ครั้งหนึ่งเราเดินทางไปต่างประเทศ เห็นที่นั่งสาธารณะ หรือ Urban Furniture อยู่ชิ้นหนึ่ง หน้าตาของมันเรียบง่ายมาก เป็นแท่งสี่เหลี่ยมผืนผ้า มองผ่าน ๆ ก็เหมือนม้านั่งธรรมดาที่ใช้เหล็กตีช่องห่างเป็นซี่ ๆ เมื่อมีคนจูงจักรยานเข้ามาเสียบในช่องนั้นแล้วนั่งลง ถึงได้เข้าใจที่มาที่ไปของการออกแบบนั้นอย่างถ่องแท้ ซึ่งเราอาจไม่ได้พบเจองานออกแบบเหล่านี้ในไทยมากนัก

แต่พอรู้ข่าวว่ากำลังจะมีงานประกวด One Bangkok Urban Furniture Competition 2022 ภายใต้โจทย์การออกแบบ ‘Seatscape & Beyond’ จัดโดยโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ครบวงจรและใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และหลังจากการประกวดผลงานที่ได้รับคัดเลือก 10 ชิ้น จะได้ติดตั้งจริงในพื้นที่สาธารณะสีเขียว ซึ่งอยู่ใจกลางโครงการและบริเวณโดยรอบ ก็รอได้เห็นการออกแบบที่นั่งที่จะเกิดขึ้นอย่างใจจดใจจ่อ

ขอเล่าอย่างย่นย่อก่อนว่า ภายในโครงการ One Bangkok นอกจากจะมีพื้นที่เชิงพาณิชย์ มีโรงแรม ออฟฟิศ ห้างสรรพสินค้า ยังมีพื้นที่สาธารณะโดยเอกชน (POPS) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของโครงการเพื่อให้ผู้คนได้เข้ามาใช้งาน โดยตั้งใจให้เป็น Place for All หรือพื้นที่สำหรับทุกคน ไม่ใช่แค่ในแง่ของคนใช้งาน แต่รวมถึงคนที่สร้างงานด้วย การประกวดที่ว่านี้จึงเกิดขึ้นเพื่อหา Urban Furniture ฝีมือนิสิตนักศึกษาผู้จะก้าวสู่การเป็นนักออกแบบมืออาชีพไปเติมเต็ม โดยจะจัดขึ้นทุก ๆ 2 ปี เริ่มต้นปีแรกด้วยการออกแบบที่นั่ง และต่อไปจะแตกแขนงไปยัง Urban Furniture แบบอื่น ๆ

“ตอนนี้เราเริ่มเห็นว่ามีพื้นที่สีเขียวในเมืองเกิดขึ้นมาก เอาพื้นที่ที่ไม่ถูกใช้งาน พื้นที่รกร้างมาทำเป็นพื้นที่สีเขียว เอกชนเองก็เริ่มใส่ใจพื้นที่สีเขียว พื้นที่ที่เป็นสาธารณะมากกว่าพื้นที่เชิงการค้า ของเราเป็นพื้นที่แบบกึ่ง Private กึ่ง Public เพราะฉะนั้นมันเป็นหนึ่งบทบาทของเอกชนที่ให้บางอย่างคืนสู่เมือง โดยที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ เป็นก้าวสำคัญที่ทำให้เอกชนเป็นส่วนหนึ่งของเมือง อยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน คนกล้าเข้ามาใช้งาน คนในพื้นที่เปิดรับคนนอก คนนอกก็เคารพเจ้าของพื้นที่ 

“มันเป็นการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน นักออกแบบหรือศิลปินเรียนรู้พฤติกรรมของคน คนรู้วิธีการใช้งาน อยากทำให้เขาเข้ามาใช้ชีวิต และทำให้เห็นว่างานศิลปะ งานออกแบบ ก็เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราทุกคน มันเข้าถึงได้ ไม่น่ากลัว ในขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้นักศึกษาทำงานกับมืออาชีพและมีเอกชนสนับสนุน ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ อันนี้คือความสนุกและคือหัวใจของโครงการ”

10 ที่นั่งสาธารณะทั่วโลก แนวคิดเหนือชั้นที่ใช้งานออกแบบและศิลปะต่อยอดความสร้างสรรค์

จรินทร์ทิพย์ ชูหมื่นไวย หัวหน้าภัณฑารักษ์และผู้บริหารฝ่ายศิลปะและวัฒนธรรม โครงการ วัน แบงค็อก เล่าถึงที่มาที่ไปให้ฟัง ก่อนชวน ปภพ เกิดทรัพย์ ผู้ดูแลโครงการประกวด พลอยพรรณ ธีรชัย และ เดชา อรรจนานันท์ สองนักออกแบบผู้ก่อตั้ง THINKK Studio หนึ่งในคณะกรรมการรวมถึงเป็นที่ปรึกษาด้านการออกแบบให้กับทีมผู้เข้ารอบ มาจัดคลาสเลกเชอร์ขนาดสั้น ว่าด้วยการเล่าถึงงานออกแบบที่นั่งสาธารณะเจ๋ง ๆ จากทั่วโลก เพื่อเป็นไอเดียสำหรับต่อยอดความคิดสร้างสรรค์

10 ที่นั่งสาธารณะทั่วโลก แนวคิดเหนือชั้นที่ใช้งานออกแบบและศิลปะต่อยอดความสร้างสรรค์

ต่อไปนี้คือตัวอย่าง 10 ที่นั่งสาธารณะที่เป็นมากกว่าที่นั่งจากทั้ง 4 คน

01
The Public Purse (1994), Simon Perry

10 ที่นั่งสาธารณะทั่วโลก แนวคิดเหนือชั้นที่ใช้งานออกแบบและศิลปะต่อยอดความสร้างสรรค์
10 ที่นั่งสาธารณะทั่วโลก แนวคิดเหนือชั้นที่ใช้งานออกแบบและศิลปะต่อยอดความสร้างสรรค์
ภาพ : จรินทร์ทิพย์ ชูหมื่นไวย 

“ประติมากรรมและที่นั่งในย่านช้อปปิ้ง โดย Simon Perry ศิลปินชาวอังกฤษที่อยู่ออสเตรเลีย เขามีชื่อเสียงด้านการทำงานประติมากรรมสาธารณะชิ้นใหญ่ ๆ โดยคำนึงถึงบริบทโดยรอบ ตอนแรกเราแปลง่าย ๆ ว่า Purse ในที่นี้คือกระเป๋าเก็บเงิน แต่คอนเซ็ปต์ที่ลึกไปกว่านั้นคือ มันเป็นงานประติมากรรมในโครงการ Percent for Art แคมเปญของรัฐที่หัก 1 เปอร์เซ็นต์ จากทุกการสร้างอาคารใหม่มูลค่าเกิน 2 ล้านดอลลาร์ มาบริจาคให้กับศิลปินเพื่อทำ Public Art ดังนั้น คำว่า Public Purse ที่ศิลปินตั้งใจไว้ก็คือ เป็นกระเป๋าเงินของประชาชน 1 เปอร์เซ็นต์ที่เกิดเป็นงานศิลปะให้กับชุมชน เป็นที่นั่งที่ไม่มีแม้แต่ขาเก้าอี้ ไม่มีพนัก แต่อยู่กับบริบทพื้นที่ได้แบบไม่เคอะเขิน”

02
Public Seating, Unknown Designer

10 ที่นั่งสาธารณะทั่วโลก แนวคิดเหนือชั้นที่ใช้งานออกแบบและศิลปะต่อยอดความสร้างสรรค์
10 ที่นั่งสาธารณะทั่วโลก แนวคิดเหนือชั้นที่ใช้งานออกแบบและศิลปะต่อยอดความสร้างสรรค์
ภาพ : จรินทร์ทิพย์ ชูหมื่นไวย 

“เก้าอี้เอาต์ดอร์หน้าตาธรรมดา ตั้งใจจับกันเป็นกลุ่มเหมือนหันหน้าคุยกัน แล้วก็ฝังกับพื้นที่จัตุรัสกลางเมืองปอร์โต ประเทศโปรตุเกส และบริเวณป้ายรถเมล์ ซึ่งจัตุรัสโบราณเล็ก ๆ รอบ ๆ มีร้านค้า ร้านกาแฟ และโรงแรม เป็นพื้นที่สาธารณะที่คนมาเจอกัน คุยกัน เก้าอี้เหมือนถูกออกแบบมาอย่างไม่ตั้งใจ แต่สำหรับเรามันคือ Urban Furniture อย่างอันแรกมีความเป็นศิลปะ มีการพูดคุย มีการเล่าอะไรบางอย่าง ซึ่งฟังก์ชันมันง่ายและธรรมชาติมาก เข้ากับพื้นที่เมือง และจังหวะองศาการวางกำลังสวยเลย อยู่กระจาย แต่ไม่ได้ใกล้ชิดจนเกินไป”

03
Rely Protective Public Seating (2019), Joe Doucet x Partners

10 ที่นั่งสาธารณะทั่วโลก แนวคิดเหนือชั้นที่ใช้งานออกแบบและศิลปะต่อยอดความสร้างสรรค์
ภาพ : joedoucet.com 

“ชอบวิธีแก้ปัญหาที่ทำให้มันเป็นมากกว่าเก้าอี้ คือช่วงนั้นที่นิวยอร์กมีเหตุการณ์รถชนคนโดยผู้ก่อการร้าย ดีไซเนอร์เลยออกแบบโดยคิดว่า จะทำอย่างไรให้ที่นั่งสาธารณะป้องกันการเกิดอุบัติเหตุบางอย่างได้ เลยมีการออกแบบทางวิศวกรรมให้ตัวข้อต่อรับแรงกระแทกได้ พร้อมเป็นแบริเออร์ให้คนที่นั่งอยู่ปลอดภัย ซึ่งไม่ได้ดูดีไซน์เยอะ แต่เก็บรายละเอียดหลายอย่างไว้ได้”

04
Modified Social Benches NY (2015), Jeppe Hein

10 ที่นั่งสาธารณะทั่วโลก แนวคิดเหนือชั้นที่ใช้งานออกแบบและศิลปะต่อยอดความสร้างสรรค์
ภาพ : jeppehein.net

“งานชินนี้ ศิลปินสนใจเรื่องการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คน เขาเลยพยายามตีความระยะห่าง ว่าแค่ไหนที่คนจะมีปฏิสัมพันธ์กันได้ โดยการเอาม้านั่งในสวนปกติมาบิดให้มีฟังก์ชันอื่น ๆ ทั้งหมด 16 ชิ้น เช่น แบบที่นั่งคนเดียวได้ นั่งแยกกันก็ได้ ที่นั่งคนละฝั่ง มีที่วางจักรยาน มีชิ้นที่เล่นกับบริบทเดิม คือทะลุผ่าน ใช้ต้นไม้กั้น มีที่เป็นทรงลูปให้นั่งได้หลายแบบ นอนก็ได้ ส่วนชิ้นนี้น่ารักตรงที่ให้นั่งหันหน้าเข้าหากัน แต่สับหว่างกัน จริง ๆ ก็คือ Social Distancing เลยนะ แต่คิดล่วงหน้าก่อนมีโควิด-19 5 ปี”

10 ที่นั่งสาธารณะทั่วโลก แนวคิดเหนือชั้นที่ใช้งานออกแบบและศิลปะต่อยอดความสร้างสรรค์
10 ที่นั่งสาธารณะทั่วโลก แนวคิดเหนือชั้นที่ใช้งานออกแบบและศิลปะต่อยอดความสร้างสรรค์
ภาพ : jeppehein.net

“เรารู้สึกว่ามันคือความเป็น Seatscape & Beyond ที่แท้จริง ถึงหน้าตาจะดูเหมือนม้านั่ง แต่เขามาด้วยคอนเซ็ปต์บางอย่างที่ต้องการหาคำตอบและแสดงออกมาแบบศิลปิน”

05
Corner Chair (2020), Takuya Aramata

10 ที่นั่งสาธารณะทั่วโลก แนวคิดเหนือชั้นที่ใช้งานออกแบบและศิลปะต่อยอดความสร้างสรรค์
10 ที่นั่งสาธารณะทั่วโลก แนวคิดเหนือชั้นที่ใช้งานออกแบบและศิลปะต่อยอดความสร้างสรรค์
ภาพ : Takuya Aramata

“ชิ้นนี้เป็นที่นั่งพักแบบหย่อนโดยนักออกแบบชาวญี่ปุ่น ทำเป็นท่อเหล็กขึ้นมาแล้วเอาไปเกาะกับมุมตึก หน้าตาคล้าย Sculpture ให้คนนั่งได้เร็ว ๆ เดินมาอยากพักก็ทำได้เลย ตั้งไว้ได้ทุกที่ เป็นการแฮกพื้นที่เมืองง่าย ๆ ซึ่งอีกข้อหนึ่งของการเป็น Urban Furniture คืออยากให้คนกล้าใช้งาน ไม่กลัวแม้เป็นงานศิลปะในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งประโยชน์สูงสุดมันจะไม่ได้ผ่านแค่ตาหรือฟังศิลปินเล่า ต้องเกิดประสบการณ์ร่วมกับมันด้วย แล้วก็ผลิตเยอะ ๆ ได้”

06
The Rocker, The Slider & The Wobbler (2018), LLAQTA Design x HR Groep

ภาพ : Magdalena Wierzbicka and Miarka Webb

“โปรเจกต์กึ่งทดลองว่าคนเราจะมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันรูปแบบใดในพื้นที่สาธารณะบ้าง โดยใช้ของเดิมที่มีอยู่อย่างหัวเสาข้างถนนธรรมดา แล้วออกแบบสิ่งที่จะมาเติมให้เกิดกิจกรรมที่หลากหลายกว่าการเป็นเฟอร์นิเจอร์ปกติ เช่น เป็นที่ให้คนนั่ง เป็นเครื่องเล่นไม้กระดกหรือชิงช้า ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลองสังเกตหรือจินตนาการจากสิ่งที่มีอยู่แล้ว ว่ามาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างไรได้บ้าง”

07
OPEN! FURNITURE (2019), TORAFU ARCHITECTS

ภาพ : Ryuichiro Suzuki, TORAFU ARCHITECTS

“เซ็ตเฟอร์นิเจอร์ในพื้นที่สาธารณะที่ทำให้คนในชุมชนมารวมตัวกัน โดยนำไม้สนสีธรรมชาติมาประกอบกัน เกิดเป็นเก้าอี้ โต๊ะ ที่นั่งลอยตัว แต่เป็นลักษณะของการใช้ชั่วคราว เคลื่อนย้ายได้ โดยเอาบริบทของที่ที่มีขั้นบันได มีขอบรั้ว ราวระเบียง กระถางต้นไม้ กระบะต้นไม้ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น ใช้ขั้นบันไดเสริมความสูงขึ้นมาเป็นเก้าอี้ แล้วใช้ระดับบันได 2 ขั้นเป็นฐานโต๊ะ ทำให้พื้นที่ที่คนเคยเดินผ่านขึ้นลงเฉย ๆ กลายเป็นคอมมูนิตี้ขึ้นมา เราชอบความง่ายที่ไม่ต้องทำอะไรซับซ้อน แต่มันเห็นความเปลี่ยนแปลงค่อนข้างชัด ในแง่ของการเกิดฟังก์ชันและพฤติกรรมที่เสริมเข้ามาในพื้นที่เดิมที่มีอยู่”

08
Skinny Playscape (2013), JDS Architects

“เขาใช้แค่แผ่นระนาบบาง ๆ เปลี่ยนระดับไปเรื่อย ๆ เป็นแนวยาว ทำให้เกิด Movement & Function การเล่นที่แตกต่างกัน เป็นที่มาของการตั้งชื่อว่า Skinny Playscape ตั้งแต่การไต่ระดับ การลอดช่องอุโมงค์ บาร์โหน อันนี้ไม่ได้ทำให้ดูกลืนกับพื้นที่ แต่เป็นประติมากรรมตกแต่งสถานที่แบบมีฟังก์ชันและเรียกร้องความสนใจ แล้วก็เป็นกลยุทธ์อย่างหนึ่งที่ดึงให้เด็กหรือคนในครอบครัวออกมาใช้พื้นที่สาธารณะริมแม่น้ำในวันหยุด”

ภาพ : Julien lanoo

“ในแง่การออกแบบก็น่าสนใจ เขาใช้เพียงเส้นตรงเส้นเดียวสร้างพฤติกรรมที่หลากหลายได้ ในขณะเดียวกันก็ทำให้สิ่งที่เด่นยังคงเด่นได้อยู่ เพราะถึงแม้มันจะวางขนานไป แต่ก็ยังมองเห็นแม่น้ำเต็ม ๆ ได้ และที่ดูเหมือนง่ายแต่ใช้เทคโนโลยีการผลิตซับซ้อนมาก คือการพับจากแผ่นเดียวให้เป็นรูปทรงต่าง ๆ ที่มีความแข็งแรง ต้องมีเรื่องของวิศวกรรมแน่ ๆ”

09
Superkilen Park (2012) ,Bjarke Ingels Group, Superflex, Topotek 1

ภาพ : Iwan Baan

“เป็นพื้นที่สาธารณะในโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ที่ตั้งใจให้คนเข้ามาใช้ประโยชน์เพื่อให้เกิดการรวมตัวและเป็นสถานที่ท่องเที่ยวไปด้วย ในนั้นมีที่นั่งสาธารณะแฝงตัวอยู่ ซึ่งได้รับการออกแบบมาพร้อมกับพื้นที่เลย ทั้งรูปร่าง รูปทรง หรือตำแหน่ง ล้อไปด้วยกันหมด เป็นตัวอย่างการออกแบบที่ทำไปพร้อมกับพื้นที่ มันเลยกลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้คนหรือนักท่องเที่ยวอยากเข้าไปดูงานในพื้นที่นั้น อยากเข้าไปถ่ายรูป ไปนั่งพักผ่อน ทำให้คนในชุมชนบริเวณนั้นมีรายได้ ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม”

10
Rendezvous Steps (2022), THINKK Studio

“เราเอา 4 โหมดการนั่งจากโจทย์การประกวด คือ Sit to Linger, Sit to Transfer, Sit to Play, Sit to Gather มาจำลองเป็น Installation ลงในพื้นที่ของงาน Bangkok Design Week 2022 โดยใช้บริบทพื้นที่บริเวณขั้นบันไดของอาคาร ซึ่งเป็นศูนย์กลางของเทศกาล จับกับบริบทของคนที่มางาน ออกแบบที่นั่งในจุดนัด อย่างพื้นที่ที่เป็น Sit to Transfer ให้คนมานั่งครู่เดียว เช็กแผนที่ หรือนัดเจอคนรู้จักแล้วก็ไปต่อ เลยเป็นม้านั่งยาว ๆ ที่อาจไม่สบายมาก แต่มีคาแรกเตอร์น่าสนใจ คือ จุดหมุนปรับเปลี่ยนทิศทางการนั่งได้ และเป็นโต๊ะวางของได้ด้วย

“Sit to Gather เราใช้เฟอร์นิเจอร์เปลี่ยนทิศทางการนั่งที่ขั้นบันได ซึ่งเป็นการมองไปข้างหน้าทางเดียว ให้หันหน้าเข้าหากันมากขึ้น เพื่อให้คนมาเจอกัน พูดคุยอัปเดตกันในพื้นที่บริเวณนี้ได้ ส่วน Sit to Play ใช้ประโยชน์จากขั้นบันไดต่างระดับเป็นที่นั่งสนุก ๆ ที่สไลด์ตัวลงมาได้

“อันสุดท้าย Sit to Linger ตั้งใจให้เป็นที่นั่งผ่อนคลายจากการเดินที่เหนื่อยล้า มีมุมสงบพักผ่อน มีต้นไม้ ทำให้รับรู้ถึงธรรมชาติ ข้างบนก็จะมีผ้าพลิ้ว ๆ ไว้ให้รับรู้ความมีอยู่ของลมบนที่นั่งแบบเปล”

ถ้าใครอ่านมาถึงตรงนี้ และกำลังเตรียมตัวก้าวเข้าสู่เวทีการประกวด One Bangkok Urban Furniture Competition 2022 ‘Seatscape & Beyond’ เราขอสมนาคุณ ถอดรหัสคำแนะนำจากทั้ง 4 คนมาบอก

01 ตีโจทย์ให้แตก

จากโจทย์การออกแบบ Seatscape & Beyond ที่นั่งที่เป็นมากกว่าที่นั่ง ผ่านการตีความบริบทการนั่ง 4 รูปแบบ ให้ลองถามตัวเองว่าถ้าเราทำที่นั่งในที่สาธารณะ เราจะนั่งในที่แบบไหน แล้วที่นั่งเราต้องเหมือนเดิมไปตลอดหรือเปล่า หรือลองเสนอวิธีแก้ปัญหาบางอย่างให้กับการใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะแบบที่นึกไม่ถึง และอย่าลืมว่ามากกว่าการออกแบบ คือการแก้ไขปัญหาเพื่อตอบโจทย์การใช้งาน

ฉะนั้น ขอแอบเผยสูตรการเหลาแบบให้แหลมคมที่ประกอบด้วย 5 แกนไว้ตรงนี้ 

อย่างแรกคือ Objective สิ่งที่ออกแบบนั้นมีวัตถุประสงค์อะไร สอง Location พื้นที่เชิงกายภาพ การใช้งานสอดคล้องกับบริบทในลักษณะไหน สาม มี User ใครใช้งาน อายุเท่าไร มีความต้องการอะไร และ สี่ Technology คือผลิตอย่างไร เพื่อให้สอดคล้องการใช้งานหรือระยะเวลา สุดท้ายคือ Situation ว่าไปอยู่ในสถานการณ์ลักษณะไหน เช่น ปัจจุบันอยู่ในสถานการณ์โควิด-19 หรือ Green Sustainability เป็นต้น

02 ศึกษาบริบทให้แม่น

สิ่งสำคัญที่ต้องศึกษาและลงไปดูพื้นที่จริง ตั้งแต่พื้น ผนังในบริเวณนั้น จนไปถึงชุมชนโดยรอบ ต้องรู้ว่าคนที่จะเข้ามาใช้คือใคร แล้วคนกลุ่มนั้นเขากำลังมองหาอะไรบ้าง รู้ว่าเขาจะมาใช้งานเพราะอะไรหรือเพื่ออะไร เราจะปฏิสัมพันธ์กับชุมชนตรงนั้นด้วยวิธีการไหน และต้องคิดในเรื่องของ Pain Point ว่า ถ้ามีที่นั่งสาธารณะขึ้นมาแล้วมันจะช่วยให้เกิดอะไรขึ้นไหม เช่น การพบปะ การพูดคุย หรือการให้คนมาออกกำลังกาย

03 หยิบความชอบมาใส่ฟังก์ชัน

ในการลงมือออกแบบ ลองมองความถนัดและความชอบของตัวเอง หาคาแรกเตอร์ของตัวเอง และนำมาจับกับโจทย์ที่เราทำอยู่ ลองแยกเรื่องงานประกวดออกเป็น 2 เรื่องหลัก หนึ่ง คือเรื่องฟังก์ชัน ความเป็นเหตุเป็นผล การวิเคราะห์บริบทต่าง ๆ นี่คือสิ่งที่ต้องมีและทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด อีกส่วนคือความคิดสร้างสรรค์ที่เปิดกว้าง จะหยิบเรื่องอะไรจับกับฟังก์ชัน เช่น ศิลปะ ประวัติศาสตร์ในอดีต ความล้ำสมัย เทคโนโลยี หรือเรื่องราวอะไรน่าสนใจอะไรมาเล่าและส่งเสริมให้สิ่งที่ออกแบบดีขึ้น

04 จับกลุ่ม เสริมทีม

การประกวดครั้งนี้เป็นโอกาสดีและหาไม่ง่ายของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่จะได้ทำงานออกแบบและได้ผลิตใช้จริงในโครงการ One Bangkok รวมถึงเข้าร่วมได้ทุกสาขาวิชา ไม่ได้จำกัดเฉพาะสาขาออกแบบหรือสถาปัตยกรรมเท่านั้น

หากได้ลองจับกลุ่มทำงานกับคนที่มีความถนัดแตกต่างกัน ก็น่าสนใจที่จะได้ไอเดียและศาสตร์ความรู้ใหม่ ๆ หลากหลายจากเพื่อนต่างสาขา และถือโอกาสฝึกการทำงานเป็นทีมไปในตัว ฟังทั้งหมดแล้วชักน่าสนุกและตื่นเต้นแทนคณะกรรมการที่จะได้เห็นความคิดสร้างสรรค์นี้ก่อนใคร ซึ่งถ้าใครพร้อมก็ส่งผลงานได้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม – 30 มิถุนายน 2565 ที่ https://bit.ly/3voyYIT และช่องทางสื่อสารอื่น ๆ ของโครงการได้เลย

One Bangkok Urban Furniture Competition 2022 ‘Seatscape & Beyond’ เป็นการประกวดแข่งขันระดับอุดมศึกษาทุกสาขาวิชา ด้วยโจทย์ที่เปิดพื้นที่ให้กับความคิดสร้างสรรค์อันหลากหลายของการออกแบบที่นั่งสาธารณะที่เป็นไปได้มากกว่าแค่ที่นั่งทั่วไป ชิงรางวัลมูลค่ารวมกว่า 500,000 บาท ผ่านการตีความบริบทการนั่ง 4 รูปแบบ ได้แก่

  • Sit to Linger : การนั่งที่ทำให้ได้เอื่อยเฉื่อยอยู่กับตัวเอง และได้ใช้เวลาที่มีปล่อยใจออกไปสำรวจสิ่งรอบตัว ค้นพบแรงบันดาลใจที่วิ่งเข้ามาแม้จะไม่ได้ลุกเดินออกไปไหน
  • Sit to Play : การนั่งที่ไม่ใช่แค่การหยุดนิ่งอยู่กับที่ แต่มีองค์ประกอบที่กระตุ้นให้ร่างกายได้เล่นและตอบสนองอย่างสนุกสนานระหว่างเพื่อน ครอบครัว หรือคนแปลกหน้า
  • Sit to Gather : การนั่งที่เชื้อเชิญให้ผู้คนมารวมตัวและมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ไม่ว่าจะผ่านทั้งบทสนทนาที่เต็มไปด้วยรสชาติ หรือผ่านมื้ออาหารที่เต็มไปด้วยเรื่องราว
  • Sit to Transfer : การนั่งที่เกิดขึ้นเพียงชั่วครู่ในระหว่างการเปลี่ยนผ่านจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งอย่างมีเป้าหมาย เป็นที่นั่งรอที่มากกว่าแค่ใช้รอคอย แต่ต้องต้อนรับและบอกลา

ผลงานที่ส่งเข้าประกวดจะได้รับการคัดเลือกให้เข้ารอบ 20 ผลงาน โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจาก One Bangkok, THINKK Studio และอื่น ๆ 

ผู้ผ่านการคัดเลือก 10 ผลงานจะได้ร่วมกิจกรรมเวิร์กชอปกับนักออกแบบมืออาชีพชั้นนำของไทย และพัฒนาผลงานเพื่อติดตั้งในพื้นที่สาธารณะของ One Bangkok

รายละเอียดเพิ่มเติม 

Website : https://bit.ly/3voyYIT

Facebook : onebangkokth

Email : [email protected]

โทรศัพท์ : 0 2081 3700

Writer

Avatar

ปาริฉัตร คำวาส

อดีตบรรณาธิการสื่อสังคมและบทความศิลปวัฒนธรรม ผู้เชื่อว่าบ้านคือตัวตนของคนอยู่ เชื่อว่าความเรียบง่ายคือสิ่งซับซ้อนที่สุด และสนใจงานออกแบบเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี (กับเธอ)

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน