“ผีเสื้อสายพันธุ์ Monarch สีส้มดำ เดินทางจากแคนาดา ผ่านอเมริกา ลงไปเม็กซิโก แล้วรุ่นลูกหลานของมันจะเดินทางกลับจากเม็กซิโกถึงแคนาดา ต้องใช้เวลาประมาณ 3 – 4 รุ่นเพื่อจะถึงแหล่งเกิดของบรรพบุรุษ สัตว์มีสัญชาติญาณ มันมีดีเอ็นเอนำทางว่าต้องกลับสู่บ้านเก่าของมัน”
เอ็มโซเฟียน เบญจเมธา เปรียบตัวเองกับแมลง จากทุ่งนาบ้านปาลัสสู่ตัวเมืองปัตตานี วิทยาลัยเทคนิคยะลา และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ในกรุงเทพฯ เขาออกห่างจากบ้านเกิดที่อำเภอปะนาเระมากขึ้นทุกที
หลังซึมซับความรู้เรื่องสถาปัตยกรรมจนเต็มอิ่ม สถาปนิกหนุ่มโบยบินไปไกลถึงฝรั่งเศส เรียนภาษาใหม่ คว้าความรู้ใหม่ด้านศิลปะภาพพิมพ์และการออกแบบเฟอร์นิเจอร์จากสถาบันศิลปะที่แวร์ซายส์และปารีส
4 ปีถัดมา เขาทิ้งประกาศนียบัตรทุกใบ เก็บเพียงความรู้ใส่กระเป๋ากลับเมืองไทย แต่ทำงานออกแบบในกรุงเทพฯ ได้เพียงปีสองปีเท่านั้น เสียงเพรียกจากในตัวร้องบอกซ้ำๆ เหมือนผีเสื้อจักรพรรดิที่ต้องกลับถิ่นกำเนิด เหมือนปลาแซลมอนที่ต้องว่ายทวนน้ำกลับไปวางไข่
มันเรียกร้องให้เขากลับบ้าน
เอ็มโซเฟียนกลับมาสร้างรังในอ้อมกอดของครอบครัวและการสนับสนุนของพ่อแม่ บนพื้นที่ 5 ไร่ ที่ล้อมด้วยทุ่งนา เริ่มจากโรงงานเซรามิกเบญจเมธา เปลี่ยนผลผลิตดินปัตตานีจากอิฐมอญที่มีค่าเพียงก้อนละ 1 บาท เป็นสินค้างานปั้นสวยอ่อนโยนที่ได้รางวัลระดับประเทศหลายครั้ง ตามด้วยฟาร์มแพะ ‘กำปงปาลัส’ แพะสีหมอกคุณภาพดีที่เขาเพาะสายพันธุ์ขึ้นใหม่ตามชื่อชุมชน
10 ปีหลังจากกลับปัตตานี บ้านของเขากลายเป็นศูนย์สร้างแรงบันดาลใจที่ใครต่อใครแวะมาเยี่ยมเยือนเมื่อมาถึงปลายด้ามขวาน
บนชานเรือนไม้ติดครัวที่เจ้าบ้านออกแบบเอง เอ็มโซเฟียนต้มกาแฟตุรกีให้ลิ้มลอง ส่วน แอนนา-ภรรยาของเขาชงชาต้อนรับใส่กาเซรามิกใบงาม แถมแม่ของเขายังทำ ‘ตูปะซูตง’ ปลาหมึกยัดไส้ข้าวเหนียวต้มกะทิมาให้ชิม ของว่างสีชมพูของปัตตานีคล้ายกับ Ikameshi หมึกไส้ข้าวของฮอกไกโดและรสชาติก็อร่อยมากไม่แพ้กัน
เรานั่งลงสนทนาเบื้องหน้าทุ่งเขียว ภูเขา เปลญวน และพระอาทิตย์ที่คล้อยต่ำ ท่ามกลางทิวทัศน์ที่เหมือนภาพวาด แว่วเสียงแพะร้องคลอเบาๆ ฉันตระหนักได้ทันทีว่าทำไมเขาตัดสินใจกลับบ้าน แม้เคยออกไปไกลนับร้อยพันกิโลเมตร แม้เคยได้สัมผัสรสชาติของอีกซีกโลก
สวรรค์อยู่ที่นี่
มาจากดิน อยู่กับดิน กลับสู่ดิน
ตามความศรัทธาของศาสนาอิสลามที่ศรัทธาในพระเจ้าองค์เดียว มนุษย์ถูกสร้างจากดิน เมื่อตายจึงต้องฝังลงดิน
สำหรับเอ็มโซเฟียน ยิ่งพูดได้เต็มปากว่าเขามาจากดินจริงๆ เพราะพ่อของเขานอกจากเป็นหมอชุมชนแล้ว ยังเคยทำธุรกิจโรงอิฐมอญจากดินชุมชน ดินของปัตตานีเหนียว แน่น เผาแล้วแดงสวย คนนิยมนำไปทำอิฐสร้างบ้าน แต่สมัยก่อนอิฐก้อนละ 1 กิโลกรัมมีค่า 1 บาท ทุกวันนี้อิฐมอญยังราคาเพียงบาทเศษ หลายบ้านจึงเลิกกิจการ เนื่องจากการแข่งขันลดราคาและคุณภาพ พ่อจึงตัดสินใจเลิกกิจการไปด้วย ความรู้เรื่องการทำงานกับดินที่ปัตตานีจึงค่อยๆ หายไป
“ตอนเรียนออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่ปารีส ผมเห็นจานเซรามิกทำมือในบ้านเพื่อนที่เรียนเซรามิก รู้สึกเซอร์ไพรส์มากว่าเขาทำจานเองได้ ชอบมาก ไม่เคยเห็นเลยว่าเซรามิกทำมันทำอะไรยังไง ก็เริ่มสนใจและเก็บความสนใจไว้ตั้งแต่ตอนนั้น
“พอกลับมาทำงาน เจอพี่ติ้ว (วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ศิลปินศิลปาธร สาขาการออกแบบ เจ้าของโรงงานเครื่องปั้นดินเผาเถ้าฮงไถ่ จังหวัดราชบุรี) ยิ่งสนใจดิน เพราะวัตถุดิบที่ผมคิดว่าน่าสนใจที่สุดคือ วัตถุดิบที่หาได้ใกล้ตัวมากที่สุด วัตถุดิบเดียวที่หาได้ทุกพื้นที่บนโลกใบนี้ก็คือดิน ใต้ฝ่าเท้าเรายังไงก็ต้องมีดิน ผมเลยตั้งใจกลับมาพัฒนาดินในพื้นที่ให้มีมูลค่ามากขึ้น อยากทำเซรามิก เพราะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังไม่มีใครทำมาก่อน”
เอ็มโซเฟียนเรียนพื้นฐานการทำเซรามิกระยะสั้นที่ลำปาง แล้วตัดสินใจซื้อดินแม่ริม 2 ตันจากเชียงใหม่มาปั้นภาชนะในช่วงเริ่มต้น เหตุผลที่ต้องใช้ดินและความรู้จากภาคเหนือ เพราะวัฒนธรรมชาวใต้เข้าใจดินเผา แต่ไม่มีรากเรื่องเซรามิกที่ต้องใช้ความร้อนในการอบสูงกว่าเท่าตัว ผู้คนไม่ค่อยใช้เซรามิก หากใช้ก็นำเข้าจากต่างเมืองทั้งหมด
“ตอนแรกเราไม่ต้องทำอะไรมากมาย แค่ปั้นๆ แล้วก็เผาได้เลย ต่อมาเราก็คิดว่ามันน่าภูมิใจเหรอ ต่อให้เป็นดินที่สวยแค่ไหน ดีแค่ไหน ก็ไม่ใช่ดินพื้นบ้านเรา แล้วเราก็เชื่อว่าดินของเรามันมีเรื่องราวเชื่อมโยงกับวิถีชีวิต ก็เลยเอาดินพ่อนี่แหละมาพัฒนาสร้างโครงสร้างใหม่ ควักดินทุ่งนามาผสมกับทรายทะเล หลังภูเขาบ้านเรามีหาดทรายแฆแฆ เราจับคาแรกเตอร์หาดมาสร้างเรื่องราว แล้วเราก็ได้ดินขาวจากนราธิวาสมาด้วย มันทำให้เซรามิกแกร่งขึ้น”
เอ็มโซเฟียนยื่นถ้วยชาสีอ่อนกับถ้วยกาแฟสีเข้มให้พิจารณา นักออกแบบเปรียบเทียบว่าเหมือนสาวเหนือกับสาวใต้ ดินเหนือเนื้อเนียน สีออกขาวสะอาด ดินใต้สีเข้มผสมเนื้อทราย จงใจจุ่มเคลือบไม่หมดทั้งใบ เพื่อให้เราได้สัมผัสสัจจะของวัสดุและความงามแท้จริงของดินปลายด้ามขวาน
“ณ เวลานั้น พอเสิร์ชคำว่า ‘ปัตตานี’ ในอินเทอร์เน็ต มีแต่ข่าวความรุนแรง ผมเห็นว่า เฮ้ย บ้านเราไม่ใช่แบบนี้ บ้านเราเป็นแบบนี้ต่างหาก”
ชาวปาลัสผายมือไปที่ทุ่งนางามสงบ
“ส่วนมากผมไม่พูดเรื่องสันติภาพ ไม่ต้องตอกย้ำหรอก ผมอยากทำงานบางอย่างเพื่อทำให้คนข้างนอกเสิร์ชคำว่าปัตตานีแล้วเห็นสิ่งดีงาม เห็นของสวยๆ อยากให้เห็นว่าวิถีที่ละเอียดอ่อนประณีตแบบนี้จะมาจากพื้นที่ที่มีความรุนแรงได้ยังไง ถ้าพูดว่าบ้านเราดีอย่างงู้นอย่างงี้ ใครจะฟังใช่ไหม สู้ทำงานเงียบๆ ให้ผลลัพธ์ออกไปเองดีกว่า”
เซรามิกเบญจเมธานำเสนอธรรมชาติ สันติภาพ และจิตวิญญาณมลายูเต็มเปี่ยม เอ็มโซเฟียนพบว่าเขาไม่ต้องวิ่งออกไปตามหาเอกลักษณ์การดีไซน์ที่ไหนเมื่ออยู่ที่มาตุภูมิ งานดีไซน์ของเขากวาดรางวัลจากทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เช่น Gmark, DEmark และ Designer Of The Year
“งานเซรามิกนี้ ที่อื่นเขาทำมานานแล้ว จะทรงจะอะไรเขาก็ทำกันมาหมด ไม่มีทางที่เราจะไม่เหมือนใครเลย แต่ที่งานผมเป็นแบบนี้ มันเกิดจากการเดินทางและตกผลึกอัตลักษณ์บ้านเกิด และเข้าใจศักยภาพของชุมชนตัวเอง ผมตั้งใจสื่อภูมิปัญญาเก่าๆ ในพื้นที่ แต่เราก็จะไม่อนุรักษ์ไดโนเสาร์ ไม่ยึดติดหรือภาคภูมิใจกับความรุ่งเรืองในอดีต เราต้องเดินหน้าทำอะไรใหม่ๆ เมื่อ 300 – 400 ปี เขาทำอะไรมา เราเพียงถอดบทเรียน และต้องสร้างนวัตกรรมใหม่ให้พื้นที่เพื่ออีก 300 ปีข้างหน้า เป็นวงจรชีวิตที่ต้องพัฒนาให้ไกล แล้วมันจะกลับสู่รากเหง้าที่แข็งแรง มีเอกลักษณ์”
เราลุกออกเดินชมโรงงานเซรามิกอย่างกระตือรือร้น ของใช้ในครัวเรือนและของตกแต่งบ้านเซรามิกแต่ละชิ้นของดีไซเนอร์มุสลิมดูเรียบง่าย เน้นฟังก์ชันใช้สอยได้จริง ไม่ฟุ่มเฟือยตามหลักการของอิสลาม แต่ไม่พูดถึงศาสนาจนกลายเป็นของตั้งโชว์จับต้องไม่ได้ ตัวอย่างผลงานของเขา ได้แก่ หม้อใส่อาหาร ที่จับฝาเป็นไม้ทรงด้ามกริชมลายู จานใส่โรตีที่มีด้ามจับไม้ทรงจุกกรงนก ชามลายตัวอักษรอารบิก ชุดถ้วยจานรองที่มีหิน 2 ก้อนจากหาดแฆแฆ ถ้วยทรงเสื้อกุรงของผู้หญิงมุสลิม กระถางต้นไม้ทรงต้นโกงกางบางปู และสารพัดงานปั้นดินที่สะท้อนธรรมชาติและวัฒนธรรม
ผลงานปั้นเหล่านี้เป็นฝีมือของเอ็มโซเฟียนและพนักงานชาวปัตตานีที่นักออกแบบรับเข้าทำงานโดยไม่เกี่ยงวุฒิหรือประสบการณ์งานฝีมือ คุณสมบัติเดียวที่ต้องการคือมีคุณธรรม โรงงานเบญจเมธาเลยรับคนขับรถตู้ พนักงานขายรองเท้า ไปจนถึงนักทำโรตี (เพราะนวดแป้งได้ น่าจะนวดดินดี) เข้ามาทำงาน แถมยังส่งงานอื่นๆ เช่น ด้ามจับไม้ เครื่องปั้นดินเผา ไปให้ช่างฝีมืออื่นๆ ในพื้นที่เพื่อกระจายรายได้ให้ชุมชน
“คติที่นี่คือ มาจากดิน อยู่กับดิน กลับสู่ดิน ไม่ใช่แค่ไปจับปั้นดินเซรามิก แล้วก็เลอะๆ กลับสู่ดิน แต่สิ่งที่ได้มันเริ่มตั้งแต่จับดิน จับให้เป็นปรัชญาชีวิต ตั้งแต่ได้ดินมา ไม่ใช่จุ่มๆ น้ำ ผสมน้ำ แล้วก็ปั้นได้เลย ต้องหมักให้มันเหนียวพอ แล้วก็ขึ้นรูป หาจุดศูนย์กลางเพื่อให้มันนิ่ง กว่าจะปั้นได้ มันต้องได้ศูนย์ ต้องได้สมดุลก่อน มีปรัชญาตลอดจนถึงกระบวนการเผา ต่อให้ปั้นเหมือนกันหมด แต่สุดท้ายออกมาใบนี้แตก ใบนี้สวย ใบนี้ไม่สวย ไม่มีใบไหนเหมือนกันเลย”
เสียงรถตู้โรงเรียนแล่นเข้ามา ตามมาด้วยเสียงหัวเราะของเด็ก ลูกๆ ของเอ็มโซเฟียนทยอยลงจากรถตู้ เขาหันหน้าไปมองต้นเสียงแล้วยิ้ม
“มันเป็นไปไม่ได้ที่จะบังคับให้ทุกคนเข้าใจเหมือนกัน ดังนั้น คำว่า มาจากดิน อยู่กับดิน กลับสู่ดิน คุณจะตีความยังไงก็ได้ตามวุฒิภาวะของคุณเวลานั้น”
ปั้นบ้าน
เอ็มโซเฟียนและแอนนามีลูกชาย 3 คน อยู่ในวัยประถมจนถึงอนุบาล
เอ็มอิคลาส หมายถึง ความบริสุทธิ์ใจ
เอ็มอิฮซาน หมายถึง ความดีที่แม้คนทั่วไปไม่เห็น แต่พระผู้เป็นเจ้ามองเห็น
เอ็มอิตกอน หมายถึง ความพิถีพิถัน ความละเอียดอ่อนในการดำรงชีวิต
ชื่อของทั้งสามคือหัวใจในการทำงาน และทั้งสามคนเป็นหัวใจที่ขับเคลื่อนความหมายของชีวิตพ่อแม่ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการกลับบ้านของเอ็มโซเฟียน
“คนเราต้องการกลับบ้าน พูดไปก็เหมือนชมบ้านตัวเอง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่เราจำเป็นต้องชมบ้านตัวเอง มีความสุขกับบ้านของเรานะ (หัวเราะ) ที่นี่มันพร้อมมาก มีวิถีพหุวัฒนธรรมทั้งคนมุสลิม คนพุทธ คนจีน ผมก็มาจากทุกเชื้อชาตินี้เลย เราเห็นว่าทุนทางวัฒนธรรม ทุนทางองค์ความรู้ ทุนทางปัญญา ทุนทางสิ่งแวดล้อม ทุกอย่างมันเชื่อมโยงกันที่ปัตตานี ผมถึงต้องกลับบ้านมาสร้างครอบครัว มาแต่งงานมีลูกที่นี่”
นักออกแบบมองว่า ระบบที่คนหนุ่มสาวต้องไปเรียนหรือทำงานไกลบ้านเป็นระบบที่ไม่ยั่งยืน การกลับไปเยี่ยมบ้าน เมื่อพ่อแม่เจ็บป่วยหรือรู้สึกคิดถึงบ้านไม่ใช่เรื่องถูกต้อง และชีวิตในเมืองหลวงต้องพึ่งพาคนอื่นมากเกินไป
“ผมให้ความสำคัญกับสัญชาตญาณเชิงบวก สรรพสัตว์ทั้งหลายเอาตัวรอดด้วยการใช้สัญชาตญาณพึ่งพาตนเอง นกออกมาทำรังเอง แมงมุมสร้างรังเอง ผึ้งสร้างรังเอง ไม่มีใครสอน มันมีสัญชาตญาณทำเองได้ แต่ทำไมมนุษย์ที่คิดว่าฉลาดที่สุดแล้วกลับต้องเอาตัวรอดด้วยการพึ่งพาคนอื่นทุกอย่าง
“เราจะกินข้าวเราก็ให้ชาวนาปลูกข้าว เราจะสร้างบ้านเราก็จ้างคนอื่น ต่อให้เราเป็นสถาปนิกดัง เราก็ให้สถาปนิกคนอื่นมาช่วยออกแบบบ้านเรา หรือถ้าเราเรียนดีไซน์อย่างดี สุดท้ายเราก็ไปซื้อดีไซน์ของดีไซเนอร์ดังๆ ที่เราชื่นชอบเอามาไว้ที่บ้าน คุณเรียนออกแบบทำไม ถ้าคุณไม่ทำสิ่งที่คุณทำเองได้
“ผมรู้สึกว่ามันแปลกๆ เลยคิดว่าถึงเวลาที่เราต้องคิดใหม่ พึ่งพาตนเองให้ได้ ไม่ใช่แค่สร้างบ้าน อาหารการกินเราก็ต้องเริ่มจัดสรร วางแผนเอง แม้กระทั่งวิถีศาสนาที่เราก็ต้องเลือกเอง ไม่ใช่เลือกตามบัตรประชาชนพ่อแม่ ผมศึกษาทั้งพุทธ ทั้งคริสต์ ทั้งอิสลาม จนมั่นใจว่าครั้งนี้รอบนี้ผมเลือกอิสลามด้วยตัวผมเอง แล้วเข้าใจไปถึงแก่น ไม่ใช่เข้าใจแบบเปลือกๆ ในขณะเดียวกันเราก็ได้เรียนรู้คนอื่น
“หลายศาสนาสอนเรื่องนรกสวรรค์เหมือนกัน แต่คนนิยามไม่เหมือนกัน ผมคิดว่าสวรรค์เป็นพื้นที่หนึ่ง เป็นบ้านในอุดมคติของเรา สันติ สวยงาม ไม่มีสิ่งไม่ดี เราอยากไปมุ่งตรงนั้น ผมคิดว่าที่นั่นคือบ้านเก่าของเราทุกคน ที่เราพยายามทำความดีทุกวัน เรายังคาดหวังว่าจะได้กลับบ้านเดิมคือสรวงสวรรค์”
ก่อนไปถึงบ้านเดิมหลังนั้น เอ็มโซเฟียนพยายามทำบ้านปัจจุบันของเขาให้ดีที่สุด เขาออกแบบทุกมิติของบ้าน โครงสร้างอาคาร การทำงาน การเลี้ยงลูก และการอยู่ในสังคมอย่างพิถีพิถัน
“ผมจะได้รางวัลดีไซน์ไปทำไมถ้าครอบครัวผมไม่ยอมรับ ชุมชนผมไม่ได้ประโยชน์ ผมอยากปลูกฝังความหวงแหนบ้าน จิตสำนึกที่อยากทำอะไรใหม่ๆ ให้บ้านกับลูก พวกเขาควรมีไอเดียนวัตกรรมให้กับชุมชน และผมต้องทำให้สังคมลูกผมให้ดี ถ้าเราสอนลูกดี แต่ว่าเขาไม่มีสังคม คุณจะสอนลูกดีเพื่ออะไร ถ้าคุณไม่ได้สร้างพื้นที่ที่ดี พัฒนาชุมชนที่อยู่ให้ดี ความเห็นแก่ตัวของคุณอาจจะฆ่าลูกคุณด้วยซ้ำ ถ้าคุณรักลูก คุณก็ต้องสร้างบริบทที่มีแต่คนดีด้วยตัวเองเพื่อให้ลูกๆ อยู่ตรงนั้นให้ได้
“ลูกผมไม่ได้เรียนโฮมสคูล พวกเขาเรียนในโรงเรียนที่อยู่ในชุมชนข้างๆ เพราะผมอยากให้พวกเขามีเพื่อนที่อยู่ในชุมชนนี้ วันหนึ่งเขาจะไปพัฒนาชุมชน เขาจะมีเพื่อนในชุมชนนี้ด้วยกัน ต่างจากผม สมัยก่อนไปเรียนถึงในตัวเมือง ทุกวันนี้เพื่อนตั้งแต่ ป.1 – ป.6 ไม่รู้อยู่ไหน ไม่รู้จักและไม่ได้ทำอะไรด้วยกันเลย”
เด็กๆ ออกไปวิ่งเล่นในทุ่งหญ้าและเล่นกับแพะ พ่อของเด็กชายทั้งสามเดินนำไปพื้นที่สีเขียวตรงข้ามโรงงานเซรามิก
เดินดิน
เดินดินลิตเติ้ลฟาร์ม คือฟาร์มแพะเล็กๆ ที่เอ็มโซเฟียนกำลังเพาะสายพันธ์ุ ‘กำปงปาลัส’ แม้เซรามิกจะฟังดูห่างไกลจากการเลี้ยงแพะ แต่การทำงานกับดินทำให้เอ็มโซเฟียนสนใจเกษตรกรรม
การเลี้ยงแพะเลี้ยงแกะอยู่ในวิถีชีวิตคนมลายูเป็นทุนเดิม 2 ปีก่อน เขาค้นพบปัญหาว่าแพะตัวเล็กสายพันธุ์พื้นเมืองกลายพันธุ์เป็นแพะผอมแคระแกร็นไปหมด ส่วนแพะตัวใหญ่ที่คนนิยมเลี้ยงราคาแพง และมีค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงมาก ชาวบ้านทั่วไปซื้อไม่ไหว วิถีและการทำกุรบานเพื่อพระเจ้า หรือการเชือดสัตว์พลีทาน บริจาคเนื้อแก่ผู้ขัดสนยากจนในวันรายออีดิ้ลอัฎฮา (วันเฉลิมฉลองในวิถีอิสลาม) ซึ่งเป็นทานบริจาคที่ศาสนาส่งเสริม รวมถึงวิถีหลายๆ อย่างจึงค่อยทยอยหายไป
“แพะตัวใหญ่น้ำหนักปาเข้าไปประมาณ 40 – 50 กิโลกรัม ปกติแพะพื้นเมืองอยู่ที่ 15 – 25 กิโลกรัม แค่นี้เอง พอมันแพง ชาวบ้านก็ไม่กล้าซื้อ วิถีก็สูญหาย แพะก็ค้างสต็อก ผมเลยคิดว่าจะเริ่มกลับมาพัฒนาสายพันธุ์ขึ้นมาใหม่ สร้างการจัดการที่ดี เลี้ยงแบบไม่ปล่อยปละละเลย เราไปเลือกแพะสายพันธุ์ดีๆ ที่ตรงกับอุดมทัศนีย์ในแพะสมัยก่อนมาเก็บไว้ เช่น ตัวเล็ก หูตั้ง แล้วก็ตั้งใจเพาะให้เป็นสีเทาเท่านั้น จะได้เป็นเอกลักษณ์ของแพะกำปงปาลัส กำปงแปลว่า หมู่บ้าน ส่วนปาลัสก็คือที่นี่”
เอ็มโซเฟียนก้มลงลูบพ่อแพะสีดำเทา แพะทุกตัวที่นี่สะอาดแข็งแรง พวกมันออกไปกินหญ้าในทุ่งของเขา และตอนเย็นก็รู้จักเดินกลับขึ้นเรือนนอนด้วยตัวเอง เจ้าของฟาร์มเดินดินตั้งใจเพาะทั้งพันธุ์แพะสีหมอกปาลัสสำหรับมืออาชีพ และแพะราคาย่อมเยาคุณภาพดีให้เลี้ยงอย่างแพร่หลายในชุมชน
“แพะสอนให้เราใจเย็น อ่อนน้อมถ่อมตน อดทนกับมัน เรื่องที่น่าสนใจคือบรรดาศาสนทูตทั้งหมด ตั้งแต่อับราฮัม โมเสส พระเยซู นบีมุฮัมมัด เคยเป็นเด็กเลี้ยงแพะเลี้ยงแกะ ผมเลยสนใจว่า ทำไมทำไมเหล่าบรรดาศาสนทูต บุรุษที่ยิ่งใหญ่ต้องผ่านการเลี้ยงแพะเลี้ยงแกะ มันสอนวิธีดูแลประชาชาติ พอเราเลี้ยงแพะนี่รู้เลยว่า แพะนี่มันดื้อนะ มันสอนเรา สิ่งนี้พ่วงอยู่กับวิถีชีวิตของบ้านเรา พ่วงกับคำสอนในอัลกุรอาน ‘บ่าวของผู้ทรงเมตตา คือผู้ที่เดินบนหน้าแผ่นดินอย่างถ่อมตน’ ผมเลยใช้คำว่า เดินดิน เหมือนกับการตอกย้ำตัวเองว่าเดินบนหน้าแผ่นดิน จงอย่าลืมตีน ต้องถ่อมตนและเป็นประโยชน์ต่อแผ่นดิน”
เจ้าของฟาร์มแพะเสริมว่าเร็วๆ นี้ ผลผลิตสดใหม่จากฟาร์ม ไม่ว่าจะเป็นเนื้อแพะ นมแพะ จะแปรรูปเป็นเมนูในร้าน ‘เดินดิน’ ร้านที่เสิร์ฟ Earthly Experience ทั้งความเป็นธรรมชาติ รวมถึงรสชาติอื่นๆ ที่เขาได้เรียนรู้จากการเดินทางไปหลายประเทศ เช่น ขนมปังฝรั่งเศส หรือชาตุรกี
ง้างคันธนู
แดดเริ่มร่ม ลมเริ่มตก เอ็มโซเฟียนตอบข้อสงสัยว่าแผ่นฟางสี่เหลี่ยมเหมือนเฟรมผ้าใบที่ตั้งอยู่กลางทุ่งหญ้าของเขาคืออะไร มันคือเป้ายิงธนูประดิษฐ์เอง เขาสนใจกีฬาเก่าแก่นี้มาก เริ่มจากฝึกด้วยตัวเอง จนถึงขั้นเดินทางไปแข่งที่ตุรกี และเรียนวิชายิงธนูจากทายาทรุ่นที่ 68 ของขงจื๊อที่เมืองจีน
“วิถีมุสลิมให้ความสำคัญกับกีฬายิงธนู ขี่ม้า และว่ายน้ำ เพราะสมัยก่อนผู้ชายต้องฝึกฝนศิลปะการต่อสู้ รู้จักป้องกันตัวเอง ปกป้องบ้านเมือง มันเป็นสัญลักษณ์ความเป็นชาย แต่สิ่งที่เราได้จากธนูยุคนี้ ไม่ใช่การล่าสัตว์ ไม่ใช่การต่อสู้ฆ่าฟัน เพราะคุณก็ใช้ปืนยิงต่อสู้กันได้อยู่แล้ว ธนูมีปรัชญาคุณธรรมมากกว่านั้น”
ชาวปัตตานีอธิบายต่อว่า กีฬายิงธนูก็เหมือนเซรามิก แม้เป็นวัฒนธรรมที่แพร่กระจายไปทั่วโลก แต่ก็เป็นของที่คนมลายูไม่คุ้นเคยมาก่อน ถึงอย่างนั้น เขาก็อยากเปิดสอนยิงธนู และทำธนูของปัตตานีขึ้นมาเอง
“ปรัชญาหนึ่งของขงจื๊อก็บอกว่า จงส่งเสริมลูกหลานไปยิงธนูและเรียนหนังสือ ตอนผมไปเรียนที่สำนักเจิ้นจี่ ครูขงบอกว่าเอามาแล้วก็ถ่ายทอดนะ ใส่ความเป็นอิสลามของพวกเธอไปเลย ไปสอนเด็กใหม่ให้เริ่มพื้นฐานการยิงธนูที่ถูกต้อง เขาบอกว่าคุณธรรมสำคัญกว่าทักษะทุกอย่าง ธนูคือสื่อนำคุณธรรมอย่างหนึ่ง เราไม่ได้ไปเรียนเพื่อแข่งขันกัน ธนูของเราไม่ใช่ธนูสายโมเดิร์นที่แข่งขันเพื่อเอาชนะกัน แต่เราสร้างค่านิยมเรื่องการฝึกจิตใจ ฝึกปรัชญา ได้มิตรภาพ”
เอ็มโซเฟียนเดินไปหยิบธนูและซองธนู 2 ชุดพร้อมลูก ซองของเขาทำจากหนังวัวที่ตอกเอง อีกซองเป็นกระจูดสานสีม่วงคาดสายหนัง สั่งทำพิเศษเพื่อใช้สอนแขกที่มาเยือน
เขาหยิบธนูมาพาดสายแล้วง้างคันธนูเป็นตัวอย่าง ดอกแล้วดอกเล่าพุ่งตรงเข้าเป้า
“ธนูก็ทำให้รู้จักตัวเอง รู้จักชีวิต ครูบอกว่าทุกการกระทำเหมือนกับการปล่อยธนู ถ้าไม่โดน เราอ้างว่าวางมือผิด ลูกธนูเบี้ยว คันธนูไม่ดี เป้าไกลเกินไป แต่พอวันหนึ่งที่เราเก่ง เราจะไม่โทษอย่างอื่น ทุกอย่างมันอยู่ที่เราหมดเลย สิ่งที่เราทำทั้งหมดขึ้นอยู่กับตัวเองทั้งนั้น เหมือนที่ท่านนบีมุฮัมมัดสอนว่าทุกผลกรรมขึ้นอยู่กับเจตนา สิ่งสำคัญของการยิงธนูสองอย่าง คือ จิตใจต้องสงบและร่างกายต้องพร้อม แล้วก็ให้เราควบคุมธนู อย่าให้ธนูควบคุมเรา
“มันเหมือนกับเวลาปั้นดิน ผมพยายามเชื่อมโยงหมดสิ่งที่ทำ เวลาเราตั้งศูนย์ดินเซรามิก มันจะส่ายไปเรื่อยๆ ถ้าเราไม่ผลัก ไม่ดัน ไม่พยายามประคองมัน เหมือนการคุมร่างกายด้วยจิตใจ เมื่อไหร่ร่างกายอยากทำความชั่ว ให้จิตใจมันห้ามปรามไว้
“ส่วนมากไม่ได้เรียนเรื่องธนูมากมายหรอกครับ แต่เรียนเรื่องสิ่งที่ได้จากธนู เช่น ความถ่อมตนทำให้คนก้าวหน้า แต่ความทะนงตนทำให้คนถอยหลัง ผมไปวันแรก ยิงโชว์ว่าแม่น แกทักเลยว่า อย่าทะนงตน แต่ สอง แกบอกว่าอย่ากลัว อย่าประหม่า พอใครติใครว่าอะไรก็อย่ากังวลมาก สุดท้าย สาม จิตใจต้องสมดุล ยิ่งเรียนรู้เท่าไหร่ ก็จะมีทักษะการยืดหยุ่นที่ถูกจังหวะถูกเวลามากขึ้นเท่านั้น
ได้เวลาให้แขกที่มาเยี่ยมลงมือยิงธนูเองบ้าง สิ่งสำคัญที่เขาย้ำอันดับแรกคือความปลอดภัย จับคันธนูให้มั่น พาดลูกธนูบนสาย ตั้งสมาธิแล้วดึงแขนไปด้านหลัง…
ลูกธนูพุ่งฉิวไปปักฉึกบนเป้าฟาง แม้ห่างใจกลางเป้าไปไกล อย่างน้อยก็ยังถึงจุดหมาย
เจ้าบ้านพยักหน้าให้กำลังใจ
“เวลาฝึกฝน ครูบอกว่าให้เสียเหงื่อเยอะๆ เพราะเวลาสงครามจะได้เสียเลือดน้อยๆ”
เราทั้งหมดต่างฝึกยิงจนลูกธนูหมดซอง ถึงแขนตึงล้า แต่สนุกกับกีฬานี้เต็มที่
เสริมสร้างแรงบันดาลใจ
ตกค่ำ ไฟที่ชานเรือนไม้สว่างขึ้น แอนนาเตรียมกับข้าวอยู่ในครัวที่อยู่ติดกัน เอ็มโซเฟียนกลับมาพร้อมใบตองสะอาด 2 ใบ เขาปูใบไม้ยักษ์เต็มโต๊ะไม้บนชานเรือน แล้วเริ่มตักกองข้าวสวยลงบนใบสีเขียวเท่าจำนวนสมาชิกในบ้านและแขกที่มาเยือน ภรรยาของเขาออกมาสมทบด้วยหม้ออาหารหอมฉุย
อาหารมื้อนั้นเรียบง่าย แต่งดงามและน่าจดจำอย่างยิ่ง เราเปิบเนื้อและตับทอดกระเทียม ผัดผักบุ้ง และแกงปลา ภาชนะที่ใช้มีเพียงขวดใส่น้ำดื่มบาดาลปาลัส และถ้วยเซรามิก
บ้านเบญจเมธากินข้าวเปิบมือ เพราะอยากให้ลูกๆ ได้รักษาวัฒนธรรมการกินแบบมลายูและอยู่กับธรรมชาติ นิ้วได้รู้จักอุณหภูมิอาหารก่อนส่งเข้าปาก ข้าวแต่ละคำในมือทำให้จดจ่อกับมื้ออาหาร และยังเป็นการฝึกใช้มือเต็มที่ สมกับเป็นลูกของช่างปั้น
เอ็มอิคลาส เอ็มอิฮซาน และเอ็มอิตกอน นั่งกินข้าวกับพ่อแม่อย่างเรียบร้อยจนอิ่ม แม้แต่เจ้าตัวเล็กที่อยู่ชั้นอนุบาล 3 ยังช่วยเหลือตนเองได้ดี เมื่อจบมื้อ ใบตองจะถูกนำไปล้างสะอาดและส่งต่อให้เป็นอาหารแพะ เป็นระบบรักษาสิ่งแวดล้อม ไม่เหลือขยะใดๆ อย่างน่าประทับใจ
หลังกินข้าวเป็นเวลาละหมาด ขณะที่เอ็มโซเฟียนนำลูกๆ ทำความเคารพพระเจ้าอย่างพร้อมเพรียงบนชานเรือน ใต้แสงจันทร์และแสงไฟจาง ภาพครอบครัวแสนสุขที่ปรากฏเบื้องหน้าดูเหมือนภาพวาด แม้ไม่คุ้นเคยกับการปั้นเซรามิก การเลี้ยงแพะ การยิงธนู หรือวิถีมุสลิม แต่บทเรียนของวันนี้ทำให้ฉันรู้สึกอบอุ่น เป็นสุข และฮึกเหิม
อาณาจักรของเอ็มโซเฟียนไม่ได้เป็นแค่บ้านและที่ทำงาน พลังที่เขาอยากมอบให้ผู้อื่นทำให้ปัจจุบัน พื้นที่ 5 ไร่นี้กลายเป็นศูนย์สร้างแรงบันดาลใจที่ยินดีถ่ายทอดความรู้ด้านงานคราฟต์ ปศุสัตว์ กีฬา และปรัชญาอย่างครบวงจรแก่คนรอบตัวและคนต่างถิ่น
“ผมบอกไม่ได้ว่าคนที่มาต้องทำอะไร บางคนมาเพราะเซรามิก แต่พอเห็นแพะกลับคุยกับผมเรื่องแพะทั้งวัน บางคนก็คุยเรื่องธนู บางคนหลงมาแล้วรู้สึกว่า เฮ้ย ทำไม 3 จังหวัดไม่ใช่อะไรแบบที่เขาคิดเลย แล้วก็มีเรื่องคุยใหม่ เขาก็ได้แรงบันดาลใจ ได้มุมมองใหม่ๆ กลับไป
“ผมเองตอนเด็กๆ ดูเป็นคนไม่เอาไหน เรียนได้ที่โหล่มาตลอด คุณครูก็ดูถูก เราก็เลยไปสายอาชีพ ทุกวันนี้เลยอยากสร้างวัคซีนให้เด็กๆ รุ่นใหม่ว่ามันมีทางเลือกในบ้านตัวเอง มีอนาคตที่บ้านตัวเอง เกษตรกรรมก็เป็นวิถีของเรา คราฟต์มันก็เป็นวิถีของเรา และไม่จำเป็นที่เกิดมาแล้วต้องมีอาชีพเดียว ถ้าเกิดคุณเรียนรู้วิถีแล้วคุณพยายามสร้างนวัตกรรมก็ทำได้ ผมเองจะมีความสุขมากที่สิ่งที่ผมชอบ สิ่งที่ผมถนัด มันกลายเป็นประโยชน์ให้ชุมชน เป็นแรงขับให้อยากสานต่อสิ่งใหม่ๆ”
ฉันดื่มชาถ้วยสุดท้าย รสเดียวกับเมื่อตอนเริ่มบทสนทนา แต่คำพูดตกค้างในความคิดทำให้รสชาติในปากแตกต่างไปจากเดิม
“หลักศาสนาในคัมภีร์อัลกุรอานบอกว่า เราเกิดมาเพื่อสร้างประโยชน์ แล้วก็ใช้ปัญญาให้มากที่สุด เราจะตายโดยใช้ชีวิตอย่างสำราญ เกิดมาเพื่อทำงาน มีครอบครัวดี มีลูกดี จบแค่นี้เหรอ คุณทบทวนชีวิตทบทวนความเป็นมนุษย์ได้แค่นี้เหรอ ผมไม่เชื่อแบบนั้น ผมยังเชื่อว่ามีเหตุผลอีกมากมายที่เรายังไม่รู้ว่าเราเกิดมาเพื่ออะไร แต่ผมเชื่อว่าความตายเป็นความสะอาดของโลกใบนี้ ถ้าโลกนี้ไม่มีความตาย มันก็คงเละเทะล่ะนะ มันเหมือนการฟอกโลก เกิดมาถึงเวลาก็ตายไป แล้วก็ทิ้งอะไรให้เป็นประโยชน์กับโลกใบนี้ต่อ
“เราเกิดมาเป็นมนุษย์ทั้งทีแล้วจะตายไปเปล่าๆ โดยที่ไม่ทิ้งองค์ความรู้ ภูมิปัญญา สิ่งที่เป็นถนนหนทางเป็นประโยชน์กับคนอื่น หรือว่าถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ลูกหลาน เผื่อว่าลูกหลานจะได้สร้างเครือข่ายคนดีให้มากขึ้นเลยเหรอ ถ้าคุณไม่ทิ้งมรดก สร้างนวัตกรรมให้ชุมชน มันเสียเวลา เสียดายโอกาส ในเมื่อองค์ความรู้ ประสบการณ์ ภูมิปัญญาที่เราถ่ายทอดได้ เวลาตายไปแล้วมันก็ยังส่งผล สร้างแรงบันดาลใจให้คนเรื่อยๆ”
เอ็มโซเฟียนทิ้งท้าย หากเขาเป็นผีเสื้อจักรพรรดิที่บินกลับบ้านหรือปลาแซลมอนที่กลับไปวางไข่ เขาไม่ได้แค่กลับปัตตานีเพื่อสร้างครอบครัว แต่กลับบ้านเพื่อให้กำเนิดสิ่งที่ยิ่งใหญ่
สิ่งที่เรียกว่าความหวัง