ในบรรดาของดีขึ้นชื่อของประเทศภูฏาน ‘น้ำผึ้ง’ คือผลิตภัณฑ์ยอดฮิตที่มักถูกหยิบติดมือเป็นของฝาก ไม่เพียงเพราะคุณประโยชน์อันหลายหลาก ทว่ายังซื้อหาได้ง่ายตามร้านค้าประจำสนามบินนานาชาติพาโร โดยเฉพาะภายในร้าน OGOP Shop ซึ่งเรียงรายไปด้วยขวดโหลน้ำผึ้งสีสันสะดุดตาจากหมู่บ้านต่าง ๆ ตลอดจนสารพัดสินค้าเหมาะจะเป็นของฝาก ทั้งงานฝีมือดีไซน์เก๋ ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ และอาหารแปรรูป บรรจุเรียบร้อยในบรรรจุภัณฑ์สวยงามดูดี การันตีคุณภาพด้วยตราสัญลักษณ์ ‘OGOP’ (One Gewog One Product) ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากสินค้า ‘หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์’ (OTOP) ของประเทศไทย
แต่ความน่าสนใจยิ่งกว่า คือเรื่องราวเบื้องหลังของสินค้าเหล่านี้ ที่เปรียบเสมือนสายใยเชื่อมร้อยสัมพันธไมตรีของประเทศไทยและภูฏานให้แน่นแฟ้น กลมเกลียวมาอย่างยาวนาน โดยมี รศ.ดร.วัชรพงษ์ วัฒนกูล รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เป็นหนึ่งหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการขับเคลื่อนโมเดลสร้างสรรค์สินค้า OGOP ภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (Thailand International Cooperation Agency – TICA) กระทรวงการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ กับประเทศภูฏาน ซึ่งช่วยสร้างงาน กระจายรายได้ จุดประกายโอกาสพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ รวมถึงพลิกโฉมผลผลิตพื้นบ้านให้กลายเป็นความภาคภูมิใจของชาวภูฏานและนักเดินทางผู้หลงมนตร์เสน่ห์ดินแดนหลังคาโลกแห่งนี้
ทำทั่วไป ให้ไปทั่ว
“เมื่อก่อนเวลาเรานึกถึงผลิตภัณฑ์ที่เป็นหน้าตาของประเทศภูฏาน อันดับแรกต้องเป็นแสตมป์และพวกของใช้ เพราะของกินส่วนใหญ่ยังผลิตแค่ขายในชุมชน อย่างข้าวแดงภูฏานที่รัดถุงขาย หรือน้ำผึ้งใส่ขวดคล้ายขวดเหล้า จนเมื่อประมาณ พ.ศ. 2557 สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก กษัตริย์แห่งราชอาณาจักรภูฏาน มีพระราชประสงค์จะพัฒนาสินค้า OTOP เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นและช่วยเหลือพสกนิกร จึงมีกระแสรับสั่งกับ ท่านสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศของไทยในขณะนั้น จากนั้นกระทรวงการต่างประเทศได้มอบหมายให้ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ หรือ TICA ซึ่งรับผิดชอบงานด้านความร่วมมือเพื่อการพัฒนากับต่างประเทศ ให้ดำเนินการหารือกับหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้องก่อน ก่อนที่จะส่งคณะผู้เชี่ยวชาญจากกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าไปประเมินความเป็นไปได้เบื้องต้นร่วมกับทีมของภูฏาน ซึ่งรัฐบาลภูฏานได้มอบหมายให้สำนักงานโครงการสมเด็จพระราชินีเจตซุน เพมา วังซุก แห่งราชอาณาจักรภูฏาน (Queen’s Project Office – QPO) เป็นหน่วยงานดำเนินงานโครงการ เพื่อออกแบบโครงร่างโมเดลการพัฒนาสินค้า OGOP ขึ้นมา” อาจารย์วัชรพงษ์เล่าถึงจุดเริ่มต้น
ด้วยประสบการณ์เชี่ยวชาญด้านโครงการวิจัยและพัฒนาระดับนานาชาติ ทั้งเคยร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ ลาว กัมพูชา กระทั่งโมซัมบิก ทำให้อาจารย์วัชรพงษ์ได้รับโอกาสเข้ามาสานต่อภารกิจนี้ใน ‘โครงการส่งเสริมด้านการเกษตร โดยการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ One Gewog One Product (OGOP Model I) ของราชอาณาจักรภูฏาน โดยโจทย์หลักของโครงการ นอกจากมุ่งถ่ายทอดองค์ความรู้และทักษะการพัฒนาผลิตภัณฑ์แล้ว หมุดหมายสำคัญอีกอย่าง คือผลักดันความตั้งใจในการชูสินค้า OGOP ให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก
“เราเชิญตัวแทนจากภูฏานมาทำแผนร่วมกัน พร้อมทั้งกำหนดทิศทางอนาคต จนตกผลึกวิสัยทัศน์ ‘Bhutan Everywhere’ หมายถึง สินค้า OGOP จะต้องเป็นตัวแทนของประเทศและกระจายไปทั่วโลก ซึ่งตอนแรกเขามองภาพว่า ปลายทางอยากผลิตเป็นสินค้าเพื่อส่งออก แต่ความที่กำลังผลิตในประเทศมีน้อย ประชากรทั้งหมดแค่ 7 แสนคน ประกอบกับบรรจุภัณฑ์ส่วนใหญ่ยังต้องนำเข้าและปรับปรุงคุณภาพมาตรฐาน เราเลยเสนอว่าหากจะขยับสินค้าภูฏานให้ออกสู่ตลาดต่างประเทศ ก้าวแรกอาจเริ่มจากการลองเจาะกลุ่มตลาดนักท่องเที่ยวดูก่อน” จุดนี้มองว่าเป็นจุดเริ่มที่สำคัญที่ฝ่ายภูฏานกำหนดวิสัยทัศน์ด้วยตัวเอง เพราะเขาจะเข้าใจบริบท สังคม วัฒนธรรมของตัวเองอย่างชัดเจน
เหตุนี้ หัวใจของ OGOP Model I จึงอยู่ที่การคัดสรรผลิตภัณฑ์โดดเด่นประจำถิ่นจากกว่า 20 ชุมชน มาแปลงโฉมให้สวยงามดึงดูด โดยทางโครงการได้ส่งทีมผู้เชี่ยวชาญไปอบรมให้ความรู้และร่วมมือกับชุมชนออกแบบตราสัญลักษณ์สินค้า บรรจุภัณฑ์ พร้อมพาตัวแทนจากภูฏานมาศึกษาแนวทางการบรรจุหีบห่อผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ยังเมืองไทย
“ภูฏานเป็นประเทศที่ผลิตน้ำผึ้งเยอะมาก เราเลยพาเขามาดูงานเรื่องน้ำผึ้ง รวมถึงผึ้งชันโรงที่จังหวัดจันทบุรี และเรียนรู้วิธีการใช้เครื่องผนึกสุญญากาศ บ้านเราอาจฟังดูเป็นเรื่องธรรมดา แต่สำหรับเขาถือเป็นการประเดิมบรรจุภัณฑ์ใหม่ของข้าวแดงภูฏานเลย” อาจารย์วัชรพงษ์พูด พลางเสริมว่ากระบวนการพัฒนาสินค้าทั้งหมดอยู่ภายใต้การดูแลของ QPO ซึ่งพระองค์ทรงมีพระราชวินิจฉัยและคอยใส่ใจในทุกรายละเอียดของการออกแบบ ปรับปรุง จนทำให้ภายในระยะเวลา 3 ปี สามารถผลิตสินค้า OGOP ได้กว่า 140 ผลิตภัณฑ์ อีกทั้งยังพระราชทานโรงงานแปรรูปสินค้า OGOP และสนับสนุนให้มีการเปิดร้าน OGOP Shop ขึ้น 3 แห่ง ในเมืองหลวงทิมพู เมืองพาโร และสนามบินนานาชาติพาโร
“ผลิตมาเท่าไหร่นักท่องเที่ยวก็หิ้วกลับหมด ส่วนคนภูฏานก็ตื่นเต้นกันมาก เพราะก่อนหน้านี้การจะหาซื้อของฝากหรือกระเช้าของขวัญต่าง ๆ เขาต้องสั่งจากไทยและอินเดียเกือบทั้งหมด” อาจารย์วัชรพงษ์ เผยเสียงตอบรับของโครงการที่ประสบความสำเร็จเกินคาด แถมต่อมา TICA ได้เชิญ QPO นำสินค้า OGOP มาร่วมแสดงในงาน OTOP Fair พ.ศ. 2560 และ 2561 ซึ่งบูธจากภูฏานได้รับความสนใจจากประชาชนไทยอย่างมาก ช่วยสร้างความเชื่อมั่นและส่งผลให้สินค้า OGOP บูมไปทั่วประเทศภูฏาน
สานต่อความสำเร็จ
ผลลัพธ์อันน่าชื่นใจเปิดประตูสู่การขยับขยายความร่วมมือใน ‘โครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาชุมชนต้นแบบอย่างยั่งยืน บนพื้นฐานการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสำหรับชุมชน OGOP ของราชอาณาจักรภูฏาน (OGOP Model II)’ ที่เข้ามาสานต่อความสำเร็จของ OGOP Model I และเพิ่มเติมเรื่องของการบูรณาการเข้ากับการท่องเที่ยวโดยชุมชนแบบนวัตวิถี เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการผลิตสินค้า OGOP สำหรับส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตามแนวทางชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ซึ่งจะเป็นช่องทางสร้างรายได้ตามความต้องการ (Demand Driven Local Economy) โดยการขายสินค้าอยู่ในชุมชน ควบคู่พัฒนาชุมชนต้นแบบการพัฒนาอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
“ที่ประเทศภูฏานมีแนวคิด ‘ความสุขมวลรวมประชาชาติ’ (Gross National Happiness – GNH) เป็นแกนกำหนดกรอบยุทธศาสตร์เศรษฐกิจและสังคม การที่เรานำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy – SEP) เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา จำเป็นต้องมีการพูดคุยปรึกษากันพอสมควร จนท้ายที่สุดก็ได้คำตอบว่า SEP ของเราก็เปรียบเสมือนวิธีปฏิบัติที่นำทางไปสู่เป้าหมายหลัก คือสร้างความสุขมวลรวมของประเทศเขาได้เช่นเดียวกัน”
ความพอประมาณ ความมีเหตุผล ตลอดจนการสร้างระบบภูมิคุ้มกันในตัวเองให้แข็งแกร่ง พร้อมรับมือกับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอก คือนัย ‘ความพอเพียง’ ของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่โครงการหยิบมาใช้วิเคราะห์และออกแบบโมเดล OGOP Model II อันตั้งอยู่บนพื้นฐานด้านการพัฒนาและการบริหารที่ดำเนินไปบนทางสายกลาง โดยให้ความสำคัญกับการยกระดับต้นทุนท้องถิ่นด้วยการแปรรูปผลิตภัณฑ์ เน้นลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และการรวมกลุ่มพัฒนาสินค้าที่ดีมีคุณภาพยิ่งขึ้นสำหรับตลาดภายในประเทศ ซึ่งคาดหวังว่าสิ่งนี้จะช่วยเชื่อมร้อยให้เกิดการพัฒนาแบบองค์รวมอย่างสมดุล และส่งเสริมวิถีแห่งความสุขมวลรวมประชาชาติของภูฏาน
ความน่าสนใจของ OGOP Model II ไม่ใช่แค่เพียงการจับสินค้าที่มีมาแต่งตัวสวย แต่พยายามก้าวไปอีกขั้นด้วยการจุดประกายความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ผ่านไอเดียการแปรรูปอันหลากหลาย โดยเบื้องต้นอาจารย์วัชรพงษ์เล่าว่า ทางโครงการได้สำรวจและวิเคราะห์ศักยภาพของเมือง ต้นทุน ความเข้มแข็งของชุมชนและผู้นำ จนคัดเลือกพื้นที่เป้าหมายออกมาได้ทั้งหมด 6 แห่ง
ได้แก่ ชุมชนกันเต-ปุปจิ (Gantey-Phobji) จังหวัดวังดี โพ-ดรัง (Wangdue Phodrang), ชุมชนยังเซ (Yangtse) จังหวัดทาชิ ยังเซ (Trashi Yangtse), ชุมชนดาร์กเท่น (Drakten) จังหวัดทรองซา (Trongsa), ชุมชนโคมา (Khoma) จังหวัดลุนซี (Lhuntse) โดยมีชุมชนอีซู (Uesu) จังหวัดฮา (Haa) ที่มีจุดขายด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชน ซึ่งเชื่อมโยงส่งเสริม OTOP นวัตวิถี และชุมชนพัทชาลิง (Patshaling) จังหวัดชีรัง (Tsirang) ชุมชนเกษตรกรรมที่เปี่ยมพลังสามัคคีในการรวมกลุ่มทำผลิตภัณฑ์ชุมชน เป็นสองแห่งที่ถูกปักหมุดให้เป็นชุมชนต้นแบบการพัฒนาอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ผลิตภัณฑ์ที่ใช่
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ได้กลายเป็นอุปสรรคและความท้าทาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวโลก รวมถึงแผนการดำเนินงานที่จำต้องปรับมาให้น้ำหนักกับเนื้อหาการแปรรูปสินค้า OGOP และเปลี่ยนสู่รูปแบบออนไลน์ โดยทางโครงการได้รวบรวมบรรดาอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์เข้ามาเป็นที่ปรึกษาของแต่ละชุมชน พร้อมมอบหมายชุมชนคัดเลือกผลผลิตเด่น เพื่อนำมาออกแบบสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ ทั้งในแง่ของรูป รส และต้นทุนที่ผลิตได้จริง โดยใช้วัสดุอุปกรณ์ภายในครัวเรือน
“หลังจากนำเสนอแนวทางพัฒนาผลิตภัณฑ์แก่ชุมชน ระดมสมอง และทดลองพัฒนาเสร็จสรรพ ทางอาจารย์ที่ปรึกษาก็จะจัดกิจกรรมอบรมการแปรรูปผ่านช่องทางออนไลน์เป็นเวลา 3 วัน ซึ่งกลุ่มแรกคือวิทยากรต้นแบบ โดยวิธีคือจะค่อย ๆ ทำทุกกระบวนการไปพร้อม ๆ กัน ทางนี้เตรียมเตา ทางโน้นก็เตรียมเตา ขั้นตอนไหนรายละเอียดเยอะหน่อยก็ยกกล้องถ่ายเจาะให้ชัด วันถัดมาวิทยากรต้นแบบก็จะไปสอนชาวบ้านต่อ ทางเราก็มีหน้าที่ดูว่าเขาสอนถูกต้องไหม แล้ววันสุดท้ายทาง QPO ก็จะเข้ามาศึกษาดูงาน” อาจารย์เล่ากลั้วหัวเราะ
“สรุปใช้เวลาเกือบ 2 เดือนกว่าจะครบทุกชุมชน เพราะในกระบวนการเราต้องให้คนภูฏานทดสอบด้วยว่า ผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่ทำออกมารสชาติถูกปากไหม เค็มไป หวานไป เนื้อสัมผัสแบบนี้อร่อยรึเปล่า แล้วนำข้อเสนอแนะเหล่านั้นกลับมาปรับปรุงจนได้ผลิตภัณฑ์ที่ใช่มากที่สุด”
ไม่เพียงเท่านั้น ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยังมีทีมการตลาดคอยช่วยเหลือเรื่องวางกลยุทธ์การขาย ตลอดจนลงขันความคิดออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สอดรับกับศักยภาพชุมชน ยกตัวอย่างเช่น การแปรรูปผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเสริมกำลัง (Whey Energy Drink) จากหางนม และธัญพืชอัดแท่ง (Cereal Bar) จากนม น้ำผึ้ง และธัญพืชของชุมชนอีซู จังหวัดฮา ซึ่งเกิดจากการมองเห็นโอกาสที่มาพร้อมกับเหล่าคนรักสุขภาพที่มักแวะเวียนมาสัมผัสบรรยากาศเส้นทาง Snowman Run งานแข่งขันวิ่งระดับโลก
ให้แหและให้ปลา
“ผมเรียกมันว่า โครงการ Up & Run” อาจารย์วัชรพงษ์เปรยคำตอบ เมื่อถามถึงกุญแจที่ทำให้โครงการนี้ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีเสมอมา แม้ในยามสถานการณ์ไม่ปกติ “คือการจะช่วยเหลือใครสักคน เราอย่าช่วยแค่ยกเขาขึ้น แต่ต้องผลักให้เขาออกวิ่งต่อด้วยตัวเองได้ด้วย ฉะนั้น OGOP Model จึงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและสนับสนุนควบคู่กัน วิธีการของเราจะไม่ใช่แค่อบรมให้ความรู้แล้วจบ แต่จะสนับสนุนทุนสำหรับนำไปตั้งต้นผลิตสินค้าขึ้นมาทดลองตลาดจริงด้วย ถ้าขายแล้วกำไรเขาก็จะได้มีทุนไปหมุนต่อ แต่ถ้าล้มเหลวปีหน้าค่อยเริ่มต้นใหม่ เพราะโครงการมีระยะเวลา 3 ปี โดยในหนึ่งปีเราจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดออกมาชุมชนละ 2 ผลิตภัณฑ์”
หากเปรียบเทียบให้เข้าใจง่าย อาจารย์วัชรพงษ์ขยายว่า Up & Run คงคล้ายการสอนจับปลาที่ยื่นทั้งแหและปลาให้พร้อมกัน เพราะมองว่าทุกคนต้องมีปลากินมื้อแรกให้อิ่มท้องเสียก่อน จึงจะมีแรงออกไปเหวี่ยงแหและพลังสร้างสรรค์อนาคต ซึ่งนี่เองเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ลึก ๆ อาจารย์เชื่อมั่นว่า OGOP Model จะเป็นโครงการพัฒนาและสร้างความร่วมมืออันยั่งยืน
พัฒนาเขา พัฒนาเรา
ปัจจุบัน OGOP Model II ดำเนินการมาถึงปีที่ 2 พร้อมบ่มเพาะผลิตภัณฑ์ OGOP กว่า 24 ผลิตภัณฑ์ ในจำนวนเหล่านี้มีหลายอย่างน่าจับตามอง และบางอย่างที่อาจฟังดูเรียบง่าย แต่กลับฉายสปอตไลต์ให้เห็นศักยภาพของชุมชน อาทิ ไวน์มันฝรั่งของกันเต-ปุปจิ สบู่ชาเขียวของชุมชนดาร์กเท่น ถุงหอมจากผ้าพื้นเมือง Kishuthara ของชุมชนโคมา ลิปบาล์มจากน้ำผึ้งของชุมชนพัทชาลิง หรือ น้ำพริกและพริกทอดจากพริก Urka Ezay และกระเทียมกรอบปรุงรสของชุมชนยังเซ ที่โด่งดังจนได้รับเชิญให้ร่วมออกร้านในงานแสดงสินค้าระดับชาติ
“อย่างที่เรียนให้ฟังว่าเขาไม่เคยมีการแปรรูปสินค้าในลักษณะนี้มาก่อน พอโครงการ OGOP Model I เสร็จสิ้น มันเลยทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ชุมชน ชุมชนผลิตสินค้าและรวมกันขายเป็นล็อตใหญ่ ๆ โดยในเฟสแรกสร้างรายได้เพิ่มขึ้นราว 2 ล้านงุลตรัมภูฏาน (เกือบ 9 แสนบาท) ส่วนในเฟสสองล่าสุดจากการพูดคุยกับตัวแทนของชุมชนยังเซ เขาแย้มว่าผลิตภัณฑ์แปรรูปจากพริกขายดีมาก ๆ และสร้างรายได้ให้ชุมชนกว่า 5 แสนบาท นอกจากนี้เรายังได้ทราบข่าวดีว่า ทาง QPO กำลังมีแผนผลักดันให้ OGOP Model เป็นโครงการประจำจังหวัด พร้อมมอบหมายให้ทุกจังหวัดสร้างอาคารศูนย์เรียนรู้และแปรรูปผลิตภัณฑ์ OGOP ด้วย”
อาจารย์วัชรพงษ์กล่าวด้วยความอิ่มเอมใจ พลางสรุปผลลัพธ์ให้ฟังว่า ณ วันนี้ทางโครงการได้ปลุกปั้นสินค้า OGOP เกือบแตะ 200 ผลิตภัณฑ์เข้าไปแล้ว โดยส่วนใหญ่วางจำหน่ายในร้าน OGOP Shop และเพิ่งจะมีให้บริการเป็นของว่างบนเครื่องบินด้วย
“กลุ่มลูกค้า OGOP ไม่ได้มีแค่นักท่องเที่ยวนะครับ แต่ชาวภูฏานเองก็นิยมหาซื้อไปเป็นของขวัญของฝาก สินค้า OGOP เลยกลายเป็นภาพลักษณ์ใหม่ของภูฏานและตัวแทนประเทศที่ทางการมักหิ้วติดไม้ติดมือเสมอ เวลาได้รับเชิญไปร่วมงานต่างประเทศ”
เหนืออื่นใด อาจารย์วัชรพงษ์มองว่าความสำเร็จของโครงการนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากขาดความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งรัฐบาลไทย รัฐบาลภูฏาน นักวิชาการ ชาวภูฏาน สำคัญที่สุดคือ องค์พระประมุข และสมเด็จพระราชินีแห่งภูฏานที่ให้การสนับสนุนอย่างน่าปลาบปลื้ม
“โครงการนี้เป็นโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาและเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ดังนั้นจะประสบความสำเร็จได้ทุกฝ่ายต้องช่วยเหลือกัน ซึ่งการที่บอกว่าไทยเข้าไปช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูฏาน ไม่ได้หมายความว่าไทยเก่งกว่า เพราะผมเชื่อว่า ‘The more you give, the more you gain’ เราช่วยพัฒนาเขา เขาก็ช่วยพัฒนาเราเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะเชิงวิชาการที่ช่วยให้นักวิชาการไทยได้พัฒนาตัวเอง ได้เก็บเกี่ยวความรู้จากประสบการณ์ที่แตกต่าง และเปิดโอกาสในการก้าวสู่เวทีระดับโลกมากยิ่งขึ้น”
โครงการส่งเสริมด้านการเกษตรโดยการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ OGOP ของราชอาณาจักรภูฏาน (The One Gewog One Product (OGOP) Development Project หรือ OGOP Model I) ได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 5 โครงการตัวอย่างที่ดีของไทยในเวทีโลกที่นำเสนอในหนังสือ “Good Practices in South-South and Triangular Cooperation for Sustainable Development (Volume 3)” ซึ่งได้เปิดตัวเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2563 โดยสำนักงานสหประชาชาติเพื่อความร่วมมือใต้-ใต้ (UN Office for South-South Cooperation: UNOSSC)
นอกจากนี้ โครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาชุมชนต้นแบบอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสำหรับชุมชน OGOP ของราชอาณาจักรภูฏาน (OGOP Model II) ถือเป็นแบบอย่างอันยอดเยี่ยมของความร่วมมือใต้ – ใต้ ได้รับเลือกจากกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) ให้นำกระเป๋าผ้าพื้นเมือง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ OGOP จากชุมชนโคม่า จังหวัดลุนซี ทำเป็นของที่ระลึกเพื่อมอบให้กับผู้เข้าร่วมงาน ‘Global South-South Development Expo 2022’ หรือ ‘GSSD Expo 2022’ ที่กำลังจะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 12-14 กันยายน 2565 นี้ ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ
Global South-South Development Expo (GSSD Expo) 2022 คือเวทีเดียวในโลกที่ UN ร่วมจัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีด้านการพัฒนาระหว่างประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนความร่วมมือใต้-ใต้ และไตรภาคี รวมถึงภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษาและทุกองค์กรภายใต้ระบบสหประชาชาติ โดยครั้งนี้ถือเป็นการจัดงานครั้งที่ 11 และครั้งแรกที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดยกระทรวงการต่างประเทศเป็นเจ้าภาพร่วมกับคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (Economic and Social Commission for Asia and the Pacific – ESCAP) และสำนักงานสหประชาชาติเพื่อความร่วมมือใต้-ใต้ (United Nations Office for South-South Cooperation – UNOSSC) ภายใต้หัวข้อหลัก ‘Advancing South-South and Triangular Cooperation for Sustainable COVID-19 Recovery: Towards a Smart and Resilient Future’ ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาวในยุคหลังสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา-2019 ทั้งนี้ สามารถเข้าชมนิทรรศการออนไลน์ได้จาก https://bit.ly/3JVqZGT