27 กุมภาพันธ์ 2024
3 K

วันนี้เราชวน น้องเจน (เจนนิเฟอร์ อินเนส-เทเลอร์) กับ คุณพ่อนิค (นิโคลัส อินเนส-เทเลอร์) เขยิบจากจอมือถือช่อง ‘น้องเจนทำฟาร์ม’ เป็นจอคอมพิวเตอร์ ต่อสายตรงจากอุดรธานี 

ในอดีต คุณพ่อเป็นที่ปรึกษาขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations) เรียนจบปริญญาตรีด้านการเกษตร ปริญญาโทด้านการประมง ส่วนลูกสาวเองก็ไม่น้อยหน้า เจนเรียนจบปริญญาด้าน Biomedical Engineering

นอกจากฟาร์มของครอบครัวนี้จะอุดมไปด้วยผลผลิต ยังอุดมไปด้วยความรู้ที่สองพ่อลูกนักวิชาการมอบให้แบบไม่มีกั๊ก และอาหารออร์แกนิกฝีมือ แม่ติ๊ก คุณแม่ที่เชี่ยวชาญภูมิปัญญาพื้นบ้านมากกว่าใคร (เจนกระซิบบอกว่าแม่ติ๊กรู้จักผักแทบทุกชนิด)

บัณฑิตชีวการแพทย์ผู้เติบโตมากับการเหยียบขี้หมู ช่วยให้ฟาร์มของครอบครัวเป็นที่รู้จักมากขึ้นผ่านการทำคอนเทนต์ลง TikTok จนยอดวิวทะลุล้าน ทั้งการออกแบบคอกวัว การทำเล้าไก่เคลื่อนที่ การห่มหน้าดินอย่างถูกวิธี ฯลฯ

ปัจจุบันฟาร์มของพวกเขามีพื้นที่ 113 ไร่ มีวัวอยู่ 44 ตัว มีไก่ มีหมู มีห่าน มีเป็ด เลี้ยงด้วยวิถีออร์แกนิกทั้งหมด จัดสรรพื้นที่ด้วยความรู้ให้วัวกินหญ้าได้ในบริเวณจำกัด ทั้งยังใช้ปั๊มน้ำตัวเดียวต่อพื้นที่ 100 ไร่ด้วยแผงโซลาร์เซลล์ 

เทคนิคทั้งหมดนี้เริ่มจากการล้มลุกคลุกคลานเมื่อ 20 ปีก่อน 

พวกเขาก็เหมือนเกษตรกรทั่วไปที่เริ่มต้นด้วยการทำนาไถพรวน ด้วยสภาพอากาศคงที่และดินอุดมสมบูรณ์ ทำให้ได้ผลิตผลมากมาย แต่ไถพรวนนานเข้า ดินก็เริ่มแห้ง แตกระแหง จึงรับรู้ได้ว่ากำลังเดินมาผิดทาง

เกษตรฟื้นฟู คือคำตอบ พวกเขาศึกษาวิธีการดูแลระบบนิเวศด้วยการเลียนแบบธรรมชาติ มีหญ้าหรือฟางปกคลุมหน้าดิน ใช้มูลจากสัตว์เป็นหลัก ลดการรบกวนดินด้วยการไถพรวน ปลูกพืชให้หลากหลาย และให้มีรากอยู่ในดินเสมอ 

เมื่อเกษตรฟื้นฟูนั้นฟื้นฟูฟาร์มได้จริง จึงคิดขยับขยายทำธุรกิจ ดำเนินการภายใต้ชื่อ Udon Organic Farm มาราว 1 ปี เริ่มขายสินค้าทางออนไลน์ มีระบบขนส่งควบคุมอุณหภูมิที่ได้มาตรฐานจนเชฟมิชลินมากมายไว้วางใจ ทั้งยังเปิดให้เข้าชมในรูปแบบทัวร์พร้อมกิจกรรมการเกษตร 

โดยมีไกด์เป็น 2 พ่อลูกฝรั่งหัวใจเกษตรผู้ถ่ายทอดวิถีชาวสวนที่ในตำราไม่มีสอน แต่เรียนรู้จากวิชาชีวิต

น้องเจนทำอะไร

จุดเริ่มต้นในการทำคลิปช่องน้องเจนทำฟาร์มคืออะไร

น้องเจน : เราทำเพจ Udon Organic Farm มาก่อน ตั้งกล้องถ่าย ตัดต่อ ใส่ซับ สวยมาก แต่เราขี้เกียจทำเพราะใช้เวลาเยอะเกินไป เลยเปลี่ยนมาทำน้องเจนทำฟาร์มด้วยคอนเซปต์ว่า ฉันจะทำให้ง่ายที่สุดแล้วก็สม่ำเสมอ 

จำคลิปแรกที่ลงได้ไหม พัฒนาการจนถึงตอนนี้เป็นยังไงบ้าง

น้องเจน : คลิปแรกในช่องน้องเจนทำฟาร์มคือไม่ได้ซีเรียสอะไรเลย เป็นคลิปเดินเล่น ถ่ายรูปสำหรับทำสินค้า คลิปนี้ตัดต่อเยอะ ใส่เพลงด้วย แต่มีคนดูประมาณ 20 คนเอง (หัวเราะ) เราเริ่มจับสไตล์ TikTok ออกแล้วว่าคนดูต้องการแค่ยกกล้องขึ้นมาถ่าย ไม่ต้องใส่ซาวนด์ ไม่ต้องเวอร์ เลยทำต่อให้เป็นธรรมชาติมากขึ้น ตรงไหนไม่สวยก็ช่างมัน บางทีคุยไปเกาจมูกไปหรือแคะหูเราก็เอาลงหมดทุกอย่าง เพราะเราอยากนำเสนอฟาร์มเฉย ๆ

ส่วนสิ่งที่เพิ่มมาคือตอนนี้มีขาตั้งกล้องกับไมค์แล้วค่ะ (หัวเราะ) 

ตอนคิดริเริ่มว่าจะทำคลิป คุณพ่อเห็นด้วยไหม

น้องเจน : คุณพ่อไม่รู้ค่ะ (หัวเราะ) 

คุณพ่อ : ผมไม่มีสิทธิ์ห้ามอะไร มันห้ามไม่ได้อยู่แล้ว (หัวเราะ)

แต่ก็เห็นคุณพ่อพูดเรื่องการเกษตรฟื้นฟูในช่องเยอะมากนะ

น้องเจน : การเกษตรฟื้นฟูเป็นเรื่องที่คนเข้าถึงยาก เพราะส่วนมากจะเป็นภาษาอังกฤษหมดเลย ทั้งที่คนไทยทำการเกษตรฟื้นฟูโดยไม่รู้ตัวอยู่แล้ว คุณพ่อเป็นคนอธิบายเรื่องราวต่าง ๆ ได้ดีมาก เราพยายามชวนเขามาแชร์ แต่ถ้าพูดในเชิงวิชาการเกินไปคนก็จะไม่ฟังหรอก เราเลยพาไปดูให้เห็น

ถามคุณพ่อว่าตอนที่เจนมาชวนไปออกกล้องรู้สึกเขินไหม

คุณพ่อ : (หัวเราะ) ก็เขินนิดหน่อยแต่ยินดีมากครับ เพราะสำหรับผม มันก็เป็นเรื่องใหม่ ไม่คิดว่าจะมีคนสนใจ

คลิปไหนที่ทำให้น้องเจนทำฟาร์มเริ่มเป็นที่รู้จัก

น้องเจน : คลิปแรกที่ได้ล้านวิว เป็นคลิปเจนโชว์ว่าชีวิตต่างประเทศกับในฟาร์มต่างกันขนาดไหน พอทำมาเรื่อย ๆ ก็พูดเรื่องทำนาไม่ไถพรวนแต่คนไม่เข้าใจ เพราะคลิปไม่ยาวมาก เราไม่ได้อธิบายว่าทำไมถึงทำนาไม่ไถพรวน มีคอมเมนต์ว่าเรารู้ไม่จริง เหมือนคนสวยมาทำนา เราเลยชวนพ่อมาออกด้วย คลิปนั้นดังมาก ได้ตั้ง 6 ล้านวิว 

ตอนนั้นเลยรู้ว่าถ้าทำคลิปเชิงความรู้จะยั่งยืนกว่า ความตลกแป๊บ ๆ เดี๋ยวก็ไป เพราะความรู้ไม่มีที่สิ้นสุด แล้วคนก็กลับมาหาความรู้อีกครั้ง แถมเรายังได้ศึกษาความรู้เพิ่มเติมเวลามีคนมาตั้งคำถามด้วย

@j_nniferr

เหตุผลที่เราไม่ไถพรวนดิน ?☀️ วันนี้พาผู้เชี่ยวชาญมาตอบค่ะ ??? #ชีวิตในฟาร์ม ดำนา #ปลูกข้าวกินเอง

♬ original sound – น้องเจนทำฟาร์ม – น้องเจนทำฟาร์ม

คนดูช่องคุณส่วนมากเป็นใคร

น้องเจน : คนดูเรามีทุกรูปแบบ อย่างกลุ่มที่มาทัวร์วันนี้ก็เป็นวัย 27 – 30 ปี ทำงานประจำมาได้ระดับหนึ่งแล้ว แต่อยากทำการเกษตรที่บ้าน คนอายุ 70 ปีขึ้นไปก็มีนะ หลากหลายมาก เราอยากให้คนมองว่าทุกคนทำการเกษตรได้ เข้าถึงง่าย ไม่จำเป็นต้องมีแทรกเตอร์คันใหญ่ ๆ 

คุณพ่อ : ยกตัวอย่างการทำปุ๋ยหมัก มีคนถามผมเยอะมาก ไม่ใช่ไม่มีข้อมูลนะ แต่คนไม่ค่อยสนใจศึกษาจริง ๆ เพราะยุ่งยากเกินไป เราอยากบอกว่าไม่ต้องทำตามวิชาการเป๊ะก็ได้ แค่เข้าใจว่าหลักการคืออะไรแล้วลงมือทำเลยดีกว่า ไม่ต้องกังวลหรอกว่าต้องมีดินกี่กิโลกรัมหรือใช้ขนาดเท่าไหร่

มีคนสนใจการเกษตรเยอะ แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นยังไง คนกลุ่มนี้แหละที่เราพยายามจะคุยด้วย

เวลาคิดคอนเทนต์ คุณเริ่มจากตัวเรามีเรื่องอยากเล่าหรือหยิบจากคำถามทางบ้าน

น้องเจน : มีทั้ง 2 แบบค่ะ เราเอาจากที่เจอแล้วหยิบโทรศัพท์ไปถ่าย พอมีคนมาติดตามมากขึ้น เขาก็เริ่มแนะนำหัวข้อที่จะทำต่อไป เมื่อวานเจนถ่ายรูปกับวัว คนเห็นแผงโซลาร์เซลล์ในรูปก็สนใจว่าใช้ทำอะไร เราก็จะหยิบเรื่องนี้มาเล่าให้ฟังในคลิปต่อไป 

คำถามไหนที่คุณได้รับบ่อยที่สุด

น้องเจน : เป็นคนประเทศอะไร (หัวเราะ) 

คุณพ่อ : อยู่ไทยนานรึยัง กินข้าวเหนียวได้ไหม (หัวเราะ)

ซึ่งไม่ใช่คำถามเกี่ยวกับการเกษตร

ใช่ (หัวเราะพร้อมกัน)

น้องเจน : เขาจะอยากรู้ชีวิตส่วนตัวบ้าง แต่ในแง่ของการเกษตรเขาจะฟังแล้วชื่นชมมากกว่า ดีใจที่เราให้ความรู้เขา ส่วนคำถามก็จะเจาะลึกลงไป เช่น ผ้าใบที่ใช้คลุมหนาเท่าไหร่ เพื่อเอาแนวทางนี้ไปทำตาม

มีคนเอาแนวทางของคุณไปทำตามจริง ๆ แล้วฟีดแบ็กกลับมาบอกไหม

น้องเจน : เยอะมากนะ เราขับรถผ่านก็ยังเห็นคอกไก่เคลื่อนที่เหมือนเราเลย (หัวเราะ)

คุณพ่อ : เป็นการยืนยันว่าวิธีพื้นบ้านใช้ได้จริง ถึงเด็กรุ่นใหม่จะทำการเกษตรก็ไม่ได้แปลว่าต้องใช้ AI หรือเทคโนโลยีขั้นสูง ความเชื่อดั้งเดิมโอเคมากแล้ว ภูมิปัญญาชาวบ้านทำให้เรื่องยากเป็นเรื่องง่าย

ตอนนี้ช่องของคุณค่อนข้างประสบความสำเร็จ มีแผนในอนาคตต่อไปไหมว่าจะพัฒนาน้องเจนทำฟาร์มไปถึงขั้นไหน

น้องเจน : ไม่ได้คาดหวังอะไรเลยค่ะ ถ้ามีคำถามเกี่ยวกับความรู้ทางการเกษตรเราก็ยินดีที่จะศึกษาไปพร้อมกับเขา เพราะการเกษตรเปลี่ยนตามฤดูกาล และที่สำคัญคือคอนเทนต์เราไม่จบสิ้น ถ้าเราศึกษาไปเรื่อย ๆ จะมีความรู้ใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอด บางทีพ่ออ่านงานวิจัยก็ส่งมาให้เจนบ้าง เวลาไปบรรยายก็ได้ความสนใจใหม่จากนักศึกษา เก็บไว้ลงคอร์สเรียนเพิ่มเติม ทั้งอาหาร สุขภาพ เทคนิคการทำฟาร์ม หรือจุลินทรีย์ในดิน โอ้โห ไม่รู้จบ อีกยาวไกลมาก

คุณพ่อ : เราเปิดเผยว่าเราไม่ได้เชี่ยวชาญ เราเล่าเรื่องจากประสบการณ์ เล่าเรื่องจากความคิดในปัจจุบัน ตัวเราเองก็ยังเรียนรู้ทุกวัน เดือนหน้าคำถามเดิมเราอาจจะตอบไม่เหมือนเดิมก็ได้ เพราะความคิดเปลี่ยนไป การเกษตรต้องปรับเปลี่ยน ยิ่งดินฟ้าอากาศเปลี่ยนแปลง เราก็ต้องหาแนวทางใหม่ สิ่งที่เคยทำเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ตอนนี้อาจทำไม่ได้ 

อุดมธานี

ทราบมาว่าคุณแม่ติ๊กก็ไม่ได้เป็นคนอุดรธานี ทำไมคุณพ่อถึงเลือกลงหลักปักฐานที่นี่

คุณพ่อ : ตอนแรกผมมาเมืองไทยด้วยการเป็นอาสาสมัครโครงการระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลอังกฤษ สอนหนังสือที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษประมาณ 3 ปี ไปเรียนต่อปริญญาด้านการประมง กลับมาเป็นผู้ประสานงานโครงการพัฒนาประมงน้ำจืดอยู่ที่อุดรธานีอีก 4 ปี แล้วก็ย้ายไปอยู่ประเทศลาว 10 ปี แต่สุดท้ายผมก็กลับมาที่อุดรธานีเพราะมันน่าอยู่มาก 

ผมทำงานอยู่ในลุ่มแม่น้ำโขง ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา เมียนมา ที่นี่เป็นเหมือนศูนย์กลาง อีกอย่างหนึ่งคือผมไม่อยากอยู่ในเมือง ผมอยากอยู่ชนบท พออยู่อุดรธานีนานไปก็แต่งงานจนซื้อที่ดินที่นี่ 

จำความรู้สึกตอนมาประเทศไทยครั้งแรกได้ไหม 

คุณพ่อ : ร้อนและไม่รู้เรื่องครับ (หัวเราะ) 

ผมมาตอน พ.ศ. 2525 ตอนนี้ก็ 40 กว่าปีแล้ว โชคดีที่ไม่ได้เป็นนักท่องเที่ยว แต่มาทำงาน เขาส่งไปเรียนภาษาไทยเกือบ 2 เดือนที่โคราช ได้เรียนเกี่ยวกับประเพณีวัฒนธรรม ได้รู้ว่าชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยกับคนเอเชียเป็นยังไง ตื่นเต้นมาก 

แต่พอไปทำงานจริง ๆ ทุกคนพูดอีสานกันหมด ที่เรียนมาใช้ไม่ได้เลย (หัวเราะ) ต้องเรียนใหม่ทั้งหมด

สังคมเกษตรในสมัยนั้นเป็นยังไง

คุณพ่อ : การเกษตรสมัยนั้นยังไม่ได้พัฒนามาก ยังไม่มีรถไถ รถเกี่ยวข้าวไม่ต้องพูดถึง ผมไปทำงานที่จังหวัดศรีสะเกษ ล้าสมัยมาก คนยังคอยหัวเราะอยู่เลยเวลาถามว่าไปทำงานที่ไหนแล้วผมบอกว่าศรีสะเกษ เพราะสมัยนั้นเป็นจังหวัดสุดท้ายที่ทุกคนอยากไป แต่สำหรับผม มันน่าตื่นเต้นและได้เรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบ้านหลายอย่างมาก 

จากเคยเป็นนักวิชาการด้านการเกษตร พอมาลงมือทำเองเป็นเหมือนที่เคยเรียนมาไหม

คุณพ่อ : ไม่เลยครับ (หัวเราะ) จนถึงตอนนี้ปัญหาที่เราเจอก็ไม่เหมือนกับที่เรียนมาเลย แต่ไม่ใช่ว่าการเรียนไม่มีค่า มันให้กรอบทฤษฎีเรา 

สำหรับผม ทฤษฎียังไม่ครอบคลุมเท่าที่ควร ต้องปรับปรุง ไม่ใช่แค่เฉพาะในเมืองไทยนะ แต่เป็นทั่วโลก เพราะทฤษฎีปัจจุบันนี้ไม่เหมาะกับความต้องการของเกษตรกรแล้ว เช่น ระบบนิเวศในดิน ความเชื่อมโยงของเชื้อราและรากฝอยในต้นไม้ เป็นความรู้ใหม่ที่สำคัญมากแต่ยังไม่ถูกบรรจุไปในความรู้การเกษตรพื้นฐานเลย 

คนกว่า 90% ที่ติดต่อผมเข้ามาก็ไม่ใช่เกษตรกร แต่เป็นคนที่สนใจการเกษตรและอยากเป็นเกษตรกร เราต้องมีคลังข้อมูลสำหรับคนเหล่านี้ด้วย

คุณพ่อรู้สึกยังไงที่คนรุ่นใหม่ผันตัวมาเป็นเกษตรกรมากขึ้น

คุณพ่อ : ดีใจมากครับ เพราะไม่ว่าจะประเทศไหนก็ตาม ทั้งชีวิตผมเจอแต่คนบอกว่าการเกษตรเป็นอาชีพสุดท้ายสำหรับคนโง่ ๆ ที่ทำอย่างอื่นไม่ได้ ถ้าเป็นหมอไม่ได้หรือไม่เก่งคณิตศาสตร์ก็ไปทำการเกษตร แต่เราต้องเปลี่ยนความคิดนี้

การเกษตรเป็นอาชีพที่สำคัญที่สุด มนุษย์ขาดหลายอย่างได้แต่ขาดอาหารไม่ได้ เราต้องกินทุกวัน วันละ 3 มื้อ สิ่งที่ตอบสนองความต้องการนี้ได้คือเกษตรกรรม ปัจจุบันนี้เราหาอาหารกันได้สะดวกสบายจนลืมไปว่าอาหารในร้านสะดวกซื้อก็ต้องมีคนปลูกนะ (หัวเราะ) ผมเลยดีใจมากที่เด็กรุ่นใหม่หันมาสนใจการเกษตรและสุขภาพว่าสำคัญมากแค่ไหน ไม่ใช่การกินอย่างเดียว แต่ต้องดูว่าอาหารมีอะไรบ้าง โดยเฉพาะการปนเปื้อนจากการใช้สารเคมี 

นี่เป็นจุดประสงค์ของพวกเราเลยที่อยากกระตุ้นให้คนเห็นว่าการเกษตรไม่ใช่อาชีพสุดท้าย แต่เป็นอาชีพหลักของเรา

ฝรั่งบ้านนอก

อยากรู้เลยว่าคุณพ่อเลี้ยงเจนมายังไง

น้องเจน : เจนใช้ชีวิตอยู่ในฟาร์ม ต้องไปเก็บไข่ ให้อาหารหมู ไปดูวัว เพราะพ่อชอบการเกษตรมาก ขนาดเวลาไปอังกฤษเขาก็ยังพาไปดูวัว ไปตลาดนัดที่มีแต่วัวหรือมีแต่สัตว์ เราคลุกคลีกับสิ่งเหล่านี้มาตลอด 

สมัยเด็ก ๆ อยู่ที่ลาว เราก็จะอยู่แต่กับธรรมชาติ ปีนต้นไม้กับเพื่อน ขโมยผลไม้บ้านข้าง ๆ เหมือนทาร์ซานมาก (หัวเราะ) พอย้ายมาอยู่อุดรธานีก็ต้องไปโรงเรียน หยุดวันเสาร์-อาทิตย์ คนอื่นไปเที่ยวห้าง เราต้องไปตัดหญ้าที่สวน ขับรถไถ ทำนู่นทำนี่ให้เป็น แต่เราไม่ค่อยได้เล่าให้เพื่อนฟังหรอกว่าทำอะไร เขาไม่เข้าใจว่าทำไมเราต้องไปเหยียบขี้หมูและชอบล้อ (หัวเราะ) 

ตอนนี้ยังกลัวเพื่อนล้ออยู่ไหม

น้องเจน : ตอนนี้ไม่ได้ซีเรียสแล้วค่ะ แต่ตอนเด็ก ๆ เวลารองเท้าเราเปื้อนหรือเผาฟืนแล้วกลิ่นติดตัว คนแถวบ้านกันเองก็มองว่าเราปกติ แต่คนในเมืองจะชอบล้อเราว่าฝรั่งบ้านนอก เราเลยไม่ค่อยได้เล่าให้ฟังเท่าไหร่ พอโตมาก็รู้สึกว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต 

ที่อุดรธานี ใคร ๆ ก็มีนามีวัว ขึ้นอยู่กับว่าเขาจะใช้ประโยชน์ยังไงมากกว่า บางคนไม่ได้กลับไปทำนาทำสวน หาทางเลือกที่ดีกว่าด้วยการทำงานในกรุงเทพฯ ก็เป็นสิทธิ์ของเขา แต่เจนคิดว่าเรามีคนที่มีความรู้ความสามารถอยู่ที่บ้าน เราสานต่อจากตรงนี้ได้ เราชื่นชมการทำฟาร์มออร์แกนิกของเขามาตลอด ซึ่งมันยั่งยืนจริง ๆ ยิ่งเปลี่ยนแปลงเป็นเกษตรฟื้นฟู ก็ยิ่งดีต่อสิ่งแวดล้อมและดีต่อสุขภาพ

เป็นความตั้งใจของคุณพ่อไหมที่อยากปลูกฝังให้เจนชอบทำการเกษตร

คุณพ่อ : ตั้งใจครับ (หัวเราะ) คิดว่าเรามีอะไรที่จะฝากให้ลูกได้บ้าง เงินก็ใช่ แต่จะดีกว่านั้นถ้าใช้เงินนั้นซื้อที่และสร้างดินที่อุดมสมบูรณ์ เพื่อให้ลูกของลูกของลูกมีโอกาสใช้งานได้ 

แล้วดูคนปลูกผักก็มีแต่สารเคมีทั้งนั้น ถ้าอยู่ในเมืองแล้วซื้อกับข้าวทุกวันจะมีผลต่อสุขภาพแน่นอน เราอยากให้ครอบครัวมีสุขภาพดีในอนาคต เลยปลูกผักกินเอง เป็นการลงทุนเรื่องสุขภาพ

น้องเจน : เราต้องเก็บผักมาให้แม่ทำกับข้าว เป็นไลฟ์สไตล์ที่ทำโดยไม่รู้ตัวจนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา แล้วคนสมัยก่อนก็ใช้ชีวิตแบบนี้ สมัยนี้คนปล่อยให้ลูกเล่นโทรศัพท์ แต่พ่อเราบังคับให้ทำฟาร์ม (หัวเราะ) เป็นข้อดีที่ทำให้รู้ว่าทุกอย่างกว่าจะได้มาไม่ใช่เรื่องง่าย เราให้ความสำคัญกับที่มาของอาหารมากขึ้น

คุณพ่อรู้สึกยังไงตอนที่รู้ว่าเจนอยากเรียนวิศวกรรมชีวการแพทย์

คุณพ่อ : จริง ๆ อยากให้ลูกเรียนอะไรก็ได้ แต่ขอให้เป็นสิ่งที่รักจนอยากทำเป็นอาชีพ แล้วเขาก็ชอบทางด้านหมอ เก่งฟิสิกส์มาก วิศวกรรมชีวการแพทย์เป็นอาชีพใหม่ อนาคตดี ถ้าจะเรียนด้านเกษตรผมก็โอเค แต่ตัวผมที่เรียนทั้งเกษตรและประมง คนที่เรียนจบเกษตรยิ่งคุยยากกว่าคนที่ไม่ได้เรียนมาซะอีก (หัวเราะ) 

ถ้าคิดจะทำการเกษตรจะดีมากเลยถ้าเรามีพื้นฐานวิทยาศาสตร์ เพราะเราอ่านงานวิจัยได้ รู้ว่าสารเคมีคืออะไร แค่นั้นก็พอแล้ว ไม่ต้องรู้ลึกอะไรมาก ไม่จำเป็นต้องเรียนเกษตรก็ได้

พ่อที่เรียนประมงกับลูกสาวที่เรียนชีวการแพทย์คุยอะไรกัน

(หัวเราะพร้อมกัน)

น้องเจน : เวลาคนเชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่งมาคุยกันจะได้การสื่อสารที่หลากหลายมากขึ้น ถ้าเราเรียนเรื่องเดียวกัน การสื่อสารก็จะไปทางเดียวกัน เราอธิบายกับพ่อได้ว่าวิศวกรคิดยังไง ทำให้ระบบการทำงานดีขึ้นและมีประสิทธิภาพ เรารู้เรื่องร่างกายมนุษย์ เซลล์ ปฏิกิริยาของลำไส้ ก็แชร์กับเขา

ส่วนพ่อรู้เรื่องประมงดีมาก ไปบรรยายเรื่อง Aqua Culture เกี่ยวกับการประมงโดยเฉพาะ แล้วเราไม่รู้เรื่องนั้นเลย เราก็งงมากว่าคนที่พูดอยู่นั่นใคร ไม่เคยรู้จัก (หัวเราะ) แต่ก็ได้รู้มุมมองของเขาที่ตอนเด็ก ๆ ไม่เคยเข้าใจว่าเขาทำอะไร 

พ่อที่เรียนประมงกับลูกสาวที่เรียนชีวการแพทย์คุยอะไรกับคุณแม่

น้องเจน : แม่รู้จักผักทุกสายพันธุ์ ด้วยความที่เขาเป็นคนไทยแล้วก็ปลูกผักมาตลอด เขารู้ที่มาที่ไป ใช้ทำอะไร รู้ลึกมากในเรื่องภูมิปัญญา แต่เทคนิคบางอย่างก็พิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้ เช่น แม่ปลูกอะไรขึ้นดีมากแต่พอเราไปจับปุ๊บ ตายเลย (หัวเราะ) และแม่ชอบเรื่องการแปรรูปมาก เพราะสินค้าการเกษตรจะขายแต่วัตถุดิบอย่างเดียวไม่ได้ แม่จึงสรรหาวิธีมาแปรรูป ทำเบคอน ทำไวน์ ทำให้อายุขัยสินค้านานขึ้น ซึ่งเราให้ความสำคัญกับสิ่งนี้มาก 

คุณพ่อ : และเขามีทักษะการเข้าสังคมที่ผมไม่มี (หัวเราะ) เขาคุยกับคนง่ายมาก ช่วยสร้างเครือข่ายให้พวกเรา โดยเฉพาะช่วงแรก ๆ ที่ขยายฟาร์มและพยายามเปลี่ยนจากปลูกผักกินเองเป็นธุรกิจ เขามีส่วนสำคัญมาก

น้องเจน : แม่คุยกับคนท้องถิ่นได้ดีกว่าเรา หน้าฝรั่งแบบนี้ถามอะไรก็ราคาขึ้นทันที (หัวเราะ) เราพูดอีสานได้ก็จริง แต่ถ้าเรื่องความไว้เนื้อเชื่อใจต้องแม่เลย

ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว

เห็นว่าเจนกับคุณพ่อมีไปบรรยายด้วย จริง ๆ ทำอาชีพอื่นด้วยไหม

น้องเจน : เมื่อก่อนพ่อรับเป็นที่ปรึกษาการพัฒนาการเกษตร แต่รับน้อยลงแล้ว ส่วนเจนหลังเรียนจบมาก็พยายามหางาน Work from Home รับทำเว็บไซต์ รับทำ Marketing ออกแบบโลโก้ ระหว่างหางานประจำด้าน Medical Engineering แต่ตอนนี้ทำกับที่บ้านเต็มตัวแล้วค่ะ 

บัณฑิต Medical Engineering ได้ความรู้การตลาดมาจากไหน

น้องเจน : ได้มาจากตอนไปเรียนที่อังกฤษค่ะ ตอนนั้นเรียนต่อด้าน Biomedical แต่ได้ไปทำงานร้านอาหาร ได้เจอคนเยอะ เราเห็นว่าร้านส่วนมากไม่ค่อยทำเว็บไซต์ เราเลยไปศึกษาเพิ่มเติมเพื่อจะหาเงินเลี้ยงชีพ การเรียนวิศวกรรมศาสตร์ก็ช่วยได้มาก เพราะต้องรู้เรื่องการเขียนโค้ด ทำอยู่แป๊บเดียวแต่ได้สกิลล์ติดตัวยาวเลย 

แสดงว่าเจนดูแลเรื่องการตลาดและประชาสัมพันธ์ทั้งหมดของฟาร์ม

น้องเจน : ใช่ค่ะ

คุณพ่อ : เขาเป็นผู้จัดการ (หัวเราะ) 

มองภาพ Udon Organic Farm ในอีก 5 ปีไว้ยังไงบ้าง

น้องเจน : อยากเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตอนนี้ยังเป็นโฮมเมด คนเข้ามาอยู่ในบ้านเรา กินข้าวบ้านเรา ในอนาคตคงเป็นระบบกว่านี้ แต่ยังคงความเป็นกันเองไว้อยู่ จะทำให้การเรียนรู้เห็นภาพชัดขึ้น เป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น เช่น มีการส่องกล้องจุลทรรศน์ว่าที่เราพูดมามันจริงนะ อะไรที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าหน้าตาเป็นแบบนี้ 

อีก 5 ปี การเกษตรฟื้นฟูคงมีข้อมูลมากขึ้น โดยเฉพาะข้อมูลที่เป็นภาษาไทย เราไม่ได้อยากเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นอะไรขนาดนั้น เราเองก็เป็นคนที่ไปศึกษามาแล้วพูดเป็นภาษาไทยเท่านั้นเอง

คุณพ่อ : เราจะพัฒนาฟาร์มไปเรื่อย ๆ ตอนนี้เริ่มเลี้ยงวัวนมเพราะตลาดมีความต้องการสูง ทั้งนม ครีม เนย ดินของเราก็เริ่มจะดีขึ้น เริ่มปลูกอะไรที่ 10 ปีที่แล้วปลูกไม่ได้ คงมีผักผลไม้หลากหลายมากขึ้นครับ

สองพ่อลูกภาคภูมิใจในการเป็นเกษตรกรมากแค่ไหน

น้องเจน : จะเรียกเราว่าเกษตรกรก็ไม่ได้ซะทีเดียว ณ จุดนี้คิดว่าเราทำธุรกิจมากกว่า

คุณพ่อ : นิยามของการเกษตรเลยต้องเปลี่ยน คนคิดว่าเกษตรกรจะทำแค่ขุดดินไถนา แต่อาชีพเกษตรกรต้องทำการตลาด ต้องเชื่อมเหล็กเป็น ต้องติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ได้ ปศุสัตว์ก็ต้องรู้ ต้องดูว่าวัวเป็นโรคอะไร ผสมเทียมได้ ฉีดยาได้ มีความสามารถหลากหลายมาก จะดูถูกดูแคลนไม่ได้เลย 

เขามีความสามารถในการจัดการทุกสิ่ง แถมยังสู้แดดสู้ฝน แก้ไขปัญหาสถานการณ์ที่มาพร้อมกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงตลอด นี่เป็นความท้าทายของเกษตรกรที่ต้องเจอ

หลังมีฟาร์มเป็นของตัวเอง ได้ทำการเกษตรเต็มตัว คิดเห็นยังไงกับสำนวนไทยที่ว่า ในน้ำมีปลาในนามีข้าว

น้องเจน : เจนพูดสำนวนนี้อยู่ตลอดค่ะ เพราะเมื่อก่อนเราทำนาแบบไถพรวน ทุกอย่างเริ่มถดถอยลง แต่พอเรามาทำเกษตรฟื้นฟู ในน้ำมีปลาในนามีข้าวมันกลับมาจริง ๆ เราทำเข้าปีที่ 5 แล้ว นาของเราอุดมสมบูรณ์มาก น้ำใสจนมีวัชพืชที่คนท้องถิ่นบอกว่า น้ำต้องสะอาดจริง ๆ ถึงจะมีสิ่งนี้ 

คุณพ่อ : ปีที่แล้วมีหิ่งห้อยด้วย

น้องเจน : ปีนี้ก็เยอะมาก นกเป็ดน้ำก็ขยายพันธุ์อยู่แถวรอบบ้านเรา สิ่งมีชีวิตกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง ถ้าเรากลับมาทำการเกษตรที่ฟื้นฟูทั้งธรรมชาติและระบบนิเวศรอบตัว

คุณพ่อ : แล้วสำนวนนี้ก็เป็นการเตือนใจว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ได้ แต่ขอให้ในน้ำมีปลา ในน้ำมีข้าว ทุกอย่างจะโอเค ทำให้เห็นว่าลึก ๆ แล้วในใจทุกคนการเกษตรเป็นสิ่งที่สำคัญ และผมอยากให้คนรุ่นใหม่เข้าใจความหมายของสำนวนนี้ด้วย

บทเรียนที่เราบอกคนอื่นได้ คือไม่สายเกินไปที่จะเรียกธรรมชาติให้กลับคืนมา แต่ไม่ใช่การอยู่เฉย ๆ นะ เราต้องร่วมมือกันและลงทุนทำสิ่งนั้นให้เกิดขึ้น

TikTok : น้องเจนทำฟาร์ม (@j_nniferr)

Writer

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

นักอยากเขียน บ้านอยู่ชานเมือง ไม่ชอบชื่อเล่นที่แม่ตั้งให้ มีคติประจำใจว่าอย่าเชื่ออะไรจนกว่าหมอบีจะทัก รักการดูหนังและเล่นกับแมว

Photographer

Avatar

ธชา ปรางค์นวรัตน์

ทำงานโปรดักชัน รับงานถ่ายภาพนิ่งภาพเคลื่อนไหว และทำเพจท่องเที่ยว เลาะ และ The Journey