ตั้งอยู่ในอาคารสีเหลืองสดตรงข้ามวัดพันแหวน ไม่ไกลจากตลาดประตูเชียงใหม่ ในย่านคูเมืองเชียงใหม่ NHD ที่มีชื่อเต็มว่า ‘Never hate drawing’ เป็นทั้งสตูดิโอ แกลเลอรีแสดงผลงาน และร้านจำหน่ายงานศิลปะและของที่ระลึกของ แก๊ง-อนุกูล เหมาลา 

นอกเสียจากว่าคุณเป็นนักอ่านที่ติดตามผลงานเรื่องสั้นของนักเขียนไทย ชื่อ อนุกูล เหมาลา ก็อาจไม่เป็นที่คุ้นหูเท่าไหร่นัก แต่ถ้าบอกว่าเขาคือ Nokhook Design (นกฮูกดีไซน์) คนเชียงใหม่ที่สนใจงานกราฟิกดีไซน์และภาพประกอบคงจะนึกภาพชัด

ใช่ ย้อนกลับไปเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ชื่อนี้ถือเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกที่ทางของนักวาดเชียงใหม่ให้เป็นมากกว่าคนออกแบบหรือตบแต่งสื่อโฆษณา หากมีที่ยืนในแกลเลอรีและในสายตาของนักสะสมเช่นเดียวกับศิลปิน

เริ่มจากก่อตั้งแบรนด์ Nokhook Design ที่นำผลงาน Illustration ของตัวเองไปผลิตเป็นสินค้าที่ระลึก ตามมาด้วยการรวมกลุ่มนักวาดและนักออกแบบทำหนังสือทำมือ (Zine) และอีบุ๊ก (E-book) เพื่อเป็นช่องทางเผยแพร่ผลงานไปพร้อมกับนำเสนอแง่มุมอันหลากหลายเกี่ยวกับเมืองเชียงใหม่ ไม่นานจากนั้นเขาก็ชวนศิลปินชื่อดังนับสิบมาจับคู่ทำนิทรรศการร่วมกับคนท้องถิ่น ก่อนจะจัดงานเทศกาลที่รวบรวมผลงานของนักวาดภาพประกอบทั่วภาคเหนือจัดแสดงในศูนย์การค้า ซึ่งจนถึงปัจจุบันยังไม่มีงานไหนจะจัดใหญ่และครบได้เท่า 

เหล่านี้เป็นเพียงบางส่วนที่แก๊งริเริ่มและก่อร่างสร้างพื้นที่ให้กับนักสร้างสรรค์ท้องถิ่นรุ่นใหม่ไว้ อย่างไรก็ดี หลังจากตามภรรยาที่เดินทางไปเรียนปริญญาเอกที่อังกฤษ แก๊งกลับมาเชียงใหม่โดยโฟกัสไปที่การทำสตูดิโอและโชว์รูมที่รีโนเวตใหม่ของเขาเป็นหลัก – NHD Studio พื้นที่ที่รวบรวมและจัดจำหน่ายผลงานอันหลากหลาย ตั้งแต่จิตรกรรม งานปั้น โปสต์การ์ด คุกกี้ ไปจนถึงพรมปูพื้นของเขาเอาไว้ 

“NHD ตอนแรกมาจาก Nokhook Design ที่เราเริ่มทำตอนอายุ 20 กว่า ๆ นี่แหละ แต่พอเรากลับมาเชียงใหม่ และตั้งใจจะทำร้านใหม่ เลยอยากรีแบรนด์ให้เป็นทางการขึ้น จึงมาคิดว่างานทุกชิ้นของเรา ไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นสื่อแบบไหน ก็เริ่มต้นมาจากการวาดรูป เราไม่เคยเบื่อการวาดรูปเลย ชื่อ Never hate drawing จึงผุดขึ้นมา” แก๊งเล่า

พร้อมไปกับการเชื้อชวนให้ผู้อ่านมาชมผลงานสไตล์ Doodle ที่บอกเล่าถึงเสน่ห์ของเมืองเชียงใหม่ สรรพสัตว์ในตำนานสุดคิวต์ ไปจนถึงผลงานที่สะท้อนความเป็นจริงของเมืองอย่างปัญหาหมอกควันหรือไฟป่า ฯลฯ คอลัมน์ Share Location ชิ้นนี้จึงถือโอกาสชวนแก๊งพูดคุยถึงเส้นทางการทำงานของเขา และความสนุกในการเป็นศิลปินนักวาดที่รักในการบอกเล่าความเป็นไปของเมืองเชียงใหม่

1

Nokhook Design

แก๊งทำงานในชื่อนกฮูกดีไซน์ตั้งแต่ปี 2007 โดยเริ่มจากการวาดคาแรกเตอร์นกฮูกและอื่น ๆ นำไปสกรีนลงบนเสื้อยืดและของที่ระลึกวางขายบนถนนคนเดินวันอาทิตย์ แม้ผลตอบรับค่อนข้างดี ถึงขนาดมีพ่อค้ารายอื่นลอกเลียนงานของเขาไปทำขาย หากขายไปได้ไม่กี่สัปดาห์ เจ้าหน้าที่ที่บริหารจัดการตลาดก็มีความคลางแคลงในสินค้าของเขา เพราะมองว่ามันไม่ ‘คราฟต์’ และ ‘เชียงใหม่’ พอ

“ตอนนั้นถนนคนเดินเขาจะขายแต่ของที่ระลึกที่เป็นสินค้าทำมือ เจ้าหน้าที่เขามองว่าพวกเสื้อยืดสกรีนลายหรือโปสต์การ์ดต่าง ๆ ของเราเป็นงานที่ทำจากคอมพิวเตอร์ และก็ดูไม่ ‘ล้านนา’ เลย จึงไม่มีที่ขายให้ประจำ และมักถูกจัดไปไว้โซนที่อยู่ไกล ๆ พร้อมกับมีเงื่อนไขในการตั้งร้านที่ค่อนข้างยุ่งยาก เราก็ไม่รู้จะว่ายังไง ทั้งที่งานก็พูดเรื่องความเป็นท้องถิ่น เพียงแต่ไม่ได้มีลายเส้นแบบประเพณี เลยออกมาหาที่ขายของเราเองดีกว่า ซึ่งได้หน้าบ้านของครอบครัวแฟนที่ว่างอยู่และอยู่ในย่านเมืองเก่าพอดี จึงเปิดร้าน Nookhook Design มาตั้งแต่นั้น” เขาย้อนความถึงจุดเริ่มต้นของการทำร้าน

แก๊งเป็นคนเชียงใหม่มาตั้งแต่กำเนิด เรียนจบด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ ในช่วงระหว่างเรียน เขากลับหลงใหลในการทำหนังสือทำมือในระดับที่มากพอจะทิ้งวิชาชีพที่ร่ำเรียนมา หลังเรียนจบ เขาเริ่มทำงานเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ประจำนิตยสารในกรุงเทพฯ ช่วงสั้น ๆ ก่อนย้ายมาทำตำแหน่งเดียวกันในโรงพิมพ์แห่งหนึ่งที่เชียงใหม่ ตามมาด้วยนิตยสาร COMPASS ฟรีก๊อบปี้เจ้าดังของเมืองในช่วงเวลานั้น

“ย้อนกลับไปในยุค 2000 วงการสิ่งพิมพ์คึกคักมาก ตอนนั้นมี Open กับ Bioscope ที่ส่งอิทธิพลกับเราทางตรง เราสนใจทั้งข้อเขียนและวิธีการจัดองค์ประกอบทางศิลปะของเขา และยุคนั้นคนรุ่นใหม่ก็นิยมทำหนังสือทำมือกันเลยเอากับเขาด้วย จึงเริ่มเขียนเรื่องสั้นในรูปแบบหนังสือทำมือมาตั้งแต่สมัยเรียน พอเรียนจบเราก็มุ่งไปแต่ทางนี้เลย” แก๊งย้อนความหลัง

“จุดเริ่มต้นในการวาดภาพมาจากที่ผมเป็นกราฟิกฯ ใน COMPASS สมัยก่อนนิตยสารมีแค่รูปถ่ายกับตัวหนังสือ แล้วมีคอลัมน์หนึ่งที่พูดถึงข่าวสังคมของเมืองเชียงใหม่ หัวหน้ากอง บ.ก. ในตอนนั้นเขาไม่อยากเอารูปถ่ายมาวางตรง ๆ เราเลยลองทำคอลลาจรูปวัด รูปดอยไปแปะ จากนั้นทำบ่อยเข้าก็เริ่มเบื่อ เลยหันมาวาดรูปสไตล์ Doodle แบบที่เราชอบวาดการ์ตูนเล่นลงบนหนังสือเรียน ทำอย่างนั้นทุกเดือนจนเริ่มลามมาคอลัมน์อื่น และลงสื่ออื่น ๆ มาเรื่อย ๆ จนกลายมาเป็นงานหลักของเราวันนี้” เขาบอก

ไม่ตั้งใจจะเป็นนักวาดภาพประกอบแต่ต้น – ผมถาม 

“ไม่เลย อยากเป็นนักเขียน เราเขียนเรื่องสั้นเก็บไว้ตั้งแต่สมัยเรียน แล้วพอมาทำงานสายนิตยสาร เราสนใจวิธีการจัดวางคอลัมน์มากกว่า ภาพประกอบนี่มาเพราะบังเอิญ แต่ทำไปทำมาก็พบว่าเราใช้มันเล่าเรื่องได้เหมือนกัน” ศิลปินที่เคยตีพิมพ์หนังสือรวมเรื่องสั้นออกมาแล้ว 3 เล่ม (เหตุการณ์กระดาษ ฟอสซิลจัง และ MAD เรื่องสั้นกลายพันธุ์) กล่าว 

แล้วนกฮูกดีไซน์มายังไง ผมถามต่อ

“มาจากชื่ออีเมลโง่ ๆ เลย (ยิ้ม) เราเรียนจบสถาปัตยกรรมศาสตร์ ตอนนั้นเพื่อนคณะอื่นจะมองว่าเด็กสถาปัตยฯ เหมือนนกฮูกที่ออกหากินตอนกลางคืน เราก็เอาชื่อนี้มาตั้งและใช้อยู่หลายปี จนไปอังกฤษแล้วกลับมาก็พบว่ามันไม่ได้เชื่อมโยงอะไรกับตัวเราเท่าไหร่ แถมลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ เขาไม่เข้าใจว่า Nokhook คืออะไร สุดท้ายก็เลยเปลี่ยน” แก๊งตอบ

2

นักวาดเชียงใหม่

หลังเปิดร้านในปี 2007 แก๊งลาออกจากงานประจำ พร้อมกับเริ่มรับงานฟรีแลนซ์ด้านการออกแบบกราฟิกและทำภาพประกอบควบคู่ไปกับการเปิดร้าน Nokhook Design ระหว่างนั้นเขาพบว่าเชียงใหม่มีคนทำงานภาพประกอบอยู่ไม่น้อย ที่ซึ่งหากไม่ได้เผยแพร่ในนิตยสารที่กรุงเทพฯ เวทีแสดงผลงานของนักวาดเหล่านี้ก็แทบไม่มี นั่นนำมาสู่การรวมตัวกับเพื่อนร่วมอาชีพ สร้างแพลตฟอร์มแสดงผลงานให้คนทำคอมพิวเตอร์กราฟิกในภาคเหนือ ซึ่งถือเป็นการรวมตัวกันของนักสร้างสรรค์ดิจิทัลท้องถิ่นครั้งแรกของเมือง… 

ไม่สิ จะบอกว่าเป็นครั้งแรกของประเทศก็ไม่ผิดนัก 

ย้อนกลับไปตอนนั้น โซเชียลมีเดียที่ล้ำที่สุดก็น่าจะเป็น Hi5 คุณไปรู้จักคนทำงานแบบเดียวกับคุณตั้งเยอะแยะได้ยังไง 

เชียงใหม่มันแคบน่ะ แล้วเราก็เริ่มจากทำหนังสือทำมือด้วย เลยรู้ว่าคนที่ทำหนังสือแบบเดียวกันเป็นใครและไปทำอะไรกันต่อบ้าง หรือพอมาทำนิตยสารก็รู้ว่ากราฟิกดีไซเนอร์ของเล่มอื่น ๆ คือใคร สมัยนั้นเรายังคุยกันด้วย MSN อยู่เลย 

ซึ่งพอได้คุยกัน ทุกคนเห็นตรงกันว่าเรายังขาดพื้นที่แสดงงาน เลยคิดถึงการทำเว็บไซต์และอีบุ๊กที่เปิดให้นักวาดทุกคนส่งผลงานมาแสดง เหมือนเป็นทั้งแกลเลอรีออนไลน์และเป็นฐานข้อมูลนักวาดและนักออกแบบของภาคเหนือไปในตัว เราตั้งชื่อโปรเจกต์นี้ว่า ‘โฮะ’ มาจากชื่อแกงภาคเหนือที่เอาแกงหลาย ๆ อย่างมารวมกัน คนก่อตั้งมีผม มี บอย Creative Buffalo และ ท็อป ที่ทำหนังสือทำมือชื่อ SUB หารเงินกันคนละ 400 บาท เพื่อซื้อโดเมนเนม และประกาศเปิดรับผลงานของคนทำคอมพิวเตอร์กราฟิกทุกคนในภาคเหนือที่อยากนำเสนอผลงานเกี่ยวกับท้องถิ่นหรือความเป็นล้านนา เราไม่คัดเลือกด้วย คุณส่งมาเลย เราจะรวบรวมและจัดแสดงให้

จัดแสดงยังไง

อีบุ๊กก่อน มีคนส่งมาเยอะจนเราค่อย ๆ ทยอยลงเป็น Volume ซึ่งออกมาหลายฉบับอยู่ ตอนนั้นสื่อกรุงเทพฯ ก็ให้ความสนใจนะ เพราะยังไม่มีสื่อไหนรวมผลงานในกรุงเทพฯ มาก่อน จากนั้นเราก็ต่อยอดให้ออกมานอกจอคอม เลยทำนิทรรศการ Twin Mix ชวนศิลปิน 12 คนมาจับสลากเพื่อจับคู่กับนักสร้างสรรค์ที่ทำอาชีพอะไรก็ได้ในเชียงใหม่จำนวน 12 คน เพื่อทำงานร่วมกัน ก่อนจะนำผลงานไปจัดแสดง และทำโปสต์การ์ดผลงานของพวกเขาจำหน่าย ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างดีจาก พี่โหน่ง-ไกรสิทธิ์ ฟูสุวรรณ เจ้าของกาแฟวาวีในการให้สถานที่และงบประมาณในการบริหารจัดการ นั่นคือปี 2007 ปีเดียวกับที่เราเปิด Nokhook Design Studio ตรงนี้ 

โจทย์ในการทำงานโปรเจกต์นั้นคือเชียงใหม่

ไม่ครับ โจทย์คือความหลากหลายทางวัฒนธรรม เราอยากรู้ว่าการที่พื้นเพทางวัฒนธรรมและพื้นฐานด้านอาชีพที่แตกต่างกัน เมื่อมาร่วมสร้างสรรค์งานด้วยกัน มันจะออกมาเป็นอย่างไรได้บ้าง จริง ๆ ก็เก็บกดมาจากตอนที่เราไปเปิดร้านบนถนนคนเดินด้วยแหละ จริงอยู่ วัฒนธรรมล้านนาเป็นเสน่ห์ที่งดงาม แต่เมืองเราไม่ได้มีวัฒนธรรมนี้วัฒนธรรมเดียวเสียที่ไหน 

โจทย์ตรงนี้ยังไปต่อถึงงาน Jelly ที่เป็นนิทรรศการใหญ่ในปี 2009 ด้วย เราเอาผลงานที่จัดแสดงในเว็บไซต์ที่ทำขึ้นทั้งหมดมาพรินต์จัดแสดงที่ช้างสถิตแกลเลอรี่ ซึ่งอยู่ในศูนย์การค้าย่านช้างคลาน (ปัจจุบันปิดตัวไปแล้ว – ผู้เขียน) ตอนนั้นแสดงงานของนักวาด กราฟิกดีไซเนอร์ กราฟฟิตี้อาร์ตติสต์ นักวาดการ์ตูน และศิลปิน 100 กว่าคนได้ งานใหญ่มาก ไม่คิดว่าจะใหญ่เท่านั้นมาก่อน ต้องขอบคุณทีมงาน Digital ZOO ที่ช่วยเรื่องการทำเว็บไซต์และการจัดเทศกาลศิลปะนี้ขึ้นมาอย่างเป็นทางการ รวมถึง พี่นก-ภาวนา ประกอบสุข ที่ดูแลพื้นที่แกลเลอรีในตอนนั้นที่เปิดให้เราได้ใช้ฟรีเลย เพราะเขาก็อยากสนับสนุนศิลปินท้องถิ่นเหมือนกัน

ผมดีใจนะที่หลังจากงานจบ นักวาดหลายคนก็ได้คอนเนกชันในการทำงานต่อ คือสมัยนั้นสื่อออนไลน์ไม่แพร่หลายขนาดนี้ พอมีงานแบบนี้ให้คนทั่วไปมาเห็น เขาก็รู้ว่าถ้าต้องการผลงานประมาณนี้จะไปหาใครได้บ้าง หลายคนที่แสดงงานในวันนั้น ทุกวันนี้ก็ยังคงทำงานต่อมาจนถึงยุค NFT และจนถึงทุกวันนี้

3

นักวาดเชียงใหม่ในอังกฤษ

หลังจากงานโฮะ แก๊งยังคงทำโปรเจกต์เพื่อโปรโมตนักวาดในเชียงใหม่ รวมถึงทำ Snap ฟรีก๊อบปี้ให้กับร้านกาแฟวาวี บอกเล่าเรื่องราวร่วมสมัยของเชียงใหม่จากมุมมองของนักเขียนและนักวาดที่หลากหลาย รวมถึงเป็นอาจารย์พิเศษของคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ควบคู่ไปกับการเปิดร้าน Nokhook Design กระทั่งปี 2017 จุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิตและความคิดของแก๊งก็มาถึง เมื่อภรรยาของเขาได้ทุนไปเรียนต่อปริญญาเอกที่ University of Leeds เขาจึงตัดสินใจปิดร้านและหยุดพักงานทั้งหมด เพื่อตามไปซัพพอร์ตชีวิตของคนรักที่อังกฤษ 

“ตั้งแต่เริ่ม Nokhook Design มันไม่ใช่เราคนเดียว แต่เป็นทีมที่มีเรากับแฟนเราด้วย พอเขาต้องย้ายไปอังกฤษ เราก็เลยยินดีที่จะย้ายตามไปด้วย” แก๊งเล่า

ไปอยู่อังกฤษกี่ปี

4 ปี ตั้งแต่ปี 2017 – 2020 ตอนแรกยังไม่รู้จะทำอะไรด้วยซ้ำ ภาษาอังกฤษก็ยังไม่แข็งแรง เราเลยทำเรซูเม่ยื่นสมัครงานล้างจานที่ร้านอาหารไทย ก็มีเครือร้านอาหารแห่งหนึ่งตอบรับ แต่เราดวงดีหน่อยตรงที่พอเข้าไปทำ คนทำกราฟิกอินเฮาส์ที่ร้านนั้นเขาลาออกพอดี จึงได้งานเป็นกราฟิกที่เป็นอาชีพเราอยู่แล้ว เลยได้ทำงานที่ถนัด ทำพวกเมนูหรืองานโฆษณาลงสื่อออนไลน์โปรโมตร้านสาขาต่าง ๆ ให้เขา 

ทำอย่างนั้นอยู่ 4 ปีเลย

ไม่ ทำได้ปีเดียว (หัวเราะ) หนึ่ง เราเบื่อด้วย สอง หัวหน้างานที่บรีฟงานกับเราโดยตรงเขาลาคลอด เราเลยต้องดีลกับเจ้าของร้านโดยตรง ซึ่งเคมีไม่ตรงกันเลย เลยลาออกไปทำงานล้างจานร้านอื่นดีกว่า

ยอมออกจากงานนั่งโต๊ะไปล้างจาน

ใช่ มันคนละอารมณ์เลยนะ งานค่อนข้างหนัก แต่เราสบายใจ เงินก็โอเค แถมได้อาหารไทยกลับมากินด้วย แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ไม่ทิ้งงานวาดรูป เรามักจะเปิดเน็ตหา Open Call ของหน่วยงานท้องถิ่นที่รับศิลปินมาแสดงงาน ก็ส่งใบสมัครและได้รับเลือกไปแสดงงานที่ Kirkstall Art Trail ซึ่งเป็นเทศกาลศิลปะในหมู่บ้าน รวมถึงงานอื่น ๆ นอกจากนั้นเราก็ไปเช่าบูทออกร้านตามอาร์ตแฟร์ต่าง ๆ เลยยังได้วาดรูปและหารายได้เสริมอยู่ และตรงนี้แหละที่เป็นจุดเปลี่ยนหนึ่งของการทำงานเรา

เปลี่ยนยังไง

มันทำให้เรามีอินไซต์ในการทำงานดีขึ้นจากการได้ปะทะกับผู้คนที่มีพื้นเพวัฒนธรรมที่ต่างกันมาก ๆ เมื่อก่อนเราเปิดร้านที่เชียงใหม่ นักท่องเที่ยวมาซื้อผลงาน เพราะเขาอยากสะสมของที่ระลึกจากเชียงใหม่ เราวาดอะไรที่เป็นเชียงใหม่ จะคู่สีแบบไหน เรื่องราวแบบไหน เขาเห็นว่าเราเป็น Local Artist เขาก็ยินดีซื้อ แต่กับที่อังกฤษมันต่างกัน มีศิลปินจากหลายประเทศมาทำงานที่นี่ เขาไม่สนใจงานเก่า ๆ ที่เราเคยวาดหรอกถ้าผลงานไม่มีความเชื่อมโยงอะไรกับตัวเขา 

จริง ๆ ก็เป็นเรื่องการตลาดพื้นฐานนี่แหละ แต่เมื่อก่อนเราทำงานเพราะความสนุกส่วนตัว จะขายได้ไม่ได้ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่พอมาที่นี่ เราจะทำยังไงที่ผสานความสนใจของผู้คนเข้ากับความเป็นเมืองลีดส์ที่เราอาศัย ขณะเดียวกันก็รักษาความเป็นตัวของตัวเองเอาไว้ด้วย 

มีการแข่งขันกันสูงขึ้นอย่างนั้นหรือ

ไม่ขนาดนั้นหรอก มันไม่ใช่ Art Space ในพื้นที่จริงจังอะไร ส่วนใหญ่จะเป็นตลาดนัดศิลปะมากกว่า ซึ่งไม่ได้มีการแข่งขันอย่างเอาเป็นเอาตาย เพียงแต่การอยู่ที่นี่ทำให้เราหลุดจาก Comfort Zone ในการทำงานเดิม ๆ ของตัวเอง ขณะเดียวกันก็สนุกกับการได้เห็นได้รู้จักศิลปินใหม่ ๆ ผมได้รู้จักศิลปินคนหนึ่งที่เขามีอาชีพจริง ๆ เป็นบุรุษไปรษณีย์แต่วาดคอมิกส์ (Comics) เก่งมาก เขาวาดขายเป็นหนังสือทำมือเลย วันปกติเขาส่งไปรษณีย์ วันเสาร์-อาทิตย์ก็มาออกร้านขายผลงานและพูดคุยกับผู้คน เหมือนผมที่วันปกติก็ล้างจานที่ร้านอาหารไทย ว่างก็วาดรูปและมาออกร้าน

จริง ๆ ชีวิตที่อังกฤษก็ไม่ได้สะดวกสบายนัก อากาศหนาวจัด อาหารไม่ค่อยถูกปาก วิถีชีวิตก็ต่างจากที่เชียงใหม่อย่างสิ้นเชิง แต่พอได้ทำงานศิลปะและได้แลกเปลี่ยนกับคนที่สนใจศิลปะเหมือนกัน เหมือนได้เติมเต็มแพสชันซึ่งกันและกัน จึงทำให้เราสนุกกับชีวิตที่นั่น 

4

NHD Studio

แก๊งกลับมาเชียงใหม่ในปี 2020 ช่วงที่เกิดโควิด-19 พอดี เมืองทั้งเมืองปิดร้าง ไร้ซึ่งนักท่องเที่ยว และเศรษฐกิจพังทลาย ขณะเดียวกันร้าน Nokhook Design ของเขาก็ถูกน้ำท่วมขัง โทรมจนเปิดต่อไม่ได้ บรรยากาศหดหู่เสียจนทำให้แก๊งหมดแพสชันในการทำงานศิลปะ เขาคิดถึงการนำเงินที่เก็บได้จากอังกฤษมารีโนเวตร้านเพื่อเปิดร้านไส้ย่าง ทิ้งทุกอย่างที่สะสมมาเพื่อเริ่มต้นใหม่ โชคยังดีที่ท่ามกลางความมืดมนนั้นเขากลับได้รู้จัก NFT และอินเทอร์เน็ตไวรัลที่ชื่อ #หิมพานต์มาร์ชเมลโล่ แสงสว่างปลายอุโมงค์ที่ทำให้เขาเดินต่อ

ตอนนั้นคุณคิดจะเปิดร้านไส้ย่างจริง ๆ เหรอ

ใช่สิ เอาจริง ๆ ก่อนไปอังกฤษ ร้านเราก็ไม่ได้ขายดีถึงขนาดเลี้ยงตัวเองได้ ที่อยู่ได้คืองานออกแบบให้ลูกค้ากับงานสอนหนังสือ พอกลับมาเจอโควิด ลูกค้าไม่อยากลงทุนอะไร เปิดร้านไปก็ไม่มีประโยชน์ ผมชอบกินไส้ย่าง คิดว่าทำร้านอาหารน่าจะดีกว่า 

หลังจากอยู่ว่าง ๆ มา 4 เดือน และคิดจะเปิดร้านอาหาร สุดท้ายก็กลับโชคดีที่ตอนนั้นเล่นทวิตเตอร์อยู่ แล้วมีกระแสหิมพานต์มาร์ชเมลโล่ขึ้น ซึ่งเริ่มมาจากมีชาวเน็ตไปถ่ายรูปงานปูนปั้นสัตว์หิมพานต์ตามวัดท้องถิ่น และรูปลักษณ์มันน่ารักเหมือนตัวการ์ตูน ก็เลยแชร์ต่อ ๆ กัน 

รูปปั้นพวกนั้นมีคาแรกเตอร์แบบลายเส้น Doodle ที่เราชอบวาดอยู่แล้ว เลยวาดรูปน้องสี่หูห้าตาที่เป็นสัตว์ในความเชื่อล้านนาเล่น ๆ แล้วแชร์ในโซเชียลมีเดีย คนเอาไปแชร์ต่อกันมาก เลยลองเปิดพรีออร์เดอร์สติกเกอร์รูปที่เราวาด กะว่าถ้ามีคนออร์เดอร์สัก 10 คนก็ทำแล้ว ปรากฏว่าคืนนั้นมือถือเรามีแจ้งเตือนทั้งคืน มีคนมาสั่งรวมกัน 500 ชุด เช้าต่อมาผมก็เลยไปสั่งผลิตสติกเกอร์และวาดตัวใหม่มาอีก ออร์เดอร์ก็ตามมาต่อเนื่องจนตอบไม่ทัน ทุกอย่างรวดเร็ว ไม่ได้บอกว่างานเราดีนะ แต่คำว่าเพลงเดียวเปลี่ยนชีวิตศิลปิน คือแบบนี้เลยว่ะ 

ทำให้แพสชันคุณกลับมาอีกครั้ง 

จะบอกอย่างนั้นก็ได้ คือตอนกลับมาแล้วเปิดร้านไม่ได้ ก็ขายออนไลน์อยู่ แต่ยอดก็ไม่เยอะขนาดนั้น จนวาดน้องสี่หูห้าตานั่นแหละที่ถล่มทลาย จากนั้นสักพัก กระแส NFT ก็มาอีก เราก็เอารูปน้องกับงานเก่า ๆ ที่ทำเก็บมา 10 กว่าปีมาขายทาง OpenSea โดยทำในชื่อ Ken Hamala ซึ่งเป็นชื่อที่เราใช้ตอนทำงานที่อังกฤษ ปรากฏว่าผลตอบรับดีมาก มีคนตามสะสมงานแล้วเอาไปขายต่ออีก เราวาดรูปมา 10 กว่าปีไม่เคยขายรูปได้ถึงรูปละ 30,000 บาท แถมเป็นไฟล์ดิจิทัลด้วยนะ ตอนนั้นทำให้เราคิดว่า เฮ้ย กูเป็น Full-time Artist ได้ว่ะ ทำแต่งานที่เราเชื่อ ที่เราอยากทำ ก็มีตลาดของมันเว้ย 

เราเลยฮึดกลับมาวาดรูปใหม่อีกครั้ง วาดสะสมมาเรื่อย ๆ จนฟองสบู่ NFT มันแตก แต่ก็ถือเป็น Timing ที่ดี เพราะพอปี 2021 โควิดซาพอดี เรามีฐานคนติดตามอยู่ประมาณหนึ่งแล้ว เลยตัดสินใจนำเงินที่หามาได้มารีโนเวตร้านใหม่อีกที ติดแอร์ ทำดิสเพลย์ให้ร้านมีความเป็นทางการมากขึ้น และเน้นขายแต่งานศิลปะ ซึ่งอย่างที่บอกว่าชื่อ Nokhook Design มันไม่เชื่อมโยงกับเราอีกแล้ว แต่ความที่อยากเก็บชื่อย่อไว้ คำว่า Never hate drawing เลยผุดขึ้นมา 

พอกลับมาเปิดร้านใหม่ ความรู้สึกหรือทิศทางของร้านแตกต่างจากสมัยก่อนไปอังกฤษมากไหม 

ความสนุกในการวาดรูปยังเหมือนเดิม แต่กระบวนการทำงานต่างพอสมควร สมัยก่อนเราวาดรูปเพราะแค่อยากวาด ขายได้ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ขอแค่ได้วาดและเผยแพร่ออกไป เหมือนพวกนักบวชที่อยากประกาศศาสนาอะไรทำนองนั้นเลยนะ ขณะเดียวกันเราก็หาเงินจากการรับงานออกแบบให้ลูกค้า หาได้มากหน่อยก็เอามาทำนิทรรศการหรืออาร์ตโปรเจกต์ นิทรรศการจบ เงินหมด ก็หาใหม่ หาได้ก็มาทำต่อ หมุนเวียนไปอย่างนี้ ไม่ได้คิดถึงระยะยาวอะไร แค่คิดว่าขอให้ได้วาดรูปที่ชอบสะสมไว้เรื่อย ๆ วันนี้อาจขายไม่ได้ แต่สักวันจะมีค่า ซึ่ง NFT ก็มีส่วนทำให้มีมูลค่าขึ้นมาจริง ๆ

แล้วตอนนี้ที่ NFT ไม่ได้มีอิทธิพลเหมือนเดิมแล้วล่ะ 

แต่ผลพวงของมันทำให้ผมมีคนติดตามสะสมในรูปแบบกระดาษจริง ๆ มากขึ้น และพอกลับมาเปิดร้าน ก็มีนักท่องเที่ยวจากประเทศต่าง ๆ ที่มาเชียงใหม่ตามมาซื้องานเราที่ร้าน ไม่ได้อู้ฟู่อะไรหรอก แต่ก็พอหล่อเลี้ยงกำลังใจให้เราอยากทำงานต่อเนื่อง ส่วนที่ถามว่าแตกต่างระหว่างก่อนไปและหลังกลับจากอังกฤษแค่ไหน อาจเป็นเรื่องของความคิดที่เราแชร์กับลูกค้ามากขึ้น งานเรากลมกล่อมขึ้น มีทั้งความเอาแต่ใจแบบของเราเอง กับการสร้างความหมายที่เชื่อมโยงกับคนดูที่มีพื้นเพที่แตกต่างกันมากขึ้น แต่ทั้งหมดทั้งมวลเราก็ยังคงวาดรูปที่เล่าเรื่องเมืองเชียงใหม่ในแง่มุมต่าง ๆ อยู่ดี เรามองงานวาดไม่ต่างจากการเล่าเรื่อง จะบวกหรือลบเราก็เล่าในแบบของเราไป 

เป็นของที่ระลึกถึงเชียงใหม่ในรูปแบบศิลปะ

เหมือนคุณไปปารีส คุณก็อยากได้ของที่ระลึกกลับมาใช่ไหม แต่ไม่ใช่ทุกคนที่อยากได้หอไอเฟลจำลองน่ะ ถ้าเป็นหอไอเฟลที่ศิลปินท้องถิ่นที่ใช้ชีวิตและทำงานอยู่ที่นั่นจริง ๆ ตีความขึ้นมาใหม่ จะเป็นงานปั้นหรืองานวาดก็ตามแต่ คุณจะได้ทั้งสนับสนุนศิลปิน รวมทั้งของที่ระลึกและงานศิลปะกลับมาด้วย ขณะเดียวกันทุกครั้งที่เราวาดรูปใหม่ ก็เหมือนได้เขียนไดอารีบันทึกมุมมองต่อเมืองหรือต่อสิ่งต่าง ๆ รอบตัว บางทีเจอปัญหาไฟป่า เจอฝุ่นควัน ถนนในเมืองซ่อมไม่เสร็จสักที เราบันทึกมันออกมา ถ้ามองในเชิงของที่ระลึกของนักท่องเที่ยวมันก็อาจไม่ตรงความหมายนัก แต่ก็เป็นงานศิลปะที่มาจากชีวิตของเรา

ทุกวันนี้ลูกค้าของ NHD เป็นใคร

นักท่องเที่ยวจากยุโรปและอเมริกาเหนือชอบซื้อรูป เกาหลีและไต้หวันชอบซื้อเซรามิก เวียดนามที่ไม่คิดว่าจะมีก็มาซื้องานเราไม่น้อย ส่วนคนไทยก็มีเรื่อย ๆ 

ยังรับงานออกแบบให้ลูกค้าอยู่ไหม

ถ้ามีก็ทำ แต่เราไม่พยายามวิ่งหางานอะไร ช่วงหลัง ๆ มาจากที่ลูกค้าเห็นผลงานแล้วเขาอยากให้เราวาดรูปไปแปะกับแบรนด์เขามากกว่า ซึ่งก็เป็นงานที่เราแฮปปี้ด้วย

วาดรูปมาจะ 20 ปีแล้ว มีห้วงเวลาไหนที่พบว่าสิ่งที่เราทำมาทั้งหมดคือเดินมาถูกทางแล้วบ้าง

มีคนมาชื่นชอบงานของเราก็หล่อเลี้ยงหัวใจมากแล้ว แต่ที่รู้สึกกับมันมาก ๆ คือการที่พอจะพูดได้เต็มปากว่าเป็นศิลปินอาชีพ เพราะเราเปิดสตูดิโอที่ขายแต่งานของเรา 100% และมีชีวิตอยู่กับมันได้ ขณะเดียวกันก็มีศิลปินคนอื่น ๆ มาคอลแล็บด้วย อย่างงานพรมนี้ (ชี้ไปที่พรมรูปพระพิฆเนศขนาดใหญ่ที่แขวนอยู่บนผนัง) จู่ ๆ ก็มีศิลปินอาร์เจนตินาที่ทำงาน Carpet ชื่อ Elina มาขอคอลแล็บงานด้วย 

และเราชอบฟีดแบ็กของลูกค้าจากประเทศต่าง ๆ ที่มองว่างานเราเข้าถึงง่าย น้อยมากที่คนดูจะไปเจอศิลปินตัวเป็น ๆ ที่สตูดิโอของเขา แต่เรานั่งอยู่ที่ร้านนี้ เวลาไม่มีลูกค้าเข้า ก็ทำงานของเราไป ลูกค้าเข้ามา เราก็อธิบายงาน เขาชอบเขาก็ซื้อกลับไป 

ได้ทำงานที่ตัวเองรักในพื้นที่ของตัวเอง และมีคนจากที่ต่าง ๆ มาดูงานเรา

ใช่ มีวันหนึ่ง เพื่อนเรามาหาตอนสาย ๆ เลยปิดร้านชั่วคราวและชวนกันไปดื่มกาแฟใกล้ ๆ นั่งกันอยู่สักพักก็มีคนต่างชาติคนหนึ่งโทรมา เขาบอกว่ามาที่ร้าน แต่ร้านปิด เราบอกว่าออกมาดื่มกาแฟข้างนอก เดี๋ยวสักพักจะกลับไป เขาบอกว่าเขารอได้ กินกาแฟให้เสร็จแล้วค่อยกลับมาเปิด 

ไม่ได้ขิงหรือรู้สึกว่าตัวเองยิ่งใหญ่อะไรอย่างนั้นหรอก แต่เราพบว่า เออ งานเรามีคุณค่ากับเขาว่ะ เรารู้มาตลอดว่างานศิลปะมีคุณค่ากับตัวเราเอง เลยตั้งใจทำมาต่อเนื่องจนถึงวันนี้ แต่พอพบว่ามันมีคุณค่ากับคนอื่นด้วย เราก็ดีใจ 

Never hate drawing
  • ถนนราชมรรคา ซอย 6 ตรงข้ามวัดพันแหวน อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ (แผนที่)
  • เปิดวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 11.00 – 18.00 น. (หยุดวันเสาร์และอาทิตย์)
  • 08 0191 1455
  • neverhatedrawing
  • Never hate drawing
  • Ken Hamala

Writer

จิรัฏฐ์​ ประเสริฐทรัพย์

จิรัฏฐ์​ ประเสริฐทรัพย์

นักเขียนและนักแปล แต่บางครั้งก็หันมาทำงานศิลปะ อาศัยอยู่ที่เชียงใหม่ ผลงานล่าสุดคือรวมเรื่องสั้น 'รักในลวง'

Photographer

Avatar

ภูพิงค์ ตันเกษม

ชีวิตผม ชอบการเดินทาง ชอบทำอาหาร และรักการบันทึกความทรงจำด้วยภาพถ่าย