เปิดกล้อง

โอ๊ต ชัยสิทธิ์ ถ่ายรูปจนนิ้วโป้งด้าน 

แปลก ควรเป็นนิ้วชี้ไม่ใช่เหรอ

คนทั่วไปใช้นิ้วชี้กดชัตเตอร์ครึ่งหนึ่งเพื่อโฟกัส แต่กล้องถ่ายรูปของโอ๊ต ตั้งให้ปุ่มเล็ก ๆ บนนิ้วโป้งเป็นปุ่มโฟกัส นิ้วชี้ของเขามีไว้เพื่อลั่นชัตเตอร์เท่านั้น 

เขายกกล้อง สาธิตให้ดู ช่างภาพที่อังกฤษเป็นคนสอนวิธีนี้ เปลี่ยนชีวิตโอ๊ตไปมากมาย

“เขาสอนว่า ถ้าเปลี่ยนมาโฟกัสแบบนี้ คุณจะจับจังหวะคนได้เร็วกว่าคนธรรมดา ฝึกให้คล่อง คุณจะเป็นช่างภาพที่ดีขึ้น ฝีมือคุณจะยกระดับอย่างคาดไม่ถึง”

f/11 

หลายสิบปีก่อน คนในวงการรู้จัก โอ๊ต-ชัยสิทธิ์ จุนเจือดี จากการเป็นช่างภาพแต่งงานมืออาชีพ งานเขาสวย โดดเด่น มีลักษณะเหมือนงานสารคดีชั้นเยี่ยม ในจำนวนนั้น มีไม่น้อยที่เป็นภาพขาวดำ

เหตุผลที่งานของเขาแหวกขนบ เพราะคิดไม่เหมือนช่างภาพปกติ

โอ๊ตเปิดตัวอย่างภาพงานแต่งของบ่าวสาวคู่หนึ่งให้ดู โอ๊ตเรียกภาพนี้ว่า Creative Shot 

ในภาพ เจ้าบ่าวเจ้าสาวกำลังแต่งหน้าคนละฝั่ง หันหน้าเข้าหากระจกโรงแรม เห็นพื้นที่สีเขียวและป่าคอนกรีตยามเช้า เขาเปิดรูรับแสง f/11 รายละเอียดภาพทุกส่วนคมชัด 

ถ้าจะเล่าว่าบ่าวสาว 2 คนกำลังแต่งหน้าช่วงเช้าตรู่ ถ่าย 2 ภาพก็คงเก็บความได้ครบ แต่โอ๊ตใช้วิธีถ่ายกระจกให้สะท้อนเห็นเจ้าสาวที่นั่งอยู่อีกฝั่ง กลายเป็นการเล่าหลายเรื่องในภาพเดียว 

งานแต่งงานของใครหลายคน ไม่ใช่วันปกติ เจ้าบ่าวและเจ้าสาวต้องทำอะไรที่ไม่เคยทำในชีวิตประจำวัน เช่น การตื่นมาแต่งหน้าตั้งแต่ตี 3 ตื่นบนเตียงอื่นในโรงแรม เห็นวิวเมืองที่ไม่ชินตา เตรียมรับแขกและพิธีรีตองนานัปการ แข่งกับแสงแดดยามเช้าที่ฉาดฉายไปทั่วเมือง

“สิ่งที่ผมทำเรียกว่า Documentary Wedding Photography คือการเก็บบันทึกเรื่องราว เหมือนถ่ายสารคดี 

“ผมทำภาพงานแต่งไม่เหมือนคนอื่นในประเทศนี้ทำ เพราะผมเป็นคนไม่กำกับ ปล่อยให้ทุกอย่างเกิดขึ้น แล้วผมถ่ายไปเรื่อย ๆ ตอนประชุมกับบ่าวสาว ผมบอกเขาว่าวันแต่งงานให้ลืมผมไปเลยนะ เหมือนไม่มีผมอยู่ ให้คุณดื่มด่ำโมเมนต์ไป ผมรับหน้าที่เล่าเรื่องเอง”

โอ๊ตบอกว่าในโลกของการถ่ายภาพ ไม่มีผิดถูก ช่างภาพมีสไตล์การทำงานต่างกัน ในงานแต่ง พวกเขารับเงินจากบ่าวสาว สิ่งที่ต้องทำคือส่งมอบรูปให้ตามที่บ่าวสาวคาดหวัง นี่คือทางที่โอ๊ตเลือก

“ความยากของผมคือผมไม่กำกับเลย เพราะฉะนั้น ผมจะไม่มีการสั่งว่า มองหน้ากันนะครับ สวมแหวนนะครับ ผมจะต้องช่วงชิงจังหวะให้ได้ มันเป็นสิ่งที่ผมฝึกฝนตั้งแต่ไปเรียนและทำงานที่อังกฤษ ช่างภาพแต่งงานที่นั่นเป็นแบบนี้ 

“ภาพผมจะดิบ แต่โมเมนต์เรียล ๆ แบบนี้กลั่นกรองมาจากความรู้สึกของคนในงานจริง ๆ” เขาเล่า

“รูปแต่งงานที่ดีไม่ได้วัดกันวันนี้ สมมติวันนี้คุณแต่งงาน ดูรูปถ่าย รู้สึกว่าสวยจัง อันนั้นมันผิวเผิน ช่างภาพแต่งงานที่ดี คือผ่านไปหลายสิบปี ทุกครั้งที่รูปชุดนี้ถูกหยิบขึ้นมาดู ต้องเล่าเรื่องทุกอย่างที่เกิดขึ้นวันนั้นให้คนอื่นเข้าใจได้โดยไม่ต้องพูด ถ้ามองเป็น Asset มูลค่าของภาพไม่มีวันน้อยลง มีแต่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเป็นโมเมนต์ที่ไม่หวนกลับมาอีกแล้ว”

กว่าโอ๊ตจะพูดแบบนี้ ตกผลึกแบบนี้ ชัดเจนแบบนี้ เขาใช้เวลาหลายสิบปีในการค้นหาเช่นกัน 

ตั้งแต่วันที่เขาถูกหาว่าเพ้อเจ้อ เมื่อฝันอยากจะเป็นช่างภาพระดับโลก

f/1.8

โอ๊ตบอกว่าชีวิตเขาเหมือนการต่อจุด ผ่านจุดเปลี่ยนชีวิตมามากมาย

แต่ก่อนจะผ่านไปได้ ในวัยหนุ่ม เขาก็เหมือนทุกคนที่ไม่ชัดเจนนักว่าอยากเดินบนเส้นทางใด

โอ๊ตโตมากับครอบครัวฐานะปานกลาง อาศัยอยู่กับแม่เป็นหลัก จุดเปลี่ยนชีวิตของเขาเริ่มจากการเดินในห้างสรรพสินค้าแถวบ้าน เห็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์มาออกบูท มีโมเดลบ้านและคอนโดมิเนียมสวย ๆ เขาเอ่ยปากถามว่าใครเป็นคนทำโมเดลนี้ – สถาปนิก คือคำตอบ

หลังจากนั้นเขาเบนเข็มชีวิตมุ่งไปทางสายสถาปัตยกรรม แต่ทุกอย่างไม่ง่าย เขาวาดรูปห่วย รุ่นพี่ที่คอยติวเข้าสถาปัตยกรรมศาสตร์ชวนให้เขาเข้าคณะทางเลือกอย่าง Industrial Design หรือ ไอดี แทน

โอ๊ตเรียนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (บางมด) ผ่านไป 5 ปีเขาเริ่มเห็นตัวเองชัดว่าไม่น่าไปรอดกับอาชีพในฝัน แต่กลับค้นพบความเชี่ยวชาญของตัวเองในการถ่ายภาพ สนุก ทำได้ดีกว่าวาด 

เขาตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางชีวิต เริ่มรับงานฟรีแลนซ์ถ่ายภาพตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ 

มองย้อนกลับไป เขาไม่เสียดายที่ได้เรียนคณะนี้ ขอบคุณด้วยซ้ำ เพราะหลักการจากไอดีเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เขาแตกต่างจากช่างภาพคนอื่น

“ถ้าเป็นช่างภาพธรรมดา เวลาดูผลงาน เราจะพูดกันบนความสวยงาม แต่พอมองด้วยหลักไอดี เราจะพูดในเชิงตรรกะในภาพ ทุกวันนี้ผมใช้วิธีการการทำออกแบบมากับงานถ่ายรูป แต่แค่เปลี่ยน Execution จากการออกแบบเป็นการถ่ายภาพ”

โอ๊ตเคยฝึกงานที่หนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ ทำงานเป็น Freelance ประจำกับบริษัทอีเวนต์ใหญ่อย่าง Index Creative Village เขาฝึกทักษะการเอาตัวรอด นักข่าวเป็นร้อย ต้องมุดรูไหนถึงได้ภาพดีที่สุด 

ด้วยบุคลิกภาพดูเป็นคนนิสัยดี ถ่อมตน ในทางหนึ่งก็ทำให้เขาโดนดูถูกง่าย ทำงานถึงจุดหนึ่ง เขาตัดสินใจไปเรียนต่อด้านถ่ายภาพที่อังกฤษ

“สังคมช่างภาพเมืองไทยบางส่วนเป็นสังคมอีโก้มาก ๆ ถ้าจะทลายตรงนี้ เราต้องประสบความสำเร็จ ถ้าเกิดสำเร็จในเมืองไทย ผมว่าไม่สุด ต้องสำเร็จให้ถึงที่สุดเลย ถ้าผมทำได้ จะไม่มีใครมาว่าผมได้ เป็นแรงผลักดันว่าวันหนึ่งเราอยากเป็นช่างภาพระดับโลกให้ได้” โอ๊ตเล่าความทะเยอทะยานในวัยหนุ่ม

ก่อนไป เขารู้จักช่างภาพต่างชาติแค่คนเดียวคือ Steve McCurry เจ้าของภาพ Afgan Girl แห่ง National Geographic เมื่อมาถึง เขาพบว่าตัวเองช่างอ่อนด้อย พบเหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนอีกมากมาย 

วันหนึ่ง อาจารย์เปิดพอร์ตเขาดู ยิ้ม และบอกว่างานของคุณเป็นแบบคนเอเชียมาก ๆ

โอ๊ตไม่เข้าใจ อาจารย์หยิบวิทยานิพนธ์ของนักศึกษา 2 ชาติ 2 ทวีปให้ดู

รูปจากช่างภาพเอเชียสวย เนี้ยบ แทบไม่มีที่ติ กลับกัน รูปจากช่างภาพยุโรปดูธรรมดา เป็นภาพถ่ายบ้าน แต่เมื่อมองผ่านหน้าต่าง เห็นคนกำลังใช้ชีวิตภายในบ้าน 

“ภาพนี้เล่าพื้นที่การใช้ชีวิตและสถาปัตยกรรมควบคู่กันในเมสเซจเดียว กลับกัน งานของคนเอเชียไม่มีอะไรเลย มีแต่ความสวยงาม

“ทัศนคติของเรา คือรูปที่ดีคือรูปที่สวย ถูกปลูกฝังมาที่ไทย ทุกคนเวลาชมจะบอกว่า รูปสวยจัง ไม่ก็ กล้องดีมากเลย แต่พออยู่อังกฤษวันแรก ดูงาน เขาไม่พูดถึงความสวยเลย แต่บอกว่ารูปนี้สื่อสารสิ่งที่ตัวศิลปิน ช่างภาพ ต้องการจะสื่อสารผ่านคนภายนอกได้อย่างไร พอฟังก็อึ้ง นี่โลกใหม่เลย”

ตลอด 3 ปีที่ใช้ชีวิตในอังกฤษ เขาพบคำตอบว่าหลายประเทศในยุโรปมีฐานะร่ำรวยตั้งแต่ยุคอาณานิคม ทั้งยังเป็นต้นกำเนิดของงานศิลปะหลายแขนง สิ่งเหล่านี้หล่อหลอมให้งานศิลปะแทรกตัวเข้าไปอยู่ในทุกอณูในชีวิตประจำวัน ทั้งสถาปัตยกรรม ป้ายโฆษณา สื่อต่าง ๆ ทุกคนมองเห็นงานศิลปะที่เข้มข้นในทุกวินาทีของการใช้ชีวิต

ในเอเชียนั้นกลับด้าน งานศิลปะของบ้านเราเด่นที่การประยุกต์ ต้องปรับเปลี่ยนโน้มตัวเข้าหาผู้ชมมากกว่า บริบทแตกต่าง ความเข้มข้นในการเรียนรู้และทำความเข้าใจศิลปะจึงไม่เหมือนกัน

“คนไทยให้คำกำจัดความคนที่เป็นศิลปินต่างจากเมืองนอก เวลาเห็นใครทำอะไรที่คนอื่นไม่เข้าใจ ก็จะเรียกว่า ไอ้นี่มันติสต์ แต่ศิลปินแท้จริงแล้วคือคนที่เข้าใจบริบทบางอย่างลึกซึ้งกว่าคนอื่น แล้วสร้างงานที่เล่าเรื่องนั้นออกมาอย่างลึกซึ้ง 

“งานศิลปะที่ดีสำหรับผมคืองานที่ Timeless ไม่จบ ทุกครั้งที่ไปอังกฤษ ผมกลับไปมิวเซียม ดูงานเดิมต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2013 ผมมีทัศนคติต่อรูปไม่เหมือนเดิมทุกครั้ง เราเห็นรายละเอียดบางอย่างที่ซ่อนอยู่ข้างในเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ตอนแรก ๆ เราไม่เห็นเพราะประสบการณ์ศิลปะเราน้อย แต่พอเราเริ่มเปิดใจเรียนรู้ เรามองมันมากขึ้น ผมมองรูปเดิมก็จะเห็นบริบทที่ต่างออกไป” โอ๊ตเล่า

“โลกกว้างใหญ่เหลือเกิน ยิ่งโลกของศิลปะ มันคือความคิด ทัศนคติ อารมณ์ ความรู้สึก ทุกอย่างรวมกันทั้งหมด กลั่นกรองออกมาเป็นงานศิลปะชิ้นหนึ่ง เรารู้สึกว่ามันดีว่ะ อยากเป็นคนที่ถ่ายทอดภาพให้ดี มีอิมแพกต์ คนดูดูแล้วรู้สึกให้ได้ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมเป็นช่างภาพแบบนี้ ผมอยากให้รูปผมเป็น Universal Language ให้คนทั้งโลกเข้าใจว่ารูปนี้คืออะไร

f/2.4

“วันแรกที่เข้าไป เขากำลังถ่ายแคมเปญให้ Rolls-Royce”

โอ๊ตเล่าประสบการณ์การฝึกงานกับ Rankin ช่างภาพบุคคลเบอร์ต้นของโลกชาวอังกฤษ ผลงานของเขาอยู่ในระดับ Top Tier ของโลก นอกจากนี้ยังร่วมก่อตั้งนิตยสาร Dazed & Confused หนึ่งในหนังสือ Reference ที่ช่างภาพไทยทุกคนมีติดบ้าน

ปี 2011 แบรนด์รถ Rolls-Royce อยู่ในช่วงขาลง ทุกคนมองว่าเป็นรถสำหรับคนแก่ บริษัทต้องทำแคมเปญทั่วโลก โจทย์คือทำอย่างไรก็ได้ให้แบรนด์ดูเด็กลง หนึ่งในงานชิ้นเองคือการคอลแล็บร่วมกับ Rankin ทำภาพแนวแฟชั่นขึ้นมาหนึ่งชุด 

“พอไปถึง ฉิบหาย ไม่มีรถสักคัน เขาตีความความเป็น Rolls-Royce ออกมาเป็นนัยของแฟชั่น และส่งสารออกมาในความเป็นภาพแฟชั่น เปิดโลกมากเลย”

โอ๊ตฝึกงานกับเขา 1 เดือน แม้จะสั้นแต่ได้เรียนรู้เยอะมาก นั่นคือครั้งแรกที่เขาได้รู้จักงานถ่ายโฆษณาในรูปแบบที่ไม่เหมือนเมืองไทย

“กับดักของช่างภาพคือคิดในมุมมองของตัวเองมากเกินไป แต่ลืมคิดในมุมของคนดูรูป เวลาทำโฆษณา ความยากคือทำอย่างไรให้รูปดูง่าย

“มีโฆษณาแบบหนึ่งที่เรียกว่า Emotional Ads โฆษณาที่ไม่ต้องใส่สินค้าอะไรเลยก็ได้ แต่สื่อถึงแบรนด์ คล้าย ๆ โฆษณาไทยประกันชีวิตของ พี่ต่อ (ธนญชัย ศรศรีวิชัย) Phenomena เล่าเรื่องบางอย่างของแบรนด์ ไม่มีข้อมูลกรมธรรม์ ไม่ขาย จบด้วยไทยประกันชีวิตคำเดียว แต่ดูจบแล้วได้ Awareness สูงมาก ภาพถ่ายก็มีอย่างนั้นเหมือนกัน” 

ช่วงที่อยู่อังกฤษ เขาเริ่มฝึกงานและหางานทุกรูปแบบ ทั้งสมัครงานนิตยสาร บริษัทโฆษณา รับทำ Communication Card ให้นางแบบในโมเดลลิ่งเพื่อสร้างพอร์ตของตัวเอง 

โอ๊ตเริ่มรับถ่ายภาพงานแต่งตั้งแต่ตอนอยู่อังกฤษ กลับมาเมืองไทยก็ใช้ความเชี่ยวชาญนี้ดำรงชีวิต ไปมาระหว่างไทยและอังกฤษจนเป็นที่รู้จักในวงการ 

2 เหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของโอ๊ต คือการได้รับงานถ่ายโฆษณาให้บริษัทอสังหาริมทรัพย์อย่าง AP ผ่านการดูแลของ เล็ก-ประเสริฐ วิจิตพาวรรณ อดีตยอดครีเอทีฟ จาก Ogilvy Thailand

แม้สร้างชื่อจากช่างภาพแต่งงาน แต่สิ่งนี้ก็เป็นกำแพงทำให้คนคิดว่าเขาถ่ายงานแบบอื่นไม่ได้เช่นกัน โชคดีที่ประเสริฐและทีม Ogilvy ให้โอกาส

“ผมขายลูกค้าด้วยรูปนี้ รูปเดียว”

เขาเปิดให้ดู มันเป็นภาพถ่ายงานแต่ง เห็นเด็กคนหนึ่งหันหลังให้กล้อง กำลังเขย่งขาติดขอบรั้วเพื่อดูพิธีการในโบสถ์ชัด ๆ 

โอ๊ตพรีเซนต์ทุกคนว่ารูปนี้ไม่ได้เห็นหน้าเด็กเลย แต่ทุกคนรู้สึกมั้ยว่าเขาอยากรู้อยากเห็นแค่ไหน 

โจทย์ของงาน AP คือการเล่าเรื่องความสุข ช่างภาพตาชั้นเดียวบอกว่าเขาอยากถ่ายภาพแคมเปญนี้ให้คนดู ‘รู้สึก’ เช่นเดียวกัน

“ลูกค้าบอกว่าเอารูปนี้แปะโลโก้ AP เลยได้มั้ย” โอ๊ตระเบิดหัวเราะ

งานนี้เปลี่ยนการทำแคมเปญสื่อสารทั้งวงการอสังหาริมทรัพย์ นี่เป็นครั้งแรกที่งานภาพถ่ายจากบริษัทใหญ่เล่าเรื่องแบรนด์โดยไม่ต้องถ่ายบ้านเลย หลังจากงานนี้โอ๊ตจึงได้รับโจทย์ที่คล้ายกันจากหลากหลายธุรกิจต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน 

อีกเหตุการณ์เปลี่ยนชีวิต คือการถ่ายงานให้นิตยสาร Forbes Thailand สื่อธุรกิจชั้นนำของโลก งานส่วนใหญ่ของโอ๊ตคือการรับผิดชอบภาพที่สำคัญที่สุด นั่นคือหน้าปกประจำเล่ม

ตามปกติ ผู้บริหารมีเวลาต่อวันน้อยมาก ทีมงานต้องช่วงชิงเวลาเพื่อทำงานให้เสร็จเร็วที่สุด การจัดกองถ่ายรูปจึงต้องเน้นสะดวกและเร็วเข้าว่า ไม่มีเวลาคราฟต์มากนัก 

โอ๊ตเสนอว่าอยากให้ภาพถ่ายเล่าเรื่องมากที่สุด เพราะผู้บริหารอาจเป็นที่รู้จักในแวดวงธุรกิจ แต่กับคนนอกอาจไม่ใช่ เขาอยากใส่ไอเดีย วัตถุดิบ หรือเพิ่ม Input เข้าไปในงาน เพื่อเล่าเรื่องผ่านภาพให้ได้ 

ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือภาพถ่าย ปัญญา นิรันดร์กุล กัปตันทีมแห่ง Workpoint Entertainment 

ยุคนั้นปัญญายังมีภาพจำเป็นพิธีกรและผู้บริหาร โอ๊ตสู้รบตบตีกับทีม PR ขอถ่ายปัญญากับฉากรายการ ชิงร้อยชิงล้าน ชะชะช่า เขาถ่ายช่วงที่รายการพัก 5 นาทีเพื่อเปลี่ยนฉาก

อีกช็อต เขาขอปัญญาถ่ายในสิ่งที่ Forbes ไม่เคยทำมาก่อน คือการถ่ายผู้บริหารนั่งพื้นขึ้นปก 

“พอรู้ว่าจะถ่ายคุณปัญญา ผมก็ไปรีเสิร์ช ตอนนั้นเป็นยุคดิจิทัลทีวีเพิ่งเริ่มต้น คุณปัญญาให้สัมภาษณ์ว่าจะเป็นเบอร์หนึ่งของดิจิทัลทีวีในเชิงของเนื้อหาด้านบันเทิง 

“ผมก็ทำการบ้าน เวิร์คพอยท์ เล่าอะไรดี ภาพจำของคุณปัญญาตอนนั้นคือการเป็นพิธีกรรายการ แฟนพันธุ์แท้ ดังมาก เขาจะย้ายรายการจากช่อง 5 มาอยู่ Workpoint TV ผมเลยไปหาโทรทัศน์แบบแอนะล็อกมาเครื่องหนึ่ง ให้แกถ่ายคู่ เหมือน Reference ภาพถ่าย Steve Jobs กอดเครื่อง iMac

“เรื่องนั่งพื้น เหตุผลของผมคือคุณปัญญาเป็นเศรษฐีที่ติดดินสุด ๆ คนหนึ่งในประเทศ ผมอ่านบทสัมภาษณ์ เขามีสวนผลไม้อยู่หลังบ้าน เพราะอยากให้ลูกทุกคนรู้คุณค่าว่าหามาลำบากแค่ไหน ผมก็เอามาขาย ผมบอกว่าไม่เคยมีใครขึ้นปก Forbes แล้วนั่งพื้น นี่คือช็อตแรก ทุกคนบอกจะดีเหรอ ผมบอกว่าเรากำลังสื่อสารนัยเรื่องของความติดดินของเศรษฐีพันล้าน สิ่งนี้สื่อสารคาแรกเตอร์ของเขาออกมาในภาพจริง ๆ”

เรื่องนี้มีกลยุทธ์เล็กน้อย เพราะโอ๊ตเพิ่งถ่ายภาพงานแต่งของลูกสาวปัญญา จึงเข้าหาง่ายขึ้น 

“คุณปัญญาเดินมาปุ๊บ คุณพ่อหวัดดีครับ อ้าว ช่างภาพงานแต่งนี่ มาถ่ายให้ Forbes เหรอ ดีจังเลย ผมบอกว่า คุณพ่อครับ ผมกำลังถ่ายช็อตนี้เป็นภาพปก คุณพ่อนั่งพื้นได้มั้ยครับ เอาสิ นั่งเลย ทุกคนเงียบ” โอ๊ตเล่าย้อนความหลัง

สำหรับคนที่ไม่สนิทกันมาก่อน โอ๊ตใช้ความถ่อมตัวเข้าสู้ ขอใส่องค์ประกอบเพิ่มเติม เพื่อให้ภาพเล่าเรื่องที่สุด

งาน Forbes คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาได้ถ่ายภาพผู้บริหาร ต่อเนื่องมาถึงการถ่ายงานเพื่อสื่อสารองค์กร (Coporate Communication) ซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญในชีวิตของโอ๊ต 

ทักษะและไหวพริบเหล่านี้ โอ๊ตหยิบยืมมาจากการถ่ายภาพงานแต่ง การได้เห็นช่างภาพระดับโลกทำงาน รวมถึงความมุ่งมั่นอยากถ่ายภาพให้อิมแพกต์เหมือนงานศิลปะที่ดูได้ไม่รู้จบ 

แม้ทุกคนจะดูถูกว่าช่างภาพแต่งงานไม่น่าทำงานแบบนี้ได้

งานเขาพิสูจน์แล้วว่าไม่มีอะไรในชีวิตเสียเปล่า หากรู้จักมองเห็นข้อดีของทุกประสบการณ์ ต่อจุดจนกลายเป็นภาพใหญ่ในที่สุด 

f/22

ชั้น 2 ของสำนักงานขนาดย่อมย่านแบริ่ง คือที่ตั้งของบริษัท PAAP Production & Studio 

เท่าที่ตาเห็น บริษัทเขาประกอบไปด้วยห้องทำงานขนาดใหญ่ ชั้นหนังสือที่ใหญ่พอ ๆ กับชั้นวางอุปกรณ์ อีกห้องเป็นสตูดิโอที่เขาเพิ่งเช่าใหม่แทบเหมาชั้น ตั้งใจให้เป็นสตูดิโอสำหรับถ่ายงานที่หลากหลาย โอ๊ตชี้ให้ดูว่าห้องนี้ถ่ายได้ทั้งแสงธรรมชาติและไฟสตูดิโอ 

ความจริงเขาไม่ได้ตั้งใจทำสตูดิโอที่นี่ มีอีกโครงการที่กำลังก่อสร้างไม่ไกลกัน แต่พักหลังเขาเห็นความต้องการของลูกค้าที่อยากใช้บริการของโอ๊ต แต่เงินทุนมีไม่มากนัก สถานที่ไม่เอื้ออำนวย เขาจึงปรับห้องนี้เพื่อเป็นทางเลือกให้ลูกค้าได้ใช้ในราคาถูกลง

โอ๊ตทำบริษัทนี้ร่วมกับ ฝ้าย ภรรยาของเขา มาร่วม 8 ปี มีทีมงานไม่มากไม่น้อย ด้วยความรู้และความมุ่งมั่นอยากได้งานดี เขาจำเป็นต้องคิดค่าบริการสูงสักหน่อย แต่ก็คุ้มค่าถ้าเทียบกับแรงและอุปกรณ์ที่เขาใช้ในงาน

ถ่ายงานให้องค์กร 1 ชุด เขาเตรียมกล้องไป 3 – 4 ตัว ไฟ 16 ดวง เตรียมไป 3 แบบ Power Packs, Monolight และ Mobile เลนส์มีเท่าไหร่ขนไปทั้งหมด 

หน้างาน เขาสร้างจุดถ่ายรูปอย่างต่ำ 2 จุด ตั้งเลนส์และไฟคนละแบบ 

โอ๊ตเล่าว่าเขาขโมยวิธีการนี้มาจาก Rankin ตอนถ่ายงาน Rolls-Royce ช่างภาพชาวอังกฤษมีจุดถ่ายรูป 4 จุด ทำให้การถ่ายภาพไหลลื่น Seamless มาก ถ้ามีปัญหา ไม่ต้องเสียเวลาเปลี่ยนเลนส์ แค่เดินย้ายจุด ทุกอย่างจะเร็วขึ้น

วิธีนี้เหมาะมากกับผู้บริหารที่มีเวลาน้อย แต่ก็แลกกับการลงทุน โอ๊ตเลือกไม่เช่าอุปกรณ์ เพื่อไม่ให้เกิดค่าใช้จ่ายต่อเนื่อง 

8 ปีที่ผ่านมาโอ๊ตรับงานสื่อสารองค์กรหลายแบบ การทำงานแบบนี้ไม่เหมือนถ่ายนิตยสาร หลายครั้งต้องถ่ายในห้องปิด กางฉากพื้นหลังสีขาว โอ๊ตพยายามให้ภาพมีอารมณ์ของผู้บริหารที่สร้างความรู้สึกบางอย่างกับคนดูภาพได้ 

ถ้าจะทำแบบนี้ ช่างภาพต้องเข้าใจความเป็นมนุษย์เบื้องหลังผู้ที่ถูกถ่ายมาก และคนเหล่านี้โอ๊ตเพิ่งได้เจอกันไม่ถึงนาที

“ผมมองว่าการถ่ายรูปในวันนั้นมันเป็นเรื่องเล็กน้อยมากเลย” สิ่งที่ใหญ่กว่าคือการเข้าใจมนุษย์ที่กำลังจะถ่าย

โอ๊ตเพิ่งถ่ายงานให้ PTTOR ถ่ายผู้บริหารร่วม 27 คน ทุกคนเขาชวนคุยระหว่างถ่าย เพื่อให้เขาเผยตัวตนออกมามากที่สุด

เราถามเขาว่า ชวนคุยผู้บริหารระดับประเทศอย่างไร

“นึกไม่ออกใช่มั้ยครับ มา ผมทำให้ดู” โอ๊ตลุกขึ้นไปหยิบเก้าอี้มาวางกลางห้อง ชวนผมไปเป็นแบบถ่ายภาพ 

ตาของโอ๊ตมองผ่านจอ Viewfinder กดชัตเตอร์ไปด้วย ถามคำถามเราไปด้วย ส่วนมากคือเรื่องสัพเพเหระที่ไม่เกี่ยวกับงานเท่าไหร่

“ลูกพี่เอี่ยวอายุเท่าไหร่แล้วครับ”

“โตขึ้น พี่อยากให้เขาเป็นคนแบบไหน”

“ทำไมพี่กลับมาทำงานที่ The Cloud”

“เวลาสัมภาษณ์ พี่ชอบคำถามแบบไหน”

ด้วยบุคลิกภาพที่ดูถ่อมตน ผมไม่แปลกใจที่ผู้บริหารทุกคนยินดีตอบคำถามเขาอย่างเต็มใจ

10 นาทีผ่านไป โอ๊ตเลือกรูปเดียวให้ผมดู เป็นภาพที่ดูดีที่สุดเท่าที่เคยถ่าย โอ๊ตบอกว่าหลายช็อตที่เขากดตอนชวนคุยแทบไม่ได้ใช้เลย แต่เขาถ่ายไปคุยไปเพื่อละลายพฤติกรรม พร้อมกับหามุมที่ผมดูดีที่สุด 

ดวงตาไม่หลุดจาก Viewfinder เพราะอยากให้ตาของผมมองกล้องตลอดเวลา 

ปีสุดท้ายของการเรียนที่อังกฤษ โอ๊ตทำวิทยานิพนธ์จบชื่อว่า Everyday Portrait เขาออกไปเดินถ่ายภาพคนแปลกหน้าทุกวัน เป็นเวลาร่วม 2 ปี 

งานชิ้นนี้ทำให้เขาอ่านภาษากายของมนุษย์เป็น รู้ว่าเขาจะมีความสุขตอนไหน ช่วงไหนที่เขาอึดอัดจนเราควรถอย ประสบการณ์นี้เขางัดมันมาใช้ในงานปัจจุบัน

“ผมไม่ได้แค่ถ่ายรูป แต่พยายามทำให้ผู้บริหารรู้สึกว่านี่เป็นช่วงเวลาสนุกที่สุดของวัน

“ผมรู้ว่าจังหวะไหนเป็นสิ่งที่ออกมาจากความรู้สึกเขาจริง ๆ ช่วงไหนเป็นเวลาที่เขาผ่อนคลายที่สุด นี่คือสิ่งที่ผมได้จากภาพงานแต่งล้วน ๆ ในทางกลับกัน การมาทำงานโฆษณาทำให้เราได้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของแบรนด์ ผมรู้เรื่องของแบรนดิ้งและการทำงานคุณภาพในระดับโฆษณา

“ผมไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นช่างภาพ แต่มองว่าเป็นคนที่จะมาบันทึกชีวิตของเขาออกมาผ่านภาพ พอมองแบบนี้ วิธีคิดจะคนละอย่างการเข้าใจชีวิตเขา รู้ว่าเขาเป็นใคร ทำอะไร มีความนึกคิดอย่างไร ผ่านอะไรมา มันคือสิ่งที่ผมจะเอามาใส่ในภาพ” ช่างภาพผู้ถ่อมตนเล่า

แม้โอ๊ตจะดูถ่อมตน แต่ความฝันของเขาคือการเป็นช่างภาพเบอร์หนึ่งในทางงานภาพถ่ายเพื่อสื่อสารองค์กร มีช่องว่างที่บริษัทเขาตอบโจทย์ได้

“สิ่งที่เราทำทุกวันนี้เรียกว่า Corporate Communication ในประเทศยังไม่มีคนทำงานแบบนี้เต็ม ๆ เขาจะมองว่าให้ช่างภาพทำงาน Key Visual หรือจ้างเอเจนซี่โฆษณาทำเหมือน Stock Photo แต่คนที่ทำงานเพื่อองค์กรโดยเฉพาะจริง ๆ ไม่มี

“ผมเชื่อว่าคนที่อยู่ในองค์กรรู้ว่าแบรนดิ้งคืออะไร เข้าใจ แต่การส่งสารไปสู่ช่างภาพ แล้วให้ช่างภาพถ่ายด้วยความเข้าใจแบรนดิ้งนั้นเหมือนกัน ไม่ใช่ทุกคนที่ทำได้ สิ่งที่เกิดขึ้นเลยเกิดช่องว่าง คือจุดประสงค์ที่เรามองแล้วว่าเรามีศักยภาพที่จะต่อยอดตรงนี้ได้ 

“ถ้าวันนี้พูดถึงโปรดักชันภาพนิ่งเบอร์หนึ่ง ทุกคนจะพูดถึง Chamni’s eye ถ้าเกิดพูดถึงช่างภาพงานแต่งเบอร์หนึ่ง อาจจะพูดได้ 4 – 5 ชื่อ พูดถึงรีทัชเชอร์มือหนึ่งหรือภาพประกอบเบอร์หนึ่ง จะคิดถึง พี่สุรชัย (สุรชัย พุฒิกุลางกูร แห่ง Illusion CGI Studio) แต่วันนี้ถ้าพูดถึงภาพถ่าย Coporate Image เบอร์หนึ่ง เรานึกออกมั้ยว่าจะเป็นใคร ผมรู้สึกว่าเรามีศักยภาพที่จะเป็นเบอร์หนึ่ง ปีนี้จะเป็นปีที่เราสื่อสารเพื่อขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างชัดเจน”

ปิดกล้อง

โอ๊ตจบบทสนทนาด้วยความฝันอันยิ่งใหญ่ ดูขัดกับความถ่อมตนของตัวเขาไม่น้อย

แต่นั่นอาจเป็นเคล็ดลับของโอ๊ต หากให้นิยาม ลักษณะ Humble Professional คือหัวใจแห่งความสำเร็จของเขา

ครั้งหนึ่งตำนานนักเขียนแห่งสวนทูนอิน ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ บอกว่าไม่มีคำแปล Professional ที่คู่ควรในพจนานุกรมไทย

ถ้าไม่อาจบรรยายเป็นคำได้ การได้เห็นภาพถ่ายของโอ๊ตก็ดูจะสื่อสารถ้อยคำนี้ ให้เรารู้สึกได้มากที่สุด

Writer

ศิวะภาค เจียรวนาลี

ศิวะภาค เจียรวนาลี

บรรณาธิการที่ปั่นจักรยานเป็นงานหลัก เขียนหนังสือเป็นงานอดิเรก

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล