ก ไก่ ดูยังไงให้เหมือนกุ๊กไก่

ข ไข่ มองมุมไหนก็ไม่เห็นจะกลมเหมือนไข่

น้องควายในทุ่งนามีเขา แต่ทำไมตัว ค ไม่มีเขา จะเป็น ค ควาย ได้ยังไง

เราเชื่อว่าก่อนที่จะคลิกเข้ามาอ่านบทความนี้ ช่วงชีวิตหนึ่งของคุณก็ต้องเคยเป็นผู้ตั้งคำถามกับสิ่งเหล่านี้มาก่อน นี่คือข้อสงสัยขั้นพื้นฐานที่เด็กไทยวัยฟันน้ำนมเต็มปากทุกคนเคยมี และกว่าเด็กน้อยคนเดิมจะหาคำตอบให้ตัวเองได้ว่า พยัญชนะไทยสื่อแทนเสียง ไม่แทนภาพ ประเทศเราก็พร้อมจะมีเจ้าหนูจำไมคนใหม่ ๆ เกิดมาตั้งคำถามพรรค์นี้แทนคนเก่าอยู่ร่ำไป

แต่ข้อสงสัยของคุณหนู ๆ จะได้รับความกระจ่างเป็นปลิดทิ้ง เมื่อได้เห็นภาพกราฟิกของ ‘Phayanchana’ แบรนด์สินค้าและภาพกราฟิกที่ ป๊อบ-อังกูร อัศววิบูลย์พันธุ์ เพิ่งเผยโฉมให้สาธารณชนรู้จักอย่างเป็นทางการจากงาน Bangkok Design Week 2022 เมื่อปีที่ผ่านมา

ป๊อบ อังกูร เจ้าของแบรนด์ Phayanchana ที่หยิบอักษรไทยมาดีไซน์เป็นภาพกราฟิกและสินค้าสุดเท่

งานศิลป์ทั้ง 44 ภาพบนโปสต์การ์ดของอังกูรมีสีสันสดใส ทุกใบวาดขึ้นจากการนำพยัญชนะไทยมาขีดเส้นต่อเป็นรูปร่างของสิ่งนั้น บางชิ้นได้รับการต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อันกิ๊บเก๋ อย่างเช่นที่เปิดขวดรูป ฃ ฃวด หรือแปรงสีฟันทรง ฟ ฟัน

แม้อายุของแบรนด์นี้จะยังน้อยนัก แต่ตัวเขาก็ไม่ใช่น้องใหม่ในวงการออกแบบ ก่อนมาวาด ฬ จุฬา ให้เป็นรูปว่าว ร่าง ญ หญิง เป็นหน้าผู้หญิงหันข้าง และอื่น ๆ จนครบทั้ง 44 ตัว อังกูรเคยทำงานเป็นนักออกแบบในบริษัทรับออกแบบงานชื่อดังอยู่นานหลายปี กระทั่งวันหนึ่งที่เขาตัดสินใจออกมาสร้างผลงานเอง ทำตามความต้องการตัวเอง พร้อมทั้งเผยแพร่ความเป็นไทยให้นานาชาติได้ชื่นชม

โดยแรงบันดาลใจของการทำแบรนด์นี้ก็มาจากบทเรียนภาษาไทยชั่วโมงแรกที่คนไทยทุกคนต้องเคยผ่าน อย่างการคัด ก ไก่ – ฮ นกฮูก นั่นเอง

ศิลปะ

“เกิดมาก็ชอบวาดรูปเลยครับ”

อังกูรเริ่มเล่าด้วยท่าทางสบาย ๆ เมื่อเขาวางผลงานของตนลงบนโต๊ะภายในออฟฟิศ The Cloud

“ตอนอยู่อนุบาล อาจารย์บอกว่าผมจะวาดแต่รูป ถ้าวาดไม่ได้ 2 รูปก่อนจะไม่เรียนนะ เรื่องนี้ผมเพิ่งมารู้ตอนโตเหมือนกัน เขามาเล่าให้ฟังว่าผมชอบมาก”

ป๊อบ อังกูร เจ้าของแบรนด์ Phayanchana ที่หยิบอักษรไทยมาดีไซน์เป็นภาพกราฟิกและสินค้าสุดเท่

เจ้าตัวสันนิษฐานว่าความรักด้านงานขีด ๆ เขียน ๆ อาจเป็นกรรมพันธุ์มาจากพ่อบังเกิดเกล้า เพราะคุณพ่อของอังกูรเองก็ชื่นชอบทางด้านศิลปะมาตั้งแต่ท่านยังหนุ่ม แต่ไม่เคยได้เล่าเรียนสมใจอยาก เนื่องจากไม่มีครูบาอาจารย์คนใดยอมถ่ายทอดวิชาให้

พอมาถึงรุ่นของอังกูร สังคมเปิดกว้างมากกว่าอดีต เอื้อให้เขาเลือกเรียนศิลปะได้ตามความฝัน อังกูรเลือกเรียนสายอาชีพ จบจากวิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ก่อนไปศึกษาต่อที่สาขาวิชาการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ทั้งที่ก่อนหน้านั้นตัวเขาคร่ำหวอดอยู่กับการวาดภาพมาตลอด

“ญาติผมแนะนำให้เรียนออกแบบดีกว่า เพราะถ้าไม่เรียนออกแบบก็จะได้แค่วาดจิตรกรรม วาดเพนต์ มันดูจะไปต่อได้ไม่ค่อยเยอะ ที่บ้านเขาห่วง เลยให้มาเรียนทางนี้ นับว่าถูกเส้นทางเลยครับ”

การออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมคือวิชาที่อังกูรเลือก นักศึกษาในรายวิชานี้ต้องดีไซน์ข้าวของเครื่องใช้เชิงอุตสาหกรรมทั้งหลายแหล่ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องทำน้ำร้อน ไมโครเวฟ หม้อหุงข้าว หรืออีกสารพัดประดามีที่พบได้ในครัวเรือน ตอนใกล้จบหลักสูตรก็ต้องประดิษฐ์ข้าวของเหล่านี้ขึ้นมาเป็นตัวอย่าง แต่สิ่งที่อังกูรเลือกทำยิ่งใหญ่กว่านี้หลายเท่าทวี

ป๊อบ อังกูร เจ้าของแบรนด์ Phayanchana ที่หยิบอักษรไทยมาดีไซน์เป็นภาพกราฟิกและสินค้าสุดเท่

“ผมชอบเรือดำน้ำตั้งแต่เล็กครับ เคยเอากระดาษมาแปะ ๆ ต่อกันเป็นเรือดำน้ำภาพใหญ่ ตอนทำธีสิสจบมหาลัยผมก็เลยทำเรือดำน้ำปะการังน้ำตื้น ทำออกมาเป็นลำใหญ่ ๆ เลย นั่งออกแบบเป็นม็อกอัปไฟเบอร์กลาสอันใหญ่ เพื่อน ๆ คนอื่นทำแค่แพ็กเกจจิงใส่เทียนอย่างนี้ก็โอเคแล้ว แต่งานของผมใหญ่กว่าเพื่อนเลย ชอบให้มันมีพลังว่ะ”

ว่าแล้วอังกูรก็หยิบโปสต์การ์ดตัว ร เรือ ให้เราดูพร้อมรอยยิ้มกลั้วหัวเราะ “ร เรือ นี่ออกแบบเป็นเรือดำน้ำ หลายคนชอบคิดว่าเป็นเรื่องการเมืองรึเปล่า ไม่ใช่นะ ชอบมาตั้งแต่เด็กแล้วครับ”

พยัญชนะ

หลังสำเร็จการศึกษา บัณฑิตจากลาดกระบังรายนี้ได้รับเลือกให้เข้าทำงานที่ Propaganda บริษัทรับออกแบบสัญชาติไทยที่มีชื่อเสียงในระดับอินเตอร์ ซึ่งเขาพูดได้เต็มปากว่าเป็นโชคดียิ่งนัก

“งานออกแบบในภาคอุตสาหกรรมแบบนี้ จบไปต้องไปทำงานในโรงงานอย่างเดียวเลยครับ แต่เป็นโชคดีของผมที่ได้ทำงานที่ Propaganda ซึ่งเป็นบริษัทออกแบบของคนไทย ในยุคหนึ่งก็เป็นที่รู้จักเยอะ”

อังกูรใช้เวลาอยู่ที่นั่นนานถึง 8 ปี จากเด็กจบใหม่สู่ซีเนียร์คนหนึ่งของบริษัท ประสบการณ์ที่มากล้นฟูมฟักให้เขาเป็นดีไซเนอร์ฝีมือดี แต่ในอีกด้านหนึ่ง มันก็ทำให้เขาอิ่มตัวในหน้าที่และเหน็ดเหนื่อยกับการออกแบบเอาใจลูกค้าซึ่งโดยมากเป็นชาวต่างชาติ มีรสนิยมผิดจากชาวไทย

ป๊อบ อังกูร เจ้าของแบรนด์ Phayanchana ที่หยิบอักษรไทยมาดีไซน์เป็นภาพกราฟิกและสินค้าสุดเท่

“เวลาเราไปทำงานที่บริษัทใดบริษัทหนึ่ง จะมีอะไรบางอย่างที่เป็นคอนเซปต์ครอบอยู่ เราทำตามใจเราไม่ได้ 100% อย่าง Propaganda ที่ทำ ก็คือเป็นดีไซน์ที่เอาไว้ขายคนต่างชาติ เพราะเขาขายทั่วโลก แต่บางทีเราอยากทำอะไรให้เกี่ยวกับไทย ๆ แต่ไปไม่ได้” เขาเปรยถึงสาเหตุที่ตัดสินใจลาออกมาตั้งบริษัทของตัวเอง แม้ว่าหน้าที่การงานจะไปได้สวย

ขวบปีที่ดำเนินชีวิตอยู่ใต้ชื่อแบรนด์ Propaganda นั้น บ่อยครั้งที่เขาได้รับภารกิจให้ออกแบบตัวอักษรทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ ใจเขาเอนเอียงไปทางอักษรต่างประเทศมากกว่า ด้วยเห็นตัวอย่างผลงานที่สะดุดตากว่าอักษรไทย

“ตอนนั้นรู้สึกไม่ค่อยชอบไทย ๆ ชอบโมเดิร์น ของฝรั่งมันดีเนอะ ดีไซน์เฟอร์นิเจอร์ก็เก่งจังเลย แล้วเวลาเราต้องทำอะไรเกี่ยวกับไทย ต้องมีตัวหนังสือไทย มีฟอนต์ไทย รู้สึกว่าทำแล้วไม่สวย ภาษาไทยมันออกแบบยาก เพราะมีสระ มีวรรณยุกต์ มีข้างบนข้างล่าง ก็สงสัยว่าทำไมตัวอักษรเราไม่สวยเลย มันเป็นปัญหาอย่างหนึ่งเหมือนกันนะสำหรับนักออกแบบอย่างผม”

อังกูรจึงผลาญเวลาว่างของตัวเองไปกับการทดลองตวัดปากกาบนหน้าจอ ร่างแบบอักษรไทยขึ้นมาทีละตัว บางตัวเขียนง่าย แต่หลายตัวก็ใช้เวลานาน เพราะออกแบบให้อยู่ภายในเส้นเดียวไม่ได้

ป๊อบ อังกูร เจ้าของแบรนด์ Phayanchana ที่หยิบอักษรไทยมาดีไซน์เป็นภาพกราฟิกและสินค้าสุดเท่

เขาลองผิดลองถูกเป็นเวลากว่า 8 ปี ตั้งแต่ยังทำงานที่แรกจนออกมาเปิดบริษัทเอง จวบจนโรคโควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก งานการชะงักงัน เขาจึงคิดจะนำลายเส้นที่ตนเคยวาดเขียนฆ่าเวลามาสร้างแบรนด์จริงจัง เกิดเป็น Phayanchana ในวันนี้

“ยอมรับนะครับว่าธุรกิจผมพังเพราะโควิด ผมว่าโควิดมันมากวาดล้างให้พังทลายหมด เหมือนคลื่นสึนามิเลย แต่ประเด็นคือมันก็เหมือนดอกไม้ที่โตขึ้นมาใหม่จากที่ราบไปแล้ว ทำให้ผมมีแบรนด์” อังกูรว่า “ผมถือว่าถ้าตัวเรามีเงินเหลืออยู่ก้อนสุดท้าย น่าจะทำอะไรอย่างที่อยากทำจริง ๆ ทำตามความฝัน เพราะก่อนหน้านี้เราเสิร์ฟลูกค้า ทำงานตามลูกค้า รู้สึกว่ายังต้องทำให้ลูกค้าอยู่ดี มันไม่ใช่สิ่งที่เราอยากทำ เพราะบางทีทำออกมาแล้วลูกค้าไม่ชอบ ก็ต้องตบไปตบมา จนไม่ใช่งานเราแล้ว มันกลายเป็นงานลูกค้า ก็เลยมานึกถึงตัวพยัญชนะที่ทำไว้ 7 – 8 ปี”

ประดิษฐ์รูปลักษณะ

ย้อนอดีตไปในวัยที่เด็กชายอังกูรยังร่ำร้องแต่การวาดรูปจนไม่คิดเรียนหนังสือ ก ไก่ เป็นพยัญชนะตัวเดียวที่เขาจดจำได้แม่น ไม่ใช่เพราะเป็นอักษรตัวแรกที่ต้องท่อง หากเป็นเพราะหน้าตาของมันดูแล้วเหมือนหน้าไก่เปี๊ยบ

“ตอนเด็ก ๆ ผมเป็นเด็กเรียนไม่เก่งครับ อย่างอื่นน่ะจำไม่ได้เลย จำตัวอักษรไม่ได้ โง่มากเลย แต่ผมจำภาพได้ ที่จำ ก ไก่ ได้ เพราะมันมีจะงอยปากยื่นออกมาเหมือนไก่ ผมก็เลยคิดต่อไปว่าทำไมเราไม่ออกแบบตัวอักษรที่บ่งบอกว่าตัวนี้คืออะไร”

ป๊อบ อังกูร เจ้าของแบรนด์ Phayanchana ที่หยิบอักษรไทยมาดีไซน์เป็นภาพกราฟิกและสินค้าสุดเท่

ดีไซน์ของ Phayanchana จึงมีจุดเด่นที่การขับเน้น ดึงเอาความหมายของพยัญชนะไทยแต่ละตัวออกมาเป็นรูปวาดที่สัมพันธ์บรรจบกับคำดังกล่าว

ภาพกราฟิกแรกเริ่มต้นด้วย ก ไก่ อังกูรนำมาสเกตช์ครั้งแล้วครั้งเล่า ดีไซน์ใหม่วนไปวนมาอยู่หลายรอบ จนได้เป็นรูป ก ไก่ ที่มีหงอนมีเหนียง ชนิดดูทีเดียวก็รู้ว่าเป็นหัวไก่ ตามมาด้วย ข ไข่ ที่พยายามวาดให้โค้งมนเป็นทรงไข่ และตัวอื่น ๆ จนครบทั้งตาราง

“ถ้าคนอื่นเขามาเล่น เขาก็คือออกแบบฟอนต์ให้สวยขึ้นใช่มั้ยครับ แต่เรารู้สึกว่ายังมีช่องว่างบางอย่างที่น่าจะลงไปในเรื่องดีไซน์ได้ ก็คือเอาฟอนต์มาทำเป็นตัวหนังสืออีกทีหนึ่ง”

จากที่เคยปรามาสอักษรไทยมาก่อน เมื่อได้ทดลองเขียนแบบ สร้างพยัญชนะไทยขึ้นมาจริง ๆ อังกูรกลับพบว่ามันสนุกกว่าที่คิดและมีข้อดีหลายอย่างที่อักษรภาษาอื่นอาจทำไม่ได้

ป๊อบ อังกูร เจ้าของแบรนด์ Phayanchana ที่หยิบอักษรไทยมาดีไซน์เป็นภาพกราฟิกและสินค้าสุดเท่

“สมัยก่อนที่คนโบราณเขาเขียนอักษรไทย เขาจะเขียนตัวหวัด เป็นลายอาลักษณ์ ผมไปดูแท่นหินศิลาจารึก ถึงได้เห็นว่าอักษรไทยยึกยือมากเลยนะ ผมมองแล้วมันเป็นข้อดีที่เราดีไซน์ได้ เราจะยืดหาง จะยืดอะไรได้ ซึ่งถ้าเป็นภาษาอื่นอาจจะดูไม่รู้เรื่อง แต่ของภาษาไทยมันดิ้นได้ ทำตัวอักษรให้พลิ้วไหวได้ ก็เหมาะต่อการนำมาดีไซน์ครับ”

เมื่อได้ภาพกราฟิกของพยัญชนะทั้ง 44 ตัว อังกูรยังไม่หยุดแต่เพียงเท่านี้ ด้วยความรู้และฝีมือด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ตนฝึกปรือมานานปี เขาจึงคิดต่อว่าจะนำผลงานที่อยู่ในหน้าจอออกมาเป็นสินค้าให้จับต้องได้ด้วยวิธีใดกัน

“ภาพกราฟิกทำง่ายครับ แค่สเกตช์ร่างลายเส้นแล้วก็ออกแบบใน Adobe Illustrator ได้เลย เพราะผมใช้โปรแกรมนี้เป็นหลัก แต่ว่าอย่างถ้าเป็นโปรดักต์ เราต้องเอาลายเส้นอย่างตัวนี้มาทำเป็นสินค้า ก็ต้องพัฒนามาอีกทีหนึ่ง คอนเซปต์ของผมคือจะเอาตัวอักษร 44 ตัวมาทำเป็นโปรดักต์ 44 ชิ้นเลยนะครับ แต่ตอนนี้เพิ่งคิดได้ 20 กว่าชิ้นเองครับ”

ความยากง่ายในการดีไซน์ก็ผันแปรไปตามรูปทรงของพยัญชนะกับข้าวของที่เกี่ยวข้อง

ป๊อบ อังกูร เจ้าของแบรนด์ Phayanchana ที่หยิบอักษรไทยมาดีไซน์เป็นภาพกราฟิกและสินค้าสุดเท่

“บางอย่างกราฟิกมันง่ายครับ เราอยากให้ความหมายเป็นยังไงก็วาดออกมา อย่าง ฃ ฃวด ก็ไอเดียง่าย ๆ แต่อย่างนี้ บางทีมันต้องไปคิดต่ออีกชั้นหนึ่งเลยนะกว่าจะได้ที่เปิดขวด”

ผู้สร้าง Phayanchana ชี้ให้ดูตัวอย่าง ฑ มณโฑ ที่บัดนี้เป็นโลโก้ประจำแบรนด์

“ฃ ฃวด ที่เปิดขวด ข ไข่ ที่วางไข่ พวกนี้คิดง่ายครับ แต่อย่าง ฑ มณโฑ เราก็ยังไม่รู้ว่าจะเอามันไปทำอะไร เพราะมันไม่สื่อถึงสิ่งของเท่าไหร่ครับ ก็เลยเอามาเป็นโลโก้แล้วกัน”

พยัญชนะบางตัว อังกูรต้องคิดพลิกแพลงอยู่หลายระดับ กว่าจะได้สิ่งของที่เชื่อมโยงกับพยัญชนะ

“อย่างตัว ฏ ปฏัก นี่ก็เป็นความหมายของมันด้วย บางคนไม่รู้จักปฏัก ไม่รู้เลยว่าปฏักคืออะไร ปฏักคือไม้ปลายแหลม เอาไว้ไล่วัวควายอะไรอย่างนี้ ผมก็คิดว่าปฏักแปลว่าไม้ ก็เลยดีไซน์ตัว ฏ ปฏัก มาทำเป็นที่วางร่ม ที่วางไม้ เสียบไม้ก็ได้ ใครจะมาวางอะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับไม้ ผมคิดแบบนี้ครับ”

ถึงจะคิดแบบได้แล้ว แต่อีกปัญหาที่ต้องประสบอยู่เนือง ๆ คือเรื่องการผลิต

ป๊อบ อังกูร เจ้าของแบรนด์ Phayanchana ที่หยิบอักษรไทยมาดีไซน์เป็นภาพกราฟิกและสินค้าสุดเท่

“ตอนนี้คิดได้ 20 กว่าตัว บางตัววาดกราฟิกง่ายนะครับ แต่จะเอาไปทำเป็นโปรดักต์อะไรก็ยังคิดไม่ออก อย่างตัว ฮ นกฮูก จะเอาไปทำอะไรล่ะ นาฬิกาหน้านกฮูกเหรอ (หัวเราะ)”

ณ เวลานี้ยังมีแค่ 15 ตัวที่สร้างออกมาได้เป็นชิ้นเป็นอัน

“บางครั้งคิดได้แต่หาที่ผลิตยากก็มีครับ อย่าง ฟ ฟัน ผมทำเป็นแปรงสีฟัน ก็ยังหาที่ผลิตไม่ได้ หรืออย่าง ฃ ฃวด เป็นที่เปิดขวด มีที่หนึ่งรับผลิตก็จริง แต่เขาบอกว่าค่า Modify ค่าผลิตแบบ 2 ล้านบาท แพงมาก ราคานี้ผมจะขายที่เปิดขวดเมื่อไหร่จะถอนทุนคืนสักที (หัวเราะ)

“ก็อาจจะต้องหาที่ผลิตใหม่ ไม่แน่อาจจะต้องไปเมืองจีน เพราะจีนเขามีโรงงานที่ทำได้ บางที่ในเมืองไทยอาจทำได้จริงแหละ แต่พื้นที่เขามันน้อย เขาอาจจะไม่อยากทำจำนวนเยอะ ถ้าไม่เยอะจริงก็อาจจะไม่รับ

“ยังไงก็ตาม ผมก็อยากให้มันทำในเมืองไทย เพื่อที่มันจะเป็น Made in Thailand ไงครับ”

ผลิตภัณฑ์

ท่ามกลางผลงานมากมาย มีตั้งแต่โปสต์การ์ด สมุด ของที่ระลึก ตลอดจนเครื่องใช้ไม้สอยอีกนานาชนิดที่อังกูรหอบใส่ย่ามใบใหญ่มาให้พวกเราชมที่ The Cloud เราอดถามไม่ได้ว่าตัวงานชิ้นใดคือการออกแบบที่เขาภาคภูมิใจที่สุด เจ้าของ Phayanchana จึงคัดสรรมาให้ผู้อ่านได้ชมกัน 5 ชิ้น

ชิ้นที่ 1 โปสต์การ์ดรวมกราฟิกพยัญชนะทั้ง 44 ตัว

ป๊อบ อังกูร เจ้าของแบรนด์ Phayanchana ที่หยิบอักษรไทยมาดีไซน์เป็นภาพกราฟิกและสินค้าสุดเท่

ผลงานชุดเปิดตัวในนาม Phayanchana นับเป็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์นี้

“ตอนแรกเกือบจะไม่ได้ออกด้วย เพราะตอนแรกไปเน้นทำแต่โปรดักต์ ก็กลัวว่าคนเขาจะรู้มั้ยว่าเราออกแบบกราฟิกมาแล้ว ค่อยพัฒนามาเป็นตัวโปรดักต์ ผมเลยเอากราฟิกที่ออกแบบ ก-ฮ มาทำเป็นภาพ Illustrate คิดอยู่ว่ามันจะหายากมั้ยเพราะว่าเป็นโปสต์การ์ด ก็คิดว่า 44 ตัวเยอะไปรึเปล่า แต่มาคิดว่า เฮ้ย ทำไปก็ได้ เผื่อเอาไว้เล่าเป็นที่มาก่อนจะทำโปรดักต์ ปรากฏว่าคนชอบและได้รางวัลด้วย เหมือนเป็นโปรดักต์แรกของแบรนด์ ภูมิใจนำเสนอครับ”

ชิ้นที่ 2 ข ไข่ ที่วางไข่

ป๊อบ อังกูร เจ้าของแบรนด์ Phayanchana ที่หยิบอักษรไทยมาดีไซน์เป็นภาพกราฟิกและสินค้าสุดเท่

ที่วางไข่ลวกซึ่งได้ต้นแบบมาจากรูปทรงตัว ข ไข่ เป็นงานชิ้นหนึ่งที่อังกูรลังเลว่าคนไทยจะไม่ซื้อใช้กัน

“ก ไก่ ข ไข่ เป็นโปรดักต์ตัวหลัง ๆ ที่ผมคิดออกเลย เพราะคิดว่า ก ไก่ ออกแบบยังไงดีวะ ครั้งแรกที่คิดคือเป็นที่ครอบอาหาร เหมือนเป็นเล้าไก่ สุ่มไก่ แต่ดูแล้วไม่โอเค ตอนที่คิดจะผลิตออกมาจริง ๆ ก็คิดว่าคนไทยกินไข่ลวก ไม่ใช้ ถ้าฝรั่งเขาใช้ ตามโรงแรมก็ใช้ มันใช้เงินเยอะนะ ลังเลว่าจะทำจริงเหรอ แต่มาคิดดูแล้วผมว่าไอเดียโอเค เวิร์ก ทำก็ได้ ก็เลยผลิตออกมาครับ”

ชิ้นที่ 3 ฃ ฃวด ที่เปิดขวด

เบื้องหลังแบรนด์ Phayanchana และที่การออกแบบกราฟิกและผลิตภัณฑ์จากพยัญชนะไทย ที่อยากให้ผู้คนจดจำคำไทยได้จากรูปสื่อความหมาย

พยัญชนะที่เลิกใช้ไปแล้วเหมือนกับกราฟิกที่วาดมาตอนแรกทุกอย่าง ชิ้นนี้ต้องปรับแต่งอยู่นาน กว่าจะใช้งานได้จริง

“มันตรงกับตัวกราฟิกที่ออกแบบไว้ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเลย เพราะเราออกแบบมาได้โอเคอยู่แล้ว ทีนี้พอทำเป็น 3 มิติขึ้นมาแล้วใช้งานได้จริงด้วย ใช้เวลานานมากเลยนะกว่าจะมาเปิดขวดได้เนี่ย เพราะว่าถ้าตัววัตถุมันหนากว่านี้อีกนิดหนึ่ง มันจะติดปากปลายขวด เปิดไม่ออก ผมก็เลย Develop ใช้แบบเยอะมากเลยกว่าจะลงตัว”

ชิ้นที่ 4 ฐ ฐาน ไม้บรรทัด

ป๊อบ อังกูร เบื้องหลังการออกแบบกราฟิกและผลิตภัณฑ์จากพยัญชนะไทย ที่อยากให้ผู้คนจดจำคำไทยได้จากรูปสื่อความหมาย

ฐานรอง ฐานวาง สร้างอะไรได้หลายอย่างก็จริง แต่ออกมาเป็นไม้บรรทัดเพราะการเล่นคำ

“ตอนแรกไม่ได้คิดว่ามันจะเป็นไม้บรรทัด แต่เวลาเราดูข่าว เราก็จะได้ยินเขาพูดถึงบรรทัดฐานอย่างงั้น บรรทัดฐานอย่างงี้ เราก็คิดว่า เฮ้ย บรรทัดฐาน มีเป็นบรรทัดด้วยเหรอ เราเอาไปทำเป็นไม้บรรทัดดีกว่า เลยมาทำเป็นไม้บรรทัดอย่างนี้ครับ”

ชิ้นที่ 5 ถ ถุง ถุงย่าม

ป๊อบ อังกูร เบื้องหลังการออกแบบกราฟิกและผลิตภัณฑ์จากพยัญชนะไทย ที่อยากให้ผู้คนจดจำคำไทยได้จากรูปสื่อความหมาย

ตรงตามความหมายทุกอย่าง ใช้ส่วนหัวตัว ถ ถุง เป็นหูหิ้ว

“เรามาทำเป็นถุง ไม่เห็นใครทำเลยนะครับ ง่ายดี ลงตัวดี แล้วก็ใช้ได้จริงด้วย”

วรรณรูป

จากเริ่มต้นด้วยพยัญชนะไทยแค่ 44 ตัว ในปี 2023 นี้ Phayanchana เปิดตัวสินค้าคอลเลกชันใหม่ในงาน Bangkok Design Week 2023 มีชื่อว่า ‘วรรณรูป’

“วรรณรูป (Concrete Poetry) คือการนำภาพกับตัวอักษรมาผสมกัน ให้นึกถึงภาพพระนั่งสมาธิ ในองค์พระเขียนเป็นคำว่า ‘อย่าเห็นแก่ตัว’ นั่นแหละครับ ตัวนี้ให้แรงบันดาลใจกับผมมาตั้งแต่เด็ก ๆ เลยครับว่าอักษรไทยทำเป็นรูปพระได้ด้วย ผมว่ามันเปิดโลกมาก แล้วความรู้สึกนั้นก็ยังอยู่กับตัวผมมาจนถึงปัจจุบัน ผมคิดว่าไหน ๆ เราจะออกแบบอักษรไทยแล้ว เราจับเรื่องนี้มาเล่นด้วยดีกว่าก็เลยออกแบบมา จัดแสดงครั้งแรกในงาน Bangkok Design Week 2023”

ป๊อบ อังกูร เบื้องหลังการออกแบบกราฟิกและผลิตภัณฑ์จากพยัญชนะไทย ที่อยากให้ผู้คนจดจำคำไทยได้จากรูปสื่อความหมาย

ในการออกแบบชุดวรรณรูป อังกูรยังคงแนวคิดเดิมเหมือนชุดพยัญชนะ คือมีรูปภาพทั้งสิ้น 44 ตัว แบ่งออกเป็น 5 ชุดย่อย ได้แก่ ชุดกรุงเทพฯ ที่ออกมาก่อนใน พ.ศ. 2565 เนื่องในวาระที่กรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ 240 ปี ต่อด้วย ชุดพาหนะท้องถิ่น จับเอาพาหนะในแต่ละจังหวัดมาวาดเป็นรูป ชุดดอกไม้ ที่เต็มไปด้วยพรรณไม้ชนิดต่าง ๆ ชุดสวนสัตว์ ที่เป็นภาพสัตว์โลก และชุด ETC. หรือเบ็ดเตล็ด ซึ่งรวมเอารูปภาพที่จัดหมวดหมู่เฉพาะไม่ได้มาไว้ด้วยกัน

สีสันความสนุกของชุดวรรณรูปคือการพยายามอ่านข้อความที่ซ่อนอยู่ในรูปภาพ เช่น โครงเหล็กของสะพานพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เขียนเป็นคำว่า ‘สะพานพุทธ’ หรืออย่าง ‘ทิวลิป’ ที่แฝงอยู่ในรูปทรงของดอกทิวลิปตูม

ป๊อบ อังกูร เบื้องหลังการออกแบบกราฟิกและผลิตภัณฑ์จากพยัญชนะไทย ที่อยากให้ผู้คนจดจำคำไทยได้จากรูปสื่อความหมาย

“งานวรรณรูปนี่เป็นพัฒนาการ ไม่ใช่เรื่องใหม่ซะทีเดียวนะครับ ก่อนหน้านี้ผมไม่ได้สังเกตตัวเองเลย ตอนที่งานพยัญชนะออกไปครั้งแรก สังเกตมั้ยครับว่า ฃ ฃวด ออกแบบให้เหมือนขวด จริง ๆ มันก็คือวรรณรูปนั่นแหละ แต่อักษรตัวเดียวแค่นั้นเอง แล้วมีคนมาทักผมว่าจริง ๆ แล้วมันคือวรรณรูปเนอะ ผมก็เลยมาต่อยอด แทนที่จะเป็นอักษรตัวเดียวก็มารวมกันเป็นคำ”

ผู้ออกแบบเผยความลับของวรรณรูปที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง

“จริง ๆ ตัวเดียวยากสุดนะครับ เพราะว่ามีแค่เส้นเดียว คุณต้องบอกว่ามันคืออะไร บางอันก็ดูยาก คนบางคนมาดูอาจจะเห็น ง งู เป็น ย ยักษ์ เป็นคำเลยง่ายกว่าครับ”

นิทรรศการ

คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า Phayanchana เกิดขึ้นได้เพราะวิกฤตโควิด-19 และยิ่งโรคร้ายนี้ลดราความรุนแรงลงไป แบรนด์ใหม่ของอังกูรก็ยิ่งเติบโตสวนทางกัน

2021 คือปีแรกที่เฟซบุ๊กและอินสตาแกรมของ Phayanchana ถือกำเนิด

2022 คือปีที่ Phayanchana ได้ออกงานครั้งแรกกับ Bangkok Design Week 2022

2023 Phayanchana กลับมาอีกครั้งพร้อมกับชุดวรรณรูปที่ออกแบบใหม่เพื่อการนี้

หากแต่ความเป็นจริง ทั้งหมดนี้คือดอกผลจากการทดลองออกแบบตั้งแต่ปี 2010 สมัยที่เจ้าของแบรนด์อยู่กับที่ทำงานเก่า ส่วนแรงบันดาลใจก็ต้องย้อนไปในวัยเด็กนับสิบ ๆ ปีก่อนหน้านั้นเลยทีเดียว

ป๊อบ อังกูร เบื้องหลังการออกแบบกราฟิกและผลิตภัณฑ์จากพยัญชนะไทย ที่อยากให้ผู้คนจดจำคำไทยได้จากรูปสื่อความหมาย

“งาน Design Week ครั้งแรก ผมส่งงานไปที่ TCDC เขาก็อนุมัติให้ จัดสถานที่ให้ หลายคนดูแล้วก็ชอบนะครับ มีทั้งกราฟิกและโปรดักต์ ตัวผมก็รู้สึกว่าตื่นเต้น แต่จริง ๆ แล้วมันสะสมมานานมาก หลายปีมาก เพราะอย่างของบางชิ้น ผมทำอยู่ 3 ปี Develop กับโรงงาน เปลี่ยนโรงงานมา 3 แห่งเพราะหาที่ผลิตไม่ได้ ตอนนั้นจัดแสดงงานที่อาคารชัยพัฒนสิน ตลาดน้อย

“ส่วนในปี 2023 นี้ งานใหม่ของผมยังไม่เสร็จ เลยมีแต่กราฟิกอย่างเดียวที่เป็นวรรณรูป ถ้าเป็นปีหน้าผมจะสลับเป็นโปรดักต์ ไม่มีกราฟิกบ้าง เพราะไม่งั้นคนอาจจะคิดว่ามีเยอะไป โฟกัสไม่ได้”

Phayanchana เพิ่งได้จัดแสดงงานมาปีสองปี แต่ผลงานการออกแบบของอังกูรก็เป็นที่นิยมชมชอบกันมาก ถึงขั้นได้รับรางวัล ส่งไปจัดแสดงนิทรรศการที่ญี่ปุ่น ซึ่งก็ได้รับรางวัลกลับมาอีก

น่าสงสัยว่าชาวต่างชาติที่ไม่รู้ภาษาไทยจะสนใจงานศิลป์ที่ดีไซน์ขึ้นมาจากอักษรไทยหรือ

“คนที่สนใจมีชาวต่างชาติเยอะมากครับ” อังกูรตอบทันที “มีคนส่งข้อความมาจากภูเก็ต บอกว่า คุณช่วยให้ชีวิตผมง่ายขึ้นมากเลย เขาอาจจะเป็นต่างชาติที่มีภรรยาคนไทย อยากเรียนภาษาไทย แต่บางตัวเขาคิดไม่ออกว่าเป็นยังไง พอมาเห็นอย่างนี้ทำให้เขานึกออก จำได้ เลยรู้สึกว่ามันช่วยสำหรับคนที่กำลังศึกษาภาษาไทย ตรงกับคอนเซปต์ที่ผมจะส่งออกวัฒนธรรมครับ”

ป๊อบ อังกูร เบื้องหลังการออกแบบกราฟิกและผลิตภัณฑ์จากพยัญชนะไทย ที่อยากให้ผู้คนจดจำคำไทยได้จากรูปสื่อความหมาย

ทุกครั้งที่ Phayanchana ได้ไปออกนิทรรศการ สิ่งที่ได้รับกลับมามักเป็นความชุ่มชื่นหัวใจผู้สร้างงานเสมอ ถ้าเพียงแต่ผู้ชมผลงานเป็นคนไทย รู้หนังสือไทย พวกเขาย่อมเพลิดเพลินไปกับงานเหล่านี้

“ในนิทรรศการของผมจะมีหนังสือเล่มหนึ่งให้คนเขียน เขาก็เขียนว่าอันแรกดูเหมือนเป็นงานกราฟิกนะ แต่พอไปดูดี ๆ มันเป็นตัวอักษรนี่นา แล้วก็มีเด็กมานั่งวาดชื่อตัวเอง สมมติว่าชื่อ เปิ้ล ก็จะให้มันเป็นแอปเปิล ผมรู้สึกว่านี่มันใช่เลย ใช่อย่างที่คิดไว้ อยากให้คนที่มาเห็นงานแล้วอยากทำบ้าง หรืออย่างพวกเจ้าหน้าที่ คนงานที่เขาขนย้าย ติดตั้งงานพวกนี้ เขาก็มาดูกันใหญ่ว่านี่ ส เสือ ล ลิง หรือตัวอะไร ผมอยากให้คนเห็นงานแล้วคิดว่าอยากทำบ้าง อยากวาดบ้าง แบบนี้น่าจะทำได้เหมือนกัน 

“ผมอยากให้ภาษาไทยดูเท่เหมือนที่ผมเห็นภาษาอื่นในสมัยก่อน ผมเคยเห็นเพื่อนผมสักขาเป็นภาษาจีน ผมไปถามว่านี่แปลว่าอะไร มันก็บอกว่าไม่รู้ รู้แต่สวยดี ในใจผมก็คิดว่าอยากให้คนเอาไปใช้ เอาไปสัก สวย อยากให้คนไปเห็นว่าภาษาไทยของเรามันสวย เอาไปทำอย่างอื่นได้เยอะนะ”

ป๊อบ อังกูร เบื้องหลังการออกแบบกราฟิกและผลิตภัณฑ์จากพยัญชนะไทย ที่อยากให้ผู้คนจดจำคำไทยได้จากรูปสื่อความหมาย

ปี 2024 ที่รอเราอยู่นี้ Phayanchana จะมีอะไรให้พวกเราชมอีก เรื่องนี้อังกูรขออุบไว้ก่อน แต่บอกใบ้ว่ายังคงคอนเซปต์เดิม คือเล่นกับอักษรไทยหรือคำไทย

“ผมจะไม่ทำอะไรที่มันเดาได้ ผมชอบทำในสิ่งที่เซอร์ไพรส์คน มันจะได้ไม่น่าเบื่อ แต่ยังไงก็ต้องเป็นภาษาไทยนี่แหละครับ แต่จะเป็นสิ่งที่ใครเห็นแล้วก็ต้องงงว่า เฮ้ย! ตัวอักษรไทยมันไปได้ขนาดนี้เชียวเหรอ!”

ป๊อบ อังกูร เบื้องหลังการออกแบบกราฟิกและผลิตภัณฑ์จากพยัญชนะไทย ที่อยากให้ผู้คนจดจำคำไทยได้จากรูปสื่อความหมาย

Writer

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ