มี 2 เรื่องที่ผมสังเกตชัดระหว่างการพูดคุยกับ นกกระปูดภัทรุตม์ สายะเสวี จิตรกรที่เป็นต้นเรื่องของบทความนี้

เรื่องแรกคือสรรพนาม บ่อยครั้งผมเรียกเขาว่า ‘อา’ แต่ก็มีบางทีที่ใช้ว่า ‘ลุง’ กระนั้น ชายวัย 79 ปีตรงหน้ากลับไม่ถือสา ที่ซีเรียสจริง ๆ คือชื่อที่ผมเรียกต่อจากนั้น เขาชื่อเล่นว่า นกกระปูด ผมจึงมักเรียกเขาสั้น ๆ ว่า อานก หรือไม่ก็ ลุงนก

“อย่าเรียกนกเลย เรียกนกกระปูดหรือไม่ก็ปูดเฉย ๆ จะดีกว่า” เขาบอกประโยคนี้เป็นครั้งที่ 2 ระหว่างการสัมภาษณ์

ผมไม่ได้ถามเขาว่าเคยมีปัญหาอะไรกับคนชื่อนกเฉย ๆ หรือเปล่า เพราะนั่นไม่ใช่สาระสำคัญ หากสิ่งที่ผมสังเกตอีกเรื่อง และนั่นคือหนึ่งในประเด็น คือมือที่มักสั่นเทา รวมถึงบางครั้งกับร่างทั้งร่างในระหว่างขยับเขยื้อน ก้าวเดิน หรือกระทั่งครุ่นคิด

“ไม่ได้เป็นแค่พาร์กินสันอย่างเดียว ไบโพลาร์ อัลไซเมอร์ โรคผิวหนัง ขาดแคลเซียม และเวลานอนก็ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจอีก” เขาเล่าถึงอาการที่กำลังเผชิญอยู่ในตอนนี้ ซึ่งนั่นยังหมายรวมถึงตลอดหลายปีหลังจากที่เขาเริ่มทำงานศิลปะ

แล้ววาดรูปยังไงครับ – ผมถาม

“ใช้มือซ้ายจับมือขวาให้นิ่ง มือขวาคือมือที่ถือพู่กัน เหมือนวาดรูป 2 มือพร้อมกัน” เขาตอบ

ภัทรุตม์ สายะเสวี คืออดีตช่างอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังและโบราณวัตถุของกรมศิลปากร ให้ไล่ชื่องานศิลปกรรมโบราณที่เป็นมรดกของประเทศ น้อยเหลือเกินที่ยังไม่ผ่านมือการบูรณะของช่างศิลป์รุ่นใหญ่ท่านนี้ ซึ่งไม่นับรวมการที่เขาเป็นช่างไทยไม่กี่คนที่มีโอกาสเดินทางไปบูรณะโบราณวัตถุใน Roman Forum กรุงโรม ประเทศอิตาลี และนครรัฐวาติกัน รวมถึงประเทศออสเตรียและญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม วันหนึ่งในวัยใกล้ 50 ระหว่างที่ภัทรุตม์กำลังเซ็นเอกสารเพื่อเบิกเงิน เขาก็พบว่ามือของตัวเองสั่นเกินกว่าจะจรดปากกาได้ เขาคิดว่าตัวเองเริ่มมีปัญหา แต่ตอนนั้นไม่ได้สนใจเลยด้วยซ้ำว่านั่นคือเค้าลางของพาร์กินสัน

“ตอนนั้นผมกลายเป็นคนคุมงานแล้ว ให้ลูกน้องเป็นคนซ่อมงานเป็นหลัก คิดว่ามือสั่น สักพักเดี๋ยวก็หาย ที่ไหนได้…”

ภัทรุตม์ สายะเสวี ช่างศิลป์ผู้ไปบูรณะงานที่วาติกัน และศิลปินวาดรูปพร้อมโรคพาร์กินสัน
นกกระปูดภัทรุตม์ สายะเสวี

นายช่างใหญ่สะสมความปรารถนาในการเขียนรูปเรื่อยมา กระทั่ง พ.ศ. 2546 ในวัย 59 อีกเพียง 1 ปีจะเกษียณ เขาพบว่าตัวเองไม่อาจรอได้อีกแล้ว “1 ปีมันนานไป เอาจริง ๆ อีกแค่วันเดียวผมก็ยังรอไม่ไหวเลย” เขากล่าว และนั่นทำให้เขาตัดสินใจลาออกจากราชการ วางมือจากงานที่เขาทำมาตลอดชีวิตอย่างสิ้นเชิง

“ลาออกมา ก็เอาเงินจากกองทุนสะสมไปปลูกบ้านอยู่ท่าวังผา (จังหวัดน่าน) ตั้งใจจะเขียนรูป แต่นั่นล่ะ พอถึงเวลาจริง ๆ มือยังไม่หายสั่น ไปหาหมอ เขาบอกว่าเป็นโรคพาร์กินสัน ฟังแล้วเหมือนโลกพังทลายเลย” ภัทรุตม์กล่าว

ซึ่งอย่างที่เขาบอก ไม่ใช่แค่พาร์กินสัน หลังจากนั้นอดีตช่างศิลป์ผู้นี้ยังต้องรับมือกับอีกสารพัดโรครุมเร้าทั้งทางกายและใจ ที่ซึ่งเขาสู้กับมันไปพร้อม ๆ ความพยายามกลับมาเขียนรูป

และเมื่อนับด้วยนิ้วมือ 2 รอบ ตอนนี้ผ่านมาจะครบ 20 ปีแล้ว

‘กิโลเมตรที่ 79’ คือชื่อนิทรรศการเดี่ยวของนกกระปูดที่ 8 Space ชั้น 3 The Goodcery ถนนราชวงศ์ จ.เชียงใหม่ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ ภัณฑารักษ์ของนิทรรศการ นักเขียนผู้หนีกรุงเทพฯ ไปใช้ชีวิตอยู่จังหวัดน่าน ซึ่งนั่นทำให้เขาได้พบกับภัทรุตม์ ก่อนจะผูกมิตรและคุ้นเคย เป็นคนตั้งชื่อนิทรรศการนี้ให้ โดยนำตัวเลข 79 มาจากอายุของศิลปิน

หลังจากที่วรพจน์ทราบว่ามิตรสหายรุ่นน้องอย่าง แพร-พัชราภา อินทร์ช่าง เพิ่งเปิด 8 Space อาร์ตสเปซแห่งใหม่ที่เชียงใหม่ เขาจึงชวนภัทรุตม์คัดสรรภาพเขียนใส่รถตู้ ขนมาจัดแสดงที่นี่ และนั่นทำให้ผมมีโอกาสได้ชมผลงานของเขา อันนำมาซึ่งบทสัมภาษณ์ศิลปินชิ้นนี้

จริงอยู่ที่ส่วนใหญ่ของภาพเขียน 50 กว่าชิ้นที่จัดแสดงในนิทรรศการเป็นภาพที่ภัทรุตม์วาดขึ้นในช่วง 3 – 4 ปีหลังมานี้ พวกมันไม่อาจสะท้อนชีวิตของศิลปินคนหนึ่งได้ทั้งหมด กระนั้นด้วยภาพทิวทัศน์ของภูเขาหลังบ้าน แมวที่เขาเลี้ยง เด็ก ๆ หลากชาติพันธุ์ที่เขาพบที่น่าน ไปจนถึงภาพนักการเมือง นักเคลื่อนไหว และภาพเส้นสายนามธรรม ซึ่งทั้งหมดแต่งแต้มด้วยสีสันพาสเทลที่ดูสดใส กลับบ่งบอกถึงความเป็นไปของศิลปินวัย 79 ปีผู้นี้ได้ดี

“ข้อแรกคือการได้ทำตามความฝัน และอีกข้อ คือถึงมันจะลำบากร่างกาย แต่การวาดรูปเหล่านี้ช่วยบำบัดจิตใจผมได้มากทีเดียว”

ภัทรุตม์เล่าถึงทั้งหมดทั้งมวลของภาพเขียนศิลปะแบบนาอีฟ (Naïve Art) ของเขา ภาพเขียนที่ดูผ่อนคลายสบายตา หากเป็นภาพที่แลกมาด้วยความปรารถนาอันเข้มข้นของชายชราที่เป็นโรคพาร์กินสัน – ความปรารถนาที่จะเขียนรูปมาทั้งชีวิต

ภัทรุตม์ สายะเสวี ช่างศิลป์ผู้ไปบูรณะงานที่วาติกัน และศิลปินวาดรูปพร้อมโรคพาร์กินสัน

คุณทำงานบูรณะจิตรกรรมฝาผนังมาเกือบ 40 ปี พอมาวาดรูปของตัวเอง กลับดูเหมือนคนละเรื่องกับสิ่งที่เคยทำมาโดยสิ้นเชิง อยากรู้ก่อนว่าแนวทางการวาดรูปในตอนนี้ของคุณมาจากไหน

ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน มันแค่ออกมาเอง ผมชอบแบบนี้ และผมก็วาดได้เท่าที่ร่างกายจะเอื้ออำนวยด้วย ให้พูดตามตรง ให้วาดรูปแนวประเพณีมันไม่ใช่ทางผม ผมเคยซ่อมแซมงานพวกนี้มาหลายสิบปี และตอนนี้หมดหน้าที่ผมแล้ว เลิกแล้วต่อกัน

ตอนทำงานเป็นช่างศิลป์อยู่ คุณไม่รู้สึกสนุกกับงานจิตรกรรมไทยเลยเหรอ

สนุกสิ งานสวย และผมก็ชอบด้วย แต่อย่างที่บอกว่ามันหมดเวลาแล้ว ตอนลาออกมาใหม่ ๆ นี่ยังฝันทุกคืนว่าได้ทำงานแนวนี้อยู่ ซึ่งผมมองมันเป็นฝันร้ายนะ ไม่ใช่ฝันดี

ไม่คิดถึงเลย

ไม่เลย มันคืองานเลี้ยงชีพที่ผมสนุกกับมัน แต่เอาจริง ๆ ผมอยากทำงานศิลปะมาตลอด อยากทำมาตั้งแต่แรกแล้ว

ทำไมไม่เริ่มตั้งแต่แรกล่ะครับ

ไม่มีพื้นที่ คุณต้องเข้าใจ ผมเข้าโรงเรียนศิลปศึกษา (ปัจจุบันคือวิทยาลัยช่างศิลป) ตอน พ.ศ. 2503 สมัยนั้นวงการศิลปะไม่ตื่นตัวเหมือนสมัยนี้ หอศิลป์หรือแกลเลอรีต่าง ๆ แทบไม่มี เข้าใจว่ามีแค่ ‘บางกะปิแกลเลอรี’ ตรงย่านอโศกอยู่ที่เดียวเอง เป็นศิลปินจึงอยู่ไม่ได้ ไม่รู้เอางานไปขายใคร

แต่ก็ยังเรียนศิลปะ

ก็ชอบน่ะ ชอบวาดรูปแต่เด็ก สมัยเรียนมัธยมที่ราชบุรี ผมไม่เก่งอะไรเลยนอกจากเขียนรูป ผมชอบเปิดหนังสือพิมพ์ ชอบรูปไหนก็เขียนรูปเหมือนตามนั้น เขียนจนครูเอาไปแขวนโชว์เป็นนิทรรศการ พ่อเห็นเลยพาไปสมัครเรียนต่อที่ศิลปศึกษาในกรุงเทพฯ จากนั้นก็ไปต่อคณะจิตรกรรมฯ ที่ศิลปากร เรียนจนถึงปี 2 ก็โดนไล่ออกเพราะสอบวาดรูปกายวิภาคไม่ผ่าน สมัยนั้นไม่ผ่านคือไม่ผ่าน เขาก็ไล่ออกเลย ผมเลยเอาวุฒิช่างศิลป์ไปสมัครงานเป็นฝ่ายศิลปกรรมสำนัก พิมพ์ไทยวัฒนาพานิช ทำอยู่ 4 เดือนก็เบื่อ จนราว พ.ศ. 2510 ที่กองโบราณคดี กรมศิลปากร เขาเปิดสอบช่างอนุรักษ์โบราณวัตถุ ผมเลยไปสอบ ก็ทำงานที่นั่นมาจนเกษียณ

ภัทรุตม์ สายะเสวี ช่างศิลป์ผู้ไปบูรณะงานที่วาติกัน และศิลปินวาดรูปพร้อมโรคพาร์กินสัน

ตอนนั้นคุณรู้แล้วใช่ไหมว่าการเป็นช่างศิลป์คนละเส้นทางกับการเป็นศิลปินอย่างสิ้นเชิง

รู้สิ ก่อนจะสอบเข้ากองโบราณคดีมีงานบรรยายเกี่ยวกับการอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังโดยผู้เชี่ยวชาญจากอินเดียสักงานหนึ่งนี่แหละ ผมก็เข้าไปฟัง จำได้ว่ารู้สึกเฉย ๆ ไม่ได้คิดว่างานนี้น่าทำอย่างไร แต่พอเขาเปิดสอบ เราก็ไปสอบและดันติด จะบอกว่าจับพลัดจับผลูก็ได้ มีงานที่ทักษะเราทำได้ ก็ทำไป เพราะให้เขียนรูปขายเลย คงไม่รอด

ถ้ามองย้อนกลับไปตอนนั้น แล้วมาคิดถึงตอนนี้ คิดว่าเราเริ่มทำงานศิลปะของตัวเองช้าไปไหม

ช้าไปมาก ยิ่งมาเริ่มหลังจากร่างกายป่วยอีก แต่อย่างน้อยก็ได้เริ่มและได้ทำอยู่

ทำงานอะไรที่กองโบราณคดีบ้าง

งานอนุรักษ์ทุกอย่าง ส่วนใหญ่ซ่อมพระพุทธรูปเก่า หม้อที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง (จ.อุดรธานี) เขาก็ส่งมาให้กองผมบูรณะ จากงานชิ้นเล็ก ๆ เริ่มขยับมางานชิ้นใหญ่ อย่างปูนปั้นเทพชุมนุมที่วิหารของวัดเจ็ดยอด (จ.เชียงใหม่) ซุ้มโค้งของวัดพระธาตุลำปางหลวง (จ.ลำปาง) ปูนปั้นวัดนางพญาที่ศรีสัชนาลัย (จ.สุโขทัย) กองผมมีกัน 5 คน ช่างจิตรกรรม นักเคมี นักโบราณคดี ช่างไม้ และผมที่เป็นช่างศิลป์ แบ่งหน้าที่กันไปทำ จนหลัง ๆ ผมขยับมาดูงานจิตรกรรมเป็นหลัก

ที่บอกว่าตอนแรกเฉย ๆ กับงาน แล้วมาพบว่าตัวเองชอบงานนี้ตอนไหน

ทำ ๆ ไปก็ชอบเอง เราได้อยู่กับงานศิลปะทั้งวัน อย่างงานจิตรกรรมฝาผนัง เราต้องทำความสะอาด เพราะอายุงานส่วนใหญ่ 100 กว่าปี ไหนจะเชื้อรา ฝุ่นควันจากธูปเทียน ต้องเช็ดให้คราบทั้งหมดออกก่อน ค่อย ๆ ทำไปในทุกชั้นสี หาวิธีถนอมพื้นผิว ถนอมปูน เพราะงานเก่า ๆ ชั้นปูนจะแยกจากชั้นอิฐ เราก็ฉีดน้ำปูนผสมกาวเข้าไป ชั้นสีก็เหมือนกัน ต้องอาศัยนักเคมีทำน้ำยาให้อีก เพราะถ้าผสมไม่ดี น้ำยามันทำให้สีเดิมเปลี่ยนเลย งานทั้งหมดต้องอาศัยความประณีตและสมาธิ พอบูรณะเสร็จสักชิ้น มันชื่นใจไม่ต่างจากการทำงานศิลปะ

ที่สำคัญคือต้องอาศัยการออกแบบวิธีการบูรณะด้วย อย่างจิตรกรรมฝาผนังในวิหารและโบสถ์วัดชิโนรสารามวรวิหาร สภาพอาคารไม่ไหวแล้ว ต้องรื้อทั้งผนังออกมา เพื่อเอาไปติดตั้งที่วิหารและโบสถ์ที่สร้างใหม่ ก็ต้องวางแผนอย่างละเอียด ซึ่งเราเป็นช่างกลุ่มแรกที่รื้อและติดตั้งงานยกชุดแบบนี้ได้

ที่ทำมาทั้งหมด ชอบงานที่ไหนที่สุด

ถ้าพูดถึงความสวยงามและบรรยากาศ น่าจะวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ ที่เชียงใหม่ นั่นเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว ว่าไปก็ชอบหลายวัดที่เชียงใหม่นะ วัดผาแดง อำเภอแม่แจ่ม วัดท่าข้าม อำเภอแม่แตง งานมันสวย และอากาศทางเหนือก็ดีด้วย ดีหน่อยที่ตอนหลังผมอาวุโสกว่าเพื่อน เลยมีสิทธิ์เลือกว่าจะทำวัดไหน ไปมาทั่วประเทศแล้ว แต่ถ้าเลือกได้ก็จะเลือกทางเหนือไว้ก่อน

ต่างประเทศก็ชอบหลายที่ แต่ที่ชอบมากกว่าคือได้มีโอกาสไปดูพิพิธภัณฑ์ศิลปะของเขา หลาย ๆ งานเราดูแค่จากรูปในหนังสือเรียน พอได้มาเห็นจริงแล้วตื่นเต้น

เป็นช่างศิลป์ไทย ได้ไปทำงานต่างประเทศได้ยังไง

มีโครงการอบรมโดยผู้เชี่ยวชาญจากอิตาลีมาอบรมที่กรมศิลปากร ผมเข้าอบรมเทคนิคอนุรักษ์ในแบบของเขา อบรมเสร็จ เขาก็จ้างเราไปบูรณะงานที่นั่น เลยได้ไปโรม วาติกัน ฟลอเรนซ์ และออสเตรีย อิตาลีอยู่ 3 เดือน ออสเตรียอีก 1 เดือน

ภัทรุตม์ สายะเสวี ช่างศิลป์ผู้ไปบูรณะงานที่วาติกัน และศิลปินวาดรูปพร้อมโรคพาร์กินสัน
ภัทรุตม์ สายะเสวี ช่างศิลป์ผู้ไปบูรณะงานที่วาติกัน และศิลปินวาดรูปพร้อมโรคพาร์กินสัน

ไปทำอะไรบ้างตอนนั้น

งานจิตรกรรมรูปเล็ก ๆ ที่พิพิธภัณฑ์วาติกัน พวกงานปูนปั้นที่โรมันฟอรัม ไปซ่อม ล้างหัวเสาหินอ่อนให้เขา งานฝรั่งดูแลง่ายกว่างานบ้านเราเยอะ พวกจิตรกรรมฝาผนังเขาเขียนปูนเปียก สีเลยซึมเข้าปูน มีความทนทาน ส่วนของเราช่างจะรองพื้นด้วยปูนขาวและใช้สีเขียนลงบนผนัง นาน ๆ ไปสีมันเลยหลุด ชั้นสีไม่ติดกับรองพื้น งานฝรั่งนี่หาเครื่องมือมาขัด ๆ ก็ดูใหม่ขึ้นแล้ว

กลับจากยุโรปก็มีโอกาสไปญี่ปุ่นต่อ ไปซ่อมจิตรกรรมของศิลปินเวนิสที่อยู่ในสถานทูตอิตาลี แล้วก็ไปหลวงพระบาง ซ่อมผนังวัดเชียงทอง ผมเป็นหัวหน้าทีม และไปฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ของเขาด้วย

พูดแล้วก็คิดอยากกลับไปยุโรปอีกที ไม่ใช่อะไร อยากไปดูพิพิธภัณฑ์ศิลปะของเขา มีตั้งแต่งานประเพณีไปจนถึงงานร่วมสมัย เข้าใจเลยว่าทำไมประเทศเขาเจริญ คุณมีพิพิธภัณฑ์ให้ดูตั้งแต่เด็ก ซึ่งเด็กที่นั่นเข้าไปดูอย่างจริงจังด้วย เลยได้เห็นว่าฝรั่งเขาต่อยอดต้นทุนทางศิลปะที่มีมาเป็นงานร่วมสมัยหรืองานสร้างสรรค์อื่น ๆ ได้อย่างไร ซึ่งในสมัยที่ผมไป เมืองไทยยังไม่มีแบบนี้

ไม่มีพิพิธภัณฑ์หรือไม่มีการต่อยอด

พิพิธภัณฑ์น่ะมี แต่ถ้าครูไม่บังคับ เด็กก็ไม่เข้า ส่วนพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยในช่วงที่ผมไป ในบ้านเราแทบไม่มี การต่อยอดเลยยังไม่เกิด

ถ้ามีคนเถียงว่าศิลปะในยุโรปเขามีมาเป็นพันปีแล้ว บ้านเรายังแค่หลักร้อยปีอยู่เลย มันเทียบไม่ได้

แล้วไง คุณจะรอไปอีกเป็นพันปีเพื่อให้ทันเขาหรือไง ประเด็นคือศิลปะบ้านเรามันถูกทำให้ขึ้นหิ้ง มีไว้เพื่อการเชิดชูอย่างเดียว การตีความหรือวิพากษ์วิจารณ์จึงไม่เกิดขึ้น พิพิธภัณฑ์เป็นที่เก็บของเก่าที่ตายแล้ว คนรุ่นใหม่เขาเลยไม่สนใจ อันนี้ผมพูดถึงบริบทในสมัยที่ผมไปยุโรปนะ

แล้วกับยุคนี้ล่ะ คุณได้เห็นแนวโน้มที่ดีขึ้นบ้างหรือเปล่า

ตั้งแต่เกษียณออกมา ผมอยู่แต่ที่บ้านหรือไม่ก็ไปโรงพยาบาล แทบไม่ได้ไปไหน แต่ที่ดูจากสื่อหรือความเคลื่อนไหวในน่านเอง ก็เห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นเยอะ อย่างน่าน ทุกวันนี้ก็มีหอศิลป์ร่วมสมัย (หอศิลป์ริมน่าน) มีห้องสมุดที่ให้ผมเอารูปไปจัดแสดงด้วย (ห้องสมุดบ้านๆน่านๆ) สมัยก่อนในต่างจังหวัด ถ้าไม่ใช่เมืองใหญ่ ๆ อย่างเชียงใหม่ มันไม่มีอะไรแบบนี้เลย

ย้อนกลับไปตอนที่ทำงานอนุรักษ์ คุณคิดที่จะเริ่มทำงานศิลปะอย่างจริงจังพร้อมกันไปบ้างไหม

คิดน่ะคิด แต่ทำไม่ได้ ผมสนใจศิลปะร่วมสมัยมาตลอด ตอนไปยุโรปผมตั้งใจไปดูงานโมเดิร์นกับงานร่วมสมัยเป็นหลักนะ เพราะงานคลาสสิก เราต้องไปบูรณะอยู่แล้ว

ก่อนลาออกมา ผมเคยพยายามวาดรูปนิด ๆ หน่อย ๆ แต่ไม่จริงจัง เพราะถ้าจริงจังแล้วจะติดใจ กลัวจะทำงานช่างหรืองานวัดไม่ได้เลยไม่ทำ เอางานประจำเป็นหลัก มันแบ่งเป็น 2 อย่างไม่ได้ ทำงานอนุรักษ์เราก็ต้องอุทิศชีวิตให้กับงานนี้ อีกเรื่องคืองานที่ผมทำต้องเดินทางอยู่ตลอด ต้องยกทีมไปประจำตามวัดต่าง ๆ ครั้งหนึ่ง 3 – 4 เดือน พอบูรณะเสร็จหรือหมดโครงการก็ย้ายไปทำไซต์อื่นต่อ ปีหนึ่งอยู่บ้านน้อยมาก ชีวิตอยู่แต่กับวัดหรือแหล่งโบราณสถาน ลูกเมียนี่แทบไม่เจอ ผมไม่ได้เลี้ยงลูกหรือส่งเสียพวกเขาด้วย ก็ได้เมียและพี่ ๆ น้อง ๆ ช่วยกัน

แล้วมีปัญหาครอบครัวไหม

ไม่มี เมียผมเข้าใจ เมียอยู่กรุงเทพฯ อยู่บ้านพ่อแม่ผม เดือนหนึ่งผมจะกลับบ้านสัก 3 วัน จนลาออกจากราชการนี่แหละผมถึงมีเวลาให้เขา ซึ่งตอนนั้นเอาจริง ๆ ก็รู้สึกชอบอยู่ต่างจังหวัดมากกว่า มันไม่วุ่นวายเหมือนกรุงเทพฯ เลิกงานก็นั่งดื่มกับเพื่อนร่วมงาน

ภัทรุตม์ สายะเสวี ช่างศิลป์ผู้ไปบูรณะงานที่วาติกัน และศิลปินวาดรูปพร้อมโรคพาร์กินสัน
ภัทรุตม์ สายะเสวี ช่างศิลป์ผู้ไปบูรณะงานที่วาติกัน และศิลปินวาดรูปพร้อมโรคพาร์กินสัน

ชอบดื่ม

ใช้คำว่า แดก เลยดีกว่า จำได้ว่าตอนมีอาการมือสั่นใหม่ ๆ คิดไปว่าหรือกูอยากเหล้าวะ (หัวเราะ) ดื่มเหล้าขาวด้วย เหล้าอื่นไม่มีปัญญาซื้อ เงินเดือนน้อย ไม่ได้ทำเรื่องเลื่อนตำแหน่งด้วย

ทำไมไม่ทำเรื่องเลื่อนตำแหน่ง

ไม่ชอบระเบียบพิธีการ เราเป็นช่างศิลป์ หน้าที่คือบูรณะงานศิลปะ ผลงานก็มีอยู่แล้ว มึงจะให้กูทำผลงานอะไรอีกหนักหนา สมัยก่อนผมเคยสอบผ่าน C6 ด้วย แต่มีตำแหน่งให้บรรจุตำแหน่งเดียว หัวหน้าไม่ส่งชื่อผมไป จนมารู้ทีหลังว่ามีการเลือกที่รักมักที่ชัง คือถ้ารู้ตั้งแต่ตอนนั้น ก็คิดว่าจะลาออกเลย เสียดายรู้ช้าไปมาก

ไม่เอาเลย

เหมือนทั้งรักและเกลียดน่ะ รักเพราะเราชอบงานที่ทำ และไม่มีใครมาจ้างให้เราทำงานนี้ได้นอกจากหน่วยงานที่ผมเคยสังกัดอยู่ แต่ที่เกลียดคือระบบราชการ อย่าให้เล่าเลย

แต่สุดท้ายก็ไม่รอจนเกษียณ

ใช่ มันมาถึงจุดที่เราอิ่มตัวมากแล้ว อยากออกไปวาดรูปชะมัด ให้รออีกวันเดียวยังไม่ไหว ก็เลยย้ายไปอยู่น่าน

ทำไมต้องเป็นจังหวัดน่าน

น่านเป็นบ้านของภรรยา ตอนแรกไปอยู่บ้านพ่อแม่เขาก่อน สักพักไปเจอที่ดินที่อำเภอท่าวังผา ก็เลยเอาเงินออมทรัพย์ กบข. ที่สะสมตอนเป็นข้าราชการมาซื้อและใช้เงินบำนาญเลี้ยงชีพ ที่ดินแถวบ้านดี ด้านหลังเป็นภูเขา ใกล้แม่น้ำ นั่งเขียนรูปได้เพลิน

เคยมาน่านมาก่อนไหม

เคย เคยมาบูรณะจิตรกรรมวัดภูมินทร์ ช่วง พ.ศ. 2519 จากนั้นก็วัดช้างค้ำ และวัดหนองบัว สมัยนั้นถนนหนทางไม่ดี และน่านขึ้นชื่อเรื่องคอมมิวนิสต์ ไปไหนมาไหนทีมีด่านทหารตรวจเต็มไปหมด

เจอภรรยาที่นั่นด้วยไหม

ไม่ มาเจอทีหลัง แต่พอรู้ว่าเป็นคนน่านก็ดีเลย ผมชอบเมืองเขา ตั้งใจว่าจะใช้ชีวิตเกษียณ วาดรูปที่นี่ ซึ่งนั่นล่ะ

กิโลเมตรที่ 79 ของ ภัทรุตม์ สายะเสวี อดีตช่างศิลป์ที่เคยไปบูรณะงานถึงวาติกัน ผู้ลาออกมาวาดรูปพร้อมโรคพาร์กินสัน

คิดมาก่อนไหมว่าจะเป็นโรคพาร์กินสัน

คิด ก็รู้แหละว่าเป็น แต่ตอนแรกไม่ได้กังวลอะไรมาก จนลาออกมาแล้วตั้งใจจะวาดรูปจริงจังนี่แหละ รู้สึกเจ็บปวดที่สุด เราเขียนรูปไม่ได้ มือมันสั่น จากที่เคยมั่นใจว่าเราเขียนรูปเก่งมาก ๆ มันไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว คุณนึกออกไหม เวลามีความตั้งใจจะทำอะไรและรอมันมาทั้งชีวิต แต่พอถึงจุดที่เราพร้อมทำได้แล้ว ร่างกายเสือกไม่พร้อม เปรียบเทียบแบบนี้ ไม่ต้องเขียนลงก็ได้นะ เหมือนคุณจีบผู้หญิง ตามเขาอยู่นาน จนสุดท้ายได้ขึ้นเตียง จู๋ดันไม่แข็งเสียอย่างนั้น

แล้วทีนี้พอร่างกายไม่เป็นไปตามต้องการ ก็เครียด เป็นซึมเศร้า จนช่วงหลังมีอาการอัลไซเมอร์อีก ชีวิตโคตรยากลำบาก

รับมือยังไง

กินยาและฝืนเอา เหมือนเริ่มต้นใหม่จากศูนย์ ใช้มือขวาจับพู่กัน มือซ้ายจับมือขวาให้นิ่งที่สุด ตอนแรกผมเขียนสีน้ำ เขียนไม่ได้ มันควบคุมน้ำหนักยาก เลยหันไปเขียนสีน้ำมัน เขียนได้สักพักก็ดันแพ้กลิ่นอีก สุดท้ายหันมาใช้สีอะคริลิก ผมลงรายละเอียดในภาพไม่ค่อยได้ ร่างกายสู้ไม่ไหว ภาพเลยออกมาแบน ๆ ไม่มีแรเงา แต่หลัง ๆ มือสั่นก็ปล่อยให้มันสั่นไป รูปไม่จำเป็นต้องนิ่งมาก บ่อยครั้งก็ใช้เพลงช่วย ฟังเพลงไป เขียนรูปไป เพลงมันช่วยเปิดจินตนาการ ทำให้การลงน้ำหนักกับลงสีมันกลมกลืนไปกับจังหวะเพลง

ไม่ยอมแพ้

ก่อนเกษียณสัก 10 ปี ตอนที่มือเริ่มสั่น ผมเคยเริ่มเขียนรูป ช่วงนั้นหยุดสงกรานต์ ลูกน้องกลับบ้านกันหมด ผมก็เขียนสีน้ำ ยังพอได้อยู่ จากนั้นไม่ได้เขียนอีกเลย จนตอนลาออกมา เขียนครั้งแรกก็พบว่า เอ้า! กูหมดสภาพแล้ว แต่จะให้ทำไง เราตั้งใจจะทำมาทั้งชีวิต ยอมแพ้แล้วจะทำอะไร

เคยวางแผนไว้ไหมว่าจะเป็นศิลปินแบบไหน

ไม่เข้าใจคำถาม

แบบทำงานร่วมกับคิวเรเตอร์ จัดแสดงเดี่ยวปีละครั้ง หรือคิดถึงการขายงาน

ไม่เลย คิดแค่ว่าจะเขียนรูป เขียนรูปให้รอดก่อน ผมมีความสุขกับการเขียนรูป เรื่องขายนี่คิดน้อยมาก ขายได้ก็ดี

ผมมาน่านตอน พ.ศ. 2548 น่าจะพร้อม ๆ กับที่หอศิลป์ริมน่านเขาเพิ่งเปิดพอดี ผมเอางานไปจัดแสดงกับเขาและขายได้ด้วย ไม่ใช่งานจิตรกรรม เป็นภาพคอลลาจสมเด็จพระเทพฯ ที่ตัดมาจากหนังสือพิมพ์ เป็นงานศิลปะชิ้นแรกที่ขายได้ ส่วนรูปเขียนนี่ใช้เวลา 10 ปีกว่าจะขายออก

ช่วง 10 ปีที่ขายงานไม่ได้ ท้อไหม

ไม่ ก็บอกแล้วว่าแค่อยากเขียนรูป ไม่ได้มีความคิดว่าต้องเขียนเพื่อขายหรือเลี้ยงชีพ เขียนสะสมไปเรื่อย ๆ เขียนทิวทัศน์ภูเขาหลังบ้านบ้าง แมวที่บ้าน หรือเด็ก ๆ ที่เจอ ไม่ก็เป็นนามธรรมไปเลย เขียนวน ๆ อยู่อย่างนั้น ไม่ถูกใจก็เปลี่ยนใหม่ บางทีไม่เสร็จหรือเบื่อก่อน ก็หันไปเขียนรูปอื่น หรือมีความคิดอะไรใหม่เข้ามาก็หยุดอันที่ทำอยู่แล้วเขียนในสิ่งที่คิดใหม่ก่อน บางรูปใช้เวลาเป็นปีกว่าจะเสร็จ

กิโลเมตรที่ 79 ของ ภัทรุตม์ สายะเสวี อดีตช่างศิลป์ที่เคยไปบูรณะงานถึงวาติกัน ผู้ลาออกมาวาดรูปพร้อมโรคพาร์กินสัน

เขียนรูปทุกวันเลยไหม

มีช่วงเวลาไปหาหมอกรุงเทพฯ เป็นเดือน ๆ ก็ต้องหยุดเขียน จนกลับบ้านมาก็เขียนต่อ หรืออยู่บ้านบางวันก็ไม่เขียน ไม่ได้เขียนทุกวัน

เขียนให้ใครดู

ช่วงแรก ๆ ก็ตัวเองคนเดียวนี่แหละ บ้านผมอยู่โดดเดี่ยว ชาวบ้านแถวนั้นถึงแวะมาดู ก็ไม่เข้าใจ มึงเขียนห่าอะไร บางครั้งรู้สึกเหงา เพราะไม่มีคนวิจารณ์หรือแลกเปลี่ยนความเห็น กระทั่งมีคนชวนไปแสดงงาน หรือเอางานไปแขวนตามที่ต่าง ๆ บ้างนี่แหละ

ทำไมถึงชอบเขียนรูปเด็ก

ชอบเด็ก มีความสดใสดี เหมือนเขียนทิวทัศน์ธรรมชาติแหละ เหมือนได้บำบัด ผมเป็นไบโพลาร์ด้วย คุยกันอย่างนี้สนุก ๆ พออยู่คนเดียว จู่ ๆ ก็จิตตก เศร้าเฉยเลย การเขียนรูปมันทำให้มีสมาธิ เหมือนเป็นยารักษาโรครูปแบบหนึ่ง

เหมือนการเลือกใช้สีโทนสดใสหรือตั้งใจทำให้เป็นพาสเทลนี่เกี่ยวกับการบำบัดด้วยไหม

อันนี้ไม่รู้ มันออกมาแบบนี้เอง จำได้ว่าสมัยตอนเรียนหนังสือ เขียนสีน้ำก็ออกมาเป็นโทนแบบนี้

เขียนรูปมาจะ 20 ปีแล้ว เคยเบื่อบ้างไหม

มีบ้าง เบื่อก็ไปทำอย่างอื่น ซื้อดินญี่ปุ่นมาปั้น เอาเศษไม้มาประกอบกันเป็นงานจัดวางก็มี หรือตัดภาพจากหนังสือมาทำคอลลาจ

เอาแรงบันดาลใจมาจากไหน

ชีวิตประจำวัน ออกไปเจออะไรสวย ๆ ก็ถ่ายรูปไว้ เจอเด็ก ๆ ชาวเขาก็ซื้อขนมเลี้ยงเขา ขอถ่ายรูป และกลับมาเขียน หรือบางทีอ่านหนังสือพิมพ์ เจอข่าวการเมือง ความอยุติธรรม ก็เขียนถึง อย่างรูปที่เอามาโชว์รอบนี้ก็มี พายุ ดาวดิน ที่โดนสลายการชุมนุมจนตาบอด เอารูปมาวางคู่กับแมว ไม่รู้เราคิดอะไรตอนนั้น แต่อาจเป็นความพยายามปลอบประโลม เหมือนที่ผมปลอบประโลมตัวเองด้วยการทำงานศิลปะ

มีรูปหนึ่งเหมือน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ด้วย

ก็ใช่แหละ ตั้งใจจะวาดเขา

แล้วก็มีอีกรูปเหมือน ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ก็ใช่อีกเหมือนกัน จริง ๆ มีอีกรูปเป็น เพนกวิน (พริษฐ์ ชิวารักษ์) กำลังชู 3 นิ้ว แต่ไม่ได้เอามาโชว์งานนี้

กิโลเมตรที่ 79 ของ ภัทรุตม์ สายะเสวี อดีตช่างศิลป์ที่เคยไปบูรณะงานถึงวาติกัน ผู้ลาออกมาวาดรูปพร้อมโรคพาร์กินสัน

แล้วรูปนามธรรมนี่เอาแรงบันดาลใจมาอย่างไร

ไม่รู้ แค่อยากทำ ทำเป็นตารางบ้าง เป็นเส้น ๆ หรือลองคู่สีใหม่ ๆ บางรูปใช้จุดเอา เหมือนเป็นการออกกำลังกายมือ บางทีเบื่อก็เอาเศษผ้าที่มีลวดลายมาประกอบ พยายามทดลองไปเรื่อย ๆ

งานที่เอามาแสดงในนิทรรศการนี้เป็นงานช่วงไหน

3 – 4 ปีหลังมานี้ ช่วงหลังผมเพิ่งซื้อรถมา ก็ขับออกไปเห็นอะไรได้ไกลขึ้น นี่รถคันแรกเลยนะ เพิ่งซื้อเอาปูนนี้ เมื่อก่อนผมต่อต้าน ทำไมต้องซื้อรถด้วยวะ แต่พอมี ก็ดี ได้เห็นอะไรมากขึ้น

ขับเองไหม

ภรรยาขับ ผมอยากขับเอง ช่วงไหนที่ไม่มีอาการมือสั่นก็อยากขับ แต่ภรรยาไม่ให้ขับ บางทีก็จ้างคนมาขับ ขับเข้าป่า เข้าดอย ไปตลาด ไปถ่ายรูปเพื่อกลับมาเขียน คิดว่าชีวิตหลังจากนี้จะทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ถ้าร่างกายไหว

ถามอีกครั้ง ผ่านมา 20 ปี เคยคิดถึงการกลับไปทำงานช่างศิลป์บ้างไหม

ไม่ ผมทำมาพอแล้ว ถ้าคิดถึง น่าจะในเชิงความเป็นห่วงมากกว่า ผมทำงานอนุรักษ์ ก็เป็นห่วงโบราณสถานที่เราพยายามอนุรักษ์ มีหลายที่เลยที่เคยทำไว้แล้วทุกวันนี้มันไม่เหลือ อย่างวัดแห่งหนึ่งในอำเภอหางดง (จ.เชียงใหม่) สร้างก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ผนังด้านนอกมีลวดลายพรางตา ช่างศิลป์สมัยนั้นเขาตั้งใจจะพรางอาคารไม่ให้เครื่องบินญี่ปุ่นเห็น หลังผมออกมา กรมศิลปากรดันไปทุบทิ้งหมด เหมือนคนสั่งการไม่ทราบเจตนาเขา ทั้งที่จริง ๆ ก็เก็บรักษาไว้ได้

วัดหนองบัวที่น่านผมเคยไปทำช่วง พ.ศ. 2529 ทุกวันนี้ดูไม่ได้ บางส่วนก็เพราะกรมศิลปฯ เอง และอีกหลายส่วนก็มาจากเจ้าอาวาสหรือคณะกรรมการวัด โบราณสถานสวย ๆ หลายที่เป็นแบบนี้ เขานึกอยากทุบทิ้งทำใหม่ก็ทำ ไม่ได้เข้าใจในคุณค่า ผมถึงบอกว่าบ้านเรามีปัญหาเรื่องการเรียนรู้ศิลปะ คนส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกสอนมาให้เข้าใจในคุณค่าของศิลปะ

แต่นั่นล่ะ ผมออกมานานแล้ว และถึงจะทำอยู่ ผมก็ข้าราชการตัวเล็ก ๆ ทำอะไรได้ไม่เยอะ ออกความคิดเห็นได้ไม่มาก ซึ่งนี่แหละ ระบบราชการ

พูดถึงเรื่องคุณค่าแล้ว ถ้าให้ประเมินคุณค่างานศิลปะของตัวเอง จะประเมินออกมายังไง

ไม่รู้เว้ย ต้องให้คนอื่นมาประเมินสิ ถ้าถามผม มันมีคุณค่าเพราะมันคือชีวิต คือความต้องการของผม คนอื่นคิดยังไงก็เรื่องของเขา

เหมือนที่คุณถามว่าเป้าหมายของการเป็นศิลปินคืออะไร ผมไม่รู้ ถามว่าอยากขายงานดี ๆ อยากมีชื่อเสียง หรืออยากร่ำรวยไหม ก็เคยคิดอยาก แต่ไม่ได้คิดว่ามันคือสาระสำคัญหรือเป้าหมายที่ต้องบรรลุให้ได้ แค่ได้วาดรูปที่อยากวาดและไม่ป่วยหนักไปกว่านี้ แม่งก็ดีมากแล้ว

กิโลเมตรที่ 79 ของ ภัทรุตม์ สายะเสวี อดีตช่างศิลป์ที่เคยไปบูรณะงานถึงวาติกัน ผู้ลาออกมาวาดรูปพร้อมโรคพาร์กินสัน

นิทรรศการกิโลเมตรที่ 79 โดย ภัทรุตม์ สายะเสวี จัดแสดงถึงวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 ที่ 8 Space (ชั้น 3 The Goodcery) ถนนราชวงศ์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เปิดวันพฤหัสบดี-อาทิตย์ (หยุดวันจันทร์-พุธ) 13.00 – 21.00 น. รายละเอียดเพิ่มเติมที่ Facebook : 8 Space

Writer

จิรัฏฐ์​ ประเสริฐทรัพย์

จิรัฏฐ์​ ประเสริฐทรัพย์

นักเขียนและนักแปล แต่บางครั้งก็หันมาทำงานศิลปะ อาศัยอยู่ที่เชียงใหม่ ผลงานล่าสุดคือรวมเรื่องสั้น 'รักในลวง'

Photographer

Avatar

กรินทร์ มงคลพันธ์

ช่างภาพอิสระชาวเชียงใหม่ ร่ำเรียนมาทางศิลปะจากคณะที่ได้ชื่อว่ามีวงดนตรีลูกทุ่งแสนบันเทิงของเมืองเหนือ มีความสุขกับการกดชัตเตอร์ในแสงเงาธรรมชาติ ชอบแมว หมา และบ้าจักรยานไม่แพ้กิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ