หัวใจปักกัน
“อาชีพของคนตาบอด มีอะไรบ้าง?”
คุณคงมีคำตอบของคำถามนี้อยู่เพียงหยิบมือ อาจเป็นขายลอตเตอรี่ ร้องเพลง หรือพนักงานร้านนวดแผนไทย ซึ่งคนตาบอดที่มีอาชีพอย่างเป็นกิจจะลักษณะในปัจจุบัน คิดเป็นเพียง 20% จากอัตราส่วนคนตาบอดทั่วประเทศ อ้างอิงจากสถิติของสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
นอกจากอาชีพเหล่านั้น กลุ่มคนตาบอดในความดูแลของหน่วยงาน สมาคมต่างๆ ได้ผลิตสินค้าออกมา ส่วนมากมักเป็นงานหัตถกรรมฝีมือง่ายๆ ทั้งกำไลลูกปัด ผ้าพันคอ พวงกุญแจ ยางรัดผม การบูร และอื่นๆ หลายคราวคุณอาจได้อุดหนุนสินค้าเหล่านี้ หากแต่ว่ามันเป็นการอุดหนุนด้วยความ ‘สงสาร’ เท่านั้น
เพราะบางครั้งผลิตภัณฑ์เหล่านี้อาจใช้งานไม่ได้จริงในชีวิตประจำวัน
มีคนกลุ่มหนึ่งเห็นความตั้งใจในการผลิตสินค้าของกลุ่มผู้พิการเหล่านี้ และต้องการพัฒนาสินค้าของคนตาบอดให้เป็นสินค้าที่มีเรื่องราว มีลูกเล่น สามารถใช้งานได้ และมอบเป็นของขวัญให้คนพิเศษได้อย่างไม่เคอะเขิน
เชื่อหรือไม่ว่า จากความตั้งใจและพยายามของกลุ่มคนนี้ ทำให้โครงการเกิดขึ้นจริงได้ภายในระยะเวลา 6 เดือน อีกทั้งประสบความสำเร็จด้านยอดขาย และการสร้างคุณค่าของผลิตภัณฑ์ให้เป็นมากกว่าสินค้าที่ซื้อด้วยความสงสารเท่านั้น
นี่คือเรื่องราวของธุรกิจเพื่อสังคมในชื่อ ‘ปักจิตปักใจ’
ที่มาและความสำคัญ
จุดเริ่มต้นของโครงการนี้ เริ่มต้นจาก คุณผึ้ง-วันดี สันติวุฒเมธี นักเขียนอิสระและนักกิจกรรมเพื่อสังคม
เธอบอกฉันว่า ชีวิตของเธออยู่กับงานจิตอาสามาตลอด ทั้งการเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมค่ายอาสาสมัยเมื่อเธอเป็นนิสิตชั้นปีที่ 4 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว เธอก็มีส่วนร่วมกับกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง แม้กระทั่งปัจจุบันที่เธอย้ายบ้านมาอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่พร้อมกับสามีและลูกชายของเธอ
อีกทั้งงานเขียนของคุณผึ้งที่เผยแพร่สู่สาธารณชนนั้นอยู่ในประเภทงานเขียนเพื่อสังคมอีกด้วย
“เราทำกิจกรรมร่วมกับเด็กๆ ทุกวันเสาร์และอาทิตย์ ส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่อยากให้เด็กๆ และลูกของพี่เรียนรู้คือ การเรียนรู้ร่วมกับคนพิการ ทำให้เราได้ทำกิจกรรมหลายอย่างร่วมกับคนพิการ ซึ่งคนตาบอดเป็นกลุ่มคนที่เราคุ้นเคยมาก ยิ่งเราเป็นนักเขียนสารคดี ต้องเจอคนทุกรูปแบบอยู่แล้ว ประกอบกับช่วง 2-3 ปีหลัง เราได้เรียนการต่อผ้าแบบญี่ปุ่น ซึ่งเราได้เจอป้าหนู (ภวัญญา แก้วนันตา) ในคลาสเรียน
“พอได้เรียนก็รู้สึกว่า เราอยากเห็นสินค้าของคนพิการเป็นสินค้าที่สวยงาม น่าซื้อ เพราะเรื่องหนึ่งที่เป็นคำถามในใจเลยคือ ทำไมเราต้องซึ้อสินค้าคนพิการแล้วไม่ได้ใช้ ทำไมต้องซื้อสินค้าด้วยความรู้สึกว่าเราต้องช่วย เมื่อได้มาทำงานแฮนด์เมดก็รู้สึกว่าทำไมสินค้าคนพิการไม่สวยสักที จนได้เจอคำตอบที่ว่า กระบวนการผลิตสินค้าทั้งหมด ขาดคนที่มีความรู้ในด้านพัฒนาสินค้ามาช่วยเขา เราปล่อยให้คนพิการทำงานเพียงลำพัง เราเลยรู้สึกว่าถ้าเรามีความสามารถ มีความรักในงานแฮนด์เมด เอาสิ่งที่เรารักพัฒนาสินค้าให้เขา และให้เขาขายได้มากขึ้น นี่คือการยกระดับสินค้าคนพิการ มันก็เลยทำให้เรารู้สึกอยากที่จะทำ” คุณผึ้งกล่าวถึงที่มาที่ไปของโครงการปักจิตปักใจ
หลักการและเหตุผล
โชคดีที่คุณผึ้งมีน้องชายที่อยู่ข้างๆ บ้าน สมัยที่คุณผึ้งยังอาศัยอยู่ที่กรุงเทพมหานครคือ คุณเติร์ด-ต่อพงศ์ เสลานนท์ นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ซึ่งคุณผึ้งได้นำความคิดทั้งหมดไปเสนอกับคุณเติร์ด
เขาตอบเธอเพียงแค่ว่า “พี่เอายังไง ผมก็เอาด้วย”
“ตัวผมเองในนามสมาคมฯ ก็พยายามที่จะเฟ้นหาอาชีพใหม่ๆ ให้กับคนตาบอด เพราะอาชีพที่คนตาบอดประกอบอยู่ในตอนนี้หลักๆ 3 หมวดคือ นวดแผนไทย ขายลอตเตอรี่ และร้องเพลง กลุ่มตลาดอาชีพเหล่านี้มันขยายตัวต่อไปไม่ได้ ซึ่งกลุ่มคนที่ประกอบอาชีพเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคนตาบอดทั้งหมด คำถามคือ จะทำอย่างไรกับคนอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่มีงานทำ สมาคมฯ จึงต้องสร้างนวัตกรรม ก่อนหน้านี้พยายามในเรื่องเกษตร แต่ไม่ได้ผล เราจึงเอาอาชีพที่เกี่ยวข้องกับงานหัตถกรรมที่คนตาบอดมีทักษะอยู่แล้วมาปัดฝุ่นใหม่จากคำแนะนำของพี่ผึ้ง” คุณเติร์ดกล่าวถึงส่วนร่วมของสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยต่อโครงการปักจิตปักใจ
โดยบทบาทของคุณเติร์ดและสมาคมฯ คือการสนับสนุนงบประมาณโครงการ การเฟ้นหาสมาชิกเพื่อเข้ารับการอบรม เป็นกลุ่มผู้ผลิตชิ้นงานสำหรับวางจำหน่ายจริง
อีกหนึ่งกำลังสำคัญของโครงการปักจิตปักใจ คือครูผู้สอนการปักผ้าและการดูแลผลิตภัณฑ์ผ้าทั้งหมด ทั้งหมดนี้อยู่ในความดูแลของ ป้าหนู-ภวัญญา แก้วนันตา ผู้เป็นทั้งครูในรั้วโรงเรียนประถมและครูผู้สอนปักผ้า อีกทั้งการเป็นเจ้าของ Sewing Studio by Phanue ซึ่งเป็นฐานบัญชาการที่สำคัญของโครงการ
จากบทบาทครูผู้สอนปักผ้าที่ป้าหนูมีคุณผึ้งเป็นหนึ่งในนักเรียน คุณผึ้งได้เรียนปักผ้าซาชิโกะจากป้าหนู ซึ่งเป็นการปักผ้าโบราณของญี่ปุ่น โดยใช้ด้ายเดี่ยวสำหรับการปักลงบนผ้าให้เกิดลวดลายเป็นเส้นตรงที่มีความยาวเท่าๆ กันตามรูปทรงเรขาคณิต ทั้งวงกลม สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม ฯลฯ การปักผ้าชนิดนี้เป็นหนึ่งในศิลปะการปักผ้าของหญิงสาวชาวญี่ปุ่น ที่เธอจะทำในเวลากลางคืนซึ่งไม่มีแสงจากไฟฟ้า เทียน หรือเครื่องให้แสงสว่างใดๆ
เมื่อคุณผึ้งนำแนวคิดการปรับปรุงผลิตภัณฑ์จากฝีมือคนตาบอดไปนำเสนอและขอคำปรึกษาจากป้าหนู เธอไม่ลังเลที่จะยื่นมือเข้ามาช่วยคุณผึ้งและร่วมเป็นส่วนสำคัญของโครงการปักจิตปักใจ
“อยู่มาวันหนึ่งครูผึ้งก็มาถามก่อนว่า มันจะเป็นไปได้มั้ยที่จะสอนให้คนตาบอดปักผ้า ก็อึ้งไปนิดหนึ่งนะคะ แต่สาเหตุที่รับทำเพราะว่าการทำผ้าของชาวญี่ปุ่นในอดีตเขาก็ไม่ได้ปักที่เห็นแสงไฟนะ พอไม่ใช่ไฟเยอะ คนตาบอดเขาไม่เห็นอยู่แล้ว ก็เริ่มเห็นความเป็นไปได้” ป้าหนูกล่าวถึงการตัดสินใจเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาโครงการ
วิธีการดำเนินการ
ป้าหนูเริ่มหาวิธีการที่จะทำให้คนตาบอดสามารถเย็บและปักผ้าได้ โดยเริ่มต้นจากจุดเริ่มต้นของการเย็บผ้า นั่นคือการสนเข็ม ซึ่งสิ่งที่ป้าหนูคำนึงถึงในการออกแบบอุปกรณ์เย็บผ้าสำหรับคนตาบอดมีสองประการ หนึ่ง เนื่องจากคนตาบอดไม่สามารถมองเห็น การใช้กระพวนผูกกับอุปกรณ์ต่างๆ เช่นเข็มหรือกรรไกร จะทำให้คนตาบอดหาอุปกรณ์ได้ง่ายขึ้น สอง วัสดุสำหรับการเย็บปักถักร้อยต้องมีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ ทั้งการใช้เข็มขนาด 2 ¾ เอ็นเบอร์ 30 เพื่อการสนเข็ม และด้ายไหมเมืองขนาดใหญ่กว่าปกติ เพื่อให้คนตาบอดสามารถจับและสัมผัสรู้ได้
เมื่อการทดลองเสร็จสิ้น ทั้งลองผิดและลองถูก จากนี้ไปจึงถึงเวลาของการสอนคนตาบอดจริง การเรียนการสอนครั้งแรกเกิดขึ้นในวันที่ 3 มิถุนายน มีนักเรียนคนตาบอดเข้าร่วมทั้งหมด 6 คน
ทั้งคุณผึ้งและป้าหนูในฐานะครูผู้สอนต่างลุ้นกันจนตัวเกร็งว่า คนตาบอดจะทำได้หรือไม่
แต่ด้วยความตั้งใจและความพยายามของนักเรียน เพียง 2 ชั่วโมงคนตาบอดสามารถสนเข็มและเย็บลวดลายบนผ้าจริงได้
“วันแรกเป็นวันที่เครียด ลุ้นกันถึงขนาดป้าหนูนี่เหงื่อแตกเลยนะ (หัวเราะ) ที่สำคัญคือ คนตาบอดที่ทางสมาคมชวนมาปักผ้า ตอนแรกทุกคนกลัวมาก ทุกคนมานั่งจับอุปกรณ์กันแล้วก็เครียดมากค่ะ มีป้าคนหนึ่งที่ไม่เคยจับเข็มเลยแต่อยากลอง กว่าที่จะให้เขาคลำอุปกรณ์ เขาสนเข็ม มันก็ยากในตอนเริ่ม แต่พอเริ่มลงมือปักก็พบความมหัศจรรย์ว่า เฮ้ย คนตาบอดทำได้ แล้วทำได้ดีกว่าที่คิดด้วย
“อีกสิ่งหนึ่งที่เรากังวลคือ เอ๊ะ แล้วคนตาบอดจะทำลายได้มั้ย อย่างวงกลมมันยาก แต่ว่าคนตาบอดทำวงกลมสวยมาก เราพบว่าสิ่งที่เราคิดไว้มันมากกว่าที่เราหวัง ความจริงมันสวยกว่าที่เราฝันไว้อีก” คุณผึ้งกล่าวถึงวันแรกของการสอนในคลาสเรียนของกลุ่มคนตาบอดรุ่นที่ 1
ป้าหนูได้ออกแบบหลักสูตรการปักผ้าซาชิโกะไว้ทั้งหมด 6 สัปดาห์ โดยหนึ่งสัปดาห์จะเรียน 2 วัน เรียงจากความง่ายไปหาความ ‘ซับซ้อนมาก’ และลวดลายที่หลากหลายนอกจากทรงเรขาคณิตอีกด้วย
“ป้าหนูวางการสอนจากลายง่ายไปหาลายที่ซับซ้อนขึ้น เราจะไม่พูดคำว่ายาก เพราะเมื่อบอกว่ายากสมองของคนเราจะสั่งว่าทำไม่ได้ แล้วคนตาบอดเขาทำได้หมดทุกลายที่เราวางไว้ จึงเริ่มเปลี่ยนวัสดุที่เขาใช้ปัก จากผ้ารองแก้ว ผ้ารองจาน เป็นกระเป๋าใบเล็ก กระเป๋าใบใหญ่ เราต้องเรียบเรียงเพื่อฝึกทักษะให้ชำนาญขึ้น” ป้าหนูกล่าว
เปิดขายสินค้า
ผ่านพ้นการฝึกปักผ้าซาชิโกะตลอดหลักสูตร 6 สัปดาห์ คุณผึ้งจึงเปิดเพจ ‘ปักจิตปักใจ’ เพื่ออัพเดตข่าวสารของโครงการ อีกทั้งเป็นพื้นที่สำหรับขายสินค้าจากฝีมือของนักเรียนเหล่านี้ โดยสินค้ามีทั้งกระเป๋าผ้า ซองใส่ดินสอ ปกสมุด ผ้าพันคอ เป็นต้น
ความมหัศจรรย์อีกหนึ่งประการที่เกิดขึ้นคือ เมื่อประกาศเปิดสั่งจองสินค้าในแต่ละรอบ สินค้าทั้งหมดถูกจองและซื้อจนหมดในเวลาอันรวดเร็วทุกครั้ง จนสินค้าไม่พอขาย
“วันแรกที่เปิดขายมีความรู้สึกอยู่ 3 ข้อ อย่างแรกคือ สังคมจะตอบรับมั้ย สิ่งที่เรากำลังพยายาม ความสวยงามของงานฝีมือจากคนตาบอด เรากำลังลุ้นว่าคนจะยอมรับได้มั้ยว่าคนตาบอดทำได้ขนาดนี้ สองคือ ราคา เราต้องการให้คนยอมจ่ายราคาสินค้าคนพิการที่สูงขึ้นมา เพื่อจ่ายความน่าทึ่ง จ่ายค่าความพยายาม จึงเป็นเหตุผลที่ทำไมเลือกงานปัก ทำไมเลือกเข็ม เพราะเมื่อเอางานปักมาขาย คนปกติที่ไม่เคยปักผ้าก็จะคิดว่า เฮ้ย ฉันยังทำไม่ได้ นี่คือการยกระดับศักยภาพของคนพิการซึ่งคนไม่พิการเคยมองเขา”
“สิ่งที่พี่เห็นผลตอบรับที่ดีมาก และไม่เคยเห็นมาก่อนในสังคมไทยคือ การต่อคิวเพื่อรอซื้อสินค้าคนพิการ มีคนรอสั่งผ้าพันคอ 40 ผืน แต่ละคนก็เขียนโน้ตมาว่า “นานเท่าไหร่ก็จะรอ” “อยากได้ไปห่มไว้ให้เป็นกำลังใจให้ตัวเองยามท้อ” มันกลายเป็นของที่มีคุณค่า แล้วอยากซื้อให้คนอื่น” คุณผึ้งกล่าวถึงผลตอบรับของการเปิดสั่งสินค้า
จากความสำเร็จของโครงการปักจิตปักใจ ทำให้โครงการได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนมากขึ้น (ฉันและ The Cloud ก็เช่นกัน) ครั้งหนึ่งที่ตัวแทนโครงการได้ให้สัมภาษณ์กับรายการโทรทัศน์รายการหนึ่ง หลังจากการบันทึกรายการ ป้าหนูเล่าให้ฉันฟังว่า โปรดิวเซอร์ของรายการนั้นขอซื้อที่รองแก้วเล็กๆ หนึ่งอันเพื่อเก็บเอาไว้ในกระเป๋า ในยามท้อแท้เขาจะมีเครื่องเตือนใจคือผ้ารองแก้วที่บรรจงปักโดยคนตาบอดชิ้นนี้ แต่น่าเสียดายที่สินค้าหมด โปรดิวเซอร์จึงบอกกับทีมงานในวันนั้นว่า หากมีสินค้าจำหน่าย ให้รีบแจ้ง
ผลที่ได้รับจากโครงการ
ปัจจุบันทางโครงการกำลังอยู่ในขั้นตอนการอบรมสมาชิกคนตาบอดรุ่นที่ 2 ทั้ง 11 คน ซึ่งดำเนินการอยู่ที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเป็นการขยายโอกาสการสร้างอาชีพให้กับผู้พิการทางสายตานอกเขตอำเภอเมืองฯ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อสร้างฐานการผลิตสินค้าให้เพียงพอกับออร์เดอร์สั่งซื้อที่เยอะมาก และการแบ่งรายได้ระหว่างสมาชิกในโครงการนั้น สมาชิกจะได้รายได้จากการจำหน่ายถึง 2 ใน 3 ของราคาสินค้า (ยกตัวอย่างกรณีผ้าพันคอและผ้าคลุมไหล่)
คุณผึ้งบอกฉันว่า รายได้เหล่านี้ไม่เพียงแต่สร้างอาชีพให้แก่คนตาบอดเท่านั้น หากแต่เป็นการเพิ่มมูลค่าในศักยภาพและความพยายาม เพื่อพาคนตาบอดก้าวข้ามในสิ่งที่ตนทำไม่ได้
สำหรับสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย มองโครงการปักจิตปักใจเป็นต้นแบบของ Social Enterprise ที่สามารถดำรงต่อได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งเพิ่มกำลังใจให้กับคนตาบอดในการสร้างอาชีพและดำรงชีวิตต่อไป
“เราอยากจะสื่อสารให้คนในสังคมได้เห็นว่าถ้าเราคิดจะช่วยใครสักคน ถ้าเราทำอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เราสามารถทำได้โดยไม่ต้องรอใคร จากกำไรที่เราได้ในการจำหน่ายสินค้า เงินตรงนี้ก็จะไปอบรมให้คนตาบอดในรุ่นต่อๆ ไป ก็จะเป็นวัฏจักรนี้
“ปลายทางแห่งความคาดหวังก็อยากจะให้ปักจิตปักใจเป็นผลิตภัณฑ์จากคนพิการ จากผู้ด้อยโอกาส และไม่ใช่ขายเฉพาะคนไทยนะ ขายคนทั้งโลกเลย เพื่อเป็นแบรนด์ให้คนทั้งโลกชื่นชม ถ้ามันสามารถแผ่คุณประโยชน์ไปช่วยคนตาบอดในประเทศอื่นๆ ได้ก็จะดี” คุณเติร์ดกล่าวถึงความคาดหวังของโครงการปักจิตปักใจในอนาคต
สำหรับคุณผึ้งและป้าหนู ในฐานะผู้เริ่มต้นโครงการนี้จนเป็นรูปเป็นร่างออกมาอย่างสมบูรณ์
ฉันนึกสงสัยเหลือเกินว่า สุดท้ายแล้ว เธอทั้งสองได้อะไรจากการทำโครงการนี้
“ป้าหนูก็จะได้ความสุขใจและได้บุญ เวลาเราทำอะไรที่ประโยชน์กับสังคม โดยที่เราไม่ได้หวังอะไรตอบแทนเลย ก็จะทำให้เราอิ่มใจ สุขภาพจิตดี ยิ่งเวลาของคนเราเหลือน้อย เราควรที่จะต้องตอบแทนสิ่งดีๆ ให้กับสังคมบ้าง ป้าหนูเป็นครูโดยอาชีพหลักแล้ว ชีวิตความเป็นครูไม่ร่ำรวยหรอก แต่เป็นสิ่งที่ทำให้เราอิ่มใจ สุขใจ มันก็สะท้อนถึงตัวป้าเองว่าป้าจะต้องมีสุขภาพดีที่จะทำงานต่อไป ต้องไม่ตามใจตัวเอง ต้องมีวินัยในตัวเองมากขึ้น” ป้าหนูกล่าวถึงสิ่งที่ได้รับจากโครงการ
“ในฐานะที่เราฝัน ถ้าเราเคยฝันในสิ่งที่เรารู้สึกว่าไม่รู้มันจะเป็นไปได้รึเปล่า แล้วมันเป็นไปได้ เราไม่สามารถที่จะบอกคนอื่นได้ว่ามันมีความสุขมากขนาดไหน ในวันที่เราเห็นว่าคนตาบอดทำได้ โครงการปักจิตปักใจเติมเต็มในความเชื่อของเราว่า ถ้าเราฝันแล้วลงมือทำ มันคือก้าวที่เราจะเห็นมันเป็นความจริง แต่ถ้าเราไม่ลงมือทำ เราไม่ก้าว เราก็ได้แต่ฝัน” คุณผึ้งกล่าว