส่งลูก ๆ เรียนด้วย

พอได้สื่อแผนที่มาเป็นตัวอย่าง ก็ถึงเวลาที่จะจัดเวทีประชาคม ชวนคนในชุมชนย่านเมืองเก่ารอบวัดมหาธาตุ พื้นที่เป้าหมายที่เลือกไว้มาพูดคุยเรื่องการพัฒนาเมือง
“เราเอาข้อมูลที่ได้จากการสำรวจมาวิเคราะห์ศักยภาพของเมือง ให้เห็นว่าเราเข้าใจในสิ่งที่เขามียังไงบ้าง” ดิวเล่าถึงการพูดคุยในวันนั้น “แล้วเราก็พยายามโยงให้คนเข้าใจเรื่องคุณค่า โดยการเอาแผนที่ที่ทำไว้ไปแจกในงาน เพื่อให้เขารู้สึกว่าบ้านเขามีของดีอยู่เยอะเลยนะ ไม่ใช่แค่ช่างสิบหมู่ที่ทุกคนมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่ยังมีของดีเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่อาจจะใกล้หายไป
“เมืองเขามีชีวิตมาตลอด เขาไม่โดนสงคราม ไม่เคยเป็นเมืองร้างตั้งแต่อยุธยาถึงปัจจุบัน เขาอยู่กันมานาน ก็เลยมีมรดกวัฒนธรรมเยอะมาก

“ตอนนั้นเราเห็นแล้วว่าเมืองสุขภาวะของเพชรบุรีอาจไม่ใช่เรื่องสุขภาพอย่างเดียว แต่มีเรื่องต้นทุนทางวัฒนธรรมที่จะนำไปต่อยอดได้ด้วย”
ในเวทีวันนั้น นักออกแบบเห็นศักยภาพในการพัฒนา ‘ชุมชนซอยตลาดริมน้ำ’ และ ‘ชุมชนคลองกระแชง’ มากเป็นพิเศษ พวกเขาจึงตัดสินใจว่าจะเข้าไปโฟกัสในระดับชุมชนที่สองพื้นที่นี้เป็นอันดับแรก
สองชุมชนแรกเริ่ม
แล้วเวทีย่อยเวทีแรก ณ ชุมชนซอยตลาดริมน้ำก็เริ่มขึ้น โดยมีเป้าหมายในการตอบคำถามที่ว่า แท้จริงแล้วชุมชนต้องการอะไร
“เวทีนี้เด่นที่เครื่องมือครับ” เครื่องมือที่ใช้ในการพูดคุยกับชาวบ้านในครั้งนี้ เรียกว่า Photo Model
“เราถ่ายหน้าบ้านแต่ละบ้านมาประกอบเป็นโมเดลของย่านให้เขาดู ทำให้เห็นชัดเลยว่าบ้านเขาเป็นยังไง อยากปรับปรุงตรงไหน พื้นที่ข้างบ้านเป็นยังไง มีสภาพปัญหา ศักยภาพ และความต้องการอย่างไรบ้าง” เพราะชาวบ้านไม่ใช่สถาปนิก บางทีการดูแผนที่อาจไม่ทำให้เห็นภาพมากพอ Photo Model จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ชาวบ้านเข้าใจ

แม้ในวันนั้นจะไม่สามารถนำข้อมูลศักยภาพไปต่อยอดในทันที เพราะชุมชนยังติดปัญหาเรื่องกรรมสิทธิ์การปรับปรุงที่ยังไม่เรียบร้อย แต่ถึงอย่างนั้น พวกเขาก็ได้ทดลองเครื่องมือและวิธีการ ซึ่งจะนำไปใช้กับเวทีย่อยชุมชนคลองกระแชงต่อไป
“ที่คลองกระแชง พอชาวบ้านพูดถึงพื้นที่สาธารณะอย่างลานสุนทรภู่ ว่าไม่มีคนมาใช้บ้าง สกปรกบ้าง เขาก็บอกได้ว่ามีปัญหาเกิดขึ้นที่จุดไหน อยากให้แก้ไขหรือต่อยอดอะไร” เวทีนี้จัดว่าคึกคักมาก มีทั้ง โฟล์ค-ปภังกร จรรยงค์ แกนนำชุมชนผู้มีไฟในการทำงาน ทั้งลุง ๆ ป้า ๆ ชาวบ้านที่ช่วยกันออกความเห็น ทำให้สถาปนิกเห็นภาพรวมและวิสัยทัศน์ในการพัฒนาของทุกคน เช่น อยากฟื้นฟูชุมชนให้กลับมามีชีวิตชีวา โดยใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรมในพื้นที่ อยากเชื่อมโยงพื้นที่กับฝั่งตลาด และอยากจัดถนนคนเดิน
ไม่ปล่อยให้ฝันเป็นเพียงฝัน งาน ‘เพชรบุรีดีจัง’ ที่จัดในเดือนถัดมา อาศรมศิลป์ก็ได้นำความต้องการที่ชาวบ้านได้พูดคุยกันในเวทีกลุ่มย่อยมาทดลองทำให้เกิดรูปธรรม
งานนี้เป็นมหกรรมกลางเมืองโดยเยาวชน นำโดยกลุ่มลูกหว้าและเครือข่ายเพชรบุรีดีจัง ภายใต้การสนับสนุนของแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
งานนี้เคยจัดมาก่อนแล้ว แต่ครั้งนี้รวมเอาพื้นที่ถนนคลองกระแชงและซอยตลาดริมน้ำเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่จัดงานหลักด้วย โดยพวกเขามีโอกาสออกแบบสะพานไม้ไผ่เชื่อมสองฝั่งแม่น้ำให้เดินได้สะดวกตามความเห็นของชุมชน เปลี่ยนถนนคลองกระแชงให้กลายเป็นถนนคนเดิน เปิดศาลาคามวาสีและลานสุนทรภู่ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปได้ นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการการออกแบบพัฒนาเมือง ให้ทุกคนได้เดินดูและร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อนำไปปรับปรุงต่อ
“ฟีดแบ็กของงานดีมาก ทุกคนรู้สึกว่าพื้นที่ตรงนี้ต้องเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรม” ดิวพูดอย่างชื่นใจ “พอคนเห็นภาพ คนก็อยากทำต่อ”
หลังจากวันนั้น พวกเขาทำแบบเพื่อการพัฒนาเมืองไปเสนอชุมชนหลายอย่าง เช่น ซุ้มประตูทางเข้าออกคลองกระแชง เพื่อให้คนที่ผ่านมาได้สังเกต วางสตรีทเฟอร์นิเจอร์ เสาไฟ ปรับปรุงทัศนียภาพในซอยและสถานที่สำคัญ ซึ่งเมื่อทางชุมชนเห็นแนวทางที่ทีมนำเสนอก็ได้ชวนจัดงานอีกครั้ง แต่คราวนี้เป็นงานที่ชุมชนอาสาเป็นเจ้าภาพจัดงานด้วยตนเอง ใช้ชื่อว่า ‘ชมตลาดเก่า ถนนเล่าวัฒนธรรม’
ภายในงานจะมีการทดลองติดตั้งสิ่งต่าง ๆ ที่ได้เสนอกันไป เช่น ทำที่นั่งริมน้ำแบบชั่วคราว ติดตั้งซุ้มประตู โคมไฟหนังใหญ่ เสาไฟหนุมาน เวอร์ชันจำลองขนาดเท่าจริง (สเกล 1 : 1) เพื่อดูว่าเวิร์กหรือไม่ อย่างไร มีการติดป้ายให้ข้อมูลหน้าสถานที่สำคัญ ชักชวนศิลปินชาวเพชรบุรี อย่าง พี่วุฒิ หรือ ครูตั้ม มาเพนต์สตรีทอาร์ต และนำต้นทุนทางวัฒนธรรมของชุมชนอย่างหนังใหญ่วัดพลับพลาชัยมาแสดง

เมื่องานประสบความสำเร็จ แบบการพัฒนาชุมชนคลองกระแชงถูกส่งไปยังหน่วยงานต่าง ๆ อะไรที่เคยเป็นแค่แบบจำลอง ก็ได้ติดตั้งลงในพื้นที่จริง สถานที่ที่เคยเงียบเหงาอย่างศาลาคามวาสี บ้านมนัส จรรยงค์ วัดพลับพลาชัย เมื่อเทศบาลเมืองเพชรบุรีเห็นศักยภาพ สนับสนุนงบประมาณปรับปรุงภูมิทัศน์ถนนคลองกระแชง 700,000 บาท ใน พ.ศ. 2559 ถือเป็นก้าวแรกของการเกิดรูปธรรมในพื้นที่ ช่วยกระตุ้นให้ชุมชนเห็นผลสำเร็จของการร่วมกันพัฒนาเมือง
“ภาครัฐไม่ต้องมาถามว่าชุมชนอยากได้อะไร ชุมชนคิดให้ทั้งหมดแล้ว แค่มาดูว่าจะสนับสนุนด้านไหนได้บ้าง” ดิวกล่าวอย่างภูมิใจ
สุดท้ายแล้วก็ได้รูปธรรมการพัฒนาพื้นที่ที่ชัดเจน ซึ่งจะเป็นต้นแบบให้ชุมชนอื่น ๆ ต่อไปได้
“พอคลองกระแชงเห็นผลสำเร็จเป็นรูปธรรม ชาวบ้านอีกฝั่งก็เริ่มเห็นภาพฝันของชุมชนตัวเอง” ใช่แล้ว เขาพูดถึงซอยตลาดริมน้ำ ชุมชนแรกที่เขาไปจัดเวทีกลุ่มย่อย คราวนี้เมื่อปัญหากรรมสิทธิ์ที่ดินคลี่คลาย ก็พร้อมให้นักออกแบบเข้าไปทำงานต่อ
ฝั่งซอยตลาดริมน้ำ จัดงาน ‘ตรอกนี้มีเรื่องเล่า’ กิจกรรมเล็ก ๆ ตอนเย็น ริมท่าน้ำศาลเจ้าพ่อเสือ มีชาวบ้านมาเล่าเรื่องภาพเก่าที่ได้จากบ้านในชุมชนอย่างสนุกสนาน ซึ่งอาศรมศิลป์ก็นำข้อมูลที่ได้จากกิจกรรมนั้นและจากกระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมอย่างที่ทำกับคลองกระแชง ไปทำแบบร่างการพัฒนา แล้วนำเสนอกับชุมชนเพื่อลงมือทำจริง
ชุมชนซอยตลาดริมน้ำได้รับงบประมาณ 2.84 ล้านบาท ในการปรับปรุงภูมิทัศน์ซอยตลาดริมน้ำ ภายใต้โครงการพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าเพชรบุรี จากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2563 ถึงจะมาช้า แต่ทุกคนก็อิ่มใจกับความสำเร็จของตลาดริมน้ำเป็นที่สุด

ชุ่มชื่นหัวใจ
วันนี้เราได้เดินเข้ามาชมซอยตลาดริมน้ำเวอร์ชันพัฒนาแล้วกับดิว สถาปนิกหนุ่มจากอาศรมศิลป์ พร้อมด้วย เจ๊อร-พรรณ์นิภา ภู่แสง แกนนำซอยตลาดริมน้ำที่มาต้อนรับ
‘มีชีวิตชีวา’ เป็นคำที่ผุดขึ้นมาในหัวเราตั้งแต่ก้าวเข้ามาในซอยอาคารเก่า ซึ่งเต็มไปด้วยสตรีทอาร์ตฝีมือช่างท้องถิ่นเต็มผนังสองข้าง พร้อมด้วยป้ายบอกทาง ป้ายแสดงข้อมูล และแผนที่ชุมชนใหญ่เบ้อเริ่ม

“นี่รูปตอนน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 60” เจ๊อรยิ้ม ชี้ผนังบ้านที่มีรูปชาวบ้านสองคนกำลังมีความสุขกับการนั่งเรือขณะน้ำท่วมซอย “ส่วนนั่นรูปลูกสาวเจ้าของบ้าน เขาชอบเล่นกีตาร์”
ไม่จำเป็นต้องมีภาพทางประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ รูปแสดงวิถีชีวิตของคนธรรมดา ก็ทำให้ผู้มาเยือนอย่างเราเดินเพลิดเพลินได้จนสุดซอย
จะเรียกว่าซอยแห่งความร่วมมือร่วมใจก็ไม่ผิดนัก นอกจากสตรีทอาร์ตฝีมือเหล่าศิลปินเพชรบุรี ที่ชาวบ้านและอาศรมศิลป์ช่วยกันเลือกภาพมาวาดแล้ว กระเบื้องที่พื้น เจ๊อรและชาวบ้านก็ลงมือปูกันเองทีละแผ่น
สำหรับเจ๊อร อดีตลูกจ้างเย็บผ้า ตอนแรกก็ไม่เข้าใจนักว่าอาศรมศิลป์ต้องการทำอะไร แต่ด้วยความใจดี จึงช่วยเหลือทุกคนเท่าที่ทำได้ ถ้ามีประชุมเจ๊อรก็จะเข้ามาฟัง และอาสาทำกับข้าวเลี้ยง ไป ๆ มา ๆ เมื่อมีการจัดประชุมบ่อยเข้า เธอก็เข้าใจและเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญ เลื่อนขั้นจากผู้ร่วมประชุมเป็นเจ้าภาพใหญ่ในการขับเคลื่อนงาน ทุกวันนี้แขกไปใครมาก็ได้เจ๊คนนี้เป็นไกด์นำเที่ยวให้
“สมัยก่อนถนนเส้นนี้จะเปลี่ยว คนไม่อยากเข้ามา ผียังไม่เดินเลย” เจ๊อรเล่าด้วยอารมณ์ขัน “ตอนนี้เปลี่ยนไปทุกอย่าง จากที่คนในชุมชนไม่รู้จักการท่องเที่ยว ไม่รู้ว่าอาศรมศิลป์มาทำอะไร พอการค้าดีขึ้น เขาก็เริ่มเข้าใจ
“เราฝ่าฟันมานาน ผ่านมาทั้งน้ำตาและความสุข ภูมิใจมากที่เห็นนักท่องเที่ยวเข้ามา”

ฝั่งคลองกระแชงเองก็น่าเที่ยว และทำให้ผู้ไม่เคยสัมผัสเมืองเก่าเพชรบุรีอย่างเราตื่นเต้นมากทีเดียว
เช่นกันกับซอยตลาดริมน้ำ ตอนนี้คลองกระแชงมีป้ายต่าง ๆ ติดตั้งไว้เรียบร้อย นักท่องเที่ยวที่มาสามารถเดินตามป้ายไปชมสถานที่สำคัญ อย่างพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดพลับพลาชัย พิพิธภัณฑ์มนัส จรรยงค์ ราชาเรื่องสั้นเมืองไทย กรุภาพมิตร ชัยบัญชา หรือศาลาคามวาสีได้

‘ศาลาคามวาสี’ ศาลาการเปรียญหลังใหญ่ อดีตเคยเป็นที่ตั้งของ ‘โรงเรียนเพชรสตรี’ โรงเรียนเด็กหญิงแห่งแรกในเพชรบุรี ปัจจุบันโรงเรียนปิดตัวไปแล้ว ศาลาคามวาสีจึงเหลือหน้าที่เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมทางพุทธศาสนาของชาวบ้าน และเป็นเหมือนห้องรับแขกให้ชุมชนคลองกระแชง
เมื่อเราเดินผ่านศาลา ป๋าแจ็ค-สุวรรณ พวงมาลัย ผู้รับหน้าที่ดูแลที่นี่ต่อจากคุณแม่ ก็กวักมือเรียกเข้าไปเดินชมนิทรรศการในห้อง มีทั้งรูปภาพเก่า ๆ ของจังหวัดแขวนเต็มผนัง และคอลเลกชันของโบราณที่พบในแม่น้ำเพชรบุรีเรียงอยู่เต็มตู้

ไม่หยุดก้าวต่อ
การท่องเที่ยวเมืองเก่าเพชรบุรีได้กลายเป็นวิสาหกิจชุมชนที่ทำโดยชาวบ้าน เมื่อมีคณะนักท่องเที่ยวมา ทุกคนก็จะพาไปที่ศูนย์วิจัยชุมชนเมืองเพชรบุรี วัดพลับพลาชัย เพื่อเล่าถึงประวัติความเป็นมาของเมืองในเบื้องต้น แล้วจึงพาไปเดินดูชุมชนต่าง ๆ กินข้าวแช่ ชมการแสดง ซึ่งนอกจากสองชุมชนแรกที่เราได้เล่าไป อาศรมศิลป์ยังขยายการพัฒนาออกไปสู่พื้นที่ใกล้เคียง อย่างชุมชนวัดเกาะและชุมชนวัดแก่นเหล็กด้วย

“พอมีคนมาท่องเที่ยว พื้นที่ได้ใช้ ชาวบ้านก็มีโอกาสในการสร้างธุรกิจชุมชน” ดิวพูดถึงผลที่งอกเงย” เขาไม่ได้คิดว่าต้องมีกำไรมาก แค่ให้มีรายได้นำมาหมุนเวียน ให้คนทำงานอยู่ต่อได้เรื่อย ๆ ส่วนเงินที่เหลือก็นำกลับมาพัฒนาชุมชน”
จากสเกลชุมชน ขยับมาเป็นสเกลเมือง อาศรมศิลป์ขับเคลื่อนเพชรบุรีเป็นเมืองเดินและเมืองจักรยาน ตามกระแสนักปั่นในตอนนั้น
“การเข้าไปทำงานกับชุมชน คือเราทำให้เขามองเห็นต้นทุนที่เขามี พอเขาเห็นคุณค่าและรู้สึกภูมิใจ เขาก็จะลุกขึ้นมาต่อยอดเอง” ท้ายที่สุดแล้ว ‘ต้นทุนทางวัฒนธรรม’ เป็นสิ่งที่ทำให้ที่นี่เป็นเมืองสุขภาวะได้
ทุกวันนี้เมืองเพชรเปลี่ยนไปหลายอย่าง เมืองเก่าที่เงียบเหงากลับมีชีวิตชีวามากขึ้น ชาวบ้านธรรมดาก็ลุกขึ้นมาพัฒนาบ้านเกิดของตัวเอง จนมีนักท่องเที่ยวสนใจมากมาย งานการกุศลก็กลับกลายมาเป็นธุรกิจเพื่อชุมชนที่ยั่งยืน

แล้วความตั้งใจของชาวบ้าน นำโดยโฟล์คและเจ๊อร ก็ทำให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวชุมชนเมืองเพชร ได้รับรางวัลชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ประจำปี 2561 ระดับยอดเยี่ยม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม มาครอบครอง
“เมืองไทยยังมีย่านเก่าที่เงียบเหงา ซบเซา อยู่อีกมาก เพชรบุรีจะเป็นต้นแบบการพัฒนาชุมชนที่ใช้ต้นทุนของตนเอง ฟื้นชุมชนให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง” ดิวพูดปิดท้าย
