บทความชิ้นนี้มีเนื้อหาและภาพประกอบที่เกี่ยวข้องกับการผ่าตัด
“เรื่องของหัวใจเป็นเรื่องใหญ่จริง ๆ” ช่างภาพของเราหันมาบอกขณะนั่งรอขึ้นเครื่องที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่เพื่อกลับกรุงเทพฯ
เขายังยิ้มและพูดคุยสนุกเหมือนเคย แม้เรื่อง ‘หัวใจ’ ที่รับรู้จาก นายแพทย์ณัฐพล อารยวุฒิกุล หรือ หมอณัฐ หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านบริการทุติยภูมิและตติยภูมิ และหัวหน้าศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลลำปาง จะเป็นได้ทั้งคำเตือนให้หมั่นตรวจร่างกาย และแจ้งให้ทราบว่าโรคหัวใจส่งต่อทางพันธุกรรมได้

เราไม่ทราบเรื่องความเสี่ยงของเพื่อนมาก่อน กระทั่งเขาบอกเราหลังพูดคุยกับหมอณัฐเสร็จ วันนี้สิ่งที่วัยรุ่นและผู้ใหญ่อายุ 25, 26 และ 34 จากกรุงเทพฯ ได้มารับรู้จึงเป็นประโยชน์ต่อตนเองและคนรอบข้างอย่างยิ่ง เพราะเรื่องหัวใจเป็นภัยเงียบที่หลายคนไม่สนใจ บางครั้งคิดไปเองว่าอาการประมาณนี้คือโรคกระเพาะเพียงอย่างเดียว แถมบางคนยังไม่รู้ว่าโรคหัวใจส่งต่อทางพันธุกรรม
แม้กระทั่งขั้นตอนผ่าตัด หลายคนก็ยังไม่รู้ว่ามีทางเลือกเป็นการผ่าตัดหัวใจแผลเล็ก (Minimally Invasive Cardiac Surgery) ที่ไม่ต้องผ่าเปิดกลางอกให้เกิดแผลเป็นยาว แต่เนื่องจากศัลยแพทย์หัวใจ ทรวงอก และหลอดเลือด
ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในการผ่าตัดแผลเล็กด้วยเครื่องมือพิเศษมีเพียงหลักสิบคนเท่านั้นในประเทศไทย The Cloud จึงตั้งใจเดินทางมาถึงเมืองลำปางเพื่อตามหานายแพทย์ 1 ใน 10 คนนั้น
แต่นอกจากความรู้ เรื่องราวของหมอณัฐก็ชวนให้บอกต่อเช่นกัน ตั้งแต่ชีวิตที่เคยไร้ฝัน เป็นนักศึกษาแพทย์ที่เรียนไม่เก่ง สู่วันที่ร่ำเรียนการผ่าตัดเองจนช่ำชอง ฝ่าฟันอุปสรรคจนได้ทีมผ่าตัดที่รู้ใจ โรงพยาบาลโทรเรียกดึกดื่นแค่ไหนก็ยินดีปั่นรถถีบไปหา สละทั้งเวลาและโอกาสไขว่คว้ารายได้ที่สูงขึ้นเพื่อมาจับมีดรักษาใจให้คนไข้ในจังหวัดลำปางกว่า 14 ปี ทั้งยังได้ต้อนรับแพทย์ต่างชาติมากมายที่มาขอฝากตัวศึกษาการผ่าตัดจากเขาด้วย


คนเก่งหัวใจแกร่ง
เราเดินเข้าไปในห้องทำงานของหมอณัฐ เขาอยู่ในชุดสครับกำลังเปิดหน้าจอที่มีหัวใจของใครบางคนฉายอยู่บนนั้น ผนังห้องด้านหนึ่งแขวนภาพถ่ายของนายแพทย์ 7 คนเอาไว้
พวกเขาคือแพทย์จากประเทศญี่ปุ่นที่เดินทางมาฝากตัว-รับคำแนะนำในการผ่าตัดหัวใจจากหมอณัฐ ซึ่งทั้งหมดเรียนจบและเดินทางกลับไปใช้ความรู้รักษาคนไข้ที่บ้านเกิดแล้ว แต่ด้วยการบอกต่อ หมอณัฐยังมีแพทย์ญี่ปุ่นในความดูแลอีก 2 คนที่กำลังจะร่วมผ่าตัดกับเขาในเคสต่อไป ไม่นับในอนาคตที่เราเชื่อว่าจะต้องมีมาอีกแน่
“มีแพทย์จากฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย มาดูงานและมาเรียน พวกเขาคือหมอที่อยากไปต่อยอดการผ่าตัดแผลเล็ก เพราะเราเป็นที่รู้จักมากขึ้นในด้านนี้ จนถึงเรื่องการผ่าหัวใจบางอย่างที่ซับซ้อน แต่ผมจะขอให้เขาอยู่ 1 ปีเป็นอย่างต่ำ บางคนก็มาอยู่ด้วยกัน 2 ปี เพราะต้องใช้เวลากว่าจะเรียนรู้กัน ปรับตัวเข้ากับภาษาและวัฒนธรรม กว่าผมจะปล่อยให้เขาทำได้ก็ต้องใช้เวลา” หมอณัฐเล่า

แต่ก่อนจะเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่รักษาชีวิตคนไข้ไว้มากมายและส่งต่อองค์ความรู้ข้ามพรมแดนประเทศ เขาบอกว่าตัวเองเคยเป็นคนไร้ฝันมาก่อน การเลือกเรียนแพทย์เป็นเพราะครอบครัวผลักดัน
“เมื่อ พ.ศ. 2541 ผมเรียนคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผมเรียนไม่เก่ง ตอน ม.ปลาย ได้เกรด 2 กว่า พอมาเรียนหมอก็แค่พอเกาะกลุ่มเพื่อนได้ ผมมารู้ตัวก็ตอนเรียนจะจบแล้ว ตอนนั้นเราได้ไปอยู่ต่างโรงพยาบาล ความคิดเดิมเลยเปลี่ยนไป เมื่อก่อนชอบหมออายุรกรรมที่รักษาได้หลายโรค แต่พอไปอยู่แผนกศัลยกรรมที่เชียงราย ผมเห็นว่าการผ่าตัดต่างหากที่เปลี่ยนชีวิตคนไข้ เพราะมันแสดงให้เห็นถึงเส้นแบ่งระหว่างความเป็นกับความตายที่ชัดเจน”
จากนักศึกษาแพทย์ที่เกลียดห้องผ่าตัดและเสื้อสีเขียวเป็นที่สุด
หมอณัฐกลับค้นพบความชอบและความฝันที่แท้จริงในปีสุดท้ายของการเรียน เขาจะต้องเปลี่ยนชีวิตคนไข้ให้ได้
“การเรียนต่อแพทย์เฉพาะทางตอนนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะทุกคนอยากเรียน มีแต่คนเก่ง ๆ ผมก็เข้าไปแข่งด้วย มีอาจารย์ช่วยแนะนำและเขียนจดหมายให้ ผมเรียนจบสาขาศัลยศาสตร์ทั่วไป ผ่าท้อง ผ่าไส้ เพราะยุคที่ผมเรียนคือ 20 กว่าปีที่แล้ว ผ่าทุกอย่างตั้งแต่หัวยันท้าย ส่วนเรื่องหัวใจยังไม่อยู่ในความคิด”

ความพิเศษส่วนตัวของหมอณัฐคือเขาชอบผ่าตัดเส้นเลือด และนั่นก็กลายเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตให้เขาได้พบเคสร้ายแรงถึงชีวิตอย่างเส้นเลือดในช่องท้องแตก ซึ่งยุคนั้นโรงพยาบาลพะเยาที่เขาประจำการอยู่ผ่าตัดเคสนี้ไม่ได้ จะส่งเคสไปยังโรงพยาบาลที่พร้อมกว่าก็ไม่ทัน เพราะคนไข้กำลังจะเสียชีวิต
“ผมตัดสินใจบอกไปว่าผมจะทำเอง เพราะคนไข้ช็อกแล้ว ปรากฏว่าทำแล้วคนไข้รอด จนได้รับคำชวนให้ไปเรียนสาขาศัลยศาสตร์ทรวงอก เพราะเขาเห็นว่าผมอาจมีพรสวรรค์ด้านนี้ และในยุคนั้นคนเรียนผ่าหัวใจมีน้อยมาก
“แต่พอเรียนปีแรก รู้สึกว่ามาผิดที่แล้ว คนที่ชวนมาเรียนก็ผิดหวังว่าผมไม่ได้เก่งแบบที่คิด ผมไม่รู้อะไรเกี่ยวกับหัวใจเลย ผมผ่าแต่ท้อง ช่วยอะไรก็ไม่ได้ ผมจะลาออก 2 – 3 ครั้ง มันยากเกินไป ผมไปไม่ถึง แต่อาจารย์บอกผมว่า เอาใหม่ ๆๆ ทำไปเรื่อย ๆ จนเรียนจบและได้ทำงานถึงทุกวันนี้”
หมอณัฐบอกว่าเป็นการเรียนที่แปลก เพราะอาจารย์แพทย์ยุคนั้นไม่ชอบสอน ไม่มีการบอกว่าต้องเย็บแผลแบบไหน เพราะอะไร เขาจึงต้องใช้วิธีครูพักลักจำเอง ทำผิดก็ถูกตำหนิหรือต้องออกจากห้องไป ตลอดการเรียนหมอณัฐจึง ‘ทำ’ โดยไม่รู้เหตุผลเบื้องหลัง และตลอดการทำงานก็ไม่มีเวลาให้อ่านหนังสือหาความรู้ กระทั่ง 3 เดือนสุดท้ายที่มีการสอบ เขาเร่งอ่านตำราทั้งหมดจนได้รู้แล้วว่าแต่ละอย่างที่ลงมือปฏิบัติไป เขาทำเพราะเหตุผลอะไรบ้าง


จากนั้นหมอณัฐย้ายไปทำงานที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาใน พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นสถานที่ที่ทำให้เขาค้นพบความสุขในการทำงานท่ามกลางเพื่อนร่วมงานที่ดี
“ผมนอนในห้องไอซียูได้ อยากตื่นมาทำงานทุกวัน คนไข้เยอะไม่ใช่ปัญหา รุ่นพี่ดี ไม่เคยว่า ผมคิดว่าจะไม่กลับมาภาคเหนือแล้ว จนมีสายหนึ่งโทรมาชวน เขาถามผมว่าอยากมาเปิดศูนย์โรคหัวใจที่โรงพยาบาลลำปางไหม ผมสนใจ แต่สงสัยก่อนว่าทำไมผู้อำนวยการถึงโทรมาหาผมทั้ง ๆ ที่ไม่รู้จักกันมาก่อน”
คำตอบคือผู้อำนวยการโรงพยาบาลลำปางได้คุยกับผู้อำนวยการโรงพยาบาลพะเยาที่หมอณัฐเคยผ่าเส้นเลือดในสมัยนั้น
“เขาบอกว่าผมมันบ้า กล้าตัดสินใจ ควบคุมสถานการณ์ได้ ไปชวนเลย ผมเลยบอกผู้อำนวยการว่า ถ้าอยากเปิดศูนย์หัวใจจริง ๆ ผมก็จะเอาจริงด้วย” แล้วจุดเชื่อมโยงชีวิตทั้งหมดก็บรรจบกันพอดี

ศัลยแพทย์รถถีบ
หมอณัฐเพิ่งทราบข่าวเมื่อไม่นานมานี้ว่าอดีตคนไข้ที่เขาเคยผ่าตัดเส้นเลือดในท้องแตกเมื่อ 20 กว่าปีก่อน ปัจจุบันคนไข้คนเดิมเพิ่งไปเข้ารับการผ่าตัดที่เชียงใหม่อีกครั้ง
“แปลว่าอะไรรู้ไหมครับ แปลว่าเขายังมีชีวิตอยู่” เราพยักหน้าให้ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ที่ข้ามผ่านกาลเวลา หมอณัฐรักษามาแล้วตั้งแต่เด็กทารกวัยไม่ถึงเดือนที่เกิดมาพร้อมความผิดปกติของหัวใจจนถึงผู้เฒ่าวัย 92 ปี
ทุกวันจะมีเคสผ่าตัดประมาณ 3 ราย คนไข้ทั้งหมดส่งมาจากแพทย์อายุรกรรมโรคหัวใจ หมอณัฐจะรับข้อมูลคนไข้มาเพื่อพูดคุยกับพวกเขาเกี่ยวกับทางเลือกในการผ่าตัดและความเสี่ยง ทั้งการเสียชีวิต การเกิดโรคแทรกซ้อน หรือต้องผ่าตัดซ้ำ
หากคนไข้ไม่เลือกผ่าตัด พวกเขาจะกลับเข้าสู่กระบวนการรักษาของแพทย์โรคหัวใจ แต่หากรับความเสี่ยงได้ หมอณัฐจะพิจารณารูปแบบการผ่าตัดต่อไป บางคนอาจต้องผ่าตัดแบบเปิด (Open Heart Surgery) เหมือนเดิม ซึ่งจะทิ้งรอยแผลเป็นขนาดใหญ่และยาวตามแนวกระดูกหน้าอกไว้ ขณะที่คนไข้บางรายอาจเลือกการผ่าตัดแผลเล็กได้ ซึ่งคนไข้กลุ่มนี้มีประมาณ 10 – 15 เปอร์เซ็นต์ของคนไข้ทั้งหมด

หากย้อนกลับไปไกลกว่านั้นเพื่อให้เห็นภาพกว้างและความสำคัญของการรักษา การผ่าตัดหัวใจในประเทศไทยมีมาแล้วเกือบ 50 ปี ถือว่าไม่ช้ากว่าต่างประเทศนัก แต่จุดเปลี่ยนสำคัญของไทยคือโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งเปิดทางให้คนไข้เข้าถึงการรักษาได้ง่ายขึ้น
“สมัยก่อนการผ่าตัดอยู่ในเมืองหลวงเป็นหลัก ปริมณฑลหรือต่างจังหวัดแทบไม่ต้องพูดถึง ภาคเหนือมีสักแห่ง อีสานอีกแห่ง ตอนนั้นคนก็เป็นโรคหัวใจตีบ หัวใจรั่ว ลิ้นหัวใจพิการ แต่สถานการณ์แย่ขนาดที่ใครจะผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ เรามีลิ้นให้แค่ไซซ์เดียว ยัดให้ได้ ไม่มีเงินก็ไปขอลิ้นหัวใจของ จส.100 จนตอนหลังเรามีหน่วยผ่าตัดเยอะขึ้น เพราะโครงการ 30 บาทด้วย จาก พ.ศ. 2535 – 2536 มีหน่วยผ่าตัดประมาณ 12 – 13 แห่ง กรุงเทพฯ เอาไปแล้ว 8 แห่ง แต่ขณะนี้เรามี 100 กว่าแห่งแล้ว”
ถึงอย่างนั้น ประเทศไทยก็ยังขาดผู้เชี่ยวชาญศัลยแพทย์หัวใจ ทรวงอก และหลอดเลือดอยู่ หมอณัฐบอกว่าการกระจายตัวและการบริหารจัดการยังไม่ดีนัก สิ่งที่ต้องพัฒนาคือความสามารถและเป้าหมายของแพทย์เอง คือต้องลดอัตราการเสียชีวิตให้ได้

“บุคลากรสำคัญไม่ใช่แค่ศัลยแพทย์ แต่คือเพื่อนร่วมงาน หมอต้องพอ พยาบาลต้องพอ ซึ่งตอนนี้ไม่พอ เราอยู่กันด้วยมิตรจิตมิตรใจ ไหนจะเรื่องค่าตอบแทนที่ควรไปด้วยกันกับปริมาณงาน เรามีบุคลากรแต่ส่วนใหญ่ไหลไปเอกชน เพราะอยู่ที่นี่เขาก็ได้เท่าเดิม” หมอณัฐเล่าภาพกว้างให้ฟัง เราจึงถามกลับว่าเขาเองมีประสบการณ์ในห้องผ่าตัดมากขนาดนี้ อะไรคือสาเหตุที่ยังไม่ย้ายไปไหน
“ผมไม่ได้คิดเลย” เขาเน้นเรื่องบรรยากาศการทำงานและสิ่งแวดล้อมที่สร้างความสุขให้ชีวิตเป็นสำคัญ ซึ่งที่โรงพยาบาลลำปางแห่งนี้มีพร้อมทุกอย่าง ไม่จำเป็นต้องไปเสี่ยงไขว่คว้าหาเพื่อนที่รู้ใจใหม่
“ที่ลำปาง หมอหัวใจเราอยู่ด้วยกัน 4 คน ทุกคนไม่ใช่คนลำปางและทุกคนไม่มีบ้าน นอนโรงพยาบาลกันหมด แต่ผมมีความสุขแล้ว เวลาโดนโทรตามกลางคืน ผมจะรีบขี่จักรยานมา
“เราไม่เคยคาดเดาได้ว่าจะโดนโทรเรียกตอนไหน วันนี้ผ่าตัดเสร็จ 2 ทุ่ม แต่การผ่าตัดหัวใจบอกเลยว่าไม่เคยจบแม้จะทำดีแล้วก็ตาม บางทีคนไข้เลือดออกไม่หยุด ความดันไม่คงที่ เกิดการอักเสบที่ไม่เท่ากันในแต่ละบุคคล บางคนเอาท่อหายใจออกแล้วดีเลย บางคนต้องสู้กัน 2 – 3 วัน เอาท่อออกแล้ว แต่เสมหะติดคอ ตี 3 ตี 4 ต้องขี่จักรยานมาใส่ท่อหายใจใหม่ สายน้ำเกลือที่คอหลุดก็มาแทงใหม่กลางคืน ใครทำ ก็พวกผมทำเอง”
พวกผมที่ว่าไม่ใช่แค่แพทย์เท่านั้น แต่หมายถึงพยาบาลแห่งโรงพยาบาลลำปางที่ทั้งรู้ใจและมากฝีมือ หมอณัฐไม่คิดว่าการทำงานคนเดียวจะได้ผลดีกว่ามีทีมที่ช่วยกันคนละไม้คนละมือ เขาส่งต่อความรู้ให้พยาบาลจนไว้วางใจให้ช่วยงานแพทย์ได้มากกว่าแค่วัดไข้หรือวัดความดัน
“จุดแข็งของที่นี่คือพยาบาลเก่ง” เขากล่าวอย่างภูมิใจ
“พยาบาลของเราปรับยาช่วยหมอได้ เรื่องปกติไม่ซับซ้อน พยาบาลแก้ไขให้ได้ทันที ไม่อย่างนั้น ตายแน่ ไม่ได้นอนกันเลย เพราะเขาก็จะโทรหาหมออย่างเดียว บางทีผมมาตอนเช้า เขาปรับอะไรให้เสร็จหมดแล้ว เขาบอกว่าอยากให้หมอได้หลับบ้าง ดังนั้น ถ้าเขาทำงานดีขนาดนี้แล้ว เมื่อไหร่ที่เขาโทรหา คุณต้องมา เพราะแปลว่าเกินกว่าที่เขาจะรับมือได้แล้ว”

นอกจากบุคลากรที่ดี เครื่องมือในการผ่าตัดที่ดีก็สำคัญ หมอณัฐบอกว่าการผ่าตัดแผลเล็กมีมานานแล้ว แต่ไม่มีการยอมรับในวงกว้าง จนปัจจุบันวงการการแพทย์พัฒนาเช่นเดียวกับอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยเครื่องมือที่ศัลยแพทย์แต่ละท่านเลือกใช้จะขึ้นอยู่กับความถนัดมือ
หมอณัฐลองใช้เครื่องมือสำหรับการผ่าตัดหัวใจแผลเล็กยี่ห้อ GEISTER Medizintechnik GmbH จากประเทศเยอรมนี ซึ่งนำเข้าและจัดจำหน่ายโดย บริษัท ซัมมิท เฮลธ์แคร์ จํากัด ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือผ่าตัดแผลเล็กรุ่น ValveGate™ PRO / Classic อาทิ อุปกรณ์จับเข็มเย็บแผล กรรไกรตัดเนื้อเยื่อ คีมหนีบจับเนื้อเยื่อและหลอดเลือด เป็นต้น หรือ MICS – Adam-Yozu™ เป็นอุปกรณ์ถ่างขยายลิ้นหัวใจ เพื่อทำให้มองเห็นลิ้นหัวใจขณะผ่าตัดได้อย่างชัดเจน และยังมีเครื่องมือผ่าตัด รุ่น ThoraGate™ VATS ได้แก่ กลุ่มอุปกรณ์จับเข็มเย็บแผล คีมหนีบจับเนื้อเยื่อ และคีมหนีบจับหลอดเลือด กระทั่งมั่นใจว่าเหมาะมือตนเอง จึงทำเรื่องเสนอโรงพยาบาลลำปางจนได้เครื่องมือชุดนี้มาช่วยเหลือชีวิตคนไข้
“ในห้องผ่าตัด แพทย์แต่ละคนจะใช้เครื่องมือถนัดของตัวเอง การผ่าตัดแผลเล็กทำให้ความเสียหายต่อเนื้อเยื่อน้อยกว่า เพราะไม่ทำให้ส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องเกิดความช้ำ การใช้อุปกรณ์จึงต่างจากการผ่าแผลใหญ่แน่นอน สกิลล์การใช้เครื่องมือก็ต่างไปเช่นกัน เวลาประชุมจะมีแพทย์ที่ใช้แล้วมาแนะนำ เราสงสัยก็จะถาม ซึ่งในไทยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ใช้เครื่องมือพิเศษอันนี้ได้ประมาณ 10 คน แต่กำลังจะมีเพิ่มอีกในอนาคต”

หมอณัฐเล่าต่อว่าโรงพยาบาลลำปางเริ่มผ่าตัดแผลเล็กตั้งแต่ พ.ศ. 2560 เริ่มจากลิ้นหัวใจ ต่อมาจึงเพิ่มการผ่าตัดบายพาส (Coronary Artery Bypass Grafting : CABG) เป็นการผ่าตัดต่อเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจ ปัจจุบันมีการผ่าตัดลิ้นหัวใจไปแล้วเกือบ 300 ราย ส่วนการทำบายพาสเส้นเลือดหัวใจแผลเล็กก็ประมาณ 300 รายเช่นกัน
“ตอนผ่าแผลใหญ่เราเห็นชัดเจน ขณะที่การผ่าแผลเล็กคือการมุดถ้ำทำ มีความเสี่ยงที่ต่างกัน แต่มีการศึกษาว่าการผ่าตัดแผลเล็กให้คุณภาพไม่ด้อยกว่าแผลใหญ่เลย เพิ่มเติมคือได้แผลเป็นขนาดเล็กและฟื้นตัวเร็วกว่า

“ตอนผมเปลี่ยนจากผ่าแผลใหญ่มาเป็นแผลเล็กผมก็ยังไม่มั่นใจนะ ใช้เวลา 5 ปีกว่าจะรู้ว่าต้องทำยังไงกันแน่ ยิ่งงานหัตถการทางการแพทย์ เรามีทีมแพทย์ ผู้ช่วย หมอดมยา อะไรที่ไม่ดี เพื่อนร่วมงานเราไม่เอาแน่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับการผ่าตัดแผลเล็กคือทุกคนบอกว่าดี นั่นคือเหตุผลที่ทำได้ถึงวันนี้
“การผ่ากลางหน้าอกเกิดแผลใหญ่ ต้องเย็บปิดกระดูกหน้าอกด้วยการใช้ลวด ถ้าทำได้ดีต้องรอให้กระดูกหายประมาณ 2 – 3 เดือน แต่การผ่าแผลเล็กประมาณ 2 อาทิตย์ก็กลับไปทำงานได้แล้ว หากเขาจำเป็นต้องทำงานเลี้ยงชีพ”
ดังนั้น การผ่าตัดแผลเล็กจึงช่วยลดโอกาสในการติดเชื้อ เติมเลือดน้อยกว่า ถึงขั้นที่บางรายไม่ต้องเติมเลือดเพิ่ม ใช้เวลาในการพักฟื้นที่โรงพยาบาลสั้นลง กลับไปใช้ชีวิตปกติได้เร็วขึ้น ซ่อนแผลได้ และทำให้คนไข้ โดยเฉพาะผู้หญิงมั่นใจมากขึ้น


หัวใจ 101
โรคร้ายอันดับต้น ๆ ที่คร่าชีวิตคนไทยหนีไม่พ้นโรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจที่มักสลับวนอันดับกับโรคปอด เบาหวาน และความดันสูง
“พูดถึงโรคหัวใจ เรามักถูกสอนว่าจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก แต่หากศึกษาจริง ๆ คนที่มีอาการเหล่านี้แล้วมาหาหมอมีไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ แสดงว่าส่วนหนึ่ง 30 – 40 เปอร์เซ็นต์ไม่มีอาการนำมาก่อน หรือบางกลุ่ม 30 เปอร์เซ็นต์จะมาด้วยอาการอีกแบบที่ไม่รู้ว่าเป็นโรคหัวใจ เช่น เหมือนโรคกระเพาะ ท้องอืด แน่นท้อง จุกบริเวณลิ้นปี่ แต่อ้าว! หัวใจไม่ได้อยู่ตรงนั้น มีคนไข้คนหนึ่งมาหาด้วยการเหมือนโรคกระเพาะเลย แต่เป็นโรคหัวใจ สุดท้าย ทุกคนต้องเอะใจว่า ถ้ารักษาไม่หาย เราควรไปเช็กดูว่าเป็นโรคหัวใจไหม”

แม้ว่าโรคเหล่านี้จะพบในผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ แต่ปัจจุบันอาหารการกินและการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปทำให้อายุของคนหดสั้นลง ความเสี่ยงจึงมาหาเราไวขึ้น และสิ่งสำคัญสุดที่คนไม่รู้คือ ‘กรรมพันธุ์’
“ชัดเจน พรุ่งนี้ผมจะผ่าตัดเคสหนึ่ง ซึ่งเคยผ่าให้คุณแม่ของเขาเมื่อ 5 ปีก่อน เราห้ามกรรมพันธุ์ไม่ได้ แต่เรายังปรับอะไรบางอย่างได้หากทราบก่อน” หมอณัฐเล่า เพื่อนของเราตั้งใจฟังทุกคำ
“ถ้าให้แนะนำ คือหากมีพันธุกรรมสายตรงที่ไม่ใช่ปู่กับหลาน แต่เป็นพ่อแม่ลูก ควรตรวจสุขภาพประจำปีให้เร็วขึ้น แม้กระทั่งโรคกระเพาะที่เล่าไป ทุกคนกินยาเองให้หาย แต่ถ้ากินแล้วยังไม่หาย อย่าคิดว่าตัวเองเป็นโรคกระเพาะอย่างเดียว” เราพยักหน้ารับ เพราะทั้งตัวเองและคนรู้จักล้วนเป็นโรคกระเพาะกันทั้งสิ้น
“มีคนไข้รูปร่างผอมมากคนหนึ่ง เขาเป็นโรคหัวใจล้มเหลว ลิ้นหัวใจรั่ว เขาไม่คิดว่าตัวเองเป็นโรคหัวใจเลย เพราะเหมือนแค่เหนื่อยธรรมดา เป็นมานานแล้ว แต่การเป็นโรคหัวใจทำให้กล้ามเนื้อถูกดูดไปจนผอมได้เช่นกัน เขาทิ้งไว้นานมากจนผอมขนาดนี้”
หลายคนกลัวที่จะเป็นโรคอะไรบางอย่างจึงหลีกเลี่ยงการตรวจ หรือเลือกจะหายาทานเอง แต่นั่นไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง คนไทยควรหันมาป้องกันตัวเองก่อนจะเป็นโรคและไปจบที่โรงพยาบาล
“ความตระหนักเรื่องสุขภาพต้องสอนตั้งแต่เด็ก ในโรงเรียนควรสอนให้เห็นความสำคัญของการตรวจโรค การดูแลร่างกาย เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ เมื่อโตขึ้นอย่างมีความรู้ คนเหล่านี้จะมีทักษะในการตัดสินใจ มีตรรกะและเหตุในการรักตัวเอง รู้จักดูแลตัวเอง” หมอณัฐทิ้งท้าย
ความฝันและความหวังของเขาต่อจากนี้ไม่มีอะไรมาก ขอแค่ได้ทำงานในที่ที่มีความสุข ให้ตัวเองมีพลังใจในการทำเพื่อสุขภาพของประชาชนต่อไป
