ครั้งหนึ่ง ครูในชั้นประถมถามนักเรียนว่า “ข้าวที่เรากินมาจากไหน”

“มาจากซูเปอร์มาร์เก็ตครับ” เด็กตอบด้วยความฉะฉาน

หลายปีที่ผ่านมาผู้เขียนและภรรยามาตั้งรกรากที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งใจอยากลองปลูกข้าวอินทรีย์บนที่นาของตัวเองที่เคยผ่านการใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงมาเป็นระยะเวลายาวนาน

แม้ตัวเองอาจเคยเห็นท้องนามาหลายแห่งทั่วประเทศ แต่พอได้มีโอกาสช่วยเพื่อนร่วมงานทำนา จึงอยากถ่ายทอดขั้นตอนการทำนาว่ากว่าจะมาเป็นเมล็ดข้าวที่เรากินทุกวัน การปลูกข้าวเป็นสิ่งน่าสนใจมาก

อันที่จริง เมล็ดข้าว กว่าที่เราจะกินได้ มีความซับซ้อนไม่ง่ายเหมือนกินผลไม้ เพราะเมล็ดข้าวหุ้มด้วยเปลือกแข็ง พอแกะออกมาก็ต้องผ่านความร้อนถึงกินได้ แล้วมนุษย์ยุคโบราณทราบได้อย่างไรว่าเมล็ดหญ้าชนิดนี้กินได้

อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักประวัติศาสตร์เคยตั้งข้อสังเกตว่า มนุษย์เริ่มกินข้าวมาได้ประมาณ 5,000 ปี โดยพบหลักฐานว่าเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศจีน

“มนุษย์ในยุคนั้นน่าจะรู้ว่าข้าวกินได้ด้วยความบังเอิญ ไปพบข้าวหรือหญ้าชนิดหนึ่งในป่าถูกไฟป่าเผาเมล็ด ลองเก็บมากินก็กรุบ ๆ ดี จึงรู้ว่าเมล็ดหญ้าชนิดนี้พอกินได้ แต่กว่าจะกินได้อย่างจริงจังก็ต้องรอพัฒนาการเครื่องมือ คือเครื่องปั้นดินเผาที่ทนไฟ พอจะเอาเมล็ดข้าวไปคั่วหรือต้มโดยที่หม้อไม่แตกเสียก่อน”

ข้าวเป็นหญ้าชนิดหนึ่ง เป็นพี่น้องกับอ้อยและไผ่ที่เป็นหญ้าขนาดใหญ่ที่สุด ทั่วโลกมีสายพันธุ์ข้าวต่าง ๆ ประมาณ 120,000 พันธุ์ เจริญเติบโตได้ง่าย ตั้งแต่ทะเลทรายอันแห้งแล้งในออสเตรเลีย ไปจนถึงเทือกเขาหิมาลัยอันหนาวเย็น อดทนต่อสภาพภูมิอากาศต่าง ๆ แม้บนยอดเขาที่มีไฟป่า ไปจนถึงบริเวณน้ำท่วมรุนแรงบนที่ราบลุ่มในบังกลาเทศ

ข้าวเจ้าเป็นอาหารอันดับ 1 ของโลก เคียงคู่กับข้าวสาลี (แต่เกือบทั้งหมดแปรรูปเป็นขนมปัง) คนครึ่งหนึ่งบนผิวโลกกินข้าวเจ้าเป็นอาหาร และส่วนใหญ่ปลูกในทวีปเอเชีย แต่นับวันคนยุโรป อเมริกา และแอฟริกาก็หันมากินข้าวกันมากขึ้น

ข้าวที่มนุษย์มาปลูกเป็นอาหารแบ่งเป็น 2 ชนิดคือ ข้าว Oryza sativa ปลูกในทวีปเอเชีย และข้าว Oryza glaberrima ปลูกในทวีปแอฟริกา แต่ข้าวที่กินกันทั่วโลกคือชนิดแรกในเอเชีย ซึ่งแบ่งเป็นสายพันธุ์ใหญ่ ๆ ได้แก่

ข้าว Indica มีลักษณะเมล็ดยาวรี ต้นสูง ปลูกในเอเชียเขตลมมรสุม ตั้งแต่จีน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย อินเดีย ศรีลังกา

ข้าว Japonica ปลูกในเขตอบอุ่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เมล็ดป้อมกลมรี ต้นเตี้ย

เราเริ่มต้นลงมือทำนา ขั้นแรกปรับปรุงคุณภาพผืนดินที่ถูกสารเคมีสะสมมานาน ด้วยการปล่อยที่ดินให้ฟื้นตัวเองโดยไม่ปลูกอะไรเลยนอกจากพืชตระกูลถั่ว เพื่อช่วยบำรุงดินหลายรอบ

ดินก็เหมือนสิ่งมีชีวิตที่ผ่านมาถูกใช้งานหนัก ควรได้รับการพักผ่อน เยียวยารักษาตัวเองบ้าง มีการเติมสารอาหาร แร่ธาตุตามธรรมชาติคืนกลับไป ก่อนจะใช้งานต่อไป

พอใช้ความพยายามและอดทนในการบำรุงดินเป็นปีที่ 3 คุณภาพดินเริ่มดีขึ้น จากสีและความร่วนซุยของดิน เราจึงเริ่มทำนาอินทรีย์อย่างจริงจัง ไปซื้อพันธุ์ข้าวเจ้า หอมมะลิ จากคนรู้จักที่คัดพันธุ์มาอย่างดี

กล่าวกันว่าข้าวเจ้ามีแหล่งกำเนิดมาจากแถบเบงกอลของอินเดีย แพร่กระจายมาในอุษาคเนย์เมื่อพันกว่าปีก่อน และได้ชื่อว่า ‘ข้าวเจ้า’ เพราะข้าวจากอินเดียเป็นของชนชั้นสูง ก่อนหน้านั้นคนแถวนี้กินข้าวเหนียวที่มีแหล่งกำเนิดจากบริเวณลุ่มน้ำโขงเป็นอาหารหลัก จึงเรียกพันธุ์ข้าวเมล็ดเรียวจากอินเดียว่า ‘ข้าวของเจ้า’ ก่อนจะย่นย่อเหลือเพียง ข้าวเจ้า

ส่วนพันธุ์ข้าวหอมมะลิ ไม่ได้หมายความว่าข้าวหอมเหมือนดอกมะลิ แต่ขาวเหมือนดอกมะลิและมีกลิ่นหอมเหมือนใบเตย เพราะมีสารบางอย่างตัวเดียวกับสารในใบเตย ต่อมาจึงเรียกสั้นลงเป็น ข้าวหอมมะลิ

ใน พ.ศ. 2493 – 2495 มีการรวบรวมพันธุ์ข้าวพื้นเมืองในประเทศอย่างจริงจัง เพื่อค้นหาพันธุ์ที่ดีให้เกษตรกรได้เพาะปลูก และมีการพบพันธุ์ข้าวดอกมะลิ ต่อมาเรียกว่าข้าวหอมมะลิ ค้นพบและปลูกโดย นายจรูญ ตัณฑวุฒ นำมาปลูกไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2488 ที่แหลมประดู่ อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี

พอย่างเข้าหน้าฝนในเดือนมิถุนายนก็เริ่มคัดเมล็ดพันธุ์ข้าว ด้วยการนำมาแช่น้ำ เมล็ดที่ลีบ ไม่มีคุณภาพจะลอยน้ำ จึงคัดออกก่อน หลังจากนั้นเอาเมล็ดพันธุ์ที่ดีใส่กระสอบ ไปตากแดด 2 คืน อบเอาไว้ รากเล็ก ๆ จะเริ่มงอกออกมา

หลังจากนั้นเอาเมล็ดข้าวเหล่านั้นไปหว่านกล้าหรือโปรยเมล็ดข้าวลงบนแปลงนาที่ยกร่องไว้แล้ว เมื่อเมล็ดข้าวตกลงบนดิน จะค่อย ๆ เติบโต 1 เดือนผ่านไปต้นกล้าจะงอกขึ้นมาจนแข็งแรง

ช่วงเวลานั้นเราจะปล่อยน้ำจากเหมืองฝายรอบนอกเข้ามาบริเวณที่นาเพื่อเตรียมปลูกข้าว โดยใช้ควายเหล็กหรือรถไถนาสี่ล้อช่วยไถนา พลิกดินขึ้นมาหลายรอบ เป็นการฆ่าวัชพืชและทำให้ดินร่วนซุย

ข้าวที่เราปลูกในช่วงหน้าฝนนี้เรียกว่าเป็น ‘ข้าวนาปี’ หรือ ‘ข้าวนาน้ำฝน’ คือข้าวที่ปลูกในฤดูการทำนาปกติ เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงตุลาคมและเก็บเกี่ยวสิ้นสุดไม่เกินกุมภาพันธ์

ส่วน ‘ข้าวนาปรัง’ คือข้าวที่ปลูกนอกฤดูการทำนาปกติ คือเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม นิยมปลูกในพื้นที่ที่มีการชลประทาน เช่น ในภาคกลาง

1 เดือนผ่านไป เมื่อต้นกล้าแข็งแรงแล้ว เราจ้างชาวบ้านละแวกนั้นมาใช้แรงงานช่วยถอนต้นกล้า เพื่อนำไปดำนาหรือปลูกข้าวในแปลงนาที่ไถเสร็จเรียบร้อยแล้ว การดำนาเป็นความชำนาญอย่างหนึ่ง พวกเขาจะดำนาแบบถอยหลังปักต้นกล้าลงดิน จะได้แถวต้นกล้าเรียงเป็นระเบียบเรียบร้อย ต่างจากมือสมัครเล่นอย่างเราลองดำนา นอกจากจะโดนต้นกล้าบาดมือเป็นแผลแล้ว ยังปักต้นกล้าไม่เป็นระเบียบ

เสร็จแล้วจะรอเวลาให้ต้นข้าวโตขึ้นตามธรรมชาติเป็นเวลา 3 – 4 เดือน

ในช่วงเวลานั้นต้องคอยดูแลให้มีน้ำเข้าที่นาสม่ำเสมอ เพราะโดยปกติต้นข้าวทนต่อการขาดน้ำนาน ๆ ไม่ได้ ต้นข้าวเป็นพืชใช้น้ำมากที่สุดในบรรดาพืชเศรษฐกิจทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพด ถั่วเหลือง ต้นอ้อย ฯลฯ เพราะต้นข้าวมีน้ำประกอบถึงร้อยละ 98 ของน้ำหนัก ประมาณว่านาข้าว 1 ไร่ใช้น้ำถึง 1,300 ลูกบาศก์เมตร หรือ 1,300,000 ลิตร การดูแลไม่ให้ต้นข้าวที่อยู่ในช่วงวัยเจริญเติบโตขาดน้ำจึงสำคัญมาก

การปล่อยน้ำเข้านาและเอาน้ำออกจากท้องนาเป็นศาสตร์ที่น่าสนใจมาก เราโชคดีที่ได้ พี่ปอ ชาวนาที่ทำนามาตลอด 30 ปี เป็นคนคอยดูแล เขาจะรู้ว่าช่วงเวลาใดต้นข้าวต้องการน้ำมาก ช่วงใดต้องการน้ำน้อย และช่วงใดไม่ต้องการน้ำขังเลย

สังเกตว่า หากคุณภาพดินดี ต้นข้าวจะลำต้นอวบใหญ่ แต่ต้องหมั่นใช้แรงงานถอนพืชชนิดอื่นในท้องนาที่จะมาแย่งแร่ธาตุบนดิน แทนที่การใช้ยาฆ่าหญ้าหรือฆ่าวัชพืช

ที่นาของเรามีผักแว่นเยอะมาก เป็นวัชพืชที่ต้องกำจัดเป็นระยะ แต่โชคดีที่ผักแว่นเป็นอาหารโปรดของชาวบ้าน จึงมีหลายคนอาสามาช่วยกันลงแรงถอนผักแว่น

วันหนึ่ง รอง ทีมงานปลูกข้าวคนสำคัญมาบอกว่าสังเกตเห็นเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ศัตรูตัวฉกาจเริ่มลงบนใบข้าวบางส่วนแล้ว เราไม่จำเป็นต้องฉีดสารเคมีใด ๆ แต่สู้กับเพลี้ยด้วยการฉีดน้ำส้มควันไม้กับน้ำสกัดสมุนไพร ไม่นานนักเพลี้ยที่ยังระบาดไม่กี่ต้นก็หายไปหมด

การหมั่นสังเกตของรองถือเป็นอาวุธสำคัญในการปราบเพลี้ย เป็นการตัดไฟแต่ต้นลม เพราะหากลุกลามไปแล้วจะกำจัดได้ยาก

พอช่วงปลายฝนต้นหนาว จะมีลมกรรโชกตามท้องนาอย่างรุนแรง ต้นข้าวของชาวนาแถวนี้พากันล้มเป็นแถบ ๆ สร้างความเสียหาย แต่ต้นข้าวอินทรีย์ของเราแทบจะไม่ล้มเลย เพราะความแข็งแรงของต้นข้าวที่หยั่งรากได้ปุ๋ยธรรมชาติจากผืนดินเต็มที่

3 เดือนผ่านไปต้นข้าวเริ่มงอกเป็นรวงข้าว ทั่วท้องนากลายเป็นสีเหลืองอร่าม น้ำจะถูกกั้นออกจากท้องนาจนเกือบแห้ง ในช่วงนี้สังเกตว่าต้นข้าวมีแมลงเต่าทองเกาะอยู่เยอะมาก มาช่วยกินแมลงศัตรูข้าวหลายชนิด แต่หากที่นาใดใช้สารเคมีมาก แมลงเต่าทองก็จะหายไปเช่นกัน

พอลมหนาวโชยมากลางเดือนพฤศจิกายน เป็นสัญญาณว่าฤดูเกี่ยวข้าวมาแล้ว ที่นาของเราจ้างแรงงานชาวบ้านมาเกี่ยวข้าวแทนการใช้รถเกี่ยวข้าว เริ่มจากการใช้เคียวเกี่ยวลำต้นติดรวงข้าว นำมาวางกองตากแดด 3 – 4 แดดให้เมล็ดข้าวแห้ง หลังจากนั้นพวกเราช่วยกันมัดข้าวที่ตากจนแห้ง และลำเลียงมาโม่ข้าว แยกฟางแยกเมล็ดข้าว ก่อนจะนำเมล็ดข้าวไปตากแดดจนแห้งสนิท และนำไปสีข้าวด้วยเครื่องสีข้าวของเราเอง เพื่อป้องกันการปนเปื้อนสารเคมีจากเครื่องสีข้าวอื่น ๆ หากเราต้องไปจ้างโรงสีอื่นสีข้าวของเรา ส่วนฟางข้าวจะนำมาคลุมหน้าดิน เป็นปุ๋ยอินทรีย์ รอทำนารอบหน้า 

การใช้แรงงานเกี่ยวข้าวจะมีต้นทุนสูงกว่าใช้รถเกี่ยวข้าว แต่เรารู้สึกว่าหากใช้รถ ผลประโยชน์จะตกแก่เจ้าของรถคนเดียว แต่ถ้าใช้แรงงานถือเป็นการกระจายรายได้ให้กับชาวบ้านมากกว่า 10 ครัวเรือน และรถเกี่ยวข้าวเป็นรถหนัก ทำลายหน้าดินและคันนาทุกครั้งและเก็บเกี่ยวเมล็ดข้าวได้น้อยกว่าแรงงาน

ปีนี้เราปลูกข้าวเจ้าหอมมะลิ ได้ผลผลิตเป็นข้าวเปลือก 525 กก. / ไร่ ใกล้เคียงกับผลผลิตจากข้าวที่ใช้ปุ๋ยเคมีทั่วไป แต่ลดต้นทุนปุ๋ยและยากำจัดวัชพืช และยังรักษาคุณภาพหน้าดินด้วย

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวประมาณ 70 ล้านไร่ ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ปลูกข้าวอินทรีย์เพียง 1.4 ล้านไร่ หรือประมาณ 2% เท่านั้น

น่าคิดว่ารัฐบาลหลายยุคพูดมานานแล้วว่าจะให้เมืองไทยมุ่งไปสู่การผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์มุ่งสู่ตลาดโลกที่มีความต้องการสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อม แต่ในทางปฏิบัติดูเหมือนยังห่างไกลความจริงมาก

Writer & Photographer

Avatar

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

นามปากกา วันชัย ตัน นักเขียนสารคดี นักวิจารณ์สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี อดีตรองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งประเทศไทย (THAIPBS) อดีตผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ PPTVHD36 มีผลงานเขียนตีพิมพ์เป็นหนังสือ 28 เล่ม เป็นนักเดินทางตัวยง จากความเชื่อที่ว่า การใช้ชีวิตให้มีความสุขควรประกอบด้วยสามสิ่ง คือ ทำงานที่ใจรัก ช่วยเหลือคนรอบข้าง และเดินทางท่องเที่ยว