วันนี้เราออกเดินทางโดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะไปที่ไหน ใจรู้เพียงว่าจะขับรถไปบนถนนหมายเลข 4 เท่านั้น
แต่เพราะไม่มีจุดหมายชัดเจน เราจึงเจอ ‘สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพัทลุง’ ด้วยความบังเอิญ แค่เพียงเลี้ยวซ้ายจากถนนใหญ่ไป 1 กิโลเมตรก็ถึงประตูทางเข้า

สัตว์ป่ามากมายได้รับการดูแลท่ามกลางธรรมชาติสีเขียวขจีที่โอบล้อม ตอนนี้พระอาทิตย์อยู่กลางกระหม่อมบอกเวลาเที่ยงตรง เราเดินเข้าไปด้านใน สิ่งแรกที่สะดุดตาคือนกขนาดเล็กหลายตัวที่แยกกันอยู่ตามสายพันธุ์ 

นกขุนทองร้องเจื้อยแจ้วเสียงดังว่า ‘ทอง’ และ ‘บ่าวไปไหน’ ใกล้กันคือพื้นที่ของเก้งหม้อ และถัดไปเป็นละมั่ง กวางที่มีเขาเป็นเอกลักษณ์คล้ายคันธนู ซึ่งสวยงามจนเป็นที่หมายปองของมนุษย์บางคน ถึงขนาดว่าครั้งหนึ่งละมั่งเคยหายไปจากผืนป่าของไทยเป็นเวลากว่าเกือบครึ่งศตวรรษ แต่ด้วยความพยายามขององค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตลอดจนเจ้าหน้าที่หลายภาคส่วน การเพาะเลี้ยงละมั่งประสบความสำเร็จและปล่อยคืนสู่ธรรมชาติได้อีกครา 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันจำนวนประชากรละมั่งยังคงเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ผู้พิทักษ์สัตว์ยังต้องทำงานหนักอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ซ้ำรอย ‘สมัน’ กวางที่ขึ้นชื่อว่ามีเขาสวยสุดในโลกชนิดหนึ่งและเคยมีชีวิตอยู่เมื่อ 80 กว่าปีมาแล้ว ขณะที่ตอนนี้มันคงเหลือไว้เพียงชื่อ ส่วนร่างกายได้หายไปจากโลกตลอดกาล

ละมั่ง

เดินเลยไปหน่อยเป็นโซนของเหล่านกขนาดใหญ่ อย่างเหยี่ยว นกออก และไก่ฟ้า แต่ละตัวล้วนสง่างามในแบบของตัวเอง แม้ไม่ได้กางปีกโบยบินบนท้องนภา

เหยี่ยวแดง เหยี่ยว และนกออก (ตามลำดับ)

นกใหญ่พันธุ์ถัดไปที่เผยโฉมให้เราได้ยล คือนกเงือก นกกาฮัง นกกก และนกแก๊ก บางคนเปรียบนกเงือกเป็นสัญลักษณ์ของรักแท้ด้วยธรรมชาติการครองคู่และขยายพันธุ์ของมัน 

นกคู่รักจะพากันหาโพรงต้นไม้ที่เหมาะสม ก่อนแม่นกจะเบียดตัวเองเข้าไปอยู่ในโพรง ใช้ปากบรรจงแต่งปิดปากโพรงด้วยอาหารหรือดินจนเหลือพื้นที่เล็กเพียงแค่พอให้ปลายปากยื่นออกไปรับอาหารจากพ่อนกที่คอยคาบของกินมาให้ ดังนั้น ลูกนกเงือกเกิดใหม่จะเติบโตในรังที่ปลอดภัยจากสัตว์นักล่า และอยู่กับแม่นกที่สลัดขนทิ้งราว 3 – 4 เดือน จนกว่าลูกนกจะแข็งแรงพอเผชิญโลกกว้าง ระหว่างนี้หากพ่อนกมีอันเป็นไป แม่และลูกนกก็จะอดตายในโพรงรังไปด้วย 

นี่จึงเป็นที่มาว่าทำไมการล่านกเงือกตัวผู้เพียงตัวเดียวจึงเท่ากับการทำลายสิ้นทั้งครอบครัว

นกเงือก

พื้นที่ถัดมาเป็นของครอบครัวนาก 4 ตัว ทุกตัวดูตื่นเต้นที่ได้เห็นมนุษย์จึงรีบวิ่งมาหาในทีแรก ก่อนจะเดินกลับไปเอกเขนกต่อ ด้วยพฤติกรรมนี้ เราจึงสันนิษฐานว่าครอบครัวนากอาจเคยอยู่ใกล้ชิดคนเลี้ยงมาก่อน

นาก

เจ้าของตาวาวใสที่จ้องมองเราด้วยความระแวดระวังคืออีเห็น หรือที่คนใต้คุ้นเคยกันในนาม ‘มูสัง’ 

วันนี้เป็นครั้งแรกที่ได้เห็นหน้าตาสัตว์ชนิดนี้ชัดเจน หากใครมาพูดกับเราว่า ‘หน้าอยู่เหมือนมูสัง’ เราคงรู้สึกเฉย ๆ เพราะหน้าตามันไม่ได้ ‘โหม๊ะ’ (ขี้เหร่) ตามที่ตั้งใจยกไปเปรียบเทียบ แต่ถ้ามีใครพูดกับเราว่า ‘กลิ่นเหมือนมูสัง’ เราคงได้ ‘ลิวเกือก’ (เขวี้ยงรองเท้าใส่) โดยไม่ทันได้ ‘แหลง’ เพราะสาบของมันรุนแรงเตะจมูก ถึงขั้นต่อมรับกลิ่นตื่นเต็มตัวเตือนว่านี่คือกลิ่นของสัตว์ป่าอย่างแท้จริง 

ตัวถัดมาเป็นสัตว์ที่เราคิดว่าใกล้เคียงกันมาตลอด หากแต่ตัวจริงขนาดของมันใหญ่กว่ามาก และมีลวดลายตามลำตัว นั่นคือ ‘ชะมด’

อีเห็น

ชะมด

ใหญ่ขึ้นไปอีก คือหมีขอ หรือ บินตุรง แม้จะขึ้นชื่อว่าหมี แต่มันอยู่ในตระกูลเดียวกับชะมดและอีเห็น หมีขอตัวนี้แสดงสัญชาตญาณของสัตว์ป่าให้เราสัมผัสอย่างชัดเจนกว่าสัตว์ชนิดก่อน ๆ ด้วยการส่งเสียงขู่ตลอดเวลาและยกตัวยืนขึ้นข่มหากเข้าใกล้พื้นที่ของมันมากเกินไป ด้วยขนาดตัวประกอบกับเสียงขู่คำรามนั้นก็ทำให้เราตกใจและหวั่นเกรงไม่น้อย

หมีขอ

บริเวณเดียวกันมีชะนีหนึ่งตัวที่ดูไม่ลังเลจะเข้าหาคนเยี่ยมชมอย่างเราเลย 

คำถามเกิดขึ้นอีกครั้ง ชะนีตัวนี้เคยอยู่ใกล้ชิดคนเลี้ยงมาก่อนหรือไม่

ชะนี

สัตว์ที่เราเห็นมีจำนวนมากกว่า 20 ตัวในสถานีฯ คือกระจง กวางขนาดเล็กตัวเท่า ๆ กับแมวบ้าน 

สมัยเรายังเด็ก คนมักเปรียบเปรยว่าตัวเราเล็กเหมือนกระจง มาวันนี้จึงเข้าใจสิ่งที่รุ่นปู่ย่าตายายยกสัตว์ที่เขาเห็นในธรรมชาติมาเอ่ยถึง

กระจง

ปิดท้ายที่แมวดาว ความคิดตลอดมาคือแมวดาวเป็นเจ้าเหมียวลวดลายสวยงาม เวลาเห็นผ่านสื่อก็ไม่พ้นที่ทาสแมวอย่างเราจะคิดว่าน้องช่างน่ารักน่าเอ็นดู แต่เมื่อได้เผชิญหน้ากับแมวดาวตัวจริง ทุกสิ่งกลับตาลปัตร 

สัญชาตญาณสัตว์ป่าเข้มข้นเผยออกมาผ่านสายตาที่ใช้จ้องมองมนุษย์ ความน่าเกรงขามนั้นทำให้เราเสียวสันหลังวาบ ท่าทางเกรี้ยวกราดแสดงความไม่พึงพอใจที่เราเข้าไปอยู่ในอาณาเขตของมัน ไหนจะแรงเขี้ยวที่พร้อมใช้จู่โจมเพื่อขู่ไล่ให้ผู้บุกรุกหนีห่าง 

ทั้งหมดนี้ทำให้เรารู้ซึ้งถึงเหตุผลของคำถามที่ว่า ทำไมถึงห้ามนำสัตว์ป่ามาเลี้ยง

แมวดาว

แต่เมื่อมีคนต้องการ ก็ย่อมมีผู้ล่าล่าสัตว์ป่าออกสู่เมือง ไม่ว่าจะเหตุผลเพราะลูกสัตว์ดูน่ารัก สีสัน ลวดลาย รูปร่างสวยงามแปลกตา เสียงร้องไพเราะ หรือเพราะความเชื่องมงาย แต่จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ‘ไม่ควรนำสัตว์ป่ามาเลี้ยง’

นอกจากผิดกฎหมาย แม้เลี้ยงตั้งแต่เล็ก โตขึ้นพวกมันย่อมแสดงสัญชาตญาณที่แท้จริงออกมา พร้อมพฤติกรรมและการป้องกันตัวตามธรรมชาติ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อทั้งผู้เลี้ยงและสัตว์ป่าเองก็เครียด เกิดภาวะร่างกายอ่อนแอจากการเลี้ยงดูที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติหรือเกิดการบาดเจ็บ นอกจากนี้ ระบบนิเวศยังเสียสมดุลจากการนำสัตว์ป่าออกมาด้วย

เมื่อคราวต้องการปล่อยคืน สัตว์ป่าเหล่านั้นก็กลับไปใช้ชีวิตตามธรรมชาติไม่ได้ เนื่องจากพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป พวกเขาก็จำเป็นต้องอยู่อาศัยในพื้นที่ที่มนุษย์จัดไว้ให้จนสิ้นอายุขัย อย่างที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพัทลุงกำลังทำหน้าที่อยู่ ณ ตอนนี้

ไม่ใช่แค่งานวิจัย เพาะเลี้ยง และการปล่อยสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์คืนสู่ธรรมชาติ เจ้าหน้าที่ยังต้องดูแล ‘สัตว์ป่าของกลาง’ หลังผ่านการตรวจสุขภาพหรือกักกันโรคจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ไม่ใช่ว่าสถานีฯ อยากกักขังสัตว์ป่าของกลางไว้ แต่เพราะปล่อยคืนธรรมชาติไม่ได้ เนื่องจากสัตว์เหล่านี้ไม่อาจดำรงชีวิตให้อยู่รอดในธรรมชาติด้วยตัวเองอีกต่อไป 

การมาที่นี่ให้ความรู้สึกเหมือนเรากำลังชมโศกนาฏกรรมที่มีสัตว์ป่าเป็นผู้แสดง มีมนุษย์เป็นผู้กำกับ และมีเจ้าหน้าที่ของสถานีฯ ทำงานโดยไร้นาม แถมบางครั้งถูกมองว่าเป็นผู้ร้ายเสียเอง 

หากเราพิจารณาอย่างลึกซึ้งในบทบาทหน้าที่และข้อจำกัด ก็จะเข้าใจวัตถุประสงค์ของการมีอยู่ของสถานีฯ ที่แห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งสะท้อนปัญหาของการเอาสัตว์ป่ามาเลี้ยงอย่างแท้จริง 

หลายคนอาจคิดว่าเราเป็นประชาชนคนธรรมดาคนเดียวจะไปแก้ปัญหาอะไรได้ แต่แท้จริงแล้ว ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของการรักสัตว์ป่าอย่างถูกต้องได้ด้วยการมาเยี่ยมชมสถานีฯ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ โดยเฉพาะการปลูกฝังรูปแบบความคิดที่ถูกต้องแก่เยาวชน รวมถึงเป็นกำลังใจให้คนทำงานที่คอยขับเคลื่อนการปกป้องสัตว์ป่าในธรรมชาติ 

สำคัญที่สุด คือยุติการพรากสัตว์ป่าจากธรรมชาติในทุกรูปแบบ 

เมื่อไม่มีคนต้องการ สัตว์ป่าก็จะได้อยู่ในป่าอย่างที่ควรจะเป็น

สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพัทลุง 

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

เอมวรินร์ ตั้งคณานันท์

เอมวรินร์ ตั้งคณานันท์

สาวใต้นักเดินทางที่ให้การรักษาผู้ป่วยมะเร็งได้