ทายาทรุ่นสองตอนนี้ อยากเล่าเรื่องธุรกิจครอบครัวที่เคยมีหนี้หลักหมื่นล้านบาท

ปี 1998 พอลล์ กาญจนพาสน์ และครอบครัว รู้จักหนี้หลักหมื่นล้านจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ธุรกิจครอบครัวหลายบริษัทที่กู้เงินต่างประเทศมาขับเคลื่อน มีหนี้เพิ่มขึ้นทวีคูณ

การมีหนี้หลักนี้ ไม่แปลกที่หลายคนจะคิดสั้น เป็นข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์ยุคนั้นจนชินชา

อาวุธที่ครอบครัวกาญจนพาสน์ใช้ฝ่าวิกฤตครั้งนั้น คือทักษะการเจรจาประนอมหนี้ และการพลิกฟื้นผืนดินว่างเปล่าหลายพันไร่ของครอบครัวให้กลายเป็นรายได้จนพลิกชีวิตกลับมาได้ เป็นหนึ่งในตระกูลที่ประสบความสำเร็จในโลกธุรกิจไทย

หนึ่งในพื้นที่เหล่านั้นกลายมาเป็น ‘อิมแพ็ค เมืองทองธานี’ ที่เหล่าคนจัดงานอีเวนต์และแฟนเพลงศิลปินเกาหลีรู้จักกันดี นี่คือสถานที่จัดงานแสดงสินค้าและคอนเสิร์ตโดยเฉพาะ เป็นเหมือนห้องรับแขก รับบุคคลสำคัญจากหลายประเทศทั่วโลก 

พอลล์ กาญจนพาสน์ ทายาทผู้สร้าง IMPACT กับการปรับศูนย์แสดงสินค้าให้เป็นเมืองน่าอยู่

พอลล์คือผู้ดูแลอิมแพ็คคนปัจจุบัน ภายใต้ บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) ที่ดูแลโดย ปีเตอร์ กาญจนพาสน์ พี่ชายที่ล้มลุกคลุกคลานมาด้วยกัน 

ฝันใหญ่ของพอลล์ตอนนี้ไม่ใช่แค่จัดอีเวนต์ แต่เขาอยากสร้างอิมแพ็คให้กลายเป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน 

เคล็ดลับของการไปสู่ฝันนั้น คือการมองเห็นคุณค่าจากความว่างเปล่า หากลยุทธ์เปลี่ยนเป็นรายได้ ชนิดที่คนทั่วไปคาดไม่ถึง

พอลล์ กาญจนพาสน์ ทายาทผู้สร้าง IMPACT กับการปรับศูนย์แสดงสินค้าให้เป็นเมืองน่าอยู่

เรานัดคุยกับพอลล์ที่โรงเรียนสอนทำอาหาร Lenôtre Culinary Arts School Thailand ริมทะเลสาบเมืองทองธานี 

นี่เป็นธุรกิจอาหารที่พอลล์หมายมั่นปั้นมือ ต่อจาก The Coffee Academïcs ร้านกาแฟและอาหารจากฮ่องกง คุยไปเรื่อย ๆ ถึงรู้ว่าเขาแอบลองปลูกข้าวในที่ดินที่เชียงใหม่ กำลังพัฒนาให้อร่อยอย่างที่ตั้งใจ

เมื่อถามถึงแรงจูงใจ เขาตอบว่าตัวเองไม่ได้มีแพสชันอะไร แค่เห็นโอกาสว่าทำเงินได้เท่านั้นเอง

เบื้องหลังคำตอบนี้มีที่มาจากการรู้จักโลกธุรกิจตั้งแต่เด็ก รู้จักหนี้ระดับหมื่นล้านตั้งแต่อายุไม่ถึง 20 

มองออกไปนอกหน้าต่าง เห็นพื้นที่หลายพันไร่ในย่านเมืองทองธานี 

20 ปีที่แล้ว ที่เหล่านี้มีแต่ความว่างเปล่า

ใครก็ตามที่เชื่อว่าเปลี่ยนความว่างเปล่าให้เป็นรายได้หลักหมื่นล้านได้ ถ้าไม่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ก็ต้องเป็นคนบ้ามาก ๆ

พอลล์ กาญจนพาสน์ ทายาทผู้สร้าง IMPACT กับการปรับศูนย์แสดงสินค้าให้เป็นเมืองน่าอยู่

พอลล์เล่าว่าครอบครัวกาญจนพาสน์ทำธุรกิจหลายอย่าง เริ่มจากคุณปู่ของเขา มงคล กาญจนพาสน์ ทำธุรกิจในประเทศฮ่องกงเป็นหลัก โดยเฉพาะธุรกิจเป็นตัวแทนจำหน่ายนาฬิกาแบรนด์ชั้นนำ มีหน้าร้านชื่อว่า City Chain และมีส่วนทำให้นาฬิกา Seiko ได้วางขายและติดตลาดในบ้านเรา

มงคลมักนำเงินที่ได้มาซื้อที่ดินเก็บไว้ในประเทศไทย ด้วยความหวังว่าจะต่อยอดอะไรได้ในอนาคต ที่ดินขนาดใหญ่จะอยู่ที่ย่านแจ้งวัฒนะ ที่ตั้งของเมืองทองธานี และย่านบางนา ปัจจุบันคือที่ตั้งโครงการ ธนาซิตี้ ซึ่งสร้างเป็นพื้นที่ Mixed-use หมู่บ้าน สนามกอล์ฟ รีสอร์ต รวมอยู่ในอาณาจักรเดียว

อนันต์ กาญจนพาสน์ พ่อของพอลล์ ดูแลธุรกิจทั้งร้านนาฬิกาสาขาในฮ่องกงและการจัดการที่ดินในแจ้งวัฒนะ 

พอลล์ใช้ชีวิตวัยเด็ก 100% ที่ฮ่องกง เขาตระเวนตามพ่อไปตามร้านนาฬิกา ภาพจำวัยเด็กของพอลล์ คือคุณพ่อทำงานที่ออฟฟิศวันธรรมดา วันหยุดจะพาเขาไปที่ร้าน คุมงานทั้งวัน ตัวเขาก็ตระเวนกินร้านอร่อยที่มีอยู่ทุกมุมในฮ่องกง 

ไม่มีการสอนเรื่องธุรกิจหรือเรื่องสืบทอดงานต่อจากพ่อ ชีวิตของเขาเรียบง่ายและธรรมดาอย่างยิ่ง 

พอลล์ กาญจนพาสน์ ทายาทผู้สร้าง IMPACT กับการปรับศูนย์แสดงสินค้าให้เป็นเมืองน่าอยู่

 ปี 1997 ฮ่องกงถูกส่งมอบการปกครองต่อให้ประเทศจีน ครอบครัวชาวฮ่องกงที่กลัวการเปลี่ยนแปลงนิยมย้ายไปสหรัฐอเมริกา ครอบครัวกาญจนพาสน์ตัดสินใจย้ายมาที่ไทย เพราะมงคลซื้อที่ดินเก็บไว้เยอะมากจนเป็นอาณาจักร อนันต์คิดว่าควรมาดูแลต่อ เขาให้น้องชายทำธุรกิจนาฬิกา หันมาพัฒนาที่ดินเต็มตัว

ปีต่อมาเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง งานหลักของอนันต์จึงเป็นการเจรจาประนอมหนี้ 

พอลล์เล่าว่าถึงจะมีหนี้ คุณพ่อเครียด แต่ไม่ได้ทำให้บรรยากาศในบ้านเสียไป อาจเป็นเพราะโตมาในครอบครัวคนจีนที่ไม่คุ้นชินการปลอบประโลมเป็นกิจจะลักษณะ

“คุณพ่อเป็นคนรักลูก รักครอบครัว การที่มีเราอยู่ เขาคงมีกำลังใจ” พอลล์เล่าย้อน “ไม่มีพ่อแม่คนไหนหรอกที่อยากบอกลูกว่า เขาไม่ดี ไม่เก่ง ก็ต้องพยายามทำตรงนี้ให้ได้ การที่เรานั่งอยู่ตรงนั้น คงเป็นทั้งความกดดันและกำลังใจ”

ความหวังของอนันต์คือการสร้างสนามให้ทันใช้ในมหกรรมกีฬาเอเชียนเกมส์ ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพช่วงปลายปี 1998 สุดท้ายก็ทำเสร็จได้ใช้อย่างที่คิด ยุคนั้นยังใช้คำว่า อิมแพ็ค ฮอลล์ ซึ่งไม่ใช่ชื่อทางการนัก มีไว้ใช้เรียกเพื่อให้จบงานได้เท่านั้น

พอลล์ กาญจนพาสน์ ทายาทผู้สร้าง IMPACT กับการปรับศูนย์แสดงสินค้าให้เป็นเมืองน่าอยู่

ความยากต่อจากนั้น คือทำยังไงให้สนามเหล่านี้และที่ดินอีกมหาศาลทำรายได้ จุดนี้เป็นช่วงที่พอลล์และปีเตอร์เข้ามาช่วยงานพ่อ แม้ช่วงแรกเขาจะพูดภาษาไทยไม่ได้เลย ไม่มีเพื่อน แต่การเริ่มต้นใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เหนือความพยายาม

จุดแข็งของอิมแพ็คคือขนาด จุดอ่อนคือเรื่องความไกล มีอีเวนต์ไม่กี่ประเภทที่เหมาะกับการจัดที่นี่ และเป็นงานที่คนยอมเดินทางมา

พอลล์เริ่มคิดหาหนทางใหม่ว่า สุดท้ายของคุณค่าของอิมแพ็คแท้จริงแล้วคืออะไร

23 ปีที่ผ่านมา อิมแพ็คจัดงานมานับไม่ถ้วน 

มีอยู่ 2 งานที่สำคัญ เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้อิมแพ็คหาทางของตัวเองเจอ

หนึ่ง คอนเสิร์ตของ ไมเคิล แจ็คสัน ในประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2

ไมเคิลจัดคอนเสิร์ตในไทยครั้งแรกปี 1993 ครั้งนั้นมีปัญหาเรื่องสถานที่จัดงานที่จุคนจำนวนมากไม่สะดวกและเพียงพอ ผู้จัดงานอย่าง BEC-TERO นำโดย ไบรอัน มาร์การ์ จึงมองหาสถานที่จัดงานใหม่ อิมแพ็ค เมืองทองธานี คือคำตอบของงานนี้

งานนี้ทำให้คนรู้ว่าที่นี่จัดคอนเสิร์ตได้ มีที่จอดกว้างขวาง มีโรงแรมสำหรับรองรับทีมงานและศิลปิน มีร้านอาหารและสิ่งอำนวยความสะดวก กลายเป็นแหล่งรายได้ใหม่ที่มีส่วนช่วยล้างหนี้ของครอบครัวได้ดี 

นอกจากนี้ การได้เป็นที่จัดคอนเสิร์ตของศิลปินระดับโลก ทำให้ไทยกลายเป็นอีกหนึ่งจุดหมายสำคัญในการจัด World Tour ย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของบริษัทค่ายเพลงต่างชาติ

พอลล์ กาญจนพาสน์ ทายาทผู้สร้าง IMPACT กับการปรับศูนย์แสดงสินค้าให้เป็นเมืองน่าอยู่
พอลล์ กาญจนพาสน์ ทายาทผู้สร้าง IMPACT กับการปรับศูนย์แสดงสินค้าให้เป็นเมืองน่าอยู่

สอง งาน Motor Expo ปี 2000

2 ปีหลังจัดเอเชียนเกมส์ อิมแพ็คได้เป็นเจ้าภาพจัดงานใหญ่อีกครั้ง ในช่วงรอยต่อ พอลล์และพ่อทำงานอย่างหนักเพื่อหา Exhibitor มาจัดงาน ในขณะเดียวกันก็ต้องคุยกับเจ้าหนี้เพื่อเจรจาประคับประคองบริษัท

ยุคนั้นมีมหกรรมรถยนต์ 2 งานที่แข่งกัน คือ Bangkok International Motor Show จัดที่ BITEC บางนา อีกงานคือ Thailand International Motor Expo ที่อิมแพ็ค

ยุคนั้นพอลล์และพ่อรู้ว่า 2 งานนี้กำลังแข่งกันอยู่ งานขนาดใกล้เคียงกัน คือประมาณ 10,000 ตารางเมตร คุณพ่อเลยตัดสินใจคุยกับ ขวัญชัย ปภัสร์พงษ์ เจ้าของ บริษัท สื่อสากล จำกัด และประธานผู้จัดงานมอเตอร์เอ็กซ์โปว่า ขอแถมพื้นที่ให้อีก ‘10,000 ตารางเมตร’

“เขาต้องการแค่หมื่นเดียว เราให้เขา 20,000 ทำให้เขาเหนื่อยมาก แต่คุณพ่อบอกว่า ฮอลล์ก็มีอยู่แล้ว เรากับไบเทคก็ขนาดเดียวกัน ถ้ามอเตอร์เอ็กซ์โปหมื่นเดียว แต่ คุณปราจิน (ดร.ปราจิน เอี่ยมลำเนา ผู้จัดมอเตอร์โชว์) จัดงาน 20,000 ตารางเมตร งานนี้ก็ดูด้อยกว่าเขา คุณพ่อเลยบอกว่า ผมให้คุณไปเลย คุณจัดให้เต็มนะ” พอลล์เล่า 

“คุณพ่อเป็นคนใจกว้าง เขาให้คุณร้อย เราให้คุณพัน เฉพาะบางช่วงนะ” พอลล์หัวเราะ “เขารู้ว่าเราอยู่ในช่วงการแข่งขัน เราก็ต้องทำให้คนอื่นมองว่า เฮ้ย งานเราจัดที่นี่สำเร็จ ออกมาดี” 

“ถ้าใจแคบ อย่าทำธุรกิจ ในบางตำแหน่ง ใจแคบนั้นดีแล้ว แต่บางตำแหน่ง การที่เรามีผู้นำที่มองภาพใหญ่ มองภาพไกล ทำให้เรา Take Off ได้ในตอนนั้น”

พอลล์ กาญจนพาสน์ ทายาทที่โตมากับหนี้ พลิกฟื้นผืนดินของครอบครัวให้เป็น IMPACT เมืองทองธานี สู่เมืองน่าอยู่ในอนาคต

อนันต์ กาญจนพาสน์ เริ่มถอยให้พอลล์และปีเตอร์ดูแลต่อตั้งแต่ปี 2005 พอลล์เปรียบเทียบวิธีทำงานที่ต่างจากพ่อว่า พ่อชอบสร้างตึก ใจกว้างกว่า ในขณะที่พอลล์ดูรายละเอียดมากกว่า เขาแบ่งงานกับพี่ชาย โดยตัวเองดูแลอิมแพ็คเป็นหลัก ส่วนปีเตอร์ พี่ชาย ดูแลการจัดการอสังหาริมทรัพย์ในชื่อ บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) มีเครือบริษัทลูกแตกออกมาอีกนับไม่ถ้วน เพื่อบริหารงานจัดการพื้นที่แตกต่างกัน

หัวใจความสำเร็จของอิมแพ็ค คือการคำนึงถึงประสบการณ์ผู้มาร่วมงาน และการเจรจาธุรกิจให้วิน-วิน 

ธุรกิจ Exhibition Hall แข่งกันที่การทำให้งานน่าสนใจ มีแม่เหล็ก ถ้ามองมุมนี้ ลูกค้าที่ต้องดูแลคือคนที่มาจัดงาน

แต่พอลล์ให้ความสำคัญกับการบริการผู้มาร่วมงานด้วย ดูแลประสบการณ์ตั้งแต่แรกเริ่ม ไม่ว่าคุณจะมาอิมแพ็คด้วยการขับรถหรือใช้ขนส่งสาธารณะ เมื่อมาถึง เข้างาน ใช้เวลาอยู่ในฮอลล์ และเดินทางกลับ ต้องเต็มไปด้วยประสบการณ์ที่ดี 

พอลล์ยอมรับว่าอิมแพ็คไม่ได้สมบูรณ์แบบ เกิดความผิดพลาดหลายครั้ง แต่ทุกครั้งที่เกิด เขาพยายามแก้ปัญหาอย่างรวดเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้

เรื่องการเจรจาธุรกิจ แน่นอนว่าการโตมาในครอบครัวที่เจอพิษต้มยำกุ้ง ต้องล้างหนี้หลายล้าน ฝึกให้เขาคิดเรื่องการสร้างมูลค่า แต่พอลล์คิดว่าการทำงานเพื่อพัฒนาเป็นพาร์ตเนอร์ระยะยาวสำคัญไม่แพ้การหาเงินระยะสั้น เป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่งในยุคนี้

พอลล์ กาญจนพาสน์ ทายาทที่โตมากับหนี้ พลิกฟื้นผืนดินของครอบครัวให้เป็น IMPACT เมืองทองธานี สู่เมืองน่าอยู่ในอนาคต

“ผลลัพธ์สุดท้ายหรือ End Result สำคัญ ระหว่างทางคุณปล่อย ๆ เขาไปเถอะ แล้วก็ต้องวิน-วิน ถ้าเราวินอยู่ฝ่ายเดียว เขาจะมาทำไม เราต้องอยู่บนหลักการธุรกิจ ถ้าคิดค่าเช่าแพงเวอร์ ใครจะมาจ่าย หรือถ้าเขาจ่าย จะทำยังไงให้เขากลับมาอีก 

“ถ้าเราสนุกในการหาเงินด้วยกัน ก็อยู่ได้นาน ถ้าเราเอาเปรียบเขาในระยะสั้น ระยะยาว เขาก็ไปที่อื่น ยุคนี้หาลูกค้ายากนะ หาพาร์ตเนอร์ยิ่งยาก ถ้าเขามาแล้วจัดได้ดี ปีหน้าก็กลับมาใหม่ เผลอ ๆ อาจจะมีงานอื่นมาเพิ่ม ถ้าคุณทำให้เขาไม่กลับมา คุณต้องไปเริ่มต้นใหม่ เราทำธุรกิจกับคนที่อยู่กับเราอยู่แล้ว เหนื่อยน้อยกว่าการไปหาคู่ใหม่” พอลล์เล่า

พอลล์เคยมีประสบการณ์เจ้าของงานขอลดค่าเช่าเป็นประจำ ถ้าเป็นภาวะวิกฤต ช่วยได้ก็ช่วย แต่ในยามปกติ เขายึดหลักว่าทั้งสองฝ่ายต้องได้อย่างสมเหตุสมผล ธุรกิจจะอยู่ได้ยาวทั้งสองฝ่าย

วันท่ี่เราคุยกัน พอลล์กำลังเจรจากับผู้จัดงานต่างประเทศเพื่อร่วมลงทุนหรือ Joint Venture ทั้งในลักษณะของการจัดงานแบบ Arena และ Trade Show ในอนาคตเราจะได้เห็นงานสเกลนานาชาติมาจัดที่อิมแพ็คอย่างต่อเนื่อง 

ในแง่มูลค่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของฝั่งบางกอกแลนด์อาจทำเงินได้ดีกว่า แต่ในแง่ความคึกคัก อิมแพ็คอัดแน่นด้วยกิจกรรมที่น่าสนใจตลอดปี 

“อิมแพ็คอยู่มา 20 ปีแล้ว ผมไม่ได้มองว่ามันสมบูรณ์แล้วนะ เรายังไปได้อีกไกลเลย ไกลมาก อยู่ที่เราปรับตัว อยู่ที่ความคิดของเราว่าอิ่มตัวกับสิ่งที่มีแล้วหรือยัง เมื่อศักยภาพยังดีอยู่ ก็ต้องทำให้ถึง”

พอลล์ กาญจนพาสน์ ทายาทที่โตมากับหนี้ พลิกฟื้นผืนดินของครอบครัวให้เป็น IMPACT เมืองทองธานี สู่เมืองน่าอยู่ในอนาคต

ปี 2026 รถไฟฟ้าจะมาเยือนอิมแพ็คเสียที โดยจะมีการตั้งสถานีไม่ไกลจากอาคารหลักและทะเลสาบ

ภารกิจใหญ่ของพอลล์นับจากนี้คือการพัฒนาพื้นที่ให้รองรับทันรถไฟฟ้า โดยเฉพาะบริเวณทะเลสาบ อิมแพ็คเคยเอางานมาแสดงย่านนี้หลายครั้ง แผนของเขาต่อไปคือการสร้างอาคารในลักษณะห้างสรรพสินค้าที่เหมาะกับพื้นที่ เพื่อให้คนในอิมแพ็คทั้งผู้มาร่วมงานและผู้อยู่อาศัยมีความสุขมากขึ้น 

พอลล์ กาญจนพาสน์ ทายาทที่โตมากับหนี้ พลิกฟื้นผืนดินของครอบครัวให้เป็น IMPACT เมืองทองธานี สู่เมืองน่าอยู่ในอนาคต

หลายคนมองว่าจุดอ่อนของที่นี่คือระยะทาง แต่พอลล์มองว่าสำหรับคนย่านนนทบุรี ที่นี่คงไม่เรียกว่าไกลนัก มันขึ้นอยู่กับสิ่งที่เรามอบให้คนมาร่วมงานและคนที่อยู่อาศัยย่านนี้มากกว่า 

“รถไฟฟ้าสำคัญ ช่วยทำให้ยิ่งสมบูรณ์ขึ้น แต่ไม่ใช่ว่าไม่มีเขา เราทำไม่ได้” เจ้าของอิมแพ็คเล่า

“เอาง่าย ๆ อย่างอาคารนี้คือโรงเรียนสอนทำอาหาร Lenôtre Culinary Arts School Thailand เรานำเข้ามาจากฝรั่งเศส คนที่อยู่แถวนี้คงไม่เคยคิดเลยว่าวันหนึ่งจะได้เรียนทำอาหารที่นี่ แต่คนที่อยู่บางนา ให้เขาขับรถข้ามเมืองมาคงลำบาก เรื่องความไกลไม่ใช่เหตุผล สุดท้ายอยู่ที่เรานำเสนอให้คนมันพอหรือเปล่า ถ้าคุ้มค่าก็ไม่รู้สึกว่าไกล 

พอลล์ กาญจนพาสน์ ทายาทที่โตมากับหนี้ พลิกฟื้นผืนดินของครอบครัวให้เป็น IMPACT เมืองทองธานี สู่เมืองน่าอยู่ในอนาคต

“เราพยายามทำให้เมืองทองธานีเป็นที่ที่น่าอยู่ที่สุดในกรุงเทพฯ ขอให้คนย่านนี้รู้ก็พอ ไม่ต้องมีใครมามอบรางวัลให้เรา ไม่ต้องเป็นบริษัทที่น่าทำงานที่สุด สุดท้ายเรารู้ดีว่าคนที่นี่แฮปปี้มั้ย เจ้าของร้านข้าวขาหมูเมืองทองเขาแฮปปี้มั้ย

เป้าหมายและความฝันของพอลล์เรียบง่าย ไม่หวือหวา แต่ตรงใจคน 

การเปลี่ยนพื้นที่ว่างเปล่าของคุณปู่ให้เป็นพื้นที่แห่งความสุข เป็นเหมือนการสืบทอดความฝันของครอบครัวคนต่างชาติที่มาตั้งรกรากในไทย ปลูกความฝันบนผืนดินเปล่า งอกงามและเติบโต สร้างอิมแพกต์ให้สังคมมาตั้งแต่อดีตจนถึงวันนี้

พอลล์ กาญจนพาสน์ ทายาทที่โตมากับหนี้ พลิกฟื้นผืนดินของครอบครัวให้เป็น IMPACT เมืองทองธานี สู่เมืองน่าอยู่ในอนาคต

Writer

ศิวะภาค เจียรวนาลี

ศิวะภาค เจียรวนาลี

บรรณาธิการที่ปั่นจักรยานเป็นงานหลัก เขียนหนังสือเป็นงานอดิเรก

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล