ใคร ๆ ก็คิดเรื่อง ‘เมืองสำหรับทุกคน’ แต่ทุกคนที่ว่านั่นหมายถึงใครบ้างล่ะ

ถ้าคิดกันไว ๆ เราอาจพูดถึงทางเท้าที่ดี กว้างได้มาตรฐาน ปูกระเบื้องเรียบร้อย มี Braille Block ติดตั้งถูกหลักการ มีทางลาดที่เหมาะสมต่อการใช้งานวีลแชร์ และไฟทางในจุดที่สมควร

ถัดจากทางเท้าก็อาจเป็นเรื่องขนส่งสาธารณะที่พึ่งพาได้ หรือพื้นที่สาธารณะที่มีปริมาณเพียงพอ

แต่นั่นคือเมืองที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของคนทั่วไป หากจะครอบคลุมไปถึงกลุ่มเปราะบางก็อาจเป็นกลุ่มผู้สูงอายุและผู้มีเงื่อนไขทางร่างกาย เช่น ผู้พิการทางสายตาหรือผู้ที่เดินเหินไม่สะดวก

วันนี้เราอยากชวนคุยถึงเมืองที่เป็นมิตรต่อผู้มีความหลากหลายทางระบบประสาท หรือ Neurodivergent People เพิ่มเติมขึ้นมาจากประเด็นที่ผู้คนพูดถึงกันในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว และเราต่างเข้าใจกันในเบื้องต้น

ชาว Neurodivergent ไม่ว่าจะแบบไหนก็เป็นผู้ไวต่อสิ่งเร้าตามธรรมชาติ ดังนั้น ‘เมือง’ ที่เป็นสภาพแวดล้อมรอบตัวจึงสำคัญ เราต้องไปคิดกันต่อว่าจะออกแบบเมืองอย่างไรให้ดีต่อคนเหล่านี้ได้

ฟังเผิน ๆ อาจดูเป็นเรื่องไกลตัว แต่คนกลุ่มนี้ก็เป็นกลุ่มใหญ่ในประชากรของโลก ซึ่งงานวิจัยยืนยันว่ามีถึง 15 – 20 เปอร์เซ็นต์จากทั้งหมด หรือประมาณ 1 ใน 5 คนเลยทีเดียว ดูจากตัวเลขแล้ว แม้แต่คุณเองก็อาจเป็นหนึ่งในชาว Neurodivergent โดยที่ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ

เราจึงต้องคำนึงถึงประเด็นนี้ เพื่อให้คำว่า ‘ทุกคน’ นั้น ใกล้เคียงความหมายของมันจริง ๆ

แด่มนุษย์ผู้อ่อนไหวและเปราะบาง

Neurodivergent People คือผู้มีความหลากหลายทางระบบประสาท

Neurodiversity เป็นศัพท์ที่อธิบายถึงผู้คนที่มีปฏิกิริยาและได้รับประสบการณ์จากการเผชิญโลกที่แตกต่างกันไป ยิ่งคนในโลกมีมากมายเท่าไหร่ การรับรู้ก็หลากหลายได้ไม่มีที่สิ้นสุดเท่านั้น อาจครอบคลุมตั้งแต่ชาวออทิสติก ผู้มีความบกพร่องทางสติปัญญา ผู้มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ และอื่น ๆ อีกมากมาย

อย่างไรก็ตาม ความหลากหลายทางระบบประสาทเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและมีหลายระดับ จนเราอาจมองได้ไม่ชัดเลยว่าใครมีภาวะอย่างไรบ้าง หลายครั้งผู้คนก็ลืมที่จะให้ความสำคัญในเรื่องนี้ไป รู้ตัวอีกที ชาว Neurodivergent ก็ถูกกีดกันออกจากการออกจากบ้านมาใช้ชีวิตในเมือง เพราะสภาพแวดล้อม ถนนหนทาง และพื้นที่สาธารณะไม่ได้ออกแบบมาให้เอื้อต่อพวกเขา

ในขณะที่คนทั่วไปคิดถึงแต่เรื่องที่จะต้องทำในแต่ละวัน ผู้มีความหลากหลายทางระบบประสาทอาจต้องคิดมากกว่านั้น ที่ที่จะไปแคบไหม คนเยอะแค่ไหน มีเสียงรบกวนมากเกินไปรึเปล่า บางทีกว่าจะถึงออฟฟิศในแต่ละวัน ความรู้สึกอาจถาโถมจนเหนื่อยตั้งแต่อยู่บนรถไฟฟ้าแล้วก็ได้

จริงอยู่ที่ผู้ซึ่งเกิดมาพร้อมภาวะเหล่านี้ต้องเรียนรู้วิธีดีลกับตัวเองและสภาพแวดล้อมโดยรอบ แต่ทำไมเราถึงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเขาอย่างเดียวล่ะ ในเมื่อเราจัดการมันได้หลายส่วน

ยกตัวอย่างการใช้งานพื้นที่เล็ก ๆ อย่างซูเปอร์มาร์เก็ต

ซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นที่ที่แทบทุกคนจำเป็นต้องไปเยือน และในบางช่วงเวลาก็วุ่นวายมาก ๆ อย่างไม่น่าเชื่อ กว่า 260 ร้านในออสเตรเลียจึงกำหนดให้ทุกวันอังคาร เวลา 10.30 – 11.30 น. เป็น ‘Quiet Hour’

ช่วงเวลานั้นไฟในร้านจะหรี่ลง เสียงเพลงรื่นเริงตามเทศกาลจะเบาลง เสียงประกาศน้อยลง และงดใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ที่เสียงดัง เพื่อให้สภาพแวดล้อมโดยรวมสงบเงียบขึ้น กระตุ้นการรับรู้น้อยลง รวมถึงเพิ่มจำนวนสตาฟในร้าน โดยบอกชัดเจนที่ป้ายหน้าร้านว่า นี่เป็นการอำนวยความสะดวกลูกค้าที่มี Sensory Needs ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่อยู่ใน Autistic Spectrum Disorder ผู้ที่เป็น ADHD ผู้ที่เป็น Sensory Processing Disorder หรือผู้ที่อ่อนไหวต่อสิ่งเร้าในรูปแบบอื่น ๆ ก็ตาม

ถึงจะเป็นการจัดการที่แสนเรียบง่าย แต่สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นง่าย ๆ เพราะผู้เกี่ยวข้องต้องเข้าอกเข้าใจและไม่มองว่าเป็นการเรียกร้องที่มากเกินไป

นอกจากซูเปอร์มาร์เก็ต ก็มาสู่พื้นที่สนามเด็กเล่น

The University of Tasmania ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับเด็ก ๆ ใน Autistic Spectrum Disorder เผยแพร่ไกด์ไลน์ที่ชื่อว่า Design across the Spectrum : Play Spaces โดยในเนื้อหาเสนอวิธีการหลายอย่าง ยกตัวอย่างเช่น การออกแบบพื้นที่ให้มีระบบ แบ่งพื้นที่ในการทำกิจกรรมให้ชัดเจน เพื่อให้เป็นมิตรต่อเด็ก ๆ ที่คุ้นเคยกับโครงสร้าง ลำดับขั้น และการทำอะไรเป็นกิจวัตร มี Transition Space เพื่อให้เด็กปรับตัวระหว่างเปลี่ยนผ่านจากห้องเล็กและใหญ่ มอบประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสที่หลากหลายเพื่อความสมดุลทางการรับรู้

และข้อสำคัญ คือการมีพื้นที่พักผ่อนจากสิ่งเร้าให้เด็ก ๆ ไปใช้ได้เมื่อต้องการ สเปซนั้นต้องสงบ แสงนุ่มนวล สีโทนกลาง ๆ โดยยังคงปลอดภัยและอยู่ในสายตาผู้ใหญ่

ถึงนี่จะเป็นไกด์ไลน์การออกแบบพื้นที่สำหรับเด็ก แต่หลักการที่ละเอียดอ่อนเหล่านี้ก็นำไปใช้ในการออกแบบเพื่อผู้คนทั่วไปในสเกลใหญ่ขึ้น รวมไปถึงการออกแบบเมืองได้ (ถ้ามีโอกาส)

ในทางสถาปัตยกรรม ทุก ๆ ดีเทลการออกแบบล้วนมีจุดประสงค์ และ ‘สิ่งเร้า’ เองก็เป็นสิ่งที่สถาปนิกหยิบมาคิด เพื่อให้ผู้ใช้งานสถาปัตยกรรมเกิดความรู้สึกบางอย่าง เช่น ออกแบบทางเข้าแคบ ๆ แล้วพาผู้คนไปสู่สเปซใหญ่โต เพื่อให้รู้สึกเซอร์ไพรส์ ตื่นเต้น หรือออกแบบสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่เกินสัดส่วนมนุษย์ไปมาก ๆ เพื่อก่อให้เกิดความรู้สึกถาโถม หรือ Sublime

ไม่ได้หมายความว่าทุก ๆ สถาปัตยกรรมในโลกนี้จะต้องเคร่งครัดในหลักการ Neuroinclusive Space จนสร้างสรรค์งานสนุก ๆ ไม่ได้ แต่หากเป็นพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนต้องใช้งาน การคำนึงถึงความหลากหลายทางระบบประสาทก็เป็นสิ่งที่ควรทำ และหากมีพื้นที่สงบจากสิ่งเร้าตระเตรียมไว้ก็จะดีสำหรับทุกคน

KOMPAN Mungret Inclusive Park

จะใช้ชีวิตยังไง ถ้าตัวหนังสือตรงหน้าไม่ให้ความร่วมมือ

อย่างที่เราเกริ่นมาในตอนแรก Neurodivergent People รวมไปถึงผู้มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ด้วย ซึ่งผู้มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ก็แบ่งออกเป็นหลายประเภทด้วยกัน แต่เราอยากพูดถึงชาวดิสเล็กเซีย (Dyslexia) เป็นพิเศษ

ดิสเล็กเซีย เป็นภาวะผิดปกติเกี่ยวกับการเรียนรู้ภาษาที่ส่งผลให้มีปัญหาด้านการอ่านและสะกดคำ เพราะผู้ที่มีภาวะนี้แยกเสียงตัวอักษรและเชื่อมโยงเสียงตัวอักษรเข้ากับรูปคำได้ยาก แม้จะมีระดับสติปัญญาและเชาวน์ปัญญาที่ปกติเหมือนคนทั่ว ๆ ไป แต่พวกเขาต้องใช้ความพยายามและใช้เวลาในการอ่านหนังสือมากเป็นพิเศษ ซึ่งในโลกนี้มีประชากรกว่า 8% ที่เป็นดิสเล็กเซีย

เราเคยมีโอกาสได้พบกับคนที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นดิสเล็กเซียคนหนึ่ง เธอใช้ชีวิตได้ดีและประสบความสำเร็จในอาชีพ แต่เมื่อได้คุยกันลึก ๆ ก็พบว่าภาวะที่เธอเป็นทำให้เธอลำบากไม่น้อย โดยเฉพาะเมื่อไปต่างบ้านต่างเมือง

หน้าตู้ขายตั๋วอัตโนมัติในเบอร์ลิน เธอยืนขาแข็ง ตาจ้องมองไปที่ตัวอักษรบนหน้าจอ แล้วเหงื่อแห่งความกังวลก็เริ่มไหล เมื่อแป้นพิมพ์เรียงตัวอักษร ABC แทนที่จะเรียงแบบ QWERTY แบบที่เคยชิน เธอก็ไปต่อไม่เป็นจนร้องไห้ออกมาด้วยความเครียด โชคดีที่มีคุณลุงคนหนึ่งมาช่วยไว้

ปัญหาหลักที่ชาวดิสเล็กเซียต้องเจอเมื่อใช้ชีวิตในเมือง คือการใช้ขนส่งสาธารณะนี่แหละ

ปราการด่านแรกที่ต้องเจอคือการอ่านชื่อสถานี หลายคนบอกว่าเวลาพยายามอ่านตัวหนังสือจะกระโดดไปมา หลายคนจำคำเป็นบล็อก ๆ หลายคนโฟกัสแต่ตัวอักษรหน้าและหลัง ไม่รู้ว่าตรงกลางคำสะกดยังไงบ้าง หลายคนก็จำได้แต่อักษรตัวแรกจนไปผิดไปถูก ยิ่งตารางเดินรถมีแต่ตัวหนังสือเล็ก ๆ เบียดเสียดกัน ยิ่งยากสำหรับพวกเขา

พี่สาวชาวดิสเล็กเซียที่เรากล่าวถึงเมื่อตอนแรกบอกว่า แม้แต่เดินทางในกรุงเทพฯ เองก็เป็นปัญหา เพราะเธอแยกแยะความแตกต่างระหว่าง ‘คูคต’ กับ ‘เคหะฯ’ ไม่ได้ ด้วยหน้าตาคล้าย ๆ กัน ความยาวก็เท่า ๆ กัน

มากไปกว่าการอ่าน หลายคนก็มีปัญหาในการอ่านนาฬิกาแอนะล็อก หลายคนมีความทรงจำระยะสั้นที่ไม่ค่อยดี บางคนก็เป็น Directional Dyslexia ที่มีปัญหาตั้งแต่การแยกซ้าย-ขวาแล้ว

เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องปกติมากที่พวกเขาจะขึ้นรถไฟผิดขบวนหรือลงรถเมล์ผิดป้าย จนพาให้ไปถึงที่นัดหมายช้ากว่ากำหนด

ขนส่งสาธารณะจึงต้องมีการให้ข้อมูลในเว็บไซต์ เพื่อให้ชาวดิสเล็กเซียวางแผนก่อนวันเดินทางจริงได้ รวมไปถึงเลือกวิธีการเดินทางที่สะดวกต่อภาวะที่มีได้ (แน่นอนว่าขนส่งสาธารณะจะต้องเอื้อให้เขาเลือกด้วย) และถ้าจะให้ดี บางช่องทางควรเปิดให้จองล่วงหน้าได้ด้วย

นอกจากนี้ เรายังออกแบบวิธีการวาง Text ให้เป็นมิตรต่อชาวดิสเล็กเซียได้ ซึ่งหากใครมีโอกาสได้ดีไซน์จริง ๆ ก็หาดาวน์โหลดไกด์ไลน์ได้ตามอินเทอร์เน็ต โดยเบื้องต้นแล้ว ทุกอย่างล้วนมีผลกับการอ่าน ไม่ว่าจะเป็นประเภทฟอนต์ ขนาด สีสัน การเน้นตัวหนาให้หัวข้อหรือคำสำคัญ การวางเลย์เอาต์ ไปจนถึงโครงสร้างประโยค

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ที่พร้อมให้ความช่วยเหลือตลอดเวลาก็สำคัญมากสำหรับชาวดิสเล็กเซียที่กำลังเดินทาง

สุดท้ายแล้ว หากทุกอย่างออกแบบให้เป็นมิตรต่อชาวดิสเล็กเซียหรือผู้มีความต้องการพิเศษด้านการรับรู้แบบอื่น ๆ ก็จะเอื้อต่อความเข้าใจของคนทั่วไปด้วยเช่นกัน 

เรียกได้ว่ามีประโยชน์ในทุกทาง

จินตนาการถึงเมืองแบบใหม่

ตอนนี้การออกแบบเพื่อผู้มีความหลากหลายทางระบบประสาทไม่ได้เป็นแค่ทฤษฎีอีกต่อไปแล้ว แต่มีหลายภาคส่วนในโลกที่เริ่มขยับเขยื้อนเรื่องนี้ในช่วงปีหลัง ๆ

อย่างที่นิวยอร์กก็มีความร่วมมือของ WIP Collaborative แฟลตฟอร์มเฟมินิสต์ รวมตัวดีไซเนอร์ที่ฝันถึงพื้นที่สาธารณะสำหรับทุกคน, Verona Carpenter Architects บริษัทสถาปนิกและออกแบบตกแต่งภายใน, The Design Trust องค์กรที่ขับเคลื่อนเรื่องพื้นที่สาธารณะในเมืองและเครือข่ายผู้ทำงานด้านคนพิการ

โครงการนี้มีชื่อว่า ‘The Restorative City’

การแบ่งโซนนิ่งในพื้นที่

พวกเขาจินตนาการถึงพื้นที่สาธารณะในนิวยอร์กซิตี้ขึ้นมาใหม่ ทั้งถนนหนทาง สนามเด็กเล่น พลาซ่า และอื่น ๆ อีกมากมาย เพื่อรองรับความหลากหลายทางระบบประสาท และสร้างสุขภาพที่ดีของชุมชน

เราจะพูดได้เต็มปากว่าพื้นที่สาธารณะ ‘เข้าถึงได้’ จริง ๆ ก็ต่อเมื่อประชาชนโดยทั่วไปใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เราจึงต้องคิดถึงทุกคน และรวมพวกเขาไว้ในกระบวนการออกแบบตั้งแต่เริ่มต้น และจะให้ดีกว่านั้น คือการผลักดันให้ไปสู่ระดับนโยบาย

แม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยยังอยู่ที่การผลักดันให้พื้นที่สาธารณะมีปริมาณเพียงพอสำหรับผู้คนในเมือง แต่เราก็ไม่คิดว่าการคำนึงถึงประเด็นนี้เพิ่มขึ้นมาจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้แม้แต่นิด

ข้อมูลอ้างอิงและที่มาภาพประกอบ
  • wip-designcollective.com
  • www.sciencedirect.com
  • vikaspedia.in
  • disabledtraveladvice.co.uk
  • www.designtrust.org
  • www.linkedin.com
  • dyslexiefont.com
  • neurohealthah.com
  • senmagazine.co.uk
  • www.verdict.co.uk
  • newyorkyimby.com

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน