“ฮุ้งใช้เวลา 7 ปีเต็ม ๆ เพื่อซ่อมบ้านหลังนี้” คุณฮุ้ง-วีณา มะหะสิทธิ์ เอ่ยขึ้นขณะที่ผมกำลังยืนชื่นชมเรือนไม้สักหลังงาม ซึ่งกลายมาเป็น Luxury BnB ที่เพิ่งเปิดรับรองแขกคู่แรกไปเมื่อวันวาเลนไทน์ที่ผ่านมา

“ฮุ้งตั้งชื่อที่นี่ว่า ‘นีลนิวาส’ แปลว่า บ้านสีเขียว เพราะตัวบ้านทาสีเขียว ที่นี่ไม่ใช่โรงแรม แต่เป็นบ้าน เพราะเราดูแลแขกเหมือนคนในครอบครัวที่เดินทางมาเยี่ยมเยียนกัน”

คอลัมน์ Heritage House ขอนำคุณผู้อ่านมาทำความรู้จักกับนีลนิวาสและกระบวนการอนุรักษ์อาคารโบราณที่คุณฮุ้งแอบเรียกขานด้วยอาการเขินว่าเป็น ‘กระบวนการอนุรักษ์ตามยถากรรม’

“ช่วงระหว่างการซ่อมแซมบ้านหลังนี้ ฮุ้งไม่เคยเล่าให้ใครฟังเลย ไม่ใช่จะทำเซอร์ไพรส์อะไรนะคะ แต่ไม่แน่ใจว่ามันจะเสร็จสมบูรณ์ ถูกต้อง ดีหรือไม่ดีอย่างไร” เธอกล่าวด้วยอาการเขินอีกครั้ง

แต่เมื่อการบูรณะเสร็จสิ้นลงไป สมาคมสถาปนิกสยามฯ ได้ประกาศให้นีลนิวาสได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ประเภทงานอนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรมและชุมชนระดับดีมาก ประจำ พ.ศ. 2565 ซึ่งถือว่าเป็นรางวัลสูงสุดในประเภทนี้และในครั้งนี้

วันนี้คุณฮุ้งพร้อมสลัดความเขินทิ้งไปจนหมดสิ้น เธอกำลังจะเปิดเผยให้ The Cloud ฟังเป็นครั้งแรกว่าการอนุรักษ์ตามยถากรรมของเธอนั้นเป็นอย่างไร

นีลนิวาส จากบ้านขุนนางริมคลองบางหลวง สู่ Luxury BnB ที่ได้รางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น

จากบ้านเขา สู่บ้านที่เรารัก

“บ้านหลังนี้ไม่ใช่บ้านของบรรพบุรุษฮุ้งนะคะ เป็นบ้านที่พ่อซื้อมาเมื่อ พ.ศ. 2551 ค่ะ” คุณฮุ้งเอ่ย

ครอบครัวคุณฮุ้งเป็นครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีน อากงและอาม่าริเริ่มธุรกิจย้อมผ้าอยู่ในย่านบางกอกใหญ่ ใกล้ ๆ วัดหงส์รัตนาราม

“ถ้าย้อนกลับไปราว ๆ 90 ปีก่อนหน้านี้ คนในชุมชนแห่งนี้ประกอบอาชีพย้อมผ้าเป็นหลัก ถ้าไปอ่านหนังสือเรื่อง เด็กบ้านสวน เขียนโดย พ.เนตรรังษี ก็จะพบว่ามีกิจการย้อมผ้าคราม ผ้ามะเกลือ ฯลฯ แล้วก็เอาผ้าที่ย้อมเสร็จแล้วมาแขวนตากกันไว้ตามพื้นที่ว่างในชุมชน อย่างบริเวณวัดหงส์ฯ เองก็เคยเป็นพื้นที่ตากผ้ามาก่อน อีกฟากหนึ่งของคลอง ตรงข้ามกับบ้านของเรา เป็นชุมชนโรงคราม ซึ่งเป็นแหล่งย้อมผ้าครามขนาดใหญ่ อากงกับพ่อก็ทำกิจการโรงย้อมผ้าเช่นกัน แต่ตากกันในบ้านของเราซึ่งเป็นบ้านเช่า พวกเราเป็นกลุ่มครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีนที่อาศัยอยู่กลาง ๆ ซอย 

“ย่านนี้เป็นย่านที่น่าสนใจ เพราะมีลักษณะสังคมแบบพหุวัฒนธรรม อย่างต้นซอยเป็นชุมชนมุสลิม กลางซอยเป็นไทย-จีน เลยไปก็เป็นวัดไทย เลยไปอีกก็เป็นมุสลิมอีก ถ้าขยันเดินต่อไปเรื่อย ๆ จนถึงกุฎีจีน ก็จะเจอวัดกัลยาณมิตร โบสถ์ซางตาครู้ส และศาลเจ้าเกียนอันเกง เรียงต่อ ๆ กันไป”

“อากง อาม่า และพ่อ ถือว่าเป็นคนในย่านนี้ พ่อเกิดและเติบโตที่นี่ ส่วนฮุ้งเกิดและเติบโตที่สำเพ็ง ตอนนั้นธุรกิจค้าผ้าของครอบครัวเรามีหน้าร้านอยู่ที่นั่น พ่อกับแม่เลยย้ายไปอยู่ที่สำเพ็ง ฮุ้งเคยถูกส่งมาให้อาม่าและอาเลี้ยงดูที่ฝั่งธนฯ ตอนอายุแค่ 1 – 2 ขวบ เลยจำอะไรไม่ค่อยได้ จำได้เพียงราง ๆ ว่าเวลากลับมาเยี่ยมอากงอาม่าทีไรก็เห็นว่าบ้านโบราณหลังนี้มีต้นกล้วยเยอะ และเป็นบ้านที่ชาวบ้านต่างเกรงใจ แต่ไม่เคยเข้าไปข้างในเลยค่ะ” คุณฮุ้งรำลึกถึงความหลัง

นีลนิวาส จากบ้านขุนนางริมคลองบางหลวง สู่ Luxury BnB ที่ได้รางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น

เมื่อธุรกิจค้าผ้าของครอบครัวเติบโตมากขึ้น คุณพ่อจึงต้องการขยับขยายพื้นที่ให้รองรับกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่

“พ่ออยากหาบ้านที่มีบริเวณกว้างขึ้น เพื่อใช้เป็นทั้งที่อยู่อาศัยและโกดังเก็บผ้า ที่สำคัญคืออยากได้บ้านที่เป็นกรรมสิทธิ์ที่ดินของตัวเอง ไม่ต้องเช่าพื้นที่จากคนอื่น และไม่ไกลจากร้านของเราที่สำเพ็ง ตอนนั้นทายาทท่านเจ้าของบ้านกำลังอาศัยอยู่ในที่ดินผืนที่อยู่ติด ๆ กับบ้านโบราณหลังนี้ พอราว ๆ พ.ศ. 2540 พ่อก็ได้ติดต่อขอซื้อบ้านจากเขา เพราะอยู่ตรงข้ามบ้านอากงอาม่าพอดี ต่อมาใน พ.ศ. 2551 พ่อตัดสินใจซื้อบ้านโบราณหลังนี้เพิ่มอีกหลังเพราะที่ดินอยู่ติดกัน ตอนที่ซื้อนั้น ฮุ้งเพิ่งเดินทางกลับจากฝรั่งเศส ซึ่งฮุ้งไปเรียนต่อที่นั่นหลังจบการศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“พอซื้อบ้านแล้ว พ่อก็ไม่ได้ทำอะไรกับบ้านโบราณหลังนี้เลยนะคะ จนมาในช่วงที่ฮุ้งลาออกจากงานประจำมาเป็นฟรีแลนซ์ ตอนนั้นก็เริ่มคิดว่าจะปรับพื้นที่บางส่วนของบ้านให้กลายเป็นสำนักงานเล็ก ๆ ของตัวเอง เลยเข้าไปสำรวจว่าบ้านมีสภาพอย่างไร” เมื่อคุณฮุ้งเล่าถึงช่วงนี้ ผมจึงรีบถามเธอถึงสภาพบ้านในตอนนั้นทันที

“จำได้ว่าตัวบ้านภายนอกเป็นสีฟ้าที่จืด… จืดจนเทา ภายในบ้านมีการทาสีหลายสีตามแต่ว่าจะเป็นห้องไหน ส่วนที่เป็นไม้ สีย้อมไม้สีเขียวก็มี เคลือบแล็กเกอร์ไม้สีใสก็มี สีน้ำมันก็มี ตอนนั้นประมาณ พ.ศ. 2553 ฮุ้งเพียงแค่เข้าไปถ่ายรูปและสเกตช์ภาพบ้านเก็บไว้ เข้าไปทำความสะอาด และซ่อมเฉพาะบางส่วนที่คาดว่าจะปรับพื้นที่ไว้เป็นออฟฟิศ ไม่ได้ทำอะไรมาก เพียงแต่ทำให้ประตู-หน้าต่างปิดล็อกได้ ติดไฟ ซ่อมท่อน้ำ แต่ในที่สุดก็ไม่ได้ใช้”

นีลนิวาส จากบ้านขุนนางริมคลองบางหลวง สู่ Luxury BnB ที่ได้รางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น
นีลนิวาส จากบ้านขุนนางริมคลองบางหลวง สู่ Luxury BnB ที่ได้รางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น

คุณฮุ้งเป็นสถาปนิกด้วยการศึกษาและวิชาชีพ เธอทำงานออกแบบอาคารร่วมสมัย แต่ไม่ได้เป็นสถาปนิกอนุรักษ์

“แต่การที่ฮุ้งได้ไปเรียนและทำงานอยู่ที่ฝรั่งเศสราว ๆ 6 ปี เลยมีโอกาสเห็นอาคารโบราณสวยงามที่นั่นมากมาย รู้เลยว่าคนยุโรปให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์อาคารเก่า อาคารเก่าเหล่านี้แสดงถึงวัฒนธรรมและความเจริญ มันเป็นความ Luxury ในรูปแบบหนึ่ง และเป็นสมบัติของประเทศที่ควรภูมิใจ”

นีลนิวาส จากบ้านขุนนางริมคลองบางหลวง สู่ Luxury BnB ที่ได้รางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น

หลังจากที่บ้านตกมาอยู่ภายใต้กรรมสิทธิ์ของครอบครัวเธอเป็นเวลา 7 ปี ในที่สุดเธอก็ตัดสินใจว่าจะลงมือซ่อม

“ฮุ้งเป็นพี่คนโตของครอบครัว เป็นสถาปนิก แม้จะไม่ใช่สถาปนิกอนุรักษ์ก็ตาม ถ้าเราไม่ทำแล้วใครจะทำ ฮุ้งปล่อยให้อาคารสวยหลังนี้พังทลายลงไปไม่ได้อย่างแน่นอน แต่จะซ่อมอย่างไร ซ่อมให้เป็นอะไร ใช้งบประมาณเท่าไหร่ บอกเลยว่าตอนนั้นก็ยังไม่แน่ใจ”

แต่เธอพร้อมจะลุยต่อไม่รอแล้ว

เริ่มด้วยใคร อะไร ที่ไหน

“พ่อซื้อบ้านต่อจากทายาทลูกหลานสกุลชูโต แน่นอนว่าบ้านหลังนี้ไม่ใช่ของบรรพบุรุษเรา ฮุ้งจึงต้องศึกษาประวัติบ้านหลังนี้เพราะใคร ๆ ก็ต้องถาม และเราก็ควรมีคำตอบที่ชัดเจนให้กับทุกคน นอกจากนี้บ้านยังเป็นตัวบอกฐานานุศักดิ์ของผู้อาศัยว่า ท่านเป็นใคร ทำอะไร มีชีวิตอยู่ช่วงไหน ซึ่งล้วนส่งผลต่อลักษณะทางสถาปัตยกรรมของบ้าน รวมทั้งการซ่อมบำรุงอย่างแน่นอน ฮุ้งจึงให้ความสำคัญกับการสืบค้นประวัติบ้านมาก ๆ”

ในที่สุดคุณฮุ้งก็ค้นพบว่าเจ้าของบ้านท่านแรกนี้คือ พระยาอาหารบริรักษ์ (ผึ่ง ชูโต) บุตร นายสุจินดา (พลอย ชูโต) หุ้มแพรในรัชกาลที่ 4 และนางละโว้ พระยาอาหารบริรักษ์มีพี่สาวต่างมารดาคือ ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ภรรยา เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) อดีตอธิบดีกรมพระคลัง อธิบดีจัดการกรมภาษีร้อยชักสาม เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ฯลฯ ซึ่งถือว่าเป็นข้าราชการคนสำคัญในสมัยนั้น

นีลนิวาส จากบ้านขุนนางริมคลองบางหลวง สู่ Luxury BnB ที่ได้รางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น

“เจ้าพระยาภาสกรวงศ์เป็นผู้สนับสนุนพระยาอาหารบริรักษ์ให้ไปศึกษาต่อที่อังกฤษจนจบการศึกษา กลับมารับราชการกับท่าน ในสมัยก่อน ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จะทำงานกันที่บ้าน บ้านเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ก็ปลูกอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ท่านจึงให้พระยาอาหารบริรักษ์มาปลูกแพอาศัยอยู่หน้าเรือนของท่าน สันนิษฐานว่าพระยาอาหารบริรักษ์ช่วยราชการอันเกี่ยวเนื่องกับกระทรวงเกษตราธิการ เพราะต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ท่านได้รับมอบหมายให้ทำการรังวัดและออกโฉนดที่ดินฉบับแรกของประเทศไทย เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งของราษฎรในพื้นที่ตำบลบ้านแป้ง อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ดังนั้นบ้านหลังนี้จึงเป็นที่รู้จักกันในนามบ้านพระยาอาหารบริรักษ์มาโดยตลอด เรายังได้ทำสำเนาโฉนดที่ดินฉบับดังกล่าว รักษาและจัดแสดงไว้จนทุกวันนี้”

นีลนิวาส จากบ้านขุนนางริมคลองบางหลวง สู่ Luxury BnB ที่ได้รางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น

พระยาอาหารบริรักษ์สมรสกับ คุณหญิงผาด ชูโต (สกุลเดิม รามโกมุท) บุตรี หลวงอภัยเสนา ราชองครักษ์ในรัชกาลที่ 5 ซึ่งคุณฮุ้งค้นพบข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับท่านและบ้านหลังนี้หลายประเด็น

“ฮุ้งพบเรื่องราวของคุณหญิงผาด เขียนโดย คุณเนื่องน้อย บุตรสาวคนสุดท้องของท่าน คุณเนื่องน้อยเล่าว่าตอนที่คุณพ่อและคุณแม่สร้างครอบครัวอยู่บนเรือนแพหน้าบ้านเจ้าพระยาภาสกรวงศ์นั้น ท่านยังมีบุตรไม่ครบทั้ง 6 คน มีเพียงบุตรสาวคนโต (คุณผิว ชูโต) และบุตรชายคนรอง (คุณโชติ ชูโต) เท่านั้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็คือว่า ท่านต้องกระโดดลงน้ำเพื่อดำลงไปงมลูกเล็ก ๆ ที่ประสบอุบัติเหตุตกน้ำถึง 11 ครั้ง และนี่คือปัจจัยสำคัญที่พระยาอาหารบริรักษ์และคุณหญิงผาดต้องตัดสินใจละทิ้งเรือนแพเพื่อหาที่ปลูกบ้านหลังใหม่บนบก”

นีลนิวาส จากบ้านขุนนางริมคลองบางหลวง สู่ Luxury BnB ที่ได้รางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น

“บ้านหลังนี้เป็นเรือนไม้สักหลังใหญ่ ราคาก่อสร้างสูงแน่ ๆ จากบันทึกเราจึงทราบว่าคุณหญิงผาดเป็นบุคคลสำคัญที่ช่วยสามีหารายได้เพื่อนำมาปลูกบ้าน ฮุ้งคิดว่าคุณหญิงผาดเป็นสตรีสายบู๊เลยทีเดียว (หัวเราะ)”

ผมขออนุญาตคัดข้อความที่คุณเนื่องน้อยบรรยายถึงวิธีหารายได้ของคุณหญิงผาดไว้ใน หนังสืออนุสรณ์งานฌาปนกิจศพ ของท่าน เมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2494 ณ วัดไตรมิตรวิทยาราม ดังนี้

สมัยเมื่อรัฐบาลยังมิได้จัดให้มีวิธีเก็บภาษีอย่างใหม่ ในเฉพาะด้านภาษีขาเข้าและขาออก ได้ตั้งกรมศุลกากรขึ้น การเก็บภาษีขาเข้านั้น หาได้เก็บชักตามราคาของไม่ หากรับเอาสิ่งของไว้ อัตราภาษีนั้น ตามสัญญากับต่างประเทศบังคับให้เก็บได้เพียงร้อยละ 3 ของราคาของ และเพื่อสะดวกในการประเมินได้เก็บเป็นสิ่งของแทน ดังที่เรียกว่า ‘ภาษีร้อยชักสาม’ เช่น น้ำมันก๊าด 100 ปี๊บ รัฐบาลก็เก็บ ไว้เสีย 3 ปี๊บ แล้วมีการขายเลหลังน้ำมัน 3 ปี๊บนั้น คุณแม่เล่าว่าได้มีโอกาสติดต่อกับทางกรมศุลกากร และได้รับเลหลังของหลายสิ่งหลายอย่างได้โดยเงินเชื่อ เมื่อนำของไปขายพอมีกำไรบ้าง แล้วก็นำเงินไปชำระค่าสิ่งของที่ค้าง และรับเลหลังสิ่งของมาใหม่ตามลำดับ

“ยังมีอีกเกร็ดประวัติที่ฮุ้งคิดว่าน่าสนใจ คือท่านใช้บริเวณบ้านเป็นที่หารายได้ด้วยการทำอุตสาหกรรมหมากดิบสด หมากดิบแห้ง เนื่องจากคุณหญิงผาดได้รับมรดกเป็นสวนหมาก สวนพลู และสวนผลไม้เป็นจำนวนมากจากคุณย่า ผลหมากและใบพลูออกมาครั้งละเป็นจำนวนมาก ท่านเก็บหมากดิบสดไปขายอย่างไรก็ไม่ทัน ท่านจึงเกณฑ์ให้ลูก ๆ มาเปลี่ยนหมากดิบสดให้เป็นหมากดิบแห้ง เพื่อยืดอายุหมากเอาไว้ขายได้นาน ๆ ซึ่งกิจกรรมนี้เรียกว่า ทำหมาก พระยาอาหารบริรักษ์ท่านก็ร่วมสนับสนุนกิจการของภรรยาเต็มที่ ท่านออกแบบเตาย่างหมากสำหรับใช้เพื่อการนี้โดยเฉพาะ โดยอาศัยความรู้ที่ไปเรียนมาจากอังกฤษ คุณหญิงผาดทำหมากอย่างจริงจัง จนกลายเป็นแม่ค้าหมากที่มีโกดังหมากดิบแห้งใหญ่ที่สุดในธนบุรี บันทึกที่คุณเนื่องน้อยเขียนถึงคุณหญิงช่วยลบภาพจำของสตรีไทยสมัยก่อนที่เราอาจมองว่าท่านเป็นเพียงแม่บ้านแม่เรือนเท่านั้น”

ด้วยการทำธุรกิจประมูลและจำหน่ายสินค้าจากการเก็บภาษีร้อยชักสาม การขวนขวายสร้างรายได้ด้วยวิธีต่าง ๆ รวมทั้งความมัธยัสถ์ของท่าน ในที่สุดครอบครัวของพระยาอาหารบริรักษ์และคุณหญิงผาดก็สร้างบ้านหลังงามบนผืนดินสำหรับครอบครัวสำเร็จเรียบร้อย

“ที่ท่านเลือกซื้อที่ดินริมคลองบางกอกใหญ่ หรือที่คนสมัยก่อนนิยมเรียกว่าคลองบางหลวง เพราะนอกจากเป็นที่นิยมแก่การสร้างบ้านของเหล่าขุนนาง ข้าราชการ หรือผู้มีฐานะดีแล้ว น่าจะเป็นเพราะตั้งอยู่ไม่ไกลจากที่ทำงานของท่าน ซึ่ีงก็คือบ้านเจ้าพระยาภาสกรวงศ์นั่นเอง”

ส่องสถาปัตยกรรม

บนพื้นที่ริมคลองบางกอกใหญ่อันเป็นที่ตั้งของบ้านหลังนี้ ปรากฏอาคารหลัก ๆ อยู่ด้วยกัน 3 หลัง ได้แก่ เรือนริมน้ำที่ปลูกอยู่ริมคลองบางกอกใหญ่ ลึกเข้ามาบนผืนดิน มีเรือนอยู่ 2 เรือน เรือนแรกตั้งอยู่ค่อนไปทางคลอง เป็นเรือนไม้สัก 2 ชั้น อีกเรือนค่อนมาใกล้ถนน ซึ่งเป็นเรือน 2 ชั้นเช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่าชั้นบนเป็นเรือนไม้ ส่วนชั้นล่างเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ทั้ง 2 เรือนเชื่อมกันด้วยทางเดินไม้มีหลังคาทั้ง 2 ชั้น ส่งผลให้อาคารมีผังคล้ายตัวอักษรตัวยู (U) ที่มีลานเล็ก ๆ (Court) อยู่ตรงกลาง

นีลนิวาส จากบ้านขุนนางริมคลองบางหลวง สู่ Luxury BnB ที่ได้รางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น
เรือนที่ 1 เรือนริมน้ำ ปลูกริมคลองบางกอกใหญ่
นีลนิวาส จากบ้านขุนนางริมคลองบางหลวง สู่ Luxury BnB ที่ได้รางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น
เรือนที่ 2 เรือนไม้สัก 2 ชั้น ปลูกค่อนมาทางคลอง เป็นเรือนประธานของพื้นที่

“ฮุ้งคิดว่าช่างชาวตะวันตกเป็นผู้ออกแบบบ้านหลังนี้ค่ะ แต่ตอนนี้ก็ยังสืบค้นไม่ได้ว่าเป็นใคร เท่าที่แน่ใจคือสร้างขึ้นประมาณ พ.ศ. 2433 ในสมัยรัชกาลที่ 5” คุณฮุ้งเอ่ยถึงเรือนไม้ 2 ชั้นซึ่งเป็นอาคารประธานของพื้นที่ พ.ศ. 2433 เป็นปีระหว่างที่บุตรชายคนรอง คือคุณโชติ ชูโต (ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น อำมาตย์เอก พระมัญชุวาที และเป็นบิดาของ คุณไข่มุกด์ ชูโต ประติมากรหญิงแห่งราชสำนักคนแรกของประเทศไทย) กำลังอยู่ในวัยซน และ คุณพลับ ชูโต บุตรสาวคนที่ 3 เพิ่งเกิด

นีลนิวาส จากบ้านขุนนางริมคลองบางหลวง สู่ Luxury BnB ที่ได้รางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น
เรือนที่ 3 เป็นเรือนค่อนมาใกล้ถนน ชั้นบนเป็นไม้ ชั้นล่างก่ออิฐถือปูน มีทางเดินเชื่อมกับเรือนที่ 2 ก่อให้เกิดผังอาคารรูปตัวยู (U) มีลานเล็ก ๆ (Court) อยู่ตรงกลาง

“ฮุ้งประมวลเอาจากเหตุการณ์ที่กล่าวว่าลูกหญิง-ชาย 2 คนแรกยังเล็ก และตกน้ำถึง 11 ครั้ง ซึ่งเชื่อว่าท่านน่าจะต้องรีบจัดการอะไรบางอย่างก่อนลูกคนที่ 3 เกิด เพราะในบันทึกไม่ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ตกน้ำว่าเกิดขึ้นกับลูกคนที่ 3 และ พ.ศ. 2433 เป็นปีที่ลูกคนที่ 3 เพิ่งเกิด ยังไงบ้านก็ไม่น่าจะสร้างเกินปีนั้น” คุณฮุ้งเริ่มคำนวณ

“แล้วที่ฮุ้งว่าน่าสนใจมากก็คือ ปกติบ้านที่สร้างบนที่ดินที่ใกล้คลองมักปลูกชิดและเปิดหน้าบ้านไปอย่างโก้ ๆ หันไปทางคลองเลย เพราะเมื่อก่อนคลองเป็นเหมือนถนน ผู้คนสัญจรทางน้ำเป็นหลัก ทุกคนต้องพึ่งพาและผูกพันกับสายน้ำในการดำเนินชีวิต พอขึ้นจากคลองก็เดินตรงขึ้นเรือนได้เลย แต่บ้านหลังนี้กลับปลูกลึกเข้าไปในผืนดิน โดยทิ้งระยะห่างจากคลองบางกอกใหญ่พอสมควร และมีเรือนริมคลองหลายหลังปลูกบังแนวน้ำไว้ คาดว่าท่านคงเกรงเรื่องลูกตกน้ำมาก ๆ แถมด้านหน้าบ้านยังปลูกต้นไม้ต้นใหญ่ ๆ อย่างลิ้นจี่ มะม่วง และชมพู่ บังเอาไว้อีกด้วย ซึ่งเรายังคงรักษาต้นไม้คู่บ้านเหล่านี้ไว้ทั้งหมด อย่างลิ้นจี่ต้นนี้ ฮุ้งสันนิษฐานว่าน่าจะมีอายุ 133 ปี พอ ๆ กับตัวบ้าน เพราะปลูกในแนวแกนกลางเดียวกับทางเข้าหลักของบ้านอย่างตั้งใจ”

นีลนิวาส จากบ้านขุนนางริมคลองบางหลวง สู่ Luxury BnB ที่ได้รางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น
เรือนหลังนี้กลับปลูกลึกเข้าไปในผืนดิน ทิ้งระยะห่างจากคลองพอสมควร
นีลนิวาส จากบ้านขุนนางริมคลองบางหลวง สู่ Luxury BnB ที่ได้รางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น
ต้นลิ้นจี่ที่ปลูกคู่กับบ้านมาแต่เดิมซึ่งยังรักษาไว้จนถึงทุกวันนี้

“ส่วนเรือนไม้ชั้นเดียวที่ปลูกอยู่ริมคลองนั้นกลับกลายเป็นเรือนของบ่าว และบางส่วนก็ปล่อยเช่า บริเวณรอบ ๆ เรือนนี้จึงเป็นพื้นที่ใช้สอยที่เกี่ยวข้องกับการอยู่อาศัยและค้าขายของผู้เช่า เป็นพื้นที่ล้างทำความสะอาดภาชนะ ซักผ้า ตากผ้า”

แล้วอาคารสำคัญที่เป็นประธานของพื้นที่หลังนี้มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่ควรสังเกตอะไรบ้าง

“เรือนไม้สัก 2 ชั้นหลังนี้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นการก่อสร้างเรือนไม้ 2 ชั้นบนฐานก่ออิฐแบบรับน้ำหนักที่มีความสูง 80 เซนติเมตร สิ่งที่น่าสังเกตคือมีมุขหกเหลี่ยม 2 มุขทางด้านหน้าอาคารที่สมมาตรกัน (Symmetrical) ดูคล้ายขาคู่หน้าของสิงโตหมอบ และเป็นการออกแบบหน้ามุขที่เหมือนกัน ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น เราจะพบเห็นมุขที่สมมาตรกันเช่นนี้ได้น้อย”

นีลนิวาส จากบ้านขุนนางริมคลองบางหลวง สู่ Luxury BnB ที่ได้รางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น
เรือนไม้สักที่ปรากฏมุขหกเหลี่ยมหน้าอาคารที่สมมาตรกัน

“ตัวเรือนประดับลายฉลุโดยรอบ โดยเฉพาะทางเข้า (Main Entrance) เพราะเมื่อก่อน ด้านนี้คือหน้าบ้าน ทางเข้าจึงต้องดูโก้ นอกจากนี้ยังมีลายฉลุประดับเหนือหน้าต่างชั้นล่างแทบทุกบานอีกด้วย เป็นลวดลายที่งดงามลงตัว ไม่ได้วิจิตรจนเกินไป คิดว่าท่านสร้างบ้านในลักษณะบ้านของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งไม่ได้ทำเทียบเทียมวังเจ้านาย ลายฉลุเหล่านี้นอกจากสร้างความงดงามแล้ว ยังช่วยระบายอากาศได้ดี ถ้าสังเกตดี ๆ จะพบลายฉลุบางลายมีลักษณะคล้ายลายแบบมุสลิม สันนิษฐานว่าเมื่อตอนแรกสร้าง ท่านเจ้าของบ้านคงใช้ช่างภายในท้องถิ่น ซึ่งมีชาวมุสลิมอยู่เป็นจำนวนมาก”

นีลนิวาส จากบ้านขุนนางริมคลองบางหลวง สู่ Luxury BnB ที่ได้รางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น
ตัวเรือนประดับลายฉลุโดยรอบ โดยเฉพาะทางเข้า (Main Entrance) 
ภาพ : วิสันต์ ตั้งธัญญา และ W Workspace
นีลนิวาส จากบ้านขุนนางริมคลองบางหลวง สู่ Luxury BnB ที่ได้รางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น
ลายฉลุบางลายคล้ายแบบมุสลิม สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือช่างในท้องถิ่นในขณะนั้น
นีลนิวาส จากบ้านขุนนางริมคลองบางหลวง สู่ Luxury BnB ที่ได้รางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น
ลายฉลุอื่น ๆ ที่ปรากฏอยู่เหนือหน้าต่างรอบอาคาร

“ลองสังเกตหน้าต่าง ก็จะพบว่ามีหลายระบบ คือมีทั้งบานเปิดเดี่ยว บานเปิดคู่ และบานเปิดต่อเนื่องหลายบาน หน้าต่างบางบานเป็นบานทึบทั้งบาน หรือมีเกล็ดระบายอากาศร่วมด้วยทางด้านบน บานเกล็ดที่ว่ามีทั้งแบบบานกระทุ้งได้และกระทุ้งไม่ได้ หรือบานเกล็ดแบบปรับองศาได้ก็มี บานหน้าต่างเหล่านี้นับว่าเป็นลักษณะของสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลมาจากอิตาลีตอนใต้ หน้าต่างเหล่านี้ทำหน้าที่หลากหลาย ผู้อาศัยสามารถเลือกเปิด-ปิดเพื่อกรองปริมาณแสงสว่างและควบคุมอุณหภูมิให้พอเหมาะ ช่วยกันลมกันฝนได้ตามที่ต้องการ”

นีลนิวาส จากบ้านขุนนางริมคลองบางหลวง สู่ Luxury BnB ที่ได้รางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น
หน้าต่างมีหลายระบบ ได้รับอิทธิพลมาจากอิตาลีตอนใต้

“มีลูกกรงเหล็กหล่อ ซึ่งถือว่าเป็นของมีราคาในสมัยนั้น เพราะเหล็กหล่อเป็นวัสดุที่ผลิตไม่ได้ในเมืองไทย ต้องนำเข้ามาจากยุโรป ผู้มีฐานะดีจึงจะเสาะหานำมาตกแต่งบ้านได้ ลูกกรงเหล็กหล่อที่ใช้ตกแต่งเป็นราวกันตกของที่นี่ถือว่าเป็นของมีค่ามาก เพราะดูหนาและหนัก ลวดลายก็ดูหรูหราอีกด้วย”

นีลนิวาส จากบ้านขุนนางริมคลองบางหลวง สู่ Luxury BnB ที่ได้รางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น
ลูกกรงเหล็กหล่อที่มีลายงดงาม 
ภาพ : วิสันต์ ตั้งธัญญา และ W Workspace

สันนิษฐานว่าเรือนไม้ 2 ชั้นหลังนี้สร้างขึ้นก่อน เพื่อเป็นที่พำนักของครอบครัว ต่อมาจึงสร้างเรือนหลังที่ 2 ขึ้นด้านหลัง เป็นเรือน 2 ชั้นที่ชั้นบนเป็นเรือนไม้ ชั้นล่างเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนบนฐานสูง 1.40 เมตร มีทางเดินไม้แบบมีหลังคาคลุมเชื่อมเรือนทั้งสองหลัง ทั้งชั้นบนและชั้นล่างเข้าด้วยกัน ส่งผลให้เกิดรูปทรงอาคารแบบตัวยู และมีลานเล็ก ๆ อยู่ตรงกลางอย่างที่กล่าวไป

“อาคารหลังที่ 2 นี้อยู่ใกล้ถนน สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ทำงานของพระยาอาหารบริรักษ์เมื่อท่านเติบโตก้าวหน้าในราชการมากยิ่งขึ้น สิ่งที่น่าสังเกตคือทางเดินเชื่อมอาคารหลังแรกและหลังที่ 2 นี้มีมุขเฉลียงเล็ก ๆ ยื่นออกมาหันหน้าไปทางด้านทิศเหนือสำหรับขึ้น-ลงรถยนต์ (Drop Off) อยู่ด้วย อย่างที่เคยเล่าไว้ว่าข้าราชการสมัยก่อนมักทำงานที่บ้าน เลยคิดว่าท่านคงสร้างอาคารเพื่อใช้เป็นสำนักงานให้เป็นสัดส่วน เพื่อให้ผู้มาติดต่อเรื่องราชการอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ปะปนกับสมาชิกครอบครัว และน่าจะเป็นช่วงเวลาที่การสัญจรทางคลองเริ่มลดบทบาทลง ในขณะที่การใช้ถนนเริ่มมีบทบาทมากขึ้น ถึงมีบริเวณ Drop Off ที่เรือนหลังนี้”

นีลนิวาส เปลี่ยนเรือนไม้สักสีเขียวของตระกูลชูโตเป็นที่พักเปิดใหม่ ด้วยกระบวนการ ‘อนุรักษ์ตามยถากรรม’ ที่สมาคมสถาปนิกสยามฯ ยกรางวัลให้
ภาพแผนที่สำรวจราว พ.ศ. 2465 – 2473 แสดงให้เห็นถึงอาคารทั้ง 2 หลังของบ้านพระยาอาหารบริรักษ์ ปรากฏให้เห็นเส้นทางการเข้าถึงของรถยนต์และจุด Drop Off 
ภาพ : กรมแผนที่ทหาร
นีลนิวาส เปลี่ยนเรือนไม้สักสีเขียวของตระกูลชูโตเป็นที่พักเปิดใหม่ ด้วยกระบวนการ ‘อนุรักษ์ตามยถากรรม’ ที่สมาคมสถาปนิกสยามฯ ยกรางวัลให้
ภาพแสดงจุด Drop Off ที่ยังคงหลงเหลือให้เห็นอยู่จนวันนี้

เราเดินชมบ้านพร้อมรับฟังเรื่องราวอันเป็นข้อมูลด้านสถาปัตยกรรมกันจนพอเข้าใจแล้ว ทีนี้ก็มาถึงเนื้อหาสำคัญ นั่นคือกระบวนการอนุรักษ์ที่เธอบอกว่าเป็น ‘กระบวนการอนุรักษ์ตามยถากรรม’

ลอง-เรียน-รู้ หลากหลายวิธีสู่ความสำเร็จ

“ฮุ้งไม่ใช่สถาปนิกอนุรักษ์ แต่เคยมีประสบการณ์ทำโปรเจกต์หนึ่งในหลวงพระบาง โดยนำคุกเก่ามาปรับให้เป็นโรงแรมหรู ประสบการณ์ครั้งนั้นส่งผลให้เราพอจะรู้ขั้นตอนการทำงานออกแบบกับอาคารเก่าบ้าง” โปรเจกต์ที่คุณฮุ้งเอ่ยถึงคือโรงแรม Alila Luang Prabang ที่ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Hotel de la Paix Luang Prabang

“ประมาณ พ.ศ. 2553 ที่มีความคิดว่าจะใช้พื้นที่บางส่วนเพื่อเป็นออฟฟิศสำหรับงานฟรีแลนซ์ ฮุ้งเลยเข้ามานั่งวาดภาพด้วยดินสอ เป็นการวาดภาพลายเส้นลงบนกระดาษ A4 เห็นอย่างไรก็วาดแบบนั้น ยังไม่ได้วัดระยะอะไรให้เป็นเรื่องเป็นราว ค่อย ๆ ไล่วาดไปทีละด้าน ไม่ได้สนใจว่าจะเบี้ยวยังไง (หัวเราะ) 

“แต่ในที่สุดก็ไม่ได้ทำเป็นออฟฟิศ จน พ.ศ. 2557 ที่เราเริ่มซ่อม ฮุ้งก็เอาภาพที่เคยสเกตช์ไว้ออกมาดู เอาไปถ่ายสำเนาขยายเป็นกระดาษขนาด A3 ให้ช่างช่วยวัดรายละเอียดต่าง ๆ แล้วบันทึกลงไป กระดาษแผ่นนี้ใช้เวลามากกว่า 5 ปีกว่าจะค่อย ๆ เติมรายละเอียดลงไปอย่างที่เห็นอยู่”

คุณฮุ้งเล่าพร้อมนำกระดาษแผ่นสำคัญมาให้ดู แม้ว่าต่อมาเธอจะนำภาพร่างและข้อมูลทั้งหมดไปบันทึกเป็นดิจิทัลไฟล์ หรือทำหุ่นจำลองอาคาร (Model) ออกมาในตอนหลัง แต่เธอก็มักจะกลับมาใช้ข้อมูลจากภาพสเกตช์เช่นภาพนี้อยู่เสมอ

นีลนิวาส เปลี่ยนเรือนไม้สักสีเขียวของตระกูลชูโตเป็นที่พักเปิดใหม่ ด้วยกระบวนการ ‘อนุรักษ์ตามยถากรรม’ ที่สมาคมสถาปนิกสยามฯ ยกรางวัลให้
ภาพนี้ใช้เวลากว่า 5 ปี ตั้งแต่เริ่มวาดลายเส้นและค่อย ๆ เติมรายละเอียดลงไประหว่างสำรวจ

“การซ่อมบ้านทั้งหลังจะใช้งบประมาณเท่าไหร่นั้นเรากำหนดไม่ได้ ในตอนนั้นเรายังไม่มีภาพที่ชัดว่าจะซ่อมบ้านมาเป็นอะไร ฮุ้งคิดว่าทำเท่าที่พอทำได้ไปก่อน คือเท่าที่กำลังเรามี โชคดีที่พ่อสนับสนุน และเราก็ค่อย ๆ เรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน ฮุ้งจัดสรรเรื่องงบเป็นรายเดือน แต่ละเดือนจะมีเงินจำนวนหนึ่งเข้าสมทบเป็นทุนสำหรับการบูรณะ เหมือนให้เงินเดือนบ้านไปเรื่อย ๆ ทุกเดือน มีทั้งที่คุณพ่อ คุณแม่สนับสนุน และเมื่อฮุ้งมีกำลังเพียงพอ ก็ร่วมสมทบทุนเข้าไปด้วย มีการจดบันทึกรายจ่ายอย่างละเอียดทั้งหมดทุกรายการตลอด 7 ปีที่ซ่อม”

สูตรของเธอคือง่ายไปยาก เอาเท่าที่ไหว แล้วค่อย ๆ ไปทีละนิด แต่โจทย์สำคัญโจทย์แรก คือเธอจะหาช่างที่ไว้ใจได้มาจากไหน

“ฮุ้งไปวัดเลยค่ะ (หัวเราะ) ช่างกำลังซ่อมกุฏิพระที่วัดหงส์ฯ ฮุ้งบุกเข้าไปหาช่างเลย เราคิดว่าคนที่ซ่อมอาคารเก่าอย่างกุฏิพระได้ต้องเป็นคนประณีต ละเอียดอ่อน น่าจะมีฝีมือพอที่จะซ่อมบ้านโบราณของเราได้เช่นกัน (หัวเราะ)” และในที่สุดเธอก็พบกับ ช่างตุ่ย-ไพรัช จันทร์สว่าง ซึ่งเป็นช่างคู่ใจคนแรก

นีลนิวาส เปลี่ยนเรือนไม้สักสีเขียวของตระกูลชูโตเป็นที่พักเปิดใหม่ ด้วยกระบวนการ ‘อนุรักษ์ตามยถากรรม’ ที่สมาคมสถาปนิกสยามฯ ยกรางวัลให้

“เริ่มที่ซ่อมหลังคาเรือนด้านใกล้ถนนก่อน ซึ่งซับซ้อนน้อยกว่าหลังคาเรือนไม้ 2 ชั้นด้านใกล้คลองที่มีความซับซ้อนมากกว่าเยอะเพราะมีมุขหกเหลี่ยมอยู่ด้านหน้าถึง 2 มุข การเลือกซ่อมเริ่มจากง่ายไปยากเป็นการวัดฝีมือช่างด้วยว่าเขาทำได้ดีแค่ไหน ถ้าทำได้ไม่ดี เรายังพอหาทางแก้ไขได้ทัน แต่ถ้าเริ่มที่ยาก ๆ เลย เราจะแก้ไขลำบาก ฮุ้งก็เอาภาพที่ตัวเองสเกตช์ออกมาเติมระยะต่าง ๆ ที่วัดได้ตามหน้างานเพิ่มเติมก็ในช่วงนี้ เริ่มเสาะหากระเบื้องมุงหลังคา พอได้ของแล้วก็ลงมือซ่อมเลย”

เมื่อซ่อมหลังคาที่ไม่ยุ่งยากเสร็จ ก็มาซ่อมหลังคาเรือนไม้ที่มีมุขหกเหลี่ยม ซึ่งยุ่งยากซับซ้อนกว่า แต่คราวนี้คุณฮุ้งมั่นใจฝีมือของช่างตุ่ยแล้ว

“พอช่างตุ่ยซ่อมหลังคาเรือนทั้ง 2 หลังสำเร็จเรียบร้อย คราวนี้ฮุ้งเลยมาคิดว่าเราน่าจะทำสีต่อไปเลยเถอะ นั่งร้านก็มีอยู่แล้ว จะได้ไม่ต้องรื้อ (หัวเราะ) บางทีขั้นตอนการซ่อมก็เกิดขึ้นจากการตัดสินใจง่าย ๆ แบบนี้ (หัวเราะ) ฮุ้งก็เลยเริ่มการทำสีจากภายนอกอาคารก่อน คือสิ่งที่ฮุ้งทำอาจฝ่าฝืนกฎเกณฑ์ดั้งเดิมนะคะ คือปกติเขาต้องซ่อมจากฐานของอาคารขึ้นไปยังหลังคา แล้วก็ซ่อมจากข้างในมาข้างนอก แต่ฮุ้งซ่อมบนลงล่างและจากนอกไปข้างใน” คุณฮุ้งจบประโยคด้วยเสียงหัวเราะอีกครั้ง แต่เธอมีเหตุผล

“คือฮุ้งอยากซ่อมในส่วนที่เห็นชัด ๆ ก่อนว่าซ่อมแล้วบ้านกลับมาดูดี น่ามอง น่าอยู่ ซึ่งเป็นการสร้างกำลังใจให้กับผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายอย่างพ่อ เลือกซ่อมหลังคาที่ผุพังเสียหายก่อน เพราะต้องกันน้ำฝนไม่ให้ไหลเข้ามาในตัวบ้านเป็นอย่างแรก แต่ก็ถือได้ว่าเป็นความเสี่ยง เหมือนเราเอาของหนักไปวางแปะหัวไว้โดยไม่แน่ใจว่าฐานเป๋หรือเปล่า แต่จากการประเมินของวิศวกรซึ่งให้คำแนะนำว่าอาคารรับไหว เพราะเป็นการกระจายน้ำหนัก ก็โชคดีที่เป็นอย่างนั้น แต่ระหว่างที่ซ่อมฮุ้งก็ให้วิศวกรมาส่องกล้องดูว่าบ้านทรุดหรือไม่ สำรวจอยู่ราว ๆ ปีครึ่ง ผลออกมาว่าโครงสร้างของอาคารด้านใกล้คลองทรุดเอียงเล็กน้อยในบางจุด แต่อาคารหลังที่ใกล้ถนนไม่ทรุดเลย สาเหตุที่ทรุดเกิดจากความชื้นที่ทำให้โคนเสาไม้ผุตรงบริเวณรอยต่อระหว่างเสาโครงสร้างและกำแพงอิฐรับน้ำหนักส่วนฐาน ซึ่งก็ได้ให้ช่างทำการซ่อม ปะ ตัด เพื่อแก้ไขปัญหานี้ในเวลาต่อมาจนเรียบร้อยทุกประการ”

นีลนิวาส เปลี่ยนเรือนไม้สักสีเขียวของตระกูลชูโตเป็นที่พักเปิดใหม่ ด้วยกระบวนการ ‘อนุรักษ์ตามยถากรรม’ ที่สมาคมสถาปนิกสยามฯ ยกรางวัลให้

แล้วสีล่ะ สีเขียวที่เธอเลือกทาบ้านนั้นเป็นสีดั้งเดิมของอาคารหรือไม่

“กรณีนี้ฮุ้งใช้ประสบการณ์จากการมีโอกาสได้เห็นอาคารร่วมสมัยอย่างเช่นหมู่พระตำหนักในพระราชวังดุสิต ซึ่งสีที่ใช้บูรณะพระตำหนักหลาย ๆ หลังก็เป็นสีเขียวอ่อนและแก่ และสีชั้นแรกที่ใช้ในบ้านโบราณหลังนี้คือสีย้อมไม้สีเขียวด้วย ฮุ้งจึงคิดว่าใช้สีเขียวดีกว่า เพราะสื่อถึงอาคารที่อยู่ในยุคสมัยเดียวกัน สีเขียวอ่อนจึงใช้ในส่วนที่เป็นผนัง สีเขียวแก่ใช้เน้นไปส่วนที่เป็นโครงสร้างและกรอบของอาคาร”

เมื่อบ้านเก่าที่เคยดูหม่นหมองเริ่มกลับมาสดใสขึ้น เธอก็รู้สึกยิ่งมีกำลังใจและพร้อมจะเดินหน้าต่อ

“คราวนี้ก็ไล่เก็บรายละเอียดสำคัญ ๆ ที่เกี่ยวกับโครงสร้าง อย่างเอาไม้ยุ่ย ๆ ออกให้หมด เอาปูนและเหล็กเข้าไปเสริมแทน งานไม้ตรงไหนที่มีความเสี่ยงที่จะดูดซึมความชื้นจากดิน ฮุ้งก็จะเอาปูนซีเมนต์ไปบล็อกไว้เพื่อไม่ให้ความชื้นไล่ขึ้นมาตามไม้”

นีลนิวาส เปลี่ยนเรือนไม้สักสีเขียวของตระกูลชูโตเป็นที่พักเปิดใหม่ ด้วยกระบวนการ ‘อนุรักษ์ตามยถากรรม’ ที่สมาคมสถาปนิกสยามฯ ยกรางวัลให้

“ตรงส่วนงานปูนก็สนุก ฮุ้งรู้ว่างานอนุรักษ์อาคารเก่า ๆ จะใช้ปูนดำหรือปูนซีเมนต์เป็นถุง ๆ ที่วางขายสำเร็จรูปไม่ได้ ต้องใช้ปูนหมักปูนตำ แต่เราจะหาปูนหมักมาจากไหน ช่างตุ่ยก็ไม่มีความรู้ ทายสิคะว่าฮุ้งไปไหน” เธอตั้งคำถาม

“ฮุ้งเข้าวัดอีกแล้วค่ะ (หัวเราะ) ถ้าสงสัยอะไรก็เข้าวัดไว้ก่อน ตอนนั้นมีการบูรณะพระปรางค์วัดอรุณฯ พอดี ฮุ้งก็ลุยไปเลย อยากถามเขาว่าหาซื้อปูนหมักได้ที่ไหน ผสมยังไง ฮุ้งอยากขอความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ เพราะเรากำลังซ่อมบ้านเก่าเหมือนกัน ในที่สุดก็ได้ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่และช่างทั้งหมดเกี่ยวกับปูนหมัก ทั้งแหล่งซื้อ สูตรและวิธีผสม วิธีฉาบปูน ฯลฯ แล้วก็นำมาถ่ายทอดให้ช่างตุ่ย มาลองทำด้วยกันเลย (หัวเราะ)” เห็นไหมครับว่าเธอลุยขนาดไหน

การหาข้อมูลของคุณฮุ้งนั้นน่าสนใจ เพราะเธอคว้ามาจากทุกแหล่ง

“ฮุ้งทราบมาจากคุณอาว่าละครโทรทัศน์เรื่อง เรือนแรม ที่ วิลลี่ แมคอินทอช กับ กวาง กมลชนก เล่นคู่กัน ออกอากาศเมื่อ พ.ศ. 2536 เคยใช้บ้านหลังนี้เป็นสถานที่ถ่ายทำ ฮุ้งก็ไปหามาดูเลย เอามาให้ช่างตุ่ยดูด้วย (หัวเราะ) บางอย่างที่เราเดาไม่ออกว่าคืออะไร ภาพจากในละครจะช่วยให้เข้าใจได้ ข้อมูลพวกนี้ก็เอามาใช้วิเคราะห์ว่าสภาพบ้านปีนั้นเป็นอย่างไง คนที่เขาเคยอยู่เขาใช้ชีวิตแบบไหน เราจะทำแบบเดิมอีกได้ไหม อะไรที่ควรเก็บ อะไรควรเปลี่ยน จะเปลี่ยนแบบเก็บทั้งหมด หรือทิ้งรอยไว้ หรือลบทิ้งไปเลยดี ฯลฯ”

นีลนิวาส เปลี่ยนเรือนไม้สักสีเขียวของตระกูลชูโตเป็นที่พักเปิดใหม่ ด้วยกระบวนการ ‘อนุรักษ์ตามยถากรรม’ ที่สมาคมสถาปนิกสยามฯ ยกรางวัลให้

นอกจากละครโทรทัศน์ เธอยังใช้นวนิยายหรือเรื่องสั้นที่มีฉากชีวิตในย่านนี้เป็นข้อมูลอ้างอิงเสริมด้วย

“ชอบอ่านหนังสืออยู่แล้วค่ะ เลยอ่านไปหลายเล่ม พยายามหาหนังสือที่มีฉากชีวิตหรือมีเรื่องราวเกี่ยวกับย่านใกล้ ๆ บ้านเรา คือหวังว่าจะเจออะไรที่เกี่ยวกับบ้านพระยาอาหารบริรักษ์เพิ่มเติมอีก ฮุ้งอยากเชื่อมโยงงานวรรณกรรมกับงานสถาปัตยกรรม” ว่าแล้วเธอก็เลือกหยิบหนังสือออกมาหลายเล่มให้เราชม มีทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น บทความ รวมทั้งหนังสืออนุสรณ์งานศพของบุคคลที่เคยอาศัยอยู่ที่บ้านหลังนี้

เปลี่ยนเรือนไม้สักสีเขียวของตระกูลชูโตเป็นที่พักเปิดใหม่ ด้วยกระบวนการ ‘อนุรักษ์ตามยถากรรม’ ที่สมาคมสถาปนิกสยามฯ ยกรางวัลให้
หนังสือจำนวนหนึ่งที่คุณฮุ้งใช้ศึกษาและรวบรวมข้อมูล

“หลังจากซ่อมไปได้ 3 ปีกว่า ๆ ช่างตุ่ยก็มาลาออก เพราะครอบครัวต้องการย้ายไปที่อื่น ฮุ้งเลยต้องหาช่างใหม่ ฮุ้งก็เดินเข้าวัดอีกครั้ง (หัวเราะ) คราวนี้ฮุ้งได้ ช่างสมาน วงศ์แหล้ จากวัดเศวตฉัตร เจริญนคร ซึ่งโชคดีที่งานโครงสร้างหลักเสร็จสิ้นไปหมดแล้ว เหลืองานเก็บรายละเอียดและงานระบบ ซึ่งไม่ถือว่าเป็นงานที่ยากจนเกินไป”

นีลนิวาส เปลี่ยนเรือนไม้สักสีเขียวของตระกูลชูโตเป็นที่พักเปิดใหม่ ด้วยกระบวนการ ‘อนุรักษ์ตามยถากรรม’ ที่สมาคมสถาปนิกสยามฯ ยกรางวัลให้

แล้วการปรับบ้านสำหรับอยู่อาศัยให้มีสภาพเหมาะสมสำหรับทำธุรกิจ Luxury BnB นั้น คุณฮุ้งเริ่มความคิดนี้ขึ้นเมื่อไหร่

“ตอนที่เริ่มซ่อมบ้านก็มีคิด ๆ ไว้บ้างว่าน่าจะปรับสภาพบ้านให้เป็นมากกว่าที่อยู่อาศัย เคยคิดว่าส่วนหนึ่งของบ้านจะทำเป็นแกลเลอรีแสดงงานศิลปะ อีกส่วนทำเป็นพื้นที่ให้เช่าสำหรับทำออฟฟิศขนาดเล็ก มีแอบคิดถึงธุรกิจอย่างบูทีกโฮเต็ลบ้าง เพราะกระแสกำลังมา จนราว ๆ พ.ศ. 2560 – 2561 ก็กำหนดชัดเจนแล้วว่าจะทำให้เป็นที่พักเล็ก ๆ ขนาด 4 ห้อง โดย 2 ห้องแรกอยู่ที่ชั้นบนของมุขทั้ง 2 ด้านของเรือนไม้สักใกล้คลอง ชั้นล่างเป็นพื้นที่ที่ใช้ร่วมกัน มีห้องนั่งเล่น ห้องทานอาหาร และห้องแสดงเอกสาร สิ่งของ รวบรวมเรื่องราวอันเป็นประวัติของบ้านหลังนี้ไว้ ส่วนเรือนด้านหลังชั้นบนจะเป็นห้องนอนอีก 2 ห้อง ส่วนด้านล่างเป็นพื้นที่ส่วนตัวของครอบครัวฮุ้งค่ะ” 

นีลนิวาส เปลี่ยนเรือนไม้สักสีเขียวของตระกูลชูโตเป็นที่พักเปิดใหม่ ด้วยกระบวนการ ‘อนุรักษ์ตามยถากรรม’ ที่สมาคมสถาปนิกสยามฯ ยกรางวัลให้
นีลนิวาส เปลี่ยนเรือนไม้สักสีเขียวของตระกูลชูโตเป็นที่พักเปิดใหม่ ด้วยกระบวนการ ‘อนุรักษ์ตามยถากรรม’ ที่สมาคมสถาปนิกสยามฯ ยกรางวัลให้
ห้องรวบรวมเอกสารและสิ่งของที่พบในพื้นที่ จัดทำเป็นนิทรรศการถาวรเพื่อแสดงประวัติของบ้าน

“สำหรับเรือนไม้ที่เคยเป็นเรือนบ่าวเรือนเช่าริมคลองนั้น ฮุ้งปรับเป็นพื้นที่ทานอาหารเช้าสำหรับแขก มองออกไปชมวิวคลองได้ ถ้าวันหนึ่งอยากเปิดเป็นร้านกาแฟริมคลองก็ทำได้ เพราะกั้นเป็นสัดเป็นส่วน และทำทางเดินแยกออกไปเรียบร้อยแล้ว ไม่รบกวนแขกที่มาพักแน่นอน แต่ ณ วันนี้ ฮุ้งยังไม่เปิดเป็นร้านกาแฟแต่อย่างใด มีไว้สำหรับบริการแขกและเป็นพื้นที่อเนกประสงค์เท่านั้น”

นีลนิวาส เปลี่ยนเรือนไม้สักสีเขียวของตระกูลชูโตเป็นที่พักเปิดใหม่ ด้วยกระบวนการ ‘อนุรักษ์ตามยถากรรม’ ที่สมาคมสถาปนิกสยามฯ ยกรางวัลให้
นีลนิวาส เปลี่ยนเรือนไม้สักสีเขียวของตระกูลชูโตเป็นที่พักเปิดใหม่ ด้วยกระบวนการ ‘อนุรักษ์ตามยถากรรม’ ที่สมาคมสถาปนิกสยามฯ ยกรางวัลให้
เรือนริมคลองหลังบูรณะเสร็จสิ้น 
ภาพ : วิสันต์ ตั้งธัญญา และ W Workspace

การปรับบ้านเก่าเป็น Luxury BnB นั้น ต้องออกแบบจัดสรรพื้นที่เพิ่มเติม คำนึงถึงการวางระบบน้ำ ระบบไฟฟ้าใหม่ ซึ่งเป็นงานละเอียดพอสมควร โดยเธอยังคงยึดหลักค่อย ๆ ทำไปทีละนิดและเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ เช่นเดิม

“ฮุ้งใช้วิธีเดียวกันกับช่างตุ่ย คือให้ช่างสมานไปลองทำงานแถว ๆ เรือนริมคลองก่อน เป็นการทดสอบฝีมือ จากนั้นค่อยมาทำที่เรือนสำคัญ ๆ อย่างเช่นมากั้นผนังห้อง ทำระบบประปา ฯลฯ งานบางอย่างต้องจ้างช่างผู้เชี่ยวชาญมาจัดการเรื่องนั้น ๆ เช่น ระบบไฟ ระบบกันซึมในห้องน้ำ การลงเข็ม หรือวางถังบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น และฮุ้งก็พยายามรักษาสภาพบ้านให้คงลักษณะเดิมมากที่สุด ยังเก็บระบบโครงสร้างหลังคาแบบเดิม เก็บช่องระบายแบบลายฉลุหรือแบบราชวัตรเอาไว้ เพียงแต่กรุกระจกใสเพื่อกันไม่ให้อากาศเย็นไหลออกจากห้องเพราะเราต้องติดเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น”

ถ้าได้เดินสำรวจนีลนิวาสแบบละเอียด จะพบว่าเธอมีกระบวนการเก็บและชี้ให้เห็นว่าของเดิมและของใหม่หลังบูรณะเป็นอย่างไร

“ฮุ้งติดป้ายทองเหลืองเล็ก ๆ กำกับไว้เลยค่ะว่าจุดไหนเป็นของดั้งเดิม เช่น สีย้อมไม้ชั้นแรกบนผนังเรือนไม้ สภาพและสีผนังปูนหมักผสมสีก่อนซ่อมแซม วัสดุอย่างกระเบื้องหรือระแนงดั้งเดิมเป็นแบบนี้นะ สวิตช์ไฟฟ้า เต้าเสียบไฟฟ้า และรางสายไฟฟ้าไม้เดิม ๆ ก็เก็บไว้ ถ้ามาพักที่นี่ก็ลองเดินดูกันเล่น ๆ นะคะ มีอยู่ทั่วบ้านเลย ลองไล่เดินหาเดินดูไปเรื่อย ๆ ได้ค่ะ” เธอหัวเราะสนุกอีกครั้ง

นีลนิวาส เปลี่ยนเรือนไม้สักสีเขียวของตระกูลชูโตเป็นที่พักเปิดใหม่ ด้วยกระบวนการ ‘อนุรักษ์ตามยถากรรม’ ที่สมาคมสถาปนิกสยามฯ ยกรางวัลให้
โปรดสังเกตป้ายทองเหลืองเล็ก ๆ ซึ่งปรากฏอยู่ทั่วบ้าน เพื่อคอยชี้ชวนให้ชมและอธิบายเกี่ยวกับสิ่งที่อนุรักษ์เอาไว้

“สำหรับเครื่องเรือนก็เป็นสิ่งที่ฮุ้งให้ความสำคัญมาก ๆ เพราะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยย้อมบรรยากาศ ฮุ้งทำการบ้านพอสมควรว่าการตกแต่งควรเป็นอย่างไร เครื่องเรือนบางชิ้นญาติให้มา หลายชิ้นไปเดินหาตามตลาดนัดของเก่า เช่น จตุจักร บางชิ้นมาจากนครปฐม นนทบุรี หรือไปไกลถึงเชียงใหม่ แล้วนำมาจัดวางแบบมิกซ์แอนด์แมทช์ให้เหมาะสม ของตกแต่งบางอย่างเป็นการนำของเดิมมาใช้ในบริบทใหม่ ๆ อย่างเช่น กระเบื้องว่าวเดิมที่ไม่อยู่ในสภาพที่จะมุงหลังคาได้อีกต่อไปแล้ว ฮุ้งเอามาทำเป็นวัสดุตกแต่งกำแพง หรือนำมาตัดครึ่งแล้วปักเป็นขอบทางเดิน หรือระแนงไม้หลังคาที่หมดสภาพ ก็นำมาประดิษฐ์เป็นผนังบานเลื่อนตกแต่งหัวเตียง เป็นต้น ทุก ๆ ที่จะมีป้ายกำกับชัดเจนตลอดว่าของเดิมเป็นอะไร แล้วนำมารักษาไว้ด้วยการปรับเปลี่ยนเป็นอะไร”

นีลนิวาส เปลี่ยนเรือนไม้สักสีเขียวของตระกูลชูโตเป็นที่พักเปิดใหม่ ด้วยกระบวนการ ‘อนุรักษ์ตามยถากรรม’ ที่สมาคมสถาปนิกสยามฯ ยกรางวัลให้
เครื่องเรือนที่ใช้ตกแต่งภายในเป็นเครื่องเรือนร่วมสมัยที่ซื้อหามาจากที่ต่าง ๆ
นีลนิวาส เปลี่ยนเรือนไม้สักสีเขียวของตระกูลชูโตเป็นที่พักเปิดใหม่ ด้วยกระบวนการ ‘อนุรักษ์ตามยถากรรม’ ที่สมาคมสถาปนิกสยามฯ ยกรางวัลให้
กระเบื้องว่าวชุดเดิมที่นำไปใช้มุงหลังคาไม่ได้อีกต่อไป วันนี้นำมาปรับเป็นกำแพงและแนวทางเดิน โดยมีป้ายอธิบายให้ทราบที่มาที่ไปด้วย
เปลี่ยนเรือนไม้สักสีเขียวของตระกูลชูโตเป็นที่พักเปิดใหม่ ด้วยกระบวนการ ‘อนุรักษ์ตามยถากรรม’ ที่สมาคมสถาปนิกสยามฯ ยกรางวัลให้
ระแนงไม้หลังคาที่หมดสภาพ ก็นำมาประดิษฐ์เป็นผนังบานเลื่อนตกแต่งหัวเตียง มีป้ายอธิบายอยู่ด้วยเช่นกัน
นีลนิวาส เปลี่ยนเรือนไม้สักสีเขียวของตระกูลชูโตเป็นที่พักเปิดใหม่ ด้วยกระบวนการ ‘อนุรักษ์ตามยถากรรม’ ที่สมาคมสถาปนิกสยามฯ ยกรางวัลให้
บางห้องก็รักษาสภาพผนังเดิมเอาไว้ 
ภาพ : วิสันต์ ตั้งธัญญา และ W Workspace

ถ้าให้เธอสรุปการบูรณะตามยถากรรมนั้น เธอจะสรุปได้ว่าอย่างไร

“ฮุ้งว่าเราเป็นคนหนึ่งคนที่ต้องสวมหมวกหลายใบในตัวคนเดียว ต้องทำทุกอย่างทั้งหมด คือเราก็ไม่ได้มีทุนหนาเหมือนโครงการอนุรักษ์อื่น ๆ ฮุ้งก็ต้องสวมหมวกนักการเงินด้วยว่าจะใช้งบประมาณอย่างไร ทำอะไรก่อน ทำอะไรให้หลังตามกำลังที่มี แล้วต้องทำให้ผู้ลงทุนหลักอย่างพ่อมั่นใจ และพร้อมจะเดินต่อไปข้างหน้ากับฮุ้งด้วย 

“ฮุ้งสวมหมวกเป็นช่างที่ต้องเรียนรู้ไปด้วยกันกับช่าง ต้องเข้าใจเรื่องหาวัสดุ วิ่งหาปูนหมักเอง ต้องหัดผสม หัดฉาบ ฯลฯ ฮุ้งสวมหมวกเป็นสถาปนิก วาดแบบเอง แก้แบบเอง กำหนดเองว่าจากบ้านจะเป็นที่พักเล็ก ๆ จะต้องทำอย่างไร อยากให้แขกสัมผัสประสบการณ์แบบไหน และฮุ้งก็เป็นผู้อยู่อาศัยเองอีกด้วย ดังนั้นเราอยากอยู่ยังไง ใช้พื้นที่อย่างไร ฯลฯ 

“ทั้งหมดมาจากการคิดประมวลในทุกมิติให้ลงตัวที่สุด มันไม่มีทฤษฎีตายตัว แต่มันคือการเรียนรู้นอกตำรา อาศัยการหาข้อมูลจากทุกสิ่งรอบตัว นำมาปรับใช้และเดินหน้าไปให้ฝ่าอุปสรรคแต่ละช่วงไปเรื่อย ๆ อะไรตีบอะไรตันก็ต้องทะลวงไปให้สุด”

หมู กบ ฮูก กวาง

นีลนิวาสมีโอกาสต้อนรับคู่รักชาวเยอรมันเป็นคู่แรกเมื่อวันวาเลนไทน์ที่ผ่านมา และเป็นที่ประทับใจของแขกเป็นอย่างยิ่งด้วยประสบการณ์ที่แตกต่าง ไม่เหมือนใคร

“เรามีแค่ 4 ห้อง เรียกว่าห้องหมู กบ ฮูก กวาง (หัวเราะ) ที่เลือกสัตว์เป็นสัญลักษณ์ของห้องพักเพราะอยากแสดงให้เห็นถึงการอยู่ร่วมและพึ่งพากันระหว่างธรรมชาติ น้ำ ต้นไม้ คน สัตว์ และแมลงค่ะ เพราะที่นี่ทำให้เกิดระบบนิเวศเล็ก ๆ ได้ในพื้นที่ คือย่านฝั่งธนบุรีเดิมเป็นสวนผลไม้มาก่อน มีความเป็นพื้นที่สีเขียวอยู่มาก เราเลือกทำเป็นที่พักขนาดเล็ก มีไม่กี่ห้อง ก็อยากเก็บบรรยากาศเดิม ๆ ของบ้านเอาไว้ อยากให้แขกที่มาพักได้รับความเป็นส่วนตัว มีเจ้าของคอยดูแลเหมือนเพื่อนหรือญาติที่คุ้นเคย ไม่อยากให้รู้สึกว่าเป็นที่สาธารณะมาก ๆ”

เปลี่ยนเรือนไม้สักสีเขียวของตระกูลชูโตเป็นที่พักเปิดใหม่ ด้วยกระบวนการ ‘อนุรักษ์ตามยถากรรม’ ที่สมาคมสถาปนิกสยามฯ ยกรางวัลให้
โปรดสังเกตสัญลักษณ์ของห้องที่ใช้เป็นตัวสัตว์แทนตัวเลข ได้แก่ หมู กบ ฮูก กวาง

รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ในการตกแต่งนีลนิวาสก็มีที่มาที่น่าสนใจ และแสดงถึงการใส่ใจรายละเอียดเพื่อย้อมบรรยากาศการมาพักที่นี่ให้แตกต่างจากที่อื่น ๆ

“อย่างตัวอักษรที่ทำเป็นป้ายระบุว่าเป็น Dining, Concierge, หรือ Lounge นั้นเราได้แนวคิดมาจากเครื่องแขวนดอกไม้ที่มักใช้ประดับอยู่ตามช่องประตูและหน้าต่างของบ้านสมัยก่อน เพื่อนเลยช่วยดีไซน์ตัวอักษรและติดตั้งออกมาให้ในลักษณะแบบนี้” คุณฮุ้งเล่าพร้อมชวนเราชม

“ฮุ้งไปตระเวนชิมอาหารต่าง ๆ เพื่อคัดเลือกเมนูอร่อย ๆ จากร้านท้องถิ่น แขกจะได้มีโอกาสทานของที่ปรุงสดแถว ๆ นี้ และเป็นการเผยแพร่ของอร่อยประจำย่านไปด้วย”

วันนี้เธอพร้อมแล้วที่จะสวมหมวกอีกใบในฐานะเจ้าของและผู้ดูแล Luxury BnB ที่เธอบูรณะมากับมือ

“นีลนิวาสมีคุณค่ากับฮุ้งและครอบครัวมาก ๆ ถ้าจะทำอะไรก็ตาม เราน่าจะเป็นคนลงมือทำเองก่อน เพราะที่นี่คือบ้านของเรา”

นีลนิวาส เปลี่ยนเรือนไม้สักสีเขียวของตระกูลชูโตเป็นที่พักเปิดใหม่ ด้วยกระบวนการ ‘อนุรักษ์ตามยถากรรม’ ที่สมาคมสถาปนิกสยามฯ ยกรางวัลให้
นีลนิวาส เปลี่ยนเรือนไม้สักสีเขียวของตระกูลชูโตเป็นที่พักเปิดใหม่ ด้วยกระบวนการ ‘อนุรักษ์ตามยถากรรม’ ที่สมาคมสถาปนิกสยามฯ ยกรางวัลให้

แล้วเธอเคยมีประสบการณ์การบริหาร Luxury BnB เช่นนี้มาก่อนไหม

“ไม่เลยค่ะ” เธอยิ้มพร้อมส่ายหัว แต่ประสบการณ์สอนให้เธอทำไปเรื่อย ๆ และเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ เช่นกระบวนการอนุรักษ์ที่ผ่านมา

“ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ฮุ้งได้บทเรียนว่าเมื่อริจะเริ่มแล้ว ก็ต้องทำให้สำเร็จค่ะ” เธอกล่าวสรุปด้วยรอยยิ้ม

ผมขอชื่นชมคุณฮุ้งผู้ริเริ่มการบูรณะบ้านสวยหลังนี้ด้วยความทุ่มเททั้งหมด จนได้รับรางวัลจากสมาคมสถาปนิกสยามฯ และผมเชื่อว่าเธอจะสร้างนีลนิวาสให้เป็น Luxury BnB ที่ประสบความสำเร็จอย่างแน่นอนในอนาคต… ด้วยวิธีของเธอเอง

ติดตามชมภาพและข้อมูลเกี่ยวกับนีลนิวาสได้ที่ www.neilniwas.com

ขอขอบพระคุณ
  • คุณฮุ้ง-วีณา มะหะสิทธิ์ ผู้ให้สัมภาษณ์
  • ดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน สถาปนิกอนุรักษ์ผู้แนะนำผู้ให้สัมภาษณ์

Writer

Avatar

โลจน์ นันทิวัชรินทร์

หนุ่มเอเจนซี่โฆษณาผู้มีปรัชญาชีวิตว่า "ทำมาหาเที่ยว" เพราะเรื่องเที่ยวมาก่อนเรื่องกินเสมอ ชอบไปประเทศนอกแผนที่ที่ไม่ค่อยมีใครอยากไป เลยต้องเต็มใจเป็น solo backpacker Instagram : LODE_OAK

Photographer

โตมร เช้าสาคร

โตมร เช้าสาคร

ชอบถ่ายวิวมากกว่าคน ชอบกินเผ็ดและกาแฟมาก เป็นคนอีโค่เฟรนลี่ รักสีเขียว ชวนไปไหนก็ได้ไม่ติด ถ้ามีตัง