“ทีมงานบอกให้พี่เต้ยพูดแค่ 4 งานเท่านั้น แล้วพี่เล็กจะพูดอีก 9 งานนะ จะได้รวมกันเป็น 49” เสียงหัวเราะอย่างอบอุ่นดังขึ้นมาพร้อมกันทั่วห้อง “ต้องขอโทษด้วยนะ บริษัท A49 เราเป็นโรคบ้าตัวเลข”

ถึงแม้จะมีหลายคนใส่หน้ากากอนามัยปิดบังใบหน้าอยู่ แต่ผมมั่นใจว่าทุกคนที่ตั้งใจฟังเสวนาบนเวทีกำลังอมยิ้มตามอยู่แน่ ๆ 

ผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น ในงานครบรอบ 40 ปีที่ บริษัท สถาปนิก 49 จำกัด (A49) คนที่กำลังพูดอยู่บนเวที คือสถาปนิกระดับประเทศที่หลายคนเรียกกันว่า พี่เต้ย ซึ่งเป็นชื่อเล่นของ นิธิ สถาปิตานนท์ ผู้ก่อตั้ง A49 บริษัทสถาปนิกที่ใหญ่ที่สุดในไทย สถาปนิกผู้ขับเคลื่อนวงการสถาปัตยกรรมร่วมสมัย และศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม (แบบร่วมสมัย) ประจำ พ.ศ. 2544

4 ความเชื่อที่สั่งสมมา 40 ปีของ นิธิ สถาปิตานนท์ แห่ง A49 บริษัทสถาปนิกใหญ่ที่สุดในไทย

บรรยากาศในงานอบอวลไปด้วยความคิดถึง ผู้คนมากมายทักทายกันอย่างใกล้ชิด กะระยะห่างด้วยสายตาไม่น่าเกิน 4 เมตร ผมกับพี่เต้ยนั่งอยู่ห่างกันเพียงไม่กี่ก้าว คนที่เกี่ยวข้องกับบริษัท A49 คงเป็นโรคบ้าตัวเลขจริง ๆ
ผมเองก็เชื่อแบบนั้น 

ยืนยันได้ในฐานะอดีตเด็กฝึกงาน 

พี่เต้ยจะขึ้นพูดบนเวทีในหัวข้อ ‘ความเชื่อ’ ผ่านผลงานที่เคยทำมา เมื่อตัดสินใจเชื่อในสิ่งที่ทำ ก็ลงมือทำในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นผลงานออกแบบ งานวาดภาพลายเส้น งานเขียนหนังสือ ก็ล้วนเกี่ยวข้องอยู่กับวงการสถาปัตยกรรมที่หยั่งรากแก้วฝังลึกลงอย่างมั่นคง แผ่กิ่งใบกว้างขวางให้ร่มเงากับคนรุ่นใหม่ 

ตลอดระยะเวลา 40 ปี ความเชื่อแบบไหนกันนะที่คอยเปลี่ยนพลังจินตนาการให้กลายเป็นผลงานจริง 

4 ความเชื่อที่สั่งสมมา 40 ปีของ นิธิ สถาปิตานนท์ แห่ง A49 บริษัทสถาปนิกใหญ่ที่สุดในไทย
#01

ความเชื่อในไทยโมเดิร์น

กระทรวงการต่างประเทศ

ริมถนนศรีอยุธยาติดกับพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พื้นที่ติดกับพระราชวังซึ่งมีกฎหมายควบคุมความสูงอาคารให้สูงได้ไม่เกิน 23 เมตร มีอาคารไทยประยุกต์ร่วมสมัย โมเดิร์นเรียบง่าย สมมาตรสวยสง่าแผ่กว้างออกไปเต็มพื้นที่ ด้านบนหลังคากระจกขนาดใหญ่ทรงพีระมิดเพื่อดึงแสงธรรมชาติเข้ามายังคอร์ตภายใน มีป้ายชื่อขนาดใหญ่ว่า ‘กระทรวงการต่างประเทศ’

“เป็นโปรเจกต์เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว ในยุคนั้นโอกาสที่จะได้ทำอาคารราชการขนาดใหญ่นี่มีน้อยนิด ทำให้สถาปนิกไทยในวันนั้นต่างก็ตื่นเต้นกันมาก มีคนส่งแบบเข้าไปประกวด 30 กว่าเจ้า ทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ การตัดสินรอบแรกคัดเหลือแค่ 6 บริษัทเข้ารอบสอง” 

โจทย์ที่ทางกระทรวงมอบหมายระบุเอาไว้ชัดเจน อยากเน้นให้อาคารหลังนี้รองรับการประชุมในระดับนานาชาติได้จริง มีประสิทธิภาพ พื้นที่ใช้งานได้หลากหลาย ยืดหยุ่นแบบมัลติฟังก์ชัน ระบบปรับอากาศทั่วถึงทุกซอกมุม ระบบเสียงกระจายตัวทุกที่นั่ง ในมาตรฐานเดียวกับโรงแรมหรู เหมาะจะเป็นหน้าเป็นตาของประเทศไทยได้ 

“กระทรวงการต่างประเทศควรมีหน้าตาเป็นยังไง” คุณนิธิตั้งคำถาม

“ถ้าดูแค่ฟังก์ชัน จริง ๆ แล้วมันคือออฟฟิศทั่วไปที่ต้องรองรับแขกสำคัญระดับประเทศ อาคันตุกะ ผู้นำระดับประเทศที่จะเข้ามาเยี่ยมเยียนได้ในหลาย ๆ โอกาส มีสถาปนิกหลายรายที่ออกแบบหน้าตาแบบไทยเลย หลังคาทรงไทย ตัวแทนความเป็นไทย ออกมาเป็นศาลากลางที่ดูไทยมาก ๆ”

4 ความเชื่อที่สั่งสมมา 40 ปีของ นิธิ สถาปิตานนท์ แห่ง A49 บริษัทสถาปนิกใหญ่ที่สุดในไทย

ไม่ว่าจะเป็นเมื่อ 30 ปีก่อนหรือวันนี้ อาคารของสถานที่ราชการที่หน้าตาดูไทยมาก ๆ หลังคาทรงไทย ใช้ลายไทย ก็ยังมีให้เห็นพบเห็นอยู่เรื่อย ๆ นักออกแบบหลายคนที่เดาใจกรรมการตัดสินในฝั่งราชการ เลือกที่จะเชื่อว่าความเป็นไทยแบบตรงไปตรงมาจะเอาชนะการแข่งขันได้

“ผมก็มานั่งนึกต่อว่า เราจะตีโจทย์งานนี้ยังไง อยากให้อาคารมีความเป็นไทยโมเดิร์นที่เรียบง่าย”

ในวันที่ยังเป็นรุ่นเล็กในวงการออกแบบ บริษัท A49 ก็ยังไม่เป็นที่รู้จัก แต่ต้องทำงานใหญ่ระดับประเทศ คุณนิธิเลือกที่จะเชื่อมั่นในแง่มุมที่ต่างออกไป

เขาจะทำให้ความเป็นไทยรองรับชาวต่างชาติได้ และออกแบบออฟฟิศทำงานที่มีบรรยากาศแบบโรงแรม 

แล้วเส้นทางที่จะทำให้ชนะการประกวดแบบก็เริ่มเผยตัวออกมาทีละเล็กละน้อย 

“เรานึกถึงบรรยากาศของคอร์ตหน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทที่มีความเป็นไทย ดูโอ่โถง เป็นทางการ ตัวผมเองมีโอกาสเยือนกระทรวงการต่างประเทศของฝรั่งเศส อังกฤษ เขาจะมีคอร์ตข้างในอาคาร กั้นพื้นที่เอาไว้เป็นส่วนตัวไว้รองรับแขกจากต่างประเทศ เลยออกแบบให้อาคารล้อมคอร์ตตรงกลางเอาไว้ มีต้นไม้ มีน้ำพุอยู่ตรงกลางคอร์ต”

ความเป็นไทยของงานออกแบบอาคารกระทรวงต่างประเทศ ใช้การวางผังเหมือนวัดวาอารามสมัยโบราณ พระราชวังไทยที่ต้องมีแนวแกนอาคารสัมพันธ์กับทิศ ซึ่งอาคารหลังนี้รับเอารูปแบบที่เรียบง่ายมากขึ้นมาปรับใช้ หลังคาทรงจั่วที่เน้นวัสดุสมัยใหม่ ระเบียงแก้ว ช่องประตู หน้าต่าง และโคมระย้าที่สื่อถึงความเป็นไทย 

4 ความเชื่อที่สั่งสมมา 40 ปีของ นิธิ สถาปิตานนท์ แห่ง A49 บริษัทสถาปนิกใหญ่ที่สุดในไทย
#02

ความเชื่อในไทยล้านนา

บ้านริมใต้

ถ้ามีใครสักคนที่ทุ่มเททำงานชิ้นเดิม คอยพัฒนาผลงานอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 10 ปีได้

ต้องเป็นคนที่มีความเชื่อมั่นอยู่อย่างมหาศาล 

มีวันไหนที่เริ่มเหือดแห้งไปบ้าง ก็จะหมั่นเติมลงไปให้เต็มความจุอยู่เสมอ 

และเขาคนนั้นคือพี่เต้ย กับผลงานบ้านริมใต้ 

“มีลูกค้าอยากให้ทำหมู่บ้านสเปนิช ผมก็ถามเขาว่าทำไมต้องสเปนิช ทำเป็นสไตล์ล้านนา สไตล์ทางเหนือแทนได้ไหม เขาตอบกลับว่าไม่ได้หรอกคุณนิธิ ทำไปก็ขายไม่ออก คนที่มาซื้อคือคนกรุงเทพฯ ที่อยากมาอยู่เชียงใหม่ อยากมาอยู่เมืองหนาว อยากอยู่ในบ้านที่มีปล่องไฟแบบยุโรป ความเชื่อของคนซื้อเป็นอย่างนั้น

“ถ้าจะให้ผมทำหมู่บ้านสเปนิชที่เชียงใหม่ทั้งหมู่บ้านแบบนี้ ผมขอไม่ทำ ” 

โปรเจกต์นี้เริ่มต้นที่การตั้งถามและหาคำตอบด้วยตัวเอง 

ถ้าเราจะทำโครงการอะไรที่เชียงใหม่ ทำไมต้องเป็นสไตล์ยุโรป อังกฤษ โรมัน ตะวันตก แล้วสไตล์เชียงใหม่ไม่ได้รับความสนใจ มันจะขายไม่ได้จริงเหรอ

“จากนั้นอีกหลายปีก็ยังคงใฝ่ฝันมาตลอดว่า ถ้าเราได้ทำหมู่บ้านล้านนาที่เชียงใหม่จริง ๆ จะขายไม่ออกจริงเหรอ จนกระทั่งวันหนึ่งได้ไปเจอประกาศขายที่ดิน มีเนินนิดหน่อย มีทุ่งนาสวยมาก ฉากหลังเห็นดอยสุเทพ ขนาดที่ดินประมาณ 99 ไร่ ผมก็ชวนลูกค้าที่สนิทกัน 2 – 3 ราย มาลงเงินกันซื้อที่ดินแล้วพัฒนาเป็นหมู่บ้านโมเดิร์นเชียงใหม่ล้านนาด้วยกัน

“คำว่าโมเดิร์นเชียงใหม่ล้านนาของผม ไม่ใช่มีแค่ทรงกาแลอย่างเดียว เป็นบัญญัติของเทศบาลเมืองเชียงใหม่ว่า ถ้าใครจะสร้างอาคารอะไรก็ตามแต่ ทุกหลังต้องมีหลังคากาแลติดอยู่ที่อาคารด้วย”

4 ความเชื่อที่สั่งสมมา 40 ปีของ นิธิ สถาปิตานนท์ แห่ง A49 บริษัทสถาปนิกใหญ่ที่สุดในไทย

พอเริ่มสนใจในบุคลิกของบ้านเรือนพื้นถิ่นที่เชียงใหม่ ก็ต้องออกสำรวจ เรียนรู้ ทำความคุ้นเคยด้วยตัวเอง เพื่อนำมาตีความสร้างสรรค์สิ่งใหม่ นำเสนอแนวทางการใช้วัสดุ รูปทรงของบ้านที่กลมกลืนกับท้องถิ่น 

“เราขับรถไปในหมู่บ้านชนบทที่เชียงใหม่ เราเจอหลังคาหน้าจั่ว หลังคาซ้อนทับกัน บ้านชั้นเดียว ชั้นครึ่ง 2 ชั้น ผมก็เอาเรื่องที่เห็นพวกนี้มาทดลองเขียนแบบต่อได้ 10 แบบ เป็นแบบบ้านหลังคาสไตล์ทางเหนือ แต่ข้างในโมเดิร์น คนสมัยใหม่อยู่ได้ นอนสบาย มีห้องนอน ห้องครัวเหมือนบ้านยุคใหม่ หลังคายื่นไปกันฝนได้ดี

“คนที่สนใจก็เริ่มเห็นว่าบ้านน่าอยู่ มหาลัยวิทยาลัยเชียงใหม่ก็ให้นักศึกษามาดูนะครับ มีอันหนึ่งที่ทำให้หมู่บ้านเป็นที่รู้จักมากขึ้น คือได้ลงนิตยสาร Architectural Digest ของสหรัฐฯ เพราะเป็นบ้านในชนบทที่มีคาแรกเตอร์น่าสนใจ”

บ้านริมใต้ได้ส่งแรงกระเพื่อมไปถึงแนวคิดการทำบ้านพักตากอากาศยุคใหม่ในเชียงใหม่ เป็นโครงการแรกที่เชื่อในความเป็นไทยพื้นถิ่นสมัยใหม่ แทนที่จะยึดถือรูปแบบบ้านยุโรปซึ่งนิยมกันมากในวันนั้น

4 ความเชื่อที่สั่งสมมา 40 ปีของ นิธิ สถาปิตานนท์ แห่ง A49 บริษัทสถาปนิกใหญ่ที่สุดในไทย
#03

ความเชื่อในไทยประเพณี

อาคารนวมภูมินทร์ วชิราวุธวิทยาลัย

“ผมก็เป็นนักเรียนวชิราวุธฯ ที่เคยชินกับสถาปัตยกรรมแบบไทยแท้-ไทยประเพณีนะครับ โรงเรียนนี้อาจเป็นโรงเรียนเดียวในโลกที่มีอาคารแบบไทยประเพณี ตามพระราชปณิธานของรัชกาลที่ 6” 

ในโอกาสฉลองครบรอบ 100 ปีวชิราวุธวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2553 เป็นที่มาของโครงการก่อสร้างอาคารหอประชุมหลังใหม่เพื่อใช้จัดกิจกรรมต่าง ๆ ของโรงเรียน ทั้งการจัดประชุมหลักเกือบพันคน จัดแสดงละครของนักเรียนเป็นประจำ จัดแสดงดนตรีที่ได้มาตรฐานการกระจายเสียงถึงทุกที่นั่ง ไปจนถึงสถานที่สวดมนต์ประจำวันของนักเรียนทั้งโรงเรียน

“ผมเสียดายมากเลยที่โรงเรียนไม่ได้รักษาสถาปัตยกรรมไทยประเพณีต่อเนื่องมา ผมเลยขอให้เป็นนโยบายของโรงเรียนเลยว่าอาคารที่เกิดขึ้นหลังจากนี้อยากให้เป็นไทยแท้เท่านั้น ตามพระราชปณิธานของรัชกาลที่ 6 สืบเนื่องไป”

ต่อมาคือความท้าทายใหม่ในการสานต่อประวัติศาสตร์เดิม

อาคารหอประชุมหลังเดิมเป็นอาคารที่ได้รับการขึ้นทะเบียนอาคารอนุรักษ์ อาคารประวัติศาสตร์ของชาติ เป็นอาคารอนุรักษ์เก่าแก่ที่ใช้งานมานานมากกว่า 100 ปีแล้ว 

ในขณะที่การใช้งานจริงเริ่มส่งสัญญาณเตือน สภาพอาคารเริ่มไม่พร้อมรองรับนักเรียนที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี จาก 400 เพิ่มเป็น 900 คน ขนาดหอประชุมเดิมดูคับแคบลงถนัดตา ห้องประชุมไม่มีแอร์ แต่ละห้องถูกออกแบบเอาไว้ใช้งานได้ในกิจกรรมบางอย่างเท่านั้น โครงสร้างของอาคารเก่าแก่เป็นโครงสร้างไม้สัก ซึ่งไม่เหมาะกับการใช้งานหนัก โรงเรียนต้องบำรุงรักษาเนื้อไม้สักเอาไว้ให้แข็งแรงอยู่ตลอด

“ถือเป็นความภาคภูมิใจที่ได้ทำอาคารแบบไทยแท้ในโรงเรียนเก่าของเรา ซึ่งก็ไม่เคยทำมาก่อน แต่ว่าสถาปนิกอย่างเรา ถ้าคิดจะทำแล้ว ก็ต้องหาทางทำให้ได้ ตั้งใจและพยายาม หาคนที่จบสถาปัตยกรรมไทยประเพณีจริง ๆ มาช่วย ทำด้วยดีเทลที่เป็นไทยแท้ ๆ เลย มันก็ทำได้”

อาคารนวมภูมินทร์ เป็นอาคารอเนกประสงค์คอนกรีตเสริมเหล็กทรงไทยประเพณี 3 ชั้น ออกแบบสร้างขึ้นมาใหม่ให้กลมกลืนกับอาคารเก่าโดยรอบ ผสมวัสดุโบราณให้ผสานเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างลงตัว อัดแน่นไปด้วยรายละเอียดการตกแต่งประณีตสวยงาม พื้นที่ภายในอาคารก็รองรับกิจกรรมให้ยืดหยุ่นมากขึ้น ปรับเปลี่ยนไปตามฟังก์ชันแต่ละเทอมของโรงเรียนในยุคสมัยใหม่ 

เรายังคงรักษาพื้นที่ให้กับประวัติศาสตร์เดิมได้

ถ้าคุณยังเชื่อ และลงมือทำให้มากพอ 

4 ความเชื่อที่สั่งสมมา 40 ปีของ นิธิ สถาปิตานนท์ แห่ง A49 บริษัทสถาปนิกใหญ่ที่สุดในไทย
#04

ความเชื่อในศรัทธาของตัวเอง 

สถานปฏิบัติธรรม ศศิภาวัน

“ผมทำโครงการนี้ด้วยความสุข ด้วยความศรัทธา

“งานสถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้นที่นี่ เป็นงานสถาปัตยกรรมที่มาจากใจผู้ที่มาร่วมงานทุกคน” 

จากหนังสือ ด้วยแรงศรัทธา ผู้แต่ง นิธิ สถาปิตานนท์ 

นี่เป็นคำพูดทิ้งท้ายที่ทำให้ผมรับรู้ถึงความสุขที่ได้ทำงานชิ้นนี้อย่างชัดเจน แต่ดูเหมือนจุดเริ่มต้นของเส้นทางความสุข ความศรัทธา จะไม่ได้ราบรื่นอย่างที่หลายคนกำลังคิดอยู่ 

“โปรเจกต์พิเศษที่เสร็จไปเมื่อ 2 – 3 ปีที่ผ่านมานี้ ผมมีโอกาสได้ทำงานกับ คุณหญิงศศิมา ศรีวิกรม์ นักธุรกิจมหาเศรษฐีระดับประเทศ ท่านอายุ 85 แล้ว ท่านมีแนวคิดอยากจะทำสถานปฏิบัติธรรมสักแห่งหนึ่งในช่วงบั้นปลายของชีวิต

4 ความเชื่อที่สั่งสมมา 40 ปีของ นิธิ สถาปิตานนท์ แห่ง A49 บริษัทสถาปนิกใหญ่ที่สุดในไทย

“วันหนึ่งก็มีคนโทรศัพท์มาว่า คุณหญิงอยากให้ผมทำสถานปฏิบัติธรรมให้ ผมบอกไปทันทีเลยว่า ผมขอปฏิเสธไม่ทำนะ ตัวผมเองแก่แล้ว 72 แล้ว ถ้าผมทำก็ต้องเดินทางไปดูงานที่เขาใหญ่ ใช้เวลาดูแลงานอีกเป็นปี

“ตอบปฏิเสธไป 2 ครั้ง จนครั้งที่ 3 คุณหญิงโทรมาเองว่าขอนัดเจอกันเพื่อเล่าความตั้งใจให้ฟังได้มั้ย ถ้าคุยกันแล้วไม่ถูกใจ ไม่อยากทำก็จะไม่ว่าอะไร 

“จนถึงวันที่ได้นัดเจอกัน คุณหญิงเล่าให้ฟังว่าท่านมีความฝันอยากทำสถานปฏิบัติธรรมเป็นผลงานชิ้นสุดท้ายในชีวิต เพื่อให้ประชาชนได้เข้ามาใช้งานและเป็นประโยชน์กับสังคม ไม่ใช่เพื่อการค้า อยากให้คุณนิธิเป็นคนทำให้เท่านั้น

“หลังจากฟังแล้วก็กลับมาคิดคำตอบอยู่ 2 – 3 วัน เลยยื่นเงื่อนไขให้คุณหญิง 2 – 3 ข้อ 

“ข้อแรก ขอคิดค่าใช้จ่ายตามมาตรฐานของ A49

“ข้อที่ 2 ถ้าทำแบบแรกไปให้ดูแล้วไม่ชอบ ไม่ใช่แบบที่ฝันไว้ จะขอถอนตัวทันที ไม่คิดเงินเลย ไม่รับแก้แบบแรก

“ข้อที่ 3 ถ้าอนุมัติทำงานเขียนแบบไปแล้ว จะก่อสร้างแล้ว ถ้าแก้แบบเกิน 3 ครั้ง จะขอถอนตัวอีกเหมือนกัน”

คุณหญิงยอมรับทั้ง 3 ข้อ ให้ความเคารพและเชื่อมั่นในนักออกแบบมาก ๆ ทำให้งานออกแบบสถานปฏิบัติธรรม ‘ศศิภาวัน’ มีการแก้ไขแบบน้อยมาก เรียกว่าแทบไม่ได้แก้เลย ใช้เวลาออกแบบและก่อสร้างกินเวลามากว่า 4 ปี เสร็จสมบูรณ์ปลาย พ.ศ. 2564 เป็นการทำงานร่วมกับผู้คนมากความสามารถ มากมายหลายแขนง ทั้งสถาปนิก วิศวกร นักออกแบบตกแต่งภายใน นักออกแบบทางแลนด์สเคป และศิลปินประติมากรรมและศิลปินจิตรกรรมฝาผนังอีกหลายแขนง

งานสถาปัตยกรรมแบบไทยสมัยใหม่ที่มีจิตวิญญาณความเป็นไทยแฝงเอาไว้ ตั้งใจออกแบบบรรยากาศโดยรวมให้รู้สึกสงบจิตสงบใจ มีสติ มีกำลังใจสู้ชีวิตต่อไปได้

สถานปฏิบัติธรรมศศิภาวัน เริ่มต้นก่อสร้างขึ้นจากความศรัทธาของคุณหญิง ซึ่งต้องการสร้างพื้นที่ศึกษาธรรมะ ปฏิบัติศาสนกิจ เป็นศาสนสถานที่อยากเปิดโอกาสให้ประชาชนคนทั่วไปได้ซึมซับกับรสชาติธรรมะ ใกล้ชิดกับวัฒนธรรมความเป็นไทย เปิดโอกาสให้สถาปนิกได้ทำงานตามแนวที่ถนัด ตามความศรัทธาที่นักออกแบบอยากให้เป็น 

4 ความเชื่อที่สั่งสมมา 40 ปีของ นิธิ สถาปิตานนท์ แห่ง A49 บริษัทสถาปนิกใหญ่ที่สุดในไทย

เงื่อนไขทั้ง 3 ข้อของคุณนิธิทำให้ผมนึกถึงความเชื่อในศรัทธาของตัวเองว่ามันสำคัญยังไง 

การประกอบอาชีพนักออกแบบ ต้องมาพร้อมกับการตัดสินใจ

อะไรสวย ไม่สวย อะไรคุ้มค่า ไม่คุ้มค่า อะไรที่ใช่ อะไรที่ไม่ใช่ 

เพื่อจะได้ออกแบบสิ่งที่เราคิดว่าดีที่สุดแล้ว สำหรับคนที่ใช้งาน

ความเชื่อในตัวเอง เชื่อมั่นในสิ่งที่ทำว่าดีที่สุดแล้ว เป็นเรื่องสำคัญที่นักออกแบบต้องมีศรัทธาของตัวเองให้พอดี ไม่เยอะจนล้น ไม่งมงาย

คนทำเชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองทำ และทุกคนก็เชื่อมั่นในกันและกัน

4 ความเชื่อที่สั่งสมมา 40 ปีของ นิธิ สถาปิตานนท์ แห่ง A49 บริษัทสถาปนิกใหญ่ที่สุดในไทย

Writer

ประภวิษณ์ สิงขรอาจ

ประภวิษณ์ สิงขรอาจ

ใจดี สปอร์ต กทม. ชอบสีน้ำเงินเข้ม ที่ดูสว่าง

Photographer

Avatar

ณัฐวุฒิ เตจา

เกิดและโตที่ภาคอีสาน เรียนจบจากสาขาศิลปะการถ่ายภาพ สนใจเรื่องราวธรรมดาแต่ยั่งยืน ตอนนี้ถ่ายภาพเพื่อเข้าใจตนเอง ในอนาคตอยากทำเพื่อเข้าใจคนอื่นบ้าง