09.00 – 10.00 น. บัวบานทั้งปางอุบล
นัดครั้งนี้สำคัญมาก ไปสายไม่ได้เด็ดขาด
หิว-คมกฤช ชูเกียรติมั่น และ พราว-น.ต.หญิง ปริมลาภ ชูเกียรติมั่น ย้ำว่าต้องไปพบกันที่ ‘ปางอุบล’ 9 โมง ไม่เกิน 10 โมงเช้า เพราะเป็นช่วงเวลาที่บัวบานกลางวันเริ่มบาน และบัวบานกลางคืนยังไม่หุบ จึงเห็นทั้ง 2 ชนิดบานพร้อมกันได้
พอเดินเข้ารั้ว ทักทายคู่สามีภรรยาเจ้าของบ้านและสวนบัวปางอุบลได้ไม่กี่คำ ทั้งสองก็รีบพาไปดูบัว เพราะห่วงว่าบัวบานกลางคืนบางดอกจะหุบเสียก่อน
ภาพบัวบานเต็มอ่างทำให้เข้าใจเสียทีว่า ทำไมความงามของหญิงสาวในวรรณคดีมักถูกเปรียบเปรยกับความสวยของพืชชนิดนี้ และทำไมบัวจึงไปโผล่ในจินตภาพของศิลปินไทยและศิลปินระดับโลกมากมาย ไม่อยากเชื่อว่าไม่ไกลจากรุงเทพฯ มีสถานที่อนุรักษ์บัวหลากหลายสายพันธุ์เสมือนเป็นพิพิธภัณฑ์อย่างที่นี่

แต่ดูเหมือนคนที่มีความสุขที่สุดที่ทำให้เราไม่พลาดช่วงเวลาพิเศษนี้คือหิวและพราว เพราะนี่คือช่วงเวลาที่บัวทุกดอกซึ่งเขาและเธออุทิศความรักให้เบ่งบาน
มาดามดูบัวและลุงบัว

ก่อนที่จะนั่งลงคุยกัน หิวขอไปเปลี่ยนเสื้อผ้าล้างตัวเสียก่อน เพราะเขาใช้เวลาที่ตื่นก่อนบัวกลางวันจะบานไปกับการดูแลบัว และเพิ่งก้าวออกจากบ่อก็ตอนที่เราไปถึง ทุกเช้าเขาและพราวจะเดินรอบปางอุบลเพื่อสำรวจสุขภาพของบัว คอยใส่ปุ๋ยและคอยเด็ดดอกเด็ดใบที่โรยตามบ่อต่าง ๆ
“ทำไปทำมาก็หมดวันแล้ว”

สิ่งที่หิวพูดไม่น่าแปลกใจเลย เพราะเมื่อเทียบอัตราส่วนของพื้นที่ขนาด 3,200 ตารางเมตร และบัวอีกกว่า 650 พันธุ์ ต่อกำลังพลของสองสามีภรรยา ทำอย่างไรก็คงดูแลไม่หมดในวันเดียว เป็นเรื่องไม่ง่ายเลยที่ภาคเอกชน ซึ่งไม่ได้มีกำลังพลหรือกำลังทรัพย์อย่างหน่วยงานรัฐจะอนุรักษ์และเพาะพันธุ์บัวด้วยกำลังของตัวเองได้ จนเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ ในประเทศและต่างประเทศ
แต่สิ่งที่ทำให้แปลกใจคือ เขาพูดประโยคดังกล่าวด้วยรอยยิ้ม

สำหรับหิวและพราว ความเหนื่อยกายคุ้มค่ากับการที่ได้ดูแลบัวทุกดอกในปางอุบลอย่างใกล้ชิด จุดประสงค์ของที่นี่คือการอนุรักษ์พันธุ์บัวดั้งเดิม ซึ่งความละเอียดในทุกขั้นตอนการดูแลเป็นหลักสำคัญในการป้องกันการกลายพันธุ์ของสายพันธุ์บัว
“เราเลือกดูแลบัวในพื้นที่บ้านของเรา เพราะเราควบคุมสภาพแวดล้อมได้ระดับหนึ่ง และตื่นเช้ามาก็ลงมาดูแลเขาได้ทันที”
หิวจึงมักบอกคนรู้จักว่า พวกเขาควรจะเปลี่ยนชื่อเป็น ‘มาดามดูบัว’ และ ‘ลุงบัว’ คู่รักอนุรักษ์พันธุ์บัวแห่งปางอุบล เนื่องจากสมัครใจใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการดูแลราชินีแห่งไม้น้ำ

หิวสารภาพว่าตัวเองไม่เคยนึกไม่เคยฝันเลยว่า วันหนึ่งเขาจะกลายเป็นลุงบัวแห่งปางอุบลที่อยู่เพื่อบัวเหมือนทุกวันนี้
“สมัยก่อนเราไม่รู้หรอกว่าบัวมีสายพันธุ์อะไรบ้าง เพราะไม่เคยเป็นเรื่องที่เราสนใจ”
ก่อนหน้านี้เขาเป็นเด็กสถาปัตย์จุฬาฯ ผู้รู้จักแต่บัวไหว้พระ และไม่เคยรู้ว่าบัวมีสีอื่นนอกจากชมพู ขาว และแดง
เขาเริ่มรู้จักเพิ่มขึ้นก็ตอนที่ได้พบกับพราว ซึ่งเป็นรุ่นน้องที่คณะ

“พอดีตอนนั้นคิดอยากลองเลี้ยงไม้น้ำ ก็เลยนึกถึงบัวขึ้นมา พราวเลยพามาที่ปางอุบลเพื่อหาดอกบัวไปปลูก”
เจ้าของปางอุบลในตอนนั้นคือพ่อของพราว หรือ ดร.เสริมลาภ วสุวัต นักเกษตรศาสตร์ผู้มีคุณูปการต่อวงการยางพาราของไทย กระทั่งได้รับเลือกเป็นปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ประจำ พ.ศ. 2555 และผู้เชี่ยวชาญด้านพรรณไม้ประเภทบัวคนแรกของประเทศ โดยก่อตั้งปางอุบลขึ้นใน พ.ศ. 2512 เพื่อให้เป็นสถานที่อนุรักษ์และศึกษาพันธุ์บัว
“พอมาที่ปางอุบลก็ตกใจ ไม่เคยเห็นบัวหลากหลายขนาดนี้มาก่อน” เป็นครั้งแรกในชีวิตที่หิวได้เห็นบัวหลวงไหว้พระขนาดสูงเกือบพ้นหัวคน บัวที่มีกลีบดอกหนาแข็งเหมือนหล่อจากเทียนไข และได้รู้ว่ามีบัวสายพันธุ์บานกลางคืน และสายพันธุ์ต่างประเทศด้วย

ความประทับใจครั้งนั้นก่อให้เกิดความใคร่สงสัยในเรื่องบัว เมื่อเริ่มศึกษาก็เริ่มเข้าใจ เมื่อเข้าใจก็เริ่มสนิทสนม รู้ตัวอีกทีก็ตกหลุมรักพืชชนิดนี้เสียแล้ว
เรามองเหล่าบัวนานาพันธุ์ที่รายล้อมอยู่รอบตัว สีสันและรูปร่างหลายดอกไม่เคยเห็นในภาพวาดหรือหนังสือเล่มไหนมาก่อน
มีอะไรเกี่ยวกับบัวอีกมากที่ไม่รู้ และคำตอบอยู่ที่ปางอุบล
เดินชมบัว
ในพื้นที่ของปางอุบลมีบ่อปลูกบัวหลายขนาด ตั้งแต่ที่เล็กและตื้นพอดีสำหรับการปลูกบัวจิ๋ว ไปจนกว้างและใหญ่พอดีสำหรับปลูกบัวขนาดใหญ่ เช่น บัวยักษ์ออสเตรเลียและบัวกระด้ง เหมือนเป็นการจำลองสภาพแวดล้อมลักษณะต่าง ๆ ไว้ในพื้นที่ 2 ไร่

“เราตั้งใจให้ที่นี่เป็นสถานที่ทดลองปลูกเลี้ยง เราเลยขุดบ่อบัวให้มีระดับต่างกัน มีความลึกตั้งแต่ 60 เซนติเมตรจนถึงเกือบ 2 เมตร เพื่อจะได้รู้ว่าพันธุ์ไหนเติบโตดีในลักษณะสภาพแวดล้อมแบบไหน”
เราเดินถึงบ่อบัวทุกบ่อได้โดยทางเท้า ซึ่งหิวและพราวงัดวิชาสถาปนิกมาออกแบบตามหลัก Universal Design
“เราอยากให้ที่นี่เป็นพื้นที่เรียนรู้สำหรับทุกคน เลยออกแบบทางเดินให้ผู้สูงอายุที่ต้องนั่งวีลแชร์ใช้สะดวก เดินเท้าก็สบาย ถึงเข้าหน้าฝนก็ยังเดินชมบัวได้ปลอดภัย”

รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ออกแบบโดยคำนึงถึงผู้ที่มาเยี่ยมปางอุบลเป็นหลัก แม้แต่อ่างล้างหน้าล้างมือ ก็กำหนดระดับให้ทั้งเด็กและคนนั่งรถเข็นที่มาปลูกบัวใช้ได้ทุกคน
พราวบอกว่าการเปิดบ้านให้คนทั่วไปเข้ามาศึกษาเรื่องบัวเป็นความตั้งใจของคุณพ่อของเธอตั้งแต่ต้น เพราะ ดร.เสริมลาภ เป็นทั้งนักวิชาการและอาจารย์ผู้รักการสอน
“คุณพ่อบอกว่าอยากให้คนเข้าใจเรื่องบัวจริง ๆ เพราะถ้าเข้าใจก็จะปลูกได้ดี พอปลูกได้ดีก็จะมีความสุข” ไม่ว่าจะมีต้นทุนความรู้เรื่องบัวมากน้อยแค่ไหน บ้านปางอุบลก็ยินดีต้อนรับ
สำหรับผู้ที่ไม่มีพื้นฐานเรื่องบัวเลย ทั้งสองจะเริ่มจากการอธิบายให้เข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างคำว่า Waterlily กับ Lotus หรือ อุบลชาติกับปทุมชาติก่อน
บัวที่ก้านอ่อนและใบอยู่ปริ่มน้ำ คือ Waterlily หรือที่คนไทยเรียก อุบลชาติ

ส่วนบัวที่ก้านแข็งและใบชูเหนือน้ำ คือ Lotus หรือที่คนไทยเรียก ปทุมชาติ

หลังจากที่เข้าใจหลักการดังกล่าวแล้ว เราก็ไม่สามารถมองบัวโดยไม่แยกแยะว่าเป็นอุบลชาติหรือ ปทุมชาติได้อีกเลย
ทั้งคู่ย้ำว่า หัวใจสำคัญของการให้ความรู้และคำปรึกษาของที่นี่คือการใช้ศัพท์ชาวบ้านที่ใครฟังก็เข้าใจ เพื่อตอบปัญหาคลาสสิกซึ่งผู้หัดเลี้ยงบัวมักจะเจอ
บัวไม่ออกดอกเลย ทำไงดี!
“บัวส่วนใหญ่ต้องการแดดค่อนข้างมาก มีบางพันธุ์เท่านั้นที่ปลูกในที่รำไรได้ เพราะฉะนั้น ท่องไว้ ไม่มีแดด ไม่มีดอก” หิวแนะนำ ถ้าเมื่อไหร่ปลูกบัวในที่ร่ม จะได้บัวต่างประเทศทันที คือ ‘บัว ดู ใบ’ เพราะจะมีแต่ใบให้ดู

อีกคำถามที่เจอบ่อย คือ ‘ต้องให้ปุ๋ยบ่อยแค่ไหน’
เขาบอกว่าวิธีจำกันลืม คือ “วันไหนหวยออก วันนั้นให้ปุ๋ย” ให้จำอย่างนี้จะลืมลงได้อย่างไร
อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงการให้คำแนะนำพื้นฐานอย่างคร่าวเท่านั้น จริง ๆ แล้วสาเหตุที่ทำให้บัวไม่งามเป็นไปได้หลายปัจจัย เพราะฉะนั้น ‘การรับฟัง’ ปัญหาของผู้ปลูกบัวเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
“บางกรณี เราแนะนำให้เขาทำทุกวิถีทางแล้วบัวก็ยังไม่งาม เขาก็กลุ้มใจเพราะตัวเองก็ดูแลด้วยความใส่ใจทุกวัน สุดท้ายเขาพูดขึ้นมาแบบไม่ได้ตั้งใจว่า ยกบัวขึ้นมาเพื่อขัดตะไคร่ที่บ่อเป็นประจำเพราะกลัวตะไคร่จับ นั่นแหละที่ทำให้บัวตกใจ เราถึงได้รู้สาเหตุว่าทำไมบัวไม่งาม”
เพราะฉะนั้น ใครกำลังกังวลใจเกี่ยวกับบัวที่บ้าน สามารถต่อสายตรงมาที่ปางอุบล หรือจะมาปรึกษาด้วยตนเองก็ได้เหมือนกัน มาดามดูบัวและลุงบัวพร้อมตอบแต่ละคำถามจนกว่าผู้เลี้ยงจะสบายใจ

การเรียนของที่นี่ไม่ใช่แค่ผู้มาศึกษาที่ได้รู้เพิ่ม แต่ผู้สอนก็มักจะได้วิธีการคิดแบบใหม่จากผู้มาเรียนเช่นกัน
“มีอยู่วันหนึ่ง เด็ก ๆ มาเรียนรู้” หิวเล่าถึงเหตุการณ์น่าจดจำระหว่างเขาและนักศึกษารุ่นจิ๋ว “ก็เริ่มด้วยการอธิบายวิธีแยกบัวบานกลางวันกับบัวบานกลางคืนเพียงแค่ดูที่ใบให้ฟัง”
“บัวบานกลางคืน ขอบใบเป็นจักรแหลม เว้าห่างค่อนข้างเท่ากันนะ” หิวชี้ให้เด็ก ๆ สังเกต
“หนูรู้แล้ว!” เด็กคนหนึ่งยกมือ “ลุงเอากรรไกรตัดเล็บมาตัดขอบบัวใช่มั้ย ขอบถึงเว้าเป็นจักรแบบนี้”

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา บัวบานกลางคืนคือบัวที่ใบโดนกรรไกรตัดเล็บเล็ม กลายเป็นวิธีการจำแนกสายพันธุ์บัวแบบใหม่ของปางอุบล
“เวลาแขกไปใครมาเราก็สนุกไปด้วย” การได้เรียนรู้ไปพร้อม ๆ กันกับผู้มาศึกษาเป็นความสุขอย่างหนึ่งของพราว

นั่งมองบัว
Sanctuary (n.) = สถานที่คุ้มภัย, สถานที่ศักดิ์สิทธิ์
‘Sanctuary’ เป็นคำที่ผุดขึ้นมาในหัวหลังจากเดินชมปางอุบลในตอนเช้า เพราะที่นี่ดูแลรักษาเหล่าอุบลชาติและปทุมชาติด้วยความเชี่ยวชาญและเอาใจใส่ ที่สำคัญ ปางอุบลไม่ได้ใช้กลยุทธ์เดียวในการอนุรักษ์พันธุ์บัว พวกเขาทั้งวิจัย เพาะพันธุ์ ให้ความรู้ และเน้นสร้างความผูกพันระหว่างคนกับบัวผ่านกิจกรรมสบาย ๆ โดยเมื่อไม่นานมานี้ ทั้งสองเพิ่งจะจัดกิจกรรม ‘ชมบัว วาดบัว ชิมบัว’ เชิญชวนคนมาวาดสีน้ำที่ปางอุบล

แสงธรรมชาติสาดส่องเข้ามาพอให้เหล่าผู้เข้าร่วมกิจกรรม เห็นสีบนกระดาษของตัวเองไม่ผิดเพี้ยน แต่ละคนกระจายตัวกันนั่งตามมุมต่าง ๆ ของปางอุบล แล้วลงมือร่างบัวที่อยู่ตรงหน้าตามที่ตาเห็น ชาบัวสดอุ่น ๆ ที่มาดามดูบัวและลุงบัวชงให้จิบระหว่างการวาดรูป ทำให้ได้สัมผัสความสวยงามของบัวจากไอหอมซึ่งระเหยจากถ้วยชา

เมื่อวาดเสร็จ ต่างคนต่างนำภาพวาดของตัวเองมาแลกเปลี่ยนเพื่อเรียนรู้และเป็นแรงบันดาลใจของกันและกัน รูปที่สมบูรณ์คือผลลัพธุ์ของการใช้เวลา 3 ชั่วโมงครึ่ง ตั้งแต่ 9.00 – 12.30 น. ของวันหยุด อยู่กับกระดาษ บัว และตัวเอง
นอกจากจะเป็นสถานที่คุ้มภัยของเหล่าบัวแล้ว ดูเหมือนว่าปางอุบลจะเป็นสถานที่พักเหนื่อยจากการใช้ชีวิตปกติให้คนด้วยเช่นกัน

หายใจเป็นบัว
นอกเหนือจากการแบ่งปันความรู้เรื่องบัวภายในพื้นที่ปางอุบล ทั้งคู่ยังกลั่นกรองประสบการณ์การศึกษาบัวเป็นสิบ ๆ ปีออกมาเป็นหนังสือเล่มล่าสุด ชื่อ ‘บัวสัญชาติไทยในปางอุบล’ ซึ่งเป็นหนังสือ 2 ภาษา (ไทย-อังกฤษ) เกี่ยวกับบัวเล่มแรกที่เขียนโดยคนไทย มีภาพประกอบและความรู้เกี่ยวกับบัวละเอียดยิบถึงชื่อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ด้วยความที่อยากให้บัวไทยเป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติ
ในระยะ 10 กว่าปีที่ผ่านมา มีการติดต่อจากเกาหลี ญี่ปุ่น จีน อเมริกา และประเทศอื่น ๆ ที่ต้องการนำบัวพันธุ์แท้จากปางอุบลไปศึกษาและเพาะพันธุ์อยู่เสมอ
ครั้งหนึ่ง ไม่กี่วันหลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการเดินทางระหว่างประเทศ มีคนสิงคโปร์ติดต่อเข้ามาขอดูบัว หิวพบทีหลังว่า “เป็นคนดูแลสวนพฤษกศาสตร์ของสิงคโปร์ มาขอซื้อบัวไปปลูกที่นั่น”

การที่ชาวต่างชาติเริ่มหันมาสนใจบัวไทย ถือเป็นเรื่องน่าภาคภูมิใจ แต่คงจะชื่นใจยิ่งกว่าถ้าหากคนไทยเห็นคุณค่าบัวของตัวเอง
“คนชอบเอาบัวต่างถิ่นมาปลูกเพราะเห็นว่าบัวพื้นถิ่นไม่สวย” นี่เป็นประเด็นซึ่งนักอนุรักษ์ทั้งสองกังวลใจ ทั้งหิวและพราวจึงตื่นเต้นมากเมื่อเริ่มเห็นว่ามุมมองเช่นนี้กำลังจะเปลี่ยนไป
“เราดีใจมากเลยตอนที่มีกลุ่มเยาวชนเชิญเราสองคนไปให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการดูแลบัวหลวงพระราชินี ซึ่งเป็นบัวพันธุ์พื้นถิ่นของบึงหนองจอก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เพราะทำให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่เริ่มหันมาให้ความสนใจการอนุรักษ์พันธุ์บัวท้องถิ่นแล้ว”

บัวผูกพันกับคนไทยมายาวนาน ซึ่งความผูกพันดังกล่าวมีหลักฐานให้เห็นตั้งแต่สมัยสุโขทัย “ในไตรภูมิพระร่วง หรือวรรณคดีไทย มีการเปรียบเปรยถึงดอกบัวเสมอ” หิวหยิบยกตัวอย่างให้เราเห็นภาพ
แต่ถึงปลดความสลักสำคัญทางประวัติศาสตร์ของบัวออก แล้วมองว่าเป็นไม้น้ำธรรมดาชนิดหนึ่ง พราวและหิวก็ยังเห็นว่าจะต้องอนุรักษ์ เพราะตอนนี้บัวเป็นส่วนสำคัญของชีวิต ถึงขั้นที่ทั้งคู่ยอมรับเองว่า “หายใจเป็นบัว”

เวลาตื่นก็ตื่นตามเวลาบัว ทำกับข้าวก็พยายามสรรหาวิธีนำบัวมาใช้เป็นวัตถุดิบ ไปเที่ยวก็คิดห่วงบัว เรียกได้ว่า บัวคือลูก ๆ ของบ้านปางอุบลนั่นเอง
เพราะผูกพันขนาดนี้ พวกเขาจึงคิดภาพไม่ออกเลยว่าจะเป็นอย่างไร หากวันหนึ่งประเทศไทยไม่มีบัว
“คงหงอย ๆ เหมือนกันนะ” หิว ผู้ครั้งหนึ่งไม่เคยมีบัวในชีวิตสารภาพ เขานิ่งคิดสักครู่ก่อนจะพูดว่า
“เอาเป็นว่า ถ้าบัวหายไปจากโลกก็มาที่ปางอุบล เราจะยังคงรักษาเอาไว้อยู่”
18.00 น. บัวกระด้งบาน
“วันนี้ตอนประมาณ 18.00 น. จะมีดอกบัวกระด้งบาน 1 ดอก” หิวก้มมองนาฬิกา “ถ้าต้องการดมกลิ่นอยู่ต่อถึง 6 โมงเย็นได้นะ” เขาเชิญชวนเหมือนพูดเล่น แต่ดูจากสีหน้าท่าทางแล้ว พร้อมจะนั่งเป็นเพื่อนคุยจริง ๆ ถ้าเราตกลงอยู่ต่อถึงเย็น
การที่รู้ว่าดอกไหนจากจำนวนนับไม่ถ้วนบานกี่โมง ทำให้เห็นว่าเวลาชีวิตของทั้งสองหมุนตามเวลาของดอกบัว
เรานัดพบและบอกลาด้วยชั่วโมงบัวบาน

ไม่จำเป็นต้องมาในฐานะนักอนุรักษ์หรือนักศึกษา แค่มาเดินชมบัว นั่งมองบัว หรือมาเป็นเพื่อนสนทนาที่ปางอุบล ก็ถือเป็นความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ ในแต่ละวันของมาดามดูบัวและลุงบัวแล้ว

ปางอุบล
ที่ตั้ง : ปางอุบล 25 ซอยติวานนท์ 46 อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 11000 (แผนที่)
โทรศัพท์ : 0 2952 4243, 09 1295 6545
วัน-เวลาทำการ : วันอังคาร-อาทิตย์ 09.00 – 15.00 น.
Facebook : https://www.facebook.com/Pangubon1969
Website : http://thaiwaterlily.com/