ชื่อหนังสือ Paris versus New York วางอยู่กึ่งกลางระหว่างตึกเอมไพร์สเตตกับหอไอเฟล เนื้อหาด้านในเล่าเรื่องความแตกต่างของทั้งสองมหานครใหญ่ด้วยภาพประกอบสีสันสดใส
Paris versus New York เกิดมาจากบล็อกภาพประกอบของ Vahram Muratyan กราฟิกดีไซเนอร์จากปารีสที่เข้ามาใช้ชีวิตที่นิวยอร์ก ในฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. 2010 บล็อกนี้มีผู้เข้าชมมากกว่า 4 ล้านคนทั่วโลก ผลงานในเล่มนี้เคยได้จัดแสดงที่ Colette ในปารีส และ The Standard ในนิวยอร์ก ก่อนตีพิมพ์เป็นหนังสือเล่มนี้
เพราะในปีนี้เรามีทั้ง Stranger Things ซีซั่น 4, 1899 (จากผู้สร้าง Dark), The Midnight Club (จากผู้สร้าง The Haunting of Hill House, The Haunting of Bly Manor และ Midnight Mass) และ The Sandman มหากาพย์ดาร์กแฟนตาซีของ Netflix, ฝั่ง Disney+ มีซีรีส์จักรวาล Star Wars ที่น่าจับตาอย่าง Andor และการกลับมาของตัวละครในตำนานใน Obi-Wan Kenobi กับซีรีส์ Marvel หลายเรื่อง ฝั่ง Apple TV+ ก็ปล่อยของไม่หยุดไม่หย่อน และฝั่งยักษ์ใหญ่ประจำวงการอย่าง HBO มีทั้ง Westworld ซีซั่น 4, Euphoria ซีซั่น 2 กับซีรีส์ที่คนดูมากที่สุดในปีนี้อย่าง House of the Dragon ภาค Prequel ตระกูลมังกรของ Game of Thrones ที่กระแสตอบรับและคำวิจารณ์ดีถล่มทลาย
และหลังจากที่มี The Boys ซีซั่น 3 เป็นตัวชูโรงเรียกเสียงฮือฮาไปได้ตลอดการออนแอร์ Prime Video อีกหนึ่งผู้เล่นสำคัญที่เพิ่งเปิดตัวในไทยไปเมื่อเดือนที่แล้ว ก็ได้ส่งผู้เล่นหน้าใหม่ที่ไม่ใหม่อย่าง ‘The Lord of the Rings: The Rings of Power’ เข้าสู่สังวียน ในฐานะหนึ่งในผู้เล่นน่าจับตามองที่สุดในปี รวมถึงโค้ชของผู้เล่นคนนี้ (ผู้สร้างซีรีส์) ก็ได้รับแรงกดดันมากที่สุดในเวทีนี้เช่นกัน เพราะจะต้องสร้างซีรีส์จากจักรวาลแฟรนไชส์ที่มีคนหลงรักมากที่สุดในโลก
บทความนี้จะเป็นการกางข้อมูลให้กับทุกคนที่สนใจชมซีรีส์ถึงที่มาที่ไป แนวคิดผู้กำกับ ความแตกต่าง และทุกสิ่งที่ควรทราบก่อนการรับชมครับ ทั้งสำหรับแฟนนิยาย J. R. R. Tolkien และผู้ที่สนใจซีรีส์ The Rings of Power
The Rings of Power ซีรีส์ทุนสร้างสูงที่สุดในโลก
ปี 2017 มีการประมูลสุดดุเดือดระดับภูเขาไฟเกิดขึ้น นั่นก็คือการประมูลลิขสิทธิ์สร้างซีรีส์จากภาพยนตร์ The Lord of the Rings และ The Hobbit ของ Warner Bros. มีตัวเก็งที่ใส่สูทนั่งทำหน้าเข้ม และสปอตไลต์ฉายแสงบ่อยที่สุดคือ Prime Video, Netflix และ HBO โดยเป็นการเริ่มต้นที่ 200 ล้านดอลลาร์ฯ และด้วยความที่ Jeff Bezos หนึ่งในชายที่รวยที่สุดในโลก และเคยอยู่อันดับหนึ่งเป็นเจ้าของ Amazon Prime Video เรื่องเลยจบลงที่ 250 ล้านดอลลาร์ฯ และใช่ครับ นี่แค่ค่าลิขสิทธิ์เท่านั้น
ซีรีส์ The Ring of Power ใช้ทุนสร้างราว ๆ 500 ล้านดอลลาร์ฯ (จะให้ถูกคือ 465 ล้านดอลลาร์ฯ บวกค่าโปรโมตทำการตลาด) ต่อแค่ 1 ซีซั่นเท่านั้นครับ นั่นทำให้ซีรีส์เรื่องนี้คือซีรีส์ที่ดูก็รู้ว่าผู้ออกทุนกระเป๋าหนักที่สุดในโลก
Jeff Bezos เองก็เป็นหนึ่งในแฟนของ The Lord of the Rings รวมถึงลูกชายของเขาที่พูดกับพ่อตรง ๆ ว่า “พ่อ อย่าทำมันพังนะครับ ผมไหว้ล่ะ” เขาเลยอัดฉีดให้กับซีรีส์เต็มที่ เพื่อขยับขยายและทำให้ Prime Video เป็นที่รู้จักมากขึ้นด้วยเรื่องที่มั่นใจได้ว่าคนทั่วโลกให้ความสนใจ และทุนสร้างนี้ถูกนำไปใช้เนรมิตให้ภาพและฉากต่าง ๆ ออกมาอลังการงานสร้างที่สุด ตั้งแต่ฉากที่โชว์นาน ไปจนถึงฉากกับช็อตที่โผล่มาสั้น ๆ ซึ่งทำเอาคนดูคิดในใจว่า ไม่ต้องลงทุนขนาดนั้นก็ได้มั้ง แต่ก็ยังทำภาพรวมออกมาได้ราวกับภาพยนตร์มากที่สุด และถ้าจะให้เทียบ The Rings of Power ค่อนข้างมีภาพคล้ายกับ The Hobbit ครับ โดยที่เมกอัพทำระดับเดียวกับ The Lord of the Rings
นอกจากพร็อพ คอสตูม การเนรมิตฉากต่าง ๆ แล้ว สิ่งที่โชว์ออฟว่า The Rings of Power เล่นใหญ่เกินคำว่าซีรีส์คือซีจีที่จัดเต็มถึงขั้นใช้ 20 สตูดิโอในการทำ ศิลปินกว่า 1,500 คน และมีช็อตที่ใช้ซีจีเกือบหมื่นช็อตเลยทีเดียว และอะไรพวกนี้คือผลลัพธ์จากทุนสร้างมหาศาล
ซีรีส์อำนวยการสร้างโดย John D. Payne กับ Patrick McKay กำกับโดย J.A. Bayona จากภาพยนตร์ The Impossible (2012) และ A Monster Calls (2016) ทั้งผู้สร้างและผู้กำกับต่างได้รับแรงกดดันจากการที่ต้องมากุมบังเหียนซีรีส์ที่มีฐานแฟนเยอะที่สุดในโลกครับ โดยผู้สร้าง John D. Payne ตั้งใจทำออกมาให้เด็กดูได้ ผู้ใหญ่ดูดี มีกลิ่นอายความผจญภัยสนุก ๆ ที่บางครั้งก็มีอะไรให้กลัว ให้รู้สึกถึงความดาร์ก ความซับซ้อน และความคมคายในเวลาเดียวกัน
The Rings of Power มีประเด็นไม่เคารพต้นฉบับตั้งแต่ปล่อยภาพนิ่งกับตัวอย่างออกมา เกี่ยวข้องตั้งแต่ชุด ฉาก หน้าตาตัวละคร ทรงผม และสีผิว จนเกิดการตั้งคำถามมากมาย (ไหนจะเรื่องที่ผู้กำกับภาพยนตร์ The Lord of the Rings และ The Hobbit อย่าง Peter Jackson ถูกชวนให้มาเกี่ยวข้อง แต่พอถามถึงบทก่อนค่อยว่ากัน แล้วสตูดิโอบอกว่าจะส่งบทให้ Peter อ่าน จากนั้น Peter ก็ไม่ได้รับการติดต่อหรือมีส่วนด้วยเลยนับตั้งแต่วันนั้นอีก) สาเหตุเรื่องนี้ค่อนข้างเกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องลิขสิทธิ์และแนวคิดในการสร้าง ที่ต้องการสำรวจและนำอะไรใหม่ ๆ มาสู่จักรวาล Tolkien ในแบบฉบับของตัวเองครับ
นั่นก็เพราะ Prime Video ได้ลิขสิทธิ์แค่ The Fellowship of the Ring, The Two Towers, The Return of the King และ The Hobbit ซึ่งเป็นเรื่องราวในยุคที่ 3 แต่ไม่สามารถเข้าถึงหรือดัดแปลงจากที่มาสำคัญอย่าง The Silmarillion, Unfinished Tales, The History of Middle-earth และหนังสือเล่มอื่น ๆ ได้ โดยเฉพาะ Akallabêth ซึ่งเป็นที่มาที่ขาดไม่ได้ของ Sauron และอาณาจักร Númenor ด้วยข้อจำกัดตรงที่ต้องวาดภาพเองจากเรื่องราวต้นฉบับที่เป็น Sequel และห่างไกลหลายพันปี บวกกับวิชั่นของผู้สร้างที่อยากเติมอะไรใหม่ ๆ เข้าไป หลายอย่างก็เลยเป็นการตีความและคิดเรื่องราวขึ้นมาเอง โดยทำให้บรรยากาศกับกลิ่นอายใกล้เคียงกับหนังต้นฉบับมากที่สุด แต่ก็จงใจทำให้แตกต่างเพื่อเลี่ยงข้อเปรียบเทียบและคอนเนกชันที่ดูชัดเกินไปจนตีกรอบซีรีส์เกินความจำเป็น และนั่นส่งผลให้ซีรีส์ถูกมองว่าตีความใหม่โดยออกแนวบิดเบือน จนถึงการถูกวิจารณ์ว่าเป็น ‘แฟนฟิกชัน’
เรื่องราวใน Middle-earth หรือมัชฌิมโลกของ J.R.R. Tolkien กว้างใหญ่ไพศาลและกินระยะเวลายาวนานถึง 9,000 ปี แบ่งเป็น 4 ยุค คือยุคแรกคือยุคแห่งการสร้างโลกที่มีวายร้ายหลักคือ Melkor หรือ Morgoth ในสมัยที่ Sauron ยังเป็นลูกกระจ๊อก ยุคสองคือยุคที่ Sauron ขึ้นสู่อำนาจและเรืองอำนาจ กับยุคที่แหวนถูกสร้างขึ้น ยุคสามคือยุคของเหตุการณ์ในฉบับภาพยนตร์ และยุคที่สี่คือ Age of Men ช่วงเวลาสงบสุขหลังจากสงครามแหวนจบลง
และ The Rings of Power ดัดแปลงจากยุคที่สอง กินระยะเวลานานถึง 3,441 ปี และเกิดขึ้นก่อนเหตุการณ์ในยุคสามของภาพยนตร์ราว ๆ 4,900 ปีเลยทีเดียวครับ The Ring of Power คือการนำเอาเนื้อหาใน 5 นาทีแรกของ The Followship of the Rings (The Lord ภาคแรก) ที่กล่าวถึงแหวน 20 วง ที่ 3 วงครอบครองโดยเอลฟ์ 7 วงครอบครองโดยคนแคระ 9 วงครอบครองโดยมนุษย์ และ 1 วงที่มีอำนาจเหนือแหวนทั้งหมด (One Ring to Rule Them All) มาขยายเป็น 5 ซีซั่น นี่จึงเป็นเรื่องราวที่จะมีทั้งมนุษย์ เอลฟ์ คนแคระ เป็นตัวละครหลัก รวมไปถึงเล่าจุดกำเนิดของแหวนเอกธำมรงค์และยุคที่ยิ่งใหญ่ รวมถึงจุดการล่มสลายของอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่าง Númenor
ว่าด้วยตัวละครเก่าก่อน นอกจาก Sauron ตัวละครหน้าคุ้นของเรื่องนี้คือเอลฟ์ทั้งสามอย่างท่านหญิง Galadriel รับบทโดย Morfydd Clark กับ Elrond รับบทโดย Robert Aramayo (Ned Stark วัยหนุ่มในซีรีส์ Game of Thrones) ที่ในต้นฉบับเป็นลูกเขยและแม่ยาย แต่เรื่องนี้เป็นเพื่อน และราชาเอลฟ์ Gil-galad ที่แน่นอนว่าเปลี่ยนนักแสดง รวมถึงตัวละคร Isildur ผู้ตัดนิ้ว Sauron ที่เป็นบรรพบุรุษของ Aragorn ตัวละครหลักในไตรภาค The Lord of the Rings อีกด้วยครับ
Durin IV เป็นตัวละครสำคัญฝั่งคนแคระ กับภรรยา องค์หญิง Disa
ส่วนเผ่ามนุษย์มี Bronwyn กับ Theo ลูกชายที่ค้นพบดาย ดูจะเกี่ยวข้องบางอย่างกับ Sauron และอำนาจมืด Halbrand ผู้ช่วยชีวิต Galadriel และตัวละครปริศนาที่ดูจะเป็นอีกหนึ่งใจกลางของเรื่องราวนี้ ซึ่งถูกเรียกว่า The Stranger
มีกี่อีพี กี่ซีซั่น และรับชมได้ทางไหน
ซีรีส์ The Rings of Power ได้รับการอนุมัติซีซั่นแรกและซีซั่นสองล่วงหน้าแล้วครับ และถูกวางโครงเรื่องล่วงหน้าไว้แล้ว 5 ซีซั่นด้วยกัน สำหรับซีซั่น 1 ของซีรีส์เรื่องนี้จะมี 8 อีพี 2 อีพีแรกรับชมได้แล้ววันนี้ทาง Prime Video และอีพีต่อ ๆ ไป จะมาทุกวันศุกร์ เวลา 11.00 น.