ในหนึ่งปีจะมีวันดีดีเสมอ
ต้นบ๊วยในสวนกำลังผลิดอกสีขาว กลิ่นหอมเชิญชวนผึ้งมาเก็บน้ำหวานกลับบ้าน ไม่ไกลออกไปมีฝูงนกมาดื่มกินน้ำหวานจากเกสรของดอกนางพญาเสือโคร่งที่ออกดอกสีชมพูเต็มต้น เป็นการเฉลิมฉลองปีใหม่ที่หวานหอมมากทีเดียว
ในความเป็นจริง ถึงแม้ชีวิตคลุกเคล้าสุขและทุกข์ปนเปอย่างไม่มีวันแยกออกจากกันได้ การรักษาชีวิตไว้ได้อีกขวบปี จึงมีเหตุผลมากพอที่เราจะฉลองกับตัวเองเบาๆ

ฉลองปีใหม่กับต้นไม้
เป็นวิถีปฏิบัติที่มีนาน เมื่อฤดูเก็บเกี่ยวเสร็จสิ้นลงจะมีพิธีขอบคุณธรรมชาติใต้ต้นไม้ ความพิเศษของวันนี้คือ นอกจากเราจะได้มาพบปะพูดคุยกันแล้ว การได้กินข้าวด้วยกันเป็นมื้อที่อร่อยที่สุดของปีสำหรับผมเลยทีเดียว
หลังจากครอบครัวทั้ง 24 ครอบครัวนำข้าวสารมารวมกัน แล้วนำไปหุงในหม้อเดียวกันเพื่อไปหมัก เมื่อครบกำหนดก็ได้เวลาต้มเหล้าเพื่อนำไปประกอบพิธี ในอดีตเมื่อชาวบ้านต้มเหล้าเวลามีคนภายนอกเข้าหมู่บ้าน นักต้มเหล้ามือสมัครเล่นแบกหม้อต้มเหล้าหนีกันจ้าละหวั่น แต่การต้มเหล้าแบบนี้ไม่ได้เป็นไปเพื่อขาย จึงได้รับการอนุโลมมากขึ้น

ว่ากันว่าสมัยก่อนอันไกลโพ้น มีหญิงงามที่สุดคนหนึ่ง เป็นที่กล่าวขานร่ำลือกันไปทั่วระแหง หนุ่มๆได้พบเห็นเข้าก็ตกหลุมรักได้อย่างง่ายดาย แต่เหมือนโชคชะตาเล่นตลก หญิงงามมีกลิ่นที่ทุกคนไม่อยากเข้าใกล้ ต่อให้อาบน้ำปะแป้งและแก้มน้องนางนั้นแดงระเรื่อกว่าใคร ก็ไม่มีทีท่าว่าจะมีชายใดมาชอบพอ จากวันเป็นเดือนและหลายปีผ่านไป หญิงงามก็แก่ชราและไม่ได้มีโอกาสได้มีคู่ชีวิตกระทั่งลาโลกไป แต่ก่อนที่เรื่องจะจบแบบเศร้าๆ นั้นเอง เธอได้อธิษฐานว่า ถ้าชาติหน้ามีจริง เธอขอเกิดมาเป็นสิ่งที่มีคนรักและชอบ คำอธิษฐานส่งเธอไปเกิดเป็น ซิ หรือ เหล้า จวบจบทุกวันนี้
คำอธิษฐานมีความแรงหลายดีกรี และแผ่ขยายไปทั่วทั้งดวงดาวดวงนี้ ไม่ว่าประเทศไหนก็มีวัฒนธรรมดื่มเหล้า ราวกับว่าพลังดึงดูดจากจิตวิญญาณของหญิงงามคนนั้นแรงกว่าแม่เหล็กทั้งโลกมากองรวมกันซะอีก
คนปกาเกอะญอมีกติกาในการดื่มเหล้าง่ายๆ ถ้าดื่มเหล้าในวงเพื่อนฝูง คือคนที่รินเหล้าต้องจิบก่อน จากนั้นจึงรินเหล้าและส่งให้กับคนที่อยู่ทางขวามือหรือส่งให้คนที่มีอายุมากที่สุดก่อน จากนั้นจึงทยอยรินแจกคนที่เหลือรอบวง เมื่อจอกแรกหมด ทุกคนก็จะได้รับจอกที่ 2 ซึ่งจอกนี้เอง เราต้องกินและส่งคืนคนที่รินเหล้าให้เรา และแบ่งให้เพื่อนรอบวงจิบแทนการคารวะมิตรภาพ
เราจะได้รับเหล้าคนละ 2 จอกเป็นอย่างน้อย จอกแรกเป็นพื้นที่ของตัวเอง จอกที่ 2 และจอกถัดไปเป็นพื้นที่ระหว่างกันและกัน

ในอดีต ผู้เฒ่ามีชั้นเชิงการดื่มราวกับจอมยุทธ์ พวกเขานั่งดื่มล้อมวงพูดคุย ถ้าเรื่องราวไม่ใหญ่โตถึงขั้นต้องเอาสองมือวาด กวาดไปมาเพื่ออธิบาย เหล่าจอมยุทธ์จะกุมแก้วที่มีจิตวิญญาณของหญิงงามไว้ราวกับเป็นดาบคู่กาย ไม่มีใครเมาเละเทะ เพราะบทสนทนานั้นไหลลื่นราวกับบทเพลงที่ถูกถักทอเข้าไว้ด้วยกันในหมู่มิตร ยากที่จะมีใครอยากเมา นั่นคือเรื่องราวจริงๆ ที่ยังคงเกิดขึ้น แต่ความเข้มข้นงดงามก็ลดน้อยถอยลงไปมาก
มีการรินเหล้าอีกแบบหนึ่ง ในพิธีกรรม เหล้าปากขวดนั้นจะถูกรดรินลงแก้วก่อนผู้เฒ่ากล่าวบทสวด แล้วปล่อยให้หยดเหล้าบางส่วนหยดลงดิน เป็นการบอกกล่าวต่อสิ่งที่คอยดูแลปกป้องเราตามความเชื่อ
จากนั้นเหล้าจะได้รับการแบ่งปันกันในพิธี เมื่อเหล้าเดินทางมาถึงก้นขวด การหยดเหล้าก็เกิดขึ้นอีกครั้งเพื่อขอบคุณผู้ดูแลเราในทุกๆ วัน รวมถึงการกล่าวขอบคุณภูเขา แม่น้ำต่างๆ ที่มีชื่อของภูเขา ซอ สี่ โข่ (เชื่อว่าตั้งอยู่บนเทือกเขาหิมาลัย) ตลอดจนสิ่งมีชีวิตที่ถูกพรากชีวิตโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจในฤดูเพาะปลูกและปีที่ผ่านไป
ที่ใต้ต้นไม้ หลังจากผู้เฒ่าจุดเทียน อาหารในกระทงใบไม้ถูกยกไปวางบนกระท่อมหลังเล็ก ผู้เฒ่ารินเหล้าบอกกล่าวต่อสิ่งสูงสุด การพบปะกันในเครือญาติที่ใหญ่ที่สุดในรอบปีให้เวลากับทุกคนได้พูดคุยใช้เวลาด้วยกัน ส่วนเด็กๆ นั้นบ้างปีนต้นไม้ บ้างเดินเล่นบนหินในลำธาร บ้างตามองที่หน้าจอ ส่วนหลานตัวเล็กที่ยังซนไม่ได้อยู่ในอ้อมอกของแม่
อาหารมื้อเที่ยงเป็นแกงไก่ที่มาจากทุกบ้านพร้อมแล้ว นั่งล้อมวงกินกันใต้ต้นไม้ เป็นอาหารมื้อที่น่าจดจำที่สุดของปี มีข้าวใหม่ของปีล่าสุดที่เกิดจากหยาดเหงื่อแรงกายของของทุกคนวางอยู่ตรงหน้าให้ทุกคนได้กินและอิ่มไปพร้อมกัน ต้นไม้คุณปู่ต้องรออีกทีปีหน้า ถึงจะได้เจอกับพวกเราอย่างพร้อมหน้าพร้อมอีกครั้ง


ปีใหม่แล้วได้เวลาส่งนกกลับขึ้นฟ้า
โถ่บีฃ่า นกที่ลงมาจากฟ้าแปลงกายเป็น ‘พีหมื่อแม’ คุณยายแก่ๆ คนหนึ่ง และทำทีว่ากำลังติดอยู่ในดงหนาม ร้องขอความช่วยเหลือจากผู้คนที่สัญจรไปมา คนแล้วคนเล่าเดินจากไปอย่างไม่สนใจใยดี กระทั่ง ‘จอ โพ แฆ’ เด็กกำพร้าเดินผ่านมา หญิงชราร้องขอความช่วยเหลือด้วยท่าทีที่น่าสงสาร เด็กกำพร้าเห็นเข้าจึงเข้าไปช่วยอย่างไม่รีรอ หนุ่มน้อยใช้มีดเล็กๆ สมบัติเพียงชิ้นเดียวที่เขามีค่อยๆ ตัดรื้อกิ่งไม้ หนาม ทีละนิดๆ เป็นเวลานาน ในที่สุดเด็กกำพร้าก็ช่วยคุณยายออกจากดงหนามสำเร็จ
เด็กกำพร้าพาคุณยายกลับไปที่กระท่อมหลังเล็กในป่าอันสงบของเขา เมื่อเห็นว่าหลานกำพร้ามีข้าวไม่พอกิน ยายจึงมอบเมล็ดข้าวให้เด็กกำพร้านำไปหว่านในไร่เล็กๆ ใกล้กระท่อม เมื่อเวลาผ่านไป ไร่ข้าวของเด็กกำพร้าเก็บเกี่ยวได้ข้าวจนเต็มยุ้ง เมื่อฤดูเก็บเกี่ยวเสร็จสิ้นลง ก็ได้เวลาที่คุณยายต้องกลับสวรรค์ จนกว่าฤดูทำไร่มาถึงอีกครั้งยายจึงจะกลับลงมา ยายเด็ดดอกหงอนไก่ทัดหูหลานรักก่อนจะกลับขึ้นฟ้าไป
ทุกวันนี้ยังมีชาวปกาเกอะญอที่ยังรักษารักษาสายสัมพันธ์ระหว่างพวกเขาและโถบีฃ่าไว้ได้อยู่ ทุกปีหลังฤดูเก็บเกี่ยว พวกเขาจะทำพิธีส่งนกกลับขึ้นฟ้า มีการหุงข้าวใหม่กินกับพืชผักที่มีในไร่ในสวน วัตถุดิบในหม้อบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณของชุมชนนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี

ดอกดาวเรืองหรือดอกหงอนไก่ถูกนำมาทัดหูในวันพิธี เพื่อย้ำความสัมพันธ์ของมนุษย์และธรรมชาติ และระลึกถึงนกตัวนั้นที่ลงมาแปลงกายเป็นคุณยายอวยพรให้เราได้มีข้าวกิน โถ่บีฃ่าจึงเป็นตัวแทนของข้าว คือความรักความเมตตาที่มอบชีวิตให้เรา มันจึงไม่แปลกถ้าข้าวปลาจะเป็นของจริงตามที่สุภาษิตไทยกล่าวไว้ เพราะมันชัดเจนมากในเวลานี้
การขอบคุณธรรมชาติจึงเป็นการนอบน้อมต่อธรรมชาติ และเราทุกคนในชีวิตจริงไม่ต่างจากเด็กกำพร้าในนิทาน เราต้องพึ่งพาความรักความเมตตาจากคนรอบข้าง สิ่งแวดล้อมที่ดี จากฟ้าฝนที่เป็นใจต่อการเพาะปลูก เพื่อที่เราจะได้มีอาหารประทังชีวิต
ไม่จำเป็นต้องมีพิธีรีตองอะไร การกินให้พอประมาณ การจับจ่ายซื้อของ การเดินทางเท่าที่จำเป็น หรือลดการใช้ทรัพยากร การใช้สิ่งของที่เรามีอยู่ให้คุ้มค่าที่สุด และที่สำคัญการแบ่งปันต่อกันและจะเป็นพิธีกรรมที่ดีต่อพวกเรามากมาย
เราสามารถทำได้ทันทีและเดี๋ยวนี้เลย
