วันจ่าย วันไหว้ และวันเที่ยว คงเป็น 3 วันที่เราชาวไทยรู้จักและมักจะนึกถึงเมื่อตรุษจีนย่างเข้ามา แต่ทราบกันไหมว่านั่นเป็นเพียงส่วนเสี้ยวเดียวของเทศกาลตรุษจีนเท่านั้น และการเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่ที่แท้จริงของชาวจีนโบราณกินระยะเวลายาวนานกว่าครึ่งเดือนเลยทีเดียว!
ช่วงเวลาแห่งความสุขสันต์นี้จะจบลงในคืนวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 1 จีน อันเป็นวันเพ็ญแรกของปี ชาวจีนเรียกขานค่ำคืนนี้ว่า ‘หยวนเซียวเจี๋ย’ ในสำเนียงจีนกลาง หรือ ‘หง่วงเซียวโจ่ย’ ตามสำเนียงแต้จิ๋ว กิจกรรมที่ผู้คนทำกันในคืนนี้คือการประดับโคมไฟตกแต่งสถานที่ให้สวยงาม ทอแสงวาววามทั่วบ้านทั่วเมืองยามราตรี จึงมีคนหัวใสบัญญัติคำเรียกเป็นภาษาไทยว่า เทศกาลโคมไฟ
นับตั้งแต่เทศกาลนี้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อ 2 สหัสวรรษก่อน หง่วงเซียวหรือเทศกาลโคมไฟจัดเป็นเทศกาลใหญ่ประจำเดือน 1 ของจีนเสมอมา ตามประเทศที่พูดภาษาจีนยังฉลองคืนหยวนเซียวกันอย่างคึกคัก แต่ในไทยกลับเสื่อมความนิยมลงจนลูกหลานคนจีนรุ่นหลังยังไม่ค่อยจะรู้จักเทศกาลนี้

เนื่องในโอกาสที่เทศกาลโคมไฟประจำปีนี้โคจรมาตรงกับงาน Bangkok Design Week 2023 เทศกาลออกแบบกรุงเทพฯ 2566 อย่างเหมาะเจาะ The Cloud จึงร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) จัดกิจกรรม Walk with The Cloud : A Lanterning Talad Noi ทริปที่จะพาไปสำรวจร่องรอยที่ยังหลงเหลืออยู่ของเทศกาลโคมไฟในตลาดน้อย ชุมชนชาวจีนน้อยแห่งที่ยังสืบทอดประเพณีหยวนเซียวมาจวบจนปัจจุบัน
พาทุกท่านเดินตามหลัง ต้า-ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล คอลัมนิสต์อารามบอย และ แพท-พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล กองบรรณาธิการ The Cloud ตระเวนไปในย่านจีนเก่าตั้งแต่ยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น ศึกษาเส้นทางของโคมจีนตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตจนถึงห้อยประดับในเทศกาลหยวนเซียว เกร็ดน่ารู้ของเทศกาลโคมไฟ ตลอดจนเรื่องราวในแง่สถาปัตยกรรม ศิลปะ ความเชื่อของชาวจีนที่ซุกซ่อนอยู่ในย่านตลาดน้อย
เยี่ยมร้านชุงแซ
กระทบไหล่ช่างทำโคมจีนรายสุดท้ายในละแวกตลาดน้อย
ก่อนไปเที่ยวชมโคมใต้แสงจันทร์ เรานัดกันตอนบ่ายแก่ ๆ ยกพลบุกห้องแถว 1 คูหาที่เร้นกายในตรอกเล็กของซอยเจริญกรุง 28 เพื่อทำความรู้จักกับต้นรากของโคมกระดาษมากมายที่พบได้ตามศาลเจ้า โรงเจ สมาคม และบ้านช่องของชาวไทยเชื้อสายจีน
นี่คือที่ตั้งปัจจุบันของร้านชุงแซ กิจการทำโคมจีนที่ ชอเซ้ง แซ่ตั้ง รับสืบทอดมาจากบิดาชาวจีนโพ้นทะเลเมื่อเกือบ 50 ปีก่อน และยึดเป็นอาชีพเลี้ยงปากท้องมาจนถึงปัจจุบัน

ชอเซ้งเล่าว่าในอดีตร้านทำโคมจีนแบบเดียวกับเขามีแหล่งอยู่ที่ตรอกโรงโคมข้างศาลเจ้าเล่าปุนเถ้ากง ถนนทรงวาด แต่เมื่อความนิยมในการใช้โคมลดน้อยลง หลายเจ้าก็ทยอยเลิกกิจการกันไป หรือไม่ก็โยกย้ายออกไปเปิดร้านใหม่ในย่านอื่น ร้านชุงแซของเขาย้ายมาแล้วหลายที่ จนกระทั่งมาลงเอยในห้องแถวแห่งนี้ กลายเป็นร้านเดียวในพื้นที่ใกล้เคียงตลาดน้อยที่ยังทำอาชีพผลิตโคมอยู่
ในการสร้างโคมแต่ละชิ้น ช่างทำโคมผู้นี้จะรับโครงไม้ไผ่จักสานมาจากตลาดในอำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี นำโครงเหล่านั้นมาวาดเขียนลวดลายด้วยสีอะคริลิก ก่อนเคลือบกระดาษทาน้ำมัน ส่งไปให้ผู้ค้าโคมนำออกขายอีกทอด แต่บางครั้งก็มีตัวแทนจากศาลเจ้าผู้สั่งทำโคมเหล่านั้นมารับไปด้วยตัวเอง

ถึงเนื้อที่ร้านจะคับแคบอยู่สักหน่อย ทว่าเนื้อที่อันจำกัดก็ไม่อาจปิดกั้นความใคร่รู้เรื่องโคมไฟจีนของเหล่าผู้ร่วมทริปได้ ‘เฮียเซ้ง’ จึงชวนเชิญให้ทุกคนเข้ามาชมงานฝีมือของตนที่กล่นเกลื่อนอยู่เต็มเพดานร้าน ส่วนใหญ่เขียนตัวหนังสือสีแดงไว้ใช้ในงานมงคล มีบางใบเขียนสีน้ำเงินใช้เฉพาะงานศพ เกือบทุกใบมีลวดลายตกแต่งเป็นรูปหงส์บ้าง มังกรบ้าง ดอกไม้บ้าง
ข้อความที่ชอเซ้งเขียนบ่อยที่สุดคือคำอวยพร ซึ่งมักประกอบด้วยอักษร 4 ตัว อย่าง หะเจ่งเผ่งอัง (合衆平安) ที่แปลว่าทุกผู้ทุกคนสงบสุข รองลงมาคือชื่อเทพเจ้าประจำศาลที่สั่งทำโคมนั้น อาทิ ปึงเถ่ากง (เทพเจ้าผู้คุ้มครองชุมชน) ทีตี่แป่บ้อ (เจ้าพ่อเจ้าแม่ฟ้าดิน) เหล่านี้เป็นงานที่ต้องอาศัยความประณีตสูง และต้องเปลี่ยนใหม่ทุกปี ช่างทำโคมรายนี้ได้ฝึกฝีมือการวาดเขียนพู่กันของตนจนนิ่ง สวย แม้จะจบเพียงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 และไม่เคยเล่าเรียนศิลปะที่ไหน แต่ลายมือของเขาก็นับว่าหาตัวจับได้ยากทีเดียว

พิเศษสุดสำหรับทริปนี้ คือของขวัญเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เฮียเซ้งเตรียมไว้เซอร์ไพรส์ผู้ร่วมทริป นั่นก็คือ ‘เต็งหลั่งเกี้ย’ หรือโคมเล็กที่เขากับภรรยาตั้งใจทำ ด้านหนึ่งเขียนคำอวยพรว่า เปาอิ๋วเผ่งอัง (保佑平安) คือคำอวยพรขอให้แคล้วคลาดจากภยันตรายพร้อมกับอำนวยพรแห่งความสันติสุขมาให้ ส่วนอีกด้านติดโลโก้ The Cloud สุดน่ารัก กลายเป็นไฮไลต์ประจำทริปที่ทุกคนนำมาถ่ายรูปกันเพลิน

เข้าสู่ตลาดน้อย
รู้จักชุมชนชาวจีนที่ขยายออกมาจาก ‘ตลาดใหญ่’ เมื่อ 200 ปีก่อน
รับโคมจิ๋วที่ระลึกมาคนละใบ ก็ได้เวลาเคลื่อนขบวนสู่ใจกลางย่านตลาดน้อยที่อยู่ห่างออกไปเพียงแนวคลองผดุงกรุงเกษมขวางกั้น คลองสายนี้ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ขุดขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อขยับขยายอาณาเขตพระนครให้กว้างออกไป ก่อนจะถูกใช้เป็นเส้นแบ่งเขตหลาย ๆ เขตในกรุงเทพมหานครยุคหลัง เป็นต้นว่าเขตบางรักกับเขตสัมพันธวงศ์
ในขณะที่บางรักมีความเป็นย่านพหุวัฒนธรรมหลายเชื้อชาติ ปนเปกันทั้งฝรั่ง แขก จีน สัมพันธวงศ์กลับมีภาพลักษณ์เป็นย่านของชาวจีนที่โดดเด่นกว่าชาติอื่นใด เพราะในเขตเล็ก ๆ นี้ยังซอยการปกครองออกเป็น 3 แขวง ประกอบด้วยแขวงสัมพันธวงศ์ แขวงจักรวรรดิ และแขวงตลาดน้อย ทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็นถิ่นอาศัยของชาวไทยเชื้อสายจีนมานานเนา เป็นเหตุให้จุดตัดระหว่างเขตบางรักกับเขตสัมพันธวงศ์มีซุ้มประตูจีนตั้งไว้บนสะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษม บ่งบอกถึงสายเลือดสำคัญของผู้คนในเขตนี้

เพียงข้ามคลองไป ภาพโคมจีนสีแดงที่ปลิวไสวอยู่เหนือลานกว้างก็ปรากฏขึ้นมาเป็นอย่างแรก ช่วยให้รู้ว่าถึงตลาดน้อยที่ทุกคนดั้นด้นมาโดยสวัสดิภาพ
ตลาดน้อย ชาวจีนเมืองไทยรู้จักในชื่อ ‘ตักหลักเกี้ย’ (噠叻仔) ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ชื่อย่านพอจะบอกได้เลา ๆ ว่า เป็นตลาดหรือย่านที่มีขนาดเล็ก สันนิษฐานว่าเป็นย่านที่เกิดหลังสำเพ็ง กล่าวคือเดิมชาวจีนเคยอาศัยอยู่บริเวณพระบรมมหาราชวังปัจจุบัน เรียกกันว่า ‘ย่านบางจีน’ ครั้นเมื่อ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์และเลือกย่านนั้นเป็นที่ตั้งพระราชวังใหม่ ชาวจีนสมัยนั้นจึงย้ายสำมะโนครัวมาอยู่ที่ย่านสำเพ็ง ซึ่งถือได้ว่าเป็นตลาดใหญ่ เมื่อบริเวณดังกล่าวเริ่มคับแคบ จีนบางส่วนเลยขยายมาอยู่ในบริเวณตลาดน้อย ทางใต้ของสำเพ็ง

แม้จะเป็นย่านเล็กย่านน้อยสมชื่อ แต่ตลาดน้อยก็อบอวลไปด้วยวิถีชาวบ้านแบบจีนที่ตกทอดกันมานานนับร้อย ๆ ปี ซ้ำยังเป็นไม่กี่ย่านในประเทศไทยที่มีชาวจีนครบทั้ง 5 กลุ่มสำเนียงใหญ่ ได้แก่ แต้จิ๋ว ฮกเกี้ยน แคะ กวางตุ้ง และไหหลำอีกด้วย
ชำเลืองตาหาโคมในวัดกาลหว่าร์
เรียนรู้วิถีทางวัฒนธรรมของกลุ่มคริสตชนเชื้อสายจีน
โคมแดงอันกระจ้อยห้อยผูกอยู่ตามหน้าต่างยอดแหลมแบบโกธิก ดูช่างขัดแย้งกันสิ้นดีกับกระจกสีรูปพระคริสต์และรูปปั้นนักบุญที่เรียงรายอยู่ภายใน
นั่นคงเป็นความรู้สึกที่ผุดขึ้นในใจใครหลายคน เมื่อเดินเท้าเข้ามายังวัดแม่พระลูกประคำ (กาลหว่าร์) โบสถ์ในศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกแห่งเดียวในตลาดน้อย

โบสถ์คริสต์ (ชาวไทยที่นับถือคาทอลิกจะเรียกศาสนสถานของพวกตนว่า วัด) แห่งนี้สร้างขึ้นบนที่ดินพระราชทานในสมัยรัชกาลที่ 1 โดยกลุ่มชาวโปรตุเกสที่อพยพมาเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา ก่อนจะได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่โดยชาวฝรั่งเศส แต่เป็นเพราะบริเวณรายรอบเป็นถิ่นของชาวจีน เมื่อฝรั่งตาน้ำข้าวเหล่านี้โยกย้ายออกไป ที่นี่ก็ได้รับการดูแลและสานต่อศาสนกิจมาโดยชาวจีนที่นับถือคริสต์ บางส่วนนับถือมาตั้งแต่อยู่ภูมิลำเนาเดิมที่เมืองจีน บางส่วนก็เพิ่งล้างบาปเข้ารีตกันที่นี่

ชนชาติจีนไม่จำเป็นต้องไหว้พระสักการะเทพเจ้าแบบจีนเสมอไป หลายคนเปลี่ยนมานับถือศาสนาความเชื่อของชาวตะวันตก แต่ก็ยังไม่ทอดทิ้งวัฒนธรรมเดิมของพวกตน วัดกาลหว่าร์ขึ้นชื่อว่าเป็นศูนย์กลางของเหล่าคริสตชนเชื้อสายจีนในเมืองไทย วัดนี้มีชื่อเป็นภาษาจีน มีคุณพ่อพระสงฆ์ที่พูดจีนได้ และยังรักษาธรรมเนียมการประกอบพิธีมิสซาเป็นภาษาแต้จิ๋วทุกเช้าวันอาทิตย์
ทุกปีเมื่อเทศกาลตรุษจีนเวียนมาบรรจบ ชาวคาทอลิกเชื้อสายจีนจะมารวมตัวกันที่นี่เพื่อทำมิสซารับสิริมงคล แต่ละคนจะสวมชุดสีแดง มีการแจกอั่งเปาและส้มมงคล ทั่ววัดจะตกแต่งด้วยกระดาษแดงเขียนคำอวยพร รวมทั้งประดับโคมแดงเช่นที่แขวนอยู่ตามหน้าต่างวัด
สักการะเทพเจ้าฮ้อนหว่องกุง
จักรพรรดิราชวงศ์ฮั่นที่ (อาจ) ทรงเกี่ยวข้องกับเทศกาลโคมไฟ
เขยิบมาจากวัดกาลหว่าร์ไม่กี่สิบก้าว เท้าของพวกเราก็มาหยุดอยู่ที่ทางเข้าศาลเจ้าโรงเกือก ซึ่งมีอีกชื่อหนึ่งว่า ฮ้อนหว่องกุง เป็นภาษาจีนแคะ ตรงกับ ฮั่นหวังกง ในภาษาจีนกลาง หากแปลเป็นไทยเอาความหมายคงได้ว่า ปู่กษัตริย์ฮั่น
ราชวงศ์ฮั่นเป็นราชวงศ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดราชวงศ์หนึ่งในประวัติศาสตร์จีน ปกครองแผ่นดินนานกว่า 400 ปี ในยุคฮั่นเมื่อราว 2,000 ปีก่อนนี้เองที่นักวิชาการพบหลักฐานของเทศกาลโคมไฟหรือหยวนเซียวเก่าสุดที่เคยพบมา ทำให้หลายคนลงความเห็นว่าเทศกาลโคมไฟน่าจะถือกำเนิดในสมัยฮั่น

ทฤษฎีกำเนิดหยวนเซียวว่ากันไปต่าง ๆ นานา หนึ่งในทฤษฎีเหล่านั้นระบุไว้ว่าเกิดขึ้นหลังรัชสมัยของ หลิว ปัง หรือ จักรพรรดิฮั่นเกาจู่ (ฮั่นโกโจ) ปฐมจักรพรรดิผู้สถาปนาราชวงศ์ฮั่น กล่าวคือหลังจากที่พระองค์เสด็จสวรรคต พระนางหลี่ว์ มเหสีใจโฉด ใช้อำนาจบาตรใหญ่จนมีผู้คนล้มตายไปมาก ขุนนางตงฉินได้ทำการโค่นพระนางลงจากอำนาจ และทูลเชิญพระโอรสของฮั่นเกาจู่ที่ประสูติจากมเหสีรองขึ้นครองราชย์เป็น จักรพรรดิฮั่นเหวินตี้ ในคืนเพ็ญแรกของปี หลังจากนั้นทุก ๆ ปี จักรพรรดิพระองค์ใหม่นี้จะเสด็จประพาสราตรีในคืนขึ้น 15 ค่ำ เดือน 1 ผู้คนจึงจุดโคมเฉลิมฉลองเพื่อรำลึกถึงจุดสิ้นสุดของกลียุคที่พวกเขาต้องทุกข์ทนภายใต้อำนาจพระนางหลี่ว์

เนื่องจากเบาะแสเกี่ยวกับเทพเจ้าฮ้อนหว่องกุงที่เป็นประธานในศาลเจ้านี้มีเหลือน้อย คนรุ่นหลังหลายคนเชื่อว่าฮ้อนหว่องกุงก็คือจักรพรรรดิฮั่นเกาจู่ผู้ทรงเป็นพระสวามีของพระนางหลี่ว์ และพระชนกของจักรพรรดิฮั่นเหวินตี้ ที่เป็นต้นตอของเทศกาลโคมไฟ
ศาลเจ้าฮ้อนหว่องกุงเป็นศาลเจ้าของชาวจีนแคะ (ฮากกา) แห่งแรกในรัตนโกสินทร์ สร้างขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ยุครัชกาลที่ 1 แต่ได้รับการอุปถัมภ์และบูรณะครั้งใหญ่โดย พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (เถียน) ขุนนางใหญ่ชาวจีนแคะในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นต้นตระกูลโชติกเสถียร

นอกจากรูปเคารพฮ้อนหว่องกุงที่ทรงเครื่องอย่างจักรพรรดิจีน ในศาลนี้ยังคับคั่งไปด้วยรูปเคารพเทพเจ้าที่น่าสนใจอีกหลายองค์ บางองค์ก็พบได้เฉพาะในศาลเจ้าของชาวจีนแคะ เช่น พระอาจารย์ชำขุยโจวซือ ซึ่งชาวแคะเลื่อมใสศรัทธากันมาก โดยในศาลปักป้ายนามแค่ ‘โจวซือ’ เฉย ๆ
สังเกตรูปแบบโคมจีน
อัตลักษณ์สะท้อนตัวตนคนจีนแต่ละถิ่น แต่ละยุคสมัย
ภาษาจีนเรียกโคมว่า 燈籠 จีนกลางอ่าน เติงหลง แต้จิ๋วออกเป็น เต็งลั้ง โดยปริยายหมายถึงโคมไฟไม่จำกัดรูปแบบ โคมไฟจีนทุกชนิดจัดเป็นเติงหลงหรือเต็งลั้ง
ในตลาดน้อยพบโคมได้หลายแบบ เริ่มจากโคมกระดาษทาน้ำมันที่เรียกว่า อิ่วจั๋วเต็งลั้ง (油纸灯笼) แบบที่ผลิตโดยร้านชุงแซ เป็นโคมไฟเฉพาะถิ่นของชาวจีนแต้จิ๋ว ซึ่งมีหลายทรงหลายขนาด เป็นที่แพร่หลายมากในประเทศไทย เพราะเป็นดินแดนที่ชาวแต้จิ๋วอพยพมาอยู่มาก

โคมอีกแบบที่พบได้มากคือโคมสีแดง ซึ่งนับว่าเป็นเต็งลั้งแบบมาตรฐาน พบได้ทั่วไปในเมืองจีน
เต็งลั้งแบบมาตรฐานนี้ดั้งเดิมทำจากกระดาษ มีรูปทรงเป็นกระเปาะ ก่อนจะได้รับการสร้างสรรค์พัฒนาให้มีรูปร่างและขนาดแตกต่างกัน เช่น โคมเล็กผูกติดกันเป็นสายหลายใบ โคมไฟฟ้าสมัยใหม่ที่ส่องไฟกะพริบ บางใบเป็นโคมหมุนได้ มีไฟหลายสี ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมตามศาลเจ้าหลาย ๆ แห่ง


เยือนศาลเจ้าโจวซือกง
ศูนย์รวมใจชาวจีนฮกเกี้ยนในตลาดน้อย เมื่อก่อนเคยเป็นวัดอยู่ระยะหนึ่ง
ชาวจีนรุ่นบุกเบิกตลาดน้อยเป็นจีนฮกเกี้ยนเสียมาก แม้ในยุคหลังจีนฮกเกี้ยนในตลาดน้อยจะถูกกลืนไปกับจีนแต้จิ๋วที่พูดภาษาใกล้เคียงกัน รวมถึงชาวไทยท้องถิ่นที่กลมกลืนเข้ากับคนจีนได้ไม่ยาก แต่สิ่งสำคัญที่จีนกลุ่มนี้ฝากไว้ในตลาดน้อย คือศาลเจ้าโจวซือกงอันโด่งดังริมแม่น้ำเจ้าพระยา
โจวซือกง หรือ จ้อซูก้ง เป็นคำเรียกยกย่องพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่ได้รับความเคารพอย่างสูง สำหรับชาวมณฑลฮกเกี้ยน (ฝูเจี้ยน) นั้น โจวซือกงสำหรับพวกเขาหมายถึง พระอาจารย์เฉ่งจุ้ยจ้อซู ซึ่งเป็นพระสงฆ์ที่มีชีวิตอยู่ในสมัยราชวงศ์ซ่งเมื่อราว 1,000 ปีก่อน

จุดเริ่มต้นของที่นี่เป็นศาลเจ้า ก่อนกลายสถานะเป็นวัดจีน มีภิกษุจีนมาจำพรรษาอยู่พักหนึ่ง ชื่อว่า วัดซุ่นเฮงยี่ ก่อนที่จะเปลี่ยนกลับมาเป็นศาลเจ้าตามเดิมเมื่อไม่เหลือภิกษุจำพรรษาแล้ว
วิทยากรร่วมกันเล่าความแตกต่างระหว่างศาลเจ้ากับวัดจีนให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ว่า การจะเป็นวัดจีนได้จำต้องมีพระพุทธรูปในตำแหน่งประธานและมีพระสงฆ์จีนนิกายจำพรรษา หากที่ใดไม่มีพระสงฆ์และมีเทพเจ้าแบบจีนเป็นประธาน ควรคิดไว้ก่อนว่าที่นั่นมีสถานภาพเป็นศาลเจ้า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ความเชื่อของจีนมีความผสมผสานกันระหว่างลัทธิศาสนาสูงมาก หลายศาลเจ้ามีพระพุทธรูป หลายวัดก็มีเทพเจ้าจีน จึงต้องจำแนกศาสนสถานเหล่านี้เป็นกรณีไป
นอกจากจะเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนเชื้อสายฮกเกี้ยนตลอดจนจีนทั่วไปในตลาดน้อยแล้ว ศาลเจ้าโจวซือกงยังเป็นศูนย์กลางในการจัดเทศกาลสำคัญ ๆ อีกหลายงานในรอบปี เช่น กินเจ ส่วนในเทศกาลหยวนเซียว ศาลเจ้าอายุเกิน 200 ปีแห่งนี้ก็มีความสำคัญมาแต่โบร่ำโบราณ เห็นได้จากหมู่เครื่องสักการะที่ทำเป็นรูปสิงโตและเจดีย์สีขาว ปั้นด้วยน้ำตาล ในอดีตภาษาไทยเคยมีชื่อเรียกเทศกาลหยวนเซียวว่า ‘สารทสิงโตน้ำตาล’ ก็มาจากชื่อของไหว้ชนิดที่พบได้มากที่หน้าแท่นบูชาพระอาจารย์โจวซือกง
ดูงิ้วในศาลเจ้า
ร่องรอยงานฉลองไม่กี่อย่างที่หลงเหลือในค่ำคืนหยวนเซียวเมืองไทย
ย้อนหลังไปเกือบร้อยปีก่อน คืนขึ้น 15 ค่ำ เดือน 1 เคยเป็นเทศกาลที่สนุกสนานมากของชนชาติจีน ด้วยเป็นโอกาสไม่กี่ครั้งใน 1 ปีที่หญิงชายจะได้ออกมาพบเจอกันท่ามกลางบรรยากาศอันงดงามของโคมไฟมากมายที่แขวนไว้ให้แสงสว่างตามสถานที่ต่าง ๆ ประกอบกับการที่หยวนเซียวมักอยู่ใกล้วันวาเลนไทน์ของฝรั่ง หลายคนจึงตั้งฉายาให้เทศกาลนี้ว่า ‘วันแห่งความรักของชาวจีน’

แถบจังหวัดแต้จิ๋วซึ่งเป็นถิ่นเดิมของบรรพชนชาวไทยเชื้อสายจีนมีกิจกรรมหลายอย่างที่นิยมกระทำกันในคืนนี้ เช่น การเชิดสิงโต แสดงเอ็งกอ จุดโคมไหว้ศาลบรรพชนเพื่อขอทายาทสืบสกุล ก่อนนำกลับมาแขวนที่บ้าน รอให้ได้ลูกหลานสมใจก่อน จึงจะนำโคมไปจุดถวายคืนและนำลูกเล็กไปไหว้ขอบคุณ รวมไปถึงการละเล่นทายปริศนาคำกลอนบนโคม เรียกว่า ‘ผะหมี’ ที่แต่ก่อนเคยมีเยอะจนรวมเล่มพิมพ์หนังสือได้ทุกปี แม้แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังโปรดการทายปริศนาชนิดนี้จนทรงนำไปดัดแปลงเล่นเป็นภาษาไทย แต่ปัจจุบันเสื่อมสูญไปจนไม่เหลือใครเล่นแล้ว

ในบรรดากิจกรรมทุกอย่างที่เคยมีในประเทศไทย สิ่งที่ยังพอมีให้เห็นในคืนหยวนเซียวอยู่ประปรายก็คือการแสดงงิ้วหรืออุปรากรจีน ศาลเจ้าหลายแห่งยังว่าจ้างงิ้วมาแสดงเป็นเวลา 3 คืนช่วงนี้ ว่ากันว่าแต่เดิม งานงิ้วที่ศาลเจ้าโจวซือกงเคยมีการประชันกันระหว่าง 2 คณะ เป็นงานใหญ่โตของกรุงเทพฯ

จริงอยู่ที่ในปัจจุบันเทศกาลโคมไฟที่นี่เหลืองิ้วแสดงแค่คณะเดียว แต่การได้ดูงิ้วใต้แผงโคมมากมายให้ความรู้สึกตื่นตาไม่ใช่เล่น แค่ได้ชมการแสดงงิ้วเบิกโรงชุด แปดเซียนอวยพร ก็ทำให้หนุ่มสาวผู้ร่วมทริป Walk with The Cloud ครั้งนี้อิ่มเอมใจไปตาม ๆ กัน

ร่วมพิธีบูชาดาวนพเคราะห์
พิธีกรรมที่บอกเล่าความกลมกลืนของชาวญวนในตลาดน้อย
ฟ้ามืดสนิท สวนทางกับโคมไฟตามบ้านเรือนที่ทยอยกันเรื่อเรืองเหลืองลออ เมื่อชาวเราก้าวเท้าออกจากศาลเจ้าโจวซือกง มายัง วัดอุภัยราชบำรุง ที่หมายสุดท้ายในค่ำคืนนี้
วัดในนิกายมหายานที่ดูละม้ายคล้ายวัดจีนตรงหน้า แท้จริงแล้วเป็นวัดญวน มีชื่อเป็นภาษาเวียดนามว่า คั้น เวิน ตื่อ แต่ชาวบ้านร้านถิ่นทั่วไปมักเรียกที่นี่ว่า วัดญวนตลาดน้อย ตามตำแหน่งที่ตั้ง สันนิษฐานกันว่าสร้างมาตั้งแต่ยุครัชกาลที่ 1 หลัง พ.ศ. 2330 ที่ องเชียงสือ เจ้านายชาวญวนอพยพมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารองค์ปฐมกษัตริย์แห่งจักรีวงศ์

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 พระองค์ได้พระราชทานเงินช่วยปฏิสังขรณ์วัดนี้ที่เริ่มเสื่อมโทรมลง แต่กว่าจะแล้วเสร็จก็ล่วงมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 วัดญวนตลาดน้อยจึงได้รับชื่อพระราชทานใน พ.ศ. 2420 ว่า ‘วัดอุภัยราชบำรุง’ อันหมายถึง วัดที่ได้รับการทำนุบำรุงโดยพระมหากษัตริย์ 2 พระองค์
ชาวญวนมีวัฒนธรรมใกล้เคียงกับจีน เนื่องด้วยญวนหรือเวียดนามเป็นชาติเดียวในเอเชียอาคเนย์ที่ถูกปกครองโดยจีนเป็นระยะเวลายาวนาน พุทธศาสนาของญวนจึงซึมซับอิทธิพลมหายานแบบจีนเข้ามามากจนแยกกันแทบไม่ออก ชาวญวนในตลาดน้อยก็ผสมกลมกลืนไปกับชาวจีน แม้ว่าประเทศไทยจะแบ่งระบบการปกครองของภิกษุฝ่ายมหายานออกเป็น 2 ส่วน คือ จีนนิกาย (จีน) กับ อนัมนิกาย (ญวน) แล้วไซร้ แต่คนทั้ง 2 เชื้อชาติก็ประกอบศาสนกิจในวัดของอีกนิกายได้โดยไม่แบ่งแยก

ในความเป็นมหายาน 2 นิกายนี้ พระท่านจะประกอบพิธีบูชาดาวนพเคราะห์ช่วงหลังวันตรุษ เป็นการรับขวัญปีใหม่ที่กำลังดำเนินไป วัดญวนตลาดน้อยถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติว่าจะจัดพิธีนี้ทุกวันขึ้น 14 – 16 ค่ำของทุกปี โดยยึดเอาเทศกาลหยวนเซียวคืนขึ้น 15 ค่ำ เป็นแกนกลาง
หากมาในวัดช่วง 3 คืนดังกล่าวก็จะได้ยินเสียงสวดมนต์ภาษาญวนปนไทยและบาลีตามแบบฉบับของพระอนัมนิกายเมืองไทย ท่ามกลางแสงเทียนมากมายที่สาธุชนจุดขึ้นเพื่อให้หมู่ดาวเคราะห์ทั้ง 9 ดวง คุ้มครองดวงชะตาให้โชคดีมีชัยตลอดปี
