นาฬิกา คือวัตถุแห่งความหลงใหล เรื่องราว กลไก และความทรงจำ

นาฬิกา คือตะกอนความคิดที่ติดค้างอยู่ในใจ หลังจากที่ได้ใช้เวลาสร้างบทสนทนาร่วมกับ โน้ต-ณรัณ ธรรมาวรานุคุปต์ กรรมการผู้จัดการบริษัท PMT The Hour Glass ตัวแทนนาฬิกาชั้นนำระดับโลก ตั้งแต่แบรนด์ระดับ Global อย่าง Rolex, Patek Philippe, Hublot และ Tudor ไปจนถึงแบรนด์ Artisanal แต่สิ่งที่ทุกแบรนด์ในความดูแลมีร่วมกัน คือเรื่องราวที่น่าหลงใหล

ผู้บริหารหนุ่มท่านนี้นิยามตนเองว่าเป็น Watch Nerd มีความสนใจในระดับเข้มข้น จนเรียกได้ว่าแพสชันของเขาอยู่กับนาฬิกา มองมันในมุมที่ลึกซึ้งไปกว่าแค่ความงาม แต่งัดแงะจนทะลุ ทั้งศิลปะการออกแบบ กลไก คุณค่า ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม นวัตกรรม ไปจนถึงผู้ประดิษฐ์นาฬิกาแต่ละเรือน 

จากเด็กเกาะตู้อัญมณีในร้านที่เป็นธุรกิจครอบครัว วันนี้ภารกิจทั้งชีวิตของโน้ตคือการเผยแพร่ ‘Watch Culture’ (วัฒนธรรมความรักในการสะสมนาฬิกา) และสร้าง ‘Watch Community’ (สังคมคนหลงใหลในนาฬิกา) ในทุกพื้นที่ที่เขาได้สัมผัส ซึ่งเขาจะมาประมวลช่วงเวลาทั้งหมดนั้นให้เราฟัง ในวาระครบรอบ 15 ปีของธุรกิจที่เขาหลงใหลนี้

โน้ต-ณรัณ ธรรมาวรานุคุปต์ กรรมการผู้จัดการบริษัท PMT The Hour Glass

ความเป็น Watch Nerd ในตัวคุณเริ่มหยั่งรากมาตั้งแต่เมื่อไหร่

ผมชอบของเล่นที่มีการประกอบ มีกลไก มีที่มาที่ไป เรียกว่าหลงใหลใน Kinetic Object มาตั้งแต่เด็กครับ แต่ถ้าพูดถึงอิทธิพลจากธุรกิจครอบครัว ต้องย้อนไปในวันที่คุณพ่อคุณแม่เริ่มต้นธุรกิจ ตั้งแต่สมัยทศวรรษที่ 1970 

พวกท่านเป็นรุ่นแรกที่แยกตัวออกจากครอบครัวใหญ่มาทำธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ ช่วงทศวรรษที่ 1980 ทุกวันหลังเลิกเรียน ผมต้องกลับมาที่ร้านขายอัญมณี ทุกวันนี้อาจรู้จักกันในนาม Blue River ผมเคยรู้สึกว่าทำไมต้องกลับมาทุกเย็น เหนื่อยจังเลย แต่นั่นคือช่วงเวลาที่ผมได้เห็นคุณค่าของการทำงานหนัก ความอดทน การบริการลูกค้า และสร้างสัมพันธ์ระยะยาว การเคารพในทั้งตัวลูกค้าและเพื่อน ๆ พี่ ๆ พนักงาน ความรักในศิลปะ การออกแบบ ไปจนถึงคุณค่าของอัญมณีและเครื่องประดับ 

จากธุรกิจเครื่องประดับมาเป็นธุรกิจนาฬิกาได้อย่างไร

ช่วงกลางทศวรรษที่ 1990 คุณพ่อคุณแม่เริ่มหันมาจับธุรกิจนาฬิกา ท่านเล็งเห็นว่าธุรกิจเครื่องประดับกับธุรกิจนาฬิกามีฐานลูกค้าคล้ายคลึงกัน และน่าจะมี Synergy ระหว่างกัน ตอนนั้นผมยังเป็นวัยรุ่นตอนต้น กำลังเรียนอยู่ที่อังกฤษ เลยมีโอกาสใช้เวลาช่วงวันหยุดอีสเตอร์บินไปร่วมงาน Basel World งานนิทรรศการจัดแสดงนาฬิการะดับโลกในตอนนั้น จัดขึ้นที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และได้พบปะกับเหล่าเจ้าของแบรนด์ต่าง ๆ ได้ไปชมโรงงาน ได้ไปสัมผัสกับนักประดิษฐ์นาฬิกา ก็ยิ่งพัฒนาความหลงใหล

นอกจากนี้ โรงเรียนและมหาวิทยาลัยก็มีส่วนหล่อหลอมตัวตนของผมเช่นกัน สถาบันที่ผมไปเรียนที่อังกฤษมีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีวัฒนธรรมที่เข้มข้น ไม่ว่ามัธยมปลายที่ Harrow School อายุกว่า 400 ปี หรือระดับมหาวิทยาลัยที่ University of Oxford ก็อยู่มานับพันปี ผมชื่นชอบในอัตลักษณ์ที่ลุ่มลึกของสถาบัน โดยถ่ายทอดออกมาผ่านการแต่งตัว บรรยากาศ วัฒนธรรมองค์กร ซึ่งสอดคล้องกับความลุ่มลึกของธุรกิจนาฬิกาครับ

การคลุกคลีกับครอบครัว สถาบันการศึกษา และอุตสาหกรรมที่มีความเฉพาะตัวแบบนี้ กลายมาเป็นกลไกเฉพาะในตัวของคุณอย่างไร

มีคุณค่าหลายประการที่ผมได้เรียนรู้จากครอบครัวนักธุรกิจ นำมาใช้ในชีวิตส่วนตัว และบางส่วนกลายเป็นคุณค่าขององค์กรด้วย 

ข้อแรกสุดคือความโปร่งใสในการสื่อสาร (Transparency) ภายในครอบครัวของเรามีสัญญาว่าจะไม่มีความลับต่อกัน โดยเฉพาะเรื่องใหญ่ เรื่องสำคัญ ต้องสื่อสารกันอย่างชัดเจน ข้อสอง ผมให้คุณค่ากับการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) เติมทักษะใหม่ ๆ ให้ตัวเองและทีมงานอยู่เสมอ ข้อต่อมา คือการมีจิตใจบริการ (Service Mind) ที่ผมได้เห็นมาตั้งแต่เด็ก ฝังอยู่ในองค์กรของเรา ข้อสี่ คุณพ่อคุณแม่เน้นย้ำความสำคัญของการมีมุมมองระยะยาว (Long-term Thinking) ในธุรกิจที่บริหารโดยคนในครอบครัว เราต้องทำความเข้าใจว่าไม่มีอะไรที่สร้างด้วยระยะเวลาอันสั้นและหวังผลที่ยั่งยืนได้ ทุกสิ่งต้องการเวลาและความอุตสาหะ ทำงานหนัก ในการสร้างรากฐานให้มั่นคง 

นอกจากนี้แบรนด์นาฬิกาที่เราร่วมงานด้วยส่วนใหญ่เป็น Family Business หรือ Independent Brand ซึ่งมีแนวทางการทำงานคล้ายกัน คือการสร้างธุรกิจโดยมองว่าตนเองเป็น Guardian (ผู้ปกปักรักษาดูแล) ของธุรกิจ มากกว่าเป็นเจ้าของ และจะต้องส่งต่อธุรกิจนั้นสู่รุ่นต่อไป ดังนั้นกลยุทธ์และแบบแผนการทำธุรกิจจึงเป็นการมองระยะยาว ไม่ใช่แค่เทรนด์ในช่วง 1 หรือ 2 ปีข้างหน้า แต่แบรนด์นาฬิกาเหล่านั้นอยากสร้างเทรนด์ของตนเองขึ้นมาสำหรับในอีก 10 – 20 ปีมากกว่า ผมก็ได้รับอิทธิพลความคิดจากแบรนด์เหล่านั้นพอสมควรเลยครับ

อะไรคือคุณค่าของนาฬิกาผ่านสายตามนุษย์ Watch Nerd ที่ชื่อณรัณ

ผมสวมหมวกหลายใบเวลามองนาฬิกา ถ้ามองผ่านเลนส์ของคนที่ใช้เวลากับวิทยาศาสตร์มาทั้งในระดับการเรียนปริญญาตรี-โท ผมมองในเชิงของวัสดุศาสตร์ ส่วนผสมของนวัตกรรมและวัฒนธรรมของแบรนด์ต่าง ๆ แต่ถ้าเป็นตัวผมเอง ผมให้คุณค่ากับเรื่องราวและความรู้สึกที่ห้อมล้อมนาฬิกาอยู่ 

ถ้าว่ากันตามตรง ตั้งแต่ปี 1950 – 1960 เป็นต้นมา มนุษย์ไม่จำเป็นต้องซื้อ Mechanical Watch เลย เพราะเราทราบเวลาได้จากนาฬิกาที่ใส่แบตเตอรี่ หรือปัจจุบันเราดูจากมือถือกัน ดังนั้นคุณค่าของนาฬิกาไม่ได้อยู่ที่ประโยชน์ใช้สอยเสียทีเดียว แต่เราซื้องานหัตถศิลป์ที่มีความวิจิตรงดงาม นวัตกรรมการผลิต หรือความทรงจำหรือการเฉลิมฉลองเกี่ยวกับช่วงเวลานั้น ๆ มากกว่า นาฬิกาทุกเรือนของนักสะสมจะมีเรื่องเล่าเฉพาะตัว ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นคุณค่าที่ตีราคาไม่ได้

จุดเปลี่ยนสำคัญที่สุดจากการเป็น Watch Nerd สู่หนึ่งในผู้สร้าง Watch Culture

ผมไม่ได้มองว่ามีจุดใดจุดหนึ่งสำคัญที่สุด แต่มองว่าเป็นเรื่องราวที่ร้อยเรียงต่อกันในเส้นของเวลามากกว่า

ในปี 2005 หลังจากที่คุณพ่อป่วยและจากไปด้วยโรคมะเร็ง ผมกลับมาจากฮ่องกงโดยตั้งใจมาเป็นแรงหนุนใจให้กับคุณแม่และครอบครัวก่อน การเสียเสาหลักของครอบครัวในวันนั้นทำให้ผมได้กลับมาสะท้อนคิดถึงคุณค่าของเวลาอย่างถี่ถ้วนมากขึ้น มีอะไรบ้างที่เรามองว่าสำคัญ ถ้าย้อนเวลากลับไปเราจะทำอะไร เพราะผมไม่อยากใช้ชีวิตโดยมีเรื่องให้เสียใจภายหลัง

เวลานั้นพี่สาวและคุณแม่โฟกัสกับธุรกิจอัญมณีเป็นหลัก ผมจึงมารับช่วงต่อธุรกิจนาฬิกา และภารกิจแรกของผมคือการทำให้ ‘เลือดหยุดไหล’ ซึ่งผมใช้เวลาประมาณ 1 – 2 ปี ด้วยความช่วยเหลือจากพี่ ๆ ในองค์กร ธุรกิจจึงเริ่มกลับมามีกำไร แต่ปัญหาหลักที่เผชิญตอนนั้น คือการสร้างความเชื่อมั่นกับพาร์ตเนอร์ของเรา เพราะการเปลี่ยนรุ่นของเจ้าของธุรกิจโดยไม่ได้มีช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านย่อมทำให้แบรนด์ต่าง ๆ ที่เคยทำงานกับคุณพ่อเกิดความไม่แน่ใจ เขาไม่ได้รู้จักผม ไม่รู้ว่าผมมีแพสชันเพียงพอหรือเปล่า ผมก็ต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ตัวเองกับพวกเขาอยู่พอสมควร

จุดเปลี่ยนต่อมา คือเช้าวันแรกในงาน Basel World ปี 2007 ผมได้นั่งร่วมโต๊ะอาหารเช้ากับคุณ Michael Tay ซึ่งผมไปขอร่วมโต๊ะด้วยเพราะโต๊ะอื่น ๆ เต็มหมด เราจึงได้ทำความรู้จัก พูดคุยกัน และพบว่ามีวิสัยทัศน์ด้านธุรกิจคล้ายกัน ใช้เวลา 1 ปีในการทำความรู้จักกันเพิ่มขึ้น จนเขากลายเป็นหุ้นส่วนในการทำธุรกิจ PMT The Hour Glass

หนึ่งในวิสัยทัศน์ที่คุณ Michael และผมมีตรงกัน คือการเผยแพร่ Watch Culture หรือวัฒนธรรมความรักในนาฬิกา ผ่านการสร้างความเข้าใจในศาสตร์การผลิตอย่างลึกซึ้งมากขึ้น เราจึงมีการนำงานอีเวนต์ระดับโลก อย่างงาน GPHG (Grand Prix d’Horlogerie de Genève) ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นงานออสการ์แห่งวงการนาฬิกาโลก หรือ Only Watch งานประมูลนาฬิการะดับโลกเพื่อการกุศลมาจัดที่ไทย รวมถึงพานักประดิษฐ์นาฬิกาที่มีชื่อเสียงในแต่ละช่วงเวลามาส่งต่อความรู้ ความคลั่งไคล้ของพวกเขาให้กับผู้คลั่งไคล้นาฬิกาในไทย ทั้งหมดอยู่ในภายใต้แนวคิดของการลงทุนในตลาด เพื่อสร้าง Watch Culture และ Watch Community ที่มีความเข้าใจนาฬิกาอย่างลึกซึ้งมากขึ้น

ผู้บริหารที่มีภารกิจหลากหลายและซับซ้อนขนาดนี้ ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับอะไร

นอกเหนือจากการพูดคุยเรื่องกลยุทธ์กับแบรนด์พาร์ตเนอร์ว่าแบรนด์ต้องการอะไร มีแนวทางในการดำเนินธุรกิจอย่างไรในอนาคตแล้ว ผมใช้เวลาไปกับการสร้างวัฒนธรรมองค์กรเป็นหลักครับ

ภารกิจหลักคือการผลักดันให้การเป็น Watch Nerd อยู่ในตัวพนักงานของเราทุกคน เพราะแพสชันคือสิ่งที่สำคัญมากในธุรกิจของเรา หากบุคลากรในองค์กรของเราข้ามเส้นบาง ๆ ที่แบ่งจากคนที่หลงใหลในนาฬิกาทั่วไป มาเป็น Watch Nerd ได้ ก็จะยิ่งทำให้แบรนด์พาร์ตเนอร์ กลุ่มลูกค้า หรือว่าที่คู่ค้าในอนาคตได้สัมผัสถึงเสน่ห์และความคลั่งไคล้ที่เรามีต่อสิ่งที่เราทำ

อะไรคือสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเมื่อผู้นำจะลุกมาสร้างวัฒนธรรมองค์กร

ผมให้ความสำคัญกับการสร้างวัฒนธรรมองค์กรโดยการ Lead by Examples เพราะผมเชื่อว่า วัฒนธรรมองค์กรจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อทุกคนเชื่อและปฏิบัติเหมือนกัน เมื่อนั้นคุณค่านั้นก็จะไม่ได้อยู่แค่ในกระดาษอีกต่อไป 

เช่น คุณค่าเรื่องการสื่อสารอย่างโปร่งใสที่ผมยึดถือ ผมแสดงออกโดยการบอกทีมอย่างชัดเจนเท่าที่ทำได้ว่าอะไรที่ชอบ ไม่ชอบ ใช่ ไม่ใช่ เพื่อพวกเขาจะได้ไม่ต้องเดา ไม่ใช่แค่เฉพาะเวลาที่สื่อสารกับผู้ใต้บังคับบัญชาโดยตรงของผมเท่านั้น แต่กับทีมงานที่อยู่หน้าร้านสาขาก็มี Open-door Policy ให้ทุกคนมาคุยกับผมได้ทุกเรื่อง ซึ่งนโยบายนี้ถูกสื่อสารอยู่เสมอเมื่อมีการประชุมรวมกันแบบ Town Hall 

โชคดีที่ทีมของผมมีความเป็นมืออาชีพ แข็งแกร่ง ทุ่มเทให้กับงาน ผมเชื่อว่าทีมทำงานได้ดีและเก่งกว่าผมในสิ่งที่เขาทำ ส่วนผมมีความเข้าใจในธุรกิจนาฬิกาเพราะคลุกคลีมาตั้งแต่เด็ก รวมถึงเข้าใจในสิ่งที่แบรนด์ต้องการ การทำงานกับพวกเขาคือศิลปะของการมอบหมายงานและจัดลำดับความสำคัญสิ่งที่จะเป็นประโยชน์กับเรามากที่สุดในระยะยาว 

ความเปลี่ยนแปลงของ Watch Community ในช่วง 15 ขวบปีที่เข้มข้นของ PMT The Hour Glass เป็นอย่างไร

15 ปีผ่านไป เราเริ่มได้เห็นดอกผลจากสิ่งที่เราทำ หลายแบรนด์ที่เรานำเข้ามาโปรโมตตั้งแต่ยังเป็นที่รู้จักในวงจำกัด มีลูกค้าหลายคนซื้อเพราะเชื่อใน PMT The Hour Glass แต่วันนี้แบรนด์เหล่านั้นกลายเป็นหลายแบรนด์ที่เรานำเข้ามาทำการตลาดระดับโลก เป็นที่ใฝ่หาของนักสะสม เรียกได้ว่าเราร่วมสร้างแบรนด์กับแบรนด์นาฬิกา ยกตัวอย่างเช่น Hublot ซึ่ง PMT The Hour Glass ได้เป็นเอ็กซ์คลูซีฟพาร์ตเนอร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่ปี 2008 มาจนถึงปัจจุบัน Hublot ติดอันดับ Top 10 ของแบรนด์นาฬิการะดับโลก และในปี 2022 ที่ผ่านมา Hublot Boutique ทั้ง 2 แห่งของเราก็ติดอันดับ Top 10 ของโลกเช่นกัน

ต้องให้เครดิตความเป็น Watch Nerd ในตัวนี่แหละครับที่ทำให้มองเห็นศักยภาพที่คนอื่นมองไม่เห็น ทั้งคุณภาพ แพสชันของเจ้าของ หรือนักประดิษฐ์นาฬิกาหลาย ๆ ท่าน และหน้าที่ของ PMT The Hour Glass คือการสื่อสารเรื่องราวเหล่านั้นให้ Watch Community ได้รับทราบ 

เมื่อ 8 ปีที่แล้ว กลุ่มลูกค้าของเราอายุ 45 – 55 ปี ผมก็คิดว่า ถ้าเราไม่สร้าง Watch Community รุ่นใหม่ ลูกค้าเราคงจะล้มหายตายจากไปตามกาลเวลา วันนี้กลุ่มลูกค้าเดิมของเรายังอยู่ และเราได้เห็นลูกหลานของพวกเขากลายมาเป็นกลุ่มผู้คลั่งไคล้นาฬิการุ่นใหม่ที่มีอายุ 20 – 30 ปีด้วย แม้นาฬิกาไม่ใช่ศาสตร์ที่เข้าใจง่าย ต้องศึกษาทั้งวัสดุ กลไก ศิลปะ วัฒนธรรมต่าง ๆ แต่พอกลุ่มคนรุ่นใหม่มีเวลา ได้ลองศึกษา พร้อมกับมีกลุ่มคนรุ่นพ่อแม่เป็นต้นแบบ ตอนนี้อายุเฉลี่ยของฐานลูกค้าของเราจึงลดไปถึง 10 ปีครับ

ผมคิดว่าฐานลูกค้าผู้สนใจนาฬิกาในไทยได้เปลี่ยนไปแล้ว ไม่ได้ซื้อเพราะเชื่อในแบรนด์เท่านั้น แต่ซื้อเพราะมีแพสชันต่อนาฬิกาอย่างแท้จริง นาฬิกาเคยเป็นเพียงวัตถุบอกสถานะ เป็นมาตรวัดความสำเร็จ หรือมองว่านาฬิกาคือความฝัน แต่ตอนนี้มีทั้งอารมณ์ ความชื่นชอบในกลไก นวัตกรรมในการผลิต หรือเรื่องราวศิลปะการออกแบบนาฬิกาแต่ละเรือนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

คุณค่าเฉพาะตัวที่มีเฉพาะในธุรกิจ PMT The Hour Glass คืออะไร

เมื่อเทียบไปแล้ว PMT The Hour Glass ทำหน้าที่เติมเต็มชีวิตของผู้คนด้วยแพสชัน ผ่านการนำเสนอนาฬิกาซึ่งเป็นศิลปะที่พวกเขาดื่มด่ำได้

สำหรับกลุ่มลูกค้าผู้รักนาฬิกา มากไปกว่าแค่การนำเสนอบริการ สร้างอีเวนต์ใหม่ ๆ สร้างคอนเนกชันที่เหนียวแน่น PMT The Hour Glass จำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่นว่าแบรนด์นาฬิกาที่เรานำเสนอ แนะนำให้เขารู้จักจะกลายเป็น Potential Winner ในอนาคต 

อีกขาหนึ่ง เราทำหน้าที่เป็นตัวกลาง เป็นตัวแทนให้แบรนด์นาฬิการะดับโลก ความเป็น Watch Nerd ของเราเป็นตัวพิสูจน์แพสชัน และในฐานะองค์กร เรามีโครงสร้างที่แข็งแรง ทุก ๆ Touchpoints ที่เรามีกับลูกค้าต้องดีกว่า หรืออย่างน้อยเทียบเท่ากับที่แบรนด์จะทำเอง ซึ่งนี่คือสิ่งที่เราต้องพิจารณาและพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ เพื่อมอบคุณค่าในฐานะพาร์ตเนอร์เช่นกัน

ทั้งหมดนี้จะทำได้เมื่อเรามีทั้งแพสชันและความเป็นมืออาชีพ (Professionalism) ขับเคลื่อนด้วยการสร้างวัฒนธรรมความหลงใหลในนาฬิกา ผมคิดว่าเราเป็นหนึ่งในบริษัทนาฬิกาไม่กี่แห่งในโลกที่ทำงานกับ Global Brands ไปจนถึง Artisanal Brands ได้ และไม่ได้หยุดอยู่แค่ตลาดในไทยเท่านั้น เรากำลังจะเปิดสาขาที่ 10 ในเวียดนาม หลังจากที่เริ่มเข้าไปสร้าง Watch Culture มาไม่กี่ปีเท่านั้น ซึ่งเป็นตัวสะท้อนความเชื่อใจที่เราได้ และคุณค่าที่เรามอบให้ทั้งลูกค้าและพาร์ตเนอร์ครับ

อะไรคือจุดมุ่งหมายในชีวิตของคุณ ทั้งในฐานะกัปตันทีมของ PMT The Hour Glass และตัวคุณเอง

เมื่อก่อนผมไม่เข้าใจเวลาผู้ใหญ่พูดกันถึงจุดมุ่งหมายในชีวิต ความหมายในการมีชีวิตอยู่ แต่พอได้อ่านหนังสืออัตชีวประวัติของ คุณเนลสัน แมนเดลา เมื่อนานมาแล้ว ได้เห็นการตั้งเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเองในการปลดแอกความไม่เป็นธรรมในสังคมของเขา ผมเลยได้เรียนรู้ว่าการจะบรรลุอะไรสักอย่างในชีวิต จำเป็นต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน และเป้าหมายนั้นควรยิ่งใหญ่กว่าตัวเราเอง

ธุรกิจยังต้องการการฟูมฟักให้เติบโต มีโอกาส ความเป็นไปได้ใหม่ ๆ อยู่เสมอ การสร้างและพัฒนา Watch Culture ที่ยังต้องทำงานอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ ในช่วงปีที่ผ่านมาผมเพิ่งจะมีลูกคนแรก หน้าที่ของผมคือการสร้างแพลตฟอร์มที่ดีเอาไว้รองรับ หากวันหนึ่งลูกของผมเกิดสนใจธุรกิจนี้ ในขณะที่ต้องสร้างสมดุลระหว่างงานและการได้ใช้เวลาอยู่กับลูกด้วย อย่างไรก็ตาม ผมมองว่าทุกเหตุการณ์สร้างประสบการณ์ที่สอนให้ผมได้เรียนรู้ และค่อย ๆ สร้างเรื่องราวหน้าถัดไป ผมยังเชื่อในคอนเซปต์การมองระยะยาว และคำพูดที่ว่า ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจหรือชีวิต ล้วนแต่เป็น Journey และการเดินทางนี้ยังคงดำเนินต่อไปครับ

สุดท้าย สิ่งที่ผู้บริหารชื่อ ณรัณ อยากบอกกับ เด็กชายโน้ต ที่เคยไม่เข้าใจการกลับไปเฝ้าร้านเครื่องประดับในอดีต

ขอให้ใช้ชีวิตต่อไปด้วยความรัก ความสนุก และมีแพสชัน

ทุกวันนี้ชีวิตของผมสนุกเพราะผมทำในสิ่งที่รัก ไม่ใช่ทำเพราะจำเป็นต้องทำครับ

10 Things you never know

about Narun Thamavaranukup

1.  เครื่องดื่มเสริมพลัง

น้ำสับปะรดปั่น ช่วงนี้หวาน 0%

2.  กิจกรรมคลายเครียด

ถ้ามีเวลาเยอะ ๆ ผมชอบเดินป่า ให้ได้เชื่อมต่อกับธรรมชาติ

3. คอมฟอร์ตฟู้ด

Baked Beans on Toast (หัวเราะ)

4. สถานที่ที่ชอบไปซ้ำ

  1. Patek Philippe Museum ที่เจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ทุกครั้งที่ไปจะได้เห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็น
  2. โรงละครที่อังกฤษ การดูละครสดทำให้ได้เห็นทักษะและความอดทนของมนุษย์ และผมว่าอังกฤษเป็นบ้านหลังที่ 2 เพราะผมใช้เวลาอยู่ที่นั่น 12 ปี มีความทรงจำอะไรให้กลับไปสะท้อนอยู่มากมาย

5. คำพูดติดปาก

“รู้ไหมว่า…” ล่าสุดเพิ่งพูดคำนี้ก่อนจะเล่าเกร็ดความรู้เรื่องการเงินให้ภรรยาที่ทำงานอยู่กระทรวงการคลังฟัง จนเขาบอกว่าพอแล้ว (หัวเราะ)

6.  สิ่งที่อยากพัฒนาในตัวเอง

อยากเป็นผู้นำ พ่อ และลูกที่ดีขึ้น

7. คลิปที่ดูแล้วหัวเราะไม่หยุด

คลิปลูกสาว อายุ 1 ขวบ 2 เดือน ล่าสุดเขาพยายามกินข้าวเอง แล้วเขาก็เรียก ปะป๊า แค่นั้นก็ใจละลายแล้วครับ

8.  เพลงธีมของชีวิตช่วงนี้

อาจไม่ใช่ช่วงนี้เสียทีเดียว แต่ผมชอบเพลงที่ให้ความรู้สึกว่าตัวเองมีชีวิตที่ได้รับพรมาแล้ว เกี่ยวกับครอบครัวและความรักที่ผมมี เช่น Blessed โดย Elton John, You Are My Sunshine โดย Christina Perri หรือ Safe & Sound โดย Taylor Swift

9. เรื่องที่คุณไม่รู้เกี่ยวกับตัวคุณเอง

เราต้องการคนที่เรารักและรักเราสักกี่คน เราถึงจะมีความสุข

10.  นาฬิกาเรือนสำคัญ

นาฬิกา TAG Heuer เรือนแรกที่ซื้อเอง และอีกเรือนคือ Chopard Mille Miglia ที่คุณพ่อซื้อให้ตอนเข้ามหาวิทยาลัย พร้อมกับบอกว่า อย่าลืมไปเลกเชอร์ให้ตรงเวลานะ (หัวเราะ)

Writer

Avatar

เกวลิน ศักดิ์สยามกุล

นักออกแบบ-สื่อสารเพื่อความยั่งยืน ที่อยากเล่าเรื่องสิ่งแวดล้อมผ่านชีวิต บทสนทนา และแบรนด์ยาสีฟันเม็ดเล็กๆ ของตัวเอง

Photographer

Avatar

นินทร์ นรินทรกุล ณ อยุธยา

นินทร์ชอบถ่ายรูปมาตั้งแต่เด็ก พ่อแม่ซื้อฟิล์มให้ไม่ยั้ง ตื่นเต้นกับเสียงชัตเตอร์เสมอต้นเสมอปลาย เพื่อนชอบชวนไปทะเล ไม่ใช่เพราะนินทร์น่าคบเพียงอย่างเดียวแน่นอน :)