The Cloud x British Council
For English Version,  Click Here

เกือบทุกครั้งที่แนะนำแบรนด์เสื้อผ้าทอมือแฝงลวดลายไทย หรือแบรนด์แฟชั่นเก๋ๆ ที่ย้อมสีธรรมชาติ เรื่องราวส่วนใหญ่เริ่มต้นที่ดีไซเนอร์ชาวกรุงเทพฯ หรือเจ้าของแบรนด์เข้าเมืองหลวงมาคลุกคลีเรียนรู้การออกแบบตอนหนุ่มสาว

เมืองหลวงมีมาตรฐานความงามของตัวเอง และดูเหมือนว่าคุณต้องผ่านบทเรียนการเป็นคนเมืองที่นี่เสียก่อน จึงจะเปิดแบรนด์ท้องถิ่นได้ตอบโจทย์ผู้คน

เรื่องราวของ ‘แพวผ้าฝ้าย’ จึงพิเศษและไม่เหมือนคนอื่นเลย

แพวผ้าฝ้าย

แพว คำภานุช เรียนหนังสือไม่สูง การเข้ากรุงเทพฯ ของเธอคือการเข้ามาเป็นสาวโรงงานผลิตรองเท้ากีฬา ชีวิตที่พลิกผันเพราะสามีเสียชีวิต ทำให้เธอตัดสินใจกลับบ้านเกิดมาทอผ้า

แบรนด์ไหนเริ่มต้นที่ศูนย์ แบรนด์นี้เริ่มต้นที่ติดลบ

วันที่เราพบกัน เสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์ของแพวผ้าฝ้ายจัดจำหน่ายทั่วประเทศ เสื้อผ้าลายไทลื้อเคยลงปกนิตยสาร ถูกส่งไปให้ดาราใส่ และธนาคารทั้งในภาคเหนือและกรุงเทพฯ ขอให้เธอออกแบบเครื่องแบบให้โดยไม่ซ้ำกัน

ล่าสุด แพวผ้าฝ้ายร่วมมือกับ British Council และดีไซเนอร์หนุ่มสาวจากแบรนด์ KRAM-HUG ออกผลงานเสื้อผ้าคอลเลกชันใหม่ลงใน Chiang Mai Design Week 2018

แพวผ้าฝ้าย

ขณะที่คุณอ่านบรรทัดนี้ แบรนด์เล็กๆ ของสาวเชื้อสายไทลื้อ อำเภอปัว จังหวัดน่าน กำลังพัฒนาตัวเองด้วยความเร็วแบบก้าวกระโดด และขับเคลื่อนวิสาหกิจชุมชนทอผ้าบ้านเฮี้ยและร้อยกว่าชีวิตในหมู่บ้านให้มีงานประจำ

กว่าจะก้าวมาอยู่จุดนี้ เรื่องทั้งหมดเริ่มต้นจากผ้าปูที่นอนผืนละ 43 บาท

ช่างทอผ้าทำมาร์เก็ตติ้ง

แพวผ้าฝ้าย

ผ้าหลบหรือผ้าปูที่นอนไทลื้อมีเอกลักษณ์ที่ลวดลายเฉพาะตัว ใช้สีขาว แดง และดำ

แม่ของแพวทอผ้าไทลื้อได้หลายแบบ จึงสอนแพวทอผ้าใต้ถุนบ้าน ผ้าแบบเดียวที่เธอทอเป็นคือผ้าปูที่นอนแบบไทลื้อ

เมื่อกลับมาทำงานที่บ้านในช่วง พ.ศ. 2538 แพวทอผ้าปูที่นอน โดยมีแม่ค้าคนกลางมารับผ้าไปขายต่อ ทั้งที่ตั้งใจทำให้ดีแท้ๆ แต่ผ้าทอมือของเธอถูกกดราคา ได้เงินเพียงผืนละ 43 บาทเท่านั้น

ต่อมาร้านค้าจากในเมืองก็นำฝ้ายกับอุปกรณ์ต่างๆ มาให้ทอตามสั่ง โดยให้ค่าแรงเพิ่มเป็น 130 บาท แต่หักค่าวัตถุดิบออกแล้ว เธอได้เงินราว 80 บาทต่อผืน แพวทอผ้าหลบและผ้าสองชายกับกลุ่มแม่บ้านอยู่เป็น 10 ปี ชุมชนบ้านเฮี้ยจึงรวมตัวกันตั้งกลุ่มทอผ้าขึ้นมา

แพวไม่ได้มีตำแหน่งอะไร แต่เธอรู้จักการตลาด เพราะรับหน้าที่นำผ้าไปขายที่โรงแรมในอำเภอปัว เมื่อกลุ่มประสบปัญหาขาดทุน จึงทาบทามให้เธอเป็นประธานกลุ่ม ภายใน 5 ปี แพวทำบัญชีและชำระหนี้กู้ยืมทั้งหมดให้กลุ่มได้สำเร็จ

แพวผ้าฝ้ายแพวผ้าฝ้าย

“พี่แพวเป็นช่างมาก่อน ไม่ได้เรียนหนังสือนะคะเพราะแม่ไม่มีเงิน แม่ไปซื้อจักรให้หลังหนึ่ง พี่เลยตัดเสื้อผ้าเป็นอยู่แล้ว พี่เริ่มเอาผ้าที่ทอมาทำผ้าม่านใส่บ้านตัวเอง พอคนนู้นคนนี้มาเห็นก็เริ่มสั่ง ทีนี้ก็เลยเปลี่ยนจากทอผ้าสองชายมาทอผ้าม่านขาย แล้วก็ไปออกบูทงานแม่บ้านเกษตรกร งานแบกะดิน เขาให้ไปไหนก็ไปหมด”

ทั้งงานดีไซน์สินค้าใหม่และการขยายตลาด แพวรับผิดชอบทั้งหมด เมื่อสินค้าตกแต่งบ้านเริ่มอยู่ตัว แพวเลยนำผ้าทอมือที่นิยมเวลานั้นตัดเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูป โดยเริ่มจากตัดใส่เองก่อนเพื่อหยั่งเชิงตลาด

“พอไปอบรมกับหน่วยงานต่างๆ เราก็ไปเดินโชว์ให้เขาเห็น เสร็จแล้วเขาก็สอนว่าเราจะเปิดตลาดยังไง อันดับแรกเขาให้เรารู้จักตัวเอง ตอนนั้นก็ยังไม่รู้จัก คิดจะขายอย่างเดียว ผ้าลายไหนสวยก็ซื้อมาตัด ซื้อจากเชียงใหม่มาบ้าง คือไม่เป็นของตัวเองเลย จนค้นหาตัวเองได้ว่าบ้านเรามีผ้าหลบ ทำไมเราไม่เอามาใช้ล่ะ”

เจ้าของแบรนด์แพวผ้าฝ้ายเอ่ยในร้านเสื้อผ้าแสนสวยผสมลวดลายไทลื้อร่วมสมัย

แพวผ้าฝ้ายและชุมชน

แพวผ้าฝ้าย

แพวมองเห็นอนาคตของธุรกิจที่มั่นคงอยู่ข้างหน้า การตัดเสื้อผ้าทอมือขายเป็นอาชีพจริงจังที่สร้างเงินเดือนให้ทุกคนได้ ขณะที่กลุ่มแม่บ้านอื่นๆ มองว่าการทอผ้าเป็นรายได้เสริมจากการเกษตร และความเสี่ยงเรื่องการลงทุนสูงเกินไป

นักธุรกิจหญิงจึงตัดสินใจลงทุนเปิดร้านแพวผ้าฝ้ายด้วยตัวเอง นอกเหนือจากการเป็นประธานกลุ่มฯ เธอรับผิดชอบการออกแบบ การแปรรูป และการขายทั้งหมด โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอผ้าบ้านเฮี้ยทำหน้าที่ส่งวัตถุดิบให้เธอ สมาชิกทุกคนได้รับเงินเดือนและเงินปันผลประจำปี

รายได้สม่ำเสมอทำให้แพวผ้าฝ้ายมีช่างทอผ้ามากถึงเกือบ 40 คน และมีสมาชิก 100 กว่าคน ตั้งแต่หญิงสาวที่ทำงานที่บ้านได้โดยไม่ต้องไปขายแรงงานในเมือง ไปจนถึงหญิงชราที่อยากหารายได้เพิ่มในวัยเกษียณ เพราะความตั้งใจของแพวผ้าฝ้ายไม่ใช่แค่อยากหาเงินให้มากที่สุด แต่ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคนดีขึ้น วัยรุ่นไม่จำเป็นต้องทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิด ทุกคนได้ร่วมอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมการทอผ้าด้วยการส่งต่อเป็นเสื้อผ้าและของใช้ตกแต่งบ้านที่ร่วมสมัย และภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองทำ

แพวผ้าฝ้าย แพวผ้าฝ้าย

ดีไซเนอร์ไทลื้อ

จากช่างทอผ้าตามสั่ง แพวเรียนรู้ดีไซน์ใหม่ๆ จากหนังสือแฟชั่นรีวิวและเข้าอบรมการออกแบบ เปลี่ยนการนำผ้าลายดั้งเดิมมาตัดทันที คิดเป็นแพตเทิร์นก่อนแล้วค่อยทอลายที่ไม่ซ้ำใคร โดยมีผ้าหลบไทลื้อ เอกลักษณ์ของบ้านเกิดเป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจในทุกคอลเลกชัน เธอเก็บเอาทุกความรู้ที่ได้รับไปต่อยอดอย่างว่องไวเสมอ

ผลตอบรับที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สินค้าของแพวผ้าฝ้ายได้รางวัลจากสถาบันต่างๆ และได้รับเชิญไปออกร้านในระดับใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ

แพวผ้าฝ้าย แพวผ้าฝ้าย

“ไปเมืองทองธานีตอนแรกเขาก็ไม่มองผ้าเราหรอก พี่แพวเลยเดินดูการออกแบบของคนอื่นแล้วกลับมาพัฒนาของเรา กลับไปอีกรอบก็ขายได้ มันก็มีกำลังใจ ทีนี้ต่อมาได้ไปดูงานที่โอซาก้า ทำให้เห็นว่าคนญี่ปุ่นเป็นคนเรียบร้อย ประทับใจตั้งแต่เมืองเขาสะอาด รองเท้าเขาก็ดูเรียบร้อย เขาย้อมสีธรรมชาติ มีลายนิดเดียวเท่านั้น แล้วเศษผ้าเล็กน้อยเขาเอามาทำเป็นผลิตภัณฑ์หมดเลย พี่ก็เลยเอามาคิดต่อ กลับมาบ้านก็เก็บเศษผ้าเอามาแปะเสื้อ ขายดีมาก ทุกวันนี้แบบนั้นยังขายได้อยู่เลย”

แพวผ้าฝ้ายโตขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมๆ กับแพว คำภานุช ที่กลายเป็นประธานวิสาหกิจชุมชนในระดับจังหวัดและประธานคลัสเตอร์ผ้าทอมือน่าน เธอจัดงานแฟชั่นโชว์คอลเลกชันผ้าหลบในเมืองน่าน จากเป็นคนดูแบบในนิตยสาร ต่อมานิตยสารแฟชั่นกลับมาขอชุดทอมือไปให้ดารานางแบบใส่

การออกแบบลายไทลื้อลงไปในเสื้อผ้าโมเดิร์นตรงกับโจทย์ของธนาคารที่อยากให้พนักงานใส่ยูนิฟอร์มที่ผสมความเป็นไทย หลายธนาคารในกรุงเทพฯ ลำปาง และสุพรรณบุรี จึงเข้ามาดูงานและสั่งตัดเครื่องแบบกับแพวผ้าฝ้าย

แพวผ้าฝ้าย

“เสื้อผ้าที่เราออกแบบถูกใจพนักงานออฟฟิศ เมื่อก่อนไม่มีใครสนใจเลย เขาบอกว่าแก่ ระยะหลังวัยรุ่นชอบใส่ เริ่มมีดาราเข้ามา เราก็เลยภูมิใจนะ”

เจ้าของแบรนด์แพวผ้าฝ้ายพูดยิ้มๆ ปัจจุบันแพวผ้าฝ้ายมีสินค้าผ้าฝ้ายสารพัด ไม่ว่าจะเป็นผ้าซิ่น ผ้าถุงทอมือ ผ้าขาวม้า ผ้าคลุมไหล่ ผ้าตัดชุด ตุงตกแต่งบ้าน นอกจากนี้ยังมีของตกแต่งบ้าน ผ้าม่าน ผ้าคลุมเตียง หมอนอิง พรมเช็ดเท้า และสินค้าอื่นๆ อีกมากมาย และยังมีบริการออกแบบ ตัดเย็บ เสื้อผ้าทั้งชายและหญิง เครื่องแบบของหน่วยงานต่างๆ และเสื้อผ้าพื้นเมืองของนักเรียน

กลับสู่ธรรมชาติ

แพวผ้าฝ้ายกำลังขยายตลาดสู่ตลาดบน โดยทีม British Council และ อลิสัน เวลช์ นักออกแบบชาวอังกฤษ เข้ามาช่วยดูแลกระบวนการตั้งแต่การพัฒนาเส้นด้าย การย้อมสีธรรมชาติ การตัดผ้าให้เหลือทิ้งน้อยที่สุด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น พรม หมอน กระเป๋า ไปจนถึงการจัดหน้าร้านให้สวยดึงดูดใจ และที่สำคัญคือ สอนให้ช่างทอสนุกที่จะคิดลายใหม่ๆ ได้อย่างมีอิสระ โดยไม่ต้องรอคนออกแบบให้

ผลิตภัณฑ์ราคาสูงของแพวผ้าฝ้ายตอนนี้คือผ้าย้อมสีธรรมชาติที่ได้จากวัตถุดิบในหมู่บ้าน กลับไปหาสีที่เคยใช้ในอดีต เช่น เปลือกประดู่ ใบมะม่วง ใบหม่อน คำแสด ต้นงิ้ว และผลิตภัณฑ์ผสมเส้นใยธรรมชาติ อย่างใยกล้วยและใยข่า ซึ่งผลิตมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้แพวยังช่วยเหลือคนตกงานด้วยการส่งงานเย็บกระเป๋าไปให้ช่างที่เชียงใหม่ และงานตัดรองเท้าไปให้ช่างที่นครปฐม แถมกำลังพัฒนาโครงการกระเป๋าเงินแท้ผสมผ้าทออีกด้วย

“ตอนนี้พี่แพวเริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเอง ในเมื่อพนักงานเรามีแค่นี้ ไม่ต้องเหนื่อยมาก เราตั้งใจทำมาชิ้นหนึ่ง เราขายราคาสูงแล้วเขาแย่งกันดีกว่า เงินแท้ เส้นใยธรรมชาติมันทำได้น้อยชิ้น แต่ก็มีราคา และขายได้เหมือนกัน ดีไหม”

แพวผ้าฝ้าย

แพวหันมาถามดีไซเนอร์แบรนด์ KRAM-HUG ที่พยักหน้าเห็นชอบ คอลเลกชันพิเศษของแพวผ้าฝ้ายเป็นงาน Collaboration กับแบรนด์เสื้อผ้าจากเชียงใหม่ที่นำเอาวัฒนธรรมล้านนามาออกแบบเสื้อผ้าแฟชั่น โดย ปาณิสรา มณีรัตน์ และ นภัต ตันสุวรรณ (Panisara Maneerat and Naphat Tansuwan) ผู้ก่อตั้งแบรนด์ KRAM-HUG เข้ามาลงพื้นที่พัฒนาคอลเลกชันใหม่ ‘รื้(ลื้)อใหม่’ สำหรับงานเชียงใหม่ดีไซน์วีก

“เรามาลงชุมชนตั้งแต่วันแรกๆ เห็นได้ชัดเลยว่าพี่แพวกำลังเปลี่ยนแปลงมาใช้เส้นใยธรรมชาติมากขึ้น เส้นใยฝ้าย ข่า กล้วย น่าสนใจมากตรงที่มันลักษณะไม่เหมือนกันเลย เอามาผสมแล้วทอ ใส่เทคนิคใหม่ๆ แล้วย้อมสีธรรมชาติ ก็กลายเป็นเสื้อผ้าแฟชั่นที่เพิ่มมูลค่ามากขึ้นได้”

คู่ดีไซเนอร์หนุ่มสาวกล่าวอย่างมั่นใจ

แพวผ้าฝ้าย แพวผ้าฝ้าย

“ดีไซน์โครงสร้างของเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย เราได้รับอิทธิพลมาจากลวดลายจิตกรรมฝาผนัง ภาพคนไทลื้อกำลังเดินอยู่ ในภาพเดียวกันมีการแต่งกายของชาติตะวันตก เพราะมีชาวโปรตุเกส อังกฤษ เข้ามา เราก็เลยเอาความเป็นไทลื้อมาผสมกับความร่วมสมัย ใช้แนวคิดผสานเก่าเล่าใหม่ นำงานหัตถศิลป์ดั้งเดิมมาสู่บริบทใหม่ในยุคปัจจุบัน เราเอาภาพที่อยากได้มาให้ป้าๆ ยายดูว่าเขาชอบจุดไหน ถึงเลือกจุดที่เขาชอบมาทำเสื้อผ้าสมัยใหม่ ให้เขามีส่วนร่วมในการร่วมออกแบบทั้งวัสดุและดีไซน์กับเราด้วย” ชาว KRAM-HUG ตบท้าย

มรดกไทลื้อเดินทางมาไกลกว่าจะมาอยู่ในคอลเลกชันเสื้อผ้าแฟชั่นล่าสุด เช่นเดียวกับแพวผ้าฝ้ายที่เดินทางมาไกลจากผ้าปูที่นอนราคาถูก

ตอนจบของเรื่องนี้ไม่ใช่ที่เชียงใหม่ดีไซน์วีก เพราะแบรนด์เล็กๆ จากอำเภอเล็กๆ ในจังหวัดเล็กๆ นี้จะก้าวต่อไปไกลกว่านี้มาก

แค่จับเนื้อฝ้ายก็รู้ ความมุ่งมั่นตั้งใจของแพวและผู้หญิงทั้งหมู่บ้านเฮี้ยถักทออยู่ในผืนผ้าแล้ว

แพวผ้าฝ้าย

แพวผ้าฝ้าย

Facebook | แพวผ้าฝ้าย น่าน
โทร 0898518918

KRAM-HUG

Facebook |   KRAM-HUG.co
โทร  0801047150, 0857177494

Crafting Futures เป็นโครงการของ British Council ที่สนับสนุนงานคราฟต์ทั่วโลก โดยสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ระหว่างสหราชอาณาจักรและประเทศอื่นๆ เพื่อช่วยเหลือดีไซเนอร์และชุมชนให้ทำงานคราฟต์ที่ดีขึ้น ขายได้มากขึ้น และทำให้ผู้บริโภคเห็นคุณค่าของงานฝีมือมากขึ้น ถ้าสนใจกระบวนการพัฒนางานคราฟต์ อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

Avatar

นินทร์ นรินทรกุล ณ อยุธยา

นินทร์ชอบถ่ายรูปมาตั้งแต่เด็ก พ่อแม่ซื้อฟิล์มให้ไม่ยั้ง ตื่นเต้นกับเสียงชัตเตอร์เสมอต้นเสมอปลาย เพื่อนชอบชวนไปทะเล ไม่ใช่เพราะนินทร์น่าคบเพียงอย่างเดียวแน่นอน :)