“ทำไมไม่ทำแบรนด์ปู่” เป็นคำถามแรกที่ครอบครัวของ ต่าย-เภสัชกรหญิงนวรรณ พวงมาลัย ทักท้วงทันทีหลังจากที่เธอตัดสินใจจะขยับขยายธุรกิจครอบครัวมาสร้างแบรนด์อาหารเสริมของตัวเอง

หากดูจากประวัติครอบครัวของคุณต่ายแล้วก็ไม่น่าแปลกใจว่าทำไมทุกคนจึงอยากให้มี ‘แบรนด์ปู่’ มากกว่าจะไปสร้างแบรนด์ใหม่ เพราะครอบครัวนี้มีองค์ความรู้ทางการแพทย์แผนโบราณยาวนานถึง 300 ปี

แต่เมื่อคุณต่ายก็มีความต้องการแรงกล้าที่จะสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อคนไทย โดยคนไทย และผนวกองค์ความรู้หลายร้อยปีกับศาสตร์สมัยใหม่เข้าด้วยกันแล้ว ‘NaturBloom’ จึงถือกำเนิดขึ้นในฐานะอาหารทางการแพทย์แบรนด์คนไทยสำหรับผู้ป่วยสูงอายุ แต่เพื่อไม่ให้ครอบครัวเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ คุณต่ายจึงทั้งสืบทอดกิจการดั้งเดิม และนำผลิตภัณฑ์ของ หมอชอน แห่งบ้านหมอเทวดา ผู้เป็นปู่แท้ ๆ ของเธอมารีแบรนด์เสียใหม่ไปพร้อม ๆ กัน

เมื่อมือหนึ่งกำคัมภีร์ยาอายุหลายร้อยปีและชื่อเสียงอันยาวนานของครอบครัว อีกมือหนึ่งกำความรู้สมัยใหม่และตัวตนของตนเอง ความสนุกจึงเริ่มต้นขึ้น

โตในบ้านหมอ

เมื่อเห็นว่าคุณต่ายเป็นทายาทรุ่นที่ 5 ของบ้านหมอยา เราจึงขอเปิดบทสนทนานี้ด้วยการซักประวัติครอบครัวของเธอกันเสียหน่อย 

“รุ่นหนึ่งคือ ก๋งแดง ซึ่งล่องเรือมาจากประเทศจีน มาขึ้นตรงวัดลักษณาราม จังหวัดเพชรบุรี เขามีวิชาเกี่ยวกับการรักษามาก่อน และได้พบกับคุณย่าซึ่งเป็นนางในวัง ทำหน้าที่ดูแลคนเข้าวัง ส่วนรุ่นสองคือ ปู่เรือง เป็นลูกชายคนแรกของก๋งแดง ทำหน้าที่สืบทอดอาชีพหมอ” คุณต่ายเล่าถึงบรรพบุรุษตามคำบอกเล่าของครอบครัว

ส่วนบรรพบุรุษรุ่นสามนั้น เธอเริ่มพอจะจำความได้ และมีเรื่องราวมาแบ่งปันจากความทรงจำส่วนตัว 

“รุ่นสามคือ ปู่ชอน ท่านค่อนข้างมีชื่อเสียง จริง ๆ คุณปู่ไม่ได้อยากเป็นหมอ แต่ด้วยวิถีชีวิตที่ถูกกําหนดไว้ สุดท้ายจึงก็ต้องเป็นหมอจนได้ คุณปู่เป็นแพทย์ประจําตําบล มีคลินิกของตัวเอง และขยายชื่อเสียงจนกลายเป็นหมอเทวดา คนมารักษากันเยอะขึ้น ตอนเด็ก ๆ จําได้ว่า 8 โมงเช้ามีคนมารอคิววันละเป็นร้อยคน เพราะสมัยก่อนความเจริญและจํานวนของแพทย์อาจจะน้อยด้วย คนแห่มาจากทั่วประเทศ มาเป็นรถทัวร์เลย คุณปู่รักษาได้หมด แต่จะเด่นเรื่องข้อกระดูก โรคเรื้อรังต่าง ๆ โรคภูมิแพ้ และโรคหอบหืด”

ส่วนรุ่นสี่นั้นมีความใกล้ชิดกับคุณต่ายเป็นอย่างมาก เพราะเป็นคุณอาแท้ ๆ ของเธอเอง 

“รุ่นสี่เริ่มมีความเป็นสมัยใหม่มากขึ้น เริ่มเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม เพราะฉะนั้น นอกเหนือจากคลินิก ยังทำ ODM (Original Design Manufacturer) ทําโรงงานยา โรงงานแปรรูปเครื่องสําอาง คุณอาเป็นเหมือนฮีโร่ของจังหวัด ทำเกี่ยวกับการพัฒนาสมุนไพรเพราะคุณอาเรียคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จึงมีความรู้เชื่อมโยงระหว่างแผนปัจจุบันกับแผนไทยดั้งเดิม”

รุ่นที่ 1 ก็หมอ 2 ก็หมอ 3 ก็หมอ 4 ก็หมอ แสดงว่ารุ่นที่ 5 อย่างคุณต่ายนั้นก็คงจะถูกบังคับให้มาสายนี้สินะ – เราเริ่มคาดเดา 

“ไม่ได้ถูกบังคับนะคะ ปู่บอกว่าไม่ต้องเป็นหมอหรอก เป็นหมอเหนื่อยมากเลย ไปทําอย่างอื่นเถอะ เราก็เลยได้อิสรภาพในการคิดว่าจะทําอะไร” 

เพราะความเคยชินและวิถีชีวิตประจำวันสมัยเด็ก จนแล้วจนรอด เธอก็หนีไม่พ้นสายอาชีพนี้อยู่ดี 

“วันเสาร์-อาทิตย์เราก็ถูกปลุกมานั่งเก็บเงิน จ่ายยา จนเกิดความเคยชิน คุณอาก็พาไปออกบูทด้วย เราเลยเข้ามาสายนี้โดยธรรมชาติ และเป็นเภสัชกรแผนปัจจุบัน ต่ายมาทางสายเทคโนโลยีการผลิตยา เลยไปทําพวกโรงงานยาแผนปัจจุบัน R&D ของยาพ่นปอด ยาอัลไซเมอร์ ทําอยู่เกือบ 5 ปี เราจึงได้เห็นรูปแบบ กระบวนการ วิธีการทํางานว่าต้องมีกฎเกณฑ์หรือมีมาตรฐานยังไง”

แม้จะมาสายนี้เต็มตัว ก็ใช่ว่าเธอมุ่งมั่นเก็บประสบการณ์เพื่อนำมาใช้รับช่วงต่อกิจการครอบครัว 

“ตอนแรกไม่ได้คิดว่าจะทําธุรกิจต่อจากคุณอา แต่เนื่องจากมีช่วงหนึ่งที่คุณอาไม่สบาย เขาจึงอยากให้เรากลับมาช่วย แต่เพราะทีแรกเราไม่ได้เห็นคุณค่าของธุรกิจครอบครัวนัก เราเลยตั้งคำถามว่า ถ้าไม่ไหวหรือไม่สบาย ทําไมต้องสืบต่อ แต่คุณอาจะมีความทุกข์เพราะเขาไม่อยากให้จบในรุ่นเขา พอเห็นอย่างนั้น เราเลยไม่อยากให้เขาอยู่คนเดียว ไม่อยากให้เขาสู้คนเดียว ก็เลยเข้ามา” และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของทายาทหมอยารุ่นห้าคนนี้

สืบทอดกิจการดั้งเดิม

ดูเผิน ๆ แล้วการสืบทอดกิจการคลินิกและโรงงาน ODM ของทายาทธุรกิจรุ่นห้าคนนี้น่าจะราบรื่นสะดวกสบาย เพราะด้วยความที่เธอเกิดและโตมาในครอบครัวคุณหมอ แถมยังเพียบพร้อมไปด้วยความรู้สมัยใหม่ที่เป็นสากลและประสบการณ์การทำงานสายตรง แต่เมื่อเอาเข้าจริง เธอกลับต้องเผชิญกับอุปสรรคร้อยแปด จากโจทย์ใหญ่ในการหาตรงกลางระหว่างการแพทย์แผนโบราณและแผนปัจจุบัน 

“ตอนแรกเรายังคิดว่าตะวันตกดีที่สุด อาจารย์บอกอะไรมาเราเชื่อหมดเลย ตะวันตกบอกอะไรมา เราจําเป็นโปรแกรมเข้าสมองทันทีโดยไม่สงสัย พอกลับมาทําที่บ้าน เราก็เอากรอบตะวันตกเข้ามาสวมในแผ่นไทยจ๋า ซึ่งบางครั้งมองกันคนละมุม คือเรามีหลักการที่เรียนและเห็นมา แต่บางครั้งวิธีการผลิตยาสมุนไพรเขามีข้อจํากัด เช่น ทางตะวันตกบอกว่าต้องทดสอบความคงตัว ต้องตรวจวิเคราะห์สารสําคัญ แต่ว่ายาไทยมันไม่ใช่ 1 ตํารับ เราไม่รู้เลยว่าสารสําคัญคืออะไร แต่พอต้องรู้ให้ได้ มันก็ใช้เวลานานและอาจทําไม่ได้ในกระบวนการผลิตจริง”

เมื่อมาถึงทางตัน คุณต่ายก็ต้องลดการ์ดที่ตั้งไว้ และเปิดใจให้กับความรู้ที่บรรพบุรุษสั่งสมมา 

“เราเริ่มจากการไปเข้าใจเขาก่อน ซึ่งพอไปค้นในคัมภีร์ก็ไปเจอสูตรยาต่าง ๆ และเข้าใจว่าหลักการของแผนไทยดูเป็นองค์รวม เขามีทั้งคน อากาศ การกินอยู่ มีอาหารตามธาตุ มีแม้กระทั่งโหราศาสตร์ตามธาตุ พอเราเข้าใจ มันก็ไม่ใช่แค่ความเชื่อแบบงมงาย แต่กลายเป็นความสนุกและยอมรับได้ เพราะเราได้เห็นเคสจริง ๆ”

เพราะแผนโบราณก็ดี แผนปัจจุบันก็เด่น คุณต่ายจึงดัดแปลงและประยุกต์ความรู้ที่มี พร้อมปรับหาจุดตรงกลางและรอยร่วมที่เชื่อมต่อกันได้ ซึ่งหลักการนี้เธอไม่ได้ใช้แค่เฉพาะกับการผลิตยาเท่านั้น แต่ยังนำมาใช้ในการทำงานร่วมกับคุณอาอีกด้วย เพราะใช่ว่าครอบครัวเดียวกันจะมีความเห็นตรงกันในทุกเรื่องเสมอไป 

“คุณอามีประสบการณ์และมีวิสัยทัศน์ ส่วนเราเองที่ไปอบรมมาจนได้ความรู้ใหม่ ๆ ก็จะเชื่อในแบบของเรา จึงต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจกันทั้งคู่ว่าอะไรเขาควรนำ อะไรเราควรนำ เพราะเขาเองก็ต้องการการยอมรับจากลูกหลาน ส่วนเราเองก็ต้องการการยอมรับและเปิดเลนให้ได้ทํางานในอีกแบบหนึ่ง แต่ในระหว่างนั้นก็จะรบกันพักหนึ่งแล้วก็หายกันไปแล้วก็กลับมาใหม่ วนไปเรื่อย ๆ” คุณต่ายหัวเราะกับหนึ่งในกิจวัตรประจำวันทำงาน

นอกจากต้องรบกับคุณอาแล้ว เธอยังเจอศึกหนักจากทีมงานที่ถึงขั้นต้องเสียน้ำตากันเลยทีเดียว 

“ช่วงแรกเราก็อยากให้สำเร็จ เราเลยเอาทุกอย่างเข้าไป หวังจะไปเปลี่ยนวิธีการทำงานและการผลิตยาใหม่ให้หมด ซึ่งพนักงานก็ไม่เข้าใจ จําได้ว่ามีวันหนึ่งที่เดินออกจากโรงงานแล้วร้องไห้ ฉันอยู่ที่นี่ไม่ได้แล้ว เราสั่งแล้วเขาไม่ทํา ทุกคนพร้อมที่จะไม่ฟัง เราไม่รู้ว่าเราจะจัดการยังไง ตอนนั้นรู้สึกว่าไม่ไหวแล้วจริง ๆ” 

แต่สุดท้ายคุณต่ายก็ฮึดสู้ และใช้วิธีการในแบบที่เธอถนัด “เรารู้ว่าเราถนัดในการเป็นเพื่อน จึงเริ่มโดยการรอมชอม ขอให้ช่วยทําอันนั้นนิด อันนี้หน่อย แล้วพอเขาเริ่มเห็นผลจากสิ่งที่เราแนะนำ เขาก็เริ่มยอมรับ เริ่มเข้าใจบทบาทของเรามากขึ้น แล้วค่อย ๆ ยอมฟังอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ จนเขารู้ว่าใครมีบทบาท มีอํานาจบังคับได้ แต่ต้องสู้กันหลายยกเหมือนกัน”

ขอพื้นที่เพื่อเป็นตัวเอง

เมื่อกิจการดั้งเดิมเริ่มอยู่ตัว คุณต่ายก็เริ่มมองหาแนวทางการขยับขยายและเติบโตมากกว่าเดิม เพราะคลินิกมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยเหลือคนและสร้างความน่าเชื่อถือให้ธุรกิจมากกว่าสร้างกำไร ส่วนการทำโรงงาน ODM นั้น ทุกอย่างขึ้นอยู่กับลูกค้าทั้งหมด 

“เราปรับราคาไม่ได้ ถ้าลูกค้าขายได้น้อย เราก็ต้องได้น้อย เราไม่มีทางที่จะทําตลาดด้วยตัวเองได้เลย ไม่มีคนรู้จักเรา เลยอยากจะมีสินค้าตัวหนึ่งที่คนจําได้ อยากพัฒนาสิ่งที่คนใช้แล้วติด”

เมื่อเธอตัดสินใจได้ดังนั้น แน่นอนว่าครอบครัวก็อยากให้เธอลงแรงกับ ‘แบรนด์ปู่’ ทันที คุณต่ายเองก็น้อมรับเพื่อไม่ให้เกิดการน้อยใจกันในครอบครัว แต่หากจะใส่ตัวตนของรุ่นห้าเข้าไปอย่างเต็มที่ ก็อาจไม่หลงเหลือความขลังดั้งเดิมแต่อย่างใด เธอจึงรีแบรนด์ผลิตภัณฑ์หมอชอนเท่าที่พอจะขยับได้ในกรอบที่ครอบครัวยังเห็นด้วย

แต่เพราะคุณต่ายก็ยังอยากมีทางเดินและอิสระในการเป็นตัวเอง เธอจึงตัดสินใจสร้างอีกแบรนด์เพื่อต่อยอดภูมิปัญญาด้านสมุนไพรและการแพทย์แผนไทย โดยมีความเป็นตัวตนของเธอเองแบบไม่มีข้อจำกัด

“ตอนนั้นโรงงานยาแผนปัจจุบันของไทยมีการลงทุนสูง การแข่งขันยากมาก ขนาดยาแผนปัจจุบันยังอยู่ยาก ยาแผนไทยอย่างเราเลยแอบมองหาทางเลือก เราหาสิ่งที่มีศักยภาพในชุมชน และมีความเป็นไปได้ในการขอระบบระเบียบต่าง ๆ ซึ่งเราสนใจนวัตกรรมอาหารทางการแพทย์ เพราะเราอยู่กับผู้ป่วยและใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคมะเร็ง ซึ่งก็เป็นคุณแม่ของ ภญ.ดร.อมราภรณ์ รูปดี ผู้จัดการฝ่ายขึ้นทะเบียนและประกันคุณภาพที่มาร่วมงานกับเรา 

“เราเห็นว่าคนป่วยเขาพึ่งแต่ยาอย่างเดียวไม่ได้ กินยาเข้าไปแล้ว เขาไม่มีแรง เราเลยอยากทำอะไรที่จะช่วยเขาได้ จึงมองหาสิ่งที่ดีต่อสุขภาพ เป็นธรรมชาติ ไม่มีสารเคมี ดื่มและกลืนได้เลย เพราะเราทำมาเพื่อคนสูงอายุที่เคี้ยวไม่ค่อยได้แล้ว”

เมื่อสังเกตเห็นว่าคนโบราณมักให้คนป่วยกินน้ำข้าวเวลาไม่สบาย คุณต่ายจึงเกิดความสนใจและศึกษาข้าวไทยอย่างจริงจัง 

“ผิวข้าวมีทั้งกาบาและวิตามินบีต่าง ๆ ที่ช่วยให้คนไข้ฟื้นตัว ทำให้เราเข้าใจว่าธรรมชาติเขามีดีอยู่แล้ว แค่ต้องหาทางเอาภูมิปัญญามาต่อยอด เราเลยศึกษาหาข้าวสายพันธุ์ที่ดี และเอาระบบวิทยาศาสตร์มาช่วยพัฒนา จนเป็นอาหารเสริมจากข้าวสำหรับผู้ป่วยสูงอายุภายใต้แบรนด์ NaturBloom ที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำ เป็นเบาหวาน มะเร็ง หรือโรคไตก็ทานได้”

แต่การทำอาหารเสริมสำหรับผู้ป่วยสูงอายุไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะส่วนใหญ่จะเป็นลูกที่มาซื้อ มาชิม แต่คนกินจริง ๆ คือพ่อหรือแม่ เพราะฉะนั้น การสร้างผลิตภัณฑ์ให้ถูกใจทั้งคนซื้อและคนกินเป็นโจทย์ที่คุณต่ายต้องตีให้แตก 

“ลูกชอบแบบแก้วเพราะดีไซน์น่ารัก แต่สุดท้ายแล้ว ผู้สูงวัยก็ยังอยากได้ความเป็นยา อยากได้เป็นกระป๋อง เพราะให้ความรู้สึกจริงจัง มีความเป็นหมอ เราจึงต้องสื่อสารทั้ง 2 ฝั่ง ต้องเอาใจทั้งลูก ทั้งพ่อแม่ให้ลงตัวกัน” สินค้าของ NaturBloom จึงมี 2 ไซซ์สำหรับคนจาก 2 ยุค

นอกจากบรรจุภัณฑ์แล้ว แน่นอนว่ารสชาติก็เป็นเรื่องใหญ่ เพราะเป็นอาหารของผู้สูงวัยที่มักมีความต้องการและรสชาติติดปากมายาวนาน แต่โชคดีที่คุณต่ายอยู่ในแวดวงเภสัชกร เธอจึงมีความรู้ความเข้าใจในเทรนด์ของตลาดและความต้องการของผู้บริโภคเป็นอย่างดี 

“เราอยู่ในแวดวงร้านขายยา จึงเห็นว่าเดี๋ยวนี้ผู้บริโภคมักจะมาถามหาโปรตีน แต่สำหรับคนอายุมากนั้น โปรตีนอาจเป็นปัญหา ยิ่งถ้าเป็นโรคไตก็ต้องยิ่งควบคุม กินนมไม่ได้ ย่อยนมไม่ได้ แต่ต่อให้กินได้ ก็มีทางเลือกแค่รสวานิลลาหรือโกโก้ คนกินก็เบื่อ ยิ่งเป็นคนอายุมากด้วยแล้ว เวลาเจ็บป่วยเขาก็ยังอยากกินแกงเผ็ดเป็ดย่างในขณะที่นอนเตียง เราก็ต้องหาอะไรที่แก้ปัญหาของคนไทย และเติมรสชาติที่ขาดหายของชีวิตเขาบ้าง” ผลิตภัณฑ์ของ NaturBloom จึงมีรสชาติให้เลือกหลากหลาย ทั้งโกโก้ มะพร้าว ซุปเห็ด ไปจนถึงแกงสมุนไพร!

อนาคตบริษัทกับสายเลือดที่เลือกเอง

ปัจจุบัน NaturBloom เป็นแบรนด์ไทยที่ทําอาหารทางการแพทย์เจ้าเดียวในหมวดที่เกี่ยวกับเบาหวาน และในเร็ว ๆ นี้คุณต่ายกำลังวางแผนจะขยายไลน์ผลิตภัณฑ์เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าอื่น ๆ เช่น ผู้ป่วยโรคลำไส้และสตรี

และทุกวันนี้เทรนด์การดูแลสุขภาพก่อนป่วย หรือ Preventive Care มาแรง คุณต่ายจึงสนใจในบริการเพื่อสุขภาพครบวงจรที่ผสมผสานกับความรู้ของการแพทย์แผนไทย โดยที่ผ่านมานั้นเธอออกแบบทริปเที่ยวกับหมอแผนไทย ร่วมกับ คุณหมอหวาน-อ.วลัญช์พัชร เลิศรัตนนนท์ นักโหราศาสตร์สุขภาพและการจัดการเวลเนสการแพทย์ทางเลือก 

“คนในวัย 40 – 50 ไม่อยากป่วยแบบคนรุ่นก่อนที่สุดท้ายแล้วต้องไปอยู่แต่ในโรงพยาบาล หลายคนจึงสนใจที่จะเตรียมพร้อมไว้ก่อนและเริ่มเปิดใจให้กับแพทย์ทางเลือกมากขึ้น เช่น การฝังเข็ม การนวด หรือการกินอาหารตามธาตุ และตอนนี้เราก็พยายามเข้าไปช่วยให้คำปรึกษาในการปรับสปาให้กลายเป็นคลินิกในโรงแรมอีกทางหนึ่งด้วย” คุณต่ายเล่าถึงอีกหนึ่งเส้นทางการขยายธุรกิจที่เธอสนใจ

ส่วนในระยะยาวนั้น คุณต่ายกลับไม่ได้เตรียมตัวส่งต่อกิจการครอบครัวให้กับทายาทธุรกิจรุ่นหกแต่อย่างใด 

“เราอยากได้ความเป็นระบบและการต่อยอดในเชิงองค์กร อยากให้ในที่สุดมันกลายเป็นองค์กรที่อยู่ต่อไปได้โดยไม่จําเป็นต้องมีเรา แต่ขอให้มีองค์ความรู้ วิธีการ กระบวนการ และมาตรฐานที่ไปต่อได้เอง โดยไม่จําเป็นต้องเป็นสายเลือดเดียวกันเท่านั้นที่มารับช่วงต่อ”

“ตอนนี้เลยชวนเพื่อน ๆ ให้มาเป็นหลานปู่กันเถอะ” คุณต่ายพูดพร้อมกำมือเพื่อนทั้งสองไว้แน่น

Writer

ลิตา ศรีพัฒนาสกุล

ลิตา ศรีพัฒนาสกุล

ชอบอ่านหนังสือก่อนนอน ออกกำลังกาย และกำลังตามหางานอดิเรกใหม่ ๆ

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์