The Cloud x The Hero Season3

ชีวิตคนเมืองอย่างเราๆ ป่วยไข้ก็ไปพบหมอ จะที่คลินิกหรือโรงพยาบาลใด สุดแท้แต่กำลังทรัพย์ในกระเป๋า แต่ในชนบทธุรกันดาร สถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุดอาจอยู่ห่างออกไปนับร้อยกิโลเมตร ความเป็นความตายของชีวิตแขวนอยู่บนระยะทางอันยาวไกลที่ทอดไปราวไม่มีที่สิ้นสุด

เมื่อ 10 ปีที่แล้ว โครงการเล็กๆ ชื่อ ‘โรงพยาบาลชุมชนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา’ ถือกำเนิดขึ้นใน 10 พื้นที่ทั่วประเทศไทย เพื่อถวายพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา

ตั้งแต่ภาคเหนือจรดใต้ กระจัดกระจายไปตามพื้นที่ห่างไกล เพื่อนำการเยียวยารักษาไปสู่ผู้คนในท้องถิ่นต่างๆ 

รวมถึงที่บ้านจันทร์ อําเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ ที่ตั้งของโรงพยาบาลวัดจันทร์เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 

โรงพยาบาลวัดจันทร์,โรงพยาบาลชุมชน,ใจบ้าน สตูดิโอ,สถาปนิกชุมชน, ชาวปกาเกอะญอ

คนไข้กว่า 90 เปอร์เซ็นต์เป็นชาวเขาเผ่าต่างๆ ที่มีวัฒนธรรมการใช้ชีวิตแบบดั้งเดิม โดยเฉพาะพี่น้องชาวปกาเกอะญอ ซึ่งมีความเชื่อว่าจิตวิญญาณของผู้คนนั้นเชื่อมโยงกับธรรมชาติ  

แม้จะเป็นโรงพยาบาลเล็กๆ แต่มีผู้มาใช้บริการแน่นขนัดทุกวัน จนบางครั้งไม่สามารถให้บริการผู้ป่วยได้อย่างประสิทธิภาพ เนื่องจากพื้นที่ใช้สอยไม่เพียงพอ และขาดแคลนสถานที่ให้บริการบางส่วน แน่นอนว่าปัญหาเหล่านี้ ภาครัฐพร้อมจะยื่นมือเข้ามาช่วยแก้ไข แต่ขั้นตอนการดำเนินงาน จากส่วนกลางสู่ภูมิภาคอันห่างไกลนั้นต้องใช้เวลา

คุณหมอประจินต์ เหล่าเที่ยง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวัดจันทร์เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จึงตัดสินใจชวนคนตัวเล็กๆ มากมายหลายสิบหลายร้อยคนที่อาศัยอยู่ในผืนป่า

ตั้งแต่บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วยที่มาใช้บริการ ไปจนถึงชาวปกาเกอะญอ มาร่วมมือร่วมใจกัน ออกแบบผังโรงพยาบาลเพื่อจัดสรรการใช้ประโยชน์พื้นที่กว่า 60 ไร่ ให้มีประสิทธิภาพในการใช้งานสำหรับชุมชนมากขึ้น และสร้างอาคารหลังใหม่อีก 1 หลัง

พวกเขาเรียกโครงการเล็กๆ กลางป่าใหญ่นี้ ว่าภารกิจสร้าง ‘โรงพยาบาลในฝัน’ 

ภารกิจนี้อยู่ภายใต้ร่มคันใหญ่ของ โครงการวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้าง โรงพยาบาลชุมชนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา โดยกลุ่มวิจัยสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างเพื่อสุขภาวะ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ชวนสถาปนิกชุมชนกลุ่มเล็กๆ หลายกลุ่ม เข้าไปช่วยก่อร่างสร้างฝันในการพัฒนาโรงพยาบาลชุมชนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ทั้ง 10 แห่ง

กระบวนการทั้งหมด ตั้งแต่ต้นไปจนถึงปลายน้ำ เกิดขึ้นในป่าสนผืนนี้

ตั้งแต่แนวคิดในการออกแบบตามหลักภูมิปัญญาของชาวเขาเผ่าปกาเกอะญอ แรงงานที่มาจากการช่วยกันคนละไม้คนละมือ และทรัพยากรก่อสร้างที่เป็นวัสดุท้องถิ่น

ไม่ใช่ Top Down แต่เป็น Buttom Up คิดและทำจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ บนผืนดิน ก่อนจะค่อยๆ แผ่ขยายกิ่งก้านสาขาขึ้นไปยังท้องฟ้ากว้างใหญ่

และตอนนี้พวกเขาพร้อมที่จะเล่าภารกิจสร้าง ‘โรงพยาบาลในฝัน’ ให้เราฟังแล้ว

กลมกลืนไปกับผืนป่า

“อำเภอกัลยานิวัฒนาเคยเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งในอำเภอแม่แจ่ม อยู่ในส่วนปลายและลึก ใช้เวลาเดินทางเป็นวัน บริเวณนี้จะเดินทางไปอำเภอปายก็ไกล ไปอำเภอสะเมิงก็ไกล ไปที่อำเภอแม่แจ่มเองก็ไกล ชาวบ้านเดือดร้อนมาก จึงขอให้แยกเป็นอีกหนึ่งอำเภอ รัชกาลที่ 9 เคยเสด็จฯ มาที่นี่ประมาณสี่ครั้ง ก็ทรงทราบดีว่าที่นี่ห่างไกลจริง” คุณหมอประจินต์เริ่มอธิบาย

ที่นี่เป็นภูเขาร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีพื้นราบ และเป็นผืนป่าสนธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ผืนป่าแห่งนี้เป็นป่าสนสองใบและสามใบที่ช่วยอนุรักษ์ต้นน้ำลำธารและป่าเต็งรัง แหล่งอาหารของสัตว์ป่า ชาวปกาเกอะญอจึงเรียกขานว่า ‘มือเจะคี’ ป่าต้นน้ำแม่แจ่ม ก่อนจะไหลรวมเป็นแม่ปิงและเจ้าพระยา

โรงพยาบาลวัดจันทร์,โรงพยาบาลชุมชน,ใจบ้าน สตูดิโอ,สถาปนิกชุมชน, ชาวปกาเกอะญอ

ไม่เพียงดำรงชีวิตพึ่งพิงกับป่า แต่ชาวปกาเกอะญอยังเป็นผู้ดูแลผืนป่าแห่งนี้มานับร้อยปี ทำให้ป่าสนหลายหมื่นไร่ของบ้านวัดจันทร์ ยังคงเป็นแหล่งสร้างน้ำ สร้างอากาศ ที่บริสุทธิ์ให้กับผืนแผ่นดินนี้

คุณหมอประจินต์เล่าต่อว่า “ชาวบ้านชาวเขาผูกพันกับต้นไม้มาก เขาจะไม่ไปแตะต้องป่าต้นน้ำเลย ไม้ที่ชาวบ้านใช้สร้างบ้าน และทำให้เกิดเศรษฐกิจมาจากป่าชุมชน คือเป็นป่าที่ชุมชนปลูกและดูแลกันเอง

“เมื่อพื้นที่นี้ถูกตั้งเป็นอำเภอ มีโรงพยาบาล และความเจริญต่างๆ เข้ามา เราต้องพยายามรักษาสมดุลระหว่างชนเผ่าและความทันสมัยให้กลมกลืนไปด้วยกัน ไม่ไปทำให้ความเป็นสังคมเมืองเข้ามาสู่ชาวบ้านเร็วเกินไป เพราะไม่เช่นนั้น ความเจริญเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่ทำลายรากฐานวัฒนธรรมของชาวปกาเกอะญอ”

โรงพยาบาลวัดจันทร์,โรงพยาบาลชุมชน,ใจบ้าน สตูดิโอ,สถาปนิกชุมชน, ชาวปกาเกอะญอ

โรงพยาบาลวัดจันทร์,โรงพยาบาลชุมชน,ใจบ้าน สตูดิโอ,สถาปนิกชุมชน, ชาวปกาเกอะญอ

“แนวคิดที่โรงพยาบาลวัดจันทร์ใส่ใจและให้ความสำคัญมาโดยตลอด คือการผสมผสานการรักษาแผนปัจจุบันเข้ากับภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิมที่ใช้สมุนไพรในการเยียวยาอาการป่วยไข้ แพทย์มีความรู้อย่างหนึ่ง ชาวบ้านมีองค์ความรู้อย่างหนึ่ง องค์ความรู้ทั้งสองหลอมให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้”

ชีวิตดีด้วยผงชูรสดอย

คุณหมอประจินต์อธิบายให้ฟังถึงปัญหาสาธารณสุขของคนบนดอยว่า “พื้นฐานชาวบ้านที่อยู่ในป่าหรือบนภูเขา ส่วนใหญ่ก็จะเป็นโรคติดเชื้อทางระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินหายใจ เพราะที่นี่หนาวเย็น น้ำท่าก็ไม่สะอาดและเพียงพอ”

หมอบนดอยจึงไม่เพียงจ่ายยาให้คนกินเพื่อบรรเทาอาการเจ็บป่วยเท่านั้น แต่ต้องไปช่วยรักษาหาวิธีป้องกันตั้งแต่ต้นเหตุร่วมกับชาวบ้านไปด้วย

“ในเมื่อน้ำไม่สะอาดและไม่เพียงพอ ทำให้คนเกิดโรค เราเลยเริ่มมาทำเรื่องของน้ำด้วย โรงพยาบาลชวนชาวบ้านมาช่วยกันทำฝาย ช่วยทั้งเรื่องน้ำกินน้ำใช้ น้ำสำหรับการเกษตร และผืนป่าก็ได้ดูดซับน้ำจากฝายของเราไปด้วย”

โรงพยาบาลวัดจันทร์,โรงพยาบาลชุมชน,ใจบ้าน สตูดิโอ,สถาปนิกชุมชน, ชาวปกาเกอะญอ

อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่ต้องใช้เวลานานกว่าจะแก้ไขได้สำเร็จ นั่นคือพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิตของชาวบ้าน

“คนที่นี่เริ่มเป็นเรื่องความดันสูงมากขึ้น ชาวบ้านกินเกลือและผงชูรสเยอะ ก่อนหน้านี้เขามักจะดื่มชาใส่เกลือกัน ใส่กันทีเป็นกำมือ ความเค็มระดับนี้ทำให้เกิดความดันสูง โรงพยาบาลเลยรณรงค์ให้หยุดการดื่มชาใส่เกลือ

“บนป่าสนจะมีพืชชนิดหนึ่งชื่อ ‘เหาะทีลา’ เป็นสมุนไพรรสชาติดี ใช้ปรุงอาหารแทนผงชูรสได้ เราจึงส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกและหันมาใช้เหาะทีลาปรุงรสอาหารแทนผงชูรส และเรียกกันติดปากว่า ผงชูรสดอย”

โรงพยาบาลวัดจันทร์,โรงพยาบาลชุมชน,ใจบ้าน สตูดิโอ,สถาปนิกชุมชน, ชาวปกาเกอะญอ

ตั้งแต่การสร้างฝายมาจนถึงคิดค้นผงชูรสดอย สิ่งเหล่านี้คือการรักษาอย่างกลมกลืนไปกับผืนป่า และเป็นหนึ่งเดียวกับชาวเขาท้องถิ่น เช่นเดียวกับการสร้างอาคารหลังใหม่ของโรงพยาบาลวัดจันทร์ภายใต้ร่มเงาป่าสน

ก่อร่างสร้างฝัน

สถาปนิกชุมชน ใจบ้าน สตูดิโอ คือผู้มาช่วยก่อร่างสร้าง ‘โรงพยาบาลในฝัน’ ร่วมกับโรงพยาบาลวัดจันทร์เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาและชาวปกาเกอะญอ

“เรามีไอเดีย มีความคิดเห็น มีความต้องการอยู่เต็มหัวไปหมด แต่ทำออกมาไม่ได้ เพราะเราไม่สามารถออกแบบพื้นที่หรืออาคารได้ ดังนั้น นักออกแบบคือผู้ช่วยถ่ายทอดสิ่งที่เราและชาวบ้านอยากให้โรงพยาบาลเป็น ออกมาเป็นรูปธรรมจริงๆ โดยพวกเขาออกแบบผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม” คุณหมอประจินต์อธิบาย

โรงพยาบาลวัดจันทร์,โรงพยาบาลชุมชน,ใจบ้าน สตูดิโอ,สถาปนิกชุมชน, ชาวปกาเกอะญอ

โรงพยาบาลวัดจันทร์,โรงพยาบาลชุมชน,ใจบ้าน สตูดิโอ,สถาปนิกชุมชน, ชาวปกาเกอะญอ

กระบวนการมีส่วนร่วมทางการออกแบบ หรือ Participatory Design อธิบายอย่างง่าย คือการล้อมวงคุยกับผู้ใช้พื้นที่โรงพยาบาลทุกกลุ่มตั้งแต่บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วยที่มาใช้บริการ ไปจนถึงชาวปกาเกอะญอที่อาศัยอยู่โดยรอบ เพื่อรับฟังความต้องการแท้จริงของพวกเขา แล้วนำมาปรับจนกลายเป็นแบบของโรงพยาบาลในฝัน

“คนบ้านจันทร์ไม่อยากเอากล่องสี่เหลี่ยมมาตั้งไว้กลางป่า ขวางทางลมพัด ขวางทางน้ำไหล เราอยากให้โรงพยาบาลในฝันกลมกลืนไปกับผืนดินผืนป่า” คุณหมอประจินต์กล่าวพร้อมรอยยิ้ม

พี่ตี๋-ศุภวุฒิ บุญมหาธนากร แห่งใจบ้าน สตูดิโอ เล่าให้เราฟังว่า “ในการออกแบบผังโรงพยาบาลและอาคารหลังใหม่นี้ มีโจทย์หลักอยู่ 3 ข้อ ที่ต้องบูรณาการผ่านการออกแบบมาเป็นอาคารหลังใหม่

ข้อแรกคือ บ้านวัดจันทร์เป็นพื้นที่ป่าสนสองใบ สนสามใบ ผสมกับต้นเต็งรัง ดังนั้น การออกแบบต้องคำนึงว่าจะอาคารจะอยู่กับธรรมชาติของป่าสนอย่างไร

โรงพยาบาลวัดจันทร์,โรงพยาบาลชุมชน,ใจบ้าน สตูดิโอ,สถาปนิกชุมชน, ชาวปกาเกอะญอ

ข้อที่สองคือ เรื่องอุณหภูมิ ที่นี่อุณหภูมิเฉลี่ย 2 – 26 องศาเซลเซียส ซึ่งค่อนข้างเย็นมาก โดยเฉพาะหน้าหนาว อย่างที่ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า แม้จะมีอาคารคอนกรีตก็นอนไม่ได้ ต้องมีการก่อไฟ ดังนั้น จะออกแบบอย่างไร ใช้วัสดุอย่างไร ให้อาคารมีความอบอุ่น

ข้อสุดท้ายคือ เรื่องของวัฒนธรรมชนเผ่า พี่น้องปกาเกอะญอมีวัฒนธรรมการรักษา การอยู่อาศัย การอยู่ร่วมกันเป็นสังคมมายาวนานนับร้อยปี จะเอาจุดนี้มาเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบพื้นที่เพื่อการรักษาได้อย่างไร

วัฒนธรรมเตาไฟ หัวใจของชุมชน

พี่ตี๋อธิบายขั้นตอนในการขบคิดแก้โจทย์ทั้ง 3 ข้อ “เราเริ่มต้นจากการศึกษารากวัฒนธรรมของคนท้องถิ่นก่อน ชาวปกาเกอะญอมีวัฒนธรรมร่วมกันอย่างหนึ่ง คือการนั่งล้อมวงเล่นดนตรี ขับร้องบทเพลงอือทา พูดคุยเล่าตำนานคำสอนกันที่หน้า ‘เตาไฟ’

โรงพยาบาลวัดจันทร์,โรงพยาบาลชุมชน,ใจบ้าน สตูดิโอ,สถาปนิกชุมชน, ชาวปกาเกอะญอ

โรงพยาบาลวัดจันทร์,โรงพยาบาลชุมชน,ใจบ้าน สตูดิโอ,สถาปนิกชุมชน, ชาวปกาเกอะญอ

ในเมื่อเตาไฟคือศูนย์รวมจิตใจและการใช้ชีวิตของคนปกาเกอะญอ ดังนั้น นอกจากที่บ้านแล้ว เตาไฟน่าจะเป็นศูนย์กลางของผู้คนนอกบ้านได้ด้วย จึงเป็นที่มาของ ‘อาคารแม่เตาไฟ’ หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘อาคารสืบสานพระปณิธาน’ อาคารหลังใหม่ของโรงพยาบาลวัดจันทร์เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา”

อาคารหลังนี้มีฟังก์ชันคือเป็นที่พักคอยของญาติผู้ป่วย พื้นที่ประชุม นั่งรวมตัว พูดคุย จัดกิจกรรมอเนกประสงค์ของชาวบ้าน นอกจากนี้ ยังมีนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพ่อหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ชาวปกาเกอะญอรัก เคารพเหนือสิ่งอื่นใด และมีลานวัฒนธรรมข้างๆ อาคาร ให้บรรยากาศเหมือนข่วงลานในหมู่บ้านชาวเขาโรงพยาบาลวัดจันทร์,โรงพยาบาลชุมชน,ใจบ้าน สตูดิโอ,สถาปนิกชุมชน, ชาวปกาเกอะญอ

พี่ตี๋เล่าต่อว่า “บ้านของชาวเขาส่วนใหญ่สร้างด้วยเรือนไม้สน ช่วยให้ความอบอุ่นในฤดูหนาว ที่บ้านวัดจันทร์มีทั้งสนสองใบและสนสามใบ ตามปกติชาวบ้าวเขาจะตัดเฉพาะสนสามใบ ซึ่งเป็นสนต่างถิ่น ไม่มีผลต่อระบบนิเวศในป่า เป็นสนที่ชาวบ้านปลูกเอง ดูแลจนเติบโต และตัดมาใช้ประโยชน์ ส่วนสนสองใบจะอนุรักษ์ไว้”

สนสามใบจึงเป็นวัสดุหลักในการสร้างอาคารแม่เตาไฟ เพราะให้ความอบอุ่นตามภูมิปัญญาดั้งเดิม และหาได้ทั่วไปในผืนป่าสนบ้านจันทร์

นี่คือการสร้างโรงพยาบาลชุมชน ด้วยทรัพยากร แรงงาน และภูมิปัญญาที่มาจากผืนป่าสนบนดอยสูงอย่างแท้จริง

โรงพยาบาลวัดจันทร์,โรงพยาบาลชุมชน,ใจบ้าน สตูดิโอ,สถาปนิกชุมชน, ชาวปกาเกอะญอ โรงพยาบาลวัดจันทร์,โรงพยาบาลชุมชน,ใจบ้าน สตูดิโอ,สถาปนิกชุมชน, ชาวปกาเกอะญอ

“เราใช้ไม้ทุกต้นอย่างคุ้มค่าที่สุด เพราะเป็นไม้สนที่ชาวบ้านปลูก หวงแหนและตัดใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น” พี่ตี๋เอ่ยขึ้นอย่างหนักแน่น

“อาคารแม่เตาไฟจึงไม่ใช่แค่สถาปัตยกรรม แต่เป็นการส่งต่อองค์ความรู้ไปสู่คนรุ่นหลัง เป็นเครื่องมือทางวัฒนธรรมที่บอกเล่าความงดงามสมบูรณ์ของผืนป่า และภูมิปัญญาทรงคุณค่าของชาวปกาเกอะญอที่ซุกซ่อนอย่างเงียบสงบมาหลายร้อยปี”

โรงพยาบาลวัดจันทร์,โรงพยาบาลชุมชน,ใจบ้าน สตูดิโอ,สถาปนิกชุมชน, ชาวปกาเกอะญอโรงพยาบาลวัดจันทร์,โรงพยาบาลชุมชน,ใจบ้าน สตูดิโอ,สถาปนิกชุมชน, ชาวปกาเกอะญอ

นอกจากนี้ยังมีการวางแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินใหม่เอี่ยม ที่ทุกคนลงความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าต้องเก็บรักษาป่าอนุรักษ์ด้านหลังโรงพยาบาลไว้

ถัดจากป่าอนุรักษ์ไปคือลานกิจกรรม ที่คนทั่วไปสามารถขออนุญาตเข้ามากางเต็นท์ ก่อกองไฟ นอนกลางดิน กินกลางป่าสนได้

พื้นที่ด้านข้างของโรงพยาบาล กำลังถูกพัฒนาเป็นแปลงเกษตรอินทรีย์ สวนสมุนไพร และฝายชะลอน้ำ ที่ชาวบ้านมาร่วมด้วยช่วยขุด ฝัง ก่อ กันอย่างคึกคัก

โรงพยาบาลวัดจันทร์,โรงพยาบาลชุมชน,ใจบ้าน สตูดิโอ,สถาปนิกชุมชน, ชาวปกาเกอะญอ

โรงพยาบาลวัดจันทร์,โรงพยาบาลชุมชน,ใจบ้าน สตูดิโอ,สถาปนิกชุมชน, ชาวปกาเกอะญอ

ชาวปกาเกอะญอต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า โรงพยาบาลแห่งนี้คือศูนย์กลางความร่วมใจของทุกคนในท้องถิ่น และเรื่องราวการสร้างโรงพยาบาลในฝัน จะกลายเป็นนิทานบทที่ถ่ายทอดประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาของชนเผ่าที่นี่สืบไป

โรงพยาบาลในฝันของทุกคน

คุณหมอประจินต์เล่าให้ฟังถึงการทำงานกับชุมชนบนดอยว่า “กระบวนการมีส่วนร่วมเป็นเรื่องธรรมชาติของพื้นที่นี้อยู่แล้ว

“เวลาชาวบ้านจะทำหรือสร้างอะไรที่เป็นสาธารณะร่วมกัน ภาคเหนือเรียกว่า ‘ของหน้าหมู่’ ต้องได้รับการยอมรับจากคนหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้าน ผู้นำศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ เจ้าหน้าที่หน่วยงานป่าไม้ และนายอำเภอ ดังนั้นทุกขั้นตอน แม้แต่การขออนุญาตใช้ไม้ ก็มีการทำกระบวนการ ทำประชาคมกับหมู่บ้าน”

โรงพยาบาลวัดจันทร์,โรงพยาบาลชุมชน,ใจบ้าน สตูดิโอ,สถาปนิกชุมชน, ชาวปกาเกอะญอ

“การทำงานกับชุมชน จุดเน้นอยู่ที่ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ถ้าเราไม่เคยไปกินข้าว เยี่ยมบ้าน คลุกคลีกับเขา เพื่อพยายามเรียนรู้ว่าวิถีชีวิตเขาเป็นอย่างไร การนั่งล้อมวงกันอยู่หน้ากองไฟเป็นอย่างไร เราจะนึกภาพไม่ออกว่าชาวบ้านเขาอยู่กันอย่างไร ฉะนั้น ถ้าเราเข้าไปหาเขาถึงที่บ้าน การพัฒนาชุมชนก็เกิดขึ้นง่าย”

เรายิ้มไปกับแนวคิดแสนเรียบง่ายแต่ทรงพลัง ทุกอย่างบนโลกนี้ล้วนพึ่งพาอาศัยกัน เช่นเดียวกับผืนป่าและสิ่งมีชีวิตมากมายที่อยู่ภายใต้ร่มเงา

ความสำเร็จของภารกิจสร้าง ‘โรงพยาบาลในฝัน’ เกิดขึ้นได้จากความเป็นพลเมืองของทุกคน แม้เป็นเพียงคนตัวเล็กๆ เราก็สามารถใช้ศักยภาพของตัวเองสร้างสังคมที่ดีด้วยกันได้

กลุ่มสถาปนิกชุมชนต่างถิ่นเข้ามาช่วยก่อร่างสร้างฝัน ด้วยการใช้วิชาชีพออกแบบและก่อสร้าง

โรงพยาบาลรักษาเยียวยา มองเห็นคุณค่าและความสำคัญของชุมชน

ในขณะที่ชุมชนถ่ายทอดภูมิปัญญาที่ป่าเขาสั่งสอนมานานนับศตวรรษ เพื่อพัฒนาสิ่งที่ยั่งยืน

แม้ที่นี่จะไม่ใช่โรงพยาบาลที่ทันสมัยที่สุด ใหญ่โตที่สุด มีชื่อเสียงที่สุด แต่ที่นี่คือโรงพยาบาลในฝันของชาวบ้านจันทร์ทุกคน ตั้งแต่รากเหง้าใต้ผืนดิน จนถึงไอหมอกที่โอบกอดความอุดมสมบูรณ์ของป่าสนกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตาแห่งนี้เอาไว้

วัฒนธรรมเตาไฟ หัวใจแห่งการเยียวยา โรงพยาบาลวัดจันทร์เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา

โรงพยาบาลวัดจันทร์เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา กับเอกลักษณ์ที่ทรงคุณค่า "วัฒนธรรมเตาไฟ หัวใจแห่งการเยียวยา" การพัฒนาโรงพยาบาลจากความเข้าใจวิถีชีวิตของชนเผ่าปกาเกอะญอ เพื่อสร้างโรงพยาบาลที่ไม่เป็นเพียงสถานที่รักษา แต่ยังเป็นที่เรียนรู้สืบสานภูมิปัญญาในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติของชุมชน โดยการทำงานในครั้งนี้ ทีมสถาปนิก JaiBaan Studio ได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการออกแบบร่วมกับบุคลากรโรงพยาบาลและผู้คนในชุมชนพบกับสารคดีโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษาเพื่อชุมชนได้ ทั้ง 10 แห่งทั่วประเทศ สะท้อนเรื่องราวการทำงานจริงของบุคลากรทางการแพทย์ ท่ามกลางวิถีชีวิต วัฒนธรรม และการร่วมมือกันของคนในท้องถิ่น เป็นพลังแห่งการขับเคลื่อนโรงพยาบาลของชุมชนในทศวรรษที่ 2 ให้เข้มแข็งต่อไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงานนิทรรศการ "โรงพยาบาลชุมชนเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา โรงพยาบาลที่เป็นมากกว่าโรงพยาบาล" วันที่ 7-12 สิงหาคม 2561 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)#โรงพยาบาลวัดจันทร์เฉลิมพระเกียรติ๘๐พรรษา #โรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติเพื่อชุมชน #80CHC #BE4H #สสส #สิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างเพื่อสุขภาวะ

Posted by โรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติเพื่อชุมชน on Saturday, August 4, 2018

สารคดีและภาพ : ธาริต บรรเทิงจิตร, ภาสุร์ นิมมล, รัฐ รุ่งเรืองตันติสุข และ วีระชัย จิ๋วเจริญ

การออกแบบอย่างมีส่วนร่วมของสถาปนิกชุมชน บุคลากรการแพทย์ และชาวบ้านท้องถิ่น ในการปรับปรุงการใช้ประโยชน์ที่ดิน และสร้าง ‘อาคารสืบสานพระปณิธาน’ อาคารหลังใหม่ของโรงพยาบาลชุมชนทั้ง ๑๐ แห่ง ตั้งอยู่ในพื้นที่ๆ แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ตั้งแต่ป่าสนบนดอยที่จังหวัดเชียงใหม่ จนถึงชุมชนมุสลิมเก่าแก่ที่จังหวัดนราธิวาส 

ดำเนินการโดยกลุ่มความร่วมมือภาคีเครือข่าย กองแบบแผน สังกัดกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข และกลุ่มวิจัยสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างเพื่อสุขภาวะ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

Facebook: โรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติเพื่อชุมชน

Writer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน