วันนี้เราอยู่กันที่คอนโดเก่าแห่งหนึ่งย่านสาทร มีทั้งคราบน้ำฝนบนตัวอาคารสีซีดและลิฟต์ที่กำลังปรับปรุง เหตุที่ทำให้ต้องมาเยือนอาคารเก่าดูแล้วไม่ต่ำกว่า 30 ปีแห่งนี้ คือห้องรีโนเวตของคู่รักที่ทั้งรื้อ ถอน ทุบ และวางโครงใหม่ จนกลายเป็น ‘บ้าน’ ที่ไฉไล อัดแน่นไปด้วยสไตล์และฟังก์ชันครบครัน

เดินมาจนถึงหน้าประตู ป้ายด้านหน้าติดไว้ว่า ‘Onion Apartment’ ผู้ที่เปิดประตูออกมาต้อนรับเราคือ เฮาส์-สรศักดิ์ จันทรมัณฑนา มือกีตาร์จากวง Slur และยังเป็นเจ้าของร้านเสื้อผ้ามัลติแบรนด์ Onion ชื่อเดียวกันกับที่นี่ เมื่อก้าวเข้ามาก็พบกับภายในกว้างขวาง แสงแดดที่ส่องเข้ามาทำให้รู้สึกสดชื่นทันทีแม้ยังไม่ได้เปิดแอร์

เจ้าของอีกคนของที่นี่คือ ปิ่น-ฆัสรา นนทสุต คนรักของเฮาส์ซึ่งหลงใหลทั้งในแฟชั่นและการจัดแต่งบ้าน พร้อมกับ ฟีบี้ สมาชิกตัวเล็กน่ารักที่กำลังเห่าต้อนรับแขกผู้มาเยือน 

Onion Apartment คือพื้นที่ที่ใช่ ตอบโจทย์ในการดำเนินชีวิตคู่ไปพร้อมกับการแสดงความเป็นตัวเองของแต่ละคนอย่างเต็มที่ สไตล์ของห้องที่ส่งตรงมาจากร้านของพวกเขาและดนตรีผสมกันอย่างลงตัวในพื้นที่ 170 ตารางเมตร มีทั้งห้องพักผ่อน ห้องเก็บเสื้อผ้า พื้นที่ให้ศึกษาแฟชั่น พร้อมเป็นแรงบันดาลใจในการเลือกสินค้าเข้าร้าน และห้องอัดเพลงที่ตอนนี้เฮาส์ใช้ซ้อมกีตาร์สำหรับคอนเสิร์ตวง Slur ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 26 สิงหาคมนี้

Onion Apartment ของคนไม่ชอบกิน Onion

เฮาส์เริ่มเล่าถึงชีวิตของตนและปิ่นให้ฟัง เพื่อให้เราเข้าใจการคิด การออกแบบ วิถีชีวิตที่ส่งผลให้
บ้านหลังนี้ตอบสนองความเป็นอยู่ของทั้งคู่

หลายคนอาจจดจำภาพของเฮาส์ในฐานะมือกีตาร์ของวงป๊อป-ร็อก แต่อีกด้าน เขาคือชายผู้เดินทางในกระแสของแฟชั่นรอบด้าน ร้าน Onion เป็นหนึ่งในหลักฐานที่ยืนยันได้เป็นอย่างดี 

Onion คือร้านขายเสื้อผ้ามัลติแบรนด์สำหรับหลากหลายไลฟ์สไตล์ ตั้งอยู่ ณ ย่านสุขุมวิท ซึ่งเฮาส์เป็นผู้จัดการดูแลและคัดเลือกสินค้าด้วยตนเอง

ร้านนี้มุ่งเน้นความเป็น Heritage วัสดุของสินค้ามีคุณภาพ ในสไตล์ที่คลาสสิกเหนือกาลเวลา สวมใส่ได้ทุกยุคสมัย สำหรับมือใหม่ ในเว็บไซต์จะมีไกด์สไตล์แต่งตัวให้ด้วย

ทำไมทั้งร้านและคอนโดถึงใช้ชื่อว่า Onion – เราถาม

“เพราะผมไม่ชอบกินหัวหอม เป็นช่วงที่ผมพยายามหาชื่อเท่ ๆ ตอนตั้งกิจการ สุดท้ายได้ชื่อนี้แล้วก็คุ้นหูมาตลอด ตั้งเป็นชื่อคอนโดนี่ตั้งขำ ๆ

“เราเปิดร้านเป็นอาชีพหลักอยู่แล้ว ส่วนการเล่นดนตรีเป็นแพสชัน แต่ก็เป็นงานประจำนะ”

รายได้จากการค้าขายเสื้อผ้าที่ร้านคือต้นทุนที่ใช้สำหรับการไปเล่นดนตรี ตรงข้ามกับความเข้าใจเราที่ว่าดนตรีคือต้นทุนหลัก

“ดนตรีกับแฟชั่นคือสิ่งที่อยู่คู่กัน” คือมุมมองของเขา

“แฟชั่นทำให้เราต้องเดินทาง ประเทศที่จัดงานแฟชั่นแต่ละที่มีศิลปะน่าสนใจให้ดูเยอะมาก”

ย้อนกลับไปสมัยที่วัยรุ่นนิยมอ่านหนังสือหรือแมกาซีนดนตรี เช่น Rock’n’Roll มักจะปรากฏภาพการแต่งตัวที่เป็นเอกลักษณ์ และต้องมีข้อมูลรายละเอียดของดีไซเนอร์ผู้ออกแบบชุด เช่น Vivienne Westwood ผู้ออกแบบชุดของวงดังอย่าง The Clash และ Sex Pistols ช่วงยุค 70 เป็นยุครุ่งโรจน์ของดนตรีแนวพังก์ เฮาส์เองก็ศึกษาแฟชั่นแบบนั้น

ส่วนปิ่นทำงานประจำด้านอสังหาริมทรัพย์และเคยทำงานโดยตรงทางด้านแฟชั่นมาก่อน ความชอบของทั้งคู่จึงเดินเคียงคู่กันไป ปัจจุบันปิ่นยังเป็นผู้มีส่วนช่วยหลักในการทำร้าน Onion และรับผิดชอบดูแลในส่วนเสื้อผ้าสำหรับผู้หญิง เติมเต็มให้ร้านรองรับสไตล์ได้ทุกเพศทุกวัยและทุกไซซ์

“เฮาส์คิดตลอดว่าผู้หญิงทั่วไปเอว 25 ซึ่งจริง ๆ ไม่ใช่เว้ย” ปิ่นพูดในขณะที่เฮาส์นั่งหัวเราะ

คุยกับสถาปนิก

ทั้งปิ่นและเฮาส์ช่วยกันอธิบายถึงกระบวนการออกแบบ ในขณะที่ฟีบี้วิ่งคาบของเล่นไปรอบ ๆ อย่างสนุกสนาน ดูเป็นภาพครอบครัวที่น่ารักอบอุ่น ทันใดเจ้าหมาสีขาวก็เห่าให้เราอีกครั้ง

ย้อนกลับไปก่อนจะมาอยู่ที่คอนโดแห่งนี้ ทั้ง 2 คนต่างเคยอยู่อาศัยในบ้านมาหลายรูปแบบ ครั้งนี้เงื่อนไขที่ใช้เลือกคอนโดจึงมีมากขึ้น ประเด็นจากคอนโดล่าสุดคือเรื่องขนาดห้องที่เล็กเกินไป และการเดินทางก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน

“จากที่เราทำงานมาหลายปี รู้สึกว่าจริง ๆ แล้วการอยู่บ้านต้องอยู่ใกล้กับโอกาสด้วย สำหรับปิ่นที่ยังอยากอยู่ใกล้คุณแม่ ที่นี่ก็เดินทางไปง่าย แล้วยังมีความเป็นอินเตอร์ ในขณะเดียวกันเราก็ยังอยู่กับวิถีชาวบ้านได้ อยากกินข้าวหมูทอดหรือาหารตามสั่งก็ยังมี”

ด้วยความที่ต้องใช้เวลาส่วนมากอยู่ภายในบ้าน เวลาทำงานและเวลาชีวิตส่วนตัวจึงเป็นโจทย์ที่ผู้ออกแบบต้องคำนึงถึง ซึ่งที่นี่ก็ทำออกมาได้ลงตัว สำหรับคนที่ติดบ้าน การมีทุกอย่างพร้อมจนแทบไม่ต้องออกจากบ้านไปไกลนั้นเหมือนฝันทีเดียว

เดิมทีที่นี่เป็นห้อง 4 ห้อง ก่อนที่จะถูกรื้อเพื่อวางผังใหม่ เรียกว่าเป็นการรวมกันของห้องทั้ง 3 รูปแบบ สังเกตได้จากระเบียงที่มี 3 จุด ซึ่งในตอนนี้กลายเป็นห้องกว้างขวาง ไม่มีความรู้สึกถูกปิดกั้นกันระหว่างโซนแต่อย่างใด

รวม ๆ แล้วทั้งคู่ตั้งเป้าให้ที่นี่มีห้องนอนหลัก 1 ห้อง ห้องทำงานดนตรีส่วนตัวที่อยู่ตรงหน้าทางเข้า ห้องเก็บและซักเสื้อผ้าสำหรับร้าน ที่เหลือคือบริเวณผ่อนคลายซึ่งนับว่ามีสัดส่วนมากที่สุด

“เรายึดจากงานที่เราทำ ต้องมีห้องเก็บของ เก็บเสื้อผ้าที่มาจากร้าน” เฮาส์พาเราไปชมห้องสีน้ำเงินที่มีทั้งเครื่องซักผ้าและชุดต่าง ๆ จากร้าน ดูแล้วเหมือนร้านซักรีดขนาดย่อม

เดินถอยหลังมาจึงพบห้องน้ำสีเหลืองที่ตกแต่งกำแพงด้วยวอลล์เปเปอร์ไอคอนม้าลาย นี่คืองานของ Scalamandré แบรนด์สิ่งทอสัญชาติอเมริกันที่ใช้สำหรับตกแต่งภายใน ให้อารมณ์คล้ายห้องเช่าต่างประเทศตามที่เฮาส์บอก

เฮาส์เล่าว่าทางสถาปนิก Studio Mai Mai ออกแบบให้ห้องสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมภายนอก มีแสงส่องเข้ามาทั่วถึง ลมพัดผ่านเข้ามาอยู่ตลอดเวลา เราจึงไม่รู้สึกอึดอัดแม้แต่น้อย

ปัญหาที่เจอในตอนแรกคือมีห้องน้ำห้องหนึ่งกั้นอยู่ตรงบริเวณทางเข้าซึ่งเชื่อมต่อกับทุกจุด จึงต้องทุบเปิดทาง ภายหลังส่วนนี้กลายเป็นพื้นที่โถงที่เดินเชื่อมไปยังจุดต่าง ๆ ได้ ประดับด้วยหินตกแต่งคู่กับพื้นไม้อย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งสังเกตได้ว่าเพดานตรงนี้เตี้ยกว่าจุดอื่น เพื่อปิดท่อน้ำที่ซ่อนเอาไว้

และที่เด่นชัดที่สุดของบ้านเห็นจะเป็นพื้นที่ห้องนั่งเล่นซึ่งกินพื้นที่มากกว่าส่วนไหน ๆ ทั้งบริเวณโซฟาที่ตั้งอยู่หน้าโต๊ะวางทีวี ลากยาวไปยังส่วนของห้องครัวแบบฝรั่ง (Pantry) พร้อมบาร์น้ำ ซึ่งทั้งคู่ใช้เวลาร่วมกันตรงนี้มากที่สุด

เรารู้สึกสะดุดตากับประตูสีน้ำเงินตรงจุดเก็บรองเท้า ก่อนที่เฮาส์จะเฉลยว่าเป็นจุดที่ได้แรงบันดาลใจจากประตูแฟลตของพระเอก ในหนังโรแมนติกคอเมดี้เรื่อง Notting Hill เข้าฉายเมื่อปี 1999 ที่เข้ากันพอดีกับสีของร้าน Onion

เมื่อเดินเลยผ่าน Blue Door มาจะพบกับห้องแต่งตัว ภายในตู้อัดแน่นไปด้วยเสื้อผ้าหลายสไตล์ สมฐานะเจ้าของร้าน Onion “นี่คือน้อยแล้วนะ” เฮาส์บอก

ประตูบานใหญ่ที่เราเห็นเมื่อยืนที่ครัวคือส่วนที่แบ่งพื้นที่ห้องนอนออกจากโซนห้องนั่งเล่น ในบางครั้งที่มีแขกมาเยี่ยม ตรงนี้จะกลายเป็นผนังตกแต่งที่แยกความเป็นส่วนตัวอย่างชัดเจน เลื่อนประตูเก็บเข้าไปทั้งบานเพื่อเชื่อมห้องนอนกับห้องนั่งเล่นเข้าด้วยกันได้ และยังมีบานกระจกอีกชั้นในกรณีที่เปิดแอร์แต่ยังต้องการแสงแดด

ในพาร์ตดนตรีของเฮาส์ ห้องที่ใช้เป็นสตูดิโอกั้นห้องไว้อย่างชัดเจน ลักษณะคือฉากกั้นห้องเหล็กผสมช่องกระจกที่คงสไตล์ Industrial เอาไว้ แสงทั้งจากภายในและภายนอกเชื่อมโยงกัน ปิดด้วยประตูเลื่อนบานใหญ่เช่นเดียวกับห้องนอน

แผนผังของห้องโดยรวมแล้วเป็นห้องที่แบ่งจากความต้องการของผู้ใช้จริง ๆ ทำลายข้อจำกัดของอะพาร์ตเมนต์เรื่องพื้นที่ที่น้อยและความเป็นสัดส่วนชัดเจนจนเกินไป ฟังก์ชันทัดเทียมกับบ้านบนที่ราบ การเปิดพื้นที่ทั้งหมดให้เชื่อมต่อกันได้มากที่สุดทำให้แทบจะวิ่งแข่งกันภายในบ้านได้เลย

ทั้ง 2 คนใช้วิธีตกลงร่วมกันก่อนจะเลือกเฟอร์นิเจอร์ โดยใช้วิธีเลือกเฟอร์นิเจอร์ก่อน แล้วค่อยออกแบบให้เข้ากับเฟอร์นิเจอร์เหล่านั้น เหตุเพราะข้าวของเครื่องใช้เกือบทั้งหมดล้วนนำมาจากร้าน Onion อีกสาขาที่ไม่ได้ใช้แล้ว ซึ่งส่วนมากเป็นสไตล์ Industrial ผสมความเป็นเหล็กหล่อกับไม้เข้าด้วยกัน

อย่างไรก็ตาม การจัดวางของในบ้านไม่ได้มีการเปลี่ยนไปตามเทรนด์ แต่ทุกอย่างเกิดจากการตกตะกอนหลังได้เดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ เช่นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงงานศิลปะมากมาย แล้วจึงนำมา ‘ยำ’ รวมกันตามที่เฮาส์และปิ่นคิดว่าลงตัว เพดานทรงโค้งก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่เฮาส์ออกแบบเอง

เราสังเกตเห็นสเกตบอร์ดเปล่าพร้อมลายมือเขียนหวัด ๆ อันหนึ่งติดอยู่บนเสาบ้าน พอเดินไปดูใกล้ ๆ บอร์ดแผ่นนี้แทบจะส่องแสงทันที เพราะมีลายเซ็นของ Tony Hawk ประดับอยู่ เขาคือชายผู้อยู่ในจุดสูงสุดของวงการสเกต แถมยังเขียนว่ามอบให้ Onion

จากตรงระเบียงที่มีขนาดกว้างพร้อมกับต้นไม้หลายต้นวางอยู่ คือพื้นที่อเนกประสงค์ของ Onion Apartment ซึ่งขยายให้กว้างขึ้นจนกินพื้นที่เข้ามาในห้อง (แต่ห้องก็ยังดูกว้างขวางอยู่ดี) เฮาส์เล่าว่าปกติจะออกไปกินข้าวพร้อมตากลมชมวิวตอนเช้า หรือบางทีก็ใช้เป็นที่ทำบาร์บีคิว ยืนพูดคุยเวลามีแขกมาเยี่ยมเยียน ซึ่งประตูระเบียงที่เป็นบานเลื่อนใหญ่ก็ทำให้ห้องเชื่อมต่อกับวิวภายนอกราวกับจอโรงหนัง

Mood & Tone ของห้องนั้นถือว่าเป็นการร่วมมือกันระหว่างมือวางวงการแฟชั่นทั้ง 2 คนกับสถาปนิก

“นาฬิกาที่ตั้งตรงครัว ปิ่นยังหาที่ตั้งไม่ได้ เราไม่อยากตั้งตรงทีวี ส่วนเฮาส์ก็ไม่อยากติดที่กำแพง เลยตั้งไว้แบบนั้นแหละ” ปิ่นเล่าถึงเรื่องที่ตัดสินใจกันไม่ได้บ้าง

‘ความขัดแย้ง’ คืออีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญสำหรับคนใช้ชีวิตคู่ทุกคนต้องพบเจอ

โจทย์ที่เฮาส์และปิ่นตกลงกันว่าต้องคิดถึงอย่างมาก คือกรณีที่ทั้งคู่เกิดความไม่ลงรอยกัน หรือต้องการเวลาที่ส่วนตัวขึ้นมา พวกเขาทั้งสองจะต้องมีพื้นที่ให้ห่างกันได้ เฮาส์จึงมีสตูดิโอนั่งทำงาน ส่วนปิ่นมีพื้นที่นั่งกอดโมเนต์

ส่วนโซฟาตรงห้องโถงกลางที่ในตอนแรกเราคิดว่าเป็นบริเวณรับแขก พวกเขาเฉลยทีหลังว่านี่เป็นพื้นที่สำหรับทั้ง 2 คน จึงไม่ได้เลือกซื้อโซฟาขนาดใหญ่ แต่เป็นขนาดพอเหมาะพอดีสำหรับ 2 คนกับหมาอีก 1 ตัว

“บ้านนี้ไม่ได้คิดถึงแขก ตอนแรกปิ่นจะคิดถึงคนที่มาหา แต่เฮาส์บอกว่าต้องคิดถึงเราทั้ง 2 คนก่อนสิ เขามาไม่นาน แต่เราอยู่ประจำ”

กระแสแฟชั่นที่เปลี่ยนแปลงไปเสมอสะท้อนออกมาผ่านการจัดวางเฟอร์นิเจอร์ในห้องของทั้งคู่ เกือบทั้งหมดเป็นของที่เคลื่อนย้ายได้ กระทั่งโต๊ะที่โซฟาก็มีล้อให้เลื่อน มีเพียงส่วนครัวเท่านั้นที่เป็นแบบ Built-in ซึ่งสะดวกมากหากต้องการความไม่จำเจ

“ที่ Onion เปลี่ยนหน้าร้านทุกอาทิตย์ เราคิดว่าที่บ้านก็เป็นแบบนั้นได้เหมือนกัน”

จากที่ห้องเดิมมีขนาดเล็กเกินไป แสงก็ไม่เพียงพอ ไม่มีสมาธิในการทำงาน ปัญหาเดิมก็ถูกแก้ไขจนตรงใจทั้งคู่กันที่นี่

มอบให้โมเนต์

นอกจากอาชีพกับความชื่นชอบแล้ว ยังมีอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่่ทำให้บ้านของทั้งคู่ออกแบบมาได้สมบูรณ์ขึ้น นั่นคือคอนโดนี้ต้องเหมาะสมกับสมาชิกอีก 1 ตัวอย่างน้อง ‘โมเนต์’

“เรามาที่นี่ครั้งแรก เราถามก่อนเลยว่าเลี้ยงสัตว์ได้ไหม เพราะเรามีโมเนต์ น้องหมาพันธุ์คอร์กี้ที่อายุค่อนข้างมากอยู่ด้วย”

ในขั้นตอนการออกแบบจึงมีโจทย์ในการเลี้ยงสัตว์เข้ามา เป็นพื้นที่ให้ทั้ง 2 คนและเจ้าตัวเล็กได้พักผ่อนอย่างสบายใจ หามุมนอนหลับได้โดยไม่ซ้ำแต่ละวัน

แต่ไม่กี่วันก่อนที่คอนโดจะเสร็จเรียบร้อย โมเนต์ได้กลับดาวหมาไปเสียก่อน คอนโดห้องนี้จึงต้องเงียบเหงาไปเป็นเวลาหลายเดือน ก่อนที่เจ้าฟีบี้จะเข้ามาเยียวยาและเติมเต็มหัวใจของทั้ง 2 คน 

ฟีบี้ สุนัขที่นั่งอยู่กับเราตลอดการสัมภาษณ์ในอ้อมกอดของแม่ปิ่น คือแหล่งพลังงานความร่าเริงล้นเหลือสายพันธุ์ White Wire Fox Terrier ที่ทั้งคู่พามาจากรัสเซีย หลายคนอาจคุ้นตาจากตัวละคร Snowy ในการ์ตูน The Adventures of Tintin ซึ่งตรงกับภาพบนเสาบ้านที่วาดด้วยลายเส้น Ligne Claire ลายเดียวกับแบรนด์เสื้อผ้าที่เฮาส์นำมาขายในชื่อ Arpenteur ออกแบบลายภาพโดย Régric อดีตสมาชิกของ Studio Hergé 

ความผูกพันที่มีกับแบรนด์นี้กว่า 10 ปีเป็นส่วนที่ทำให้เฮาส์เลือกฟีบี้ที่กำลังนั่งมองเรามาอาศัยอยู่ด้วยกัน 

ในสัปดาห์แรกที่ต้องปรับตัวกับบ้านใหม่ เมื่อฟีบี้ได้เจอกับนกพิราบตรงระเบียงปุ๊บก็ป่วยทันที ซึ่งก็ได้ผู้ปกครองทั้งสองช่วยจัดการไล่ให้เป็นการถาวร

ถึงแม้จะอยู่ในคอนโด แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตของฟีบี้เลยแม้แต่น้อย พื้นที่กว้างขวางและแสงแดดทำให้เขาสุขภาพแข็งแรงไม่ต่างจากน้องหมาที่อยู่บ้าน ระหว่างสัมภาษณ์ เจ้าฟีบี้ก็วิ่งปร๋อไปรอบบาร์น้ำในขณะที่เฮาส์ไล่ตามจับเหมือนในการ์ตูน เป็นสาเหตุที่แม่ปิ่นต้องนั่งกอดไว้ตลอดนั่นเอง 

ด้วยฟังก์ชันที่มีไว้เพื่อรองรับน้องโมเนต์ ฟีบี้จึงใช้ชีวิต เล่น กิน อยู่ นอน อย่างมีความสุข ปิ่นบอกว่าเจ้าของบ้านตัวจริงคือฟีบี้ ตนเองแค่มาอาศัยอยู่และยืมพื้นที่ทำงานในห้องของเขาเท่านั้น

บ้านที่สวย คือบ้านที่เราอยู่

จากการปรึกษากัน วางแผนสร้างจนได้อยู่คอนโดตามใจปรารถนา ทั้งคู่บอกว่าในที่สุดก็ค้นพบความหมายของ ‘บ้าน’ ในแบบของตัวเอง

“บ้านคงเป็นที่ที่ใช้ชีวิตบ่อยที่สุด ตั้งแต่บ้านนี้เสร็จ พวกเราไม่ค่อยได้ออกไปไหนเลย Work from Home ด้วย ดังนั้นบ้านควรเป็นที่ที่ตอบโจทย์มากที่สุด ไม่ว่าจะทำงาน พักผ่อน หรือต้อนรับเพื่อนและครอบครัว

“ทำบ้านด้วยกันนี่ทะเลาะกันตลอดเลยนะ เฮาส์เป็นคนละเอียดมาก ถ้ากระเบื้องห้องน้ำเบี้ยว ต่อให้บ้านเสร็จแล้วเขาก็จะสั่งทุบใหม่” ปิ่นพูดขณะที่เฮาส์นั่งยิ้มอยู่ข้าง ๆ แล้วเสริมขึ้นมา

“จริง ๆ ได้สัก 90% ของความคิดเราก็พอแล้วครับ ไม่มีทางได้ครบหรอก”

ปิ่นบอกเราอย่างมั่นใจว่า หากได้กลับมาเยือนที่นี่อีกครั้งก็อาจจำไม่ได้แล้ว เพราะทุกอย่างจะเคลื่อนย้ายหรือเปลี่ยนสไตล์ไปเรื่อย ๆ ตามความชอบของทั้งคู่ โดยไม่ได้อิงกับกระแสแฟชั่น

“เราเป็นคนชอบรูปใน Pinterest มันสวยจนเราอยากได้ตามนั้น แต่เฮาส์บอกให้เลิกดู ให้ลองมองบ้านที่มีคนเดิน มีการใช้ชีวิตจริง แล้วเธอจะคิดอีกแบบ เพราะ Pinterest คือภาพนิ่ง จัดยังไงก็สวย” ปิ่นเล่า

“เรามีโอกาสไปดูสถานที่ตาม Pinterest เยอะนะ ปรากฏว่าความเป็นจริงไม่ได้สวยขนาดนั้นหรอก มันเป็นเรื่องของช่างภาพที่หา Perspective ที่สวยงามได้”

“บ้านจะสวยก็ต่อเมื่อเราอยู่ไปเรื่อย ๆ” คือนิยามของบ้านที่ปิ่นสรุปให้เราฟัง

ความมีชีวิตชีวาของคนในบ้านจะเติมแต่งให้บ้านกลายเป็นที่ของเขาจริง ๆ เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ นั่งทำงาน ฟังเพลง และกอดน้องหมาได้อย่างที่ปิ่นทำ

“บ้านมันไม่ได้เข้ามาแล้วสวยเลย แต่จะสวยอีกประมาณ 2 – 3 ปีที่เริ่มมีคนอยู่ ใช้ชีวิตจริง มีความสัมพันธ์ มันยิ่งเละ แต่ก็คือความจริง บ้านมันไม่ควรเป็นบ้านตัวอย่าง แต่ควรเป็นบ้านของเรา”

ชีวิตใน Onion Apartment ยังคงดำเนินไป และยังมีเรื่องให้เรียนรู้ทุกวัน 

ทุกวันนี้รู้สึกว่าบ้านนี้ตอบโจทย์ไหม – เราถาม

“ให้ตอบแบบเท่ ๆ ใช่ปะ” เฮาส์หัวเราะ “เราก็ไม่รู้”

“เรายังไม่ได้คิดว่าปลายทางอยู่ตรงไหน นี่! เท่ปะ” ปิ่นตอบก่อนหันมายิ้มให้กับคนรัก “อยู่ไปเรื่อย ๆ ยังไม่ได้คิดว่าปลายทางคืออะไร เราเพิ่งเริ่มเอง” 

ก่อนจากกัน เมื่อเราเห็นปิ่นโยนของเล่นไปทางห้องครัวแล้วเจ้าฟีบี้วิ่งตามไปอย่างรวดเร็ว ในฐานะทาสหมา เราบอกได้เลยว่าฟีบี้ได้รับความรักความอบอุ่นในทุกวันใต้ชายคา Onion Apartment แห่งนี้

Writer

ธนพงศ์ วสุวัต

ธนพงศ์ วสุวัต

นักเดินทางเพื่อหาอะไรสักอย่างในชีวิต อยากเป็นความสุขให้กับคนรอบตัว เลยชอบส่งรูปข้าวตอนตี 2

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล