The Cloud x ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

หนู-ปาริชาติ พงษ์คำ เริ่มเป็นที่รู้จักในนาม ‘แม่บ้านเงินล้าน’ จากในสื่อเมื่อหลายปีก่อน ด้วยความน่าประทับใจในการออมจนมีเงินเก็บหลักล้าน แม้ด้วยอาชีพเธอจะมีรายได้ไม่มากก็ตาม 

‘หนู’ เป็นแม่บ้าน ทำงานประจำที่ห้องสมุดมารวย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มา 22 ปีแล้ว 

เมื่อ 5 ปีก่อน หนูเคยให้สัมภาษณ์ในสื่อว่าเธอมีเงินเก็บล้านกว่าบาท โดยใช้เวลายาวนานถึง 17 ปีในการเก็บออมหลากหลายรูปแบบ หนูขวนขวาย หาข้อมูล และอ่านหนังสือมากมายกว่าจะมาถึงจุดนี้

สิ่งที่หนูเน้นย้ำมากที่สุดในทุกการพูดคุย คือ ‘วินัย’ ในการออม 

ที่สำคัญ หนูมีความสุขกับวิถีชีวิตและการประหยัดอดออมของเธอเสมอ 

ปีนี้หนูอายุ 50 ปี เริ่มใกล้วัยเกษียณ เราชวนเธอพบปะพูดคุยเรื่องราวที่ผ่านมา การวางแผนและการเตรียมตัวเข้าสู่วัยเกษียณที่กำลังคืบคลานเข้ามาในอีกไม่กี่ปี และมุมมองความสุขในชีวิตของเธอ 

บ่ายวันนั้นในห้องสมุดมารวย มีผู้มาใช้บริการไม่มากนัก

เรานัด หนู ปาริชาติ ที่นี่ สถานที่ทำงานอันเป็นจุดเริ่มต้นการออมเงิน หนูปรากฏตัวพร้อมรอยยิ้มอบอุ่นจริงใจ ในชุดเครื่องแบบแม่บ้านสะอาดตา เธอให้เราเรียกเธออย่างเป็นกันเองว่า พี่หนู

‘พี่หนู’

พื้นเพเดิมพี่หนูเป็นคนที่ไหน ที่บ้านประกอบอาชีพอะไร

เป็นคนศรีสะเกษ พ่อแม่ทำนา มีพี่น้อง 6 คนค่ะ หนูเป็นคนที่ 5

บ้านฐานะยากจนมาก ต้องใส่รองเท้าคีบคนละข้างกับพี่น้องไปโรงเรียน ที่บ้านมีรายได้ทางเดียวจากการทำนา พื้นที่นาก็มีไม่กี่ไร่ ได้ข้าวแค่พอกินเป็นปี ๆ ไป ไม่ได้มีเหลือพอจะเอามาขาย 

ความคิดสมัยเด็ก คือเราเห็นพ่อแม่ลำบากมาแล้ว จะทำอย่างไรให้พ่อแม่มีเงินใช้ ไม่ขัดสน หนูจะต้องไปทำงาน ซึ่งอันดับแรกก็คิดถึงกรุงเทพฯ ก่อนเลย ถ้าเรามีความอดทนในการทำงาน ขยันหมั่นเพียร เราก็มีเงินส่งให้พ่อแม่ได้ 

พอจบ ป.6 หนูมาทำงานที่กรุงเทพฯ เป็นแม่บ้านตามบ้าน เงินเดือน 600 – 700 บาท แต่ก็มีเงินส่งให้พ่อแม่ปลูกบ้าน ซื้อที่นา เพราะเราทำงานอยู่ในบ้านผู้ว่าจ้าง ของกิน ของใช้ ผู้ว่าจ้างก็ซื้อให้หมด 

จนมีแฟน แต่งงาน ก็ย้ายมาทำงานที่นี่ 

ตอนเริ่มทำงานเป็นแม่บ้าน พี่หนูตั้งเป้าหมายชีวิตไว้อย่างไร

เป้าหมายของหนูคือ ‘พ่อแม่’ พ่อแม่ต้องมาก่อน 

ผู้ว่าจ้างบอกว่าไม่เคยเจอลูกจ้างที่ไม่เที่ยวเลย หนูเป็นคนไม่มีความคิดอยากเที่ยว เราทำงานบ้านเสร็จก็ชอบอ่านหนังสือพิมพ์ เรามีเป้าหมายที่จะทำให้พ่อแม่สุขสบาย และมั่นคงด้านการเงินมากกว่าตอนที่เราเป็นเด็ก เลยทำทุกอย่างให้ผู้ว่าจ้างชอบ เอ็นดู ไว้ใจเรา และทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด เงินเดือนเลยขึ้นเรื่อย ๆ ค่ะ พอเงินเดือนออก หนูส่งเงินกลับบ้านหมดเลย

ที่บ้านมีหนี้สินมั้ย

ไม่มีค่ะ ไม่เคยมี (เธอย้ำ)

แม่บอกว่าจะจน จะอะไรก็ช่าง อย่าไปยืมเขา เรากินเท่าที่มี ใช้เท่าที่มี อยู่แบบพอเพียงของเรา แม่เป็นคนขยันมาก ทำไร่ทำนาเสร็จยังปลูกหม่อนเลี้ยงไหมต่อ เที่ยงคืน ตี 1 ไม่นอน เราเห็นจนชิน สำหรับแม่ ถ้าลูกตื่นหลัง 6 โมงเช้าคือสาย ต้องโดนแล้วนะ (หัวเราะ) พี่น้องหนูขยันทุกคน เพราะมีพ่อแม่เป็นต้นแบบ

พี่หนูเริ่มเก็บออมเพื่อตัวเองตอนไหน

เริ่มตอนแต่งงานแล้ว เราให้พ่อแม่ไปหมดแล้วตอนเราเป็นสาว ปลูกบ้านให้แม่ ซื้อที่นาให้แม่ เขาอยากทำอะไรก็ให้เขาทำเต็มที่ พอเรามีครอบครัวก็แบ่งให้เขาบ้าง ถึงไม่ใช่ทั้งหมดแต่ก็ส่งทุกเดือน 

เราจดบันทึกรายรับ-รายจ่ายตลอด เรากับแฟนเงินเดือนออกทุกสิ้นเดือน ก็จะรู้ว่ารายรับต่อเดือนมีเท่าไหร่ แฟนพี่เป็นหัวหน้า รปภ. ได้เยอะอยู่ เราก็หักค่าห้องพัก ค่าเดินทาง เงินให้พ่อแม่หนู เงินให้พ่อแม่แฟน ที่เหลือฝาก 

เราไปถามธนาคารว่าจะฝากแบบไหนดี แต่ละแบบได้ผลตอบแทนยังไง เราเลือกฝากประจำเดือนละหมื่น ปลอดภาษี 24 เดือน ทั้งต้นและดอกเบี้ย เราได้ครบ เป้าหมายคือ ‘อยากมีเงิน’ แค่นั้น เราไม่ได้คิดซับซ้อน แต่จะทำอย่างไรให้มีเงินเยอะล่ะ เพราะเรารายได้ไม่เยอะ ความรู้แค่ก็ ป.6

แล้วทำอย่างไร

วิธีเดียวที่เราทำได้ คือเราต้องประหยัด ไม่ซื้อของที่ไม่จำเป็น ที่สำคัญคือต้องจำกัดการใช้เงินในแต่ละวัน ทำให้ยอดใช้จ่ายของเราน้อยกว่ารายรับ ถึงเราไม่รวย แต่เราก็มีเงินเก็บ ไม่ขัดสน 

โชคดีตรงที่หนูได้แฟนดีด้วย เราศีลเสมอกัน ไม่เที่ยว ไม่สูบบุหรี่ ไม่กินเหล้า

แต่ตอนนี้เขาเสียชีวิตแล้ว เหมือนเขาให้เราสบายแล้วเขาก็ไป 

หนู-ลงทุน

พี่หนูออมแบบฝากประจำมานานแค่ไหน ถึงเริ่มขยับไปลงทุน

เป็นสิบปีนะ เราต้องหาความรู้ด้วย ทำงานไปด้วย 

เรามีเวลาจำกัดที่จะอ่านหนังสือ แล้วเราไม่กล้าเอาเงินก้อนไปลงทุน ถ้ามันหมด เราจะทำอย่างไร แต่ถ้าเราไม่ลงทุนเลย เงินเฟ้อจะทำให้เราเสี่ยงกว่าเดิม เราถึงต้องหาข้อมูลควบคู่ไปด้วย

สมัยก่อนห้องสมุดมารวยมีสัมมนาทุกอาทิตย์ นอกจากอ่านหนังสือ เราก็ฟังสัมมนาด้วย เพราะมีความคิดว่า ถ้าอยู่ในพื้นที่ที่เราหาความรู้ได้ก็ควรขวนขวาย ทำประโยชน์ให้ตัวเอง และพัฒนาตัวเองไปเรื่อย ๆ ทุกวันนี้เราก็ยังอ่านหนังสือ ฟังพอดแคสต์ จะได้รู้ว่าควรไปแนวทางไหนและเตรียมตัวได้ถูก

ตอนนี้มีแอปฯ อ่านหนังสือฟรีในห้องสมุดด้วยค่ะ ไม่ต้องเป็นสมาชิกก็อ่านได้ ชื่อแอปพลิเคชันว่า Maruey Library เป็นหนังสือ E-book ไม่ได้มีทุกเล่มนะคะ มีบางเล่มที่คนสนใจเยอะ ๆ 

พี่หนูเริ่มต้นลงทุนอย่างไร

เริ่มคิดก่อนว่า ถ้าเก็บเดือนละ 10,000 ปีหนึ่งก็ 120,000 ถ้า 5 ปีจะเป็นเท่าไหร่ แล้วจะเอาไปต่อยอดอย่างไรบ้าง ธนาคารให้ดอกเบี้ยน้อยมาก ถ้าซื้อหุ้นหรือกองทุนหุ้นน่าจะได้ผลตอบแทนเยอะกว่า

เราลองสอบถามน้องบรรณารักษ์ในห้องสมุดมารวย เขาแนะนำพื้นฐานว่าให้ดูงบการเงินว่าเป็นอย่างไร เราเลยเริ่มมีความรู้บ้างบางส่วน แต่ไม่ได้เก่งนะคะ พอเริ่มมั่นใจก็ใช้เงินเก็บก้อนใหญ่ลงทุน แต่เก็บสำรองไว้ด้วย เผื่อล้มก็ยังเริ่มต้นใหม่ได้ เพราะเรามีวินัยและประหยัด

พี่หนูจัดสรรรายได้แต่ละเดือนอย่างไร

มีส่วนที่ออมไว้กับส่วนใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน 

ออมไว้ก็มี 4 ส่วน มีฝากออมทรัพย์เผื่อฉุกเฉิน ฝากประจำ กองทุนรวม และที่ไม่เสี่ยงมากอีกส่วนหนึ่ง เราต้องกระจาย เพราะเราอายุเยอะแล้ว ต้องให้สมดุลกันค่ะ เผื่ออันนี้ลงไป ก็ยังมีอีกอันซัพพอร์ต ด้วยความที่อายุเราเยอะแล้ว เราจะเริ่มต้นก็ยากเลยไม่ประมาทในการใช้ชีวิต

ตอนที่คริปโตเป็นที่นิยมก็ไม่ได้สนใจ มันจับต้องไม่ได้ เร็ว ดูน่ากลัว ไม่เหมาะกับเรา เลยไม่เอาดีกว่า เราไม่ได้มีความรู้ด้านนี้เลย บางคนเอาทุกอย่างไปลงคริปโต แล้วไม่เป็นอย่างที่หวังก็มี

เคยผิดพลาดบ้างมั้ย

มีค่ะ ตอนโควิด-19 หุ้นตกเยอะมาก สูญไปเยอะเหมือนกัน หนูว่าทุกคนเป็นหมด 

หนูกินไม่ได้ นอนไม่หลับ ร้องไห้เลย ทำไมฉันเครียดขนาดนี้ ระบายที่ไหนไม่ได้ เพราะเราทำเอง 

พอหุ้นตกลง พี่หนูจัดการอย่างไร

เก็บสักพัก เก็บจนเก็บไม่ไหวแล้วก็ขาย ขอโทษนะ ฉันก็ทำใจไม่ได้เหมือนกัน แต่ต้องตัดสินใจ เรามีสมอง มีเงิน มีกำลังอยู่ พยายามต่อไป ประหยัดให้มากขึ้นอีก เพราะเราเสียดายตรงจุดที่มันหายไป

เลยกินน้อยลง แต่กินอาหารดี ๆ เน้นผักต้ม ผักนึ่ง ทำอย่างไรก็ได้ที่ไม่เบียดเบียนตัวเองมาก

ต้องประหยัดมากขึ้นกว่าเดิมทั้งที่ประหยัดมากอยู่แล้ว เครียดมั้ย

เราไม่เครียดนะ เพราะเป็นคนที่มีความสุข ถ้าใช้เงินน้อยจะมีความสุขมากกว่าใช้เงินเยอะ รู้สึกชนะตัวเอง หนูชอบแข่งขันกับตัวเอง ชอบตั้งเป้ากับตัวเอง เป็นคนที่ทำอะไรก็จะทำเกินร้อย 

ข้อเสียคือเราเป็นคนจริงจังกับทุก ๆ เรื่องที่ทำ พอทำไม่ได้ก็ โอ๊ย! ทำไมเธอทำไม่ได้เนี่ย เธอต้องพยายามกว่านี้สิ บางทีกดดันเหมือนกันค่ะ แต่เราก็จะมีวิธีผ่อนคลาย ออกกำลังกาย ฟังเพลง

แต่ถ้าเราทำสำเร็จเนี่ย โคตรดีใจเลย “ถ้าเราทำได้ขนาดนี้ ก็แสดงว่าฉันก็เก่งนะ” “เธอก็ทำได้นะ” “เธอก็มีความสามารถที่จะทำได้นะ ถ้าเธอมีความพยายามพอ” ชอบพูดกับตัวเองแบบนี้

มีบ้างมั้ยที่ทำไม่ได้ เหมือนว่าไปสุดได้เท่านี้ ไปกว่านี้ไม่ได้แล้ว

เราจะบอกตัวเองว่า

“เธอทำดีที่สุดแล้ว ภูมิใจในตัวเองสิ เธอไม่มีอะไรมาเลย ทำได้ขนาดนี้ถือว่าสุดยอดแล้วนะ” 

หนูมองว่าชีวิตคนเราต้องผ่านทุกข์ ผ่านความลำบาก ถึงจะทำให้เราแกร่ง

ท้อได้นะ แต่อย่าท้อนาน เราต้องกินต้องใช้ จะไปดาวน์ตลอดไม่ได้ ถ้าเราไม่สู้ แล้วใครจะมาสู้กับเรา ที่สำคัญคือเราต้องมีพลังบวก ต้องให้กำลังใจตัวเองเป็น เราถึงจะให้กำลังใจคนอื่นได้

หนู-วางแผน

พี่หนูตั้งใจจะเกษียณตอนอายุเท่าไหร่ และวางแผนการใช้ชีวิตหลังเกษียณแบบไหน

ตั้งใจจะเกษียณตอนอายุ 55 หรือ 60 ปี เป้าหมายคือมีเงินเก็บ 5 – 6 ล้านบาทก่อนเกษียณ

ถ้าถึงเป้าแล้วแต่ก็ยังอยากเก็บเงินเผื่อ สำหรับท่องเที่ยว ซึ่งเราเป็นคนแอคทีฟ หลังเกษียณอยู่เฉย ๆ ไม่ได้แน่ คงไปอยู่บ้านต่างจังหวัด เพราะเรามีที่มีทางอยู่แล้ว ทำสวนนิด ๆ หน่อย ๆ 

เป้าหมายชีวิตของพี่หนู มีอย่างอื่นนอกจากเก็บเงินให้ได้ตามที่ต้องการมั้ย

สุขภาพต้องมาควบคู่กัน ตอนนี้เริ่มออกกำลังกายมาได้ปีกว่า ๆ 

แล้วเป้าหมาย 5 – 6 ล้าน พี่หนูคำนวณจากอะไร

เราคำนวณจากการใช้จ่ายในชีวิต เงินเฟ้อ และการจะมีชีวิตอยู่ถึงอายุ 70 – 80 ปี 

พี่หนูเคยบอกว่ามาถึงจุดนี้ได้ เพราะคำเดียว คือ “ฉันอยากรวย” คำว่า ‘รวย’ สำหรับพี่หนูคืออะไร

สำหรับเรา คำว่า ‘รวย’ คือการมีพร้อมทุกอย่าง สุขภาพจิต สุขภาพกาย ไม่ขัดสนเดือดร้อนด้านการเงิน ได้กินในสิ่งที่อยากกิน ได้ใช้ในสิ่งที่คิดว่ามันจำเป็นสำหรับเรา 

เป้าหมายของพี่หนูคือ ‘ความมั่งคั่งทางการเงิน’ ความหมายของคำนี้คล้ายคำว่า ‘รวย’ มั้ย 

คำว่า ‘มั่งคั่ง’ คือเราต้องมีหลักประกันที่จะซัพพอร์ตตัวเอง เช่น ประกันสังคม ประกันชีวิต แล้วต้องมั่งคั่งหรือมีพอที่จะจุนเจือญาติพี่น้องยามเขาเดือดร้อนโดยที่ต้องไม่เดือดร้อนตัวเองด้วย

หนู-แนะนำ 

กลัวการเกษียณมั้ย

ไม่กลัวค่ะ (ตอบอย่างมั่นใจ) ถ้ามีการวางแผนที่ดี เราวางแผนเริ่มต้นเก็บตั้งแต่เริ่มทำงาน ถ้าเกษียณแล้วก็อยู่ได้ เพราะการใช้ การอยู่ การกินของเรา ไม่ได้ฟุ่มเฟือย ไม่ได้ฟุ้งเฟ้อ เรากินแบบพอเพียง กินง่าย อยู่ง่าย

จะทำอย่างไรถ้าเกษียณก่อนที่เงินเก็บยังไม่ถึงเป้าหมาย

ถ้าเกษียณแล้ว แม้จะมีเงินไม่เยอะก็อยู่อย่างประหยัดได้นะคะ แต่อย่ามีหนี้

พี่หนูว่าเราควรเตรียมตัววางแผนเกษียณตั้งแต่อายุเท่าไหร่

เริ่มเร็วได้ก็ดี ถ้าเรียนจบใหม่ ๆ ได้ 15,000 ฝากธนาคารอย่างน้อย 10 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ ฝากประจำไปเรื่อย ๆ 20 – 30 ปี ดูเหมือนน้อย แต่ระยะเวลานาน มีเงินเก็บก็เยอะเหมือนกัน แถมไม่มีความเสี่ยงด้วย ส่วนคนวัย 50 แบบเรามีทางเลือกในการออมไม่มาก ยังลงทุนในสิ่งที่ไม่เสี่ยงมากได้ เช่น พันธบัตรรัฐบาล สลากออมสิน ตราสารหนี้ เป็นต้น การลงทุนต้องเลือกให้เหมาะสมกับตัวเรา

สิ่งสำคัญคือ ‘วินัย’ ถ้ามีเงิน 10 ล้าน 100 ล้าน แต่ไม่มีวินัยในการเงิน แป๊บเดียวก็หมด เห็นข่าวใช่มั้ยคะ ถูกหวย 30 ล้าน แป๊บเดียวหมด เพราะเขาไม่วางแผนการใช้เงินและไม่วางแผนอนาคตข้างหน้า

พี่หนูย้ำบ่อยมากว่าการออมต้องมี ‘วินัย’ ทำอย่างไรให้เรามี ‘วินัย’ อย่างเข้มแข็ง

ต้องถามตัวเองก่อน คุณอยากมีชีวิตแบบไหน (ยิ้ม) อยากมีชีวิตแบบกินไปวัน ๆ หรือต้องการเงินที่มั่นคง ให้คนอื่นแนะนำเท่าไหร่ แต่ถ้าไม่ตั้งเป้าหมายกับตัวเองให้มั่นใจเสียก่อนก็เป็นไปไม่ได้ 

คุณต้องมีเป้าหมาย แล้วเกาะมันเพื่อไปให้ถึง ถ้าวางแผนการใช้เงินดี อนาคตไม่ลำบาก

‘ไม่ลำบาก’ เป็นแบบไหน

มีกิน มีใช้ และไม่เป็นหนี้

ชีวิต-หนู

พี่หนูเคยซื้ออะไรตามใจตัวเองมั้ยคะ

ไม่ค่ะ เพราะเรามองผลได้-ผลเสีย เหตุและผลของมันมากกว่า ซื้อเมื่อต้องใช้จริง ๆ ที่อยากซื้อคือทอง ทองแท่ง เพราะอยู่ในรูปของการออมแบบหนึ่ง ของอย่างอื่นไม่ค่อยอยากได้สักเท่าไหร่ 

เรามีความสุขในสิ่งที่เป็นนะ ยังเป็นคนรักสวยรักงาม ซื้อเครื่องสำอาง มันคือการลงทุนเพื่อให้ตัวเองดูดี (หัวเราะ) ลงทุนกับความสุขของเรา แต่ก็ไม่ได้เกินตัวเรา ซื้อใช้เท่าที่จำเป็น 

พี่หนูทำงานมามาก ขยันมาก ทำงานวันละ 12 ชั่วโมง แบ่งเวลาให้ตัวเองอย่างไร

ออกกำลังกายไปด้วย ฟังพอดแคสต์ไปด้วย เวลาหนูมีคุณค่ามาก เพราะมีจำกัด เราต้องได้ทั้งความรู้และสุขภาพ ไม่มีเวลานั่งอ่านหนังสือ ต้องจัดสรรเวลาตัวเอง บางทีก็ฟัง GOT7 (หัวเราะ)

เป้าหมายอีกอย่างคือไปท่องเที่ยวเพื่อผ่อนคลาย ได้ไปบ้างแล้วหรือยัง 

ถ้าเป็นเที่ยวใกล้ ๆ ก็ไปบ้างค่ะ เราชอบทำบุญ ไปวัดพระแก้ว วัดโพธิ์ แต่ยังไม่ได้ไปเที่ยวไกล ๆ ค่ะ ยังเสียดายตังค์ (หัวเราะ) แต่เราก็มีความสุขกับสิ่งง่าย ๆ ใกล้ ๆ ตัวเรานะคะ

พี่หนูวางแผนในการใช้ชีวิตมาตลอด ทั้งการเงิน การใช้ชีวิตประจำวัน การท่องเที่ยว

(หัวเราะ) ทุกอย่างมีเหตุและผล ทุกอย่างต้องคุ้มค่า

เรามองว่าทำทุกอย่างได้ อยู่ที่ว่าจะทำหรือเปล่า การที่เรามี Mindset แบบนี้ เพราะเรารักตัวเอง อันนี้สำคัญ ถ้ารักตัวเอง ก็ต้องการให้ตัวเองได้รับสิ่งดี ๆ และไม่ไปหาสิ่งที่ไม่ดีเข้าหาตัวเอง

เหนื่อยมั้ย

ไม่ค่ะ (น้ำเสียงหนักแน่น) เราไม่เหนื่อยเลย รู้สึกสนุกกับการทำแบบนี้ ชอบการวางแผนแล้วทำได้ เรามีความสุขเพราะชนะใจตัวเอง (หัวเราะ) ชอบปลุกพลังตัวเองว่าทำได้สิ เธอเก่งจะตาย 

ขุมพลังของพี่หนูคือการรักและเห็นคุณค่าของตัวเอง

ถ้ารักตัวเอง เราจะเห็นคุณค่าของตัวเอง เป็นคนที่ดีกับตัวเอง เป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ เป็นเพื่อนที่ดีของเพื่อน ๆ เป็นลูกจ้างที่ดีของผู้ว่าจ้าง เมื่อไหร่ก็ตามที่รักและเห็นคุณค่าของตัวเอง เราจะมีพลังดี ๆ ในการทำสิ่งต่าง ๆ และเราชอบบอกตัวเองเสมอว่าเธอมาได้ขนาดนี้ เธอเจ๋งนะ ถึงใช้เวลามากกว่าคนอื่น ถึงใช้ความพยายามมากกว่าคนอื่น แต่เธอทำได้ ไม่มีอะไรที่เธอทำไม่ได้ ถ้าเธอจะทำน่ะ

รู้สึกอย่างไรที่เป็นที่รู้จัก มีคนสนใจ

ดีใจนะ บางคนก็เข้ามาบอกว่า พี่หนู ผมได้ดูคลิปพี่นะ ดีจังเลย พี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ผมมาอ่านหนังสือ แล้วมาหาความรู้เรื่องการลงทุน เรากลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนโดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้สูง ไม่จำเป็นต้องเป็นอาชีพที่ใส่สูทผูกไท และเริ่มต้นจากไม่มีอะไรเลยจริง ๆ

‘ชีวิต’ และ ‘ความสุข’ ในวันนี้ของพี่หนูคืออะไร

ชีวิตเหรอคะ (นิ่งคิด) 

ถ้าตื่นขึ้นมาแล้วยังหายใจอยู่ นั่นแสดงว่าเรายังมีชีวิต มีชีวิตเพื่อทำทุกวันให้ดีที่สุด

ไม่รู้ว่าจะมีพรุ่งนี้หรือเปล่า ไม่รู้ว่าจะมีชาติหน้าหรือเปล่า ฉะนั้น วันนี้ วันที่ยังมีลมหายใจ ถ้าอยากทำอะไร ทำเลย เพื่อจะได้ไม่เสียใจในภายหลัง และต้องไม่ลืมมีความสุขกับทุกสิ่งที่เราทำ

รักตัวเองให้เป็น เห็นคุณค่าตัวเองให้เป็น ขอแค่มีพลังบวก อยู่ตรงไหนเราก็มีความสุข

บ่ายวันนั้นกับพี่หนู เราสัมผัสได้ถึงพลังงานความสุขที่แผ่ออกมาแทบตลอดเวลา แววตาเป็นประกายยามเล่าเรื่องราวที่ตัวเองทำอยู่ทุกวัน เสียงหัวเราะและรอยยิ้มที่เปื้อนหน้าอยู่เสมอ มืออุ่น ๆ ที่ช่วยให้มือเย็น ๆ จากอุณหภูมิหนาว ๆ ในห้องสมุดอุ่นขึ้น และการโอบกอดยามร่ำลา 

สิ่งที่เรียนรู้จากพี่หนูในวันนั้น นอกจากวิธีการออมเงิน คือทัศนคติและความจริงใจในการใช้ชีวิตเรียบง่ายที่เรามองว่านี่คือเบื้องหลังความสำเร็จกับเป้าหมาย ‘ความมั่งคั่ง’ ของเธอ

The Cloud Golden Week : Happy Young Old คือแคมเปญสนุก ๆ ที่ The Cloud จับมือกับ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เปิดรับวัยอิสระ อายุ 45 ปีขึ้นไป ทั้งนักเขียน ช่างภาพ และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ มารวมพลัง ‘เล่าเรื่อง’ ผ่านสื่อดิจิทัลบนก้อนเมฆเป็นเวลา 1 สัปดาห์

ภายใต้ธีม ‘การเตรียมตัวเข้าสู่วัยอิสระ’ และ ‘การดำเนินชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความสุข’ เปรียบเสมือนคู่มือเล่มน้อย ๆ ที่อัดแน่นด้วยคำแนะนำ การรับมือ การใช้ชีวิตก่อน-หลังเกษียณในหลากหลายมิติ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ‘การวางแผนการเงิน’ เราจึงชวนวัยอิสระเล่าเรื่องราวของ หนู-ปาริชาติ พงษ์คำ ฉายาแม่บ้านเงินล้าน แห่งห้องสมุดมารวย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มาแบ่งปันคำแนะนำและแนวทางการวางแผนเงินออมอย่างมีวินัย เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความสุข

ชวนเตรียมพร้อมรับมือเกษียณ ปรับความคิดและเข้าใจวิธีการบริหารเงินให้เพียงพอ เพื่อชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความสุขกับ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในแคมเปญ ‘Happy Money, Happy Young Old ปูนนี้ (ก็) มีใช้’ ทาง setga.page.link/3QBcTPT2bsGuuD9o6

Writer

ลลิตา ตันติมูรธา

ลลิตา ตันติมูรธา

เป็นมนุษย์แม่ รักธรรมชาติ ชอบคุยกับต้นไม้ ใบหญ้า และสารพัดรอบตัว ชอบเขียนบันทึก ชื่นชมงานศิลปะและงานทำมือ รักการเดินทาง และชอบการนั่งหายใจเฉย ๆ มองอะไร ๆ ไปเรื่อย ๆ

Photographer

สิทธิชัย กิตยายุคกะ

สิทธิชัย กิตยายุคกะ

ประกอบอาชีพเกี่ยวกับความสวยงามมาตลอดชีวิตตั้งแต่วันแรกของการทำงาน อดีตสไตลิสต์และคนถ่ายรูปในช่วงรุ่งเรืองของนิตยสารไทย ปัจจุบันกลายเป็นคนออกแบบเสื้อผ้า ที่ยังถ่ายรูปอยู่เสมอ