29 กุมภาพันธ์ 2024
3 K

ณัฐวุฒิ เผ่าทวี เป็นนักเศรษฐศาสตร์ความสุขและศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมศาสตร์ 

เป็นคนไทยคนแรกที่ศึกษาเรื่องเศรษฐศาสตร์ความสุขอย่างจริงจัง มีงานวิจัยตีพิมพ์มากมายในสื่อระดับโลก

เป็นคอลัมนิสต์ เป็นนักเขียนเจ้าของหนังสือที่พูดเรื่องความสุขกับหลักพฤติกรรมศาสตร์ จิตวิทยาสังคม และเศรษฐศาสตร์ความสุข มากมาย เช่น ทุกพฤติกรรมมีความเสี่ยง โปรดอย่าลำเอียงก่อนตัดสินใจ, ความสุขทำงานยังไง, พฤติกรรมความสุข, มนุษย์อารมณ์, ชีวิตต้องสงสัย’ และล่าสุด THE HAPPIEST PERSON IN THE ROOM อยู่เย็นเป็นสูตร 

ปัจจุบัน ณัฐวุฒิเป็นศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ ประจำ Nanyang Technological University ประเทศสิงคโปร์ สอนเรื่องเศรษฐศาสตร์ความสุขและเศรษฐศาสตร์การศึกษา

เขาบอกเราว่า เรื่องนี้มีสอนกันอยู่แล้วในศาสตร์ของจิตวิทยา เกี่ยวกับสมองและการทำงานของอารมณ์ แต่ในคณะเศรษฐศาสตร์มีสอนเรื่องความสุขน้อยมาก ในโลกนี้มีมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนจำนวนไม่เกินนิ้วนับ มีที่ University of Southern California, McGill University, London School of Economics, Warwick Business School, Paris School of Economics และล่าสุดที่ Nanyang Technological University

ในฐานะอดีตนักเรียนเศรษฐศาสตร์ รู้สึกเสียดายที่เศรษฐศาสตร์ความสุขยังไม่แพร่หลายมากนัก ทั้งที่ความสุขสำคัญมากสำหรับนักเศรษฐศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราต้องการจะพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คน โชคดีที่มีหลักสูตรเรียนลัดผ่านหนังสือของเขา ซึ่งความพิเศษอยู่ที่การหยิบทฤษฎีและผลงานวิจัยมาเล่าอย่างย่อยง่าย 

ไม่ว่าความสุขของคุณคืออะไร ตามเรามาเขียนแผนความสุขจากวิธีคิดของนักเศรษฐศาสตร์ความสุขพร้อมกันในบทสนทนาด้านล่างนี้

หมายเหตุ : โปรดทำแบบประเมินความพึงพอใจในชีวิต (ก่อนอ่าน) 

โดย 10 คือพึงพอใจมาก และ 0 คือไม่พึงพอใจเลย

ก่อนจะมีเศรษฐศาสตร์ความสุข นักเศรษฐศาสตร์ในโลกวัดค่าความสุขกันยังไง 

ที่ผ่านมานักเศรษฐศาสตร์ไม่เคยวัดค่าความสุข เขามักจะพูดถึง Utility หรืออรรถประโยชน์ เป็นข้อมูลตัวเลขที่บอกว่า ถ้ามีเงินมากขึ้นหรือบริโภคมากขึ้น Utility จะมากขึ้น เป็นความสุขในเชิงเศรษฐศาสตร์ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เป็นความสุขจริง ๆ และไม่เคยเข้าใจจริง ๆ ว่าความสุขคืออะไร จนกระทั่งนักจิตวิทยาเริ่มศึกษาเรื่องนี้ เขาพบว่าความสุขนั้นวัดค่าเป็นสเกลได้ และสะท้อนความรู้สึกของคนได้จริง ๆ นักเศรษฐศาสตร์จึงเกิดคำถามว่า มาตรวัดของนักจิตวิทยาใช้กับทฤษฎีต่าง ๆ ที่มีของเราได้มั้ย เช่น เงินและการบริโภคทำให้คนมีความสุขจริงหรือเปล่า 

ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น นักเศรษฐศาสตร์มีสมมติฐานว่า มนุษย์ส่วนใหญ่มีเหตุผล ก่อนตัดสินใจเขาจะคิดรอบคอบก่อน เช่น เมื่อคิดจะซื้อเครื่องเป่าผม นักเศรษฐศาสตร์จะเข้าใจว่าเราใช้เหตุผลไตร่ตรองดีแล้วว่ามีเงินเท่าไหร่ คิดถึงอดีตและมองอนาคตเรียบร้อยแล้วจึงตัดสินใจซื้อสิ่งนี้แทนอย่างอื่น แสดงว่าเครื่องเป่าผมทำให้เรามีความสุข เป็นต้น ทั้งที่ในความเป็นจริง การตัดสินใจของคนในหลาย ๆ เรื่องไม่ได้สอดคล้องกับความสุขจริง ๆ โดยสรุปคือ นักเศรษฐศาสตร์จะคิดว่าเราต้องการอะไร เเต่นักเศรษฐศาสตร์ความสุขจะดูว่า หลังจากได้ในสิ่งที่ต้องการเเล้ว สิ่งนั้นทําให้คุณมีความสุขจริง ๆ หรือเปล่า

นักเศรษฐศาสตร์เริ่มหันมาสนใจวัดค่าความสุขตั้งแต่ตอนไหน

นักเศรษฐศาตร์คนเเรกที่นำข้อมูลความสุขที่เก็บจาก Survey ทั่วไป มาศึกษาดูความสัมพันธ์ระหว่างความสุขกับรายได้ที่มี คือศาสตราจารย์ Richard Easterlin จาก University of California เขาพบว่าโดยเฉลี่ยแล้ว คนรวยจะบอกว่าเขามีความสุขหรือความพึงพอใจในชีวิตมากกว่าคนจน ซึ่งตรงกับสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์เคยตั้งข้อสมมติฐานไว้ ขณะเดียวกันก็พบข้อสังเกตในอีกกลุ่มข้อมูลหนึ่งว่า การที่คนทั้งประเทศรวยขึ้นในเวลา 50 ปี แต่ค่าเฉลี่ยความสุขมวลรวมโดยเฉลี่ยกลับไม่ได้เพิ่มขึ้นตาม

นอกจากนี้ เขายังพบว่าเงินจะทําให้มีความสุขก็ต่อเมื่อเงินทําให้เรารู้สึกรวยกว่าคนอื่น สมมติว่าประเทศมีคนหนึ่งรวยขึ้นกว่าอีกคนหนึ่ง เขามีความสุขมากขึ้นเพราะเขารู้สึกรวยกว่าคนอื่น เเต่คนที่จนกว่า เเม้ว่าโดยเฉลี่ยเเล้วคุณภาพชีวิตเขาจะเพิ่มขึ้น แต่ความสุขเขาอาจจะลดลง เพราะเขาเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น สรุปง่าย ๆ คือ คนเราสนใจเรื่อง Relative Income มากกว่า Absolute Income ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่นักเศรษฐศาสตร์กระเเสหลักไม่เคยคาดคิดมาก่อน ทำให้ทุกคนฉุกคิดว่าการเพิ่มขึ้นของ GDP ไม่ได้ส่งผลต่อความสุขของประชาชน ตราบใดที่เรายังไม่ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

ถ้าไม่วัดจากเงินและการบริโภค นักเศรษฐศาสตร์ความสุขวัดค่าจากอะไร

เศรษฐศาสตร์ความสุขเป็นศาสตร์ที่มีการศึกษาและพัฒนามา 40 ปีแล้ว เห็นได้ชัดว่าการวัดค่าความสุขของคนนั้นมีการพัฒนาขึ้น เราวัดค่าโดยแบ่งเป็น 3 มิติ มิติแรกคือ Cognitive Well-being เกิดจากการคิดทบทวนถึงความพึงพอใจในชีวิต ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต  โดย 0 คือไม่พึงพอใจเลย และ 10 คือพึงพอใจมากที่สุด เช่น อายุเท่าไหร่ แต่งงานหรือยัง ทำงานอะไร มีรายได้เท่าไหร่ ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างเป็นอย่างไร 

มิติที่ 2 คือ Affective Well-being เป็นเรื่องอารมณ์และความรู้สึกในแต่ละวัน ซึ่งสัมพันธ์กับการใช้ชีวิตในแต่ละวัน วันนี้ยิ้มหรือหัวเราะมากน้อยแค่ไหน รู้สึกกังวลหรือไม่ เป็นความสุขระยะสั้นที่ไม่ต้องการผ่านการคิดทบทวนใด ๆ 

มิติที่ 3 คือ Eudaimonic Well-being มาจากการรู้และได้ทำสิ่งที่มีความหมายในชีวิต เช่น คนที่มีลูกอาจจะรู้สึกกังวลกับการเลี้ยงลูก แต่โดยเฉลี่ยเขารู้สึกชีวิตเขามีความหมาย เป็นต้น

การค้นพบวิธีวัดค่าความสุขจากความรู้สึก สร้างการถกเถียงในวงการเศรษฐศาสตร์กระแสหลักอย่างไรบ้าง และทำอย่างไรให้เรื่องนี้กลายเป็นที่ยอมรับในวงการเศรษฐศาสตร์

เศรษฐศาสตร์กระแสหลักมีความเชื่อว่า ถ้าคุณเลือกสิ่งใดแล้ว สิ่งนั้นย่อมจะทำให้คุณมีความสุขที่สุดแล้ว ทำให้ช่วงแรกมีการถกเถียงว่าทำไมเราต้องเชื่อการเก็บข้อมูลที่เป็นนามธรรม แทนการตัดสินใจของคน ยกตัวอย่าง จาก 0 – 10 ถ้าคุณตอบว่าพอใจที่ระดับ 10 แสดงว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น คุณจะไม่มีความสุขไปมากกว่านี้แล้วใช่ไหม 

เรื่องนี้ต้องยกความความชอบให้เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ถ้าไม่มีเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ก็คงไม่มีเศรษฐศาสตร์ความสุข ในเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมบอกว่า หนึ่ง เราไม่สามารถเชื่อใจพฤติกรรมคนได้เสมอไป เมื่อคนเราตัดสินใจเรื่องอะไรก็ตาม เราไม่ได้มีเหตุและมีผลมากขนาดนั้น หากแต่ใช้อารมณ์และความจริงที่เกิด เพราะฉะนั้น สิ่งที่เลือกอาจไม่ได้ส่งผลให้เขามีความสุขอย่างที่คิด เราจึงควรเก็บข้อมูลที่เป็นประสบการณ์มากกว่าเชื่อการตัดสินใจ 

และสอง คะแนนที่มาจากความรู้สึกนั้นมีสัญญาณของความรู้สึกที่แท้จริงอยู่ มีงานวิจัยขึ้นหนึ่งของ Andrew Oswald กับ Casper Kaiser พบว่า ถ้ามีคนบอกว่าเขาไม่มีความสุขในชีวิตแต่งงาน (ให้คะแนนการแต่งงาน 3 จากคะแนนเต็ม 10) อีกไม่กี่ปีเขาก็จะหย่า หรือถ้าเขาไม่มีความสุขในที่ทำงานเขาก็จะลาออก หมายความว่าข้อมูลตัวเลขเหล่านั้นแฝงความรู้สึกที่แท้จริง และส่งสัญญาณบางอย่างที่ส่งผลต่อเขาในอนาคต

จนถึงวันนี้เศรษฐศาสตร์ความสุขเปลี่ยนแปลงไปยังไงบ้าง

ก็ยังคงมีเรื่องให้ถกเถียงกันอยู่เสมอ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะถ้าทุกคนยอมรับ สิ่งนี้คงไม่ใช่ศาสตร์ ถ้าถามว่าศาสตร์นี้โตขึ้นแค่ไหน ต้องบอกว่าแม้จะมีการศึกษามา 40 ปีแล้ว แต่เมื่อ 20 ปีก่อนที่ผมเข้ามาศึกษา เรามีงานวิจัยเรื่องนี้น้อยมาก ๆ ในโลกนี้มีเพียง 5 – 6 ชิ้นเท่านั้น ซึ่งนับจากวันที่ Richard Easterlin เขียนงานวิจัยชิ้นแรกในปี 1974 เขาใช้เวลาศึกษานานมาก ขณะที่ปัจจุบัน แต่ละปีมีงานวิจัยนับพันชิ้น นับว่าเศรษฐศาสตร์ความสุขและเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเติบโตเร็วมากในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา

อะไรคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้คุณสนใจศาสตร์นี้ 

ตอนแรกผมเลือกเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก แต่ระหว่างที่ลังเล Supervisor ก็บอกให้ผมลองพิจารณาตัวเองใหม่ว่าอะไรทำให้คิดจะเรียนเอกนี้ต่อไป เขาคิดว่าเรายังไม่เก่งพอ ตอนนั้นรู้สึกว่าคงต้องกลับบ้านแล้วหรือเปล่า พอดีกับที่ได้ไปฟังสัมมนาของ Andrew Oswald เขาเป็นชาวอังกฤษคนแรก ๆ ที่วิจัยเรื่องนี้ เราสนใจ เพราะที่ผ่านมาเราไม่ได้สนใจเรื่องเงินเฟ้อหรือเรื่องมหภาคอะไรพวกนั้น แต่กลับรู้สึกว่าเราหาคำถามที่ยังไม่มีคนตอบเกี่ยวกับเรื่องความสุขได้มากมาย จึงตัดสินใจเปลี่ยนอาจารย์ที่ปรึกษามาเป็นแอนดรูว์ โดยไม่คิดมาก่อนว่าจะมาถึงจุดนี้ ตอนนั้นเลือกเพราะรู้สึกว่าดูเท่ ดูสนุก และไม่เหมือนใคร

คำแรกที่คุณแอนดรูว์พูดกับคุณคือ…

เขาบอกว่า ‘โอเค’ พร้อมเอาเปเปอร์มาให้ดูข้อมูล ซึ่งในการพบกันครั้งที่ 2 เราก็เอาการบ้านมาส่ง แล้วเขาก็บอกว่า ‘ยู รู้ไหมว่า ยูเป็นคนแรกและเป็นคนเดียวในโลกที่กำลังทำเรื่องนี้อยู่’ ตอนนี้มีพลังขึ้นมาเลย จากที่เจอ Supervisor คนเก่าบอกให้เลิกเรียนปริญญาเอก แอนดรูว์กลับบอกว่าเราเป็นคนแรกและคนเดียวในโลกที่ทำเรื่องนี้ รู้สึกซาบซึ้งมาก ๆ มันแสดงว่าเราน่าจะมาถูกทางแล้ว

งานวิจัยชิ้นนั้นว่าด้วยเรื่องอะไร ถึงทำให้คุณแอนดรูว์บอกคุณแบบนั้น

มีทฤษฎีอยู่ทฤษฎีหนึ่งเกี่ยวกับการเปรียบเทียบทางสังคม (Social Comparison) เราไปค้นข้อมูลความสุขของคนในแอฟริกาใต้ปี 1995 แล้วพบว่า ในเเอฟริกาใต้ คนที่มีรถยนต์จะรู้สึกว่าตัวเองมีคุณภาพชีวิตดีกว่าคนที่ไม่มีรถ ซึ่งความรู้สึกพึงพอใจต่อคุณภาพชีวิตที่ได้มาจากการมีรถจะลดตํ่าลง สวนทางกับจำนวนรถในหมู่บ้านที่มีเพิ่มขึ้น อธิบายง่าย ๆ คือ เมื่อคุณมีความสุขมากจากการซื้อรถคันใหม่ วันต่อมาเมื่อคุณพบว่าคนข้างบ้านก็ซื้อรถใหม่มาเหมือนกัน แถมสวยกว่าอีก สิ่งนี้ทำให้ความสุขที่ได้จากการมีรถใหม่ลดน้อยลง 

เหตุผลที่แอนดรูว์บอกว่าเราเป็นคนแรกที่ศึกษาเรื่องนี้ เพราะตอนนั้นยังไม่มีใครคิดจะดูและวิเคราะห์ข้อมูลของประเทศที่กําลังพัฒนาเลย มีแต่คนศึกษาข้อมูลในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ก็เลยพบว่า โดยเฉลี่ยแล้วโครงสร้างของความสุขที่เกิดจากการเปรียบเทียบทางสังคมมีลักษณะคล้ายกัน ไม่ว่าคุณจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วหรือยังไม่พัฒนาก็ตาม

มีเหตุการณ์ไหนหรืองานวิจัยชิ้นไหนที่ทำให้คุณรู้สึกว่ากำลังมาถูกทาง

มีงาน 2 – 3 ชิ้นที่สร้างชื่อเสียงให้เรา หนึ่งในนั้นคืองานที่ทำกับแอนดรูว์ เรื่องความสุขของคนพิการที่จะมีการตีตัวกลับ 30% อีกชิ้นเป็นงานที่ตีพิมพ์ในปี 2008 โจทย์คือหาราคาค่าความเป็นเพื่อน ว่าเพื่อนมีราคาเท่าไหร่ เราพบว่าคนที่มีเพื่อน มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น ๆ เขาจะมีความพึงพอใจในชีวิตมากกว่าคนที่ไม่มีใครเลยในชีวิต เราจึงคิดหาค่าเงินว่าหากเราใช้เงินกับคนที่ไม่มีเพื่อนเลย จนทำให้เขามีความสุขเท่ากับคนที่มีเพื่อนเยอะ ๆ จะต้องให้เงินเขาเท่าไหร่ นั่นคือเงินประมาณ 85,000 ปอนด์ อันนี้ตีพิมพ์ไปเมื่อปี 2008

งานของนักเศรษฐศาสตร์์ความสุขคืออะไร

ขอยกตัวอย่างในอังกฤษ นโยบายส่วนใหญ่ที่มาจากนักเศรษฐศาสตร์สมัยก่อนมักเกี่ยวกับการทำรายได้และกำไรสูง ๆ ให้องค์กร ขณะที่ปัจจุบันเราพบว่ารายได้ไม่ควรเป็นตัวบ่งชี้หลัก แต่ควรเป็นความสุขของคนมากกว่า

Joseph Eugene Stiglitz เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปี 2001 เคยพูดว่า “สิ่งที่คุณวัด กําหนดสิ่งที่คุณทํา” ดังนั้น เมื่อเราตั้งโจทย์ที่ความสุขของคน นอกจากเรื่องเงิน เราจะเห็นความสัมพันธ์อื่น ๆ เช่น ในวันที่องค์กรมุ่งหากำไรสูงสุด แต่คนทำงานลาออกกันเยอะ บริษัทรักษาคนไว้ไม่ได้ นักเศรษฐศาสตร์ความสุขพบว่า คนที่มีความสุขจะทำงานได้ดี มี Productivity สูงกว่าคนไม่มีความสุข ที่สำคัญเขาจะไม่ลาออกด้วย 

เมื่อรู้อย่างนี้ องค์กรก็เปลี่ยนจาก Customer Centric มาเป็น Employee Centric จากที่บอกว่าลูกค้าต้องถูกต้องเสมอ ก็หันมาดูแลให้ความสำคัญกับคนทำงาน ซึ่งในที่สุดก็จะส่งผลให้บริษัทเติบโตและทำกำไรได้ยั่งยืนกว่า เพราะคนในบริษัทมี Loyalty กับองค์กร ส่งผลให้หลายองค์กรมีนโยบาย Four-day Working Week ทํางานแค่สัปดาห์ละ 4 วัน ซึ่งส่งผลที่ดีมากต่อความสุขของพนักงาน เเถมประสิทธิภาพของงานก็ไม่ได้ลดลงมาก

ในฐานะอาจารย์ อะไรคือสิ่งที่คุณสอนนักเรียนเศรษฐศาสตร์มากที่สุด 

ความสุขเป็นเรื่องที่มีสอนกันอยู่แล้วในศาสตร์ของจิตวิทยา เกี่ยวกับสมองและการทำงานของอารมณ์ แต่ในคณะเศรษฐศาสตร์มีสอนเรื่องความสุขน้อยมาก เพราะคนส่วนใหญ่มองความสุขเป็นเรื่องคลุมเครือ แต่จากประสบการณ์ที่สอนวิชานี้มา 8 ปี เราพบว่าความรู้สึกที่นักเรียนมีต่อวิชาเศรษฐศาสตร์เปลี่ยนไป จากที่เคยรู้สึกเศร้า ก็มองว่าสิ่งนี้เกี่ยวข้องกับคนและมีอะไรมากกว่าที่คิด ซึ่งเป็นสิ่งที่เราอยากส่งต่อให้นักเรียนทุกคนว่า ความสุขสำคัญมากสำหรับนักเศรษฐศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราต้องการที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิต มันไม่ใช่เเค่เรื่องคุณภาพชีวิต เเต่เป็นเรื่องการพัฒนาความสุขของคน

มนุษย์ที่มีความสุขมีลักษณะอย่างไรในนิยามของนักเศรษฐศาสตร์ความสุข

10 ปีที่เเล้ว The Times ก็เคยถามแบบนี้เหมือนกันว่า จะรู้ได้ยังไงว่าใครเป็นคนมีความสุขที่สุดในเกาะอังกฤษ ซึ่งเราดู Data หาว่ามีส่วนประกอบใดบ้างที่ทำให้ชีวิตมีความสุข พบว่าโดยเฉลี่ย คนที่มีปฏิสัมพันธ์หรือมี Social Network ที่ดี คนที่เเต่งงาน คนที่ไม่ได้อยู่ในช่วง Midlife Crisis คนที่มีรายได้โอเค มีเงินบำนาญระดับที่โอเค อาศัยอยู่ในพื้นที่ไหนของเกาะอังกฤษ เราเก็บข้อมูลทำสถิติไว้ ในที่สุดก็มีคนตามไปเจอคนนั้นจริง ๆ เธอคือ Christine Janes อดีตนักเทนนิสแชมป์ French Open ในปี 1959 ปัจจุบันแต่งงานใช้ชีวิตที่ East Anglia 

จริง ๆ มีตัวแปรหลายตัวที่ส่งผลต่อความสุขในชีวิต เช่น จังหวะชีวิตช่วงไหน เราอยู่ประเทศไหน ที่นั่นมีวัฒนธรรมที่ส่งผลต่อลักษณะทางสังคมอย่างไร อย่างที่เล่าไปตอนต้นว่าต้องดูเเต่ละมิติ มิติ Cognitively เรามีสิ่งที่ควรมีในชีวิตหรือยัง เรื่องสุขภาพ รายได้ หรือมิติ Affective อารมณ์ในเเต่ละวันซึ่งมาจากการใช้ชีวิต ถ้ารถติดอยู่ตลอดก็อาจจะไม่ได้คะแนนดีที่สุด ดังนั้น มิติเรื่องชีวิตที่มีความหมาย อันนั้นเเหละจะเป็นตัวที่บ่งบอกว่าเราเป็นคนที่มีความสุขมากน้อยขนาดไหน

คนชอบบอกว่า ‘คนสมัยก่อนมีความสุขมากกว่าคนสมัยนี้’ เป็นเรื่องจริงไหม คนยุคไหนมีความสุขง่ายกว่ากัน

สาเหตุที่สมัยก่อนมีความสุขง่ายกว่า เพราะการเปรียบเทียบทางสังคมไม่รุนแรงเท่าปัจจุบัน 

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า ผู้หญิงสมัยก่อนมีความสุขมากกว่าผู้หญิงสมัยนี้เยอะ เเม้ว่าผู้หญิงสมัยนี้ส่วนใหญ่จะมีอิสระในการเลือกทำงานและใช้ชีวิตมากกว่า เขาพบว่าผู้หญิงสมัยก่อนมีตัวเปรียบเทียบเป็นแม่บ้านทั่วไป ขณะที่สมัยนี้ผู้หญิงที่ทำงานส่วนใหญ่มีตัวเปรียบเทียบ ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย และทุก ๆ คน เพราะการเปรียบเทียบเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ นอกจากนี้ยังมีเรื่องความคาดหวังที่ส่งผลต่อความสุขมากกว่าสมัยก่อน

ในทางศาสนามีคำที่บอกว่าความสุขเป็นสิ่งที่หาได้ฟรี ๆ รอบตัว คุณมีความเห็นกับเรื่องนี้ยังไง

ในเมื่อตัวเเปรสําคัญที่สุดของเรื่องนี้คือความสัมพันธ์ที่เรามีกับคนรอบข้าง ถามว่าต้องใช้เงินไหม มันไม่จําเป็น แต่เพราะส่วนใหญ่รู้สึกว่าความสัมพันธ์รอบตัวเป็นของตาย คนจึงใช้เวลาไปตามหาอย่างอื่น เช่น รายได้หรือชื่อเสียง แต่พอได้มา คนเราก็พบว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำให้มีความสุขอย่างที่คิดจริง ๆ

ในเรื่องการตัดสินใจเพื่อความสุข คุณคิดว่ามนุษย์เรารู้จักตัวเองมาก-น้อยแค่ไหน

ค่อนข้างชัดเจนว่า คนเราตัดสินใจผิดพลาดในเรื่องความสุขบ่อยมาก ๆ 

คนมักคิดว่ารู้จักและเข้าใจตัวเองดี แต่พอตัดสินใจไปแล้วกลับพบคำถามว่า ทำไมเราถึงไม่มีความสุขอย่างที่คิด ในเชิงของจิตวิทยาเรียกเหตุการณ์นี้ว่า Affective Forecasting คือ คนเราคาดคะเนหรือพยากรณ์อารมณ์ในอนาคตไม่ค่อยเก่ง มีอคติเชิงความคิดหลายอย่างที่ทำให้เราติดสินใจผิดพลาด เพราะฉะนั้น ถ้ารู้ว่าเราตัดสินใจในเรื่องความสุขไม่เก่ง เราเรียนรู้จากผลงานวิจัยมากมายในเศรษฐศาสตร์ความสุข นำมาออกแบบชีวิตเพื่อตอบโจทย์แต่ละด้าน และเลือกสิ่งที่ดีต่อความสุขของเราได้ แต่ถ้าใครคิดว่าตัวเองรู้และตัดสินใจเรื่องเกี่ยวกับความสุขได้เก่งอยู่แล้วก็ไม่เป็นไร

ยกตัวอย่างเรื่องเงิน

สมมติถ้าให้คุณเลือกระหว่างงาน 2 งาน งานแรกให้เงินเดือน 100,000 บาท แต่มีเวลานอนวันละ 6.5 ชั่วโมง อีกงานให้เงินเดือน 200,000 บาท แต่มีเวลานอนวันละไม่ถึง 5 ชั่วโมง สมมติให้ทุกอย่างนี้คล้ายกันหมด คุณคิดว่าจะเลือกงานอะไร

เลือกเงินเดือน 200,000 บาท นอน 5 ชั่วโมง

ใช่ น่าจะเป็นอะไรที่คนส่วนใหญ่เลือก 

ต่อมา คุณพบว่าทุกคนในบริษัทนี้ได้เงินเดือน 250,000 บาท ขณะที่งานแรกทุกคนในบริษัทได้เงินเดือนประมาณ 70,000 บาท คุณคิดว่ากำลังตัดสินใจผิดไหม

ผิด

ทั้ง ๆ ที่เงินเดือนเราสูงกว่าอีกงานหนึ่ง ทำไมเราถึงไม่มีความสุขเลย

เงินซื้อความสุขได้มั้ย

เมื่อเราใช้เงินซื้อสิ่งที่คิดว่าจะทำให้เรามีความสุขแน่ ๆ เลย แต่เมื่อเราไปเห็นว่าคนอื่น ๆ เขาก็มีเหมือนกัน กลับทำให้ความสุขของเราลดน้อยลงไป เพราะเราไปเปรียบเทียบกับคนอื่น นี่คือตัวอย่างของการใช้เงินที่ผิด คำถามคือแล้วการใช้เงินเพื่อความสุขที่ถูกต้องเป็นอย่างไร 

มีงานวิจัยที่พบว่า หนึ่ง การใช้เงินกับคนอื่น (Prosocial Spending) มีผลต่อความสุขเรามากกว่าใช้เงินเพื่อตัวเอง สอง การซื้อประสบการณ์จะทำให้เรามีความสุขมากกว่าการซื้อของ และสาม ลดโอกาสเป็นหนี้จากการ Consume now pay later ในตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนของโลก โดยเฉพาะประเทศไทย มีโมเดลธุรกิจที่ให้คนใช้ก่อนจ่ายทีหลัง ทำให้เป็นหนี้ ซึ่งเราพบว่าเป็นการใช้เงินที่ส่งผลเสียต่อความสุข นั่นเป็นเพราะตอนได้ของ เราไม่ได้คิดถึงหนี้ที่ตามมา แถมค้นพบทีหลังว่าไม่ได้อยากได้สิ่งนั้น แต่รับมาเพียงเพราะรู้สึกว่าได้ฟรี ไม่ต้องจ่ายเงินซื้อทันที 

ขณะที่โมเดลจ่ายก่อนใช้ทีหลัง (Pay now consume later) กลับส่งผลต่อความสุขมากกว่า เพราะเราจะคิดถึงและเฝ้ารอวันที่จะได้ใช้มันตลอดเวลา เช่น การซื้อตั๋วเดินทางท่องเที่ยวล่วงหน้า มีงานวิจัยที่พบว่าความสุขในช่วงที่คิดถึงทริปการเดินทางในอนาคตเกิดขึ้นมากกว่าตอนไปเที่ยวจริงๆ ด้วยซ้ำ ศาสตราจารย์ไมเคิลจาก Harvard Business School ซึ่งเป็นที่ปรึกษาให้กับ Tripadvisor เล่าให้ฟังว่า หลังจากที่มีการจองและจ่ายเงินค่าตั๋ว-ที่พักไปเรียบร้อย คนคนเดิมมักเข้าเว็บไซต์ ล็อกอินและแวะมาดูหน้าประวัติการจองซ้ำ ๆ เพราะพวกเขากำลังดูดดื่มความสุขที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต

ผมถึงเขียนในหนังสือเล่มล่าสุด (THE HAPPIEST PERSON IN THE ROOM อยู่เย็นเป็นสูตร) ว่า ถ้าเงินไม่ได้ทำให้คุณมีความสุข แสดงว่าคุณใช้เงินไม่เป็น

คุณมีคำแนะนำอย่างไรกับคนที่กำลังรู้สึกหมดไฟในการทำงาน

เรื่องการเบิร์นเอาต์หรือหมดไฟในการทํางาน แนะนำคนทํางานฝ่ายเดียวไม่ได้ แต่เจ้าของบริษัทหรือเจ้านายระดับหัวหน้าต้องมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหานี้ด้วย เพราะ หนึ่ง หัวใจของการเบิร์นเอาต์มาจากความรู้สึกว่าสิ่งที่ทํานั้นไม่มีความหมาย ไม่รู้ว่าทําไปเพราะอะไร อาจจะทําไปเพื่อเงิน เเต่เงินไม่ได้ตอบโจทย์และความหมายที่เเท้จริง 

สอง คือ คนทำงานรู้สึกไม่มีตัวตนหรือได้รับการยอมรับจากหัวหน้า รู้สึกทํางานเพียงแค่ให้เสร็จ ๆ ไป ไม่มีใครขอบคุณ หรือคอยบอกว่าชอบงานที่เขาทำมากแค่ไหน สิ่งเหล่านี้เป็นยาวิเศษให้กับคนที่รู้สึกเบิร์นเอาต์ รวมไปถึงการมีนโยบายที่ส่งเสริมการทำงาน เช่น นโยบาย Work from Home หรือนโยบายทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ สิ่งเหล่านี้สําคัญ ซึ่งต้องมาจากฝั่งเจ้านายและผู้บริหาร

นักเศรษฐศาสตร์มักมีเครื่องมือมากมายมาช่วยวิเคราะห์และตัดสินใจเสมอ อะไรคือเคล็ดลับหรือคําเเนะนําสําหรับคนทั่วไปเพื่อให้เราตัดสินใจได้เเม่นยําขึ้น

ถ้าเอาความสุขเป็นหลัก ยกตัวอย่าง การตัดสินใจเลือกประเทศสำหรับเรียนต่อปริญญาโทหรือการเลือกงาน เมื่อมีตัวเลือกและข้อดีข้อเสียเยอะมากจนไม่รู้จะตัดสินใจอย่างไร นักเศรษฐศาสตร์มีทฤษฎีที่เรียกว่า Take-the-best Heuristic หมายความว่า เเทนที่จะเอาตัวเลือกเเต่ละตัวมาบวกลบคูณหารกัน ให้เราจัดเรียงตามลําดับความสําคัญว่าอะไรสําคัญสำหรับคุณที่สุด

สมมติเลือกระหว่างอังกฤษกับอเมริกา อังกฤษมีมหาวิทยาลัยแบบไหนบ้าง ชื่อเสียงเท่านี้ ใช้เงินเท่านี้ ซึ่งมีเยอะมาก ทําให้คนตัดสินใจยาก Take-the-best Heuristic จะให้ลิสต์แต่สิ่งที่สำคัญ เช่น ถ้า Priority คืออยากอยู่ในเมืองสวย ๆ ก็เลือกดูระหว่าง 2 เมือง ถ้าคุณเเยกได้ว่าเมืองนี้สวยกว่าชัดเจน คุณก็ไม่ต้องดูลิสต์อื่น คุณเลือกประเทศนั้นได้เลย เเต่ถ้าเเยกไม่ได้ ให้คุณมาดูความสำคัญอันดับที่ 2 ถ้ายังเเยกไม่ได้ก็ดูที่อันดับ 3 4 5  

การใช้ Take-the-best Heuristic ช่วยให้คนตัดสินใจได้เร็วขึ้น มักจะถูกต้องกับความสุขของตัวเอง และต่อความคาดหวังของความสุขตัวเอง นี่คือวิธีการตัดสินใจง่าย ๆ ของพฤติกรรมศาสตร์

การตัดสินใจช้า-เร็ว มีผลต่อความสุขเเค่ไหน

มันก็เเล้วเเต่ อย่าง Take-the-best Heuristic คือการตัดสินใจเร็ว เเต่การตัดสินใจเร็วโดยไม่ได้มีขั้นตอนอาจส่งผลให้ตัดสินใจผิดได้ เช่น การเลือกงานที่มาจากการตัดสินใจด้วยรายได้เปรียบเทียบ โดยไม่คิดถึงปัจจัยอื่นแล้วส่งผลต่อความสุข เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้การตัดสินใจช้าอาจมีผลต่อเรามากกว่า

การเป็นคนมีความสุขในยุคนี้ทําให้ชีวิตดีหรือได้เปรียบยังไงบ้าง

เรารู้ว่าคนที่มีความสุขส่วนใหญ่รายได้เขาจะดีกว่าคนที่ไม่มี ไปจนถึงเรื่องในอนาคตอย่าง โอกาสที่เขาจะเเต่งงาน โอกาสที่เขาจะมีอายุยืนก็เยอะกว่า เพราะฉะนั้น ความสุขเป็นตัวเเปรที่สําคัญมากต่ออนาคต ถ้าไม่ใส่ใจสิ่งนี้เลย โอกาสที่เราจะมีอายุไม่ยืนหรือไม่ได้เเต่งงานก็คงสูงมาก 

คําถามที่สําคัญคือ เราควรจะทําอะไรบ้าง รัฐบาลควรจะทําอะไร องค์กรบริษัทห้างร้านต่าง ๆ ควรจะทําอะไร ควรสนใจการวัดค่าความสุข การใช้ Data ของความสุขมากำหนดนโยบายทั้งต่อตัวเองและสังคมให้มากขึ้น ซึ่งผมพูดเรื่องนี้มา 20 ปีเเล้ว ก็ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น

เพราะอะไร

รัฐบาลอาจจะสนใจเรื่องปากท้องหรืออะไรที่จับต้องได้อย่างเงินหรือรายได้ มากกว่าแค่เรื่องความสุขของคน

การใช้หัวใจนําทางเพื่อความสุขมีข้อดี-ข้อเสียยังไง

ผมคิดว่าไม่มีข้อเสีย ในเชิงว่าถ้าเราอยากทําอะไรเพื่อความสุขของเรา มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์อยู่แล้ว ข้อเสียก็คือ เราอาจไม่รู้ว่าสิ่งที่เลือกจะทําให้มีความสุขจริง ๆ หรือเปล่า ก็ขึ้นอยู่กับขั้นตอนการเลือกและตัดสินใจ ซึ่งอยู่ในบทบาทที่เราพูดถึงเกี่ยวกับการเป็นมนุษย์ เพราะเราไม่รู้จริง ๆ ว่าอะไรที่ทําให้เรามีความสุข เเต่พอไล่ล่ามัน วิ่งตามหามัน กลับกลายเป็นว่าเราทุกข์ยิ่งกว่าเดิม 

ทุกวันนี้ความสุขของ ณัฐวุฒิ เผ่าทวี คืออะไร 

ผมโชคดีที่ได้ทําในสิ่งที่รักและยังมีเวลาอยู่กับครอบครัว ได้ทำสิ่งที่ทำให้ชีวิตมีความหมาย

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

Avatar

ปรีดิกร เกรียงสิทธิเดช

สถาปนิกที่เก็บเกี่ยวประสบการณ์อยู่สิงคโปร์ มีความฝันอยากเจอเป้าหมายเพื่อสร้างสรรค์ผลงานดี ๆ หวังว่าจะทำได้สักวันนะ