นัท สุมนเตมีย์ คือ 1 ใน 4 คอลัมนิสต์แห่งคอลัมน์ Life on Earth แหล่งรวมเรื่องราวของสรรพชีวิตที่อาศัยอยู่บนโลกใบเดียวกับเรา
ผู้อ่านหลายท่านรู้จักนัทผ่านโปรไฟล์บนเว็บไซต์ The Cloud ในฐานะช่างภาพใต้น้ำมืออาชีพ นักเขียนแห่งนิตยสารท่องเที่ยว อ.ส.ท. และผู้ถ่ายภาพยนตร์สารคดีใต้ท้องทะเล
แต่น้อยคนนักที่จะรู้จักเขาในฐานะชายผู้ฝันอยากเป็นช่างภาพใต้น้ำตั้งแต่อายุ 10 กว่าขวบ เติบโตจนกลายเป็นมือเก๋าในวงการผู้มีโต๊ะทำงานอยู่ใต้สมุทรยาวนานกว่า 30 ปี ล่องทะเลนานนับเดือน เพื่อรอถ่ายฝูงโลมาไล่กินปลาซาร์ดีนเพียงไม่ถึง 20 นาที และยอมเสี่ยงตายอย่างตั้งใจเพื่อคลุกวงในแสนอลวนของฝูงปลาซาร์ดีนที่มีโลมาคลั่งและฉลามออกล่าในคราวเดียว
ทั้งหมดเป็นเพียงน้ำจิ้มของเบื้องหลังบทความที่นักเล่าอย่าง นัท สุมนเตมีย์ เก็บเกี่ยวมาฝากผู้อ่านจากประสบการณ์จริงของเขา
และทั้งหมดก็เป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ของเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ นั่นคือการแสดงให้เห็นสายสัมพันธ์อันตัดไม่ขาดระหว่างมนุษยชาติและสิ่งรอบตัว รวมถึงการพาคนออกจากบ้านเพื่อสัมผัส ‘ความจริง’ จากนักคัดสรรเพียงหนึ่งเดียวของโลกผู้มีนามว่า ‘ธรรมชาติ’
เตรียมเวลาว่างของคุณให้พร้อม เราจะดำลงไปใต้สมุทรเพื่อดูวิธีคิดและวิธีการทำงานของเขากัน
Life on Earth
มีเรื่องราวของธรรมชาติและสัตว์หลายชนิดมากบนโลกใบนี้ ทำไมคุณเลือกเขียนถึง ‘เต่ายักษ์’ ที่ตายแล้วเป็นบทความแรก
ปู่จอร์จ เป็นเต่ายักษ์ตัวสุดท้ายของเกาะพินตาแห่งกาลาปากอส ตอนนั้นเขาตายแล้วผมเพิ่งกลับมาจากกาลาปากอสพอดี อาจดูเหมือนเป็นแค่เรื่องเต่ายักษ์ทั่วไป แต่การสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตบนโลกล้วนแต่เกี่ยวข้องกับมนุษย์
บทความของคุณหลากหลายมาก ทั้งลงไปถ่ายฉลาม เข้าทุ่งมาไซมาร่าไปหาชีตาห์ นั่งเครื่องบินน้ำไปดูหมีสีน้ำตาลจับปลาแซลมอนกิน คุณคัดเลือกเรื่องราวเหล่านี้อย่างไร
ส่วนใหญ่เป็นเรื่องจากการเดินทางของผมเอง หลังกลับมา ผมจะนั่งทบทวนว่าเราได้เรียนรู้อะไรบ้าง แล้วค่อยเล่าออกมาเป็นเรื่องราว บางทีก็เอาเรื่องที่อยากบ่นมาเขียน ผมเป็นคนแก่ขี้บ่นครับ (หัวเราะ)
มีเรื่องน่าบ่นอะไรที่นำมาเขียนบ้าง
วิธีคิดของสังคมต่อธรรมชาติ วันก่อนผมเห็นคลิปเต่าว่ายน้ำหนีฉลามมาที่เรือของคน คนก็เอาเต่าขึ้นมา ปรากฏว่ามีเชือกรัดเต่าอยู่ คนก็เขียนแคปชันสวย ๆ ว่า ฉลามช่วยพาเต่ามาส่งให้มนุษย์ช่วย คือผมว่าฉลามมันจะกินเต่ามากกว่า เราต้องต่อสู้กับวิธีคิด ข้อมูลที่ไม่ตรงตามข้อเท็จจริงและอัลกอริทึม
ผมจะไม่เขียนสิ่งที่ไม่เชื่อเด็ดขาด ผมจะไม่ทำร้ายสังคมด้วยความรู้ผิด ๆ แต่ผิดหรือถูกบางครั้งเป็นเรื่องของเงื่อนไขเวลา เช่น ผ่านไป 10 ปี มีการค้นพบใหม่และข้อเท็จจริงเปลี่ยน แต่ยังไงผมก็จะจริงใจกับความคิดและความเชื่อของตัวเอง ณ ขณะนั้น
คุณศึกษาเรื่องราวจากธรรมชาติอย่างไรบ้าง
ความรู้ส่วนใหญ่ได้จากการศึกษาในหนังสือ ผมอ่านเยอะมาก นอกนั้นคือการสังเกตเวลาไปลงพื้นที่ ถือเป็นข้อมูลเฉพาะที่คนที่เข้าไปเท่านั้นถึงรู้ สำหรับผม ธรรมชาติคือห้องเรียนที่ยิ่งใหญ่มาก ธรรมชาติคือครู
จากที่มีความเข้าใจผิดมากมายเกิดขึ้น อะไรคือความตั้งใจและสิ่งที่อยากสื่อสารให้คนอ่านรับรู้บ้าง
อย่างที่เล่าไป เรื่องเต่าเอย ฉลามเอย ยังมีมุมมองของคนที่สร้างความเข้าใจผิดอยู่เรื่อย ๆ การปฏิบัติกับสัตว์รายตัวโดยไม่มองภาพใหญ่ของธรรมชาติก็เช่นกัน มนุษย์เรียกสัตว์สักตัวว่า ‘น้อง’ ถ้าแค่เรียกมันก็อาจไม่ใช่ปัญหา แต่สิ่งที่ตามมาคือหลายคนปฏิบัติกับสัตว์ป่าจนเหมือนเป็นสัตว์เลี้ยง การอนุรักษ์ด้วยความฟูมฟายกับสัตว์รายตัวไม่ช่วยแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ การประกาศคุ้มครองก็เช่นกัน สภาพแวดล้อมและพื้นที่ที่เปลี่ยนไปต่างหากที่เป็นเรื่องใหญ่กว่า ซึ่งถ้าช่วยได้ก็จะแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน
บทความของคุณจึงเป็นเหมือนประตูพาคนอ่านเข้าไปรู้จักกับธรรมชาติมากขึ้น
เรียกว่าเป็นแรงบันดาลใจดีกว่า เราจะเข้าใจธรรมชาติได้ยังไงถ้ายังอยู่แต่ในห้อง ผมใช้ประสบการณ์ของตัวเองสร้างแรงบันดาลใจให้คนออกเดินทาง ค้นหาความหมายของตัวเองที่เชื่อมต่อกับธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการเดินป่า ดูนก หรือแม้กระทั่งกิจกรรมที่หลายคนสงสัยว่าเป็นการอนุรักษ์ได้ยังไง เช่น การตกปลา
เมื่อเขาได้กลับไปเดินเหยียบน้ำในลำธารหรือเดินเข้าไปในป่า บรรยากาศรอบตัวเขาคือธรรมชาติ เขาจะสัมผัสได้ว่ามันต่างจากที่เคยได้ยิน ได้ฟัง ได้อ่านมา ผมว่าสิ่งนี้ต่างหากสำคัญที่สุด
คอลัมน์นี้มีนักเขียนหลายคน แล้วคุณมาเป็นนักเขียนประจำได้อย่างไร
ต้องเล่าก่อนว่า ผมเจอ พี่เชน-ปริญญากร วรวรรณ ตอนฝึกงานที่ อ.ส.ท. นิตยสารรายเดือนด้านการท่องเที่ยว เขาเป็นช่างภาพสัตว์ป่าที่เคยเป็นวิศวกรในโรงงานแห่งหนึ่งมาก่อน เขาทำให้ผมเห็นว่าเราทำงานที่ตัวเองรักได้ ถือเป็นครูในการใช้ชีวิตและเป็นแรงบันดาลใจของผมเลย ส่วน เอ้-พลพิชญ์ คมสัน และ มีน–ชุตินันท์ โมรา เราไปดำน้ำด้วยกันตั้งแต่ 20 ปีก่อน
พี่เชนเป็นคนติดต่อ คุณก้อง-ทรงกลด บางยี่ขัน ตอน พ.ศ. 2560 พวกเราจึงตกลงเขียนคอลัมน์นี้ด้วยกัน โดยสลับกันเขียนเดือนละคน
คอลัมน์ Life on Earth มีบทความมาแล้ว 22 ตอน ทั้งขึ้นเขา ลงห้วย ดำน้ำ บทความไหนที่ท้าทายที่สุดสำหรับคุณ
คงเป็นตอนเข้าไปอยู่ในดงปลาซาร์ดีนเป็นล้านตัวจากซีกโลกใต้ เป็นการอพยพครั้งใหญ่ที่ดึงนักล่ามารวมตัวกันตลอดทาง มีโลมาคลั่งว่ายไปมาพร้อมกับฉลามที่ออกล่าเต็มสปีด ฝูงนก Gannet และวาฬบรูด้า (หัวเราะ) เข้าใจไหม ท้องทะเลตอนนั้นมันวุ่นวายมาก!
Life in Danger
ฟังดูเป็นงานเลี้ยงแห่งท้องทะเลที่โคตรโกลาหล มีเหตุการณ์อะไรในวันนั้นที่ท้าทายคุณอีกบ้าง
สภาพอากาศที่เลวร้าย เราต้องตื่นตี 5 มาขึ้นเรือลำเล็ก อากาศประมาณ 8 – 9 องศาเซลเซียส ใส่เว็ตสูทตัวเดียวนั่งอยู่ในเรือวิ่งฝ่าคลื่นอยู่ในทะเลทั้งวัน เพื่อรอให้เกิดปรากฏการณ์บางอย่างขึ้นมา
อีกความท้าทายคือการรอคอย เพราะไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นที่ไหน เมื่อไหร่ ยังไง ครั้งนั้นไปอยู่ในทะเล 20 กว่าวัน เป็นบางวันนะ แต่ไปติดกัน 2 ปี ผมถึงขั้นถามตัวเองว่าเรามาทำอะไรที่นี่ เพราะทุกวันคือการออกทะเลไปพร้อมความหวัง หวังให้เกิดปรากฏการณ์เพียงแค่ 20 นาทีเท่านั้นเอง
แสดงว่าประสบการณ์ที่แอฟริกาใต้ครั้งนั้นถือเป็นเหตุการณ์เสี่ยงที่สุด
ยังไม่เสี่ยงที่สุด จะมีบางจังหวะที่ต้องลงน้ำไปคนเดียว เรือกำลังวิ่งอยู่ กัปตันเรือก็บอกว่า ลงไปเลย! ฉลามอยู่นั่นแล้ว! ห้ะ! เออ เราก็กระโดดลงไปหาฉลามคนเดียวเลย (หัวเราะ)
ฟังดูเรื่องราวใต้น้ำค่อนข้างลุ้นระทึกทีเดียว แล้วมีเหตุการณ์บนบกที่ตราตรึงในความทรงจำบ้างไหม
ถ้าพูดเรื่องความท้าทาย ผมว่าไม่นะ ชีตาห์น่ารักมาก หมีก็ตื่นเต้นนิดหน่อย เพราะตัวมันใหญ่ดี แต่เสี่ยงไหม มันเสี่ยง เพราะทุกตัวเป็นสัตว์ป่า
ย้อนกลับมาเรื่องเดิมคือการลดทอนความเป็นสัตว์ป่าด้วยคำว่าน้อง การจับ การลูบฉลาม ผมไม่เห็นว่ามันมีประโยชน์ในการให้ข้อมูลอะไรกับสังคม แล้วพอเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นก็ไม่ได้กระทบแค่สัตว์ตัวใดตัวหนึ่ง แต่กระทบทั้งสายพันธุ์ เมื่อไหร่ที่ฉลามกัดคุณด้วยความเป็นสัตว์ป่า เมื่อนั้นฉลามจะกลายเป็นผู้ร้ายทันที ทั้งที่เขาเป็น ‘สัตว์ป่า’ มาตั้งแต่แรกแล้ว ผมว่าเราต้องให้เกียรติเขาในฐานะสัตว์ป่า เขาไม่ใช่น้อง ไม่ใช่หมา ไม่ใช่แมว ที่เราไปลูบหัวเล่นได้
อีกหนึ่งบทความที่เราชอบ คุณใช้เวลาเกือบ 20 ปี เพื่อบันทึกภาพฉลามหัวค้อนในระยะ 2 เมตร คุณได้เรียนรู้อะไรจากการรอคอยนี้บ้าง
ระยะที่ดีที่สุดในการถ่ายสัตว์ใต้น้ำไม่ควรเกิน 3 เมตร ผมใช้เลนส์ฟิชอาย องศารับภาพ 180 องศา แปลว่าถ้าเราจะถ่ายให้อยู่ในเฟรม 2 เมตร คือระยะที่กำลังดี ไม่มีเทคนิคอะไรเลย การถ่ายสัตว์ใต้น้ำทุกตัว อย่าว่ายเข้าไปหาสัตว์ เราต้องนิ่งเพื่อให้เขาว่ายมาหาเราเอง ผมเลยใช้เวลา 20 ปีในการถ่ายฉลามหัวค้อนจากกล้องฟิล์ม
ฟังดูทั้งต้องอดทน ต้องเสี่ยงตาย คุณเคยคิดจะล้มเลิกหรือหยุดดำน้ำบ้างไหม
ไม่เคยคิดเลย ผมชอบดำน้ำมาก ทุกวันนี้ยังหาโอกาสไปดำน้ำอยู่ แต่ปัญหาคือไม่มีเงิน (หัวเราะ) ผมไม่เคยกลัวอุปสรรคอะไรเลย ถ้ามีเงินก็ไปได้หมด
Life Between Past and Present
อะไรดลใจให้คุณฝันอยากเป็นช่างภาพใต้น้ำมาตั้งแต่เด็ก
ตอนอายุ 10 กว่าขวบ ไปร้านหมอฟันแล้วได้เห็นภาพถ่ายใต้น้ำในนิตยสาร National Geographic จำได้ว่าเป็นภาพฝูงปลาบาราคูด้าที่มีนักดำน้ำอยู่ตรงกลาง ภาพนั้นสร้างแรงบันดาลใจให้ผม แต่ย้อนกลับไปประมาณ 40 ปีก่อนมันเป็นเรื่องที่ดูเป็นไปไม่ได้ ประเทศไทยจะมีช่างภาพใต้น้ำทำไม ทุกคนสงสัยว่าอาชีพนี้ทำอะไร มีบทบาทอะไร
ตอนจบมัธยม ผมไปเรียนต่อภาพยนตร์ คณะวารสารศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ฝึกงานก็ทำในกองถ่ายภาพยนตร์ หนังจบก็ยังไปเป็นช่างภาพนิ่ง ประสบการณ์นั้นทำให้ผมรู้ว่าอาจจะไม่ชอบทำงานที่เจอคนเยอะ ๆ สุดท้ายเลยไปฝึกงานกับ อ.ส.ท. และค้นพบว่า นี่แหละที่ที่ใช่
ถ้าตอนนั้นสังคมไทยยังไม่รู้จักช่างภาพใต้น้ำดีเท่าไหร่ แล้วคุณไปดำน้ำกับใครบ้าง วงการตอนนั้นเป็นอย่างไร
จำได้ว่าการดำน้ำเพื่อการกีฬาเริ่มต้นในประเทศไทยประมาณ พ.ศ. 2517 – 2518 พ่อของผมเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่ดำแบบ Scuba Diving คนรุ่นนั้นมีช่างภาพเยอะเลย เช่น ท่านมุ้ย-หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล น้าดอน- ดรล์ รัตนทัศนีย์ และ น้าติ๋ง-รำไพพรรณ แก้วสุริยะ ผมเองก็ไปดำน้ำกับคุณพ่อตั้งแต่ประมาณ 8 – 9 ขวบ แต่ไปเรียน Scuba Diving ครั้งแรกตอนปี 3 ผมยืมกล้องคุณพ่อไปถ่ายรูปใต้น้ำ พ่อส่งกล้องมาให้ แต่ไม่บอกวิธีใส่ฟิล์ม (หัวเราะ)
ยังจำภาพแรกที่ถ่ายได้ไหม
จำได้สิ เพราะเสียหมดเลย ดำสนิท (หัวเราะ) ตอนไปฝึกงานที่ อ.ส.ท. ภาพถ่ายชุดแรกจำได้ว่าเป็นปะการัง เสียบ้าง ดีบ้าง ฟิล์มสไลด์มันยาก ข้อจำกัดเยอะ หนึ่ง เราเปลี่ยนฟิล์มใต้น้ำไม่ได้ ต้องรอขึ้นเรือเอาฟิล์มกลับไปล้าง กว่าจะเรียนรู้ข้อผิดพลาดก็ต้องรอแก้ไขในครั้งต่อไป ภาพก็จำกัดแค่ 36 รูป ผมใช้เวลาเป็น 10 ปีเพื่อฝึกฝนถ่ายฟิล์มสไลด์ให้ได้รูปค่อนข้างดี 20 – 30 รูป
จากที่เล่ามา เราเห็นความเปลี่ยนแปลงของการถ่ายภาพเยอะเลยเมื่อเข้าสู่ยุคดิจิทัล แล้วเรื่องเนื้อหามีอะไรแตกต่างไปบ้างไหม
อ.ส.ท. กับ The Cloud มีทั้งความเหมือนและความต่าง ตอนทำ อ.ส.ท. พวกเราเขียนเรื่องที่ขึ้นอยู่กับฤดูกาล แต่ต้องไปล่วงหน้าก่อนฤดูกาล เช่น จะทำเรื่องหน้าหนาว ต้องไปก่อนตั้งแต่ฤดูฝน (หัวเราะ) เพราะหนังสือใช้เวลาทำนาน
อ.ส.ท. เป็นนิตยสารเล่มแรก ๆ ในไทยที่พูดประเด็นสิ่งแวดล้อม แม้จะไม่ได้พูดเป็นหลัก แต่ก็พยายามทำให้คนรู้จักและรักธรรมชาติ ตรงนี้คือสิ่งที่ผมสื่อสารผ่านบทความของ The Cloud เช่นกัน และผมคิดว่าสิ่งที่ดีอย่างหนึ่งของ The Cloud คือเป็นพื้นที่สำหรับการอ่านโดยเฉพาะ
คุณเคยบอกว่านักเขียนไม่ใช่อาชีพที่ทำให้มีเงินใช้เหลือเฟือ แล้วทำไมถึงเลือกทำ แทนที่จะไปดูแลกิจการของคุณพ่อ
สิ่งที่ตลกคือพ่อผมเองก่อนที่จะมาทำร้านกอล์ฟ สมัยเมื่อ 50 ปีก่อน อาชีพแรกของเขาคือนักหนังสือพิมพ์ (หัวเราะ) เขาก็บอกว่า เอาสิ อยากทำอะไรก็ทำ เรามีร้านอยู่ก็พร้อมสนับสนุน สุดท้ายผมก็เลือกทางนี้โดยไม่กลับไปดูร้านอีกเลย
แต่ปัจจุบันการถ่ายภาพและการเขียนคืออาชีพรองที่ทำให้เราได้ทำในสิ่งที่รักและทำตามความฝัน อาชีพหลักของผมตอนนี้คือเปิดร้านขายอุปกรณ์ Outdoor ชื่อ Thailand Outdoor มีแบรนด์นำเข้าเกือบ 20 แบรนด์ ผมทำเพราะมันส่งเสริมสิ่งที่ผมคิด คือการพาคนเดินทางออกไปสู่ธรรมชาติ
Life in the Future
ถ้าคุณพ่อไม่ได้ชวนดำน้ำหรือออกท่องเที่ยวตั้งแต่เด็ก ตอนนี้คุณจะทำอะไรอยู่
ไม่แน่ใจเลย ผมรู้แค่ว่าถ้าไม่ดำน้ำ ผมคงไม่สนใจธรรมชาติขนาดนี้ ชีวิตนี้ผมคงไม่ได้เดินทางไปยังที่ที่คนสงสัยว่าไปทำไม ถ้าให้เลือกระหว่างไปยังแหล่งท่องเที่ยว แหล่งวัฒนธรรม หรือธรรมชาติ ยังไงผมก็เลือกธรรมชาติ
ถ้ามีคนอยากลงไปดำน้ำหรือเป็นช่างภาพใต้น้ำแบบคุณ เขาควรต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
เตรียมเงินครับ (หัวเราะ) ทุนเป็นเรื่องสำคัญ ตั้งแต่การเรียนดำน้ำก็ต้องใช้แล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นคนรวยเท่านั้น เพราะทุกวันนี้การดำน้ำเปิดกว้างขึ้น คนทำงานมีเงินเดือนก็ทำความฝันของตัวเองได้ คุณแค่ต้องรู้ว่าคุณทำไปเพื่ออะไร
ถ้าไม่มีข้อจำกัดทางกายภาพ คุณทำอะไรก็ได้ใต้ท้องทะเล คุณอยากทำอะไร
ถ้าดำน้ำได้อย่างที่ใจนึกเลย ผมอยากเจอปลาซีลาแคนท์ เป็นปลาที่อยู่ในหนังสือและใฝ่ฝันอยากเจอตัวจริงมาตั้งแต่เด็ก ทุกวันนี้มีคนถ่ายได้แล้วในความลึก 300 เมตร ปกติผมจะดำประมาณ 20 เมตร ลึกสุด 40 เมตร
หากท้องทะเลคือห้องเรียน คุณเคยเข้าเรียนนานสุดกี่ชั่วโมง และได้เรียนรู้อะไรจากห้องเรียนนี้บ้าง
ผมเคยอยู่ในเรือลอยลำกลางทะเลนานสุด 1 เดือน ในแต่ละวันผมดิ่งลงใต้น้ำและกลับขึ้นเรือสลับกัน 3 – 4 ครั้ง แต่ผมจะบอกว่า เรื่องราวไม่ได้แบ่งกันที่ความลึกของทะเล
สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดวนเวียนอยู่ตามแหล่งอาหารของมัน ช่วงเที่ยงวันแพลงก์ตอนพืชรวมตัวกันที่ผิวน้ำ บางครั้งฉลามวาฬก็ขึ้นตามมากิน กระเบนราหูก็มา พอมันกินเสร็จจะมีกิจวัตรประจำวัน คือการลงไปทำความสะอาดร่างกายโดยให้ปลาในแนวปะการังอย่างปลานกขุนทอง ปลาผีเสื้อ เข้ามาทำความสะอาดร่างกาย บางครั้งอยู่บนผิวน้ำเราก็ได้เรื่องราวที่น่าสนใจแล้ว
ฟังดูน่าสนุกมาก มีเรื่องอะไรที่อยากถ่ายทอดผ่านภาพถ่ายและตัวอักษรในอนาคตข้างหน้าไหม
เยอะมาก ผมคิดว่าผมยังไม่ได้ตายเร็ว ๆ นี้นะ (หัวเราะ) หวังว่าจะมีโอกาสเดินทางอีกบ่อย ๆ ยังไงก็ฝากติดตามครับ คงทำต่อไปเรื่อย ๆ เท่าที่ไหว ไม่ใช่แค่เดินทางไหวนะ แต่เท่าที่จะมีเงินเดินทาง (หัวเราะ)
คำถามสุดท้าย ฝากถึงนักอ่านประจำคอลัมน์ Life on Earth สักหน่อย
ผมเขียนบทความจากประสบการณ์ของตัวเอง เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกท่านอยากออกเดินทางค้นหาความหมายของตัวเองที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติ ผมไม่อยากให้คนยกธรรมชาติเข้ามาอยู่ในห้อง แต่อยากให้คนออกจากห้องเพื่อไปหาธรรมชาติ
ถ้าใช้คำว่าพันธกิจหรือหน้าที่ก็อาจดูเวอร์ไป แต่ผมว่าการสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นไปสัมผัสกับธรรมชาติในแบบที่เขาเป็น คือสิ่งที่ทำให้ชีวิตผมมีความหมายมากกว่า